1286. ศาสตร์แห่งความลี้ลับ “สักยันต์” นักรบไทยนิยมกันมาในอดีต ฟัน แทง ไม่ระคายผิว ตายไปยังเผาไม่ไหม้

การสักที่เกี่ยวเนื่องกับความเชื่อ วัตถุประสงค์ของการสัก ผู้ชายบางคนจะสักยันต์ด้วยเหตุผลทางเวทมนต์คาถาเพื่อความแข็ง แกร่งของจิตใจและต้องการอยู่ยงคงกระพัน ซึ่งเป็นความเชื่ออย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นเป็นประเพณีนิยมใน ชนบางกลุ่ม การสักลักษณะนี้จะสักให้เฉพาะชายฉกรรจ์เท่านั้น การสักมีลักษณะที่สอดแทรกไว้ด้วยความเชื่อและพิธีกรรมหลายอย่าง เช่น ก่อนทำการสักจะต้องมีการทำพิธีไหว้ครู

ในการสักนั้นก็จะประกอบด้วยการร่ายเวทมนต์โดยอาจารย์สักจะถูผิวหนังของผู้มาสักทั้งก่อน ขณะสักลายหรือสักยันต์ และหลังจากสักเสร็จแล้ว อาจารย์สักแต่ละคนจะมีรูปแบบของลวดลายเป็นของตนเอง และผู้ที่ต้องการจะสักสามารถเลือกลายที่อาจารย์มีอยู่ได้ตามต้องการ ส่วนมากจะเป็นสัตว์ในเทพนิยาย และ เป็นอักขระขอมและเลขยันต์ อาจจะสักลายทั้งสามประเภทผสมกัน ดังนั้นลายสักของแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน

การสักในประเทศไทยอาจจะมีมาแต่โบราณ แต่จะมีมาตั้งแต่สมัยใด ไม่มีหลักฐานชัดเจน การสักยันต์เพื่อให้อยู่ยงคงกระพันนั้นเชื่อว่ามีมานานแล้วดังปรากฏในวรรณคดี เรื่องขุนช้างขุนแผน และวรรณกรรมอื่นๆ แต่การสักมักมองว่าเป็นเรื่องของนักเลง ถูกมองไปในทางลบ ทำให้ศิลปะบนผิวหนังประเภทนี้เกือบจะสูญไปจากสังคมไทย

เหตุผลที่การสักยังคงมีอยู่คือ หลาย ๆ คนยังเชื่อว่าการสักจะทำให้มีโชคและอยู่ยงคงกระพันพ้นอันตราย รูปแบบของการสักแต่ละชนิดจะมีความขลังที่แตกต่างกัน ลายสักหรือยันต์บางชนิดสามารถช่วยผู้ที่สักให้รอดพ้นจากสถานการณ์ที่ยุ่งยากได้ สัญลักษณ์บางอย่างของลายสักสามารถทำให้ผิว หนังเหนียวได้ ศัตรูยิงไม่ออก ฟันไม่เข้า เชื่อว่าการสักจะช่วยให้รอดพ้นจากสถานการณ์อันเลวร้ายได้ด้วย

นอกจากนี้ การสักทางไสยศาสตร์ยังเชื่อมโยงกับการระวังอันตรายและความปลอดภัย ทำให้แคล้วคลาดต่ออันตรายต่างๆ ศิลปะพื้นบ้านประเภทนี้ อาจจะกระตุ้นความรู้สึกให้เกิดศรัทธาความเชื่อมั่น เกิดความมั่นใจ มันอาจเป็นเครื่องแสดงความจริงต่างๆ วัฒนธรรมสมัยใหม่นั้นเมื่อมองแล้วอาจจะไม่ทำให้ปลอดภัย ส่วนวัฒนธรรมการสักยันต์จึงช่วยให้เกิดความรู้สึกปลอดภัย เป็นทางหนึ่งที่ช่วยให้จิตใจเขามีความมั่นใจมั่นคงมากยิ่งๆ ขึ้น

ลายสักยอดนิยม ลวดลายสักแต่ละสำนักแต่ละครูอาจารย์มักจะมีความคล้ายคลึงกันเป็นส่วนใหญ่ เช่น ลายเสือเผ่นลายหนุมาน ลายยันต์ชนิดต่างๆ ฯลฯ จะแตกต่างกันที่รายละเอียดในส่วนปลีกย่อย เท่านั้น เช่น ถ้าเป็นลายหนุมาน แต่ละอาจารย์ก็จะคงรูปร่างลักษณะและโครงร่างของหนุมานไว้แต่จะมีความแตกต่างกันที่รายละเอียดของนิ้วมือ นิ้วเท้า และเครื่องประดับของหนุมานเป็นต้น

ลวดลายที่นิยมกันอย่างแพร่หลายในบรรดาผู้ที่นิยมการสักคือ ลวดลายสักที่ให้ผลทางไสยศาสตร์ซึ่งแบ่งเป็น ๒ ชนิด คือเพื่อผลทางเมตตามหานิยม และเพื่อผลทางอยู่ยงคงกระพันชาตรีให้แคล้วคลาดจากของมีคม อุบัติเหตุ หรืออันตรายทั้งปวงถ้าเป็นการสักเพื่อผลทางเมตตามหานิยมมักจะสักเป็นรูปจิ้งจก หรือนกสาลิกาเพื่อเป็นตัวแทนของความมีเสน่ห์เป็นที่รักใคร่ของคนทั่วไป โดยเฉพาะให้ผลดีทางการเจรจา ค้าขายทำให้เจริญรุ่งเรืองทำมาค้าขึ้น

ส่วนลายสักเพื่อผลทางอยู่ยงคงกระพันชาตรี จะนิยมสักลวดลายซึ่งเป็นตัวแทนความดุร้ายความปราดเปรียว ความสง่างาม ความกล้าหาญ ได้แก่ลายเสือเผ่น หนุมานคลุกฝุ่น หงส์ และลายสิงห์ เป็นต้น หรือเป็นลายที่เปรียบเสมือนเกราะป้องกันภยันตราย เช่น เก้ายอด ยันต์เกราะเพชร หรือลายยันต์ชนิดต่างๆ และสิ่งที่สำคัญที่สุดที่เป็นแก่นแท้ของการสักเพื่อผลทางไสยศาสตร์ และถือกันว่าเป็นหัวใจของการสักคือ หัวใจของคาถาที่กำกับลวดลายสักแต่ละลายอยู่ เพราะสิ่งนี้คือเคล็ดลับวิชาคาถาอาคมที่เป็นวิชาชั้นสูงของแต่ละอาจารย์สักที่จะไม่เปิดเผยให้แก่ผู้ใดเป็นอันขาดนอกจากลูกศิษย์ที่ได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้รับถายทอดวิชาสักของอาจารย์สืบต่อไป

แดวงคนสักลาย เนื่องจากวัตถุประสงค์ของการสักคือเพื่อผลทางไสยศาสตร์ จึงต้องสักโดยครูอาจารย์ที่มีวิชาอาคมศักดิ์สิทธิ์โดยเฉพาะเท่านั้น ฆราวาสหรือบุคคลธรรมดาที่ไม่มีวิชาความรู้ทางด้านนี้จะไม่ได้รับการยอมรับ ครู และอาจารย์และช่างสักส่วนใหญ่จึงเป็นพระภิกษุ หรือเกจิอาจารย์ชื่อดังที่ได้รับการยอมรับนับถือจากบุคคลทั่วไป และความศักดิ์สิทธิ์ของการสักก็มักจะได้รับการทดสอบจนเห็นผลเป็นที่ร่ำลือมาแล้ว

จากคำบอกเล่าของพระอาจารย์ชื่อดังท่านหนึ่งให้ความรู้ว่า ปัจจุบันอาจารย์สักที่ลงคาถาอาคมและมีอานุภาพดังคำร่ำลือมีไม่เกิน ๑๐ สำนักในเมืองไทย ผลการศึกษาของนักวิชาการระบุออกมาว่า อาจารย์สักส่วนใหญ่เป็นผู้ชายอายุ ๕๐ ปีขึ้นไป มีประสบการณ์มากกว่า ๒๐ ปี อาจารย์สักถ้าเป็นผู้หญิงจะไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนัก เช่นเดียวกับผู้ที่มารับการสักโดยมากจะเป็นผู้ชาย จะเป็นผู้หญิงก็เป็นส่วนน้อย

ซึ่งมักจะมาสักเพียงเพื่อต้องการจะดึงดูดเพศตรงข้าม หรือต้องการจะมีเสน่ห์ในการพูดจาเพื่อค้าขายได้คล่อง ฉะนั้นลายสัก นะหน้าทอง และสาลิกาลิ้นทอง จึงเป็นลายสักที่ นิยมในเพศหญิง ตรงกันข้ามกับฝ่ายขายที่มีความกระหายอยากจะได้ของดีติดตัวคือเหตุผลที่มาเป็นอันดับหนึ่ง ความศรัทธาเชื่อมั่นในครูอาจารย์และเพื่อนฝูงญาติพี่น้องชักชวนให้มาสัก เป็นเหตุผลที่รองลงมาแต่จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ชายหรือหญิงคนนั้นจะต้องมีใจรักและเชื่อมั่นในเรื่องนี้อย่างเหนียวแน่น เท่าที่ผ่านมาผู้ที่ได้รับการสักครั้งแรกไปแล้วก็มักจะกลับมาสักอีกครั้งเป็นอย่างน้อย บางคนอาจถึง ๑๐ ครั้งขึ้นไป

อย่างไรก็ตาม แม้ทุกวันนี้จะมีผู้เชื่อมั่นและศรัทธาในการสักอยู่ แต่ก็นับว่าลดลงไปมากเมื่อเทียบกับอดีตที่ผ่านมา และนับวันข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับลายสักจะสืบค้นได้ยากยิ่งขึ้น เป็นเพราะขาดผู้รู้ผู้ชำนาญ อาจารย์บางท่านที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันก็ไม่ค่อยถ่ายทอดวิชาให้แก่ศิษย์ ทำให้นับวันผู้ที่รู้วิชานี้ยิ่งลดน้อยลงทุกที อีกทั้งสังคมปัจจุบันไม่ค่อยยอมรับคนที่มีลายสักโดยดุษณีเช่นแต่ก่อนอีกแล้วในทางกลับกันทัศนคติของคนไทยในวันนี้กลับมองว่าคนที่มีรอยสักเป็นผู้ที่มีการศึกษาน้อย เป็นผู้มีอาชีพใช้แรงงาน เป็นนักเลงหัวไม้ หรือเข้าใจหนักลงไปอีกว่า คนที่สักลายคือ พวกขี้คุกขี้ตะรางที่มีลายสักซึ่งสักกันเองภายในเรือนจำ ประกอบกับการสักเป็นอุปสรรคในการรับราชการทหาร ตำรวจ และพลเรือน

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้คนจำนวนหนึ่งหันไปใช้วิธีสักด้วยน้ำมันแทนการสักด้วยน้ำหมึก เพื่อจะได้มองไม่เห็นลวดลาย และตัดปัญหาเรื่องการลบรอยสักออกภายหลังเมื่อไม่ต้องการ การสักในลักษณะนี้จึงทำให้ลวดลายที่สวยงามวิจิตรบรรจงและสื่อความหมายในรูปแบบต่างๆ ที่นิยมกันมาตั้งแต่ดั้งเดิมสูญหายไปทีละน้อย

ยุคสมัยที่เปลี่ยนไปทำให้ความคิดความเชื่อหลายๆ อย่างเสื่อมถอยไป แต่ลายสักก็ยังเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจของบุคคลหลายกลุ่มแต่จะยึดยาวนานไปสักเท่าใดนั้น ต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์

เครื่องมือที่ใช้ในการสัก จากการศึกษาและวิเคราะห์เอกสารต่างๆ สามารถสรุปเครื่องมือที่ใช้ในการสักได้ว่า ส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดในการสักก็คือเข็มสักหรือวัตถุปลายแหลมที่ใช้ทำหน้าที่เป็นเข็มสักแทงลงไปบนผิวหนังการเลือกใช้เข็มสักและวัตถุปลายแหลมของอาจารย์สักแต่ละท่าน จะแตกต่างกันไปตามแต่ความถนัด ความสะดวก หรือตามที่ท่านได้รับการถ่ายทอดมาจากอาจารย์สักในรุ่นก่อน ๆ ซึ่งพอจะรวบรวมชนิดของเข็มสักได้ดังต่อไปนี้

๑. หนามหวาย ที่มีปลายแหลมและแข็ง
๒. เข็มหมุดหรือเข็มเย็บผ้า ๓-๔ เล่ม มัดเข้าไว้ด้วยกันแล้วผูกติดกับด้ามไม้ที่ใช้เป็นด้ามจับ
๓. ก้านร่ม ฝนปลายแหลมเป็นหน้าตัด
๔. เหล็กปลายแหลม ที่ทำด้วยทองเหลือง
๕. เข็มที่ทำจากเหล็กตะปูที่ตอกโลงผี เพื่อให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ทางอาคม

ในสมัยปัจจุบันเข็มที่ใช้ในการสักนั้นมักจะทำจากวัสดุที่เป็นโลหะ เพื่อให้จับได้ถนัดมือและให้มีน้ำหนักถ่วงที่ปลายด้าม เพื่อจะบังคับเข็มสักไปในทิศทางที่ต้องการ ส่วนเข็มสักไฟฟ้านั้นอาจารย์สักไม่นิยมใช้ เพราะว่าเหมาะสำหรับการสักเฉพาะรูปลวดลายที่ให้เกิดความสวยงามเท่านั้น ไม่เหมาะกับการสักตัวอักขระขอมที่กำกับลาย เพราะบังคับทิศทางไม่ได้การหนึ่ง และยังขัดต่อความเชื่อทางไสยศาสตร์อีกประการหนึ่งด้วย

เครื่องมือที่สำคัญรองลงมาจากเข็มสัก คือหมึกที่ใช้ในการสัก ลวดลายที่สักจะสวยงามรูปคมชัด เจนและติดทนนาน ขึ้นอยู่กับการผสมของหมึกที่ใช้ ซึ่งตามประวัติความเป็นมากล่าวไว้ว่า ได้มีการวิวัฒนาการและการดัดแปลงให้เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่น ทำให้ส่วนผสมของหมึกจึงมีความแตกต่างหลากหลายกันออกไป อาทิ ทางภาคอีสานแรกเริ่มเดิมใช้ยางไม้สีขาวชนิดหนึ่งมาเขียนบนผิวหนังแล้วใช้ของแหลมจิ้มตามลวดลายที่ต้องการ ยางไม้นี้จะซึมเข้าไปใต้ผิวหนัง พอยางไม้แห้งก็จะเปลี่ยนเป็นสีดำ แต่สีของยางไม้นี้ไม่ทนทาน นานเข้าก็จะลบเลือน จึงดัดแปลงมาใช้ขี้เขม่าหรือดินหม้อผสมกับดีควายให้เข้ากัน เมื่อแผลสักหายแล้วก็จะกลายเป็นสีดำติดทนนาน

“อูเมโมโต” ได้อธิบายถึงหมึกสักไว้ในบทความเรื่อง “ศิลปะการสักของไทย” ว่าในอดีตนั้นอาจารย์สักจะใช้ขี้เถ้าหรือขี้เขม่ากระดูกสัตว์ กากมะพร้าวแทนหมึก เพราะมีสีค่อน ข้างดำ ทำให้เห็นลายได้ชัดเจน แต่ต่อมาวิธีการทำหมึกดังกล่าวนั้นค่อนข้างยุ่งยากเกินไป เนื่องจากจะต้องมีส่วนผสมต่างๆ ตามสัดส่วนที่กำหนดเพื่อให้ได้สีตามต้องการ จึงได้เปลี่ยนมาใช้หมึกจีน หรือหมึกดำที่มีขายอยู่ตามท้องตลาด ทำให้การผสมหมึกสักนั้นง่านขึ้นกว่าเดิม

สมชาย นิลอาธิ ได้รวบรวมสูตรผสมหมึกสักที่นิยมใช้กันทางภาคอีสนไว้ ๔ สูตรด้วยกันคือ

สูตรที่ ๑ เป็นสูตรหมึกชนิดแรกที่ใช้กันในภาคอีสาน ใช้ยางไม้ชนิดหนึ่งที่ชาวอีสานเรียกว่า “ต้นหมึก” เมือหักกิ่งหรือก้านออกไปแล้วจะมียางสีขาวหรือยางไม้ออกมา เมื่อยางนี้แห้งสียางจะ ออกดำๆ

สูตรที่ ๒ ใช้ดินหม้อ หรือเขม่าไฟที่จับเกาะตามก้นหม้อที่ใช้ฟืน หรือถ่านขูดเขม่าให้หลุดออกจากหม้อ แล้วเอาไปบดให้ละเอียด ผสมกับดีควาย

สูตรที่ ๓ ใช่ผงถ่านสีดำที่อยู่ในถ่านไฟฉายนำไปบดให้ละเอียดแล้วผสมกับยางไม้ “ต้นมูกเกี้ย” เมื่อสักลงบนผิวหนังจะได้ลายสักสีดำตามสีของผงถ่าน

สูตรที่ ๔ ใช้หมึกจีนชนิดแท่งนำไปฝนให้เป็นผงละเอียด แล้วผสมกับน้ำมันเสือและน้ำมันงาการใช้น้ำมันเสือซึ่งเป็นสัตว์ดุร้ายที่มีพลังอำนาจอยู่ในตัวมาเป็นส่วนผสมทำให้เชื่อกันว่าเป็นการสักเพื่อให้ผลทางอยู่ยงคงกระพันชาตรี

นอกจากสูตรผสมหมึกดังกล่าวแล้ว อาจารย์จารุบุตร เรืองสุวรรณ ยังได้อธิบายสูตรผสมหมึกไว้อีกสูตรหนึ่งที่แตกต่างกันออกไปคือการใช้น้ำหมึกผสมใบมันแกวเคี่ยวและเขม่าควันไฟเพื่อให้ออกสีดำแล้วผสมกับดีหมู (หรือดีควาย) จะทำให้ลวดลายสักดำสนิทและขึ้นมัน หรืออาจใช้ดีของสัตว์อื่นๆ เช่น วัว หมี งู ปลาช่อน เคี่ยวให้แห้งแทนได้

นอกจากเข็มสักและหมึกแล้ว บางสำนักจะมีอุปกรณ์ที่ช่วยในการลอกลายเพิ่มขึ้นมา ได้แก่ กระดาษลอกลาย กระดาษก๊อปปี้ และแม่พิมพ์ไม้ (คัดมาจาก รายงานผลการวิจัยลายสักที่พบในภาคกลางของประเทศไทย โดย สุลักษณ์ ศรีบุรี และทวีวงศ์ ศรีบุรี)

สืบสายพระเวทย์ หลวงพ่อเปิ่นได้ศึกษาเล่าเรียน สรรพวิชา คาถา ไสยเวทย์ วิปัสสนากรรมฐาน จากพระอาจารย์ที่โด่งดังในสมัยนั้น อาทิ ตำรับตำรา คัมภีร์ใบลานโบราณ ของวัดบางพระ จากหลวงพ่อหิ่ม อินฺทโชโต ท่านสืบสานวิชาจากพระอธิการเจ้าคุณเฒ่า เจ้าตำรับการลงเลขสักยันต์เสื้อยันต์ ตำรายาสมุนไพรรักษาโรค

สายหลวงพ่อแดง วัดทุ่งคอก จ.สุพรรณบุรี ท่านเป็นศิษย์เอกของ หลวงพ่อโหน่ง วัดคลอง มะดัน พระอาจารย์ของพระสังฆราชปุ่น วัดโพธิ์ หลวงพ่อสด วัดปากน้ำภาษีเจริญ ผู้ค้นพบวิชาธรรมกายที่ทั่วประเทศรู้จัก

สายหลวงพ่อโอภาสี เป็นพระอาจารย์ที่โด่งดังอีกรูปหนึ่ง ท่านชอบบูชาไฟ เตโชกสิน ของที่คนถวายมาให้ท่าน ท่านจะโยนเข้ากองไฟหมด จนชาวบ้านนึกว่าท่านเป็นพระที่วิกลจริต

หลวงพ่อเปิ่น สืบสานตำรับวิชา ก่อนหลวงพ่อหิ่ม อินฺทโชโต จะมรณภาพท่านได้ถ่ายทอดวิชาอาคม คาถาไสยเวทย์ และตำรายาสมุนไพร ให้แก่หลวงพ่อเปิ่นจนหมดสิ้น ด้วยท่านเลงเห็นว่า ต่อไปยุคหลวงพ่อเปิ่น วัดบางพระ จะเจริญก้าวหน้า รุ่งเรืองสุดขีด

สรรพวิชาอาคม ทางไสยเวทย์ อันเข้มขลังลือชื่อ องค์หลวงพ่อท่านได้รับการถ่ายทอดจนหมดจากทุกอาจารย์ที่ไปเล่าเรียนมา ไม่ว่าจะเป็นการลงนะหน้าทอง ลงสาลิกาลิ้นทอง การลงอักขระสักยันต์ อันมีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดในยุคนี้

ขั้นตอนการสักยันต์
การสักยันต์ เริ่มด้วย หาดอกไท้ ธูปเทียน และค่ายกครู ๒๔ บาทมาขึ้นครูกับพระอาจารย์ที่สัก ต่อจากนั้นก็เลือกยันต์รูปลักษณ์ต่างๆ ที่จะสัก อาทิ เช่น เก้ายอด, แปดทิศ, งบน้ำอ้อย, รูปเสือเผ่น, หนุมาน, ฯลฯ

เมื่อเลือกแบบได้แล้ว ก็จุดตะเกียงน้ำมันก๊าด เอาพิมพ์รมควันให้เขม่าจับแบบพิมพ์ จากนั้นก็กดพิมพ์บนผิวหนังบริเวณที่ต้องการสัก บางยันต์ก็ใช้วิธีเขียนโดยใช้หมึกจีน ตีเส้น วาดไปบนผิวหนังก่อน ยันต์บางรูปสักโดยไม่ต้องใช้แม่พิมพ์ เครื่องมือที่ใช้ในการสักยันต์ ใช้เหล็กแหลม ใช้ก้านร่มผ่าปลายฝนปลายจนแหลม

การสักยันต์ ลงอักขระเลขยันต์ มีอยู่ ๒ อย่างคือ การสักน้ำมัน กับการสักน้ำหมึก

การสักน้ำมัน ส่วนมากจะใช้น้ำมันจันท์หอมแช่ว่านหรือน้ำมันงาขาว บางสำนักจะผสมน้ำมันช้างตกมัน น้ำมันเสือโคร่ง การสักน้ำมันคนสมัยนี้นิยมกันมาก เพราะเป็นการสักยันต์โดยร่างกายไม่มีลวดลายให้เห็น เมื่อรอยสักตกสะเก็ดเนื้อก็สมานเป็นเนื้อเดียวกัน

การสักหมึก นิยมใช้หมึกจีนมาฝนกับน้ำพระพุทธมนต์ สมัยก่อนนิยมหาดีเสือ, ดีหมี, ดีงูเห่าเป็นส่วนผสม

มาถึงขั้นตอนการการลงเข็มสักยันต์ อาจารย์ผู้สักจะให้ลูกศิษย์กดผิวหนังที่จะสักให้ตึง แล้วใช้ เข็มสัก แทงตามรูปแบบพิมพ์นั้น ปากก็บริกรรมคาถาไปตลอดเวลาที่สัก เป็นการส่งกระแสถ่ายทอดพระเวทย์ลงไปในรูปยันต์นั้น ระยะเวลาสักยันต์ แล้วแต่รูปยันต์ที่สัก

ข้อห้ามสำหรับคนสักยันต์
๑. ห้ามผิดลูกเมียเขา
๒. ห้ามด่าบุพการี
๓. ห้ามกิน น้ำเต้า มะเฟือง
๔. ห้ามลอดไม้ค้ำกล้วย สะพานหัวเดียว
๕. ให้ถือศีล ๕ อย่างเคร่งครัด ทำแต่กรรมดี

ตัวเลขกับลายสัก การสักเป็นตัวเลขต่าง ๆ นั้น มีความหมายทั้งสิ้น เช่นการสักเป็น ตัวเลข ดังต่อไปนี้

เลข ๑ หมายถึง คุณแห่ง พระนิพพาน อันยิ่งใหญ่
เลข ๒ หมายถึง คุณแห่ง พุทโธ
เลข ๓ หมายถึง คุณแห่งแก้ว ๓ ประการ ( พระรัตนตรัย ) และอีกความหมายคือพระไตรปิฎก
เลข ๔ หมายถึง คุณแห่งมรรค ๔ ผล ๔, หมายถึงคุณแห่งพระโลกบาลทั้ง ๔, หมายถึงพรหมวิหาร ๔,
และหมายถึงพระฤาษีกัสสปะ
เลข ๕ หมายถึง คุณแห่งศีล ๕
เลข ๖ หมายถึง คุณแห่งไฟ หรือพระเพลิง, หมายถึงคุณแห่งพระอาทิตย์
เลข ๗ หมายถึง คุณแห่งลม หรือพระพาย
เลข ๘ หมายถึง คุณแห่งพระกรมฐาน, หมายถึงคุณแห่งศีล ๘, หมายถึงคุณแห่งพระอังคาร
เลข ๙ หมายถึง คุณแห่งมรรค ๔ ผล ๔ พระนิพพาน ๑, หมายถึงคุณแห่งพระเกตุ
เลข ๑๐ หมายถึง คุณแห่งครูบาอาจารย์, หมายถึงคุณแห่งอากาศ, หมายถึงคุณแห่งศีล ๑๐, หมายถึงคุณแห่งพระเสาร์ ๓๐ ทัศ
เลข ๑๒ หมายถึง คุณแห่งมารดา, คุณแห่งพระคงคา, หมายถึงคุณแห่งพระราหูถ
เลข ๑๔ หมายถึง คุณแห่งพระสังฆเจ้า
เลข ๑๕ หมายถึง คุณแห่งพระจันทร์
เลข ๑๗ หมายถึง คุณแห่งพระพุธ
เลข ๑๙ หมายถึง คุณแห่งพระพฤหัสบดี
เลข ๒๐ หมายถึง คุณแห่งพระเสาร์กำลังสอง
เลข ๒๑ หมายถึง คุณแห่งบิดา, หมายถึงคุณแห่งพระธรณี, หมายถึงคุณแห่งพระศุกร์
เลข ๓๓ หมายถึง คุณแห่งอักขระถ
เลข ๓๘ หมายถึง คุณแห่งพระธรรมเจ้า
เลข ๓๙ หมายถึง คุณแห่งพระแม่โพสพ หรือขวัญข้าว
เลข ๔๑ หมายถึง คุณแห่งอักษร หรืออักขระ
เลข ๕๖ หมายถึง คุณแห่งพระพุทธเจ้า
เลข ๒๒๗ หมายถึง คุณแห่งศีล ๒๒๗

การสักเป็นอักขระ นิยมสักกันเป็นอักษรภาษาขอม ที่เรียกว่าการสักขอมเป็นบาลี หรือจะสักเป็นภาษาอื่นๆ ก็ได้ การสักและการปลุกเสก เป็นพระคาถา ๑๐๘ หรือ พระคาถาหัวใจ ๑๐๘ มีดังนี้

หัวใจพระธรรม ๗ คัมภีร์ คือ สังวิชาปุกะยะปะ
หัวใจพระสูตร คือ ทีมะสังอังขุ
หัวใจพระวินัย คือ อาปามะจุปะ
หัวใจสัตตะโพชฌงค์ คือ สะธะวิปิปะสะอุ
หัวใจพระรัตนตรัย คือ อิสะวาสุ
หัวใจพาหุง คือ พามานาอุกะสะนะทุ
หัวใจพระพุทธเจ้า คือ อิกะวิติ
หัวใจปฏิสังขาโย คือ จิปิเสคิ
หัวใจพระไตรปิฎก คือ สะระณะมะ
หัวใจยอดศีล คือ พุทธะสังมิ
หัวใจธรรมบท ( เปรต ) คือ ทุสะนะโส
หัวใจปถมัง คือ ทุสะมะนิ
หัวใจอิธะเจ คือ อิทะคะมะ
หัวใจตรีนิสิงเห คือ สะชะฏะตรี
หัวใจสนธิ คือ งะญะนะมะ
หัวใจแม่พระธรณี คือ เมกะมุอุ
หัวใจยะโตหัง คือ นะหิโสตัง
หัวใจพระกุกกุสันโธ คือ นะมะกะยะ
หัวใจพระโกนาคมน์ คือ นะมะกะตะ
หัวใจพระกัสสป คือ กะระมะถะ
หัวใจสังคะหะ คือ จิเจรุนิ
หัวใจนอโม คือ นะอุเออะ
หัวใจไฟ คือ เตชะสะติ
หัวใจลม คือ วายุละภะ
หัวใจบารมี คือ ผะเวสัจเจเอชิมะ
หัวใจน้ำ คือ อาปานุติ
หัวใจดิน คือ ปะถะวิยัง
หัวใจวิรูปักเข คือ เมตะสะระภูมู
หัวใจพระปริตร คือ สะยะสะปะยะอะจะ
หัวใจพระนิพาน คือ สิวังพุทธัง
หัวใจยานี คือ ยะนิรัตนัง
หัวใจกรณีเมตตสูตร คือ เอตังสะติง
หัวใจวิปัสสนา คือ วิระสะติ
หัวใจมงคลสูตร คือ เอตะมังคะลัง
หัวใจอายันตุโภนโต คือ อานิชะนิ
หัวใจมหาสมัย คือ กาละกัญธามหาภิสะมา
หัวใจเสฎฐัน คือ เสพุเสวะเสตะอะเส
หัวใจปาฏิโมกข์ คือ เมอะมะอุ
หัวใจเพชรสี่ด้าน คือ อะสิสัตติปะภัสมิง
หัวใจศีลสิบ คือ ปาสุอุชา
หัวใจอริยสัจ ๔ คือ ทุสะนิมะ
หัวใจธรรมจักร์ คือ ติติอุนิ
หัวใจนิพพานจักรี คือ อิสะระมะสาพุเทวา
หัวใจทศชาติ คือ เตชะสุเนมะภูจะนาวิเว
หัวใจธาตุทั้ง ๔ คือ นะมะพะทะ
หัวใจธาตุพระกรณีย์ คือ จะภะกะสะ
หัวใจพระกรณีย์ คือ จะอะภะคะ
หัวใจปลายศีล คือ อิสะปะมิ
หัวใจกินนุสัตรมาโน คือ กะนะนะมา
หัวใจพระยายักษ์ คือ ภะยะนะยะ
หวัใจภาณยักษ์ คือ กะยะพะตัง
หัวใจอาวุธพระพุทธเจ้า คือ ปะสิสะ
หัวใจนะโม คือ นะวะอัสสะ
หัวใจกะขะ คือ กะยะนะอัง
หัวใจศีลพระ คือ พุทธสังอิ
หัวใจโลกทั้ง ๑๐ คือ โลกะวิทู
หัวใจยันต์ คือ ยันตังสันตัง
หัวใจขุนแผน คือ สุนะโมโล
หัวใจแค้ลวคลาด คือ อะหังติโก
หัวใจเกราะเพชร คือ ภูตากังเก
หัวใจจังงัง คือ กะระสะติ
หัวใจอิทธิฤทธิ คือ อะหังนุกา
หัวใจกาสัง คือ กาละถานุ
หัวใจพระภูมิ คือ กุมมิภุมมิ
หัวใจนิพพานสูตร คือ อะนิโสสะ
หัวใจแก้วสามประการ คือ มะติยาโน
หัวใจพระฉิมพลี คือ นะชาลีติ
หัวใจสัคเค คือ นะสะมิเห
หัวใจพระญาณรังษี คือ สะกะจะพาหุ
หัวใจสัมพุทเธ คือ สะทะปะโต
หัวใจคงคาเดือด คือ กะขะชะนะ
หัวใจพระเวสสันดร คือ สะระนะตะ
หัวใจพระวิฑูร คือ นะมะสังอิ
หัวใจพระมโหสถ คือ ปาสิอุอะ
หัวใจพระเตมีย์ คือ กะระเตจะ
หัวใจพนฃระภูริฑัต คือ มะสะนิวา
หัวใจพระสุวรรณสาม คือ อะวะสะทะ
หัวใจพระมหาชนก คือ ปะพะยะหะ
หัวใจวิปัสสิ คือ สะขิสะปิ
หัวใจพระมาลัย คือ พะลัยยะ
หัวใจพระยาร้อยเอ็ด คือ อิสิวิระ
หังใจพระยาหมี คือ สะปิระ
หัวใจทิพย์มนต์ คือ กะจะยะสะ
หัวใจงู คือ อะหิสัปโป
หัวใจเณร คือ สะสิสะอุอะวะสะหัง
หัวใจฆะเตสิก คือ ปะสิจะมิ
หัวใจพระยานาค คือ อะงะสะ
หัวใจพระยาม้า คือ สุกเขยโย
หัวใจพระยามัจจุราช คือ กาละมัจจุ
หัวใจพระยามาร คือ นุภาวโต
หัวใจสัตว์ คือ อันตะภาโวพะ
หัวใจท้าวเวสสุวรรณ คือ เวสสะพุสะ
หัวใจพาลี คือ หันตะนุภา
หัวใจองคต คือ พะหะวารา
หัวใจมดง่าม คือ กะสิตานะ
หัวใจไก่เถื่อน คือ ติวิกุกู
หัวใจเต่าเรือน คือ นาสังสิโม
หัวใจการเวก คือ การะวิโก
หัวใจราชสีห์ คือ สีหะทานัง
หัวใจพระเจ้า ๔ พระองค์ คือ นะกะอะปิ
หัวใจปลาไหลเผือก คือ อะยาเวยยะ
หัวใจ กอ.ขอ. คือ มอลอข้อโข
หัวใจอุณลุม คือ อุปะสัมปะ
หัวใจโจร คือ กันหะเนหะ
หัวใจปลวก คือ วะโมทุทันตานัง
หัวใจหนุมาน คือ ยะตะมะอะ, หรือ หะนุมานะ
หัวใจมนุษย์ คือ มะนุญญัง
หัวใจหญิง คือ จิตตังภคินิเม
หัวใจชาย คือ จิตตังปุริโส
หัวใจทรหด คือ นะหิโลกัง
หัวใจมหาอุจ(เขียนแบบเดิม) คือ อุทธังอัทโธ
หัวใจลิงลม คือ ยุวาพะวา, วิงวังกังหะ, หรือ จิขะจุติ

พระคาถายอดหัวใจ ๑๐๘ คือ นะโมพุทธายะ นะมะพะทะ จะภะกะสะ

ขอขอบคุณท่านเจ้าของภาพ เจ้าของข้อมูล และที่มาเนื้อหาข้อมูล

http://www.bp-th.org/

ประวัติหลวงพ่อเปิ่น วัดบางพระ

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: