9014. เขาอ้อ ตักศิลาทาง ไสยเวทย์ของภาคใต้ ตอนที่ 4

ตอนที่ 4 : กำเนิดพราหมณ์พัทลุง

ก่อนที่จะเจาะลงไปถึงประวัติของเขาอ้อ ขอพูดถึงประวัติของพราหมณ์สายที่อพยพลงไปพัทลุงเสียก่อนสักเล็กน้อย เพื่อจะเป็นหลักฐานว่า ข้อสัญนิษฐานของผู้เขียนมีส่วนถูต้องหรือผิดพลาดอย่างไร

สำหรับเรื่องของพราหมณ์ที่ไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตเมืองพัทลุงเก่า ได้ค้นพบหลักฐานเป็ยลายลักษณ์อักษรในหนังสือสารานุกรมวัฒนธรรมท้องถิ่นภาคใต้ ฉบับพิมพ์ปี พ.ศ. ๒๕๒๙ ซึ่งจัดทำโดย สถาบันทักษิณคดีศึกษา ในหนังสือดังกล่าวได้เขียนถึงพราหมณ์ที่ไปตั้งถิ่นฐานในเมืองพัทลุงไว้ตอนหนึ่งว่า

“…เมืองพัทลุงเป็นเมืองเก่าแก่เมืองหนึ่งของภาคใต้ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมอินเดียมาพร้อมกับเมืองไชยา และเมืองนครศรีธรรมราช ศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์ได้เข้ามาเผยแพร่ในเมืองพัทลุงนานแล้ว ตามตำนานเล่ากันว่าในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ได้ปราบปรามแคว้นกลิงคราชในอินเดีย ทำให้ชาวอินเดียได้นฃรับความเดือดร้อนเพราะภัยสงคราม จึงพากันอพยพมายังแหลมมลายู ชาวอินเดียส่วนหนึ่งขึ้นฝั่งที่เมืองปะเหลียน แล้วเดินบกข้ามแหลมมายังเมืองพัทลุงทางช่องเขาตระ ตำบลตะโหมด ไปตั้งรกรากครั้งแรกที่บ้านท่าทิดครู ตำบลฝาละมี ตำบลหารเทา อำเภอปากพยูนชาวดินเดียเหล่านี้ได้นำศาสนาพราหมณ์เข้ามาเผยแพร่ให้แก่ชาวพื้นเมือง

แต่หลักฐานทางโบราณวัตถุสถานที่บ้านท่าทิดครูไม่ปรากฏมีร่องรอยศาสนาพราหมณ์อยู่เลย แต่กลับพบร่องรอยโบราณวัตถุทางพุทธศาสนา คือ พระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่ปางสมาธิ ศิลปะท้องถิ่นสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีอายุสมัยหลังตำนานมาก

หลักฐานทางศาสนาพราหมณ์ที่พอจะเชื่อถือได้คือโบสถ์พรามหณ์ที่บริเวณวัดเขียนบางแก้ว ตำบลจองถนน อำเภอเขาชัยสน ซึ่งมีร่องรอยอิฐ ฐานประติมากรรม ชิ้นส่วนศิวลึงค์และอุมาลึงค์หินทรายจำนวนหลายชิ้น แสดงให้เห็นว่าศาสนาพราหมณ์คงเข้ามาเผยแพร่ในขณะที่เมืองพัทลุงตั้งอยู่ที่โคกเมือง ซึ่งอยู่ห่างจากโบสถ์พราหมณ์ไทางทิศเหนือประมาณ ๓๐๐ เมตร

พราหมณ์เมืองพัทลุงนี้ สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงนิพนธ์ไว้ในหนังสือนิราศนครวัดตอนหนึ่งว่า “มีกิจหนึ่งซึ่งตั้งใจจะมาหาความรู้พวกพราหมณ์ที่กัมพูชา ด้วยพราหมณ์ในกรุงเทพฯ มี ๓ พวก คือ พราหมณ์พิธีที่มาจากเมืองนครศรีธรรมราช พราหมณ์โหรดาจารย์มาจากพัทลุง พวกพราหมณ์พฤฒิบาศไปจากกรุงกัมพูชา เคยสืบได้ความจากพราหมณ์ที่นครศรีธรรมราชและมืองพัทลุงว่าต้นสกุลพราหมณ์พิธีมาจากเมืองรามนคร ส่วนพรามหณ์โหรดาจารย์นั้น ได้ความว่าต้นสกุลมาจากเมืองพาราณสี แต่พวกพราหมณ์พฤฒิบาศสืบในกรุงเทพ ฯ ไม่ได้ความต้นสกุลมาจากไหน จึงหมายจะถามพวกพราหมณ์ที่กรุงกัมพูชา ได้ถามพระครู บอกได้แต่ว่ามาแต่พนมไกรลาศ หมายความว่ามาจากเขาไกรลาศ”

การสืบสวนของผู้รู้ในปัจจุบันได้ความว่า เมืองรามนครกับเมืองพาราณสีเป็นเมืองเดียวกัน วังอันเป็นที่ประทับของเจ้าผู้ครองนครพาราณสียังเรียกว่ารามนครอยู่จนทุกวันนี้แสดงว่าให้เห็นว่าพราหมณ์เมืองนครกับพราหมณ์เมืองพัทลุงมาจากเมืองเดียวกัน แต่การเรียกชื่อผิดแผกแตกต่างกันไป จึงทำให้ผู้รู้ในสมัยก่อนหลงเข้าใจผิดก อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับพราหมณ์เมืองพัทลุงนี้ จากคำบอกเล่าของพระพร้อม เขมาภิร โต อายุ ๗๔ เจ้าอาวาสสำนักสงฆ์ปรางไชย์ ตำบลปรางหมู่ อำเภอเมืองพัทลุง เล่าว่าพราหมณ์เมืองพัทลุงเรียกว่า “พราหมณ์บัณเฑาะว์” หรือ “พราหมณ์มลิลา” ซึ่งไม่ทราบความหมายที่แน่ชัด

พงศาวดารเมืองพัทลุงของหลวงศรีวรวัตร (พิณ จันทโรจวงศ์) ได้กล่าวมาถึงพนัะกงานพิธีของฝ่ายพราหมณ์ไว้ว่าพนักงานพิธีขึ้นกับหลวงทิพมณเทียรหน้าวัง มีพราหมณ์ ๒๐ คน กับพนักงานรักษาเทียวไชย หัวหน้าพราหมณ์ ๔ คน คือขุนศรีสยมภู หัวหน้าพราหมณ์ ขุนศรีสพสมัย ๑ เปฌนผู้ถือบัญชีพราหมณ์ ขุน ไชยปาวี ๑ ขุนสิทธิไชย ๑ เป็นผู้นำเจ้าเมืองเข้าเมือง นอกจากนี้มีผู้ช่วยอีก ๔ คน คือ ขุนไชยธรรม ผู้ช่วย ๑ ขุนเทพมุนี ผู้ช่วย ๑ ขุนยศ ผู้ช่วย ๑ ขุนน้อย ผู้ช่วย ๑ มี พราหมณ์บัณเฑาะว์ชาวสังข์อีก ๑๒ คน ๒ คู่ ๘ คน ผลัดเปลี่ยนกัน คนแกว่งปัณเฑาะว์ ๑ คู่ ๔ คน ผลัดเปลี่ยนกัน

หลังจากพระบาทสมเดจพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้า ฯ ให้มีการปฏิรูปการปกครอง พ.ศ. ๒๔๓๗ ความสำคัญของพราหมณ์เกี่ยวกับพิธีการต่าง ๆ ตามหัวเมืองก็ลดความสำคัญลง ทำให้การนับถือศาสนาพราหมณ์เสื่อมลงจนบางครั้งพวกพราหมณ์เองก็ได้รวมเอาศาสนาพราหมณ์กับศาสนาพุทธเข้าด้วยกัน เพราะสามารถปฏิบัติร่วมกันได้ เมื่อสภาพเศรษฐกิจสังคมเปลี่ยนแปลงไป การหาผู้สืบทอดหรือผู้ที่บวชเป็นพราหมณ์ ก็หาได้ยากยิ่งขึ่น เพราะเมื่อบวชแล้วก็ไม่ค่อยมีกิจนิมนต์ไนการพิธีต่าง ๆ มากพอที่จะหาปัจจัยมาจุนเจือชีวิตได้ และอีกประการหนึ่งคือบวชแล้วจะสึกไม่ได้

พวกพราหมณ์ที่เมืองพัทลุงถือตัวเองว่าเป็นชนชั้นสูงเป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากพราหมณ์ในอินเดีย พวกพราหมณ์จึงมักเลือกตั้งบ้านเรือนไว้ในที่สูงที่ถือว่าเป็นมงคล และเพื่อแสดงให้เห็นว่าพวกตนมีฐานะชนชั้นสูงกว่าบุคคลทั่วไปสถานที่ที่พวกพราหมณ์เมือพัทลังได้เคยตั้งบ้านเรือน ได้แก่บ้านดอนเค็ด บ้านดอนรุม บ้านดอนยอ บ้านลำป่า บ้านไสไฟ อำเภอเมืองพัทลุง บ้านควนปริง บ้านดอนนูด อำเภอควนขนุน บ้านดอนจาย บ้านจองถนน อำเภอเขาชัยสน เป็นต้น พราหมณ์ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดพัทลุงมีขนบธรรมเนียมประเพณีที่ผิดแปลกไปกว่าพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราช

ประเพณีของพราหมณ์เมืองพัทลุงเท่าที่ได้ถือปฏิบัติกันในปัจจุบัน มีดังนี้

การเกิด เดิมจะถือปฏิบัติกันอย่างไรไม่สมารถสืบทราบได้ ปัจจุบัน ได้ถือปฏิบัติแบบเดียวกับคนไทยทั่วไป

การตาย ผู้ที่เป็นพราหมณ์หรือมีเชื้อสายพราหมณ์จะนั่งตาย สาเหตุที่พราหมณ์นั่งตาย มีเรื่องเล่าทำนองนิทานว่าในสมัยพระพุทธเจ้ายังมีพระชนม์อยู่นั้น พระอิศวรกับพระพุทธเจ้าทรงเล่นซ่อนหา โดยพระอิศวรเป็นผู้ซ่อนพระองค์ก่อน โดยลงไปซ่อนที่สะดือทะเล พระพุทธเจ้าทรงหาพบเมื่อถึงคราวพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงเสด็จขึ้นไปซ่อนอยู่ในมวยผมของพระอิศวร พระอิศวรทรงหาเท่าไรก็ไม่พบจึงทรงเรียกพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าขานรับทำให้เสียงดังไปทั้งทวีป พระอิศวรก็เลยแยกสำเนียงไม่ได้ว่ามาจากทิศใดจึงทรงยอมแพ้ต่อพระพุทธองค์ และขอเพียงที่สำหรับพอให้พวกพราหมณ์นั่งตายเท่านั้น นอกจากนั้นไม่ต้องการอะไรอีกพระพุทธองค์ก็ทรงอนุญาต

เมื่อพราหมณ์คนหนึ่งคนใดตาย การบรรจุโลงจะต้องทำเป็นรูปโกศรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสยอดแหลม พอให้ผู้ตายนั่งได้ก่อนบรรจุศพต้องอาบน้ำศพให้สะอาด ศพต้อวงนั่งท่าสมาธิแล้วบรรจุเข้าในโกศ ให้หันหน้าไปทางทิศอีสาน พิธีฝังต้องไปทางทิศอีสาน เมื่อทำพิธีเสร็จแล้ว พวกพราหมณ์ทั้งหมดจะกลับไปบ้านเจ้าภาพ แล้วรับประทานข้าวต้มบนครก เป็นอันเสร็จพิธีศพ

สำหรับป่าช้าพราหมณ์เมืองพัทลุง เท่าที่ได้ค้นพบในเวลานี้มีอยู่ ๒ แห่ง คือ ที่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของวัดเขียนบางแก้ว ตำบลจองถนน อำเภอเขาชัยสน ชาวบ้านเรียกว่า “ป่าช้าแขกชี” และป่าช้าที่หน้าวัดดอนกรวด ตำบลปราง หมู่ อำเภอเมืองพัทลุง ซึ่งเป็นป่าช้าที่ยังใช้อยู่จนทุกวันนี้ เดิมที่หน้าป่าช้านี้มีเสาหงส์ขนาดใหญ่ ๑ เสา ต่อมาทางวัดดอนกรวดได้รื้อนำไปทำเป็นเสากุฎิภายในวัด ส่วนตัวหงส์ก็สูญหายไป

การบวช ผู้ที่จะบวชเป็นพราหมณ์ได้ต้องเป็นผู้ชายและเป็๋นบุตรคนแรกของตระกูล อายุ ๔๐ ปี (บางแห่งว่า ๔๒ ปี) จึงจะบวชได้ เพราะถือว่าเป็นผู้ใหญ่เต็มตัวแล้ว และส่วนใหญ่จะผ่านชีวิตครอบครัวมาแล้ว เมื่อบวชก็สามารถอยู่กินกับภรรยาได้ ในวันบวช พวกญาติพี่น้องจะมานั่งรวมกันในพิธี แล้วพราหมณ์ผู้ทำหน้าที่บวช ก็ให้ญาติพี่น้องนำผ้าขาวมาคลุมศีรษะผู้บวช ปลายผ้าทั้งสองให้ผู้เข้าร่วมพิธีจับไว้แล้วโยกศีรษะผู้บวชสลับไปมา พราหมณ์ผู้ทำพิธีก็จะเป็นผู้ให้ศีลให้พร ก็เป็นอันเสร็จพิธีถือว่าเป็นพราหมณ์ได้เรียกพราหมณ์บวชแบบนี้ว่า “พราหมณ์ญัติ” หรือ “พราหมณ์บัญญัติ”

การแต่งงาน สมัยเดมจะเป็นอย่างไรไม่สามารถสืบทราบได้ ปัจจุบันการแต่งงานของพราหมณ์ก็เช่นกันกับการแต่งงานของคนไทยทั่ว ๆ ไป แต่ถ้สเป็นหญิงพราหมณ์แต่งงานกับชายไทยถือว่าผู้นั้นจะขาดความเป็นพราหมณ์ บุตรชายที่เกิดขึ้นจะพรตเป็นพราหมณ์ไม่ได้ ถ้าชฃายพราหมณ์แต่งงานกับหญิงไทยยังถือว่าเป็นพราหมณ์ บุตรชายที่เกิดขึ้นสามารถพรตเป็นพราหมณ์ได้

การแต่งกาย โดยทั่วไปแล้ว พราหมณ์จะนุ่งห่มด้วยผ้าขาว คือ เสื้อขาวธรรมดา ๑ ตัว ผ้าโจงกระเบน ๑ ผืน แต่ถ้าทำพิธีพราหมณ์จะใส่เสื้อยาวแบบเสื้อราชปะแตนสีขาวคลุมทับเสื้อใน สวมหมวกแบบถุงแป้ง ห้อยคอด้วยลูประคำ

ข้อห้ามเกี่ยวกับอาหาร พราหมณ์เมืองพัทลุงจะไม่กินเนื้อและปลาไหล เพราะพราหมณ์ถือว่าวัวเป็นสัตว์ที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นพาหนะของพระอิศวร ซึ่งเป็นเทพเจ้าของพราหมณ์ ส่วนเนื้อปลาไหล ที่พราหมณ์ไม่รับประทานเพราะมีเรื่องเล่าทำนองนิทานว่า ในสมัยหนึ่ง พระอิศวร ได้เสด็จประพาสป่า ทรงพบกวางคู่หนึ่งกำลังร่วมสังวาสกันอยู่พระอิศวรเกิดความกำหนดขึ้นมา จึงแปลงกายเป็นกวางตัวผู้ร่วมสังวาสกับกวางตัวเมีย ต่อมาพระอิศวรเกิดความละอายใจจึงตัดอวัยวะสืบพันธุ์ทิ้งไป ก็เกิดเป็นปลาไหล ด้วยความเชื่อนี้เอง พราหมณ์จึงไม่กินปลาไหล

รูปเคารพของพราหมณ์พัทลุง เท่าที่เหลือในปัจจุบันคือ รูปพระอิศวรหล่อสำริดปางนาฏราชศิลปะอินเดีย พระพิฆเนศวร พระอุมา และยังมีรูปพระโพธิสัตว์มัญชุศรีของพุทธศาสนาลัทธิมหายานร่วมอยู่ด้วย โดยพราหมณ์เข้าใจว่าเป็นสฃรูปพระอิศวร..”

จากตำนานพราหมณ์เมืองพัทลุงที่ยกมาอ้างดังกล่าวพอจะโยงใยไปถึงการก่อตั้งสำนักเขาอ้อได้เนื่องจากตามหลักฐานพบว่าพราหมณ์เคยไปอยู่ละแวกอำเภอควนขนุน คือ ในเขตใกล้เคียงกับเขาอ้อ และที่ว่าพราหมณ์ชอบตั้งที่พำนักสูง ๆ เพราะถือว่าตัวเองเป็นชนชั้นสูง โดยเฉพาะพราหมณ์ผู้เรืองเวทด้วยแล้ว ยิ่งต้องการที่สูงอาศัยอยู่ และต้องการสถานที่สงบเงียบเพื่อการบำเพ็ญพรต

ในละแวกอำเภอควนขนุรน เขาอ้อถือเป็นชัยภูมิที่ดีมากแห่งหนึ่ง เส้นทางคมนาคมในอดีตถือ ลำคลองผ่านหน้าเขา ภายในเขามีถ้ำกว้างใหญ่เย็นสบายรอบ ๆ เขาเป็นที่อยู่ของชาวบ้าน และที่สำคัญอยู่ไม่ห่างจากตัวเมืองพัทลุงเก่ามากมากนักด้วยเหตุนี้อาจจะมีพราหฒณ์ผู้เรืองเวทสักกลุ่มได้ตั้งสำนักขึ้นเพื่อถ่ายทอดวิทยาของพราหมณ์ สู่ลูกหลานพราหมณ์รวมทั้งลูกหลานกษัตริย์ ซึ่งเป็นหน้าที่ของพราหมณ์โดยตรงที่จะต้องทำไหน้าที่ราชครูให้เหล้าพระวงศ์และองค์รัชทายาทในเมืองต่าง ๆ ด้วยเหตุนี้วัดเขาอ้อแม้ต่อมาเปลี่ยนเป็นวัด มีพระเป็นเจ้าอาวาสแล้ว เจ้าเมืองต่าง ๆ ก็นิยมส่งลูกหลานไปเรียน.


ขอขอบคุณ สำนักตักศิลาไสยเทวะ
ที่มา : เวทย์ วรวิทย์
หนังสือ : เขาอ้อ ตักศิลาไสยเวทย์

ติดตามเรื่องราวครูบาอาจารย์ได้เพิ่มเติมที่

แอพเกจิ Facebook: www.facebook.com/appgeji

Web Sit: www.appgeji.com

Blockdit: https://www.blockdit.com/pages/639465814b3b1940c4810117

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: