1159. อิทธิฤทธิ์ สามเณรบุญนาค เที่ยวกัมมัฏฐาน ตอนที่ 2 (มีทั้งหมด 4 ตอน)

หมายเหตุ : หนังสือประวัติ “สามเณรบุญนาค เที่ยวกัมมัฏฐาน” ลิขสิทธิ์เป็นของ พระครูสมุห์พิชิตฐิตวีโร ผู้จัดพิมพ์ และหลวงพี่เก่ง แห่งสำนักเวฬุวัน เป็นผู้พิมพ์ดีด คุณกิตติเป็นผู้โพส ถ้าใครจะคัดลอกหรือนำออกไปภายนอกเว็บนี้จะต้องได้รับอนุญาตก่อนนะครับ

ธุดงค์พบคนป่าเปลือยกาย
วันคำรบ ๔ เดินไปพลางมองขึ้นไปบนยอดภูเขา เห็นต้นยาใหญ่ มองไกล ๆ คล้ายกับเจดีย์ เพราะฤดูนั้นเป็นฤดูใบยาร่วงเป็นพัก ๆ คล้ายกับต้นมะพร้าว
แต่ต้นมันใหญ่ ปลายมันเล็ก คล้ายกับยอดเจดีย์ อาตมภาพจึงขึ้นไปดู เห็นใบพร้อมทั้งเปลือก เข้าใจแน่ได้ว่าเป็นยาแท้ จึงเก็บเอาใบแห้งมาสูบดู
ก็เป็นรสเมาอย่างยาที่มีอยู่ตามบ้านคน อาตมภาพจึงเอามีดโต้ เล่มเล็ก ๆ ที่ติดย่ามไปนั้นบาก (ถาก) ต้นยาได้สองกีบ (ชิ้น) ก็ถือไป

จวนค่ำก็ถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่งมี ๖ หลังคาเรือน ไม่รู้ชื่อหมู่บ้านเพราะคนเหล่านั้นเป็นข่าไม่รู้ภาษากัน อาตมภาพจึงแวะเข้าจำวัด อาศัยเงื้อมหินที่ชายเขา
รุ่งเช้าก็เข้าไปบิณฑบาต เห็นคนแก่คนหนึ่งนั่งหลามข้าวโพดสาลีอยู่ ผ้าก็ไม่นุ่งห่มเลย อาตมภาพจึงไปยืนที่หน้าบ้านแก แกก็คว้าไม้ท่อนฟืนตรงเข้ามาหา
ทำท่าจะตีอาตมภาพ อาตมภาพมองเห็นเช่นนั้นก็หลับตายืนตรงอยู่กับที่ ไม่ช้าแกตรงเข้ามา จับชายจีวรแล้วพูดขึ้นแต่ไม่รู้ภาษา
อาตมภาพจึงตรงเข้าจิ้มมือลงในกระบอกหลามข้าวโพด แกก็เอามาให้หมดทั้งกระบอก อาตมภาพก็เลี่ยงไปนั่งฉันอยู่ ณ ลานหินทิศตะวันออก คนแก่คนนั้นแกก็ตามไปดู
แล้วก็คลานเข้ามาจับฝ่าเท้าของอาตมา แสดงความรักใคร่ แกหัวเราะขึ้นแล้วก็กลับเข้าไปในบ้าน

เรียกเพื่อนบ้านมาดูทั้งหญิงทั้งชาย ล้วนแต่ไม่มีผ้านุ่งห่มทั้งนั้น ผลที่สุดผู้หญิงก็จะเข้ามาใกล้ ๆ จับขาอย่างตาแก่คนนั้น
อาตมภาพจึงโบกมือห้าม แล้วตรงไปจับเอาแต่มือผู้ชายด้วยกันให้เข้ามา ใกล้ ๆ แล้วโบกมือห้ามผู้หญิงไม่ให้เขาจับ ผู้ชายเหล่านั้นก็รู้นัย
เขาจึงห้ามผู้หญิงไม่ให้เข้ามาใกล้และจับตัว

เจริญอานาปานัสสติ
ตอนบ่าย อาตมภาพก็เข้าไปอาศัยอยู่เงื้อมหินเป็นที่อาศัยนอน คนเหล่านั้นก็ตามไปดู ที่นั้นมีร่มไทร และต้นตะเคียน มีบ่อน้ำ ใบไม้สดชื่น
อาตมภาพจึงพิจารณาว่า ที่นี้จะเป็นที่สบายเหมาะแก่การบำเพ็ญสมณธรรม ตกลงพักแรมทำความเพียรเจริญอานาปานัสสติอยู่ที่นั่น ๑๙ วัน
แล้วจึงเดินข้ามเขาไปอีกวันจนค่ำ

ไปถึงหมู่บ้านข่าแห่งหนึ่งมีบ้านประมาณ ๙ หลังคาเรือน ซึ่งเป็นข่าตะโอ่ย เข้าไปตั้งอยู่ใหม่ มีข่าสองคน พอส่งภาษาลาวได้มาถามว่า “เจ้าสิไปไส”
ถ้าคำไทยว่า “คุณจะไปไหน” อาตมภาพตอบว่า “จะไปเที่ยวกรรมฐาน” แกจึงบอกว่า “ต่อไปข้างหน้านี้ บ้านคนห่างและส่งภาษากันไม่รู้เรื่อง อย่าไปดีกว่า”

ตกลงอาตมภาพก็ไปหาถ้ำอาศัยจำพรรษาอยู่ที่นั้น ก็มีคนสองคนนั้นใส่บาตรให้ฉัน อาหารบิณฑบาตเป็นข้าวโพดหลามด้วยกระบอกไม้
อาตมภาพก็อาศัยจำพรรษาอยู่ที่ถ้ำนั้น บำเพ็ญเพียรเพ่ง อาโปกสิณ คือเพ่งน้ำเป็นอารมณ์ บำเพ็ญอารมณ์นี้เป็นที่สบายใจ
อยู่จำพรรษาในที่นั้นนับว่าปลอดภัย ไม่มีอันตรายมาเบียดเบียน

เรียนคาถาสำเร็จ
ตอนออกพรรษาแล้ว ๕ วัน จึงเที่ยวต่อไปอีก ข้ามเขา ๓ ลูกจวนจะค่ำยังไม่พบบ้านคน อาตมภาพก็แวะขึ้นเขา หาน้ำฉันเพื่อจะพักจำวัดที่นั้นด้วย
เผอิญไปพบพระหลวงตาองค์หนึ่ง หาบตะกร้าใหญ่เที่ยวเก็บผลมะเดื่ออยู่หน้าถ้ำ อาตมภาพจึงถามท่านว่าอยู่ที่ไหน ท่านตอบว่า “ผมอยู่ในจักรวาล”
อาตมภาพจึงตะกายขึ้นไปพักที่ถ้ำ วางบาตรไว้แล้วไปสรงน้ำ เสร็จกลับมา พระหลวงตาองค์นั้นก็มาพักที่ถ้ำแห่งเดียวกัน จำวัดด้วยกันในถ้ำนั้น

ท่านเรียกอาตมภาพ ไปเรียนคาถาด้วย ท่านบอกว่า “คาถาสำเร็จ” คือ จะปรารถนาอะไรก็สำเร็จตามประสงค์ใจความว่า “โอม อุ อะ มะ นะโม พุทธายะ สะ
สุมัง” ท่านบอกว่า “ให้เณรเจริญเป็นนิตย์ เณรจะสมหวังดังความตั้งใจ ในชาตินี้และชาติหน้า” พออาตมภาพเรียนจนจำได้แล้ว ท่านก็ลงไปในเวลา ๗ ทุ่ม (คือ
ตี ๑)

ในกลางคืนวันนั้น อาตมภาพถามว่า “ท่านจะไปไหน” ท่านตอบว่า “จะไปเที่ยวในจักรวาล” อาตมภาพถามว่า “ท่านชื่ออะไร” ท่านตอบว่า “ผมชื่อพระ”
แล้วก็เดินเรื่อยไปตามชายเขา อาตมภาพจำวัดอยู่ที่นั้นจนสว่าง มีงูตัวหนึ่งโตประมาณ ๑ จับ (กำมือ) เลื้อยมาเอาหางสอดเข้าที่น่องของอาตมภาพ แล้วรัดจนแน่น
ไม่นานก็เอาหางออกมาแหย่ไปตามตัวตามรักแร้อยู่นาน สว่างขึ้นมันจึงคลายตัวออก แล้วเลื้อยเข้าไปในถ้ำนั้น

เรียนรู้วิธีหาอาหารในป่า
จากนั้นอาตมภาพก็ลุกขึ้น ฟังเสียงชะนี ชะนีร้องมากที่ไหนก็ไปที่นั้น เพื่ออาศัยฉันผลไม้เป็นอาหาร เพราะว่าป่าดงเหล่านี้มีผลไม้ครบทุกชนิด เช่น กล้วย
ขนุน ส้ม ฝรั่ง มะเดื่อ หรือส้มจีน มีมากมายหลายชนิด ชะนีกินไม่หวัดไม่ไหว อาตมภาพก็เก็บผลไม้นั้น ฉันเป็นอาหาร

และเดินต่อไปอีก ๓ คืน ยังไม่พบบ้านคน ไปพบคนจำพวกหนึ่ง ไม่มีบ้านไม่มีเรือน อยู่ อาศัยตามถ้ำตามเขา กินผลไม้เปลือกไม้เป็นอาหาร ไม่ห่มผ้าห่มผ่อนเลย
ส่วนลูกอ่อนของเขา เอารังผึ้งที่มันร้างแล้วมาห่มให้ และปูให้เด็กนั้นนอน พอไปพบเข้า เขากลัวแตกตื่นวิ่งหนี ทิ้งไม้สีไฟและเครื่องมือใช้สอยและรังผึ้งร้าง
อาตมภาพก็เข้าไปตรวจดูเห็นแน่ชัดว่า พวกนั้นเขากินผลไม้และเปลือกไม้เป็นอาหาร

พระเณรประหลาด
อาตมภาพก็เดินข้ามเขานั้นไปอีกเป็นเวลา ๓ คืน ถึงเมืองพาบัง มีวัด เจดีย์ โบสถ์และศาลา มีพระศาสนาอย่างเมืองเรา แต่พระเณรเมืองนั้นฉันข้าวค่ำ
และจับต้องสตรีในอาวาสไม่เป็นอาบัติ จับต้องสตรีนอกอาวาสจึงเป็นอาบัติ ดังนั้นอาตมภาพจึงพักอยู่ ที่นั้น ๑๖ วัน ถูกเจ้าอาวาสขับไล่ เพราะเห็นว่าแข่งดีเขา
เพราะฉันหนเดียว ประเทศนั้นเป็นคนยาง มีคนลาวเมืองหล่มคนหนึ่งไปอยู่ที่นั่น พอส่งภาษากันได้

อาตมภาพจึงหนีจากที่นั้น เดินข้ามเขามาอีก ๒ คืน ไปพบบ้านหนึ่งชื่อ บ้านป่าเหล็ก มี ๔๐ หลังคาเรือน เป็นคนพวกส่งภาษาลาวได้ แต่ไม่มีวัด
พวกนี้ทำไร่ข้าวโพดกินเป็นอาหาร และมีบึงน้ำใหญ่ ในระหว่างดงป่าไม้ใกล้กับตีนเขา

สุขทุกข์อยู่ที่ใจ
อาตมภาพพิจารณาเห็นว่า ที่นี้เป็นที่จะบำเพ็ญ สมณธรรมดี อาตมภาพจึงพักอยู่ที่นั้นอีกประมาณ ๑๓ เดือน ตกลงจำพรรษาที่นั้นอีกพรรษาหนึ่ง
บำเพ็ญใจให้นิ่งอยู่ที่ลมสุดคือ ที่ว่างตรงสะดือ รู้สึกว่าได้ความสบาย เพราะจิตนิ่งอยู่ที่เดียว ได้ความ ว่า ทั้งโลกนี้เป็นทุกข์
เพราะใจทำงานคือคิดไม่หยุด คนทั้งโลกนี้ก็เป็นทุกข์เพราะใจเท่านั้น จะเป็นสุขก็เพราะใจเท่านั้น จิตนี้นำมาซึ่งอารมณ์ เป็นที่พอใจก็เป็นสุขขึ้น
เมื่อจิตนำมาซึ่งอารมณ์เป็นที่ไม่พอใจ ก็เป็นทุกข์ขึ้นเท่านั้น

สาธุชนผู้ปฏิบัติทางใจ มีสติเป็นหลักฐานพอเป็นที่อาศัยจิตให้จิตเฉยอยู่ มิให้จิตนำมาซึ่งอารมณ์เป็นที่พอใจ และอารมณ์ไม่เป็นที่พอใจ
ดักจิตเฉยอยู่ที่อารมณ์อันเดียวทั้งกลางวันและกลางคืน จิตไม่นำมาซึ่งอารมณ์ทั้งสอง ทั้งส่วนเป็นที่พอใจและไม่พอใจ ไม่มีแล้ว ทุกข์จะมาทางไหน
เมื่อจิตเฉยอยู่ที่เดียวนั้น ได้ศัพท์ ว่า วิหรติ แปลว่า ย่อมอยู่สบาย “สบาย” ศัพท์นี้ ไม่ใช่สุข ไม่ใช่ทุกข์ เฉยๆ นั่นเอง ตกลงสถานที่
ที่อาตมภาพบำเพ็ญเพียรโดยวิธีดักจิตอยู่นี้ชื่อ ถ้ำ นางแพง

เจอสัตว์ประหลาด
อยู่พอพ้นเขตเข้าพรรษาแล้ว ก็เที่ยวไปตามภูเขา อีกประมาณ ๕ วัน ไปถึงภูเขาลูกหนึ่งชื่อ ภูเขา อ่างเงิน
เพราะมีหนังสือจารึกแผ่นศิลาเป็นตัวลาวอ่านได้ความว่า “นี้ภูเขาอ่างเงิน เป็นที่พักของพระองค์เจ้าธิดาเมต” และที่นั้นมีบึงน้ำใหญ่ไหลออกมาจากภูเขา
แต่น้ำนั้นฉันไม่ได้เพราะมีกลิ่นคาวคล้ายกับน้ำล้างไส้เดือน ถึงจะล้างมือล้างเท้าก็ ติดมือติดเท้า พอได้กลิ่นก็ทนอาเจียนไม่ได้

อาตมภาพเห็นน้ำเหม็นเช่นนั้น จึงพักพิสูจน์ดูว่า น้ำนี้เป็นเพราะอะไรจึงคาวนัก นั่งเข้าสมาธิอยู่ที่นั้น ประมาณ ๕ โมงเย็น เสียงน้ำหยุดไหล
ลืมตาขึ้นมาก็ไม่เห็นน้ำไหลจริงๆ ไม่ช้าเห็นสัตว์ชนิดหนึ่ง ตัวคล้ายกับปลาไหลเลื้อยออกมาจากรูนั้น ใหญ่ประมาณ ๔ จับ (กำมือ) ยาวประมาณ ๑๒ ศอก
มีสีแสดเหมือนอิฐบ้าง เหลืองบ้าง แดงบ้าง สีน้ำเงินบ้าง เลื้อยลงไปสู่บึงที่มีในภูเขานั้น

พบสาธุวันดีผู้ทรงฤทธิ์
ต่อจากนั้น อาตมภาพจึงเดินขึ้นเขา ไปหาถ้ำที่สำหรับจำวัด เพราะเดือนมืดจะเดินกลางคืนก็เห็นจะลำบาก พอขึ้นไปบนหลังเขา ไปพบพระองค์หนึ่งชื่อ
สาธุวันดี ท่านบอกว่า ท่านอยู่เมืองหลวงพระบาง ขณะนั้นอายุของท่านองค์นั้นกำลัง ๒๕ ปี ท่านถามอาตมภาพว่า “เณรเที่ยวมานานแล้ว ได้คุณวุฒิอะไรบ้าง”
อาตมภาพก็เล่าตามเรื่องที่เป็นมาของตนให้ท่านฟัง

ท่านจึงแนะนำว่า “บุคคลผู้บำเพ็ญเพียร หากรู้ว่าบุพเพ (อดีตชาติ) ของตนเป็นมาแล้วอย่างไร คนนั้นจะมีความเพียรก้าวหน้าไม่ท้อถอย
เพราะว่าชาติที่เป็นมาแล้ว สุขบ้าง ทุกข์บ้าง ดีบ้าง ชั่วบ้าง เป็นสัตว์บ้าง เป็นมนุษย์บ้าง เมื่อเห็นเช่นนี้ว่า
ความเกิดเป็นมนุษย์และสัตว์ในโลกมีภพอันเป็นไปปรกติ ผู้นั้นจึงกล้าต่อความเพียรนั้นอีกในโลกนี้ เหตุนั้นผู้เห็นบุพเพนิวาสานุสสติแล้ว
จึงมีความเพียรก้าวหน้าไม่หยุด ผู้บำเพ็ญทั้งหลายเมื่อชำนาญการดักจิตแล้ว ควรบำเพ็ญปัญญาจักษุอันนี้ให้เจริญขึ้น จึงจะไม่ท้อถอยต่อการบำเพ็ญ”

อาตมภาพจึงถามท่านว่า “ปฏิบัติมาแค่ผม ควรบำเพ็ญแล้วหรือยัง” ท่านตอบว่า “การดักจิตของเณรก็ชำนาญบ้างแล้ว แต่ขาดปัญญาจักษุ
เหตุนั้นควรอบรมปัญญาจักษุให้กล้าก่อน จึงควรต่อไป” จากนั้นท่านก็แนะนำทางปัญญาจักษุ พอควร แล้วท่านจึงแสดงฤทธิ์ของท่านบางสิ่ง บางอย่าง เช่น หายตัว
คือ ขณะนั้นไปเที่ยวบิณฑบาตด้วยกันกับอาตมภาพ อาตมภาพเดิน ตามหลังท่าน ท่านเดินก่อน ทายกเขาไม่เห็นท่าน บิณฑบาตก็ไม่ได้
ได้เฉพาะแต่อาตมภาพผู้เดินตามหลัง

ที่ถ้ำนั้นมีบ้านอาศัย บิณฑบาต ๕ หลังคาเรือน ทำไร่ข้าวเป็นอาชีพ เป็นคนชาติพวน อาตมภาพพักศึกษากรรมฐานกับ ท่านองค์นั้นอยู่ ๑๖ วัน
จากนั้นออกเดินตามคลองชายฝั่งเป็นถนน คือท่านเดินไต่หลังน้ำไป เป็นของสุดวิสัยของอาตมภาพที่จะตามได้ จึงเป็นอันว่าหมดหนทางจะตามท่านไปด้วย

เจ้าคณะแขวงเมืองลาวขับไล่
อาตมภาพก็เดินไปตามเขาอีก ๒ วัน ไปถึงเมืองวัง ไปพักอยู่ ถ้ำเต่างอย ไปเที่ยวบิณฑบาตที่หมู่บ้านแดง ทางประมาณ ๑๐๐ เส้น ที่นั้นมีบ่อน้ำ
เป็นที่สบายแก่การบำเพ็ญสมณธรรม อาตมภาพพักทำความเพียร เพ่งกสิณอาโปธาตุ บ้าง บางทีเพ่ง อากาศธาตุ บ้าง บำเพ็ญอยู่ที่นั้น ๒ พรรษา เกิดเรื่อง
อธิกรณ์ ๔ ครั้ง คือไปอยู่ทีแรก เจ้าคณะแขวงเรียกเข้าไปในเมือง ตรวจดูใบสุทธิ อาตมภาพบอกว่าไม่มี อุปัชฌายะ เจ้าคณะแขวงบอกว่า
“เณรต้องเข้ามาอยู่วัดด้วยหมู่คณะ อย่าไปอยู่ถ้ำอยู่เขาคนเดียว ไม่สมควร”

อาตมภาพบอกว่า “ผมบำเพ็ญกรรมฐาน ขอใต้เท้าจงให้โอกาสแก่ผมบ้าง” ท่านตอบว่า “บำเพ็ญอะไรข้าไม่รู้ ถ้าเป็นพระเณรแล้ว ควรเข้าไปอยู่ในวัดทั้งนั้น”
อาตมภาพได้ยินคำนี้นึกขึ้นได้ว่า “ที่นี้จะเป็นอุปสรรคแก่การบำเพ็ญสมณธรรม แต่ถ้าเราทนอยู่ได้ เราก็จะได้บำเพ็ญขันติบารมี” เมื่อนึกขึ้นมาเช่นนี้
อาตมาจึงกราบลาท่านเพื่อจะออกไปอยู่ถ้ำตามเดิม

ท่านบอกว่า “พรุ่งนี้จะต้องเข้าอยู่วัดนะ อย่าไปอยู่ป่าอยู่เถื่อนตามลำพังของตน เพราะเป็นเณรต้องอยู่ในบังคับของพระ”
อาตมภาพก็นิ่งไม่พูดออกจากวัดของท่าน ก็กลับเข้าไปอยู่ถ้ำตามเดิม อธิษฐานไม่พูด จะบำเพ็ญแต่สมณธรรมอย่างเดียว ใครจะว่าอะไร ไม่พูดด้วย
ตั้งหน้าบำเพ็ญความเพียรอย่างเดียวอีก ๑๐ กว่าวัน เจ้าคณะแขวงใช้พระให้ไปบอกเข้ามาอยู่วัด อาตมภาพก็นั่งทำสมาธิเรื่อยไป ไม่พูดด้วย
พระที่ไปถ้ำมาบอกแก่เจ้าคณะแขวงว่า “เณรเอาแต่นั่งสมาธิหลับตาอยู่ ไม่พูดด้วย” วันหลังต่อมา เจ้าคณะแขวงให้นายตำบล (กำนัน) ไปไล่
“ถ้าไม่ไปต้องไปหาเจ้าคณะแขวงในวันนี้”

อาตมภาพก็เข้าไปหาเจ้าคณะแขวงในเมือง แต่ไม่พูด ท่านถามว่าจะไปไหนก็ไม่พูด จะเข้ามาอยู่ในอาวาสด้วยไหม ก็ไม่พูด ท่านถามอะไรๆ ก็ไม่พูด
ท่านดุด้วยคำหยาบคายหลายอย่างหลายประการ หนักเข้านั่งสมาธิอยู่ที่นั้นตลอดวันยันรุ่ง ดักจิตอยู่ ไม่ให้จิตตามเอาอารมณ์อะไรทั้งหมด เข้ามาสิงอยู่ภายในใจ
รู้สึกสบาย และทำความเข้าใจว่า

คำพูดอะไรทั้งหมดเป็นสักเพียงแต่เสียง เป็นธาตุอันหนึ่ง ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เป็นสักแต่ว่าเสียง เสียงอันใดเป็นที่พอใจของตน
ก็ว่าเสียงนั้นดี เสียงอันใดไม่เป็นที่พอใจของตน ก็ว่าเสียงชั่ว ที่จริงเสียงนั้นจะได้เป็นรูปเป็นกาย เป็นหญิง เป็นชาย ก็หามิได้

ตกลงทั้งโลกนี้จะสงัดจากเสียงไม่มี เพราะหูเรายังมีอยู่ เข้าบ้านก็เสียงคน ออกป่าดง ก็เสียงสัตว์ เช่น อยู่ป่า สัตว์บางชนิดร้องเสียงเพราะ
เป็นที่พอใจเรา ก็ว่าเสียงดี บางทีเสียงสัตว์บางตัวร้องขึ้น ไม่เป็นที่พอใจ เราก็ว่าเสียงนั้นชั่วร้าย ผลที่สุดลมพัดต้นไม้เสียงออดแอดซะนิดหน่อย
เป็นที่พอใจน่าฟัง ก็ว่าเสียงนั้นดี หากพายุมันพัดมาแรง เสียงอึกทึก ครึกโครม เรากลัวก็ว่าเสียงนั้นร้ายหรือชั่ว

ที่จริงเสียง หรือหูเท่านั้นเป็นไปตามธรรมดาของโลก เช่น หูถ้าเสียงดังขึ้น ไม่ฟัง ก็ได้ยิน หรือเสียงดีหูไม่ได้ต้องการฟัง มันก็ดังขึ้นเอง
เหตุนั้นมิเป็นการควรละหรือที่เรา จะทำโทษหูที่ได้ยินและเสียงที่ดังขึ้น อันเป็นไปตามธรรมดาวิสัยของโลก


ฝันเห็นเทวดา

เมื่ออาตมภาพพิจารณาได้เช่นนี้ ก็มีความอิ่มอกอิ่มใจ มิได้โศกเศร้าเสียใจในกิริยาที่ท่านขู่เข็ญ ดุดันต่างๆ ไม่ช้าอาตมภาพก็ไปพักจำวัดอยู่ที่โบสถ์
หลับไปฝันเห็นเทวดาเหาะมาทางอากาศ มาบอกอาตมภาพว่า “ดูกรเจ้าสามเณร จะมีผู้มาขัดขวางต่อปฏิปทาของท่าน อย่างน่าพิศวงใจ”

อาตมภาพตื่นนอนขึ้นมา แล้วก็พิจารณาว่า “อะไร จะขัดขวางข้อปฏิปทาของข้าพเจ้ายิ่งกว่าความตายไม่มี แม้แต่เสือเคยทำท่าจะกัด
ข้าพเจ้าก็สละชีวิตมาหลายหนแล้ว มิได้ทอดธุระเลยว่า จะไม่ปฏิบัติศีลธรรมต่อไปอีก นี้มนุษย์เหมือนกัน ที่สุดท่านก็คงฆ่าให้ตายเท่านั้น
ชีวิตนี้ถึงไม่มีคนฆ่าก็จะตายเองอยู่แล้ว ส่วนความดีคือศีลธรรม เราไม่ปฏิบัติเอาก็ไม่ได้ ตกลงเราจะหวงชีวิตที่จะตายเองอยู่เปล่าๆ มาละศีลธรรมอันเป็นที่พึ่ง
ทั้งในภพนี้และภพหน้า มิเป็นการควรเลย”

นิ่งเสียตำลึงทอง
เมื่ออาตมภาพตกลงเช่นนี้แล้ว ก็ออกจากโบสถ์ เข้าสู่ถ้ำที่อยู่ตามเดิม บำเพ็ญเพียรพิจารณา อนัตตา ธรรม เป็นลำดับไป มิได้เพ่งกสิณอย่างเดิม
โดยเหตุว่าปัญญาเกิดขึ้น ทั้งนี้ก็เนื่องจากอุปสรรคเช่นนั้น จะเป็นอันตรายแก่ข้อปฏิบัติ บำเพ็ญอยู่ที่นั้นตลอดฤดูแล้ง ต่อมาฤดูฝนจวนเข้าพรรษา
ญาหลวงเมืองวัง ไทยเราเรียกนายอำเภอ ต้องการอยากพบสามเณรกรรมฐานที่ไม่พูด อยู่ถ้ำเต่างอย จึงใช้ปุลิศ (ไทยเรียกตำรวจ)
ไปนำตัวของอาตมภาพไปที่ว่าการอำเภอ แล้วซักไล่ ไต่ถามด้วยอรรถด้วยธรรม เป็นต้นว่า ศีล ๑๐ กรรมบถ ๑๐ เหล่านี้เป็นต้น และกรรมฐาน ๔๐ คืออะไรบ้าง

อาตมภาพก็นั่งพิจารณาว่า คนเช่นนี้มิใช่ผู้ถามเพื่อปฏิบัติ มาถามเพื่อทดลองเล่นเท่านั้น เมื่อจะกล่าวแก้
หรือก็ไม่เห็นประโยชน์แก่ผู้มาถามด้วยความประมาท เช่นนี้ ทั้งเราก็เปล่าทั้งนั้น ก็คงเป็นสักเพียงแต่จะพูด ให้เขาเห็นดีในตนเท่านั้น
ตกลงดีหรือชั่วเราก็ปฏิบัติเอาเท่านั้น จะได้มาจากคำพูดให้ผู้อื่นเห็นดีก่อนจึงจะดีก็หามิได้ เมื่อพิจารณาเช่นนี้ อาตมภาพก็นั่งนิ่ง ไม่พูด
นายอำเภอแกก็ว่า คนเช่นนี้จะเป็น พระเป็นเณรอย่างไรได้ ทั้งใบ้ทั้งหนวกทั้งบ้า

อาตมภาพก็พิจารณาขึ้นทันที ทักท้วงจิตของตนว่า นี้เขาว่าใคร จิตรับว่า เขาว่าให้ธาตุ ๔ คือ รูป เมื่อไม่มีธาตุ ๔ คือ รูปนี้ เราก็ไม่เห็น เขาก็ไม่ว่า
เพราะข้าพเจ้า คือ จิต ไม่มีตัว เขาก็ไม่เห็น เมื่อไม่เห็น เขาจะว่าใคร หูเท่านั้นเป็นผู้ได้ยิน เขาดูถูกก้อนธาตุ เขาไม่ได้ดูถูกใจ เพราะใจไม่มีตัว
เขามองไม่เห็น เขาจะดูถูกได้อย่างไร ผู้ที่ว่าเขาก็คงมองเห็นก้อนธาตุคือหน้าตานี้เป็นเรานั้นล่ะ จากนั้นเขาจึงว่า เขามองเห็นก้อนธาตุ ๔ เขาก็ว่าไป
ตามความพอใจของเขา จะยุ่งอะไรนัก อาตมภาพก็หลับตาลง นั่งขัดสมาธิขึ้นในทันใด อยู่อย่างนั้นทั้งวันตลอดค่ำ

พอสว่างก็ออกไปนั่งอยู่ที่วัด มีคนเขาหาข้าวมาให้ฉัน อาตมภาพฉันแล้วก็กลับไปสู่ถ้ำตามเคย บำเพ็ญเพียรพิจารณาวิปัสสนาภูมิตั้งต้นแต่ขันธ์ ๕ เป็นต้นไป
อยู่จนจวนวันเข้าพรรษา

แสร้งทำเป็นบ้า
เข้าพรรษาแล้ว ๒ วัน ญาหลวง คือนายอำเภอเมืองวัง จึงใช้ปุลิศคือตำรวจไปเรียกอาตมภาพ ไปยังที่ว่าการอำเภออีก พอไปถึงแกสั่งว่า “เณรจง
เข้าจำพรรษาที่วัดเดิมกับพระทั้งหลายได้เป็นการดี ได้ยินไหม” อาตมภาพได้แต่ยิ้มเท่านั้น ไม่พูดด้วย แกก็หัวเราะแล้วว่า “คนพูดได้ยินกันอยู่ ไม่ตอบกัน
ให้ได้คำ ก็สุดเรื่องเท่านั้น”

นายอำเภอบอกต่อไปว่า “การอยู่เช่นนั้น มันผิดต่อการปกครองบ้านเมือง เหตุนั้น ขอเจ้าสามเณรจงกลับไปอยู่อาวาสตามเดิม”
พูดไปอย่างไรอาตมภาพก็นั่งหลับตาขัดสมาธิตามเคย แกจึงบอกปุลิศคือตำรวจว่า “เณรอวดดี เอาแต่หลับตาเท่านั้น จงเอาไปขังไว้ที่ห้องขังสัก ๒-๓ วัน
ดูสิจะใช่คนบ้าหรือคนดี”

จากนั้นปุลิศก็จับมืออาตมภาพ พอไปยังห้องขังแล้วขังไว้ อาตมภาพก็นั่งสมาธิไปตามเคย แล้วพิจารณาว่า อุปสรรคเกิดขึ้นมาเช่นนี้
เขาขังเราครั้งนี้เพื่อจะสังเกตว่าเราบ้าหรือคนดี ตกลงในใจว่าควรทำตนเป็นคนบ้าเสียดีกว่า เพื่อป้องกันความปลอดภัยแก่ปฏิปทาของตน
เมื่อเขาเห็นว่าเราเป็นบ้าแล้ว เขาจะปล่อยเราตามเรื่อง

จากนั้นอาตมภาพก็ทำเหมือนคนบ้า พูดคนเดียวบ้าง หัวเราะขึ้นคนเดียวบ้าง เมื่อเขาเอาอาหารมาให้ พูดกับถ้วยชามไปตามเรื่อง
ปุลิศคือตำรวจได้เห็นอาการเช่นนั้น ก็นำความนั้นไปบอกแก่นายอำเภอว่าบ้าแน่นอน จะเอาเรื่องกับคนบ้าก็จะเสียประโยชน์เปล่าๆ แทงในบัญชีว่าบ้าก็แล้วกัน
ปล่อยไปตามเรื่อง จากนั้นเขาก็ปล่อยอาตมภาพ อาตมภาพก็กลับไปอยู่ที่ถ้ำตามเคย แล้วก็ทำเป็นคนดีแต่ไม่พูด

ต่อแต่นั้นไปคนนอกเมืองในเมืองบางคนก็ว่าบ้า บางคนก็ว่าไม่ใช่บ้า แต่ส่วนมากว่าไม่บ้า บ้าทำไมจะประพฤติศีลธรรมเรียบร้อยนัก
มีคนไปหารู้จักห่มผ้าสบงทรงจีวร ทำท่านั่งรับแขกโดยเรียบร้อย แต่ไม่พูดเท่านั้น ต่อมาในกลางพรรษา มีคนมาทำบุญด้วย ๑๐ กว่าคน คนหนึ่งแสดงตนว่า
“ผมเชื่อว่าท่านไม่ใช่คนบ้า โดยเหตุที่ท่านรักษาศีลธรรม และมรรยาทเรียบร้อย ทั้งนั่งทั้งเดินและเวลาเที่ยวเดิน บิณฑบาตก็มีอินทรีย์สงบเสงี่ยม
ข้าพเจ้าอยากทราบความจริง ขอผู้เป็นเจ้าจงแก้ความสงสัยแก่ข้าพเจ้า”

เณรไม่บ้า
อาตมภาพก็ได้แต่ยิ้มๆ เท่านั้น แกก็น้อมอาหารบิณฑบาตถวาย อาตมภาพก็รับ ฉันเสร็จแล้ว ก็ยถาสัพพี โมทนาให้พรแก่โยมคนนั้น แล้วอาตมภาพจึงเตือนโยมคนนั้นว่า
“โยมเอ๋ย จงรู้โดยเหตุมีประมาณเท่านี้ก่อน ต่อไปจะรู้แน่ชัดกว่านี้ในพรรษาที่ ๒ อาตมาจะจำพรรษาบำเพ็ญบารมีอยู่ที่นี้ประมาณ ๒ พรรษาเท่านั้น”
ว่าแล้วอาตมภาพก็นั่งนิ่ง โยมแก่บอกว่า “โยมเฒ่าหมดความสงสัยว่าบ้าแล้ว เชื่อว่าไม่บ้า โยมเฒ่าขอเป็นโยมอุปัฏฐาก จนกว่าเจ้าสามเณรจะหลีกไป”
จากนั้นโยมแก่คนนั้นแกก็อุตส่าห์ไปใส่บาตร และส่งสำรับทุกวัน

ต่อจากนั้น มีพวกคณะญาติของโยมคนนั้น มีความเชื่อถือมากขึ้นว่าท่านไม่บ้า ท่านเที่ยวบำเพ็ญบารมีของท่าน ต่างคนก็ต่างมีความเชื่อถือมากขึ้น
ได้มาทำบุญวันละหลายๆ คน จนตลอดพรรษา เมื่อออกพรรษาแล้ว นายอำเภอได้ข่าวว่ามีคนไปทำบุญ ด้วยวันละมากๆ จึงนำคนเหล่านั้นไปสอบสวนที่ที่ว่าการว่า
“พวกเธอทั้งหลายไปเชื่อสามเณรบ้าด้วยเหตุไร” โยมแก่คนนั้นตอบนายอำเภอว่า “เณรไม่ใช่บ้า เณรเที่ยวบำเพ็ญบุญบารมีในศาสนานี้”
นายอำเภอจึงให้คนนำตัวของอาตมภาพไปยังที่ว่าการอีก

เมื่อไปถึงคราวนี้ นายอำเภอทำการปฏิสันถาร มีน้ำฉัน และหมากพลู บุหรี่ แล้วอาราธนาศีลขึ้น อาตมภาพก็ให้ศีลแก่พวกข้าราชการหลายคนซึ่งอยู่ในที่ว่าการนั้น
เสร็จแล้วแกจึงอาราธนาเทศน์ต่อไป อาตมภาพพิจารณาอยู่ในใจว่า

“หากเราแสดงธรรมในเวลานี้ บางคนก็จะเชื่อถือมากขึ้น บางคนก็จะนินทาและเบียดเบียนว่าเราอวดรู้อวดฉลาด คนที่เชื่อถือก็จะเป็นภัยแก่ความสงบอย่างหนึ่ง
คือจะมาคบหาสมาคม เพื่อฟังเทศนาบ่อยๆ เราก็จะมัวแต่รับแขก มิได้ทำความสงบ ส่วนผู้ที่นินทาว่าเราอวดรู้อวดฉลาด
เขาก็นำเรื่องนี้ไปเล่าโดยความไม่พอใจของตนต่างๆ ว่า เราแสดงตนเป็นคนมีบุญอย่างนั้นอย่างนี้ เราก็จะถูกไต่สวน เป็นอันตรายแก่ความสงบอีกอย่างหนึ่ง
พิจารณาเช่นนี้แล้วอาตมภาพก็นั่งนิ่งอยู่ มิได้พูด อะไร”

นายอำเภอบอกว่า “นิมนต์แสดงธรรมครับ” อาตมภาพพูดว่า “การแสดงธรรมนี้ อาตมภาพของดไว้ ตอนพรรษาที่ ๒ เมื่อออกพรรษาที่ ๒ แล้ว ๓๐ วัน
นั่นแหละอาตมภาพจึงจะแสดงธรรมที่ถ้ำเต่างอย เมื่อท่านทั้งหลายมีความประสงค์จะฟังแล้วจงไปฟังที่นั้น” จากนั้นอาตมภาพก็นั่งนิ่งมิได้พูดต่อไปอีก

นายอำเภอแกนิมนต์อีกเป็นครั้งที่ ๒ ว่า “ขอท่านจงแสดงเดี๋ยวนี้” อาตมภาพก็หลับตานั่งขัดสมาธิเท่านั้น มิได้พูดอยู่ประมาณ ๑ ชั่วโมง คนก็ไปกันหมด
อาตมภาพก็กลับคืนสู่ถ้ำตามเคย บำเพ็ญสมณธรรมต่อไปจนตลอดฤดูแล้งและฤดูฝน นับว่าได้รับความสงบทั้งภายนอกและภายในใจต่อไป จนออกพรรษา รวมเป็นพรรษาที่ ๔
แห่งการออกเที่ยวธุดงค์คราวนี้

แสดงโวหารเทศนา
นับแต่ออกพรรษาแล้ว เดือน ๑๒ วันเพ็ญ ก็มีผู้คนไปทำบุญเพื่อจะฟังธรรมเทศนา แม้กระทั่งนายอำเภอเมืองวังก็ออกไปด้วย เมื่อฉันเสร็จก็มีคนอาราธนาธรรม
อาตมภาพจึงได้แสดงธรรมในข้อที่ว่า “สุขินทริยัง ทุกขินทริยัง มายุปะมัญจะ วิญญาณัง

อธิบายว่า ความสุขซึ่งเป็นของมีจริง ทั้งเป็นใหญ่ด้วย แต่ไม่เที่ยง เป็นความทุกข์ ทางกายทางใจก็มีจริง ทั้งเป็นใหญ่ด้วย แต่ไม่เที่ยง ถูกหลอก
เจ้ามายาคือ วิญญาณัง เจ้าวิญญาณตามรู้แจ้งว่าสิ่งนี้เป็นสุข เข้าอาศัยความสุขที่มาถึงพร้อมชั่วขณะจิตรู้ แล้วก็หายไป
เพราะความสุขอันเกิดแก่ความพอใจเนื่องมาจาก ความคิดในอารมณ์อันเป็นที่พอใจแล้ว ก็สุขหรืออิ่มใจ ขึ้นประเดี๋ยวเดียวเท่านั้นแล้วก็เสื่อมไป
เพราะเขาเป็นของไม่เที่ยง ประเดี๋ยวก็ไปฉวยเอาความคิดและอารมณ์ อันไม่เป็นที่พอใจ ก็เป็นทุกข์ขึ้นมาเท่านั้น ประเดี๋ยวทุกข์นี้ก็หายไป
ก็ไปฉวยเอาอารมณ์อันอื่นอีก

ตกลงความสุขอันเกิดจากความยินดี และพอใจในสิ่งที่ตนต้องประสงค์เท่านั้น จัดเป็นที่พึ่งแน่นอนยังไม่ได้ คือบรรดาสาธุชนในโลกนี้ต้องการความอิ่มใจ
ต่างก็เคยพบเคยเห็นเคยมีความสุขความอิ่มใจมาแล้วทุกคน มิใช่หรือ ความสุขและความอิ่มใจอันนั้น ต่างคนก็รู้แล้วว่าเป็นของดี
ทำไมจึงไปคิดและถือเอาความสุขนั้นไว้ ประจำสันดานจนตลอดชีวิต

ข้อนี้เนื่องมาจากความไม่เที่ยงอันเป็นความจริงของโลกนั้นเอง มาตัดรอนให้จิตใจแปรผันไปหน่วงเหนี่ยวยึดถือ เอาความคิดความเห็นอันไม่เป็นที่พอใจ
มาปรากฏขึ้นในสันดาน แล้วก็รู้แจ้งขึ้นว่าเป็นทุกข์ใจคอไม่สบาย ประเดี๋ยวเท่านั้นได้พบหรือได้เห็นสิ่งเป็นที่หัวเราะพอใจ ก็กลับมีความสุขแช่มชื่นขึ้นอีก

เหตุนั้นเจ้าสังขารคือความคิดความนึกอันปรับปรุงขึ้นมาก็เป็นเจ้ามายา เจ้าเล่ห์ เจ้ากล อีกอันหนึ่ง โดยศัพท์ว่า มายุปะมัญจะ สังขารา แปลว่า
เจ้าสังขารผู้ช่างนึกช่างคิดปรับปรุงประจำ สันดานนี้ก็เจ้ามายาใหญ่ คือประเดี๋ยวก็ปรุงและคิดอารมณ์อันเป็นที่พอใจขึ้นมา เจ้าวิญญาณรับรู้ว่าเป็นสุข
ก็เข้าอาศัยและยึดถือ ประเดี๋ยวก็นึกคิดปรับปรุงอารมณ์ไม่เป็นที่พอใจขึ้นมา พล่าอารมณ์ที่ดีคือความพอใจอันนั้นให้เสื่อมหายไป
เจ้าวิญญาณก็รับรู้ว่าใจคอไม่สบาย ยุ่งและจุกจิกคือทุกข์ใจขึ้นมา

ตกลงว่า ความเป็นอยู่ของสาธุชนทุกจำพวก ยกเว้นพระอริยเจ้าผู้ได้ประสบสันติสุขแล้ว ล้วนแต่ถูกสังขารหลอกทั้งนั้น
แล้วแต่เจ้าสังขารปรุงหรือคิดขึ้นมาอย่างไร ก็เป็นไปตามปรุงความสุขขึ้นมาก็พลอยสุขไปตาม ประเดี๋ยวปรุงความทุกข์ขึ้นมา ก็พลอยทุกข์ไปตาม
ตกลงว่าถึงจะมีชีวิตอยู่ตั้ง ๑๐๐ ปี ๑,๐๐๐ ปีก็ดี ปรุงแต่สุขหรือทุกข์เท่านั้น ลวงตนเล่นอยู่ หาที่พึ่งมิได้ แล้วแต่สังขารจะปรุงให้ร้องไห้ก็ร้องไห้
เจ้าสังขารจะปรุงให้หัวเราะก็หัวเราะขึ้นเท่านั้น

ตกลงว่า อำนาจของจิตไม่มี เพราะเจ้าสังขารลวงเล่น ไม่มีเวลาหยุด ฉะนั้น สมเด็จพระบรมศาสดาจึงตรัสเทศนาสรรเสริญความสงบจิต เอา
อาโยโคความเข้าไปสงบจิต เป็นยอดคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เมื่อจิตสงบกายและสงบวาจา เมื่อกายสงบก็เป็นศีลสังวร เสร็จอยู่ที่ใจสงบ เหตุนั้น
การรักษาศีลสมาธิปัญญารวมอยู่ที่ใจสงบเท่านั้น

เหตุนั้น ท่านจึงรักษาศีลสมาธิปัญญารวมอยู่ที่ใจสงบ ไม่ต้องไปอ่าน หรือนับว่านี้ศีล นี้สมาธิ นี้ปัญญา เมื่อรักษาจิตให้สงบแล้ว ก็บริบูรณ์
พร้อมทั้งศีลสมาธิปัญญา เมื่อไม่มีปัญญา จิตก็ไม่สงบ เมื่อปัญญาทำจิตให้สงบได้แล้ว ศีลสมาธิก็บริบูรณ์ขึ้นในขณะนั้น

เหตุนั้นสาธุชนผู้ต้องการอยาก เป็นผู้มีศีลมีสมาธิในศาสนาของพระพุทธเจ้าแล้ว ขอท่านจงแสวงหาครูอาจารย์แนะนำทางปัญญา หา อุบายทำให้จิตสงบลงเมื่อใด
ก็เมื่อนั้นท่านจะเป็นผู้ บริบูรณ์ไปด้วยศีล ด้วยสมาธิ ปัญญา ดังรับประทาน วิสัชนามาก็สมควรแก่กาละเวลาดังนี้”

ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก : tamroiphrabuddhabat
ขอขอบคุณรูปภาพสวยๆจาก : คติธรรม
นำเสนอโดย : แอพเกจิ – AppGeji

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: