1575.หลวงปู่ไข่ วัดเชิงเลน (วัดบพิตรพิมุข) กรุงเทพฯ

หลวงปู่ไข่ วัดเชิงเลน (วัดบพิตรพิมุข) กรุงเทพฯ
นามหลวงปู่ไข่นี้ผู้นิยมพระเครื่องเมืองไทยต่างรู้จักกันดี เพราะ​พระเครื่องที่หลวงปู่สร้างไว้​ ล้วนเป็นยอดปรารถนาของบรรดา​ผู้นิยมพระเครื่องทั้งหลาย เช่น พระปิดตา และโดยเฉพาะ​เหรียญของท่าน ซึ่งจัดว่า​หายากมากในปัจจุบัน สนนราคาค่านิยมสูงมาก
หลวงปู่ไข่ เกิดที่ ต.ท่าไข่ จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อปี พ.ศ.2400 ได้บวชเณรที่วัดแหลมใต้ และต่อมาได้มาศึกษาพระธรรมวินัยที่วัด โสธรฯ และได้ย้ายมาจำพรรษาที่ อ.พนัส นิคม จ.ชลบุรี เพื่อศึกษาพระธรรมวินัย ต่อ และได้เข้ามาศึกษาต่อที่วัดในกทม. และมาจำพรรษาอยู่ที่ จ.สมุทรสงคราม

จนกระทั่งอายุครบบวช จึงอุปสมบทที่วัด ลัดด่าน จ.สมุทรสงคราม หลวงปู่ไข่ได้ศึกษาวิปัสสนากรรมฐานและธุดงค์ไปหลายจังหวัด จนกระทั่งกลับมาจำพรรษาอยู่ที่ วัดเชิงเลน กทม. เนื่องจากในสมัยนั้นท่านเห็นว่า วัดเชิงเลนเป็นวัดที่เงียบสงบดีเหมาะแก่การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน

เมื่อท่านได้มาอยู่จำพรรษาที่วัดเชิงเลนแล้วท่านก็ได้สอนพระกรรมฐานแก่บรรพชิตและฆราวาสช่วยเหลืออนุเคราะห์แก่ประชาชน โดยทั่วไป และท่านได้พัฒนาวัด เช่นสร้างพระพุทธปฏิมา ซ่อมแซมพระพุทธรูปที่ชำรุด สร้างกุฏิ สร้างถนน สร้างสระน้ำ ถังรับน้ำฝน เป็นต้น หลวงปู่ไข่มีเมตตาธรรมสูง เป็นที่รักเคารพของประชาชนในแถบนั้นมาก

ลูกศิษย์ได้ขอให้ท่านสร้างพระไว้บูชาคุ้มครองป้องกันตัว ท่านจึงได้สร้างพระปิดตาเนื้อผงคลุกรักตามตำรับของพระปิดตาทางสายตะวันออกขึ้น ซึ่งปัจจุบันหายากมาก และมีสนนราคาสูงมาก ต่อมาประมาณปี พ.ศ.2470 ลูกศิษย์ได้ขออนุญาตหลวงปู่ไข่จัดสร้างเหรียญที่ระลึก และแจกในงานทำบุญอายุของหลวงปู่ ซึ่งก็เป็นที่นิยมและหายากที่สุดของเหรียญพระเกจิอาจารย์ และมีราคาสูงมากๆ ครับ

นอกจากวัตถุมงคลที่เป็นพระปิดตาเนื้อผงคลุกรัก และเหรียญแล้ว พระเครื่องเนื้อดินเผาเคลือบที่เรียกกันว่า พระกลีบบัวอรหัง ซึ่งทางวัดเชิงเลนและลูกศิษย์ได้ขออนุญาตจัดสร้างขึ้น และขออนุญาตหลวงปู่ไข่ในการสร้างครั้งนี้ ในการสร้างนั้นได้จัดสร้างจำนวนมากเพื่อให้พอแจกจ่ายแก่ผู้ที่เคารพศรัทธาใน

ตัวหลวงปู่ พระกลีบบัวอรหังในปัจจุบันยังพอได้ สนนราคาหลักหมื่นต้นๆ ซึ่งย่อมเยากว่าพระเครื่องอื่นๆ ของท่านมาก เนื่องจากในสมัยก่อนมีจำนวนมากหาได้ไม่ยากนัก และไม่ค่อยมีใครรู้จักกันแพร่หลายนัก นอกจากนี้หลังจากหลวงปู่มรณภาพแล้ว ทางวัดยังมีการสร้างขึ้นอีกครั้ง รูปลักษณ์คล้ายๆ กันแต่ก็เป็นคนละแม่พิมพ์กันโดยแกะแม่พิมพ์ขึ้นใหม่ การเช่าหาสะสมจึงสับสนกันไปบ้างในสมัยก่อน แต่ปัจจุบันแยกแยะกันได้ด้วยตัวแม่พิมพ์ครับ

ที่มาข้อมูล : นสพ.ข่าวสด. คอลัมน์พระเครื่อง วันที่ 25 กันยายน 2560

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: