1161. อิทธิฤทธิ์ สามเณรบุญนาค เที่ยวกัมมัฏฐาน ตอนที่ 4 (มีทั้งหมด 4 ตอน)

เศรษฐีจะยกลูกสาวให้

เมื่ออาตมภาพได้รับโอวาทของท่านแล้ว จึงขอลาท่านไปจำพรรษาอยู่ที่ ภูเขาฝ่ายพญานาค ในพรรษานั้นตั้งใจบำเพ็ญความสงบส่วนตัว ก็ได้ความสบายใจ
มิได้มีอุปสรรคอันหนึ่งอันใดเลย เมื่อออกพรรษาแล้วเที่ยวธุดงค์ไปจังหวัดมหาสารคาม ไปพักอยู่ที่บ้านแห่งหนึ่ง มีคนตระกูลหนึ่ง เขาเป็นคนมีทรัพย์พอสมควร
เขาก็นิมนต์ให้พักอยู่ที่ป่าช้าได้ ๒๐ วัน แกคนนั้นเป็นคนเข้าออกปฏิบัติทั้งลูกทั้งแม่

ครั้นต่อมา โยมคนนั้นจึงเล่าความเป็นอยู่ของเขาว่า “ผมก็แก่แล้ว การไปมาก็ไม่สะดวก และผมก็เป็นทุกข์อยู่อย่างหนึ่ง คือหากผมตายลงไป
กลัวจะไม่มีใครพาลูกของผมอยู่ เพราะมีลูกสาวคนเดียวเท่านั้น ทรัพย์สิ่งของก็มากมาย ไม่รู้ว่าใครจะมาช่วยรักษาและพาลูกของผมอยู่กินไปข้างหน้า

คนโดยมากไม่ตั้งอยู่ในศีลธรรม เป็นแต่นักเล่นถั่วเล่นโป และนักเลงสุรา หากจะเอาคนพวกนั้นมาปกครองรักษาทรัพย์ ก็เป็นอันว่าถึงความฉิบหายเท่านั้น
ท่านคุณเณรก็ดูยังน้อย ยังหนุ่มนัก ขอให้อยู่ไปนาน ๆ ก่อน อย่าได้เที่ยวไปทางอื่นอีก หรือหากจะสึกออกมาพ่อก็จะมอบสมบัติให้ครอบครอง”

อาตมภาพก็นั่งนิ่ง มิได้พูดคำหนึ่งคำใด ทำประดุจหนึ่งว่านั่งสมาธิ ดูเหมือนว่าแกมีความละอายขึ้นมา แล้วก็ลากลับขึ้นบ้าน ครั้นเมื่อค่ำลงวันนั้น
อาตมาจึงพิจารณาต่อไปว่า

“บัดนี้เรามีอายุเพียง ๒๐ ปีเท่านั้น บัดนี้เราหนุ่ม จะอยู่ในศาสนาไม่ตลอดชีวิต”

ครั้นพิจารณาเช่นนี้ ก็รู้สึกขึ้นมาทันทีว่า บัดนี้จิตของเราเอนเอียงไปตามความชักนำของโยมคนนั้น ครั้นระลึกขึ้นได้ก็ทำประดุจหนึ่งว่าขู่จิตของตนว่า
“เราปฏิบัติหาทางพ้นทุกข์ก็เป็นเวลา ๗ ปีนี้ เรื่องอะไรหนอจะมาอาลัยกับมาตุคามอยู่เช่นนี้ อย่าเลยนะ สถานที่นี้เป็นอัปมงคลแล้ว
เราควรไปเสียเดี๋ยวนี้แหละจะดีกว่า” ครั้นพิจารณาแล้วก็หลบหนีไปในคืนวันนั้น

คืนสู่ป่าเพื่อดัดใจ
ครั้นเดินไปตามทางกลางคืนวันนั้น ตั้งใจพิจารณาว่า “เจ้าวิชาอยู่ลุ่มลึกยิ่งนัก มาทำความวิจิกิจฉา สงสัยมิเข้าเรื่องเข้าการ อย่าเลยนะ
เราจะต้องเข้าป่าเข้ารกเพื่อดัดสันดานความลุ่มหลงนี้ให้แยบคายลงไป” ครั้นเมื่อพิจารณาตกลงเช่นนั้น ก็เที่ยวเข้าไปหาที่สงบ อีก ๕ วันถึงแม่น้ำโขง
แล้วก็เดินไปตามภูเขา อาศัยบิณฑบาตฉันตามบ้านเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่มีอยู่ตามชายเขา อีก ๓ วันถึงภูเขาคง แขวงเมืองคำทอง

ก็พักทำความเพียรอยู่ที่ถ้ำแห่งหนึ่งชื่อ ถ้ำสองห้อง และพักจำพรรษาอยู่ที่นั้น ในกลางพรรษานั้น บำเพ็ญทรมานอดข้าว ๗ วันฉันหนหนึ่ง จนตลอดพรรษา
ในเดือนแรกนึกว่าชีวิตนี้จะตั้งอยู่ไม่ตลอด ๓ เดือน เพราะมีอาการเหน็บชาไปทั่วร่างกาย

ครั้นถึงวันคำรบ ๗ ก็ฉันข้าว ขณะที่ฉันลงไปประมาณครึ่งอิ่ม เกิดอาการอยากนอนขึ้นมา ครั้นฉันจนอิ่มก็มีอาการมืดหน้ามืดตา ถึงจะลืมตาอยู่ก็มองไม่เห็นอะไร
มืดไปหมด ถึงจะลืมตาดูตะวันก็ไม่เห็นตะวัน อยากแต่จะนอนเสียให้ได้ เมื่อนอนอิ่มหนึ่งแล้วตื่นนอนขึ้นมา จึงมองเห็นอะไรต่ออะไรได้

ครั้นต่อมาเดือนที่ ๒ ก็ทำอย่างนั้นเรื่อยไป คือ ๗ วันฉันหนหนึ่ง ถึงวันคำรบ ๗ แล้วก็ออกบิณฑบาตมาฉัน ครั้นฉันก็มีรสดี แต่ฉันมากไม่ได้
ถ้าฉันมากจะอาเจียนออกมาหมด แต่ไม่ถึงกับมืดหน้ามืดตาเหมือนอย่างแต่ก่อน จากนั้นก็อุตส่าห์บำเพ็ญต่อไป

ในระหว่างนั้น วันไหนยังไม่ถึงวันกำหนดฉัน ตื่นขึ้นแต่เช้ารู้สึกเหน็บชาตั้งแต่ปลายเท้าจนถึงหนังศีรษะ แต่ก็ทำต่อไปจนตลอดพรรษา
ร่างกายรู้สึกซีดผอมเหี่ยวแห้งมาก ออกพรรษาแล้วก็กลับมาฉันทุกวัน ได้ ๑๖ วัน ปรากฏมีเหงื่อชุ่มปลายเท้า ปลายมือ และริมฝีปาก
ส่วนผิวหนังก็หุบเหี่ยวเปราะลอกออกได้ยาว ๆ ตามหลังมือ หรือข้อศอก ผิวหนังที่ลอกออกมามองใส่ตะวันเห็น รูขนเป็นแถว ๆ

ได้พิจารณาเป็นอนิจจัง ดวงชีวิตยังตั้งอยู่ภายในกายนี้ แต่ผิวหนังที่ลอกออกมานี้ เขาตายไปแล้วจากความเป็นอยู่แห่งชีวิต
ครั้นพิจารณาดังนี้ก็เกิดความสังเวชขึ้นมาก รู้สึกจิตดิ่งลงไปตั้งอยู่เป็นปกติ

 

นิมิตว่าจะได้บวชพระ

จากนั้นไปก็พิจารณาความสงบอันนั้นให้นิ่งอยู่ นิมิตปรากฏเห็นช้างสารใหญ่ ๒ ตัว เข้ามาจับทั้งตัวของอาตมภาพขึ้นนั่งบนหลัง แล้วพาขึ้นไปบนภูเขา สูง ๆ
คว้าเอาผ้าไตรจีวรมาวางลงที่ไหล่ขวาแห่งอาตมภาพ แล้วก็ยกลงวางไว้ที่บนก้อนหินที่ยอดภูเขา จากนั้นก็รู้สึกตัว นั่งสมาธินิ่งอยู่ที่ก้อนหิน
พิจารณาต่อไปว่านี้เรื่องอะไร ได้ความว่า การอุปสมบท เป็นพระของเรา ผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายท่านจะโปรดอนุเคราะห์ จากนั้น อาตมภาพก็เที่ยวธุดงค์
มาจากเมืองคำทอง ดินแดนของฝรั่งเศส เรื่อยมาถึงกรุงเทพฯ เมื่อเดือน ๔ ขึ้น ๘ ค่ำ พ.ศ. ๒๔๗๕

เข้ากรุง
ครั้นมาถึงในวันนั้น พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพรหมมุนี จึงเรียกเข้าไปถามว่า “เณรนี้หรือที่ถูกเจ้าคณะแขวงจังหวัดกาฬสินธุ์กักตัว”
อาตมภาพก็รับตามเป็นจริง ท่านจึงจับมือไปดูลายลักษณะที่มีอยู่ในฝ่ามือ แล้วท่านก็สั่งว่า “จงหัดนาคเสีย ถึงเวลาอุปสมบทแล้ว”
ครั้นวันหลังก็สั่งไปกับแม่ชีเป๋าว่า “เรียนท่านที่วังให้ทราบ อาตมาจะบวชพระรูปหนึ่ง หวังว่าคงไม่เหลือวิสัย”

จากนั้นคุณเป๋าก็มาเรียนพระเดชพระคุณท่านที่วัง พระคุณท่านที่วังก็รับอนุเคราะห์จัดการสมณบริขาร อุปสมบทอาตมภาพเป็นภิกษุในศาสนา เมื่อ เดือน ๕ ขึ้น ๕
ค่ำ ในปี พ.ศ. นั้น ครั้นบวชแล้วก็อยู่ ในกรุงเทพฯ นี้ไม่กี่วัน

คืนสู่โคราช
เดือน ๕ ข้างแรม ท่านเจ้าคุณก็นำตัวของ อาตมภาพกลับไปที่โคราช อาตมภาพได้จำพรรษาที่ วัดป่าช้าสาลวัน จังหวัดนครราชสีมานั้น
ออกพรรษาแล้วอาตมภาพก็เที่ยวลงมาทางพระบาทสระบุรี เตลิดเข้ามาที่กรุงเทพฯ นี้ อยู่ ๘ วัน อาตมภาพก็ขอเจริญพรลา พระเดชพระคุณโปรดช่วยอนุเคราะห์ค่าโดยสารรถ
เสร็จแล้วอาตมภาพก็กลับไปจำพรรษาที่ “วัดป่าสาลวัน” ของคณะอาจารย์สิงห์ที่โคราชอีก

ในระหว่างกลางพรรษาที่ ๒ เกิดโรคเหน็บชา อ่อนเพลีย บางวันก็ไปบิณฑบาตไม่ได้ บางวันก็ไปได้ หายาที่ไหนมาฉันก็ไม่หาย นึกรำคาญใจขึ้นมา
ก็นึกว่าจะไม่ฉันอาหารเสียเลย ให้มันตายเสียดีกว่าจะอยู่เป็นทุกข์ไปอีกหลายวัน.

คาถาประจำตัวของ พระอาจารย์นาค โฆโส

สะริตวา ปุพพะเก ชิเน
สัจจะพะละมะวัสสายะ
สัจจะกิริยะมะกาสะหัง
สันติ ปักขา อะปัตตะนา
สันติ ปาทา อะวัญจะนา
มาตา ปิตา จะ นิกขันตา

ชาตะเวทะ ปะฏิกกะมะ ฯ

หมายเหตุ มาจาก วัฏฏะกะปริตร (คาถานกคุ่ม) แปลว่า “ข้าระลึกถึงพระชินเจ้าทั้งหลายในปางก่อน อาศัยกำลังสัจจะขอทำสัจกิริยา
ปีกทั้งสองของข้ามี แต่ยังบินไม่ได้ เท้าทั้งสองของข้ามี แต่ยังเดินไม่ได้ แม่และพ่อของข้าก็บินหนีไปเสียแล้ว จงถอยไปเถิด..ไฟป่า! ”

****************************

เป็นอันว่า หนังสือประวัติ “สามเณรบุญนาค เที่ยวกัมมัฏฐาน” ก็จบลงเพียงแค่นี้ พยายามติดตามหาประวัติตอนต่อไป
หลังจากที่ท่านได้อุปสมบทแล้ว ปรากฏว่าหาไม่พบเลย จึงขอยุติไว้เพียงแค่นี้ ส่วนข้อปฏิบัติของท่าน ที่มีความแน่วแน่อุตสาหะอย่างไร
อันเป็นแนวทางพอที่ปฏิบัติตามได้ ก็ขอให้เลือกทำไปตามอัธยาศัยเถิด.

ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก : tamroiphrabuddhabat
ขอขอบคุณรูปภาพสวยๆจาก : คติธรรม
นำเสนอโดย : แอพเกจิ – AppGeji

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: