3566. ตำนานวิชาดาบพ่อพระยาพิชัยดาบหัก (ไพฑูรย์ พันธุ์เชื้องาม)

ไพฑูรย์ มักพูดถึงดาบไทยอยู่เสมอเพราะไพฑูรย์นั้นคุ้นกับดาบมาแต่จำความได้ เพราะที่บ้านเป็นสำนักดาบที่ฝึกดาบชั้นต้นให้กับผู้ที่สนใจ ตั้งแต่เป็นเด็กตัวเล็กๆจนถึงผู้ใหญ่ที่สนใจ พ่อให้ไพฑูรย์ถือดาบไม้ที่เหลาเป็นพิเศษที่ด้ามฝังลูกเหล็กให้รู้สึกมีน้ำหนักถือจนติดเป็นนิสัย

ต่อจากนั้นคือการฝึกการต่อสู้ด้วยดาบหวายแบบที่เรียกว่ากระบี่กระบอง จนมาถึง ดาบไร้คม ครูเติมผู้ฝึกสอนดาบได้รับฉายาว่า “ ครูเติมสามเพลงตาย” ผู้เขียนทำหน้าสงสัย ไพฑูรย์หัวเราะบอกกับผู้เขียนว่า

“ผมเล่าไปเรื่อยๆ แล้วจะรู้เหตุผลที่มาของฉายา”

ดาบโบราณนั้นเขาสู้กันเป็น “เพลง” มีอยู่สองแบบคือ เพลงรุก” กับ “เพลงรับ”แต่ละสำนักมีเพลงดาบของตัวเอง ดังนั้นเมื่อมีการแข่งขันประลองฝีมือก็จะได้เห็นแม่ไม้เพลงดาบของแต่ละสำนัก ทั้งยังจะได้เห็นการแก้เพลงดาบอย่างทัดเทียมกัน

ไพฑูรย์เล่าว่าเมื่อฝึกดาบใหม่ๆการฝึกขั้นแรกคือให้นักเรียนยืนเรียงหน้ากระดานห่างกันพอสมควร จากนั้นแบ่งออกเป็นสองข้างยืนหันหน้าเข้าหากันถือดาบซ้อมกระชับมือ ครูเติมพูดด้วยเสียงอันดังว่า

“ที่เรียนนี้เรียกว่าการหลบหลีกเพราะก่อนที่จะเรียนการใช้ดาบต้องรู้จักการหลบหลีกฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายแทงอีกฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายหลบหลีก ดูที่ครูทำให้ดูก่อนที่จะฝึกด้วยตัวเอง” ครูเติมให้พ่อของไพฑูรย์เป็นคนฟันและแทงด้วยดาบจริง พ่อเคยบอกกับไพฑูรย์ว่า “นักดาบที่ดีต้องจ้องดูคู่ต่อสู้ไม่วางตา เพราะคนที่มีอาวุธอยู่ในมือเพื่อคุกคามเรามันไม่ใช่เพื่อนแต่เป็นศัตรูที่จ้องทำร้ายเราอย่าได้ไว้ใจ”

ไพฑูรย์ว่าการฝึกรับคือการใช้เท้าวาดร่างกาย ศัตรูฟันตรงทางขวาให้ลากขาดึงตัวเองออกไปด้านข้างทางซ้าย ศัตรูฟันทางซ้ายให้ลากขาดึงตัวเองไปทางขวา หรือไม่ก็วาดเท้าถอยหลังแต่การถอยหลังนั้นต้องอ่านความยาวของใบดาบให้ขาดก่อนจะวาดเท้าถอยไปด้านหลังเพราะหากอ่านผิดพลาดถอยหลัง ไปไม่พ้นจะถูกปลายดาบทำให้เกิดบาดเจ็บได้ง่ายๆ ฝึกหลบอย่างนี้เดือนเต็มๆ จึงเริ่มการเรียนรำไหว้ครู

ครูเติมบอกว่าพวกเองนับว่ามีบุญ สมัยเมื่อครูฝึกดาบนั้นครูฝึกเป็นพระที่เป็นอดีตขุนสึกพ่ออยู่หัวแผ่นดินเดิม ครั้นเมื่อผลัดแผ่นดินเกรงราชภัยจึงออกบวชเพื่อเอาตัวรอดจากการที่จะต้องถูกประหาร เมื่อบวชแล้วมีเวลาว่างในตอนบ่ายจึงเปิดการสอนวิชาดาบให้กับผู้สนใจเพื่อไว้ใช้ในการทำสงครามกับอริราชศัตรูแห่งแผ่นดินเป็นกำลังสำรองเพื่อลุยพม่าข้าศึกต่อไป ไพฑูรย์จึงคุ้นกับดาบด้วยเหตุนี้

ครูเติมแต่ก่อนเป็นนักเลงผู้ไม่เคยก้มหัวให้ใครยกเว้นพ่อบังเกิดเกล้า มีวิชาเพลงดาบที่ไปเรียนมาจากครูดาบเมืองศรีสัชนาลัย ที่เรียกกันว่า สำนักดาบพระร่วงเจ้า จนสำเร็จมีฝีไม้ลายมือเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปจนกระทั่งในที่สุดกลายเป็นนักเลงระดับเจ้าพ่อที่ดังระดับจังหวัด

จนในที่สุดวันหนึ่งได้เกิดปะทะกับนักเลงดาบพเนจรที่ไม่มีใครรู้จักว่าเป็นใครมาจากไหนแต่ได้ท้าประลองกับนักดาบผู้มีฝีมือไปทั่วสารทิศ ครูเติมผู้ไม่เคยรู้จักคำว่าแพ้ต้องแพ้เป็นครั้งแรกแบบเหนือชั้น *(เหนือฟ้าย่อมมีฟ้าเสมอ)*

ครั้งแรกที่ต้องพบความพ่ายแพ้จนหมดรูป นักดาบพเนจรคนนั้นบอกว่าชื่อ “เข้ม” มีฉายาว่า “ดาบเหนือนรก” หากผ่านไปเมืองพิชัย (อุตรดิตถ์ในปัจจุบัน)ให้ไปถามหา (ถามคนยุคเก่านะครับส่วนมากคนยุคนี้ไม่ค่อยมีใครรู้จักเพราะการเรียนวิชาเพลงดาบสมัยนี้ได้เสื่อมไปมาก)

ครูเติมหมดความทระนงออกเดินทางไปเมืองพิชัยติดตามหาเข้มดาบเหนือนรก จนได้พบว่านายเข้มคือครูเข้มแห่งสำนักดาบพิชัยดาบหัก เป็นเชื้อสายผู้สืบทอดวิชาดาบมาจากพระยาพิชัยอาสา หรือ “” ได้มอบตัวเป็นศิษย์เรียนดาบเพิ่มเติม จนได้รับการถ่ายทอดวิชาดาบโดยก่อนเรียนได้สาบานตนว่าจะไม่ได้เที่ยวไปโอ้อวดศักดากับผู้อื่น ขอให้เปรียบเสมือนดาบคมกล้าที่เก็บความคมไว้ในฝัก หากเปลือยคมออกมาจากฝักนั่นหมายถึงการบาดเจ็บล้มตายแบบที่เรียกว่า “ดาบออกจากฝักต้องมีเลือดชโลมใบดาบ”

กลับมาจากการเรียนดาบครูเติมเปลี่ยนเป็นคนละคน สุขุมและเก็บตัวเหมือนดาบคมถูกเก็บในฝัก นำวิชาดาบมาเผยแพร่กับชาวบ้านดอนแก้วให้ได้รู้จักใช้ดาบและสืบทอดการใช้ดาบอย่างถูกต้อง ได้รับตำแหน่งเป็นกำนันแห่งบ้านดอนแก้ว ทำการกวาดล้างพวกโจรห้าร้อยทั้งปวงมาเป็นอันมาก ทางการได้มอบหน้าที่ให้กำนันเติมออกจับเสือแมน ฉายาขุนโจร 100 ศพ ร่วมกับขุนราญอริราชนายอำเภอหนวดเขี้ยวจอมอาคม

ดวลกับเสือแมนที่ท้าสู้กันถึงตายให้รู้ว่าใครเหนือกว่าใครโดยท่านขุนราญอริราชเป็นพยานในการต่อสู้ การดวลกันเป็นที่เล่าลือกันมากในหมู่บริวารของขุนราญอริราช พ่อเล่าให้ไพฑูรย์ฟังว่า

การดวลดาบกันครั้งนั้นกินกันไม่ลง ในที่สุดครูเติมได้ร้องประกาศว่าต่อจากนี้ไปอีก 3 เพลงจะตัดหัวเสือแมนลงกลิ้งกับดินและเป็นดังที่ได้ประกาศไว้ทุกประการ เพียงการรุก 3 ครั้ง เสือแมนก็กลายเป็นผีหัวขาดภายใต้คมดาบครูเติม

ท่านขุนราญอริราชชักชวนให้เข้ารับราชการในสังกัดของท่าน ท่านย้ายไปไหนให้ย้ายตามท่านไป ต่อไปจะได้ดิบได้ดีเป็นขุนเป็นหลวงกับเขาบ้าง แต่ครูเติมปฏิเสธด้วยว่าแม้ไม่มีลูกเมียแต่ก็มีพ่อแม่ที่แก่เฒ่าต้องคอยดูแล ทุกวันนี้มีรายได้จากการเป็นครูดาบและทำนาอันเป็นมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษเพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ

ท่านขุนถึงกับออกปากว่าเสียดายนักที่ทางราชการต้องขาดคนดีมีฝีมือไปอย่างน่าเสียดายเป็นที่สุด ฉายาของครูเติมมาจากคำประกาศล้มเสือแมนในสามเพลง

ครูเติมอยู่ในวัยสูงอายุ เมื่อไพฑูรย์ได้เป็นศิษย์ แต่เรื่องร่างกายแล้วแกร่ง หนุ่มๆกินท่านไม่ลง ไพฑูรย์เป็นศิษย์คนโปรดของครูเติมเพราะไพฑูรย์เรียนเก่งและหมั่นฝึกซ้อมจนเหนือกว่าเด็กที่เข้ามาเรียนรุ่นเดียวกัน เมื่อรู้ข่าวว่าท่านผู้มีพระคุณสูงสุดในชีวิตมาขอไพฑูรย์ไปเป็นบุตรบุญธรรมจึงเรียกไพฑูรย์ไปพบเป็นการส่วนตัว

“ได้ข่าวว่าเปียจะไปบางกอก ไปเป็นบุตรบุญธรรมของเจ้านายในบางกอกหรือ”
“ขอรับครูเติม แล้งหน้าท่านจะให้ทนายมารับไปบางกอกเพราะปีนี้ไม่สะดวก ท่านอยู่ในระหว่างตรวจราชการ”
“ถึงเวลาแล้วที่ครูจะสอนเพลงดาบที่ครูได้เรียนมาจากสำนักดาบพิชัยดาบหักที่เรียกว่า สามเพลงตาย แต่ก่อนเรียนต้องดื่มน้ำสาบานก่อนว่าจะไม่นำวิชานี้ไปข่มเหงรังแกผู้อื่น ไม่นำไปก่อความเดือดร้อนให้แก่สังคมด้วยการปล้นฆ่าข่มขืน คิดคดเป็นขบถต่อแผ่นดิน”

เมื่อไพฑูรย์ดื่มน้ำสาบานแล้ววันเสาร์ต่อมาหลังจากดื่มน้ำสาบานแล้วครูเติมจึงสอนวิชาเพลงดาบสามเพลงตายนี้ประกอบด้วยเพลง เสือทลายห้าง ช้างประสานงา กาล้วงไส้ ไพฑูรย์อธิบายให้ผู้เขียนฟังดังนี้

“เสือทลายห้างเป็นเพลงดาบนำโดยใช้ข้อเท้าทั้งสองข้างดีดตัวขึ้นในอากาศพร้อมดาบสองมือที่ฟันประสานกันลงมาจากอากาศ แรงกระหน่ำฟันจะทำให้เกิดแรงปะทะอันรุนแรงรับได้ลำบาก จะเกิดพลังรุนแรงเพียงใดแล้วแต่การฝึกซ้อมให้ชำนาญเป็นหลัก”

ช้างประสานงา ถ้าคู่ต่อสู้รับมือได้เมื่อสองเท้าลงเหยียบดิน ดาบสองมือให้ฟันตวัดบนลงล่างมือหนึ่ง ฟันขนานพื้นมือหนึ่ง หากอันเป็นการจู่โจมจากบนลงล่างและจากล่างสู่บน ผู้ที่ไม่ได้เตรียมตัวแก้เพลงจะตายหรือบาดเจ็บสาหัสจากเพลงช้างประสานงา

“กาล้วงไส้ เป็นเพลงจบเมื่อใช้เพลงดาบช้างประสานงาแล้วแม้คู่ต่อสู้จะรับได้แต่ทางดาบจะเสียไปทันที เท้าสองข้างไม่อาจทรงตัวได้มั่นคง ดาบในมือซ้ายพึงใช้ลวงให้คู่ต่อสู้ดึงดาบในมือขวามาป้องกันเกิดช่องว่างด้านล่างดาบในมือขวาให้ฟันเข้าช่องว่างเป้าหมายคือเนื้อที่ใต้ชายโครงอันเป็นจุดอ่อน ปลายดาบเสยขึ้นจะเปิดแผลฉกรรจ์จนตับไตไส้พุงทะลักออกมากองด้านนอกเป็นพวง ผู้ถูกฟันจะถึงแก่ความตายด้วยความทรมานในเวลาไม่นาน”

ไพฑูรย์ย้ำว่าเพลงดาบสามเพลงตายนี้ใช้ดับมือสังหารและขุนพลของอั้งยี่ที่เป็นศัตรูของคณะของแม่ดอกเหมยที่รักจนสามารถดำรงความแข็งแกร่งของแม่ดอกเหมยที่รักไว้ได้จนเธอพ้นไปจากผืนแผ่นดินไทยหลังจากกรณีเลียะพะ อันเป็นการจากเป็นระหว่างไพฑูรย์กับแม่ดอกเหมยที่รักดังที่เคยได้เขียนถึงมาแล้วในจอมอาชญากรหมายเลข 1 ทั้ง 6 เล่มกับเล่มพิเศษอีกหนึ่งเล่ม

**คำว่า “เลียะพะ” มาจากสองคำคือ เลียะ (掠)-คว้าแย่ง และ พะ (打)-ตี**

ไพฑูรย์บอกว่าดาบไทยไม่ว่าจะเป็นดาบเดี่ยวดาบสองมือ ดาบดั้ง ดาบโล่ ล้วนเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมของบรรพบุรุษไทยที่ใช้ปกป้องแผ่นดินให้ลูกหลานได้ซุกหัวนอนร่มเย็นเป็นสุขจนทุกวันนี้ดังคำที่ว่า“ด้วยดาบคมถมทับศพ ทบทวีไทยจึงมีเอกราชทุกชาติไป”

การที่ผู้เขียนได้คุยได้สนทนากับไพฑูรย์ พันธุ์เชื้องาม ทุกครั้งทำให้ผู้เขียนได้ความรู้อันไม่เคยได้รู้มาก่อน ได้เรียนรู้ถึงปรัชญาชีวิตของไพฑูรย์ที่คนทั่วไปมักมองเห็นว่าต้อยต่ำ แต่สำหรับผู้เขียนนั้นเรียกไพฑูรย์ พันธุ์เชื้องามว่า “พี่ไพฑูรย์” ได้อย่างเต็มปากและเต็มใจที่ได้มีโอกาสได้คลุกคลีกับผู้ที่เรียกตัวเองว่า “จอมอาชญากรหมายเลขหนึ่งในสองฐานะ”

ฐานะแรกในฐานะผู้อาวุโสที่เป็นนักเขียนรุ่นพี่ ฐานะที่สองในฐานะศิษย์หลวงพ่อเดิม ท่านพระครูนิวาสธรรมขันธ์ พุทธสโร วัดหนองโพ รุ่นพี่มีโอกาสได้พบกับหลวงพ่อเดิมเมื่อท่านมีสังขารอยู่ ส่วนผู้เขียนนั้นเป็นศิษย์ต่อหน้ารูปหล่อของท่านที่วัดหนองโพ ในฐานะผู้เข้าไปร่วมเป็นลูกหลานหลวงพ่อด้วยการแต่งงานกับลูกหลานหว่านเครือของท่านที่เป็นชาวหนองโพหรืออาจพูดได้ว่าเป็นศิษย์รุ่นหลานของไพฑูรย์ พันธุ์เชื้องามก็ว่าได้

(ความรู้เพิ่มเติมครับว่ากันว่าดาบแดงที่ขุนพันธุ์ใช้ปราบเสือร้ายต่างๆในอดีตเป็นดาบของพระยาพิชัยดาบหักที่สืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่น)

ที่มา : นักเลง โบราณ ตำนานหนังเหนียว
รูปภาพ : สุขใจ ดอท คอท

แอพเกจิ – AppGeji
——————————————————————————-

ติดตามเรื่องราวครูบาอาจารย์ได้เพิ่มเติมที่
แอพเกจิ Facebook: www.facebook.com/appgeji
Web Sit: www.appgeji.com
App Store (IOS): https://appsto.re/th/wlGScb.i

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: