3556. สิงโตหินแจกหมากช่อซากุระ (ไพฑูรย์ พันธุ์เชื้องาม)

สิงโตหินแจกหมากช่อซากุระ (เขียนโดยไพฑูรย์ พันธุ์เชื้องาม)

ชีวิตที่ต้องอยู่ท่ามกลางคมหอกคมดาบและลูกปืนของตำรวจเป็นชีวิตที่ไม่มีใครต้องการ แต่ด้วยสถานการณ์บังคับให้เป็นไป ไพฑูรย์บอกว่าลูกผู้ชายยินดีตายแต่ไม่ยอมให้ใครหยาม คดีขุนตระเวนฯ ไพฑูรย์ไม่อาจต่อสู้อะไรได้เลย เพราตำรวจทำสำนวนฝ่ายเดียว จากนั้นส่งให้อัยการ อัยการตรวจสำนวนแล้วดีดมือเปาะบอกว่า “อย่างนี้ไม่หลุดไม่รอด”

เรื่องจึงถูกนำส่งฟ้องศาลจะไปโทษศาลท่านไม่ได้ เพราะศาลท่านเป็นคนกลาง โดยพิจารณาจากสำนวนการสอบสวนของตำรวจที่มีอัยการเป็นผู้ตรวจและสั่งให้สอบเพิ่มเติมในสิ่งที่ยังไม่สมบูรณ์เพื่อให้ดุลพินิจดูว่าสมควรที่จะประทับรับฟ้องหรือไม่พูดง่ายๆก็คือ สำนวนของตำรวจและอัยการเหมือนมวยการ์ดป้องกันส่วนหน้าอก หน้าท้อง และคางไว้แบบแน่นหนา หมัดคู่ต่อสู้คือจำเลยกับทนายความไม่มีโอกาสลอดการ์ดเข้ามาได้ ยกเว้นทนายเทวดาที่จะสามารถพลิกเกมให้เป็นต่อด้วยช่องว่างแห่งกฏหมายพลิกมาเป็นฝ่ายชนะคดี

ผู้พิพากษาท่านเป็นคนกลาง โดยเมื่อประทับรับฟ้องไว้แล้วท่านก็เรียกอัยการที่เป็นฝ่ายโจทก์มาเบิกความ โดยเบิกความเปิดคดีและนำพยานหลักฐานมาให้การต่อศาล โดยมีทนายและฝ่ายจำเลยมานั่งฟังเพื่อบันทึกข้อเท็จจริงในคำฟ้อง

ทุกครั้งที่มีการเบิกพยานศาลท่านเปิดโอกาสให้ทนายจำเลยซักค้านพยานโจทก์ได้ทุกประเด็น ยกเว้นบางประเด็น ที่พนักงานอัยการเห็นว่าไม่ถูกต้อง ตามหลักการพิจารณาคดี เช่นการถามนำ ถามวกวนให้พยานโจทย์ตามไม่ทันเพื่อให้พยานให้การผิดพลาด อันจะมีผลต่อความน่าเชื่อถือของพยานโจทก์ อย่างนี้พนักงานอัยการอาจร้องเรียนต่อศาลให้ทนายจำเลยยุติการกระทำดังกล่าวโดยพลัน

ในฐานะอดีตนายทหารรัฐธรรมนูญไพฑูรย์เป็นทนายให้กับตัวเองต่อสู้กับฝ่ายตำรวจที่เป็นบริวารของขุนตระเวนฯ และอัยการทว่าการทำสำนวนและพยานที่ทางตำรวจปั้นแต่งมานั้นเนียนแนบสนิท ไพฑูรย์แสดงกิริยาอาการโกรธและไม่เคารพศาลจึงถูกลงโทษให้จองจำห้าสถาน เวลามาขึ้นศาล ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าคุณงามความดีของขุนตระเวนฯนั้นมีมาก ไพฑูรย์เป็นอาชญากรผู้มีความผิดโดยเจตนา และวางแผนไว้ก่อน ระวางโทษประหารชีวิต สู้กันสามศาล ศาลฎีกายืนตามศาลอุทธรณ์

ณ วินาทีที่สูญสิ้นหมดทุกอย่างในชีวิต ไพฑูรย์แหงนหน้าขึ้นมองฟ้าประกาศก้องในดวงจิตว่า เมื่อกูมิได้ความเป็นธรรม คุกไหนก็ขังกูไว้ไม่ได้ กูจะแหกคุกและแหกทุกครั้งที่โอกาสอำนวย ตำรวจที่ดีกูจะหลีกเลี่ยงที่จะเผชิญหน้าอย่างถึงที่สุด โดยเฉพาะตำรวจผู้น้อย กูจะยิงเพียงเพื่อเอาตัวรอดเท่านั้น ไม่ยิงให้ถึงตาย แต่ถ้าเป็นตำรวจชั้นสัญญาบัตรที่เลว นอกจากจะไม่ถอยแล้วกูยังจะช่วยดับแสงดาวบนบ่าให้ดับสนิทไปชั่วนิรันดร์อีกด้วย

ไพฑูรย์ทำได้เหมือนที่ตั้งใจไว้ 3 ครั้ง 3 ครา ที่แหกคุกออกมาโดยอาศัยสามสหายหัวเห็ดเป็นผู้วางแผนคือหม่อมหลวงกำมะลอ เจ้าอำไพ และเจ้าประจวบเป็นหลักในการแหกคุกครั้งสุดท้ายที่กระโดดข้ามลวดไฟฟ้าที่ขึงดักออกไปได้นั้น เจ้าอำไพ เจ้าประจวบ เจ้าหม่อมหลวงกำมะลอประสานงานกันยิงใส่ผู้คุมและตำรวจที่มาเข้าเวรด้วยปืนกลเสียงดังสนั่นหวั่นไหว แถมด้วยลูกระเบิดอีกลูกหนึ่ง ลำพังลูกปืนมันไม่น่ากลัว แต่เสียงบื้มของระเบิดมือและสะเก็ตระเบิดที่ปลิวว่อนทำให้ทั้งผู้คุมและตำรวจหมอบกันราบ ทำให้สามารถหลบหนีมากันได้โดยปลอดภัย

รุ่งเช้า หนังสือพิมพ์พาดหัวตัวไม้บางฉบับว่าก็ว่า “เสือไพฑูรย์แหกคุกอาละวาดแหกวงล้อมด้วยระเบิดมือ” บางฉบับพาดว่า “เสือไพฑูรย์แหกคุกบางขวางยังไม่แจ้งวัตถุประสงค์” คำว่าวัตถุประสงค์ มาจากเมื่อคราวแหกคุกครั้งที่2ได้ให้ข่าวกับหนังสือจนพาดข่าวว่า “เสือไพฑูรย์แหกคุกบอกตำรวจว่า ไม่ต้องตามจับล้างแค้นเมียมีชู้เสร็จแล้วจะเข้ามอบตัว”

ไพฑูรย์บอกว่าได้ไปค้นในห้องสมุดแห่งชาติแล้วนำมาตีพิมพ์ให้เห็นกันมาแล้วปีนั้น2484ญี่ปุ่นขึ้น ทหารญี่ปุ่นบุกขึ้นมาแย่งข้าวแย่งกับข้าวคนไทยกินข้าวยากหมากแพง ของกินของใช้หลบลงไปใต้ดิน เรียกกันว่า “ตลาดมืด” คนจนไม่มีสิทธิ์กินข้าวดีๆเลย ต้องกินปลายข้าวหรือข้าวแดงเหมือนนักโทษเพื่อเอาชีวิตรอด

ญี่ปุ่นชอบรำโทน มันบอกว่าเหมือนเพลงพื้นเมืองของมันที่ว่า “ยาเรนโซ เรนโซ เรนโซ เรนโซรัน” อะไรทำนองนั้น คนไทยเราเรียกพวกญี่ปุ่นตัวเตี้ยตาหยีว่า “ยุ่นปี่” แต่ต่อมาภายหลังเรียกสั้นๆว่า “ไอ้ยุ่น” แย่งแซงคิวคนไทยในการรำวงบ้าง จับเนื้อต้องตัวผู้หญิงไทยคล้ายดูถูก เลยถูกต่อยตาเขียว สมัยนั้นเขาเรียกกันว่า “แจกแว่น” เดินมาดักรอนอกเวทีรำโทน(รำวง) เอาคมแฝกตีลงไปกลางกบาลขนาดมีหมวกผ้าสวมอยู่ยังหัวแบะ สมัยนั้นเรียกว่า ”แจกหมวก” มายืนดักพอเห็นทหารญี่ปุ่นเดินมาชกกร้วมปากครึ่งจมูกครึ่งฉีกฟันหน้าหัก สลบเหมือด สมัยนั้นเรียกว่า “แจกหมาก” ทหารญี่ปุ่นคนไหนซ่ามากๆจะถูกแจกหมวก แจกหมาก แจกแว่น คนเดียวครบเครื่อง ต้องนอนหยอดน้ำข้าวต้ม

ทหารญี่ปุ่นจึงได้รับคำเตือนจากผู้บังคับบัญชาระดับสูงว่าไปไหนมาไหนอย่าเดินเดี่ยวเดียวดาย ให้เดินกันเป็นกลุ่ม เกิดอะไรขึ้นก็พอจะคลี่คลายสถานการณ์ได้ ทั้งยังได้อบรมทหารญี่ปุ่นชั้นผู้น้อยให้รู้จักว่าอะไรที่คนไทยไม่ชอบ อะไรที่คนไทยชอบ ให้ถือว่าคนไทยเป็นเจ้าของบ้านที่ทางญี่ปุ่นเพียงแต่ทำสนธิสัญญาทวิภาคี ขอใช้ดินแดนประเทศไทยให้กองทัพงิผ่านไปตีอังกฤษกับออสเตรเลีย ในคาบสมุทรมลายูไปจนถึงสิงคโปร์และพม่ามิใช่ว่ากองทัพพระจักรพรรดิยึดประเทศไทยก็หาไม่

คนไทยที่ไปคบหาสมาคมกับญี่ปุ่น โดยเฉพาะสตรีไทยที่ไปเป็นภรรยานายทหารญี่ปุ่น ไปไหนมาไหนจะถูกคนไทยที่เป็นสตรีด้วยกันถ่มน้ำลายทุดใส่ด้วยความหมั่นไส้เป็นอย่างยิ่ง ไม่เคยมีอังสุมาลิน กับ โกโบริ มีแต่นิยายที่แต่งโดยเจ้าของ นามปากกาว่า “ช่อซากุระ” อย่าคิดว่าเป็นนักเขียนสตรี เปล่า เป็นผู้ชายเขียนลงหนังสือพิมพ์ ไพฑูรย์บอกว่าจำชื่อไม่ได้ แต่งเรื่องให้พระเอกเป็นนายทหารญี่ปุ่น มารักกับผู้หญิงไทย สำบัดสำนวนเป็นที่ไม่สบอารมณ์โก๋สยามเป็นอย่างยิ่ง นักเขียนผู้นี้ได้เงินจากญี่ปุ่นเพื่อเป็นค่าแรงในการเขียนอย่างงาม มักไปนั่งดื่มกาแฟในร้านกาแฟออนล็อคหยุ่นเป็นประจำ

ร้านกาแฟออนล็อคหยุ่นเป็นร้านกาแฟร้านแรกในกรุงเทพฯที่นำเมล็ดกาแฟมาคั่วเองก่อนบดหยาบนำมาชงใส่ถุงแบบกาแฟโบราณ เปลี่ยนกากกาแฟบ่อยๆ เพื่อมิให้รสกาแฟจืดคนชงมีฝีมือดี กะน้ำกะนมกะน้ำตาลพอดิบพอดีเรียกว่ากินแล้วชื่นใจพิลึก วันหนึ่งหนังสือพิมพ์พาดหัวข่าวใหญ่

“ตบรางวัลนักเขียนนามปากกา “ช่อซากุระ” ฟันหน้าร่วงทั้งแถบ”

เรื่องมีอยู่ว่า ช่อซากุระ กำลังโม้แกล้มกาแฟเพลินๆ ก็มีชายไทยรูปร่างกำยำเดินมาที่โต๊ะที่ช่อซากุระกำลังนั่งจิบกาแฟ ยกมือไหว้แล้วเอ่ยขึ้นว่า

“คุณช่อซากุระใช่หรือไม่ครับ น้องสาวผมให้มาขอลายเซ็น”

“ไม่ผิดตัวครับ ผมนี่แหละช่อซากุระ”

แทนที่จะหยิบกระดาษมายื่นให้เซ็น กลับยื่นกำปั้นขวาตรงตันๆเข้าปากครึ่งจมูกครึ่งตูมใหญ่ ฟันหน้าร่วงไปสี่ซี่ หงายหลังผึ่ง ศีรษะกระแทกพื้นวิสัญญีไปในทันที ชายแปลกหน้าวิ่งออกจากร้านไป มีเสียงคนตะโกนตามหลังมาว่า

“ช่วยกันจับหน่อย มันเป็นอันธพาลทำร้ายผู้อื่นให้ได้รับบาดเจ็บ”

มือแจกหมากวิ่งไปทางสวนเจ้าเซต หน้ากรมการรักษาดินแดน มีรถมาจอดรับแล่นออกไป มือแจกหมากดึงหนวดและคิ้วปลอมออก มีเสียงหัวเราะเฮฮา ไพฑูรย์บอกว่าเขาเองนั่นแหละที่ไปชกปากเจ้าช่อซากุระเพราะหมั่นไส้ที่มันเทิดทูนไอ้ยุ่นเหมือนเป็นบิดาทูนหัว

กองปราบออกควานหาตัวคนชกเพราะได้รับการประสานงานมาจากกองทัพงิ ว่าให้ช่วยจับบุรุษลึกลับนี้มาให้ได้เพราะกองทัพงิถือว่า เจ้าของนามปากกา “ช่อซากุระ” เป็นผู้ที่ญี่ปุ่นให้ความนับถือ ตำรวจกองปราบรับแรงแข็งขัน แต่ในใจคิดว่าช่างหัวมารดามัน ลำพังคดีคนไทยตีกบาลหรือรุมกระทืบทหารยุ่นปี่ก็ไม่ไหวาดไม่ไหวอยู่แล้ว

ไพฑูรย์ได้มอบคาถาป้องกันภัยจากระเบิดสังหารที่ทิ้งลงมาจากเครื่องบิน หรือป้องกันฟ้าผ่าเวลาหลบพายุฝนฟ้าคะนองกลางแจ้ง คาถาภาวนาว่าคาถาป้องกันระเบิดสังหารและฟ้าผ่า (ตั้งนะโม 3 จบก่อน) แล้วเริ่มภาวนาในใจจนกว่าเหตุการณ์จะสงบ

“อากาสะจะ ทีปังกะโร”

เป็นคาถาที่โบราณาจารย์สั่งสอนศิษย์ให้ภาวนาป้องกันฟ้าผ่าและสงครามที่มีการทิ้งระเบิดสังหารจากเครื่องบิน หรือจากการยิงด้วยปืน ค.เอ็ม 79 หรือระเบิดแสวงเครื่องแบบดาวกระจาย ไพฑูรย์บอกว่าเคยเห็นผลมาแล้วด้วยตัวเองเมื่อถูกตำรวจขว้างด้วยระเบิดมือที่ตกค้างอยู่ในประเทศไทยหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เรียกกันว่า “น้อยหน่าเหล็ก” เพื่อสกัดการหลบหนีของไพฑูรย์ ไม่มีสะเก็ดระเบิดมาถูกร่างกายแม้แต่ชิ้นเดียว

ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก นักเลง โบราณ ตำนานหนังเหนียว
ขอบคุณรูปภาพสวยๆจาก : หนังเรื่อง ๔๐๐ นักรบ ขุนรองปลัดชู
แอพเกจิ – AppGeji
——————————————————————————-

ติดตามเรื่องราวครูบาอาจารย์ได้เพิ่มเติมที่
แอพเกจิ Facebook: www.facebook.com/appgeji
Web Sit: www.appgeji.com

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: