2569.เรื่องเล่าอาจารย์ฟ้อน ดีสว่าง

ประวัติเต็ม
ประวัติบูรพาจารย์อาจารย์ฟ้อน ดีสว่าง

โดย หมอประยูร จิตรโสภี

ข้าพเจ้า ขอเล่าเท่าที่เคยรู้เคยเห็นด้วยตนเอง และ ทราบจากศิษย์รุ่นอาวุโส

ผู้เล่า หมอประยูร จิตรโสภี เกิดที่บ้านตำบลช้างน้อย อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นบุตรคนที่ 4 ของคุณพ่อหมอขาว คุณแม่สมบุญ จิตรโสภี มีพี่น้องรวมกัน 6 คน ด้วยกัน เป็นชาย 2 และหญิง 4 คน ต้นตระกูลจิตรโสภีเป็นแพทย์แผนโบราณสืบทอดกันมาจนถึงข้าพเจ้า และลูกหลานจนถึงปัจจุบัน

ข้าพเจ้า ได้รับอนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุข ให้เป็นผู้ประกอบโรคศิลปแผนโบราณ ตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม 2478 ข้าพเจ้า ได้มาอยู่ที่ภาคอีสานหลายจังหวัด เมื่อปี 2480 จึงได้มายึดภูมิลำเน่าตั้งถิ่นฐานอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา รับราชการ ณ เทศบาลเมืองนครราชสีมา และประกอบอาชีพส่วนตัว

ได้สมรสกับ นางสาว(แตงอ่อน)อ่อนศรี จิตรโสภี บุตรสาวคนเดียวของคุณพ่อเล็ก คุณแม่สมบุญ ประพิณอักษร ทนายความผู้มีชื่อเสียงของจังหวัดนครราชสีมา และได้เปิดร้านขายยาแผนโบราณ และรับตรวจรักษาโรคแผนโบราณ ตั้งแต่ปี 2484 จนถึงปัจจุบัน

เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2490 เป็นผู้สืบทอดเจตนารมณ์ และ ถ่ายทอดวิชชาความรู้ ของท่านพ่ออาจารย์ฟ้อน ดีสว่าง บูรพาจารย์มอบให้แก่ผู้ที่สนใจศรัทธาที่จะเรียนรู้

เมื่อต้นเดือน มีนาคม 2487 ณ ที่นี้ข้าพเจ้าขอเรียก ท่านพ่ออาจารย์ฟ้อน ดีสว่าง บูรพาจารย์ว่า “ท่าน” มีศิษย์เก่าของท่านผู้หนึ่ง ได้มาชักชวนข้าพเจ้าไปเรียนวิชาจากท่าน เพราะวิชาของท่านเป็นวิชาที่ช่วยตนเองและผู้อื่นได้ เหมาะกับอาชีพของข้าพเจ้าซึ่งเป็นแพทย์แผนโบราณ

ในขณะนั้นท่านได้มาพักอยู่ที่เรือนว่างของศาลเจ้าแม่ทับทิม ถนนโพธิ์กลาง ใกล้กับร้านขายยาของข้าพเจ้า ศิษย์ที่มาชักชวนเป็นผู้ที่นับถือชอบพอกับครอบครัวของข้าพเจ้ามาก ตามปกติข้าพเจ้าเป็นคนชอบศึกษาวิชาทางนี้มาตั้งแต่เดิมแล้ว สมัยยังเป็นหนุ่ม ๆ มีเพื่อนฝูงมากใครว่าอาจารย์ที่ไหนดีเป็นต้องไปหา แต่โดยส่วนมากทุกอาจารย์ที่ผ่านมา ท่านทำให้เฉพาะตัวเองเท่านั้น สักด้วยหมึกบ้าง ลงกระหม่อมบ้าง ฝังเข็มบ้าง ไม่ได้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อผู้อื่น ข้าพเจ้าจึงเกิดความสนใจขึ้นเป็นพิเศษ ตกลงบอกกับศิษย์ของท่าน ข้าพเจ้าขอสมัครเป็นศิษย์ของท่านด้วยความเคารพ

เขาจึงแนะนำให้ข้าพเจ้า จัดเครื่องบูชาครู ซึ่งมีดังนี้
1. ผ้าขาวอย่างดี 3 เมตร
2. ผ้าเช็ดหน้าสี่เหลี่ยมสีขาว 1 ผืน
3. มีดปลายแหลม (มีหมอ) ขนาดพอเหมาะ 1 เล่ม
4. เทียนบริสุทธิ์หนัก 1 บาท 1 ก้อน
5. เทียนบริสุทธิ์ ธูปหอม ดอกไม้ อย่างละ 2 ชุด
6. เงินค่าครู ตามแต่ท่านจะบอก (ตามขั้นตอนในการเรียน)

เมื่อจัดเครื่องบูชาครูให้ครบแล้ว เขาก็ไปกราบเรียนให้ท่านทราบ ว่าข้าพเจ้าและภรรยา จะมาขอเป็นศิษย์ เมื่อท่านอนุญาตแล้ว เขาจึงพาข้าพเจ้า พร้อม ภรรยาของข้าพเจ้า ไปกราบท่าน พร้อมเครื่องบูชา ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นและรู้จักท่านมาก่อน ตลอดทั้งพิธีรับศิษย์ก็ไม่เคยทราบเลย วันนั้นมีไปขอเรียนเพียง 2 คน เมื่อข้าพเจ้าและภรรยา ได้มองเครื่องบูชาครูให้ท่านแล้ว ท่านก็ได้พูดคุยไต่ถามถึงเรื่องอะไรต่าง ๆ อยู่นานพอสมควร

วันนั้น ตรงกับวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ.2487
ท่านเริ่มพิธีรับศิษย์ โดยท่านนำผ้าเช็ดหน้าของแต่ละคน ทั้งสองผืน มาคลี่วางตรงหน้าของท่านแล้วนำแก้วเล็กวงลงบนผ้าเช็ดหน้า และ มีดลายแหลม (มีดหมอ) รวมทั้งมีดอีก 2 เล่ม ด้วยและมีปังตอของท่านอีกด้วย แล้วท่านก็หยิบมีดโกนมาสะบัดคม ข้าพเจ้าชักใจไม่ค่อยดี ขยับตัวออกห่างจากท่านนิดหน่อย (เพราะข้าพเจ้าเคยพบอาจารย์บางท่านชอบลองศิษย์ด้วยมีด ฟันบ้าง แทงบ้าง ข้าพเจ้าเคยถูกลองมาแล้ว)

ขณะนั้นข้าพเจ้าระวังตัว และจับตาดูท่านตลอดเวลา พอท่านสะบัดมีดโกนแล้ว ท่านก็แลบลิ้นของท่านออกมาแล้วใช้มีดโกนเฉือนลิ้นของท่าน แล้วตามด้วยมีดปลายแหลมทีละเล่มแทงที่เพดานในปากของท่าน แล้วใช้มีดปังตอ ตอกด้ามมีดปลายแหลม เสียงกระทบดัง เพล๊ง ๆ เพล๊ง ๆ เพล๊ง ๆ เป็นจังหวะทีละเล่ม และมีดปลายแหลมติดอยู่ที่เพดานในช่องปากของท่าน ปล่อยให้เลือดไหลออกมาตามมีด และหยดลงในแก้วเล็กที่รองรับไว้ แล้วท่านก็สะบัดมีดออกจากเพดานในปากของท่าน

ท่านทำจนครบมีดหมดทุกเล่ม แล้วท่านพ่นเลือดลงบนผ้าเช็ดหน้าทั้งสองผืน และเอาผ้าเช็ดหน้าประสานแผลเพดาน เสร็จแล้วก็อมน้ำบ้วนปาก อมบ้วน 3 ครั้ง เลือดหยุดแผลติดสนิทเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น แล้วท่านก็เอาเลือดที่รองไว้ในแก้วมาสักลงบนศีรษะของข้าพเจ้า และภรรยา (เรียกว่าลงกระหม่อม) ให้แล้ว และท่านก็ใช้หมึกดำสักที่กลางใจมือขวา และตาตุ่มขวาของข้าพเจ้า

ส่วนภรรยาของข้าพเจ้า ท่านสักให้แต่ที่กลางใจมือขวาเท่านั้น เพราะเป็นสตรี และท่านก็ประสิทธิ์วิชาให้ มีพระคาถารักษาโรคต่าง ๆ และพระคาถาอื่น ไ อีกด้วยพร้อมทั้งมอบมีดปลายแหลม (มีดหมอ) คืนให้ใช้สำหรับไล่ภูตผีปีศาจ ส่วนผ้าเช็ดหน้าซึ่งประสระด้วยเลือด ให้ไว้ประจำตัวเพื่อคุ้มกันภัย

เมื่อเสร็จพิธีรับศิษย์แล้ว ก็ยังนั่งคุยอยู่กับท่านอีกนาน เพราะเมื่อตอนที่ข้าพเจ้าเห็นท่านใช้มีดโกนเฉือนลิ้น และใช้มีดปลายแหลมตอกเพดานนั้น ข้าพเจ้าตกใจมาก เพราะไม่เคยปรากฏแก่สายตามาก่อน หลังจากที่ท่านคุยอยู่นานพอควร ท่านก็ลุกจากที่นั่งไปขังตุ่มมังกรภายในห้องข้าพเจ้าได้ยินเสียงดังฟ่อ ฟ่อ แล้วท่านล้วงมือลงไปในตุ่ม ยกมือชูขึ้นมาพร้อมกับ “งูเห่าตัวโตเท่าแขนแผ่แม่เบี้ยเต็มที่” พอข้าพเจ้าเห็นเท่านั้นเองข้าพเจ้าได้กราบลาท่านรับหนีกลับร้านทันที เพราะเรื่องกลัวงูนี้กลัวเป็นทุนเดิมของข้าพเจ้ามาก

ข้าพเจ้า ขอเล่าความหลังสมัยที่ยังอยู่บ้านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ข้าพเจ้าชอบยิงนก เมื่อฤดูเกี่ยวข้าว พี่สาวพี่เขยทำนา ที่นามีหนองน้ำใหญ่ พี่เขยบอกว่ามีนกดอกบัวมาลงที่หนองน้ำนั้นเสมอ วันนั้นข้าพเจ้าเตรียมปืนลูกซอง (เป็นปืนของพ่อ) ไปที่นาพี่สาวพี่เขยก็พบนกดอกบัวลงอยู่ที่หนองน้ำหลายตัว แต่อยู่ห่าง ๆ กัน ข้าพเจ้าจึงค่อยหมอบย่อง ๆ ไปที่หนองน้ำ เหยียบย่ำข้าวที่เขายังไม่ได้เกี่ยวไปเรื่อย ๆ จนใกล้ขอบหนองน้ำ

ส่วนพี่สาวพี่เขยกำลังเกี่ยวข้าวอยู่กับอีกหลาย ๆ คน ตัวข้าพเจ้าเองก็นั่งรอให้นกเข้าใกล้ ๆ กัน จึงจะยิง อาจจะได้นกหลายตัว ขณะที่ข้าพเจ้านั่งคอยอยู่นั้น ก็ได้ยินเสียง แกรก แกรก โผล่หัวขึ้นมาชูคอแผ่แม่เบี้ยหรา ข้าพเจ้าตกใจสุดขีดจนตัวแข็ง พอได้สติก็ขยับปืนที่เล็งกำลังจะยิงนก หันปลายปากกระบอกปืนมาที่หัวงูทันที แต่เกิดลังเลเพราะคิดว่าถ้ายิงงู นกจะบินหนี ถ้ายิงนกแล้วงูล่ะ คงเล่นงานเราแน่นอน

คิดไปคิดมาจึงตัดสินใจยิงงูดีกว่า เราจะได้ปลอดภัย แล้วก็ยิงงูทันทีในระยะใกล้มาก แรงดันของดินปืนทำให้งูลอยขึ้นทั้งตัวแล้วตกลงนิ่งบนกอข้าวไม่มีบาดแผลหรือรอยถูกปืนเลย ข้าพเจ้าไม่แน่ใจว่างูจะตายหรือยัง จึงถอดลำปืนและลูกซองปืนออก ใช้ด้ามปืนตีหัวงูจนเหลวเหละ แล้วฉีกชายผ้าขาวม้าทำบ่วงผูกคองูเข้ากับปลายปืนชูให้พี่เขยดู พร้อมกับเรียกให้เขาขี่ควายไปรับ

ข้าพเจ้าเดินไม่ได้ก้าวขาไม่ออก เพราะกลัวว่าใต้กอข้าวอาจจะมีงูเห่าอีก พี่เขยได้ยินเสียงเรียกให้เอาควายไปรับพร้อมกับเห็นชูงูเห่า เขาคิดว่าข้าพเจ้าเดินกลับไม่ได้ เขาจึงเดินนำหน้าให้ข้าพเจ้าเดินตามหลัง ข้าพเจ้าก้าวไปตามรอยเท้าของเขาจนถึงคันนา “นี่แหละคือ อำนาจแห่งความกลัวงูเห่าของข้าพเจ้าที่ติดตัวมา”

วันนี้ มาพบท่านอาจารย์ฟ้อน จับงูเห่าเป็น ๆ แผ่แม่เบี้ยหรา ออกจากตุ่มมังกร ข้าพเจ้าจะอยู่ได้อย่างไร ก็รีบกลับร้านทันที ท่านอาจารย์พักอยู่ที่เรือนของศาลเจ้าแม่ทับทิม อยู่อีกหลายวัน ข้าพเจ้าไม่เคยไปพบท่านอาจารย์เลย ศิษย์เก่าเขาไปมาหาสู่ท่านทุกวัน เขาเคยถามข้าพเจ้าว่าไปพบท่านอาจารย์ปล่อยงูเห่าเมื่อไหร่แล้ว ข้าพเจ้าก็จะไปพบท่านอาจารย์ต่อมาก็มีศิษย์ที่ไปพบท่านมาบอกข้าพเจ้าว่าท่านอาจารย์ถามถึงข้าพเจ้า

เขาบอกว่าได้เรียนให้ท่านทราบว่าข้าพเจ้ากลัวงูเห่า ท่านก็หัวเราะ และพูดว่า คนกลัวงูเห่านี่แหละ วันหลังงูเห่าจะต้องกลัวเขา ท่านพักอยู่จนถึงเดือนเมษายน วันสงกรานต์ บรรดาศิษย์และผู้ที่เคารพนับถือท่านต่างพากันไปรดน้ำให้ท่าน ข้าพเจ้าไม่กล้าไป ได้บอกฝากกับภรรยาไปว่าข้าพเจ้ากลัวงู ภรรยากลับมาบอกกับข้าพเจ้าว่า ท่านปล่อยงูเห่าตั้งแต่เช้าแล้วทั้งหมดเลย ข้าพเจ้าจึงได้ไปรดน้ำสงกรานต์ท่าน เสร็จแล้วก็อยู่พูดคุยกับท่าน ท่านบอกข้าพเจ้าว่า

พรุ่งนี้พ่อจะกลับวัดบึงพระอาจารย์ แล้วจะกลับมาที่นครราชสีมาอีก จะมาพักที่ร้านขายยาของข้าพเจ้า ข้าพเจ้ารับกราบรับท่านด้วยความดีใจท่านไปไม่นานก็กลับมาพักที่ร้านขายยาของข้าพเจ้าจริง ๆ บรรดาศิษย์ทราบข่าวท่านมาพักที่ร้านขายยาของข้าพเจ้า ต่างพากันมาเยี่ยมคารวะท่าน รวมทั้งผู้ที่มาขอเรียนเป็นศิษย์อีกมาก มาจากที่ต่าง ๆ เช่น อำเภอต่าง ๆ ใจจังหวัดนครราชสีมา จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดสุรินทร์ รวมทั้งที่มาจากที่อื่น ๆ

โดยเฉพาะศิษย์จากอำเภอห้วยแถลง และ อำเภอลำปลายมาศ จะมากันมากกว่าที่อื่น ท่านพักอยู่ที่ร้านขายยาจิตรโสภี ของข้าพเจ้าอยู่เป็นเดือน ท่านก็นำงูเห่ามาด้วยอีก 1 ตะกร้าหวาย รัวใหญ่ ๆ ประมาณ 10 ตัว ข้าพเจ้าทำลังไม้ฉำฉาขนาดใหญ่ให้ท่านใส่งูเห่า บางตัวก็ออกไข่ในลัง ระยะหลังนี้ข้าพเจ้าค่อยใกล้ชิดกับงูเห่าบ้าง ท่านนำออกมาให้กินน้ำบ้าง นำมาให้จับเล่นบ้าง

ข้าพเจ้าก็ค่อย ๆ แตะต้องตัวงูเห่าลองจับขณะอยู่กับท่านดูบ้าง จนกระทั่งท่านมอบหน้าที่ให้ข้าพเจ้านำงูเห่าออกมาจากลัง เพื่อทดสอบจิตของศิษย์แต่ละคน โดยท่านให้เล่น ให้จับ ให้บังคับงูเห่า ต่อมาก็ให้เอางูเห่ากัด แล้วให้แก้ไขด้วยตนเอง เวลางูเห่าแผ่แม่เบี้ย ท่านก็ให้เอานิ้วมือหรือแขนแหย่ไปที่ปากของงูเห่าเพื่อให้กัด แต่งูกัดไม่ได้สักคนเดียว เพราะทุกคนจะชักมือหนีกันหมด ท่านก็ใช้ให้ข้าพเจ้าเอามือจับงูเห่าไว้มือหนึ่ง อีกมือหนึ่งจับแขนศิษย์ที่จะสอบไปที่ปากงูเห่าเพื่อให้งูกัด ต้องทำอย่างนี้ทุกคน งูจึงกัดได้ เมื่อทุกคนถูกงูกัดแล้ว ก็ทำพิธีเจริญพระคาถาคาดพิษ ถอนพิษ หยิบพิษทิ้ง ก็ไม่มีใครเป็นอะไรเลย

มีอยู่วันหนึ่ง ศิษย์เก่าของทานมียศเป็นร้อยตำรวจเอก มาสอบจิตก่อนที่จะให้งูเห่ากัด ท่องพระคาถา คาดพา ถอนพิษ หยิบพิษทิ้ง ได้อย่างแม่นยำ พอข้าพเจ้าจับงูให้กัดที่แขนแล้ว เกิดตกใจลืมพระคาถาหมดนั่งหน้าซีดว่าอะไรไม่ได้เลย พิษงูวิ่งแล่นเข้าสู่หัวใจถึงกับล้มนอนหงาย ท่านก็บอกให้ข้าพเจ้าแก้ให้ คือถอนพิษ หยิบพิษทิ้งประมาณ 5 นาที ก็ลุกขึ้นนั่งคุยได้ เขาบอกว่าพอถูกกัดแล้วตกใจลืมพระคาถาหมดเลย ท่านอาจารย์ท่านบอกว่า “นี่เป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้าจิตยังไม่ถึงอย่าไปเล่นมัน มันกัดเรา เราตกใจ นึกพระคาถาไม่ได้ แก้ตัวเองไม่ได้” แต่ถ้าถูกงูกัดคนอื่นไม่ใช่ตัวเรา ก็ไม่ตกใจ จำพระคาถาได้ ก็แก้ให้เขาได้ “ฉะนั้น ถ้าจิตยังไม่ถึงไม่ควรเล่นงูเห่า เอาไว้ช่วยคนที่ถูกงูกัดดีกว่า”

ระหว่างที่ท่านพักอยู่ที่ร้านขายยาของข้าพเจ้า มีผู้ที่เคารพศรัทธาในท่าน มาสมัครขอฝากตัวเป็นศิษย์เรียบวิชชากันมากแทบทุกวัน ท่านต้องใช้เลือดมาก จึงต้องจัดหาอาหารบำรุงให้ท่านเป็นพิเศษ อาหารคาวที่ท่านชอบมากที่สุดคือ แกงเผ็ดปลาไหล ข้าวเหนียวก็ต้องหุงด้วยหม้อดิน ของหวาน มี ทองหยิบ ฝอยทอง เม็ดขนุน ผลไม้ ของหวานที่ท่านโปรดปรานมากที่สุดคือ ทองหยิบ วันไหนมีปลาไหลท่านต้องลงมือแกงเองตามความชอบของท่าน

นอกจากมีศิษย์ใหม่มาเรียนแล้ว ก็ยังมีคนป่วยมาให้ท่านรักษาแทบทุกวัน ท่านรักษาด้วยเวทย์มนต์พระคาถาใช้เสกปูนขาวทาให้บ้าง พ่นน้ำมันเดือดบ้าง เหยียบเหล็กเผาไฟแดง ๆ บ้าง รดน้ำมนต์บ้าง ฝังเข็มบ้าง แล้วแต่ทานจะพิจารณาโรคนั้น ๆ ท่านทำให้เองบ้าง ให้ข้าพเจ้าทำบ้าง แล้วแต่ท่านจะสั่ง ก็ปรากฏว่าได้ผลเป็นที่พอใจของผู้ป่วยทุกราย

คืนวันหนึ่ง ข้าพเจ้าปิดร้านขายยาแล้ว ข้าพเจ้า กับ นายพุฒ ซึ่งเป็นผู้คอยเฝ้าดูแลท่านนั่งอยู่ในห้องกับท่าน ท่านพูดถึงเรื่องวิชาอาคมที่ได้ศึกษาเล่าเรียนกันไป ท่านเป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาให้เปรียบเสมือนให้พันธุ์ไม้เล็ก ๆ ไปต้นหนึ่งผู้รับเอาพันธุ์ไม้ไปต้องหมั่นรักษารดน้ำพรวนดินให้ปุ๋ยโดยสม่ำเสมอ พันธุ์ไม้นั้นก็จะเจริญงอกงาม มีดอก มีผล แตกกิ่งก้านสาขา น่าดูน่าชม หากผู้รับพันธุ์ไม้ไปแล้วปล่อยทิ้งให้เฉาเหี่ยวแห้งไป ในที่สุดก็ไม่งอกงาม เจริญลงไม่เจริญขึ้น

ขณะที่ท่านพูดให้ฟังอยู่นั้น ในมือของท่านก็จับไม้ตะพดยาวเมตรเศษ สำหรับใช้ถือยันตัวเวลาเหยียบเหล็กแดงให้คนไข้ ท่านก็ใช้ไม้ตะพดที่ห้อยอยู่ ดึงลงมา แต่ดึงไม่ออกติดแน่นอยู่กับเพดาน จับสองมือโหนตัวดึงก็ยังไม่หลุด ผลที่สุดข้าพเจ้าต้องปล่อยให้ห้อยอยู่อย่างนั้นท่านจึงลุกขึ้นยืนแล้วพูดว่า เท่านี้ก็ดึงไม่ออก ท่านเอื้อมมือจับโคนไม้ตะพด ไม้ตะพดก็หลุดติดมือท่านมาทันที นับว่าเป็นสิ่งอัศจรรย์มากสำหรับข้าพเจ้า ที่เห็นครั้งนั้นเป็นครั้งแรก

ศิษย์เก่า อ.ห้วยแถลง และ อ.ลำปลายมาศ เล่าให้ฟังว่า ทาสไปพักที่บ้านเขาซึ่งอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟห้วยแถลง มีตลาดการค้าดีพอควร เช้าวันหนึ่ง ท่านถามเขาว่าที่ตลาดมีปลาตะเพียนสด ๆ ไหม อยากจะทานต้มยำปลาตะเพียน เขาก็เรียนท่านว่ามีแต่ปลาแช่น้ำแข็ง ส่งมาจากโคราช ท่านก็พูดว่าปลาแช่น้ำแข็งรสมันจืดต้มยำไม่อร่อย

ท่านจึงร้องสั่งว่า…เออไปเอากะละมังใบใหญ่ใส่น้ำมาให้ด้วย เขาก็ไปจัดหามาให้ท่าน ท่านฉีกกระดาษใส่ลงในกะละมังที่มีน้ำ แล้วบอกให้เขาเอาถาดมาปิดกะละมังประเดี๋ยวปลามันจะกระโดออกเขาจึงไปเอาถาดมาปิด เวลาปิดก็เห็นมีแต่เศษกระดาษลอยน้ำอยู่ แล้วทานสั่งให้คนไปต้มน้ำเตรียมต้มยำปลาตะเพียนไว้คอย เข้าก็ไม่จัดการตามที่ท่านสั่งเพราะเขาไม่เห็นมีปลาตะเพียน

และแล้วท่านก็เรียกให้เขามานำปลาตะเพียนไปทำเกล็ดสั่งให้ใส่หน้าต้มยำเลย เขาก็ยังสงสัย ท่านบอกให้เขาเปิดถาดที่ปิดกะละมังออกแล้วยกไปจัดการได้ เขาก็เปิดถาดออกดู อุทานด้วยความตกใจ ปลาตะเพียนตัวโตขนาดเท่าฝ่ามือว่ายอยู่ในกะละมังประมาณ 10 ตัว เขาก็จัดการนำปลาตะเพียนซึ่งเกิดจากกระดาษ ที่ท่านทำเป็นปลาจริงไปต้มยำปลาตะเพียนมาให้ท่านรับประทาน นี่ก็นับว่าเป็นสิ่งอัศจรรย์อีก

ในช่วงระหว่างปี พ.ศ.2487-2489 ท่านต้องวนเวียนไปมาอยู่เสมอ เพราะท่านต้องมาจัดหาไม้เพื่อไปสร้างโบสถ์ที่วัดบึงพระอาจารย์ ไม้ส่วนมากได้มาจากศิษย์ที่มีโรงเลื่อยจักร จากอำเภอสี่คิ้ว อำเภอห้วยแถลง อำเภอลำปลายมาศ แต่ทุกครั้งที่ท่านมา จะต้องมาพักที่ร้านขายยาจิตรโสภีของข้าพเจ้า ถือเป็นจุดศูนย์กลางของศิษย์ภาคอีสาน การอบรมศิษย์ของท่าน ท่านสอนให้เป็นผู้ประพฤติแต่ความดี มีศีลธรรม ประกอบด้วย เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นแม้แต่สัตว์ เช่น งูเห่า ที่ท่านนำมานี้ ท่านก็ไม่ให้ทำร้ายเขา ลามีกำหนดวันที่จะปล่อยเขาให้ไปมีอิสสระภาพตามธรรมชาติ ถึงกำหนดวันก็ปล่อยทันที ที่เอามานี่ก็เป็นการทรมานอยู่บ้าง แต่เพื่อประโยชน์ในการสอบจิตของศิษย์ที่ได้ศึกษาเล่าเรียนไปแล้ว

การใช้พระคาถาของท่าน ท่านแนะนำทำจิตให้เป็นสมาธิแล้วตั้งธาตุต่อไปจึงเจริญพระคาถา การจุดธูปบูชาพระ ท่านให้ใช้ธูป 5 ดอก กราบ 5 ครั้ง ความหมายของท่านคือ 1.พระพุทธ 2.พระธรรม 3.พระสงฆ์ 4.พระบิดา-พระมารดา 5. พระครูอุปัชฌา ครูบาอาจารย์ เวทย์มนต์พระคาถา

ศิษย์ท่านส่วนมากจึงปฏิบัติอย่างนี้ แม้แต่กราบท่านก็กราบ 5 ครั้ง เมื่อปี พ.ศ.2487 ท่านได้มาจัดตั้งกองกฐินขึ้นที่ร้านขายยาจิตรโสภีของข้าพเจ้า แล้วนำไปทอดถวายที่วัดบึงพระอาจารย์ จังหวัดนครนายก คณะศิษย์จากภาคอีสานพร้อมกับข้าพเจ้าได้เดินทางไปร่วมถวายกฐินพร้อมกับท่านอาจารย์ เพราะวัดนี้เป็นวัดที่ท่านกำลังก่อสร้างโบสถ์ ไปพบปะสังสรรค์กับศิษย์รุ่นอาวุโสหลาย ๆ ท่าน มีศิษย์อาวุโสที่นครนายกท่านหนึ่งเล่าว่า บ้านของท่านอาจารย์สร้างอยู่ติดกับวัดนี้ เดิมเป็นที่ดินผืนนาของพระองค์เจ้าหญิงฯ…และท่านได้ขอที่ดินจากพระองค์เจ้าหญิงฯ…เพื่อสร้างบ้านและพระองค์เจ้าหญิงฯ…ก็ประทานที่ดินให้แก่ท่านอาจารย์

ศิษย์ทางภาคอีสานที่มีโรงเลื่อยจักร ต่างก็พากันให้ไม้สำหรับสร้างบ้านท่านอาจารย์จนเสร็จ ทานก็พักอยู่ที่บ้านหลังนี้ ท่านก็พักอยู่ที่บ้านหลังนี้ ท่านชอบปลูกต้นไม้ในที่ว่าง เช่น ต้นกล้วย เป็นต้น

วันหนึ่งท่านคิดจะถางหญ้าเล็ก ๆ น้อย ๆ ภายในวัดท่านจึงเรียกเด็กวัดแล้วชวนเด็กเล่นซ่อนหา ถ้าใครหาท่านพบจะให้รางวัล ถ้าไม่พบก็บอกว่ายอมแล้ว เด็กทุกคนก็ปิดตาหันหลังให้ท่านทันที สักครู่หนึ่งท่านบอกว่า เอาละ…เด็ก ๆ ก็เปิดตาต่างพากันวิ่งหาท่าน พากันหาจนเหนื่อยก็ไม่พบท่าน เด็กต่างพากันร้องว่าผมยอมแล้ว ท่านจึงส่งเสียงบอกว่า อยู่ที่นี่โว้ย เด็ก ๆ มองไปดูตามเสียง เห็นท่านนอนอยู่บนทางใบกล้วย แล้วท่านก็ลงมาแจกสตางค์ให้เด็ก ๆ ไปกินขนม…นี่ก็เป็นสิ่งอัศจรรย์ของท่านอีก

สิบเอกแช่ม เวชสูงเนิน ศิษย์อาวุโสเล่าว่าเคยไปเที่ยวบนเขาอีโต้กับท่าน ขึ้นไปจนเหนื่อยท่านชวนให้นอนพักใต้ต้นไม้ ใช้ผ้าขาวม้าปูรองนอนทานใช้ให้ไปหาหินมารองหนุนศีรษะจึงไปหามาได้ 2 ก้อน คนละก้อน ต่างคนต่างนอนและคุยกันบ้าง มีตอนหนึ่งท่านถามว่า เฮ้ย!…แช่ม…บนเขานี้มีเต่าไหมวะ ? ก็ตอบว่าไม่มีหรอกครับ บนเขาไม่มีบ่อน้ำ เต่าจะมาอยู่ได้อย่างไร ขณะที่ท่านอาจารย์ถามนั้น สิบเอกแช่มนอนตอบทาน สักครู่ศีรษะของเขาก็ตกจากหิน เขาก็ลุกขึ้นมามองเห็นหินที่ตนหนุนศีรษะอยู่นั้นกลายเป็นเต่ากำลังคลานไป ท่านอาจารย์หัวเราะแล้วพูดว่า ไหนว่าบนเขาไม่มีเต่า…นี่ก็เป็นสิ่งอัศจรรย์อีก

วันหนึ่ง ข้าพเจ้าเดินทางไปกรุงเทพฯ ขึ้นรถไฟที่สถานีนครราชสีมา (สมันนั้นยังไม่มีถนนมิตรภาพ) ไปถึงสถานีรถไฟก็พบท่านเจ้าคุณจันโทปมาจารย์ วัดสุทธจินดา (ปัจจุบันท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดโพธิสมพร จังหวัดอุดรธานี) ท่านไปส่งท่านสมเด็จธีรญาณมุนี เจ้าอาวาสวัดจักรวรรดิราชาวาส (วัดสามปลื้ม) ทานเจ้าคุณจันโท ก็กราบเรียนท่านสมเด็จพระธีรญาณมุนี (สมัยนั้นท่านยังไม่ได้ดำรงตำแหน่งสมเด็จ) ว่า ข้าพเจ้าคือ หมอประยูร จิตรโสภี ลูกศิษย์ท่านอาจารย์ฟ้อน ดีสว่าง สมเด็จฯ ท่านจึงถามข้าพเจ้าว่าจะไปไหน ข้าพเจ้ากราบเรียนท่านจะไปกรุงเทพฯ สมเด็จฯ ท่านจึงรับสั่งว่า เออดีแล้ว ไปซื้อตั๋วชั้นหนึ่งนะจะได้นั่งคุยกันไป ไม่พบอาจารย์ฟ้อนมานานแล้ว มาพบลูกศิษย์ก็ยังดี ข้าพเจ้ารีบไปซื้อตั๋วรถไฟ แล้วมาพบท่านสมเด็จฯ เพื่อนนั่งรถไฟไปพร้อมกัน

ขณะนั่งรถไฟไปนั้น สมเด็จฯท่านพูดถึงท่านอาจารย์ฟ้อนว่า เมื่อก่อนนานปีมาแล้วอาจารย์ฟ้อนชอบไปที่วัดสามปลื้มเสมอ ๆ ที่บ่อจระเข้ในวัดสมัยนั้นมีอาจารย์สักเลขยันต์ และภาพต่าง ๆ หลายคนอาศัยอยู่ที่นั่นแหละ ทุกคนติดกัญชา และทุกคนต้องมีบ้องกัญชาประดับตกแต่งสวยงามเป็นประจำของตัวทุกคน อาจารย์ฟ้อนชอบไปดูไปคุยกับพวกหมอสัก บางครั้งก็ลองสูบกัญชากับเขาบ้าง

วันไหนอารมณ์ดีอาจารย์ฟ้อนจะเรียกเด็ก ๆ ที่ไปดูจระเข้ ให้เข้ามาช่วยกันจับนกพิราบขาว ท่านบอกเด็กว่า นกพิราบขาวมันอยู่ในบ้องกัญชา แล้วท่านจัดแจงสูบกัญชา ท่านบอกกับเด็ก ๆ ว่าระวังนะช่วยกันจับนกพิราบขาวให้ได้ท่านจุดกัญชาสูบแล้วพ่นควันออกจากปาก กลายเป็นนกพิราบขาวบินกันขวักไขว่ไปหมด เด็ก ๆ ชอบใจวิ่งไล่ช่วยกันจับ แต่จับนกไม่ได้สักคนนกพิราบขาวบินหนีไปหมด…นี่ก็เป็นสิ่งอัศจรรย์ของท่านอีก

วันหนึ่งท่านสมเด็จฯ มุระจะปรึกษาหารือกับอาจารย์ฟ้อน ท่านจึงให้พระไปดูที่สระจระเข้ ถ้าพบก็เชิญให้ไปพบสมเด็จฯสักหน่อย พระไปพบท่านพอดีจึงเชิญไปพบสมเด็จฯ เมื่อมาพบ ท่านสมเด็จฯได้ปรึกษาหารือไต่ถามขอความช่วยเหลือว่า มีสามเณรในวัดนี้อยู่รูปหนึ่งเป็นศิษย์ของพระมหา เป็นสามเณรที่ดีปฏิบัติกิจวัตร ขยันหมั่นเพียรเรียนหนังสือธรรมวินัย รับใช้พระภิกษุในวัดโดยไม่มีความรังเกียจ ภิกษุสามเณรทุกรูปต่างรักใคร่ กลางคืนดูหนังสือดึก ๆ ทุกคืน

แต่น่าสงสารเวลาสอบนักธรรมตรี สอบตกทุกปี เหมือนคนปัญญาทึบ ส่วนพระมหาที่เป็นพระอาจารย์ของสามเณรนั้นปัญญาดีมาก สอบได้ทุกปีตลอดมา สมเด็จฯได้ถามว่า ท่านอาจารย์ฟ้อนพอจะมีทางช่วยเหลือสามเณรบ้างไหม ท่านก็เรียนสมเด็จฯว่าได้ครับ แต่ร้องทำพิธีถ่ายเลือด สมเด็จฯถามท่านว่าถ่ายเลือดอย่างไร

ท่านตอบว่าต้องเอาเลือดของพระมหามาให้สามเณร สมเด็จฯก็ให้พระไปนิมนต์พระมหากับสามเณรมาพบท่านอาจารย์ฟ้อน สมเด็จฯได้รับสั่งให้พระมหากับสามเณรฟังพระมหารักและสงสารสามเณรมากยินดี ให้อาจารย์ฟ้อนทำให้ พอดีวันนั้นเป็นวันโกน พระมหากับสามเณรก็ปลงผมมาเรียบร้อยแล้ว ท่านอาจารย์ฟ้อนก็ขอมีดโกนจากสมเด็จฯ เมื่อได้มีดโกนแล้วท่านก็ทำพิธีถ่ายเลือดต่อหน้าสมเด็จฯ

โดยท่านใช้มีดโดนกรีดที่หนังศีรษะของสามเณรเป็นแผลยาวประมาณ 1 นิ้ว ลึกถึงกะโหลกศีรษะ แต่ไม่มีเลือดออกมาเลยแผลอ้าเนื้อขาว แล้วอาจารย์ฟ้อนก็ใช้มีดโกนกรีดศีรษะพระมหามีเลือดไหลออกมา ท่านใช้มีดโกนช้อนเลือดจากศีรษะของพระมหานำมาใส่ที่แผลบนศีรษะของสามเณร ช้อนเลือดใส่นานพอสมควรเลือดก็หยุดแล้วท่านใช้มือลูบศีรษะของสามเณรแผลติดสนิทเหมือนไม่มีอะไร แล้วทาสนก็ใช้มือลูบที่ศีรษะของพระมหาเลือดก็หยุดแผลก็ติดสนิท เหมือนไม่มีอะไรเช่นกัน ในปีนั้นสามเณรสอบนักธรรมตรีได้ และสอบได้เรื่อย ๆ มาทุกปี…นี่ยิ่งอัศจรรย์ยิ่ง

ข้าพเจ้านึกถึงการถ่ายเลือดชนิดนี้ขึ้นมาทันทีว่า ครั้งหนึ่งเมื่อท่านอยู่ที่ร้านขายยาจิตรโสภีของข้าพเจ้า ท่านเคยใช้มีดโดนกรีดศีรษะของข้าพเจ้า แล้วท่านตอกเพดานของท่าน เอาเลือดเทใส่แก้วแล้วเอามาป้ายที่ศีรษะตรงรอยกรีดของมีดโดน คงจะเป็นการถ่ายเลือดแบบเดียวกันกับพระมหากับสามเณรเป็นแน่กระมัง

จุดประสงค์ของท่าน ท่านรู้ของท่านผู้เดียว ข้าพเจ้าไม่สามาระจะรู้ได้ เรื่องการถ่ายเลือดพระมหาให้สามเณรนี้ สมเด็จฯท่านพูดว่าอาจารย์ฟ้อนมีจิตสูงมาก ธรรมดาแผลถูกมีดหรือของมีคมเลือดต้องพุ่งออกมาทุกราย แต่ท่านอาจารย์ฟ้อนทำพิธีถ่ายเลือดนี่แปลก คือ คนที่ต้องการจะถ่ายเลือดให้เมื่อใช้มีดโกนกรีดลงไปไม่มีเลือดไหลออกมาปากแผลอ้าเฉย ๆ

เมื่อป้ายเอาเลือดจากผู้ถ่ายให้ใส่ลงไปในแผลเลือดก็หายไปในแผล เสร็จแล้วใช้มือลูบแป๊บเดียวเลือดหยุดไหลแผลติดสนิทอย่างนี้แสดงว่าอาจารย์ฟ้อนท่านมีจิตสูงมาก พร้อมกับได้บรรยายเรื่องให้เขาฟัง สมเด็จฯเล่าว่าอาจารย์ฟ้อนเคยฝังเข็มเหล็กให้ท่านในสมัยโน้น เมื่อรถไฟถึงสถานีหัวลำโพงแล้ว ข้าพเจ้าก็กราบลาท่านสมเด็จฯ

ขุนประชาบริบาล อดีตนายอำเภอหลายจังหวัดบ้านเดอมท่านอยู่ที่ตำบลปากบาง อำเภอพรม จังหวัดสิงห์บุรี เป็นศิษย์อาวุโสที่ใกล้ชิดกับท่านอาจารย์มาก ระหว่างที่ท่านอาจารย์มาพักอยู่ที่ร้านขายยาจิตรโสภีของข้าพเจ้า ขุนประชาฯ ก็จะติดตามท่านมาเสมอบางครั้งท่านอาจารย์กลับแล้วแต่ขุนประชาฯยังไม่กลับคงค้างอยู่กับข้าพเจ้าเรื่อย ๆ เพราะรักใคร่ชอบพอกันมาก ข้าพเจ้าเคารพขุนประชาฯ ในฐานะศิษย์ผู้อาวุโสและญาติผู้ใหญ่ เป็นผู้ที่ทราบประวัติของท่านอาจารย์ดีมากเปิดเผยไม่เคยปกปิด เคยเล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่าท่านอาจารย์ฟ้อน ดีสว่าง เกิดที่บ้านตรงข้ามช่างแสง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แล้วท่านก็เตร็ดเตร่เร่ร่อนไปเรื่อย ๆ

หลวงพ่อปลอด อาจารย์เดิมของท่านอาจารย์ซึ่งเป็นน้าชายเป็นพระที่เรืองวิชารูปหนึ่งในสมัยนั้น หลวงพ่อปลอดท่านมีนิ้วชี้กับนิ้วกลางของมือขวาติดกันมาแต่กำเนิด วัดที่ท่านอยู่อาศัยหลังคามุงกระเบื้อง ระหว่างเข้าพรรษาเวลาทำบุญบนศาลาฝนตกหลังคารั่วน้ำหยดไหลเปียกศาลา หลวงพ่อปลอดท่านก็ยื่นมือขวาของท่านขึ้นไปขยับกระเบื้องแก้ไขไม่ให้น้ำฝนรั่วลงบนศาลาได้อย่างอัศจรรย์ มะพร้าวต้นสูง ๆ เวลามีลูกจะกินลูกอ่อนหรือลูกแก่ไม่ต้องขึ้นต้นหลวงพ่อปลอดใช้มือขาเอื้อมขึ้นไปปลิดลงมาสบาย ๆ ขุนประชาฯ เล่าว่าเมื่อท่านอาจารย์บวชเป็นพระภิกษุจำพรรษาอยู่ทีวัดสระเกศ กรุงเทพฯ พอออกพรรษชอบเที่ยวธุดงค์

ครั้งหนึ่งท่านอาจารย์ไปพักที่วัดร้างแห่งหนึ่งชื่อเดิมว่า วัดไก่ฟ้า อยู่ที่คลองหันสังข์ อำเภอบางประหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในวัดมีโบสถ์เก่า ๆ บานประตูก็ไม่มี กับศาลาเก่า ๆ กฏิก็ไม่มีท่านไปนอนพักอยู่ในโบสถ์ คืนวันหนึ่งขณะที่ท่านอาจารย์นั่งทำสมาธิจิตอยู่ จุดธูปเทียนไว้หน้าพระประธานมีความสว่างพอสมควร ท่านได้ยินเสียงคนมาร้องไห้กระซิก ๆ อยู่ข้างหลังท่านก็ลืมตาเหลียวไปดูเห็นหญิงคนหนึ่งผมยาว นุ่งห่มแบบคนโบราณพื้นบ้าน นั่งหมอบร้องไห้อยู่

ท่านอาจารย์จึงถามไปว่า โยมอยู่ที่ไหน มีเรื่องอะไร จึงมาร้องไห้อยู่ในโบสถ์นี้ ซึ่งเป็นเวลาค่ำคืนอันเป็นการไม่เหมาะสม เพราะฉันเป็นพระโยมเป็นผู้หญิงมีเรื่องอะไรก็ควรจะมาหาพรุ่งนี้เช้าก็ได้ โยมกลับไปบ้านโยมเสียก่อนพรุ่งนี้ค่อยมาใหม่ หญิงคนนี้หมอบกราบท่านอาจารย์แล้วเล่าให้ฟังว่า

ดิฉันมีความจำเป็นและมีทุกข์มากที่สุดจึงต้องมาหาท่านในเวลาค่ำคืนที่อยู่ของฉันใกล้ ๆ กับโบสถ์นี้เอง ไม่มีบ้านไม่มีเรือนฉันอยู่ในโพรงต้นตะเคียนข้างโบสถ์นี้มาเป็นเวลานานแล้วเมื่อ 2-3 วันมานี้ มีคนเขามาทำพิธีบวงสรวงขอโค่นต้นตะเคียนนี้ เขาจะเอาไปต่อเรือยาวสำหรับแข่ง เขาพากันทำเครื่องมือสำหรับโค่นต้นตะเคียงมาพิงไว้ที่ต้นตะเคียงแล้ว และเช้าพรุ่งนี้เขาจะโคล่นต้นตะเคียนแล้ว เรื่องทุกข์ของฉันเป็นอย่างนี้ จึงรีบมาหาท่านในเวลาค่ำคืน เพื่อขอร้องให้ท่านช่วยห้ามอย่าให้เขาตัดโค่นต้นตะเคียนเลย เพราะฉันไม่มีที่อยู่

ท่านอาจารย์ได้ฟังแล้วก็รับปากว่าจะช่วย แล้วหญิงนั้นก็ลากสับไป รุ่งเช้าท่านอาจารย์ก็เตรียมตัวออกบิณฑบาต ก่อนจะไป ท่านได้เดินตรวจดูต้นตะเคียนในวัด เห็นโคนต้นตะเคียนเป็นโพรงขนาดเข้าไปนั่ง นอน เล่นได้สบาย ประมาณอายุของต้นตะเคียนนี้เป็นร้อย ๆ ปี โคนต้นระเคียนมี เลื่อยชัก ขวาน มีด พิงอยู่ และมีศาลเพียงตาที่เขาทำพิธีบวงสรวงตั้งอยู่ ท่านอาจารย์ก็คิดรู้ว่าหญิงคนนั้นต้องเป็นนางตะเคียนและอาศัยอยู่ที่นี่ เป็นเทพที่สามารถแสดงตนได้ แล้วท่านจึงออกเดินไปบิณฑบาตแล้วกลับมานั่งฉันอาหารในโพรงต้นตะเคียนนั้น

ขณะที่นั่งฉันอยู่ท่านมองออกไปกลางทุ่งข้างวัดเห็นคนเดินมาเป็นแถว 10 กว่าคน มุ่งหน้ามาที่วัดตรงมาที่ต้นตะเคียนท่านอาจารย์ก็นั่งฉันอาหารเรื่อย ๆ จนคนพวกนั้นมาถึงเขาก็พากันเข้าไปหาท่าน ท่านก็พูดคุยถึงสาเหตุที่พากันมาที่นี่เพื่อประสงค์อะไร เขาก็เล่าให้ท่านฟังว่าพวกเขามาหาต้นตะเคียนตามวัดร้างมาหลายแห่งเพื่อจะนำไปทำเรือยาวสำหรับแข่ง จนมาพบต้นตะเคียนต้นนี้มีขนาดใหญ่โต ยาวและตรงดี ทุกคนมีความพอใจ จึงมาทำพิธีบวงสรวงขอโค่นต้นตะเคียนต้นนี้ไปทำเรือยาว และที่พากันมาเช้าวันนี้ก็เพื่อมาโค่นต้นตะเคียนต้นนี้

ท่านอาจารย์ก็พูดให้เขาฟังว่า ฉันมาที่นี่เห็นเป็นวัดร้างมีแต่โบสถ์เก่า ๆ ศาลาเก่า ๆ หลังคาก็รั่ว กุฏิก็ไม่มีถ้าฝนตกก็อาศัยลำบาก จึงอยากจะมาช่วยบูรณะวัดร้างนี้ให้เป็นวัดไม่ร้าง ฉันได้มาอาศัยโพรงระเคียนนี้เป็นที่พักกันแดดกันฝน แต่โยมจะมาโค่นต้นตะเคียนนี้ก็เป็นเรื่องของโยม แต่ขอให้ฟังฉันพูดสักหน่อยก่อนนะ

วัดไก่ฟ้านี้เป็นวัดร้างมานานคงจะสร้างแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ต้นตะเคียนต้นนี้จะเกิดก่อนสร้างวัดหรือสร้างวัดแล้วจึงเกิดก็ไม่มีใครรู้ได้แต่ทุก ๆ คนก็คงสันนิษฐานได้ว่าอายุของต้นตะเคียนนี้ต้องเป็นร้อยปี ต้นไม้ใหญ่ใบหนากิ่งก้านสาขามากมาย ย่อมเป็นที่อาศัยของสัตว์ได้อยู่ได้อาศัย เช่น นกเป็นต้น แม้แต่คนหรือสัตว์เดินดินยังได้อาศัยร่มเงาบังแดดบังฝน และที่สำคัญก็เป็นสมบัติของวัดในพระพุทธศาสนา

หน้าที่ของชาวพุทธควรจะช่วยกันสร้างสรรค์บูรณะให้ดีขึ้น ๆ ไม่ใช่ช่วยกันทำลายสมบัติของวัด ฉันมาเห็นวัดร้างนี้ก็ตั้งใจว่าจะช่วยญาติโยมบูรณะให้ดีขึ้น และฉันก็ได้อาศัยโพรงตะเคียนต้นนี้เป็นที่พัก กันแดดกันฝนชั่วคราว เมื่อพวกโยมจะพากันโค่นตะเคียนต้นนี้ ฉันก็ไม่ว่าอะไรดอก แต่ฉันจะนั่งอยู่ในโพรงตะเคียนนี้จนกว่าพวกโยมจะโค่นเสร็จ คนพวกนั้นก็พากันออกมานั่งปรึกษาหารือกันนานอยู่พักหนึ่ง แล้วพากันเข้าไปกราบท่านอาจารย์ บอกกับท่านว่าพวกผมทุกคนตกลงใจกันแล้วว่า จะเลิกล้มการตัดโค่นตะเคียนต้นนี้ และขอให้ท่านอยู่บูรณะวัดนี้ต่อไป แล้วพากันกราบลาทานอาจารย์กลับ พร้อมด้วยเครื่องมือตัดโค่นซึ่งนำมาทำพิธีเตรียมไว้

ขุนประชาฯ เล่าว่าถ้าพวกนั้นขืนตัดโค่นต้นตะเคียน ในขณะที่ท่านนั่งอยู่ในโพรงตะเคียนนั้น เครื่องมือที่นำมาตัดโค่นคงไม่สามารถทำลายต้นตะเคียนได้ เข้าใจว่าเลื่อยต้นตะเคียนไม่เข้าแน่ ๆ เพราะเคยพบเห็นมาแล้ว ท่านเคยให้คนใช้เลื่อยตัดไม้ชนิดชักหัว – ชักท้าย สองคนเลื่อยขาท่านเอง

สองคนช่วยกันคัดครองเลื่อยมาคมกริบ ท่านอาจารย์ถลกโสร่งเหยียดขาท่อนบนให้สองคนเลื่อยขาท่าน สองคนช่วยกันเลื่อยขาท่านอาจารย์ ชักไป ชักมาจนเหงื่อตกก็ไม่เข้าเนื้อลื่นพรืด ๆ ไปหมด จนเหนื่อยพากันหยุดพัก พอหายเหนื่อยท่านให้เลื่อยใหม่ คราวนี้พอชักเลื่อยพรืดเดียวแผลลึกถึงกระดูกขาเลือดไหลนอง สองคนมืออ่อนวางเลื่อยทันที ท่านอาจารย์กลับบอกว่าเลื่อยต่อไปซิ เลื่อยให้ขามันขาดเป็นสองท่อนเลยจะได้ต่อง่าย สองคนนั้นไม่ยอมเลื่อยต่อ หน้ามือเป็นลา ท่านอาจารย์ก็เลยใช้มือลูบที่แผลเลือดหยุดแผลติดสนิท สองคนหายเป็นลมแล้วลุกขึ้นกราบขออภัยท่านอาจารย์

ขอขอบคุณประวัติจากอาจารย์เอก อมตะจินดา

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: