6321.”เมื่อฉันได้รับราชสมบัติ ฉันไม่เชื่อว่าฉันจะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน”

“…พอกลับกันแล้ว. ในหลวงก็ประชวรพระวาโยถึงสลบ ต้องฉีดยาและถวายพยาบาลอยู่ตลอดคืน…”

“เมื่อฉันได้รับราชสมบัติ ฉันไม่เชื่อว่าฉันจะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน เพราะฉันเป็นน้องสุดท้อง แต่ในที่สุดฉันก็ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินจนได้ และเมื่อฉันขึ้นครองราชย์นั้น ฉันรู้ดีว่าม่านจวนจะรูดแล้ว แต่ฉันก็คิดอยู่เสมอว่าฉันมีความตั้งใจจะมอบการปกครองให้แก่ราษฎร ฉันไม่ต้องการระบบที่เป็นอยู่ แต่เรื่องนี้ได้มีคนคอยคัดค้านฉันบอกว่ายังไม่ถึงกาลเวลา ฉะนั้นเมื่อพวกแกทำการปฏิวัติฉันก็ไม่คัดค้าน แต่ฉันไม่เห็นด้วยที่พวกแกออกคำแถลงการณ์ด่าฉันและพวกเจ้านายรุนแรงเช่นนั้น”


พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ความด้านบนนี้เป็นกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มีต่อคณะราษฎร เมื่อมาเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เพื่อทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม พร้อมด้วยพระราชกำหนดนิรโทษกรรม เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ใน วันที่ ๒๖ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๗๕ ณ วังศุโขทัย


พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ผู้เขียนจะขอยกข้อความบางตอนที่หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงบันทึกไว้ในหนังสือเรื่องสิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น เพื่อเป็นเกร็ดสักเล็กน้อย ดังจะยกข้อความมาให้อ่านกันดังนี้

“…รุ่งขึ้นคณะรัฐบาลใหม่ก็เข้าเฝ้าและทูลเกล้าฯ ถวายรัฐธรรมนูญชั่วคราว. ในหลวงทรงรับไว้ขอแก้ไขบ้างก่อน.

เล่าว่า – ในหลวงทรงพระกันแสงเมื่อเห็นพระยาศรีวิสารวาจา (หุ่น ฮุนตระกูล) และตรัสว่า – “ตาหุ่น, แกรู้แล้วไม่ใช่หรือว่าฉันจะให้รัฐธรรมนูญ! ทำไมจึงต้องทำให้ฉันอับอายเขาถึงเช่นนี้!” พระยาศรีวิสารฯ ก็ร้องไห้ทูลตอบว่า – “ข้าพระพุทธเจ้าไม่รู้ไม่เห็นด้วยจริง ๆ!” และมีหลายคนที่อายในหลวงจนร้องไห้เหมือนกัน.

พอกลับกันแล้ว. ในหลวงก็ประชวรพระวาโยถึงสลบ ต้องฉีดยาและถวายพยาบาลอยู่ตลอดคืน…”

ตามบันทึกกล่าวว่า หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) เป็นผู้อ่านพระราชกำหนดนิรโทษกรรมถวายดัง ๆ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพยักพระพักตร์ทรงรับรู้เป็นคราว ๆ เมื่อหลวงประดิษฐ์ฯ อ่านจบแล้วจึงถวายให้ทอดพระเนตร และทรงลงพระปรมาภิไธย


ปรีดี พนมยงค์

หลังจากพระราชทานนิรโทษกรรมแล้ว หลวงประดิษฐ์ฯ ได้นำธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม จำนวน ๓๙ มาตรา ขึ้นทูลเกล้าฯ แต่ยังไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย พระองค์มีกระแสพระราชดำรัสลงมาว่า “ข้อความยืดยาว ฉันไม่ค่อยเข้าใจ ต้องขอไว้ดูก่อน”

เมื่อทรงตรวจดูอย่างละเอียดแล้ว มีพระราชดำริว่ายังบกพร่องอยู่มาก และมีข้อขัดแย้งกับระบบประชาธิปไตยที่ทั่วโลกนิยมกันอยู่ ครั้นจะทรงแก้ไขก็จะยืดเยื้อเป็นความยืดยาว จึงทรงพระอักษรกำกับในธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามฉบับนี้ว่า “ชั่วคราว” นับเป็นพระบรมราโชบายที่แยบคาย อันทำให้ไม่เกิดความขัดแย้งแตกหักในขณะนั้น แม้ว่าธรรมนูญฯ ฉบับนี้จะไม่ต้องด้วยพระราชอัธยาศัย และแนวพระราชดำริที่พระองค์มี ต่อเมื่อบ้านเมืองสงบเรียบร้อยดีแล้ว จึงค่อยมาร่างฉบับถาวรขึ้นใช้ แล้วจึงทรงลงพระปรมาภิไธย ในธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามฉบับ “ชั่วคราว” และพระราชทานคืนให้แก่คณะราษฎร ใน วันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕

Cr.อัศนัย​ มีอนันต์

แอพเกจิ

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: