2238.หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน มอบกายถวายชีวิตต่อหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน มอบกายถวายชีวิตต่อหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต จากจังหวัดสกลนคร ท่านก็เดินทางต่อไปจนถึงวัดที่หลวงปู่มั่น พักอยู่ในระยะนั้นคือ ที่บ้านโคก ตำบลตองโขบ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ท่านกล่าวถึงเหตุการณ์ในระยะนี้ว่า

“… พอทราบแล้ว ๓ วันเท่านั้นนะ เตรียมของไปเลย ไปก็ไปโดนเอาจริง ๆ นี่ละ.. มันมีแต่ผลบวกนะ พอไปก็ไปพักอยู่สุทธาวาส ๒ คืน พอฉันจังหันแล้ว สาย ๆ ก็ออกเดินทางไปถึงบ้านโคกมืดแล้ว บุกไปอย่างนั้นละ กลางคืนมืดถนนไม่ต้องถามละ ไม่มี ไปตามทางล้อทางเกวียนธรรมดา

พอไปถึง เราไปถามชาวบ้านเขา เขาก็บอก ไปถึงบ้านโคกมันมืดแล้ว ‘วัดป่าบ้านโคกอยู่ที่ไหน แล้วท่านอาจารย์มั่น ท่านอยู่ที่นี่ใช่ไหม ?’

‘อยู่..ท่านเพิ่งย้ายมาจากบ้านนามน ท่านจะมาพักจำพรรษาที่นี่ในปีนี้’

‘ไหน..วัดไปทางไหน ?’

เขาก็เลยพาไป ‘ไป..ผมจะพาไป เพราะทางเข้าไปวัดของท่านอาจารย์มั่นเป็นทางด่านนะ มันไม่ได้เป็นทางล้อทางเกวียนอะไร ทางเป็นด่าน พอคนเดินไปพ้นตัวไปเท่านั้นแหละ’ ชาวบ้านเขาบอก … ออกไปนี้พอไปถึงกลางบ้าน

เขาบอกให้มานี่ เขาก็ชี้ทาง ‘นี่ละทางเส้นนี้ไปวัด ให้จับทางสายนี้นะ นี่แหละต้นทาง ให้เดินตามทางนี้ อย่าปลีกทางนี้ มันเป็นทางแคบ ๆ เพราะท่านเพิ่งมาอยู่ใหม่ ทางก็แคบ ๆ บุกไปอย่างนั้นแหละ ให้ตามทางนี้ อย่าปล่อยทางนี้แล้วจะเข้าถึงวัดเลย’

พอเขาบอกอย่างนี้แล้วเราก็ไป ไปทั้งมืด ๆ ไปพอ ‘ช่วมช่าม ๆ’ เข้าไปในวัด จากนั้นก็ดูนั้นดูนี่มืด ๆ จนไปเห็นศาลาหลังหนึ่ง ทำให้สงสัยนะ
‘เอ๊…นี่ ถ้าเป็นศาลามันก็ดูว่าเล็กไปสักหน่อย’ หมายถึงศาลากรรมฐานนะ…

‘ถ้าว่าเป็นกุฏิ ก็จะใหญ่ไป’ กำลังดูอยู่อย่างนั้น แล้วก็เดิน ‘เซ่อซ่า ๆ’ เข้าไป ท่านอาจารย์มั่นกำลังเดินจงกรมอยู่นี่นา ….มันก็ไม่เห็น เอ้อ… ท่านเดินจงกรมอยู่ข้างศาลา ท่านกั้นห้องศาลาพักอยู่นั่น พักจำวัดอยู่ที่ห้องศาลาเล็ก ๆ นั่นนะ

เราก็เดินซุ่มซ่าม ๆ มองนั้นมองนี้ไป ก็เราไม่เห็นนี่ มันกลางคืนแล้ว ท่านก็ยืนอยู่ใกล้ ๆ นี้…”

ท่านเดินไปจนพบหลวงปู่มั่น บนทางจงกรม หลวงปู่มั่นจึงถามขึ้นว่า “ใครมานี่ ?”

ท่านกราบเรียนว่า “ผมครับ”

ด้วยคำตอบนั้นของท่าน ทำให้หลวงปู่มั่นกล่าวขึ้นอย่างดุ ๆ พร้อมกับใส่ปัญหาให้ได้คิดในทันทีนั้นว่า
“อันผม ๆ นี้ ตั้งแต่คนหัวล้าน มันก็มีผมไอ้ตรงที่มันไม่ล้าน”

ถึงตรงนี้ท่านว่า รู้สึกเสียวแปล๊บในหัวใจ เพราะเข้าใจทันทีว่าไม่เกิดประโยชน์อันใดด้วยการตอบเช่นนี้เลย

ขณะเดียวกันทั้ง ๆ ที่กลัวเกรงหลวงปู่มั่นมาก แต่ก็รู้สึกถึงใจอย่างที่สุดกับคำดุชนิดที่หาที่ค้านไม่ได้เลย และยอมรับทันทีในไหวพริบปฏิภาณของหลวงปู่มั่น แม้จะกลัวเพียงใดก็ตาม แต่กลับรู้สึกดีใจอยู่ลึก ๆ ว่า
“นี่แหละ..อาจารย์ของเรา”

จากนั้นท่านก็เลยรีบกราบเรียนใหม่ทันทีว่า “ผมชื่อพระมหาบัว”

“เออ!.. ก็ว่า ‘อย่างงั้นซี่’ มันถึงจะรู้เรื่องกัน อันนี้ว่า ผม ผม ใครมันก็มี ผมเต็มหัวทุกคน แล้วใครจะรู้… ไป..ไปพักข้างศาลานะ”

จากนั้น หลวงปู่มั่นก็ออกจากทางจงกรม
ขึ้นไปบนศาลา ภายในศาลาจะกั้นเป็นห้องใช้เป็นที่พักสำหรับหลวงปู่มั่น เมื่อขึ้นบนศาลาแล้ว หลวงปู่มั่นเตรียมจะจุดตะเกียงหรือโป๊ะเล็ก ๆ ตะเกียงมีแก้วเล็ก ๆ ครอบเหมือนดอกบัว

พอได้ยินเสียงหลวงปู่มั่นขู่เท่านั้น พระเณรที่เดินจงกรมอยู่ในเวลานั้นก็หลั่งไหลมากัน ก็พอดีมีพระขึ้นไปจุดไฟให้ท่าน เมื่อหลวงปู่มั่นนั่งลงแล้ว ท่านจึงถือโอกาสเข้ากราบเรียนถวายตัวเป็นศิษย์ และเรียนให้ท่านทราบถึงที่มาที่ไป พอให้ท่านได้รู้จักในตอนนั้นหลวงปู่มั่นยังคงฟังอยู่นิ่ง ๆ

ด้วยความมุ่งมั่น อยากจะมาศึกษาอยู่กับท่านเต็มเปี่ยมมานานหลายปีแล้ว ประกอบกับรู้สึกประทับใจในสติปัญญาฉับไวของหลวงปู่มั่น ความที่กลัวว่าจะไม่ได้อยู่ด้วย ทำให้ท่านเกิดความวิตกกังวลและครุ่นคิดอยู่ในใจว่า
“ไม่อยากได้ยินเลยคำทีว่า ที่นี่เต็มแล้ว รับไม่ได้แล้ว กลัวว่าหัวอกจะแตก…”

สักครู่หนึ่ง หลวงปู่มั่นก็พูดขึ้นว่า “นี่พอดีนะนี่ เมื่อวานนี้ท่านเนตรไปจากนี้ แล้ววันนี้ท่านมหาก็มา ไม่เช่นนั้นก็ไม่ได้อยู่ กุฏิไม่ว่าง”

คำพูดของหลวงปู่มั่นครั้งนั้น ทั้ง ๆ ที่ก็เมตตารับท่านไว้ แต่อย่างไรก็ตาม ท่านเองก็ยังอดไม่ได้ที่จะรู้สึกใจหายใจคว่ำเป็นอย่างยิ่ง เพราะกลัวว่าจะไม่มีโอกาสได้อยู่ศึกษาด้วย คำกล่าวของหลวงปู่มั่นครั้งนั้น จึงทำให้ท่านไม่สามารถจะลืมได้แม้จนทุกวันนี้

ธรรมบทแรก
“ปริยัติให้ยกบูชาไว้ก่อน แล้วปฏิบัติจะประสานกลมกลืน”

ถึงแม้ท่านจะเคยปฏิบัติด้านจิตภาวนามาบ้าง และก็มีโอกาสศึกษาค้นคว้าด้านปริยัติถึง ๗ ปีก็ตาม แต่สิ่งนี้ก็ยังไม่ทำให้ความสงสัยของท่านในเรื่องมรรคผลนิพพานหมดไป ยังคงเก็บความสงสัยอยู่ในใจตลอดมา และก็ดูเหมือนกับหลวงปู่มั่นจะล่วงรู้ถึงวาระจิตของท่าน จึงพูดบทธรรมครั้งแรกจี้เอาตรง ๆ ในคืนแรกนี้เลยว่า

“ท่านมาหามรรคผลนิพพาน มรรคผลนิพพานอยู่ที่ไหน ? ดินเป็นดิน น้ำเป็นน้ำ ลมเป็นลม ไฟเป็นไฟ ฟ้าอากาศเป็นฟ้าอากาศ แร่ธาตุต่าง ๆ เป็นของเขาเอง เขาไม่ได้เป็นมรรคผลนิพพาน เขาไม่ได้เป็นกิเลส กิเลสจริง ๆ มรรคผลนิพพานจริง ๆ อยู่ที่หัวใจ

ขอให้ท่านกำหนดจิตจ่อด้วยสติที่หัวใจ ท่านจะเห็นความเคลื่อนไหวของทั้งธรรมของทั้งกิเลสอยู่ภายในใจ แล้วขณะเดียวกันท่านจะเห็นมรรคผลนิพพานไปโดยลำดับลำดา”

เทศนาดังกล่าวนี้ ทำให้ท่านมีความมั่นใจ
ในเรื่องมรรคผลนิพพาน และเชื่อมั่นในความรู้ความเห็นของหลวงปู่มั่น ที่พูดไขข้อข้องใจได้ตรงจุดแห่งความสงสัย จากนั้นหลวงปู่มั่นมีเมตตาชี้แนะบทธรรมในภาคปฏิบัติให้ ด้วยทราบว่า ท่านมีความรู้ในภาคปริยัติเต็มภูมิมหาเปรียญและนักธรรมเอก และมีความสนใจใคร่ต่อการประพฤติปฏิบัติ บทธรรมบทนี้ แม้จนบัดนี้ยังคงฝังลึกอยู่ภายในใจของท่านตลอดมา ดังนี้

“…ท่านมหาฯ ก็นับว่าเรียนมาพอสมควร จนปรากฏนามเป็นมหาฯ ผมจะพูดธรรมให้ฟังเพื่อเป็นข้อคิด แต่อย่าเข้าใจว่าผมประมาทธรรมของพระพุทธเจ้านะ

เวลานี้ธรรมที่ท่านเรียนมาได้มากได้น้อย ยังไม่อำนวยประโยชน์ให้ท่านสมภูมิที่เป็นเปรียญ นอกจากจะเป็นอุปสรรคต่อการภาวนาของท่านในเวลานี้เท่านั้น เพราะท่านจะอดเป็นกังวล และนำธรรมที่เรียนมานั้นเข้ามาเทียบเคียงไม่ได้ในขณะที่ทำใจให้สงบ

ดังนั้น เพื่อความสะดวกในเวลาจะทำความสงบให้แก่จิต ขอให้ท่านที่จะทำใจให้สงบ ยกบูชาไว้ก่อนในบรรดาธรรม

ที่ท่านได้เรียนมา ต่อเมื่อถึงกาลที่ธรรมซึ่งท่านเรียนมาจะเข้ามาช่วยสนันสนุน ให้ท่านได้รับประโยชน์มากขึ้นแล้ว ธรรมที่เรียนมาทั้งหมดจะวิ่งเข้ามาประสานกันกับทางด้านปฏิบัติ และกลมกลืนกันได้อย่างสนิท ทั้งเป็นธรรมแบบพิมพ์ ซึ่งเราควรจะพยายามปรับปรุงจิตใจให้เป็นไปตามนั้น

แต่เวลานี้ ผมยังไม่อยากจะให้ท่านเป็นอารมณ์กับธรรมที่ท่านเล่าเรียนมา อย่างไรจิตจะสงบลงได้หรือจะใช้ปัญญาคิดค้นในขันธ์ ก็ขอให้ท่านทำอยู่ในวงกายนี้ก่อน เพราะธรรมในตำราท่านชี้เข้ามาในขันธ์ทั้งนั้น แต่หลักฐานของจิตยังไม่มี

จึงไม่สามารถนำธรรมที่เรียนมาจากตำราน้อมเข้ามาเป็นประโยชน์แก่ตนได้ และยังจะกลายเป็นสัญญาอารมณ์คาดคะเนไปที่อื่น จนกลายเป็นคนไม่มีหลัก เพราะจิตติดปริยัติในลักษณะไม่ใช่ทางของพระพุทธเจ้า

ขอให้ท่านนำธรรมที่ผมพูดให้ฟังไปคิดดู ถ้าท่านตั้งใจปฏิบัติไม่ท้อถอย วันหนึ่งข้างหน้าธรรมที่กล่าวนี้ จะประทับใจท่านแน่นอน…”

ตั้งสัจอธิษฐานจะไม่หนีจากหลวงปู่มั่น

เมื่อได้อยู่ศึกษากับหลวงปู่มั่น ท่านจะคอยเฝ้าสังเกตทั้งทางหูทางตาอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าการชี้แจงแสดงเรื่องใด ท่านจะสนใจใคร่รู้ตลอดมาด้วยความอัศจรรย์ ท่านกล่าวถึงข้อปฏิบัติและคุณธรรมของหลวงปู่มั่นด้วยความเคารพบูชาว่า

“…เราก็อยู่กับท่านด้วยความพอใจ
จนบอกไม่ถูก แต่อยู่ด้วยความโง่เง่าอย่างบอก
ไม่ถูกอีกเหมือนกัน เฉพาะองค์ท่านรู้สึกมีเมตตาธรรมอนุเคราะห์ทุกครั้งที่เข้าไปหา

ท่านชี้แจงแสดงเรื่องอะไร ไม่ว่าดูท่านทางตา ฟังท่านทางหู ไม่เห็นมีสิ่งใดจะคลาดเคลื่อนจากหลักธรรมหลักวินัยข้อใดเลย ปฏิปทาการดำเนินของท่านก็มีแบบมีฉบับมีตำรับตำรา หาที่ค้านที่ต้องติมิได้ การพูดอะไรตรงไปตรงมา

แม้การแสดงเรื่องมรรคผลนิพพาน ก็แสดงชนิดถอนออกมาจากใจท่านแท้ ๆ ที่ท่านรู้ท่านเห็น ท่านปฏิบัติมา ทำให้ผู้ฟัง ฟังด้วยความถึงใจ เพราะท่านแสดงเหมือนว่าท้าทายความจริงจังของท่าน และท้าทายความจริงของธรรม…

ทำให้ลงใจถึงกับออกอุทานว่า ‘โอ้โห! นี่แหละ อาจารย์ของเรา’…”

สิ่งนี้ทำให้ท่านเกิดความมั่นใจและเชื่อแน่ว่า มรรคผลนิพพานมีอยู่จริง ความสงสัยในเรื่องนี้ที่เคยค้างมาแต่เดิม
ก็หมดสิ้นไป จากนั้นท่านจึงย้อนกลับมาถามตัวเองว่า

“…แล้วเราจะจริงไหม ?…”

ด้วยนิสัยทำอะไรทำจริง ทำให้ท่านตั้งใจแน่วแน่ว่า
“ต้องจริงซี ถ้าไม่จริงให้ตาย อย่าอยู่ให้หนักศาสนาและหนักแผ่นดินต่อไป”

ตั้งแต่นั้นมา ท่านก็เร่งความเพียรต่อสู้กับกิเลสอย่างเต็มเหนี่ยว และตั้งสัจอธิษฐานว่า

“…หากว่าท่านอาจารย์มั่น ยังมีชีวิตอยู่ตราบใดแล้ว เราจะไม่หนีจากท่าน จนกระทั่งวันท่านล่วงไปหรือเราล่วงไป แต่การไปเที่ยวเพื่อประกอบความพากเพียรตามกาลเวลานั้น ขอไปตามธรรมดา แต่ถือท่านเป็นหลัก เหมือนกับว่าบ้านเรือนอยู่กับท่าน ไปที่ไหนต้องกลับมาหาท่าน…”

ที่มา :: หนังสือญาณสัมปันนธัมมานุสรณ์
๑๐๕ ปีชาตกาล หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน

กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาบุญท่านเจ้าของผู้ถ่ายภาพนี้ พร้อมทั้งผู้ที่มีส่วนร่วมในการเผยแผ่โอวาทธรรมคำสอนนี้ ทุกๆ ท่าน

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: