1160. อิทธิฤทธิ์ สามเณรบุญนาค เที่ยวกัมมัฏฐาน ตอนที่ 3 (มีทั้งหมด 4 ตอน)

หมายเหตุ : หนังสือประวัติ “สามเณรบุญนาค เที่ยวกัมมัฏฐาน” ลิขสิทธิ์เป็นของ พระครูสมุห์พิชิตฐิตวีโร ผู้จัดพิมพ์ และหลวงพี่เก่ง แห่งสำนักเวฬุวัน เป็นผู้พิมพ์ดีด คุณกิตติเป็นผู้โพส ถ้าใครจะคัดลอกหรือนำออกไปภายนอกเว็บนี้จะต้องได้รับอนุญาตก่อนนะครับ

ญาติโยมขอขมาโทษ
จากนั้นอาตมภาพก็นั่งสมาธิหลับตาเรื่อยไป แต่ก็ยังมีคนศรัทธาขอปวารณาเป็นอุปัฏฐาก และขอขมาโทษที่ได้ดูหมิ่นประมาทต่าง ๆ
“ขอเณรจงงดโทษแก่ผู้ข้าทั้งหลาย ผู้ข้าผิดไปแล้ว” ต่อมามีคนมาทำบุญมาก และขอฟังธรรมทุกวัน อาตมภาพอยู่ไปอีก ๓ วันเท่านั้น พิจารณาเห็นว่า
เราก็ยังเป็นผู้ฝึกหัดอยู่ จะมาตั้งตัวเป็นผู้รับแขกและคลุกคลีอยู่เช่นนี้ เป็นอันตรายแก่ความสงบ เป็นที่ตั้งแห่งความกำเริบ
ของวิญญาณเราควรหลีกไปเสียดีกว่า ต่อมาเป็นวันคำรบ ๘ ฉันบิณฑบาตเสร็จ อาตมภาพก็ลาโยมเหล่านั้น รู้สึกมีบางคนบ่นว่า “เราไม่รู้ว่าท่านมาบำเพ็ญบุญบารมี
ต่างคนก็เข้าใจว่าบ้าทั้งบ้านทั้งเมือง”

จากนั้นอาตมภาพจึงเที่ยวไปทางหนองน้ำจันทน์ ไปพักที่ป่าช้าบ้านหนองน้ำจันทน์อยู่ ๙ วัน พระครูเขียวไปไล่ว่า “เณรนี้ใช่ไหมที่เขาว่าเป็นบ้า
เรารู้เรื่องของเณรแล้ว เธอนี้แหละเขาบอกว่าเป็นบ้า จะได้เป็นสามเณรในศาสนาก็หามิได้ เหตุนั้นเณรจงหนีไปเถิด อย่าได้อยู่ ในท้องถิ่นนี้เลย”

โต้วาทะกับพระครูเขียว
อาตมภาพได้ตอบท่านองค์นั้นว่า “สามเณร มาจากสมณะ ตามศัพท์แปลว่าผู้สงบ ใครเป็นผู้สงบ ผู้นั้นแหละพระพุทธเจ้าเรียกว่า สามเณร หรือ สมณะ
บุคคลผู้มีความปรารถนาและโลภอยู่ คนนั้นจะศีรษะโล้นก็ไม่ชื่อว่า สมณะ โดยพระพุทธภาษิตว่า อัพพะโต อะลิกัง ภะณัง อิจฉาโลภะสะมาปันโน
กิง สะมะโณ ภะวิสสะติ แปลว่า บุคคลผู้มีความปรารถนาและมีความโลภอยู่ จะชื่อสมณะอย่างไรได้”

เมื่อท่านได้ยินเช่นนี้ ท่านก็โกรธ หาว่าดูหมิ่น ว่าท่านไม่รักษาธุดงค์ก็ไม่ชื่อว่าสมณะไปด้วย อาตมภาพตอบท่านว่า “(๑)
เป็นผู้มีความปรารถนา (๒) โลภ (๓) ไม่รักษาธุดงค์คือความสงบ ผู้ขาดคุณสมบัติทั้ง ๓ นี้แหละครับ พระพุทธเจ้าว่าไม่ชื่อสมณะ ตามบาลีที่มีมาในธรรมบท
ภาค ๗ ธัมมัฏฐวรรคว่าดังนี้ แหละครับ”

ท่านก็โกรธว่า “บ้า อะไรมาอ้างศัพท์อ้างแสง อ้างคัมภีร์ธรรมบทภาคนั้นภาคนี้ วรรคนั้น วรรคนี้ จะมาแข่งดีกับพระหนองน้ำจันทน์หรือเณร” อาตมภาพ ตอบว่า
“ความแข่งดีกันเป็นอุปกิเลส ๑๖ ในข้อ ๑๒ ว่า สารัมภะ การแข่งดีเป็นกิเลสอย่างหนึ่ง ซึ่งพระพุทธเจ้าไม่ได้สรรเสริญเลยครับ
ผมพูดในที่นี้ผมพูดตามศัพท์บาลี หรือความเป็นจริงเท่านั้น คนที่มีกิเลสในสันดาน ได้ยินเข้าก็น้อมเป็นกิเลสทั้งนั้น เพราะความจริงเข้าไปถึงสันดาน
ที่เป็นเจ้ากิเลส ตัวกิเลสก็ดิ้นรนออกมาเท่านั้นครับ”

ท่านพระครูเขียวยิ่งโกรธใหญ่ หาว่าอาตมภาพดูหมิ่นท่านว่าไม่ใช่สมณะ ทั้งเป็นเจ้ากิเลสด้วย ท่านจึงนำตัวของอาตมภาพเข้าไปที่วัดของท่าน
แล้วขังไว้ในโบสถ์เพื่อไต่สวน อาตมภาพก็นั่งสมาธิและเดินจงกรมในโบสถ์เรื่อย ไม่พูดกับใคร
ต่อไปอีก ๒ วัน ท่านนำตัวไปไต่สวน อาตมภาพก็ไม่พูด มีแต่นั่งหลับตาทำสมาธิ ผลที่สุดท่านก็ตัดสินลงโทษ จะให้อาตมภาพขนดินขนทรายเข้าวัด แล้วถามว่า
“เณรยอมทำไหม” อาตมภาพก็ไม่พูด เอาแต่นั่งหลับตาดักจิตไว้ภายในใจเรื่อยไป

ถูกจับขังคุก
ตกลงท่านก็มอบให้ฝ่ายบ้านเมืองนำตัวไป พิสูจน์ว่าเป็นคนอย่างไรแน่ ปุลิศนายตำรวจก็นำตัวอาตมภาพไปขังไว้เรือนจำของศาลเมืองสองคร ได้สองวัน
นายอำเภอเมืองสองครจึงนำตัวของอาตมภาพ ไปยังศาลเพื่อชำระคดีเรื่องนั้น กับ ท่านพระครูเขียวเจ้าคณะแขวงเมืองสองคร

นายอำเภออ่านคดีฟ้องเสร็จแล้ว ถามอาตมภาพว่า “ได้ว่าให้ท่านพระครูเช่นนี้หรือไม่” อาตมภาพตอบว่า “ได้ว่าอย่างนั้นจริง แต่ไม่ได้ว่าให้ท่านพระครู”
นายอำเภอจึงถามต่อไปว่า “เณรว่าให้ใคร” อาตมภาพตอบว่า “อาตมาว่าที่ปากของอาตมาเอง ไม่ได้ว่าให้ใครและไม่ได้ว่าออกชื่อของใคร
ว่าคนชื่อนั้นชื่อนี้ไม่รักษาธุดงค์ มีความโลภและความปรารถนาไม่ชื่อว่าสมณะนี้หามิได้ เป็นแต่อาตมาว่าไปตามคาถาธรรมบทที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้เท่านั้น”

ท่านพระครูเขียวท่านก็ว่า “บ้าใบ้ ถ้าไม่พูด มันก็ไม่พูด ถ้าพูดมันเล่นสำนวน จริงหรือไม่เณร” อาตมภาพตอบว่า “จริงครับ ตามความประสงค์ของท่าน
แต่จะจริงตามคำของพระพุทธเจ้าก็หามิได้”

ท่านถามต่อไปว่า “จริงตามคำของพระพุทธเจ้านั้นอย่างไร” อาตมภาพตอบว่า “จริงคือความดับนั้น แหละเป็นความจริงของพระพุทธเจ้า”

ท่านถามต่อไปว่า “ดับอะไร” อาตมภาพตอบว่า “ดับความโกรธ และความจองล้างจองผลาญ จึงได้นามว่า สาวะกะ คือ
สาวกผู้ฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า”

ท่านถามต่อไปว่า “เณรดับได้และฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้วหรือยัง” อาตมภาพตอบว่า “ถ้าผมดับความโกรธและความจองล้างจองผลาญกับคนอื่นได้
ก็ได้ชื่อว่าผมดับและฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ถ้าผมดับไม่ได้ ผมก็ยังไม่ดับนั้นเอง”

ท่านจึงถามต่อไปว่า “เดี๋ยวนี้เณรดับได้ไหม” อาตมภาพตอบว่า “ถ้าผมดับความโกรธของผมได้เดี๋ยวนี้ก็ดับได้
ถ้าผมดับยังไม่ได้ผมก็คงยังดับไม่ได้อยู่นั้นเอง”

“ถ้าเช่นนั้น เณรเป็นอรหันต์แล้วหรือ” อาตมภาพตอบว่า “ถ้าผมสิ้นอาสวะผมก็เป็นพระอรหันต์ ถ้าผมยังไม่สิ้นอาสวะผมก็ยังเป็นปุถุชนอยู่”

ท่านถามอีกว่า “เณรสิ้นอาสวะแล้วหรือยัง” อาตมภาพตอบว่า “ถ้าผมสิ้นไปแล้วจากอาสวะ อาสวะก็สิ้นไปจากผม ถ้าผมยังไม่สิ้นจากอาสวะ
อาสวะก็ยังอยู่ที่ผม”

จากนั้นไป นายอำเภอเมืองสองครจึงว่า “หยุดก่อนครับ ท่านพระครูอย่าเร่งถามเณรนักในเรื่องเช่นนี้ ผมเข้าใจดีว่าเณรไม่ใช่คนใบ้และบ้าเลย
ท่านองค์นี้เป็นนักพรต คือผู้บำเพ็ญเพียรในศาสนาแน่นอน” จากนั้นนายอำเภอจึงถามว่า “เณรมีอายุเท่าไร” อาตมภาพตอบว่า “เวลานี้อายุของสังขาร ๑๘ ปีนี้”
นายอำเภอจึงว่า “ผมขอนิมนต์เณรอยู่วัดในเมืองนี้ได้หรือเปล่า” อาตมภาพตอบว่า “ได้แต่เฉพาะวันที่อาตมภาพมาอยู่ ถ้าอาตมภาพไปแล้ว ก็เป็นอันว่าไม่ได้อยู่”

จากนั้นไปทางศาลก็ตัดสินยกเลิกว่า ไม่จำเป็นจะเกี่ยวข้องในท่านผู้เช่นนี้ เพราะท่านเที่ยวบำเพ็ญส่วนกุศลเท่านั้น
ท่านไม่หวังว่าจะอยู่ในท้องถิ่นเขตแดนของใคร จะไปหรือจะอยู่ก็แล้วแต่เรื่องของท่านเท่านั้น จากนั้นก็เลิกแล้วกันไป

ทดลองอดอาหาร
อาตมภาพจึงเดินทางไปยัง แขวงสุวรรณเขต แล้วข้ามฝั่งแม่น้ำโขงไปตาม ดงปังอี่ ไปถึงเขา สีถาน พักบำเพ็ญอยู่ที่นั้น ๓ เดือน
มีหมู่บ้านข่าอยู่ตามชายเขานั้นหลายหลังคาเรือน การบำเพ็ญอยู่ที่นั้นได้ทดลองกำลังใจด้วยวิธีอดข้าว ๓ วันจึงฉันหนหนึ่ง
เพราะอยากทราบว่าเราปฏิบัติมานานปีเพียงนี้ เราจะมีกำลังของขันติมากน้อยเพียงไร และเราจะมีอุบายระงับเวทนา แก้หิวข้าวเท่านี้ได้หรือไม่
เมื่อเวทนาใหญ่คือความตาย มาถึงจะไม่ซ้ำร้ายกว่าหิวข้าว ๓ วันนี้หรือ เราทดลองในเวลาเช่นนี้ เมื่อเวทนากล้าจนถึงตายมาถึงเข้า เราจะรู้ได้อย่างไรว่า
เราอาจดักจิตให้ล่วงทุกขเวทนาเช่นนี้ได้หรือไม่

เมื่อพิจารณาเช่นนี้แล้ว ก็ตั้งหน้าบำเพ็ญเพียร ด้วยวิธี ๓ วันจึงฉันหนหนึ่ง อยู่ที่นั้นสิ้น ๓ เดือน พวกข่าพากันแตกตื่นว่าเป็นผู้มีบุญ ไม่ฉัน ๓
วันยังเดินได้คล่อง ๆ ต่างก็พากันมาเฝ้าดูอยู่มากมาย อาตมภาพบอกว่า “อาตมภาพบำเพ็ญขันติบารมี ไม่ใช่ผู้มีบุญบาปอะไรดอก
เป็นสามเณรภาวะในศาสนาของพระพุทธเจ้า เสมอด้วยสามเณรทั้งหลายที่มีอยู่ทั่วไป” เขาก็ไม่เชื่อ ยิ่งแตกตื่นกันมามาก เฝ้าอยู่ทั้งกลางวันกลางคืน
อาตมภาพพิจารณาเห็นเป็นอันตรายแก่ความสงบ จึงหลีกไปเสียจากที่นั้น


อาจารย์หลายล่วงรู้ใจ

ข้ามไปทาง ภูเขาค้อ แขวงอำเภอนาแก ไปพบท่านองค์หนึ่ง เป็นพระกรรมฐานพักอยู่ ถ้ำพระเวส ชื่อ อาจารย์หลาย
ซึ่งคนเล่าลือว่าท่านรู้หัวใจคนที่ไปหา อาตมภาพคิดปัญหา ๔ ข้อ ว่าจะไปทดสอบท่าน คือ จิตรวม ๑ จิตอยู่ ๑ จิตเข้าสู่ภวังค์ ๑ จิตเป็นสมาธิ ๑ ต่างกันอย่างไร
และคุณสมบัติจะพึงได้พึงถึงของขณะจิตทั้ง ๔ นี้ ต่างกันบ้างหรือไม่

พอคิดไว้แล้วก็เดินไปหาท่าน พอกราบลงเท่านั้น ท่านก็ยิ้ม ๆ แล้วพูดว่า “ว่าไงปัญหา ๔ ข้อ ที่ยังสงสัยนั้น ยกขึ้นมาสนทนากันได้นะ”
ที่จริงอาตมภาพยังไม่ได้ถาม ท่านยกขึ้นมาปรารภก่อน อาตมภาพกระดากใจขึ้นมาว่า “แหม ท่านรู้ได้จริง ๆ” อาตมภาพก็จึงขออาราธนาให้ท่าน แสดงนัยต่าง ๆ
พร้อมทั้งคุณสมบัติของจิตทั้ง ๔ ขณะ จิตอาตมภาพมีความเลื่อมใสในข้อปฏิบัติของท่าน อาตมภาพขอเรียนกรรมฐานอยู่กับท่าน ๑๖ วัน พอดี อาตมภาพป่วยหนัก
ท่านก็จากไปในวันนั้น

คำพยากรณ์
ก่อนท่านจะไปท่านได้สั่งว่า “ถึงป่วยก็ไม่เป็นไร ในชีวิตนี้เณรจะต้องได้บวชเป็นพระภิกษุ แต่ก่อน ๆ มาทุกชาติ เณรได้บวชและบำเพ็ญมาดังนี้ได้ ๑๑๑
ชาติแล้ว แต่ยังไม่ได้บวชเป็นพระสักที ครบอายุ ๑๘-๑๙ ก็ตายเสียก่อนด้วยบุพกรรม (กรรมเก่า) ของเณร เณรเคยได้เป็นเสือโคร่งใหญ่มา ๑๑ ชาติ ทำลาย
ชีวิตสัตว์ที่มีคุณทั้งหลาย ๑๐ ตัวมาเป็นอาหาร ด้วยกรรมอันนั้นมาขีดคั่นทำให้ชีวิตสั้น จึงยังไม่ได้อุปสมบทเป็นพระสักที บัดนี้เณรพ้นจากเวรเช่นนั้น
แล้วต่อไปก็จะมีปฏิปทาอันสะดวกดี และจะได้อุปสมบทเป็นพระตั้งแต่ชาตินี้เป็นต้นไป” และท่านทำนายต่อไปว่า “เณรมีนิสัยเสือโคร่งเป็นสันดาน
เพราะเณรเกิดเป็นชาติเสือติดๆ กันทั้ง ๑๑ ชาติ คือ

(๑) น้ำใจกล้าหาญ
(๒) ชอบเที่ยวกลางคืน สบายกว่ากลางวัน
(๓) ถ้าได้อยู่ที่ซ่อนเร้นสงัดจากคน จิตเป็นที่สบาย
(๔) ได้ลงมือทำอะไรแล้ว ผิดหรือถูกก็ถอนได้ยาก เพราะทำอะไรมักอยากให้อยู่ในกำมือของตน ค่อนข้างกล้าไปด้วยโทสะสักหน่อย แต่ว่าพยายามไปเถิด อายุ ๒๐
ปีจะมีความรู้ความเห็นเป็นที่อุ่นใจ”

พบสิ่งวิเศษในถ้ำ
จากนั้นท่านก็เดินทางไปตามชายเขา ส่วนอาตมภาพนอนป่วยอยู่ ๔ วัน ก็รู้สึกทุเลาลงพอจะเดินไปบิณฑบาตได้ อาตมภาพก็ทำความเพียรอยู่ที่นั้นสิ้น ๑ ปีกับ ๖
เดือน รู้สึกได้รับความสบายกายสบายใจมาก ทางอาศัยบิณฑบาตที่บ้านแก้งมะหับ จากถ้ำถึงบ้าน ๑๐๐ เส้น ระหว่างบำเพ็ญอยู่ที่นั้นได้ ๑๑ เดือน

ฝันเห็นคนมาบอกให้ไปเอาพระพุทธรูป ออกจากถ้ำไทรทุกวัน จนแทบจะนอนไม่หลับ หลับลงก็ปรากฏคนมาบอกในทันใด ตกลงอาตมภาพก็เข้าไปในถ้ำนั้น ดูเข้าไปประมาณ ๓
เส้นเศษ เห็นแผ่นทองตั้งอยู่ ดูจารจารึกไว้เป็นตัวอักษรลาว ใจความว่า “พระภิกษุอ่อน พรรษา ๗ ได้สร้างพระพุทธรูปบรรจุไว้ที่นี้
ตั้งแต่พระพุทธเจ้านิพพานแล้ว ๕๒๑ ปี” อาตมภาพก็คลานเข้าไปอีกประมาณ ๒ เส้น เห็นพระพุทธรูปตั้งอยู่กับเสือเหลืองตัวหนึ่ง งูเหลือมตัว
หนึ่งที่อาศัยอยู่ในถ้ำนั้น

อาตมภาพก็หยิบเอาแต่พระพุทธรูปมาองค์หนึ่ง เป็นพระปรอทมาไว้เป็นที่สักการะ อยู่ในถ้ำก็หลายวันอาตมภาพเอาเฉพาะแต่ พระปรอทองค์หนึ่ง กับดาบเล่มหนึ่ง
และแผ่นทองนั้น ซึ่งหนัก ๑๒ บาท นายฮ้อย (พ่อค้าเร่) อุ่น บ้านซอง ไปล่าเนื้อ ไปแวะเห็นเข้าขอดู รู้ว่าเป็นทองแท้ก็ขออาตมภาพ อาตมภาพก็ให้ไป
ส่วนพระปรอทนั้น ถึงกำหนดที่อาตมภาพจะหลีกไปจากที่นั้น มานิมิตฝันว่า มีคนมาห้ามไม่ได้เอาพระปรอทพร้อมทั้งดาบไปด้วย อาตมภาพก็คืนไว้ที่เดิม

แล้วก็เดินทางไปที่ภูเขาค้อ ที่ ถ้ำไทร อาศัยบิณฑบาตที่หมู่บ้านคิ้ว ไปพักทำความเพียรที่นั้น ได้รับนิมิตฝันเห็นแต่งูมารัดแทบทุกวัน
บางวันก็ละเมอจนร้องไห้ก็มี เพราะฝันเห็นแล้ว กลัวว่ารัดแน่นไปจะหายใจไม่ออก ก็ละเมอร้องสุดเสียง เมื่อตื่นนอนขึ้นมาก็ไหว้พระแล้วอธิษฐานว่า “ข้าพเจ้า
มาบำเพ็ญบารมีอยู่ที่นี้ เป็นเพราะเหตุไรหนอจึงฝันเช่นนี้ทุกวัน หากข้าพเจ้าจะถึงแก่ความเสื่อมหรือความเจริญสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้ว ด้วยอำนาจคุณพระรัตนตรัย
จงดลบันดาลให้ข้าพเจ้าทราบเหตุในวันต่อไปด้วยเทอญ”

พอค่ำวันนั้น ประมาณ ๗ ทุ่ม ก็จำวัด ฝันเห็นพระหลวงตาแก่ ๆ มาบอกว่า “จงระวัง เณรมาอยู่ที่นี้ อีก ๔ วันเณรจะเห็นเนื้อคู่ (คู่วาสนา)
แล้วเณรจะร้อนใจเพราะผู้หญิงคนนั้น” ก็พอดีตื่นนอน อาตมภาพก็ลุกขึ้นทำความเพียร เดินจงกรมไปตามเรื่อง

พบคู่วาสนา
อีก ๔ วันพอดี บิณฑบาตกลับมา เผอิญผู้ใหญ่บ้านคิ้วมาทำบุญกับลูกสาวคนหนึ่ง อายุ ๒๐ ปี พอมานั่งลงเท่านั้น มองเห็นหน้าหญิงคนนั้น ยังไม่ได้พูดอะไร
เกิดประหม่า ดูเหมือนรักก็ไม่ใช่ เกลียดก็ไม่ เชิง ใจคอว้าเหว่จนรู้สึกว่าหายใจไม่รู้อิ่ม ใจคอก็ไม่หนักแน่นอย่างแต่ก่อน

อาตมภาพก็นั่งพิจารณาอยู่ “จะเป็นนี้กระมังที่ตรงกับความฝันของเราเมื่อวันที่แล้วมา ว่าจะพบเนื้อคู่ (คู่วาสนา)” โยมผู้ใหญ่บ้านคนนั้น
เขาถามถึงบ้านเกิดเมืองเกิด ถามทั้งบิดามารดาแล้ว แกก็ปรารภว่า “ไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร ผมเห็นคุณเณร ไปบิณฑบาตแต่วันมาถึงทีแรก จนบัดนี้รู้สึกคิดรักคุณเณร
คล้ายกับบุตรของตนจริง ๆ”

ส่วนหญิงลูกสาวคนนั้นก็พูดว่า “ฉันเองก็ไม่รู้เป็นอย่างไร นับตั้งแต่วันได้เห็นท่านเข้าไปบิณฑบาตจนบัดนี้ รู้สึกคิดรักท่านยิ่งกว่าพี่ชายน้องชายของตน
ท่านก็เป็นคนหนุ่มอยู่ ทำไมเที่ยวกรรมฐานนอนตามถ้ำตามเขาคนเดียว ข้อนี้เองยิ่งเป็นเหตุให้ดิฉันสงสารมากขึ้น แทบน้ำตาจะร่วงออกมา”

เพียรสลัดรัก
อาตมภาพก็นั่งพิจารณาในใจว่า “นับแต่วันเราเกิดเป็นมนุษย์มา ไม่มีเลยที่เราจะมาคิดชอบคิดรักคน จนหายใจไม่อิ่มอย่างนี้ ไม่มีเลย” แต่ก็ไม่พูด อันนี้
เป็นแต่คิดในใจเท่านั้น แล้วพิจารณาต่อไปว่า “เราจะหาคำพูดอันหนึ่งอันใดที่จะมิให้เป็นที่พอใจรักใคร่กันต่อไปอีก”

นึกขึ้นมาแล้วก็ข่มใจพูดดูประหนึ่งว่าไม่มีความยินดีสักนิดเดียว พูดว่า “โยมผู้ใหญ่พร้อมทั้งนางสาวนั้นเป็นคนโง่ไม่มีปัญญา ทำไมจะมารักของทิ้ง
คือโฉมสรีระร่างกายนี้ ทั้งของโยมทั้งสอง ทั้งของอาตมานี้ต่างก็จะพากันเอาไปฝังดินทิ้งทุก ๆ คนมิใช่หรือ
เมื่อถึงที่สุดต่างคนก็ต่างจะถูกเอาไปฝังดินทิ้งอยู่แล้ว ประโยชน์อะไรมาคิดรักของทิ้งกันเล่นเปล่า ๆ ใครก็อยู่ไปจนกว่าจะเอาไปทิ้งกันเท่านั้น
สิ่งที่ควรรักก็คือศีลธรรมเท่านั้น ไม่ควรรักร่างกระดูกคือรูปโฉมอันเป็น ของจะทิ้งลงสู่พื้นดินทุกคนไป”

ว่าแล้วอาตมภาพก็ฉันบิณฑบาตนั้นเรื่อยไป พออิ่มเสร็จแล้ว แกจึงถามว่า “คุณเณรดูเหมือนจะไม่สึกละหรือ” อาตมภาพจึงตอบขึ้นในทันใดว่า
“อาตมาไม่ได้บวชเพื่อจะสึก บวชเพื่อจะบำเพ็ญกุศลบารมีเท่านั้น คืออาการของสึกยังไม่ได้คิดไว้เลย อาตมาได้คิดไว้แต่เพียงว่า
การบวชของเรามีประโยชน์และมีธุระจะบำเพ็ญส่วนกุศลเท่านั้น ธุระหรือประโยชน์นอกนั้นไม่ใช่การงานของนักบวช จึงมิได้คิดไว้” ว่าแล้วอาตมภาพก็ให้พร ยถาสัพพี
พอเสร็จหญิงสาวคนนั้นก็พูดสอดขึ้นว่า “คุณเณรมัวแต่จะเพียร สร้างบารมี นานเข้าจะลืมคิดสึก เดี๋ยวจะแก่เสียก่อน”

อาตมภาพนึกขึ้นได้ว่า พูดในเรื่องนี้จะเป็นอันตรายแก่ความสงบ ก็นั่งสมาธิเรื่อยไปไม่พูด ทั้งสองพ่อลูกเห็นอาการเช่นนั้นก็ชวนกันกลับบ้าน
ฝ่ายอาตมภาพพอคนทั้งสองออกไปแล้ว ก็รู้สึกคิดถึงหญิงคนนั้น จนรู้สึกหายใจไม่อิ่มและใจคอว้าเหว่มาก นั่งก็ไม่นาน นอนก็ไม่หลับ ฉันข้าวก็ไม่ได้
เพราะปรากฏว่าหัวใจแขวนเหวี่ยงไปเหวี่ยงมา เป็นอยู่เช่นนี้ ๒ วัน รู้สึกเป็นทุกข์มาก

อาตมภาพจึงดำริว่า ประโยชน์อะไรที่เราจะอยู่ ด้วยความทุกข์เช่นนี้ เราตายเสียในเร็ว ๆ นี้จะไม่ดีกว่าหรือ หากเราจะสึกไปมีครอบครัวอย่างฆราวาส
ต้องทำปาณาติบาตเป็นอาชีพ เราก็สร้างบาปกรรมมากขึ้นไปอีก กว่าชีวิตนี้จะสิ้นไป เราก็จะมีบาปกรรม เป็นที่อาศัยไปข้างหน้า สู้เราตายเสียก่อน
อย่าให้ทันได้ทำบาปกรรมเลย ฉวยเอาศีลธรรมที่เราได้ประพฤติมาแล้วนี้ เป็นที่อาศัยไปเสียก่อน
ดีกว่าเราจะสึกออกไปสร้างเอาบาปเอากรรมต่อไปอีกตั้งหลายปีหลายเดือน เมื่อพิจารณาตกลงเช่นนี้แล้ว จึงตั้งสัจอธิษฐานว่า
“หากความรักหญิงคนนี้ไม่ตายจากจิตใจของข้าพเจ้าแล้ว ขอให้ข้าพเจ้าจงได้ตายไปเสียภายใน ๑๐ วันนี้
ข้าพเจ้าจงอย่าทันได้สึกไปทำบาปกรรมทั้งหลายเหล่าอื่นต่อไปอีกเลย”

ทรมานกายทำลายรัก
เมื่ออธิษฐานเสร็จแล้ว ก็ตั้งใจว่า “หากยังไม่หายจากความรักหญิงคนนี้ เราจะไม่ฉันข้าวตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป จนกว่าชีวิตนี้จะตายไป”
จากนั้นอาตมภาพก็ตั้งหน้าไม่ฉันข้าวไปได้ ๕ วัน แต่ยังฉันน้ำอยู่ ถึงวันคำรบ ๕ จึงสังเกตภายในจิตว่า ความรักและความคิดถึงเช่นนั้นเบาแล้วหรือยัง
รู้สึกว่าหนักแน่นอยู่เหมือนเดิม จึงนึกขึ้นมาว่า เมื่อเรายังฉันน้ำอยู่ ชีวิตนี้ก็จะตั้งอยู่ได้นาน ความรักนี้ก็จะกำเริบเรื่อยไป อย่ากระนั้นเลย
ต่อไปนี้เราจะไม่ฉันทั้งข้าวทั้งน้ำ ให้ชีวิตนี้ตายไปเสียเร็ว ๆ หากความรักอันนี้ยังไม่เบาลงหรือหายไปจากสันดานเราเมื่อไร
เราก็จะไม่ฉันทั้งน้ำทั้งข้าวจนกว่าจะถึงวันตาย หรือจนกว่าความรักจะหายไปจากสันดาน

ต่อไปเมื่ออดทั้งข้าวทั้งน้ำได้ ๒ วัน รู้สึกว่า เมื่อนอนหลับไป หายใจเข้าออก ลำคอแห้ง เสียงหายใจจากจมูกดังโวด ๆ เมื่อตื่นนอนขึ้นมา
จึงพิจารณาต่อไปเห็นว่า ความรักใคร่เช่นนั้นก็ยังปรากฏอยู่ พิจารณาว่าความรักใคร่และความกระสัน อันนี้มีรากลึกลงไปในชีวิตนี่ละหรือ?

จึงตกลงใจว่า เอาเถิด หากชีวิตกับความรักอันนี้ จะถอนจากความเป็นอยู่ในชีวิตนี้พร้อมกันแล้วตายไปก็ตาม ขอแต่อย่าทันได้สึกออกไปทำบาปกรรมเหล่าอื่นอีก
หากเราตายไปเสียเวลานี้ ก็ยังดีเพราะเราเกิดมาในชาตินี้ยังมิได้สร้างบาป บาปก็จะมิได้มีแก่เรา เราได้สร้างแต่ส่วนเป็นกุศลคือศีลธรรม
ก็บุญกุศลคือศีลธรรมที่เราสร้างไว้นี้จะเป็นของเรา เพราะเราได้สร้างไว้แล้ว หากเราตายไปแล้ว ก็จะฉวยเอาบุญไปสู่สุคติก่อน ไม่ทันเอา
เราไปสร้างสิ่งที่เป็นบาป

ความรักตายจากใจ
เมื่อพิจารณาเช่นนั้นแล้ว ก็ตั้งหน้าอดทนต่อความหิวไปอีกวันหนึ่ง พอจวนค่ำรู้สึกหายใจไม่ถึงสะดือ กระนั้นก็ตามความกระสันก็ยังปรากฏอยู่บ้าง
แต่เบาบางลงไป ที่สุดตอนกลางคืนประมาณ ๕ ทุ่ม รู้สึกหายใจ ไหล่ทั้งสองหอบขึ้นมาด้วย คือ สูดเอาลมหายใจแรง ๆ ก็ไม่ปรากฏว่ามีลมเข้าไป
ปรากฏแต่ลมออกเป็นส่วนมาก ขณะนั้นจึงรู้สึกว่าความกระสันหายไป เย็นขึ้นตามเนื้อตามตัว สวิงสวายเป็นที่วิง ๆ เวียน ๆ คล้ายกับจะอาเจียนแต่ไม่อาเจียน
เป็นแต่เย็นขึ้นมา

ไม่ช้ารู้สึกหายใจสูดลมหายใจเข้าออก รู้สึกแค่หน้าอกขึ้นมาลำคอ ไม่ถึงท้องอย่างแต่ก่อน หนักเข้าหายใจเข้าออกสุดแรง ก็ปรากฏว่ามีลมเข้าออกด้วย
รู้สึกปลายจมูกติ่ง แล้วก็เหงื่อไหลออกที่ริมฝีปาก และทั่วไปทั้งศีรษะ รู้สึกว่าความรักความกระสันเช่นนั้นขาดไปจากสันดาน คือความเป็นอยู่ในขณะนั้น
ไม่ช้าปรากฏมีแสงคล้ายแสงหิ่งห้อยออกจากตา ลืมตาขึ้นก็ไม่เห็นสิ่งอื่น เห็นแต่แสงชนิดนั้นหลั่งไหลออกจากลูกตา มีทั้งสีแสด, สีแดง, ดำ, ขาว, เขียว
ครบทุกชนิด ลอยขึ้นข้างบนลูกตา ก็เหลือบขึ้นข้างบนตามแสงอันนั้น รู้สึกว่าอันนี้ไม่ใช่อื่น คือวิญญาณทางตาของเราออกไปแล้ว ต่อไปวิญญาณทางหูก็จะดับ
ก็เป็นอันว่าเราตายไปเท่านั้น

ทีนี้ความกระสันยิ่งไม่ปรากฏ จึงนึกอยากทดลองน้ำใจดูว่าสึกไปแต่งงานกับนางสาวนั้นเถิด รู้สึกว่าขณะนั้นจิตใจไม่เกี่ยวข้องด้วยเลยแม้แต่น้อย
เป็นแต่สวิงสวายไปเท่านั้น จึงกำหนดได้ว่าเรายังไม่ตาย ความรักความกระสันเช่นนั้นตายไปก่อนแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ เราควรกลับไปฉันน้ำเสียในเวลานี้
พอให้ชีวิตนี้ตั้งอยู่กว่าจะถึงเวลาเช้าจึงไปบิณฑบาตมาฉัน นึกแล้วก็คว้าเอาน้ำอยู่ในกระบอกไม้ไผ่มาฉัน เมื่อฉันน้ำลงไปในท้องก็รู้สึกท้องลั่นดังวุบวับ
ปรากฏลำไส้ข้างในขยายเป็นขด ๆ ขึ้นมาแล้วเรอออก ๒-๓ พัก รู้สึกหายใจสะดวกดีลงถึงที่สะดือ เมื่อหายใจสูดลมแรง ๆ ก็ดูเหมือนที่สะดือพุ่งออกและหยุดเข้า
รู้สึกมีกำลัง พอที่จะดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้

จากนั้นก็คลานไปที่บ่อน้ำ ฉันน้ำจนอิ่ม และสรงน้ำแต่เช้าตรู่ ยิ่งรู้สึกสบายขึ้น เดินได้แข็งแรงพอสมควร ก็ไปบิณฑบาตวันนั้น ตั้งแต่นั้นมาฉันข้าววันละ ๗
คำอยู่ ๑๕ วัน รู้สึกเบากายเบาใจ หายจากความอาลัยในความกระสันรักใคร่

เกิดสัญญาวิปลาส
จากนั้นก็เที่ยวไปตามหลังเขาได้ ๓ วันถึง ภูเขากูด พักบำเพ็ญเพียรอยู่ที่นั้น เกิดสัญญาวิปลาสเข้าใจ ว่าตนพ้นวิเศษ ก็จำพรรษาอยู่ที่นั้น
ในกลางพรรษานั้นได้พิจารณาเรื่องของศาสนาได้ความว่า

เวลานี้มีภิกษุเป็นมหาโจรปล้นพระศาสนา คือ ภิกษุประพฤติผิดพระธรรมวินัย ทำการซื้อถูกขายแพง ประจบประแจงชาวบ้าน และซื้อม้า วัว ควาย ขับขี่เป็นพาหนะ
สะสมเงินทองสิ่งของไว้เป็นทุนเป็นกำไร อาศัยได้ทรัพย์ไปจากพระพุทธศาสนา ที่เขานำมาบูชา เมื่อตนยังเป็นบรรพชิตอยู่
พอได้แล้วก็ลาสิกขานำเครื่องบูชาที่เขาให้แต่ยังเป็นพระไปเป็นทุนกำไรค้าขายในคราวที่ตนสึกออกไป ผู้บวชในศาสนาจะแสวงหาพระนิพพานนั้น เป็นส่วนน้อย
ผู้บวชแสวงหาแต่ลาภยศมีเป็นส่วนมาก

พระพุทธศาสนา คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เป็นลัทธิที่พระพุทธเจ้าวางไว้เพื่อกุลบุตรผู้ต้องการความพ้นทุกข์เท่านั้น
มิได้วางไว้เพื่อให้เป็นที่หากินของบุคคลผู้เพ่งต่อความโลภ บัดนี้มีพระภิกษุบวชอาศัยในพระพุทธศาสนา เพ่งต่อความโลภมาก จนเป็นหมอดู และหมอยารักษาไข้
เอาปัจจัยเงินทอง ของชาวบ้าน ยังมีการซื้อถูกขายแพงเข้าอีกหลายอย่างหลายประการ เป็นอันตรายแก่พระพุทธศาสนา เมื่อพิจารณาเช่นนี้แล้ว ตกลงใจว่าออกพรรษาแล้ว
จะเที่ยวประกาศพระพุทธศาสนา พร้อมทำสังคายนา

พระอลัชชี โยมเดียรถีย์
ครั้นเมื่อออกพรรษาแล้ว ก็ลงจากเขาไปบ้าน ชักชวนพี่ชายออกเที่ยวกรรมฐาน และบอกว่าไม่ช้าจะพาทำสังคายนา พี่ชายก็ติดตามไปถึง อำเภอท่าบุ่ง
มีโยมหลายคนมาฟังธรรมเทศนา มีนายพิมพ์และนายอิน เป็นต้น ได้แสดงธรรมเทศนาเพื่อประกาศ พระศาสนาตามความสำคัญวิปลาสของตนว่า ธัมมะ
วาทิโน ทุพพะลา โหนติ อะวินะยะวาทิโน พะละ วันโต โหนติ แปลเอาเนื้อความว่า ในกาลก่อน พระธรรมวาทีมีกำลังกล้า รักษาธรรมวินัยในศาสนานี้ เรียบร้อย
เป็นที่น่าเลื่อมใสบูชา

บัดนี้ อธรรมวาที คือภิกษุโจรปล้นพระศาสนา มีกำลังกล้าเบียดเบียน ประพฤติย่ำยีพระธรรมวินัยให้เสื่อมสูญ เป็นตัวอย่างแก่กุลบุตรผู้บวชเมื่อภายหลัง
ฝ่ายญาติโยมกลายเป็น เดียรถีย์ ให้กำลังแก่พระอลัชชี ประพฤติย่ำยีพระพุทธศาสนา เช่น ทำพระให้เป็นหมอดู และหมอขับภูตผี
และทำการติดต่อยืมเงินยืมทองของพระไปเป็นทุนซื้อขาย แบ่งทุนแบ่งกำไรกันและกัน นี้แหละฝ่ายพระก็เป็นอลัชชี ฝ่ายโยมก็เป็นเดียรถีย์ ไม่รู้เนื้อรู้ตัว
ช่วยกันย่ำยีพระพุทธศาสนา เป็นมหาโจรปล้นพระศาสนาทั้งนั้น ตกลงว่าท่านเหล่านี้ กาลัง กัตวา ครั้นทำกาลกิริยาตายไปแล้ว จะไปตกมหาอเวจีนรก
ด้วยโทษประพฤติเป็นอลัชชี ย่ำยีพระธรรมวินัยให้เสื่อมทรุดชำรุดไป

จากนั้นก็แสดงไปหลายนัยอเนกประการ เมื่อเทศนาจบลงมีคนแสดงความเลื่อมใสมาก ขอปฏิญาณตนเป็นอุบาสกในพระศาสนาเสียใหม่ เพื่อชำระบาปกรรมที่ได้กระทำมาแล้ว
ขุนคีรีสมันการ ปลัดขวาอีกคนหนึ่งเห็นพร้อมด้วย นอกนั้นเขาก็ว่า แสดงธรรมกระทบกระทั่งไม่เรียบร้อย
จนกระทั่งเจ้าคณะแขวงก็เข้าใจว่าแกล้งแสดงธรรมกระทบท่าน สั่งไปกับปลัดขวาว่า “ให้สามเณรหลบหนีไปเสียดีกว่า มิฉะนั้นจะเดือดร้อนทั้ง ๒ ฝ่าย”

ขุนคีรีสมันการ ก็นำความอันนั้นมาแนะนำว่า “เจ้าคณะท่านเคือง ขอเณรจงหลบไปเสียก่อน” ขุนคีรีสมันการเล่าให้ฟังด้วยว่า “บัดนี้ยังมีอาจารย์ ๒ ท่าน คือ
พระอาจารย์สิงห์ องค์หนึ่ง พระมหาปิ่น องค์หนึ่ง ท่านใฝ่ใจในทางนี้ ขอท่านสามเณรจงหลบไปหาท่านเหล่านั้นเถิด
เวลานี้ท่านอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น” อาตมภาพได้ทราบข่าวว่าท่านเหล่านี้รักษาธุดงค์ และมุ่งประโยชน์ในพระ ศาสนา

พบพระอาจารย์กัมมัฏฐาน
อาตมภาพก็เดินทางจากอำเภอท่าบุ่ง ๓ คืน ไปถึงจังหวัดขอนแก่น ได้ทราบว่า พระอาจารย์สิงห์ และ อาจารย์มหาปิ่น พักอยู่ที่ป่าช้า
อาตมภาพก็ตรงเข้าไปศึกษาได้ความว่าพระเถระทั้งสองพร้อมด้วยสานุศิษย์ ทั้งหลาย ๗๐ รูปปฏิบัติตรงตามพระธรรมวินัย
จากนั้นอาตมภาพก็น้อมตนเป็นศิษย์ของท่านพระเถระทั้งสอง แล้วก็ลาท่านไปบำเพ็ญอยู่ ป่าช้าบ้านโนนรัง พรรษาหนึ่ง ในกลางพรรษานั้น
บำเพ็ญเพียรไปก็ตระหนักในใจว่า เมื่อออกพรรษาแล้ว เราจะออกเที่ยวแสดงธรรม ประกาศพระศาสนาให้พวกอลัชชี และพวกเดียรถีย์รู้ตัวสักหน่อย

ญาติโยมศรัทธา
ครั้นเมื่อออกพรรษาแล้ว ก็เที่ยวมาทางจังหวัดกาฬสินธุ์ ไปพักอยู่ที่ บ้านหนองสะพัง และ บ้านหนองมันปลา แสดงเรื่องพระเป็นอลัชชี
โยมเป็นเดียรถีย์ รู้สึกว่ามีคนเลื่อมใสและเห็นด้วย คือนายสุวรรณ ผู้ใหญ่บ้านหนองสะพัง ก็นำลูกบ้านมาฟังธรรม และมาขอปฏิญาณตนเป็นอุบาสกในศาสนา
จะไม่ถือสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง จะถือเฉพาะพระรัตนตรัยเท่านั้นเป็นที่พึ่งจนตลอดชีวิต และ นายบุญมาผู้ใหญ่บ้านหนองมันปลา
ก็นำลูกบ้านมาปฏิญาณตนเป็นอุบาสกในศาสนา ว่าจะไม่ถือภูตผีปีศาจต่อไปอีก ปฏิญาณว่าจะถือเฉพาะคุณพระรัตนตรัยเท่านั้น เป็นที่พึ่งจนตลอดชีวิต

ฝ่าย ภิกษุยาคู พระเจ้าคณะหมวด ก็นำพระมาฟังธรรมที่ป่าช้าทุก ๆ วัน และมายอมตัว พร้อมด้วยสานุศิษย์มาฝึกหัดกรรมฐานด้วยทุกๆ วัน
แต่ก่อนท่านองค์นี้ท่านเลี้ยงหมูขาย เลี้ยงไก่ขายบ้าง เลี้ยงม้าไว้ขี่บ้าง ซื้อโคให้คนไปขายเอากำไรแบ่งกันบ้าง
ต่อเมื่อได้ฟังธรรมเทศนาซึ่งอาตมภาพนำไปแสดงว่า เป็นลัทธิของพระอลัชชี แต่นั้นมาท่านก็ให้คนนำเอาหมู เอาไก่ เอาม้า เอาโคออกไปจากวัดทั้งหมด
ประพฤติตนตั้งอยู่ในพระธรรมวินัย จากนั้นก็ยิ่งกำเริบใหญ่ พิจารณาไปว่าเรานี้จะรื้อฟื้นพระศาสนาให้เจริญได้จริง ๆ เพราะมีคนเห็นด้วยแล้วเป็นส่วนมาก
เท่าที่ได้ยินได้ฟังก็นับว่ามีคนเชื่อถือมาก

จากนั้นก็ตั้งใจเที่ยวธุดงค์ไปอีก ๒ คืน ถึงจังหวัดกาฬสินธุ์ ไปพักอยู่ป่าไม้ทิศตะวันตกเมือง อยู่ ๓ วันเท่านั้น นายอุ้ม ผู้ใหญ่บ้านหัวขัว
มาฟังธรรมก็เกิดความเลื่อมใส ปฏิญาณตนเป็นอุบาสกในศาสนา ต่อมาวันหลังก็นำลูกบ้านทั้งหมดมาปวารณาและ ปฏิญาณตนเป็นอุบาสก ต่อมาอีก ๒ วัน นายหอม
นักปราชญ์บ้านดงเมือง เคยเป็นครูสอนบาลีและมูลกัจจายน์มาหลายปี

ครั้นมาเห็นเข้าก็ปฏิญาณด้วย วจีเภทอันเลื่อมใสว่า “จำเดิมแต่ข้าพเจ้าเกิดมาอายุ ๕๕ ปี พึ่งได้พบตัวศาสนาในวันนี้ เหตุนั้น ขอท่านสามเณร จงจำไว้ว่า
ข้าพเจ้าเป็นอุบาสกในพระศาสนา อันหมดจดตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปตลอดชีวิต” วันหลังมา นายหอมนักปราชญ์ ก็นำเพื่อนพร้อมทั้งผู้ใหญ่บ้านมาฟังธรรม
ก็มีความเลื่อมใสทุก ๆ คน มิได้แสดง ความขัดขวางอันหนึ่งอันใด

พระดีอ่อนแรง พระชั่วมีพลัง
จากนั้นอาตมภาพก็แสดงธรรมด้วยความหวัง ใจจะประกาศพระศาสนาตามความสำคัญของตนว่า “อนิจจา อนิจจา สมเด็จพระมหากรุณาธิคุณเจ้า
ดับขันธ์เสด็จเข้าสู่ปรินิพพานนานมาได้ ๒๔๗๓ เท่านั้น บัดนี้ ฝ่ายโยมก็กลายเป็นเดียรถีย์ ฝ่ายพระก็เป็นอลัชชี ประพฤติย่ำยีพระธรรมวินัย
อันเป็นพระพุทธศาสนาของสมเด็จพระมหากรุณาธิคุณเจ้า ให้เศร้าหมองเสื่อม สูญ อันตรธาน จะมิได้ตั้งอยู่นาน

เหตุนั้น บัดนี้มาเถิด ท่านอุบาสก จงช่วยยกพระพุทธศาสนาให้รุ่งเรืองวัฒนาถาวร ธัมมะวาทิโน ทุพพะลา โหนติ อะวินะยะ วาทิโน
พะละวันโต โหนติ บัดนี้ ภิกษุผู้เป็นยุติเป็นธรรม ทุพพลภาพ มีกำลังน้อย เสื่อมถอยลง มิอาจว่ากล่าวแก่อลัชชี เจ้ามหาโจรปล้นพระศาสนา
ฝ่ายมหาโจรปล้นพระศาสนา มีกำลังกล้า สนุกประพฤติฝ่าฝืนพระธรรมวินัย เล่นการพนัน เล่นถั่ว เล่นโป เที่ยวเกี้ยวสีกา ตามทุ่งตามนา ซื้อถูกขายแพง หาทุนกำไร
สั่งสมปัจจัยไว้เพื่อญาติวงศ์ มิได้ตรงต่ออริยมรรคธรรมวินัย กลายเป็นเหล่าอลัชชี มิได้มีความหิริละอายต่อบาป ประพฤติหยาบ ๆ ล่วงสิกขาบท

นี่แหละ ท่านทายกอุบาสกอุบาสิกา เห็นเป็นการควรละหรือที่ท่านทั้งหลาย จะสมคบให้กำลังแก่พวกอลัชชีย่ำยีพระศาสนาให้กำเริบมากมายขึ้นทุกวัน
ควรแล้วที่ท่านทั้งหลายจะกลับตัวเสียจากการยืมเงินยืมทองของพระ ของเณรไปเป็นทุนซื้อทุนขาย แบ่งทุนแบ่งกำไรซึ่งกันและกัน อันเป็นทางแห่งอบาย”

เมื่อเทศน์จบลง นายจันทร์เรือง และครูโรงเรียนชื่อ นายแก้ว ซึ่งอาศัยกินอยู่กับเจ้าคณะจังหวัด ท่านพระครูสังฆปาโมกขวาทยาจารย์
นำเอาเนื้อความซึ่งอาตมภาพกล่าวว่า โยมทั้งหลายเป็นเดียรถีย์ พระทั้งหลายก็เป็นอลัชชี
ไปเรียนท่านพระครูสังฆปาโมกขวาทยาจารย์ เจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์

ถูกเจ้าคณะจังหวัดสอบธรรมวินัย
เมื่อท่านได้ทราบ ท่านก็โกรธใหญ่ ให้พระสมุห์ภัยไปไล่ บอกว่า “สามเณรจะมาแข่งกับพระจังหวัดกาฬสินธุ์หรือ เณรอย่ามาทำอย่างนี้เลย เณรจงหนีไปเถิด
เดี๋ยวจะถูกจับสึก” อาตมาตอบว่า “ผมหนีมาแล้วจากจังหวัดอุบลฯ จนถึงนี้ จะให้ผมหนีอย่างไรอีก ท่านสมุห์เล่า หนีแล้วหรือยัง ผมเห็นว่า
สมุห์ก็ควรหนีไปเที่ยวธุดงค์บ้างตามอริยประเพณี”

ท่านถามว่า “เณรเดินตามอริยประเพณีแล้ว หรือยัง” อาตมภาพตอบว่า “ผมเข้าใจว่าอริยประเพณี เป็นมาดังนี้”
ท่านถามอีกว่า “อริยประเพณีมีกี่อย่าง” อาตมภาพได้ตอบว่า “มี ๕ อย่าง คือ (๑) ไม่ฆ่าสัตว์อื่น (๒)
ไม่เข้าไปว่าร้ายและล้างผลาญคนอื่น (๓) สำรวมในพระปาฏิโมกข์ (๔) นั่งนอนเสนาสนะอันสงัด (๕) เป็นใหญ่ในจิตของตน ๕ อย่างนี้แหละเรียกว่า
อริยประเพณี”

ท่านจึงถามว่า “ถ้าเณรคิดเดินตามอริยประเพณี แล้ว ทำไมไปว่าเขาเป็นเดียรถีย์ เป็นพระอลัชชี ไม่ชื่อ ว่าเบียดเบียนเขาหรือ” อาตมภาพตอบว่า “เปล่าผม
ไม่ได้เบียดเบียน หากจะมีคนเดียรถีย์และพระอลัชชีแล้ว ผมสงสารว่าเขาจะไปตกนรก ผมกล่าวเพื่อให้บุคคลเช่นนั้นรู้สึกตัว เพื่อจะให้เขากลับมาสำรวมใน
พระธรรมวินัยในพระศาสนานี้”

ท่านถามว่า “เณรเข้าใจว่าใครเป็นเดียรถีย์ ท่านองค์ไหนเป็นอลัชชี” อาตมภาพตอบว่า “บุคคลไม่ถือพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง บุคคลนั้นเป็นเดียรถีย์
ท่านองค์ไหนแกล้งประพฤติล่วงเกินพระธรรมวินัย ท่านองค์นั้นชื่อว่า อลัชชี”

ท่านถามว่า “เช่นฉัน เณรเห็นว่าเป็นอลัชชีหรือลัชชีบุตร” อาตมภาพตอบว่า “ถ้าท่านสำรวมในพระปาฏิโมกข์ ท่านก็เป็นลัชชีบุตร
หากท่านไม่สำรวมในพระปาฏิโมกข์ละเมิดล่วงเกินพระวินัย ท่านก็เป็นอลัชชี”

ท่านจึงถามต่อไปว่า “เณรเป็นอรหันต์แล้วหรือ” อาตมภาพตอบว่า “ถ้าผมสำเร็จอรหันต์ ผมก็เป็นอรหันต์เท่านั้น ถ้าผมยังไม่สำเร็จอรหันต์
ผมก็ยังเป็นปุถุชนอยู่”

ท่านจึงถามอีกว่า “ธรรมอะไรทำบุคคลให้เป็นอรหันต์” อาตมภาพตอบว่า “ผู้เห็นจริงในอริยสัจทั้ง ๔ ข้อ ชื่อว่า พระอรหันต์”

ท่านจึงถามต่อไปว่า “เณรเห็นอริยสัจทั้ง ๔ แจ้งแล้วหรือยัง” อาตมภาพตอบว่า “ความรู้แจ้งเห็นจริงในอริยสัจทั้ง ๔ ข้อ
เป็นความรู้ความเห็นของพระอริยเจ้า หากผมเป็นพระอริยเจ้า ผมก็รู้แจ้งเห็นจริง ในอริยสัจทั้ง ๔ ข้อ หากผมเป็นปุถุชนอยู่ตราบใด
ผมก็ไม่รู้แจ้งเห็นจริงในอริยสัจทั้ง ๔ ข้อ อยู่ตราบนั้น”

ท่านจึงพูดขึ้นว่า “ถ้าเช่นนั้น เณรก็เป็นทั้งปุถุชนทั้งอริยะใช่ไหม?” อาตมภาพตอบว่า “ธรรมดาผู้บำเพ็ญพรตในศาสนาพระพุทธเจ้า แรกก็เป็นปุถุชน
ปฏิบัติเพื่ออริยมรรคนั้นเอง”

ท่านสมุห์ภัยถามต่อไปว่า “เณรได้อริยมรรคแล้วหรือยัง” อาตมภาพตอบว่า “ผมจำได้ซึ่งอริยมรรค ๘ ประการ มีสัมมาทิฏฐิเป็นต้น สัมมาสมาธิเป็นที่สุด”

ท่านจึงบ่นต่อไปว่า “แค่จำองค์อริยมรรค ๘ ได้เท่านั้น ก็สำคัญตนเป็นผู้วิเศษไปแล้ว อ้ายพรรค์นี้มันบ้าจริงๆ ตัวของเณรนี้แหละเป็นตัวอลัชชีใหญ่
แกบวชเข้ามาเบียดเบียนหมู่พวกภิกษุสามเณร ไปดูหมิ่นดูถูกเพื่อนบรรพชิตด้วยกันทั้งหมดว่าพวกนั้นเป็นอลัชชี พวกนี้เป็นลัชชีบุตร
เดี๋ยวแกจะยุสงฆ์ให้แตกร้าวกัน เป็นอนันตริยกรรม (กรรมหนัก) ตัวของเณรเองจะมีโทษถึงอนันตริยกรรม ตายแล้วแกก็ไปตกอเวจีมหานรกเท่านั้น
เดี๋ยวนี้แกไม่ควรเป็นเณรแล้ว การติเตียนพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นนาสนังคะ ขาดคลอง เณรมิใช่หรือ

ตกลง เณรนี้แกไม่ใช่เป็นเณรแล้ว แกติเตียนพระสงฆ์ นี้ท่านอุบาสกอุบาสิกา เธอคนนี้ไม่ใช่เณรแล้ว พวกเจ้าทั้งหลายอย่าเชื่อถือมาก
พวกเจ้าจะเป็นบ้าไปตามเธอคนนี้ทั้งหมด ใช้ไม่ได้ หากพวกเจ้าติเตียนพระสงฆ์เสียแล้ว พวกเจ้าจะไปทำบุญที่ไหน เพราะพระสงฆ์เท่านั้นเป็นบุญเขตของโลก”

จากนั้นท่านจึงหันหน้ามาถามอาตมภาพว่า “ใช่ไหมเธอ หรือเธอเห็นเป็นอย่างไรอีก” อาตมภาพตอบว่า “ท่านจะถามถึงความเห็นของผม
ผมก็มีความเห็นอยู่หลายอย่างหลายประการ มีนัยจะพูดอยู่มากมายมิใช่น้อย” ท่านสมุห์ภัยจึงบอกว่า “แกมีความเห็นมากมายนั้น เห็นอย่างไร จะพูดได้มากมายนั้น
แกจะพูดได้อย่างไร ลองพูดขึ้นมาดู”

ขาดจากความเป็นเณรหรือไม่
อาตมภาพพูดต่อไปว่า “เท่าที่ท่านสมุห์จะมาโทษว่าผมขาดจากเณรทีเดียว ด้วยเหตุแห่งการติเตียนพระอลัชชีเท่านั้น ผมไม่เห็นด้วย
เพราะผมไม่ได้ติเตียนพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า ผมพูดเพื่อจะให้พระอลัชชีรู้ความผิดของตนเท่านั้น
ส่วนพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า ผมไหว้อยู่ทุกวันว่า สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ จนถึง สามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
ผู้ปฏิบัติดีและเป็นผู้ปฏิบัติชอบเท่านั้นแหละ ชื่อว่า พระสงฆ์สาวกของพระพุทธ เจ้า ผมมิได้ติเตียนพระสงฆ์ผู้ประพฤติดี
ผมกล่าวตามโทษของบุคคลผู้กระทำผิดพระวินัยของพระพุทธเจ้าเท่านั้น ท่านเคืองอะไรหนักหนา หรือท่านประพฤติผิดพระธรรมวินัยกับเขาบ้าง” ท่านตอบว่า “อย่าว่า
แต่ฉันเลย เจ้าคณะแขวงก็มีม้า มีวัว มีเงินตั้งหลายพันบาท ไม่เห็นใครว่าท่านเป็นพระอลัชชี”

อาตมภาพตอบท่านว่า “ถ้าเช่นนั้นท่านทั้งหลาย ค่อนข้างจะเป็นพระอลัชชีไปแล้วมิใช่หรือ พระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า
มิได้ยกเว้นเจ้าคณะแขวงให้ประพฤติผิดพระธรรมวินัยมิใช่หรือ ใครต่อใครก็ตาม ครั้นเมื่อบวชแล้วก็มีศีลสังวร ๒๒๗ ข้อ เสมอภาคกัน มิใช่หรือ
หรือท่านยกเว้นที่ไหนบ้าง”

ท่านสมุห์จึงพูดว่า “ขี่ม้าเท่านั้น จับเงิน ขายทอง และซื้อขายของบางสิ่งบางอย่างเท่านั้น จะขาดความเป็นสมณะด้วยหรือ เณร”

อย่างไรถึงจะชื่อว่าสมณะ
อาตมภาพตอบว่า “ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะด้วย เหตุแห่งการเบียดเบียนสัตว์อื่นนั้นเอง ดังมีในภาษิตว่า นะ หิ ปัพพะชิโต ปะรูปะฆาตี
สะมะโณ โหติ ปะรัง วิเหฐะยันโต แปลว่า ผู้ฆ่าสัตว์อื่นและเบียดเบียนสัตว์อื่น ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะเลยครับ”
ท่านก็โกรธใหญ่ว่า “ถ้าเช่นนั้น เณรก็คงเหมาพระทั้งหมดว่าไม่ชื่อว่าเป็นสมณะใช่ไหม” อาตมภาพตอบว่า “ผมไม่ได้เหมาใครเลย
เป็นแต่ผมแสดงธรรมไปตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเท่านั้น”

ท่านสมุห์ภัยจึงพูดขึ้นว่า “เรื่องอื่นมีถมไป ทำไมเณรไม่เทศน์ ทำไมเณรจึงเทศน์เรื่องส่อเสียดพระเจ้าพระสงฆ์”

อาตมภาพตอบว่า “อันที่จริง ผมต้องการประกาศพระศาสนา ในเรื่องนี้ผมพิจารณาเห็นว่า ผู้บวชในศาสนาทุกวันนี้ ถือกันแค่เป็นเจ้าลัทธิเท่านั้น
สำคัญว่าได้บวชก็เป็นตัวบุญเท่านั้น คือถือเอาแค่ ลัทธิศรีษะโล้นห่มผ้าเหลืองเท่านั้น เป็นอันว่าสำเร็จ ในการบำเพ็ญบุญ แล้วก็ประพฤติผิดพระธรรมวินัย ต่าง ๆ
เพราะสำคัญว่าเราเป็นพระแล้ว ทำผิดไปบ้าง ก็ไม่เป็นไร เพราะใครเขาคงจะไม่อาจว่าเราได้ง่าย ๆ เพราะเราเป็นพระ ถ้าเขามาพูดดูหมิ่นเราโดยเหตุเล็กน้อยเท่านั้น
เขาก็กลัวเป็นบาป เพราะเราเป็นพระแล้ว

ข้อนี้แหละเป็นเหตุให้ศาสนาเสื่อม ฝ่ายพระก็ทะนงตัวว่าเราเป็นพระ ใครไม่อาจดูหมิ่นเราได้ ฝ่ายโยมเห็นความผิดของพระ
ก็ไม่กล้าทักท้วงเพราะกลัวเป็นบาปนี้เอง ทั้งฝ่ายพระก็ไม่มีความละอายกลายเป็นพระอลัชชี ทั้งฝ่ายโยมก็เห็นผิดกลายเป็นเดียรถีย์
ต่างก็พากันมาสำคัญลัทธิที่ผิด ๆ เท่านี้ ว่าเป็นกุศล มิได้ประพฤติตามความจริงของพุทธศาสนา ต่างก็มาสำคัญปฏิปทาของพระพุทธศาสนาว่า หมดวิธีทำกันเท่านี้
แล้วก็นอนใจอยู่ มิหนำซ้ำยังประพฤติเหลวไหลผิดธรรมวินัยลงไปอีก พวกนี้มันเกิดมาประพฤติย่ำยี พระพุทธศาสนาให้ถึงแก่ความคร่ำคร่าลงไป จะได้ นามว่า พุทธบริษัท
คือ เป็นหมู่เหล่าของท่านผู้รู้วิเศษ อย่างไรได้”

จากนั้นฝ่ายคณะสงฆ์จังหวัดกาฬสินธุ์ มีท่านพระครูสังฆปาโมกขวาทยาจารย์เป็นประธาน กักตัวของอาตมภาพ
แล้วยื่นคำร้องเรียนมายังพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพรหมมุนี เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระโพธิวงศาจารย์ อยู่จังหวัดนครราชสีมา
หาว่าอาตมภาพดูหมิ่นผู้ประพฤติพุทธศาสนาทั่วไปในสังฆมณฑล ตกลงเวลานั้นถูกกักพร้อมทั้งไต่สวนอยู่ที่นั่น ๑ เดือนกับ ๑๔ วัน เพราะสงฆ์ในจังหวัดกาฬสินธุ์
อุทธรณ์ ๒ ครั้ง หมายว่าจะให้ฉิบหายจากศาสนาไปเลย ทั้งบังคับให้สึก ขู่เข็ญหลายอย่างหลายประการ

ยอมตายดีกว่ายอมสึก
อาตมภาพปฏิญาณตนว่า “เมื่อชีวิตนี้ยังอยู่ตราบใด จะไม่เปลื้องผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากกาย หากท่านทั้งหลายจะสึกผมแล้ว
จงทำศีรษะของผมให้ขาดออกจากร่างกายนี้เป็น ๒ ท่อนก่อน ค่อยเปลื้องผ้าเหลืองออก จึงจะเป็นอันสึก หากดวงชีวิตนี้ยังอยู่ อย่าเลย ท่านทั้งหลายเอ๋ย
ในชีวิตนี้เป็นไปไม่ได้เสีย แล้วในการสึกของผม ถึงไหนถึงกัน หากจะล้างผลาญชีวิตของผมให้ตายลงวันนี้ ผมก็ยอมตาย หากจะให้สึก ก็จะไม่ยอมสึกเป็นอันขาด

ในชีวิตนี้ท่านทั้งหลายต้องการอย่างไร ทำไปเถิด หากผมไม่ได้มอบชีวิตนี้ ถวายแก่พรหมจรรย์แล้ว ที่ไหนผมจะมาแสดงในข้อ
ว่าท่านทั้งหลายประพฤติค่อนข้างเป็นอลัชชี ท่านทั้ง หลายจงฟังดูเถิด คำพูดอันนี้เป็นคำดูหมิ่นพระอลัชชีโดยตรงอยู่แล้ว ท่านทั้งหลายเห็นคนอื่นเขาพูดกันไหม
เพราะเขากลัวตายกันอยู่ จึงช่วยนิยมความประพฤติผิดพระธรรมวินัยว่าเป็นของถูกของนิยมกันอยู่เท่านั้น ส่วนผมเล่า เอาเถอะ ในชีวิตนี้จะตายลงวันไหนก็ตาม
ขอแต่ได้ประพฤติพระธรรมวินัยให้เป็นให้อยู่ และได้นำความจริงของศาสนามาประกาศตามเป็นจริงอยู่เช่นนี้

ผมมิได้ห่วงในชีวิตที่จะทำกิจของพรหมจรรย์ให้เป็นไปอยู่ เพราะผมได้มอบชีวิตแล้วแก่พรหมจรรย์อย่างแน่นแฟ้น เรื่องของศาสนานี้ผมมิได้หวาดหวั่นแล้ว
อย่าว่าแต่ท่านทั้งหลายจะมาขู่ให้ผมสึกหรือให้เห็นตามข้อประพฤติที่ผิด ๆ ของท่านทั้งหลาย ไม่มีทางหรอก ท่านทั้งหลายเอ๋ย คนเช่นผม หากไม่แน่นอนในใจแล้ว
ก็จะไม่ประพฤติทั้งจะไม่พูดในเรื่องนั้น ๆ ถ้า ประพฤติหรือพูดลงไปแล้ว ยอมสละชีวิตลงแทนคำพูด และความประพฤติของตนอย่างเด็ดหัวตัวขาดทีเดียว
คำพูดทั้งหมดที่ผมแสดงไปว่า พระทั้งหลายเป็นอลัชชี โยมทั้งหลายกลายเป็นเดียรถีย์ ข้อนี้นั้นผมเผดียงหาตัวพระอลัชชีเท่านั้น มิใช่ผมพูดด้วยความเห่อเหิมว่า
มีคนนับถือเท่านั้น

บัดนี้ ผมขอประกาศอีกเป็นครั้งที่ ๒ ว่า ตัวของผมเองได้มองเห็นมลทินของศาสนาคือ พระเณรประพฤติไม่เป็นยุติเป็นธรรมแล้ว ตั้งแต่ครั้งผมจำพรรษาอยู่ที่
ถ้ำภูเขากูด เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒ จึงได้เที่ยวธุดงค์ออกมาเพื่อประกาศพระพุทธศาสนา ทั้งเผดียงหาตัวพระอลัชชี พึ่งมาพบเมื่อเดือน ๓ ขึ้น ๓ ค่ำ ปี พ.ศ.
๒๔๗๓ ในจังหวัดกาฬสินธุ์นี้เอง ก็ชอบกลอยู่ ข้าพเจ้าเกิดก็เกิดเดือน ๓ ขึ้น ๓ ค่ำ ตั้งใจจะทำกิจของศาสนา ก็มีกาลถึงพร้อมในกำหนดวันเดียวกัน

บางทีต่อไปข้างหน้า หากชีวิตของข้าพเจ้ายังตั้งอยู่ไปนาน อาจจะบริหารพระพุทธศาสนานี้ให้เป็นยุติเป็นธรรมก็อาจเป็นได้ นี้แหละ ฟังดูเถิดท่านทั้งหลาย
ความตั้งใจของผมได้เป็นมาแล้วอย่างนี้ ที่ไหนผมจะหวั่นไหวต่อความกระทบกระทั่งของท่านทั้งหลายด้วยฝีปากเท่านี้ มิได้มีเลย แม้แต่ชีวิตนี้ผมก็ได้สละลงแล้ว
เพื่อกิจของศาสนาอันมีคุณานุภาพอันยิ่งใหญ่ไพศาล”

ถูกชำระโทษ
ครั้นเมื่ออาตมภาพหยุดนิ่งอยู่ ฝ่ายคณะสงฆ์ก็เขียนคำร้องทุกข์มาเป็นครั้งที่ ๒ ผลที่สุด พระเดชพระคุณ ท่านเจ้าคุณพรหมมุนี ที่อยู่วัดบรมนิวาสทุกวันนี้
จึงตัดสินใจให้เอาตัวอาตมภาพลงไปชำระที่ จังหวัดนครราชสีมา อาตมภาพจึงมีจดหมายไปเรียน ท่านอาจารย์สิงห์ และ อาจารย์มหาปิ่น
พร้อมกับท่านพระครูวิเศษสุตคุณ เจ้าคณะจังหวัดขอนแก่น ท่านอาจารย์สิงห์ และท่านอาจารย์มหาปิ่นก็ลงมาแก้ไขช่วย พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพรหมมุนี
ที่จังหวัดนครราชสีมา ตกลงท่านก็ตัดสินยกเลิก และเสนอเอาตัวของอาตมภาพกลับไปอบรมปฏิปทาของศาสนา ในสำนักของท่านอาจารย์สิงห์และท่านอาจารย์มหาปิ่นอีก

ครั้นเมื่อกลับถึงสำนักของท่านอาจารย์สิงห์แล้ว ท่านก็แนะนำอุบายให้ว่า
บัดนี้ คณะพระปฏิบัติยังไม่มีความกล้าหาญเสมอภาคกัน ยังริเริ่มอยู่ จงปฏิบัติเรื่อย ๆ ไปเถิด ต่อเมื่อกาลถึงพร้อม จงทำกัน หากไม่มีโอกาสอันเหมาะแล้ว
จงแสวงหาความพ้นทุกข์โดยส่วนตัวนั้นเถิด เพราะเวลานี้ พวกพระปฏิบัติยังอ่อนเหมือนกำลังหว่านข้าวกล้าลงในนานั่นเอง

๑. พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตฺยาคโม ต่อมาเป็นพระราชาคณะ ที่ พระญาณวิศิษฏ์ มรณภาพเมื่อ ๘ กันยายน ๒๕๐๔
๒. พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล ป.ธ.๕ มรณภาพเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๙

ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก : tamroiphrabuddhabat
ขอขอบคุณรูปภาพสวยๆจาก : คติธรรม
นำเสนอโดย : แอพเกจิ – AppGeji

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: