3734. รูปหล่อรุ่นประดิษฐ์ ลิ้มประยูร (ไพฑูรย์ พันธุ์เชื้องาม)

รูปหล่อรุ่นประดิษฐ์ ลิ้มประยูร (ไพฑูรย์ พันธุ์เชื้องาม)

“อาชญากร” เป็นคำที่ทำให้คนๆหนึ่งกลายเป็นคนทมิฬหินชาติ เป็นคนที่สังคมรังเกียจแน่นอน เหรียญย่อมมีสองหน้า แต่คำว่าอาชญากรคือเหรียญด้านเดียวที่ถูกมองโดยมิได้มองอีกด้านหนึ่งอันเป็นต้นเหตุของการเป็นอาชญากร หาได้มีผู้ใดมองไม่ ทั้งนี้เพราะคำพิพากษาของศาลท่านพิจารณาตามหลักฐานพยานของเจ้าพนักงานตำรวจ ผ่านอัยการผู้คัดกรองก่อนจะนำสำนวนขึ้นฟ้องร้องต่อศาล เมื่อศาลประทับรับฟ้องถือว่าคดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามหลักนิติศาสตร์

ตำรวจนั่นแหละคือผู้ทำคดีในประเทศไทยแต่เดิมมา ถือว่าตำรวจเป็นผู้ตรวจสอบหลักฐานพยานทุกอย่างตั้งแต่ต้นจนจบ พูดได้ว่าตำรวจสอบสวน กระทำการรวบรวมหลักฐาน พยาน แล้วทำสำนวนส่งถึงอัยการ ทุกอย่างอยู่ในมือตำรวจหากตำรวจทำเกินกว่าเหตุวิสามัญไม่สมเหตุสมผล ตำรวจทำการตรวจศพตรวจหาวัตถุพยานและทำสำนวนเมื่อสำนวนถูกส่งถึงอัยการสำนวนแข็งยืนยันตามขั้นตอนว่า เป็นการวิสามัญฆาตกรรมสมควรแก่เหตุ อัยการก็แทงเรื่องสั่งไม่ฟ้องยุติกันแค่นั้น

แม้ญาติผู้ตายจะข้องใจจะขอให้ทำการชันสูตรใหม่ ก็ต้องส่งไปกองนิติเวชวิทยาซึ่งเป็นหน่วยงานสังกัดกรมตำรวจอีก มันก็เข้าอีหรอบเดิม แบบว่าถ้าตำรวจไม่ช่วยตำรวจแล้วจะไปช่วยใครที่ไหนเมื่อมีการร้องเรียนหนักเข้า ทางกระทรวงยุติธรรมจึงต้องหาทางช่วยเหลือราษฎร ที่มีเรื่องกับตำรวจด้วยการตั้งหน่วยงานผู้เชี่ยวชาญด้านการนิติเวชที่เป็นพลเรือนสังกัดกระทรวงยุติธรรมขึ้นมาเรียกว่า “แผนกนิติวิทยาศาสตร์” ที่มีคุณหมอพรทิพย์ โรจนสุนันท์ เป็นผู้อำนวยการ หน่วยนี้เป็นที่เล่าลือทำให้หน่วยนิติเวช กรมตำรวจสั่นสะเทือน

คดีแรกคดีแม่ลูกตระกูลศรีธนขันธ์ ขับรถเบนซ์ตัดหน้ารถบรรทุกถูกชนคอหักตายคารถ ตำรวจนิติเวชลงความเห็นว่าตายด้วยอุบัติเหตุ แต่พี่ชายของผู้ตายสงสัยสภาพศพจึงร้องเรียน แล้วขอให้คุณหมอพรทิพย์เข้ามาทำการพลิกตะเข็บชันสูตรใหม่ตามหลักนิติวิทยาศาสตร์ แย้งกับแผนกนิติเวช กรมตำรวจ คดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาล ปรากฏว่าหมอพรทิพย์ขึ้นให้การเป็นพยานฝ่ายโจทก์ สามารถหักล้างสำนวนของแผนกนิติเวชได้ทุกข้อ

ศาลาพิจารณาแล้วเห็นว่าผู้ตายมิได้ตายจากอุบัติเหตุ แต่ตายก่อนหน้านั้น แล้วนำศพมาจัดฉากให้เหมือนอุบัติเหตุ ทำให้ตำรวจที่เกี่ยวข้องถูกศาลตัดสินจำคุกตามโทษานุโทษไปทั่วหน้า

ตามมาด้วยการวิสามัญฆาตกรรมคนร้ายที่ร้านอาหาร ป.กุ้งเผา รัตนาธิเบศร์ ที่คุณหมอพรทิพย์สามารถพิสูจน์ได้ว่า มีการเอาศพมาวิสามัญจนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในที่สุด

ไพฑูรย์เคยบอกว่านับแต่ปี พ.ศ. 2480 ไม่เคยมีแผนกนิติวิทยาศาสตร์มีแต่ตำรวจทำการชันสูตรทำสำนวน ทุกคดีตำรวจลอยตัว ยิ่งยุคตำรวจครองเมืองเมื่อพระกล้ากลางสมรมีอำนาจล้นคุก หรือตอนที่ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ เป็นอธิบดีกรมตำรวจเป็นผู้บัญชาการหน่วยรบของตำรวจที่เรียกกันว่า “สิงห์เชิ้ตดำ” มีกำลังอาวุธทันสมัย มีรถถังรถหุ้มเกราะทัดเทียมกับทหารที่มี พ.อ.สฤษดิ์ ธนรัตน์ เป็น ผบ.ทบ.และมีอัศวินแหวนเพชร 4 นาย ยศพันตำรวจเอกเป็นมือเพชฌฆาต นักการเมืองฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล

นักการเมือง เช่น 4 รัฐมนตรีถูกฆ่า นักหนังสือพิมพ์ปากกาคม เช่น นายอารี ลีวีระถูกฆ่ารัดคอ ยุคนั้นไพฑูรย์อยู่ในคุกได้ยินแต่ข่าวเก๋งดำเป็นพาหนะที่พานักการเมืองและฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลไปกองปราบ แล้วไม่เคยได้กลับมาอีกเลย หลายคนกลายเป็นศพข้างถนน หลายคนหายสาบสูญไป แม้แต่หัจญี สุหรง โต๊ะมีนา ผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวมุสลิมทั้งมวลใน 4 จังหวัดภาคใต้ก็กลายเป็นศพไร้ร่องรอยขณะข้ามทะเลสาบสงขลา ก็ล้วนเป็นฝีมือของนักฆ่าในเครื่องแบบทั้งสิ้น

ต่อมามีการรื้อฟื้นคดีและจบลงไปหมด ไพฑูรย์บอกว่า ถ้ามีแผนกนิติวิทยาศาสตร์ในคราวที่เขาดวลปืนกับขุนตระเวนฯ ชีวิตของเขาคงไม่ต้องเป็นอาชญากรที่มีโทษประหารกับโทษจำคุกอีก 100 กว่าปีเป็นแน่ แต่ทุกอย่างที่ผ่านมาไพฑูรย์ถือว่าเป็นกรรมที่ตนเองสร้าง และดาวโจรในดวงตกฟากเป็นเหตุให้เป็นไปแล้วสบายใจ หากไม่เป็นเสือไพฑูรย์ก็คงจะเป็น นายพันทหารพระธรรมนูญที่เกษียณอายุในตอนแก่ไม่มีเรื่องที่จะมาเขียนเพื่อเลี้ยงชีวิตดังที่เป็นอยู่ (และคงไม่มีตำนานเรื่องเล่าให้เเฟนเพจได้อ่าน)

ไพฑูรย์รำลึกถึงผู้อำนวยการสำนักพิมพ์จินดาสาสน์ และ บ.ก.บริหารนิตยสารมหัศจรรย์ที่ได้ลงตีพิมพ์อย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นเรื่องราวที่เล่าขานถึงหลวงพ่อเดิม เทพเจ้าแห่งเมืองสี่แคว ที่ไพฑูรย์ให้ความเทิดทูนไว้เท่าชีวิตด้วยรอยเท้า ด้วยมีดหมอ คุ้มชีวิตเขาให้รอดคอหอกคมดาบลูกปืนมาทุกครั้ง

อีกคนหนึ่งที่อดจะกล่าวถึงเสียมิได้ก็คือ ประดิษฐ์ ลิ้มประยูร พนักงานขับรถไฟ แชมป์มวยสากลเสื้อสามารถแห่งประเทศไทย ที่เป็นศิษย์หลวงพ่อเดิมรุ่นน้องของไพฑูรย์ที่ได้รู้จักกันเมื่อตอนที่ไพฑูรย์ถูกจับกุมตัวมาแต่จังหวัดเชียงใหม่ถูกควบคุมตัวส่งมายังกรุงเทพฯ ประดิษฐ์ ลิ้มประยูรให้พนักงานขับรถผู้ช่วยคุมหัวรถจักรแล้วเดินมาขออนุญาตตำรวจมาพูดคุยกับไพฑูรย์

“นี่หรือคือไพฑูรย์ พันธุ์เชื้องาม ผมได้ยินหลวงพ่อพูดถึงว่าเป็นศิษย์หลวงพ่อรุ่นก่อนผม สวัสดีครับพี่ไพฑูรย์ ไม่นึกเลยว่าจะพบกับพี่ในลักษณะเช่นนี้เลย”

“ประดิษฐ์ ลิ้มประยูร พนักงานขับรถกระดูกเหล็ก แชมป์มวยสากลเสื้อสามารถแห่งประเทศไทย ผู้เล่นกล้ามด้วยการยกบาร์เบลที่ทำจากล้อรถไฟ พี่มันทำกรรม น้องอย่าได้มาเป็นแบบนี้เลย มันไม่น่าดูหรอก การถูกล่ามด้วยโซ่ตรวนแบบนี้”

“ผมไม่ถือหรอกครับ หลวงพ่อเคยพูดเสมอว่า ศิษย์หลวงพ่อเมื่อเป็นศิษย์หลวงพ่อนั้นเป็นคนดีแต่ด้วยกรรมเก่าเท่านั้นที่ทำให้เป็นไป แต่ถึงอย่างไรทุกคนก็เป็นศิษย์ของเท่าเทียมกันทั้งหมดเพียงแต่ก่อนหลังเท่านั้น”

“แค่นี้ก็ขอบใจแล้วคุณประดิษฐ์ ยินดีที่ได้พบศิษย์ร่วมอาจารย์เดียวกัน”

หลังจากที่ไพฑูรย์ออกจากคุกมาแล้ว ได้เดินทางไปจังหวัดตากบ้านเกิด และได้เดินทางต่อไปยังจังหวัดเชียงใหม่เพื่อเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ ได้พบประดิษฐ์ ยิ้มประยูรที่ได้ไปตั้งรกรากอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ไพฑูรย์คลับคล้ายคลับคลา แต่ประดิษฐ์จำได้แม่นยำได้เข้ามาทักทาย และนำไพฑูรย์ไปที่บ้านพักเพื่อสังสรรค์ ประดิษฐ์ได้เล่าให้ไพฑูรย์ฟังว่า

ในขณะที่ทำหน้าที่ขับรถจักรวิ่งระหว่างเชียงใหม่-กรุงเทพฯ ได้มีการหยุดขบวนรถไฟไว้ที่สถานีเด่นชัย เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ขึ้นมาตรวจค้นตู้สินค้าที่พ่วงมาด้วยปรากฏว่าพบฝิ่นสุกอยู่ในเข่งหลายเข่งแต่ไม่พบเจ้าของเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตรวจดูหลักฐานของใบรับของไม่ปรากฏผู้ส่ง แต่ได้เรียกพนักงานขับรถ คือ ประดิษฐ์ ลิ้มประยูร ไปให้ปากคำ และได้ให้พนักงานรับส่งพัสดุของการรถไฟที่สถานีต้นทางเชียงใหม่มาสอบปากคำ

ปรากฏว่าสำนวนของตำรวจได้ตั้งข้อหาประดิษฐ์ ลิ้มประยูรในข้อหาร่วมกันกับพวกที่ยังหลบหนีทำการขนฝิ่นสุก แต่ประดิษฐ์ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ตำรวจจึงควบคุมตัวไว้เพื่อนำส่งอัยการ เพื่อนำตัวส่งฟ้องศาล ในระหว่างนั้นถูกถูกขังอยู่คุกคลองเปรมเก่า ที่ปัจจุบันได้รื้อทำเป็นสวนสาธารณะและพิพิธภัณฑ์กรมราชทัณฑ์ ประดิษฐ์ไม่มีเงินพอจ้างทนายความ จึงให้ภรรยานำจดมายขออนุญาตสร้างรูปหล่อบูชาขนาดหน้าตัก 5 นิ้วของหลวงพ่อเดิมเพื่ออกให้บูชาหารายได้มาจ้างทนาย

หลวงพ่อเดิมท่านรู้ด้วยญาณว่า ประดิษฐ์ บริสุทธิ์จึงเขียนใบอนุญาตด้วยลายมือของหลวงพ่อเดิมมามอบให้กับประดิษฐ์(ใบอนุญาตลายมือหลวงพ่อเดิมปัจจุบันลูกสาวของประดิษฐ์ ลิ้มประยูรเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี) มีช่างปั้นฝีมือดีที่เป็นนักโทษ เป็นผู้ปั้นหุ่นจากภาพถ่ายหลวงพ่อเดิมโดยที่ฐานด้านหน้ามีอักษรระบุว่า “หลวงพ่อเดิม” ด้านหลังมีอักษรระบุว่า “วัดหนองโพ ประดิษฐ์ ลิ้มประยูรสร้าง 2490” ทำการเข้าหุ่นทันในคุกคลองเปรม

บรรดาลูกศิษย์ของหลวงพ่อเดิมช่วยกันกระจายข่าว มีผู้ให้เงินสั่งจองกันจนภรรยาคุณประดิษฐ์ ผู้รับรองรวบรวมเงินหลังจากหักค่าใช้จ่ายเงินแล้วเป็นค่าทนายความ การพิจารณาคดีดำเนินไป จนในที่สุดประดิษฐ์ ลิ้มประยูรก็ได้รับอิสรภาพ ศาลพิพากษาให้ยกฟ้องปล่อยตัวจำเลย เพราะพยานหลักฐานฝ่ายโจทก์ ไม่เพียงพอที่ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยได้ ให้ยกประโยชน์ให้จำเลย

ประดิษฐ์ขึ้นไปกราบหลวงพ่อเดิมที่วัด หลวงพ่อเดิมรดน้ำมนต์ให้แล้ว กล่าวกับประดิษฐ์ว่าคนดีต้องรอดพ้นจากน้ำมนต์คนชั่วทำดีต้องได้ดี รูปหล่อส่วนหนึ่งได้นำมามอบให้หลวงพ่อเดิม เพื่อให้ประชาชนบูชานำเงินไปสร้างโบสถ์วิหาร ตามที่หลวงพ่อได้รับปากเป็นประธานเอาไว้

ไพฑูรย์ได้ถามว่า เหตุใดจึงถวายตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อเดิม ประดิษฐ์เล่าว่าวันนั้นเขาทำหน้าที่พนักงานขับรถธรรมดาสายกรุงเทพฯ-เด่นชัย ซึ่งเป็นเพียงขบวนเดียวที่จะจอดในสถานีหนองโพ วันนั้นรถเคลื่อนออกจากสถานีหนองโพ แต่ปรากฏว่าล้อหมุนฟรีเคลื่อนที่ไปไม่ได้ ขณะที่ล้อฟรีนั้นได้สังเกตว่า มีพระภิกษุรูปหนึ่งเดินมายกมือคล้ายจะโบกให้รถอย่าเพิ่งเคลื่อนออก แต่ประดิษฐ์เดินเครื่องไปแล้ว เมื่อรถไฟไม่เคลื่อน พระภิกษุรูปนั้นจึงก้าวเท้าขึ้นไปบนตู้โดยสาร พอท่านขึ้นไปได้ล้อที่ฟรีก็ทำงานเป็นปกติ รถจักรเคลื่อนที่ต่อไปได้

ประดิษฐ์รู้สึกแปลกใจจึงให้พนักงานขับรถผู้ช่วยควบคุมหัวรถจักรแทน แล้วเดินมาที่ตู้โดยสารก็พบว่า มีผู้คนแออัดกันเข้าไปกราบพระภิกษุชรา ที่ทำให้รถไฟล้อหมุนฟรี ให้ท่านเป่ากระหม่อมให้ ประดิษฐ์แหวกเข้าไปจนถึงแล้วกราบเท้าพระภิกษุรูปนั้นถามท่านว่า

“หลวงพ่อนามใด อยู่วัดไหนขอรับ”

“อาตมาชื่อเดิม ฉายาพุทธสโร อยู่วัดหนองโพ สถานีที่โยมเพิ่งออกรถมาเมื่อครู่ใหญ่นี้ อาตมามีแขกมากจึงมาช้า เคราะห์ดีที่โยมมีน้ำใจหยุดรถรอให้อาตมาขึ้นโดยสารได้ อาตมาจะไปทับคล้อ เขานิมนต์ไปเป็นประธานสร้างโบสถ์

นับแต่นั้นมา ประดิษฐ์ได้ไปนมัสการ และมอบตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อเดิม และเป็นหัวแรงสร้างเหรียญหลวงพ่อเดิมทำบุญอายุปี พ.ศ. 2482 กับวัตถุมงคลหลายอย่างเพราะได้เห็นอภินิหารที่หลวงพ่อหยุดรถไฟให้เขาเห็นกับตานั่นเอง ไพฑูรย์อำลาประดิษฐ์กลับกรุงเทพฯ ก่อนอำลาประดิษฐ์บอกว่า

“มีเวลาว่างให้แวะมาเชียงใหม่ มาคุยกันบ้างก็แล้วกันพี่ไพฑูรย์”

(ของดีของขลังทั้งหลายกันได้ทุกอย่าง ยกเว้นอย่างเดียวคือกันตาย ทุกอย่างล้วนเป็นไปตามกฏแห่งกรรม ทุกคนไม่ว่าใครก็ต้องตายต้องพลัดพรากจากสิ่งที่รักทั้งนั้น สิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้นมาแล้วย่อมตั้งอยู่และดับไปเป็นธรรมดา พึ่งทำกรรมดีไว้มากๆเถิด จะได้มีความสุขทั้งโลกนี้และโลกหน้า)

ขอขอบคุณรูปภาพสวยๆจาก : ตรี ปากน้ำโพธ์
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก : นักเลง โบราณ ตำนานหนังเหนียว

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: