2239.หลวงปู่เล็ก วัดบ้านหนอง หนึ่งในสุดยอดพระเกจิแห่งเมืองชัยนาท

#สุดยอดพระเกจิแห่งเมืองชัยนาท
พระสุปฏิปันโนองค์หนึ่งแห่งวัดบ้านหนอง ที่ชาวบ้านหนองเลื่อมใสศัทธาวิชาอาคมแก่กล้า พระผู้ที่มี “วาจาศักดิ์สิทธิ์” เทพเจ้าแห่งบ้านหนองเมืองชัยนาท..
#หลวงปู่เล็ก อินทสะระ วัดบ้านหนอง จ.ชัยนาท

#หลวงพ่อวัดบ้านหนอง ”
……..หรือหลวงปู่เล็ก วัดบ้านหนอง ท่านเกิดปี มะแม 25 พ.ค. 2437 ท่านบวชเมื่อปีมะโรงอายุ 22 ปี ณ วัดอินทาราม (ตลุก) อ.สรรพยา จ.ชัยนาท พระอุปัชฌาชย์ของท่านคือ หลวงพ่อคง วัดใหม่บำเพ็ญบุญ ห้วยกรด พระคู่สวด คือท่านเจ้าคุณอุดร อยู่วัดโพธิ์ และพระสมุห์เชิด ท่านบวชตั้งแต่เป็นสามเณร และไม่เคยสึกออกจาก ร่มกาสาวพัสตร์
……หลวงพ่อเล็ก หรือหลวงปู่เล็กท่านจำพรรษาอยู่ที่ วัดตลุก 4-5 ปีกับพระอาจารย์องค์สำคัญคือ หลวงพ่ออ่ำแห่งวัดตลุก ท่านศึกษาวิชาจากหลวงพ่ออ่ำ แห่งวัดตลุก พระอาจารย์ของท่าน เป็นพระผู้ทรงคุณวิเศษเรื่องเวทย์อภิญญา สำเร็จวิชาธาตุ ทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ สามารถเปลี่ยนธาตุต่างๆ ได้ จากดินเป็นน้ำเป็นลมหรือไฟก็ได้ หลวงพ่ออ่ำท่านเป็นพระสมัยเดียวกัน กับหลวงปู่ศุขวัดปากคลองมะขามเฒ่า อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท ที่นับว่าเรืองวิชาอาคมสูงองค์หนึ่ง “ปากท่านศักดิ์สิทธิ์มาก” แม้แต่ “เรือกลไฟที่กำลังแล่นมาท่านบอกให้หยุดได้ทันที” ท่านยังเป็นพระที่ เก่งทางรักษาโรคด้วยสมุนไพร และถอนคุณไสยต่างๆ อภินิหารและความศักดิ์สิทธิ์ ของหลวงพ่ออ่ำ ยังมีอีกมาก แต่ไม่อาจนำมาลงได้หมด ที่นี้เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น

หลวงพ่อเล็ก หรือ หลวงปู่เล็ก อินทสะระท่านเป็นพระสุปฏิปันโนองค์หนึ่งแห่งวัดบ้านหนอง ที่ชาวบ้านหนองเลื่อมใส

เมื่อสมัยที่ท่านจาริกธุดงค์นั้น หลวงปู่เล็กได้ยึดหลักประการแรกคือ ทำตนให้สะอาดบริสุทธิ์ด้วยศีลอย่างเคร่งครัด เพราะพระอาจารย์ของท่าน คือหลวงพ่ออ่ำ สอนย้ำแล้วย้ำอีกก่อนจะอนุญาตให้ท่านออกธุดงค์ว่า พระธุดงค์ถ้าศีลไม่บริสุทธิ์ เมื่อไรก็มักจะเกิดมีเหตุร้ายขึ้นอย่างใดอย่างหนึ่งเสมอเพราะผีสางเทวดาสิ่งลี้ลับอาถรรพณ์ ตลอดจนสัตว์ร้ายต่างๆ มีความเคารพนับถือผู้มีศีลสะอาด บริสุทธิ์ หากผู้ใดเป็นสมณะที่มีศีลด่างพร้อยย่อมจะถูกภัยอันตรายเล่นงานเอาได้ไม่รู้ตัว

หลวงปู่เล็กเดินธุดงค์ควัตรบำเพ็ญทางจิตแล้ว ท่านยังได้พยายามเสาะแสวงหาครูบาอาจารย์ผู้ยอดยิ่ง ที่ซ่อนเร้นอยู่อย่างสันโดษตามถ้ำ ตามป่าลึกเพื่อขอฝากตัวเป็นศิษย์ ศึกษาเพิ่มเติมในทางพุทธาคมไสยเวทอันลึกลับมหัศจรรย์ ซึ่งแต่ละสำนักหรือเกจิอาจารย์ย่อมจะมีฤทธิ์ไม่เหมือนกันทุกอย่าง ต่างก็เก่งไม่เท่ากันไปคนละแนวทางไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ดังนั้นในสมัยก่อนนั้นการแสวงหาครูบาอาจารย์หลายๆ องค์ จึงเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อจะได้รับวิทยายุทธทางจิตศาสตร์มหัศจรรย์ให้กว้างขวาง ไม่ยึดติดคับแคบ หลงตนเองอยู่ในสำนักอาจารย์แห่งเดียว

หากเราท่านจะได้พิจารณาอย่างลึกซึ้งด้วยจิตใจเป็นธรรมแล้ว จะเห็นว่าหลวงปู่หลวงพ่อ ครูบาอาจารย์นับตั้งแต่โบราณสมัยสืบเรื่อยมา พวกท่านศึกษาไสยเวท พุทธาคมควบคุู่ไปกับกรรมฐาน เมื่อมีความเชี่ยวชาญแล้วก็มักจะสร้างพระเครื่องและของขลังเป็นงานอดิเรก ซึ่งเป็นงานพิเศษสำคัญยิ่งเพื่อความเพลิดเพลินส่วนตัว

การที่พวกท่านสร้างสรรค์พระเครื่องก็ดี สร้างเครื่องรางของขลังต่างๆ ก็ดี ล้วนดำเนินการอยู่ในกรอบของ “นักบุญ” ผู้ดำเนินปฎิปทา ความประพฤติการปฎิบัติ จริยธรรมในแนวทางห่างไกลจากกิเลสอาสวะมากแล้ว เบื่อหน่ายชือชาต่อทางโลกอันมีแต่ทุกข์ มุ่งบำเพ็ญแต่ในทางสันโดษมักน้อย เจริญศีลภาวนาหวังเอามรรคผลเป็นที่ตั้ง

จุดมุ่งหมายของพวกท่านในการสร้างสรรค์พระเครื่องและเครื่องรางของขลังต่างๆ ก็เพื่อจูงในศรัทธามหาชนให้เข้าวัด เข้าหาทางพระศาสนา เป็นการสืบต่อพระศาสนาให้ยืนยาวออกไปเป็นประการแรก และประการต่อมาก็ด้วยมีเมตตาธรรมอย่างกว้างขวางลึกซึ้งต่ออนุชนรุ่นหลังทั้งหลาย โดยพวกท่านพิจารณาหยั่งรู้ได้ด้วยกระแสญาณว่า อนุชนรุ่นหลังใกล้กึ่งพุทธกาลและเลยกึ่งพุทธกาลไปแล้ว นับว่าจะมีแต่เผชิญกับภัยอันตรายนานัปการน่าหวาดเสียวยิ่งนัก หากได้มีพระเครื่องหรือเครื่องรางไว้ติดตัวเพื่อเป็นเครื่องอุ่นใจ ก็ย่อมจักช่วยคุ้มครองป้องกันผ่อนหนักเป็นเบา หรือช่วยให้ปลอดภัยเป็นสวัสดิมงคลทั้งตนเองและหมู่คณะจักเป็นเครื่องบำรุงศรัทธาความเลื่อมใสในอนุชนนั้นๆ มีจิตใจฝักใฝ่ในศีลธรรมพระศาสนายิ่งขึ้นไปอีก

หลังจากที่หลวงปู่เล็กได้ท่องเที่ยวธุดงค์ บำเพ็ญภาวนาทางจิตใจรับความสงบในพระสมาธิธรรม และเจริญญาณเมตตาตลอดจนศึกษาพุทธาคม จากครูบาอาจารย์หลายสำนักพอสมควรแล้ว ท่านก็มาจำพรรษาที่วัดบ้านหนอง ตำบลตลุก อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท ก่อนที่จะมาจำพรรษาอยู่วัดนี้ ท่านเคยจำพรรษาวัดอื่น มาแล้วในสมัยธุดงค์ เพราะการเที่ยวธุดงค์นั้นเมื่อใกล้พรรษาก็จะหาวัดใดวัดหนึ่งจำพรรษา ครั้งออกพรรษาแล้วจึงจะธุดงค์ต่อไปอีก ยกเว้นพระธุดงค์บางองค์หรือบางหมู่ที่จะอธิษฐานเข้าพรรษาตามถ้ำเขาลำเนาไพร ตามสภาวะความเหมาะสม หลวงปู่เล็กเลยจำพรรษาเท่าที่จำได้มี วัดดอนรังนก วัดโสภาราม เป็นต้น

ท่านได้เริ่มสร้าง “อิทธิวัตถุ” เป็นเหรียญรุ่นแรก ที่วัดบ้านหนอง เหรียญรุ่นนี้ท่านลงเหล็กจารกำกับทุกเหรียญ เวลานี้หายากแล้ว ใครมีไว้ก็หวงแหนเพราะมีประสบการณ์ในความศักดิ์สิทธิ์ มหัศจรรย์ยอดเยี่ยมในทุกด้านทั้งเมตตามหานิยมคงกระพันหนังเหนียวและมหาอุด รวมทั้งแคล้วคลาด สำหรับเหรียญรุ่นต่อมาคือเหรียญรุ่น ๒ รุ่น๓ พอจะหาได้ในหมู่ลูกศิษย์ลูกหาและชาวบ้าน แต่คงจะไม่ปล่อยให้ใครง่ายๆ เพราะหวงแหนเอาไว้ป้องกันตัวเอง

หลวงปู่เล็ก ก็มีบุคลิกและอัธยาศัยสมถะพูดน้อย ถ้าใครไม่ถามท่านจะไม่พูดอะไรเลยได้ แต่นั่งสงบเงียบอยู่ตลอดทั้งวัน ดังนั้นเรื่องพูดโอ้อวดคุณวิเศษของตน จึงเป็นสิ่งที่ท่านไม่ประพฤติเลย ท่านสงบเสงี่ยมเจียมตัว แต่ความเป็นจริงแล้ว ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ที่เปี่ยมล้น ไปด้วยจิตภูมิธรรมขั้นสูง ทรงคุณระดับขั้นอิทธิอภิญญาณ เป็นที่ประจักษ์รู้เห็น ในหมู่ศิษยานุศิษย์ และผู้มีวาสนาได้ใกล้ชิดกราบไหว้ท่านมาแล้ว เป็นต้นว่า

๑ มีวาจาสิทธิ์ พูดอะไรเป็นเช่นนั้น
๒ มีตาทิพย์
๓ หายตัวได้
๔ ถ่ายรูปไม่ติด
๕ อิทธิวิธี หรือ ทรงฤทธิ์

วิชา๕ ประการนี้ หลวงพ่ออ่ำ วัดตลุก ผู้เป็นอาจารย์ใหญ่ได้ประสิทธิ์ ประสาทให้แก่หลวงปู่เล็กอย่างเต็มภูมิ และท่านยังได้รับการเสริมวิชชามหัศจรรย์ดังกล่าวนี้ให้มีอานุภาพยิ่งขึ้น จากครูบาอาจารย์เถื่อนถ้ำและสำนักสำคัญๆ อีกหลายแห่งจนครบวงจรหรือสมบูรณ์แบบใน “วสีภาวะ” หรือความเชี่ยวชาญในการสำแดงให้สัมฤทธิ์ผลในชั่วพริบตานั่นแลฯ

………หลวงปู่เล็กนั้นแม้ท่านจะชราภาพ อายุถึง 97ปีในปี พ.ศ.2534 แต่ท่านก็ยังมีความจำดี ไม่เสื่อมคลาย ท่านยังปลุกเสกวัตถุมงคลได้ จนกระทั่งปลายปี 2534 หลวงปู่เล็กได้อาพาธหนักได้เข้ารักษาตัวที่รพ.ชัยนาท (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นรพ.ชัยนาทนเรนทร)จนกระทั่งเข้ารักษาตัวในห้องไอซียู จนถึงเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2535 หลวงปู่เล็กได้ละสังขาร มรณภาพจากไปอย่างสงบ ท่ามกลางความเสียใจของศิษย์และชาวบ้านหนอง ตลอดจนชาวชัยนาท ได้มาร่วมงานศพของหลวงปู่เล็กกันมากมาย

แรกเริ่มทีเดียวทางวัดได้ตั้งสวดพระอภิธรรม แต่เมื่อตั้งศพสวดพระอภิธรรมนานๆเข้าได้สังเกตุเห็นร่างของหลวงปู่เล็ก ไม่เน่าเปื่อยไปตามกาลเวลา ทางวัดจึงปรึกษาหารือกัน สรุปว่าเก็บร่างหลวงปู่เล็กไว้ในโลงแก้วเพื่อให้ศิษย์และประชาชนทั่วไปมากราบไหว้ หลวงปู่เล็ก อินทะสะระ จนถึงปัจจุบัน

ที่มา​ จดหมายเหตุพระเกจิ

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: