1973.หลวงพ่อโม วัดจันทนาราม เทพเจ้าแห่งห้วยกรด​

‘หลวงพ่อโม ธัมมรักขิโต’ ​
อดีตเจ้าอาวาสวัดจันทนาราม ต.ห้วยกรด อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท เป็นอดีตเกจิเรืองนามรูปหนึ่งของชัยนาท

เกิดในสกุล คงเจริญ เมื่อปีมะเมีย ปี 2413 ณ บ้านบางยายอ้น ต.ห้วยกรด อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท

ช่วงวัยเยาว์อาศัยอยู่กับญาติ และบรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุ 8 ขวบ กระทั่งอายุครบ 20 ปี เข้าพิธีอุปสมบทที่วัดใหม่บำเพ็ญบุญ มีหลวงพ่อเถื่อน เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อพระสมุห์คง เป็นพระกรรมวาจาจารย์, หลวงพ่อโต วัดวิหารทอง เจ้าคณะแขวงอำเภอบ้านเชี่ยน เป็นพระอนุสาวนาจารย์ (บางท่านว่า พระอาจารย์นวม วัดกลาง เป็นพระอนุ สาวนาจารย์) ได้รับฉายา ธัมมรักขิโต

หลังบวชแล้วศึกษาเล่าเรียนทั้งวิชาภาษาไทย บาลี และพระธรรมวินัย รวมทั้งภาษาขอม เรียนกัมมัฏฐานและวิชาอาคมจากหลวงพ่อเถื่อน หลวงพ่อคง และหลวงพ่อม่วง ซึ่งล้วนเป็นพระเกจิอาจารย์ที่ชาวบ้านห้วยกรดให้ความเคารพนับถืออย่างยิ่ง โดยอยู่จำพรรษาที่วัดใหม่บำเพ็ญบุญได้ประมาณ 10 พรรษา จากนั้นไปศึกษาวิชาอาคมเพิ่มเติมจากหลวงพ่อโต วัดวิหารทอง

ต่อมา หลวงพ่อคงพาไปฝากเป็นศิษย์พระครูวิมลคุณากร (หลวงปู่ศุข เกสโร) วัดปากคลองมะขามเฒ่า อ.วัด สิงห์ รับการถ่ายทอดสุดยอดวิชาอาคมแขนงต่างๆ ตำรายาสมุนไพรและแพทย์แผนโบราณอยู่นานถึง 5 ปี ระหว่าง ปี 2451-2456 ก่อนกลับมายังวัดใหม่บำเพ็ญบุญ และได้รับการแต่งตั้ง เป็นเจ้าอาวาสสืบแทนหลวงพ่อคงที่มรณภาพ

พ.ศ.2457 ญาติของท่านได้ซื้อที่ดินติดกับวัดร้างประมาณ 30 ไร่เศษ สร้างเป็นวัดขึ้นใหม่ ชื่อว่า วัดจันทนาราม ก่อนอาราธนานิมนต์ท่านมาเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก จากนั้นท่านได้ร่วมมือกับชาวบ้านพัฒนาวัดจนเจริญขึ้นโดยลำดับ

ด้วยเหตุที่บริเวณวัดส่วนหนึ่งมีเนินอิฐปรักหักพัง มีพระพุทธรูปหินชำรุดอยู่องค์หนึ่ง ท่านจึงชักชวนชาวบ้านร่วมกันปฏิสังขรณ์ โดยนำเศียรพระ พุทธรูป ศิลปะอู่ทอง หรืออยุธยายุคต้น ซึ่งมีขนาดใกล้เคียงกันนำมาต่อเข้ากับพระองค์ดังกล่าว และเรียกชื่อตามเนื้อวัตถุที่สร้างว่า “หลวงพ่อหิน” ซึ่งถือว่าเป็นพระพุทธรูปคู่บารมีของหลวงพ่อโม ที่มีความศักดิ์สิทธิ์ ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในวิหารคู่กับรูปหล่อหลวงพ่อโม ​

ยามว่างจากงานพัฒนาวัด ท่านก็มักเดินทางไปแลกเปลี่ยนความรู้ด้านวิชาอาคมกับสหธรรมิกหลายๆ องค์ เช่น หลวงพ่อปลื้ม วัดสังฆาราม อ.สรรคบุรี หนึ่งในเกจิอาจารย์ดังแห่งเมืองสรรคบุรีที่วงการพระเครื่องรู้จักกันเป็นอย่างดี

หลวงพ่อโมเป็นพระที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัย สงบสำรวม ถ่อมตน ไม่อวดอ้างและพูดน้อย มีเมตตาธรรม ใครเดือดร้อนหรือมีปัญหาอะไรก็จะอนุเคราะห์ตามสมควรแก่เหตุโดยไม่เลือกชั้นวรรณะ

สำหรับวัตถุมงคลที่ได้รับความนิยมที่สุดของหลวงพ่อโมคือ ตะกรุดโทน มีทั้งเนื้อทองเหลืองฝาบาตร ทองเหลืองและทอง แดง ในยุคแรกยังหาแผ่นโลหะได้ยาก ท่านจึงไปขอฝาบาตรพระตามวัดต่างๆ มาตัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า แล้วจารยันต์ในตาราง เท่าที่พบจะเป็นยันต์คาถาบารมี 10 ทัศ คือ “อิติปาระมิตาติงสา อิติสัพพัญญมาคะตา อิติโพธิมะนุปปัตโต อิติปิโสจะเตนะโม” ด้วยเหตุที่ใช้ฝาบาตรทำจึงเรียกว่า “ตะกรุดฝาบาตร”

ต่อมาประมาณพ.ศ.2500 ก่อนสร้างโบสถ์ ท่านจึงให้ซื้อแผ่นทองแดงมาทำตะกรุด ซึ่งเอกลักษณ์ของตะกรุดหลวงพ่อโมคือ มีความยาวประมาณ 7 นิ้ว ขลิบมุม และมีรูค่อนข้างใหญ่สำหรับร้อยเชือกที่ทำจากผ้าขาวลงยันต์ฟั่นตีเกลียว และยาวพอที่จะคาดเอว

นอกจากตะกรุด ท่านก็ได้สร้างมีดหมอ คล้ายกับของหลวงพ่อเดิมที่ท่านได้ไปศึกษามา ลวดลายจะเป็นแบบนาคสมพงศ์ ผิดกับของหลวงพ่อเดิมตรงที่ปลายเศียรนาคนั้นจะไม่มียันต์ใบพัด ส่วนมากจะเป็นมีดเล่มใหญ่ และเหรียญของหลวงพ่อโม สร้างในปีพ.ศ.2497 โดย พระศรีนวล พระลูกวัด เพื่อนำเงินไปซื้อเครื่องปั่นไฟใช้ในวัด จำนวนการสร้างประมาณ 2,000 เหรียญ นอกจากนี้ ก็ยังมีรูปถ่ายขาวดำอัดกระจก ตะกรุดไม้รวกยอดด้วนพอกด้วยครั่ง สิงห์งาแกะ เหรียญรูปเหมือน รูปหล่อขนาดเล็ก รูปถ่าย พัด และสีผึ้ง ฯลฯ วัตถุมงคลของหลวงพ่อโมมีประสบการณ์มากมาย คนเมืองสรรคบุรีรู้ดีและหวงแหนกันมาก

มีเรื่องน่าอัศจรรย์ใจเกี่ยวกับภาพถ่ายของหลวงพ่อโม ที่พิมพ์ในใบฎีกาบอกบุญคราวสร้างโบสถ์ แม้มิได้ผ่านการปลุกเสก แต่ได้ช่วยให้ผู้ที่บูชาติดตัวรอดพ้นภัยอันตรายมาได้หลายราย ซึ่งเป็นเรื่องที่ยืนยันคำพูดของท่านที่ว่า “รูปของข้าใช้แทนวัตถุมงคลและตัวข้าได้” ได้เป็นอย่างดี

เรื่องราวอภินิหารมีมากมายเกี่ยวกับวัตถุมงคลของหลวงพ่อโม ทั้งชาวบ้านทำตะกรุดหาย และตอนเช้าพบอยู่ในนาที่เผาตอซังแล้วไม่ไหม้เป็นวงขนาดสักฟุตนึง หรือโจรลักควายที่พกตะกรุดหลวงพ่อโมวิ่งหนีฝ่าลูกปืน, และเด็กที่ตกเขื่อนเจ้าพระยาแล้วไม่ตาย, วัยรุ่นฟันกันด้วยมีดไม่เข้าคล้องเหรียญรุ่นตาเกี้ย ฯลฯ

คนรู้จักที่ชัยนาท ห้วยกรด เคยเล่าให้ฟังว่าสมัยก่อนมีโจรมาขโมยวัวเจ้าของออกตามหาวัวเพราะรักวัวตัวนั้นมากโดยไม่กลัวว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับตัวเองครับ ไปด้วยกันสองคน ซึ่งทั้ง 2 ท่านนั้นมีเครื่องรางของหลวงพ่อโมอยู่ชิ้นเดียวนั้นคือมีด และได้แบ่งกันโดยคนหนึ่งถือฝัก อีกคน หนึ่งถือมีด เมื่อตามไปจนถึงโจรปรากฏว่าโจรมาด้วยกันหลายคน และได้ยิงปืนเข้าใส่เจ้าของวัวทั้ง 2 คน ปานห่าฝน แต่ปรากฎว่าลุกกะสุนไม่โดนเจ้าของวัวแม้แต่เม็ดเดียว จนโจรเห็นท่าไม่ดีจึงปล่อยวัวและรีบหนีกัน สำหรับประสบการณ์ตะกรุดท่านเรื่องมหาอุดคงกะพันเล่าให้ฟังกันไม่จบไม่สิ้นครับ

พี่อีกท่านรู้จักกันโดยบังเอิญพอดีท่านเช่าตะกรุดหลวงพ่อทบไป ท่านให้ข้อมูลว่าท่านได้รับการแนะนำจากผู้ใหญ่ที่ท่านเคารพเรื่องตะกรุดว่าในประเทศไทยมีตะกรุดอยู่ประมาณ10สำนักที่่ทดลองยิงแล้วปรากฏว่ายิงไม่ออก จนมั่นใจได้ว่า 10 สำนักนี้เป็นสุดยอดแห่งตะกรุดเลย และ 1 ใน10 ก็มีตะกรุดของหลวงพ่อโม ซึ่งจัดว่าอยู่ในอันดับต้นๆเลยก็ว่าได้ และประจวบกับรู้จักคนที่ห้วยกรด ก็เลยได้ศึกษาประวัติของพระเดชพระคุณท่านหลวงพ่อโม จนได้ตะกรุดดอกนี้มาครอบครองสมใจ

หลวงพ่อโมท่านเพียรสร้างบารมีธรรมมาตลอดชีวิตสมณะ ซึ่งปรากฏว่าท่านไม่เคยอาพาธถึงขั้นล้มหมอนนอนเสื่อ เพราะมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงดี แต่กระนั้น ท่านก็ไม่พ้นหลักอนิจจังมรณภาพด้วยอาการสงบ เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2502 เวลา 22.00 น.

มีเหตุอันน่าพิศวงในวันที่ท่านมรณภาพคือ สัตว์ต่างๆ ที่ท่านเลี้ยงไว้ได้มาแสดงความเคารพรักอาลัยด้วย กล่าวคือ มีเต่าตัวใหญ่มากคลานขึ้นจากสระ มานอนนิ่งน้ำตาไหลพรากอยู่ข้างกุฏิท่าน อีกทั้งนกยูงและไก่ต๊อกก็ซึมเซา ไม่ส่งเสียงร้องเหมือนปกติ

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องน่าอัศจรรย์เกี่ยวกับสรีระหลวงพ่อโม ประการหนึ่งคือ ร่างของท่านไม่เน่าเปื่อย ไม่มีกลิ่นเหม็น ทั้งๆ ที่สมัยนั้นยังไม่มีการฉีดยากันศพเน่า คณะศิษย์นำศพใส่โลงไม้ธรรมดาและตั้งไว้บำเพ็ญกุศลนานเกือบปี จนกระทั่งวันที่ 15 มี.ค.2503 จึงจัดพิธีฌาปนกิจศพอย่างสมเกียรติ และได้สร้างล็อกเกต หลวงพ่อโม (มีสีเหลือง/สีส้ม) และพระรูปเหมือนปั๊มหลวงพ่อโม โดย อาจาย์ปุ่น เจ้าอาวาสองค์ต่อมา ได้บรรจุอัฐิหลวงพ่อลงไป กรรมวิธีการสร้าง จะสั่งรูปหล่อปั๊มมา และใช้อัฐิวางบนถาดและใช้ก้านธูปกดลงไปในฐานแล้วใช้นิ้วปาด ปูนปลาสเตอร์ปิดไว้ (ลุงฉาบ คนทำเล่าให้ฟัง) เสกโดยหลวงพ่อเชื้อ และส่วนที่เหลือกรรมการวัดแถวสรรคบุรีให้หลวงพ่อกวย เสก หลวงพ่อกวยท่านว่า “พระรุ่นนี้ของดีจริงๆ”

แม้ท่านจะสิ้นสรีรสังขารไปแล้ว แต่คุณงามความดี บารมีธรรมและความศักดิ์สิทธิ์ของท่านยังคงปรากฏเป็นอมตะ ยังคงเป็นขวัญ เป็นกำลังใจ เป็นที่พึ่งทั้งของชาวบ้านห้วยกรด ตลอดจนผู้ที่ได้ทราบกิตติศัพท์และนับถือทั่วไปไม่เสื่อมคลาย

แอพเกจิ แอพรวมเรื่องราวประสบการณ์จริง เกี่ยวกับ พุทธคุณ ไสยศาสตร์ วิชาอาคม

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: