3650. ภาพสะท้อนจากเยาวราช (ไพฑูรย์ พันธุ์เชื้องาม)

ผู้เขียนมักจะกระตุ้นให้ไพฑูรย์เล่าถึงชีวิตในแวดวงอั้งยี่เพราะเมื่อเล่าถึงเรื่องอั้งยี่แล้วไพฑูรย์จะดูมีความสุขเพราะเป็นช่วงที่ไพฑูรย์ได้อยู่ใกล้ชิดแม่ดอกเหมยที่รักก่อนจะจากกันไปไม่ได้พบกันอีกจนกระทั่งแม่ดอกเหมยที่รักได้ตายจากไปก่อนตายได้ให้ญาตินำหยกครึ่งหนึ่งมามอบให้กับไพฑูรย์เพื่อให้เป็นที่ระลึกดังที่ท่านผู้อ่านได้เคยผ่านไปแล้ว (ตอนนี้แอดมินทำหายหากเจอแล้วจะลงให้นะครับ)

ไพฑูรย์เล่าว่าแม่ดอกเหมยเคยเล่าให้ฟังถึงเรื่องของอั้งยี่ว่ามีความเป็นมาอย่างไรอั้งยี่นั้นเกิดมาเมื่อไหร่ไม่รู้ได้แต่หมายถึงสมาคมลับที่ถูกจัดขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการต่อต้านทรราชที่กดขี่ข่มเหงราษฎรหากจะพูดถึงว่าต้นกำเนิดอั้งยี่แล้วก็ให้ย้อนหลังกลับไปในเรื่อง ”ซ้องกั๋ง” หนังที่ชาวไทยรู้จักกันในวรรณคดีจีนเรื่องผู้ยิ่งใหญ่แห่งเขาเหลียงซาน อันเป็นสถานที่ส้องสุมชุมนุมกันของยอดฝีมือที่ถูกกดขี่ข่มเหงจากขุนศึกและอำมาตย์ชั่วจากทุกทั่วสารทิศที่มารวมกันจำนวน 108 ยอดฝีมือเพื่อต่อสู้กับความอยุติธรรม

เหมา เจ๋อ ตง ประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีนมักกล่าวเสมอว่า

”พรรคคอมมิวนิสต์จีนอาศัยต้นแบบมาจากผู้กล้าแห่งเขาเหลียงซานที่ถือว่าเป็นต้นแบบของสังคมนิยมที่มีมาก่อนพรรคบอลเชวิค ของรัสเซีย ที่ลุกขึ้นโค่นล้มพระเจ้าซาร์นิโคลัสเป็นพันปี การก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็เพื่อต่อต้านพระนางซูสีไทเฮากับบรรดาอำมาตย์และขันทีผู้ชั่วช้า

ขนานไปกับ ดร.ซุน ยัดยัดเซน ผู้ก่อตั้งบริการใต้ดินที่ต่อมามีชื่อว่า ก๊กมินตั๋ง ผิดกันแต่ว่า ดร.ซุนต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นแบบสาธารณะทุนนิยมประชาธิปไตยแต่ประธานเหมาต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองไปเป็นสาธารณรัฐสังคมนิยม”

ในประเทศไทยเมื่อมีการตั้งชุมนุมชาวจีนที่มีพื้นที่จากหัวลำโพงมาจนถึงตลาดน้อยเข้ามาในถนนเยาวราชและถนนเจริญกรุงท่าน้ำเยาวราช(ปัจจุบันเรียกว่าไชน่าทาวน์) เยาวราชมีฮวงจุ้ยดีเป็นรูปมังกรหัวมังกรอยู่ที่วงเวียนโอเดียน หางมังกรอยู่ที่ราชวงศ์

คนจีนนอกมักหนีภัยจากความวุ่นวายมาอยู่ในประเทศไทย ที่เรียกกันติดปากคนจีนอพยพว่า ”เซียมก๊ก” ด้วยบรรพชนที่เคยมาตั้งรกรากและค้าขายกับกรุงธนบุรีศรีมหาสมุทรสมัยพระสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่คนจีนถวายพระนามว่า ”แต้ฮ๊วง” จักรพรรดิแซ่แต้ ว่าคนจีนกับคนไทยเป็นพี่น้องกันร่วมกันกู้แผ่นดินขึ้นมาจากน้ำมือของพวกพม่าที่เผากรุงศรีอยุธยา

แม่ดอกเหมยที่รักเป็นผลผลิตที่ถือกำเนิดในเมืองจีนแล้วติดตามบิดามารดาเติบโตในแผ่นดินไทย แม่ดอกเหมยบอกไพฑูรย์ว่า

”เตี่ย อั้วเป็นพวกบู๊เฮียบ (นักสู้ผู้กล้า)ที่ร่วมต่อสู้กับพลพรรคต่อต้านราชวงศ์เช็ง ภายใต้คำขวัญว่า”เทิดเหม็งล้มเช็ง” เตี่ยพาอาม่ากับอั้วลงสำเภาหนีราชภัยมาที่เมืองไทยมาพักอยู่ในเยาวราชกับญาติชาวซัวเถา”

อั้งยี่ไหนเยาวราชเป็นสมาคมลับที่ก่อตั้งขึ้นจากชาวจีนที่มีฝีมือทางเป็นนักบู๊ตั้งเพื่อคุ้มครองชาวจีนที่มักถูกคนไทยรังแกต่อมาเมื่อคนไทยไม่กล้ามารังแกจึงรวมตัวกันตั้งเป็นสำนักคล้ายสำนักประกันภัยในสมัยโบราณ

แต่แทนที่จะรับจ้างขนของมีค่าฝ่าดงโจรผู้ร้ายไปถึงจุดหมายปลายทางกลับรับจ้างคุ้มครองสำนักนางโลมบ่อนการพนันไปจนถึงรับจ้างฆ่าคน อาวุธที่ใช้เป็นอาวุธโบราณรวมตัวกันเป็นคณะ

ยุคที่อั้งยี่เรืองอำนาจที่สุดในสมัยรัชกาลที่ 5 จนต้องมีพระบรมราชโองการให้เจ้ากรมตำรวจนครบาลกรมหลวงนเรศวรฤทธิ์ วางแผนปราบปรามกวาดล้างอั้งยี่ให้ราบคาบกรมหลวงนเรศวรฤทธิ์ ระดมกําลังพล ตระเวนหัวแดงแข้งดำทั้งหมดขึ้นรถรางเข้าทำการจับกุมกวาดล้างอั้งยี่ครั้งใหญ่จับมัดมือไพล่หลังขึ้นรถรางหลายเที่ยวกว่าจะหมดนับแต่นั้นมาอั้งยี่ในเยาราชจึงหลบลงใต้ดิน อั้งยี่ที่ถูกจับคราวนั้นส่วนหนึ่งถูกเนรเทศออกจากประเทศไทย

ครั้นมาถึงปีพ.ศ. 2483 ญี่ปุ่นบุกเข้าไปรุกรานประเทศจีนปล้นฆ่าข่มขืนและทำร้ายชาวจีนทั้งในเมืองนานกิง จงกิง ดร.ซุนยัดเซนเดินทางออกจากประเทศจีนไปพบชาวจีนโพ้นทะเลเพื่อรวบรวมทุนในการซื้ออาวุธและเสบียงในการสู้รบกับญี่ปุ่นตอนนี้เองที่อาวุธทันสมัยทะลักเข้ามาทางทะเลผ่านท่าน้ำราชวงศ์เข้ามายังเยาวราช อั้งยี่คณะเล็บเขียวและสัญลักษณ์กรรไกรขาเดียวผูกโบว์แดงได้ออกอาละวาดฆ่าบรรดาคนจีนที่มาค้าขายกับญี่ปุ่น

ใครก็ตามถูกตั้งข้อสังเกตว่าคบญี่ปุ่นจะถูกหมายหัวเอาไว้ไม่นานก็จะถูกสังหารด้วยการบุกเข้าแทงด้วยกรรไกรขาเดียวกลางวันแสกแสกเพื่อสร้างความหวาดกลัวให้กับผู้คนจะได้ไม่กล้าคบกับญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นก็เอาคืนด้วยการส่งสายลับที่เรียกกันว่า”มังกรดำ”เข้ามาสังหารคนจีนที่ทำร้ายคนญี่ปุ่นและคนจีนคบญี่ปุ่น

ตอนนั้นการบุกเข้ายิง เหีย กวงเอี่ยม ขณะกลับจากดูงิ้วเป็นเรื่องใหญ่มากและกระทบกับสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนจนทางตำรวจต้องส่งร้อยตํารวจเอกเยื้อน ประภาวัตร (ยศตอนนั้น)บุกเข้ามาสืบสวนในเยาวราชเป็นครั้งแรกที่สันติบาลบุกเยาวราชเพราะแต่ไหนแต่ไรทางเยาวราชจะปกครองกันเองไม่สร้างเรื่องราวใหญ่โต

ในที่สุดก็สามารถจับกุม เซียะ ปิง เอาไว้ได้ส่งตัวไปดำเนินคดีจนต้องคำพิพากษาให้เข้ามาอยู่ในบางขวาง ในขณะนั้นนอกจากอั้งยี่ในเยาวราชแล้วก็เกิดคณะนักเลงตามย่านต่างๆของกรุงเทพฯ

มีสำนักสักยันต์หลายสำนัก มีทั้งที่เป็นฆราวาสและที่เป็นสงฆ์ไพฑูรย์ว่าที่เป็นพระก็มีหลายสำนักเช่นหลวงปู่ปั้นวัดสะพานสูงบางซื่อ ท่านสักยันต์ใบโพธิ์ หลวงพ่อโมวัดสามจีนสักลักกั๊ก หลวงพ่อหรุ่นวัดอัมพวันสักเก้ายอดที่เป็นฆราวาสก็มีสำนักอาจารย์บู๊สักลายสักด้วยหมึกแดงเรียกว่า อุตตะรัง

ในเยาวราชมีเทียบโลหิตส่งไปยังบรรดาพ่อค้าคนจีนเป็นการเตือนมีข้อความว่าขอให้ยุติการให้ความร่วมมือกับญี่ปุ่นทำร้ายพี่น้องชาวจีนในแผ่นดินใหญ่ถือเป็นคนทรยศต่อพ่อแม่พี่น้องชาวจีนในแผ่นดินใหญ่หากได้รับเทียบแล้วไม่ปฏิบัติตามจะถูกสังหารประจานเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างกับบุคคลอื่นได้กระทำตามมีผู้ได้รับเทียบโลหิตหลายรายไม่ใส่ใจคิดว่าเป็นการข่มขู่เพื่อจะเรียกเงินค่าคุ้มครองการสังหารด้วยกรรไกรขาเดียวจึงถี่ขึ้น

เหตุการณ์ตอนนี้แหละที่ พนมเทียน นำไปเป็นพล็อตเรื่อง”เล็บครุฑ”มีขุนพลจางโซวเหลียงเป็นตัวเอกรับบทโดย อบ.บุญติด สุพรรณ พราหมณ์พันธุ์เป็นผู้กำกับ การแสดงฉายที่ศาลาเฉลิมกรุงได้ค่าซื้อตั๋วเข้าชมเป็นจำนวนมาก กับอีกเรื่องหนึ่งคือเรื่อง”กตัญญูประกาศิต”ที่เขียนโดยพันตำรวจเอกเยื้อน ประภาวัตร ได้รับการนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เช่นกัน

เยาวราชในระหว่างปีพ.ศ. 2483 ถึง 2488 วุ่นวายมากเป็นช่วงที่ไพฑูรย์ผันตัวเองไปเป็นผู้คุมกฎของคณะดอกเหมยที่รัก อั้งยี่เล็บเขียวพบจุดจบเมื่อถูกอั้งยี่คณะต่างๆร่วมมือกันเข้ารบด้วยเหมือนมดแดงเข้าไปในวงช้างหัวหน้าคณะเล็บเขียว ชื่อ ”ตั้ง กิ่วหลง” หนีกลับเมืองจีนแต่ไม่ทันได้กลับถูกมือสังหารบุกขึ้นไปสังหารตายคาสำเภาที่จอดรอเวลาเดินทางที่เกาะสีชัง เป็นอันว่าคณะเล็บเขียวสิ้นไปจากแผ่นดินไทย

แม่ดอกเหมยเองก็อยู่ไม่ได้หลังจากสงครามสงบและอั้งยี่ในเยาวราชรวมตัวกันประกาศชัยชนะเพราะเมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามทางฝ่ายพันธมิตรได้ประกาศว่ารัฐบาลไทยภายใต้การนำของ จอมพลป. พิบูลสงครามให้ความร่วมมือกับญี่ปุ่นจึงถูกจับกุมตัวและประเทศไทยอยู่ในฐานะผู้แพ้สงครามเกิดการปะทะกันระหว่างชาวจีนในเยาวราชกับกองกำลังผสมตำรวจทหารอย่างหนัก ก่อนที่จะยุติลงด้วยเลือดและน้ำตา

แม่ดอกเหมยที่รักตัดสินใจกลับบ้านเกิดเพราะคณะอั้งยี่ที่เธอเป็นหัวหน้าเข้าร่วมการต่อสู้กับทางการต่อมาทางเสรีไทยได้เข้าสวนสนามร่วมกับกองทัพฝ่ายพันธมิตรทำให้สามารถพลิกสถานการณ์มาเป็นผู้ชนะสงครามจอมพลป. รอดจากข้อหาอาชญากรสงครามแต่จอมพลฮิเดโยชิ โตโจ ถูกแขวนคอด้วยข้อหาอาชญากรสงคราม

หมดแม่ดอกเหมยที่รักไพฑูรย์ก็หมดกำลังใจจึงตัดสินใจเป็นนักโทษชั้นดีเป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงานในที่สุดก็ได้รับพระราชทานอภัยโทษในปีพ.ศ. 2500 มาเขียนเรื่องจอมอาชญากรหมายเลข 1 อันโด่งดัง

ไพฑูรย์บอกว่า หากต้องการสัมผัสกับบรรยากาศของเยาวราชตอนสงครามโลกครั้งที่ 2 ว่าเป็นอย่างไรให้ไปหาหนังสือชื่อเล็บครุฑของพนมเทียนและกตัญญูประกาศิตของพันตำรวจเอกเยื้อน ประภาวัตร อ่านจะสนุกจนวางไม่ลงให้บรรยากาศของเยาวราชได้เป็นอย่างดี

ไพฑูรย์มักย้ำในข้อเขียนเสมอว่าอาชญากรรมเป็นสิ่งที่เลวร้ายอาชญากรรมไม่เคยทำให้ใครได้ดีนอกจากจะทำให้ตกต่ำ

ในชีวิตของไพฑูรย์ไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดซึ่ง ณ ขณะนั้นคือฝิ่นที่มีการค้าขายกันอย่างโจ๋งครึ่ม บางครั้งจับได้บนรถไฟใส่เข็งมา 10 เข่งพอมาถึงบางกอกกับกายเป็นส้มมะขามเปียกเพราะมีการสับเปลี่ยนของกลางออกไปหนังสือพิมพ์ประโคมข่าวการเล่นกลระดับชาติ ทำให้ฝิ่นกลายเป็นส้มมะขามเปียกติดต่อกันหลายวัน ไพฑูรย์บอกว่าอ่านแล้วขำกลิ้ง

การที่ผู้เขียนได้รับฟังเรื่องราวต่างๆจากปากของไพฑูรย์ พันธุ์เชื้องามทำให้ได้รับรู้เรื่องราวที่ไม่เคยรู้และได้ยินมาก่อนเพราะเกิดไม่ทันหลายอย่างเพื่อเพิ่มประสบการณ์ชีวิตอย่างที่ไม่เคยได้รับมาก่อนส่วนหนึ่งได้ถ่ายทอดลงเกิดใต้ดาวโจรให้ท่านผู้อ่านได้อ่านอย่างต่อเนื่องตลอดมา

ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก : นักเลง โบราณ ตำนานหนังเหนียว
ขอขอบคุณรูปภาพสวยๆจาก : Norragate
นำเสนอโดย : แอพเกจิ – AppGeji

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: