545. หลวงปู่พุ่ม วัดบางโคล่นอก

ในสมัยรัชกาลที่ ๕-๘ มีพระอาจารย์ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของประชาชนอยู่หลายองค์ และต่างก็มีความเชี่ยวชาญในไสยศาสตร์แต่ละวิชาที่ท่านได้เรียนมา

หลวงพ่อพริ้ง วัดบางปะกอก

ตั้งแต่สะพานกรุงเทพลงไป พระอาจารย์ในสมัยนั้นที่นับว่ามีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วไปเห็นจะมีอยู่ ๒ องค์ ฝั่งธนบุรีได้แก่ “หลวงพ่อพริ้ง วัดบางปะกอก” เขตราษฎร์บูรณะ ส่วนฝั่งกรุงเทพฯได้แก่ “หลวงปู่พุ่ม วัดบางโคล่นอก” เขตยานนาวา ซึ่งต่างก็มีศิษยานุศิษย์เป็นจำนวนมาก ที่ได้ไปขอความช่วยเหลือหรือพระเครื่องรางของขลัง ท่านทั้งสองเป็นพระเกจิอาจารย์ซึ่งเสด็จในกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ หรือ “เสด็จเตี่ย” ทรงให้ความเคารพศรัทธา และทรงได้รับการถ่ายทอดวิชาอาคมขลังด้วย และเป็นสุดยอดคณาจารย์ที่เข้าร่วมพิธีพุทธาภิเษกใหญ่ที่วัดราชบพิธ เมื่อปีพ.ศ.๒๔๘๑

หลวงปู่พุ่ม เกิดในสกุล “รัตนรังษี” เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๐ สมัยรัชกาลที่ ๕ ตามประวัติที่มีผู้เล่าสืบกันมาว่าท่านเป็นคนในบ้านบางโคล่ หรือที่เรียกกันในปัจจุบันว่า แขวงบางโคล่ เขตยานนาวา ที่กล่าวว่าท่านเกิดในท้องที่นี้ ก็เพราะว่าญาติพี่น้องของท่านอยู่ในบริเวณนี้ และได้ถึงแก่กรรมในที่เดียวกันนี้ โดยเฉพาะพี่สาวของท่านถึงแก่กรรมเมื่อมีอายุถึง ๑๐๔ ปี

ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณร และอุปสมบทที่วัดไทร แขวงบางโคล่ เขตยานนาวา ได้เรียนพระธรรมวินัยและวิปัสสนากรรมฐานมาตั้งแต่ต้นจนมีความรู้ดีพอสมควร ส่วนในด้านปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานนั้น ท่านมีความเชี่ยวชาญมากรูปหนึ่ง ได้อยู่จำพรรษาที่วัดไทรเป็นเวลาหลายปี จนได้เป็นรองเจ้าอาวาสวัดนี้ ต่อมาท่านได้ย้ายไปอยู่วัดบางโคล่นอก

ภายหลังเมื่อได้บวช ท่านสนใจในด้านวิปัสสนาคันธุระ จึงได้ออกเดินธุดงควัตร สมัยก่อนพระองค์ใดที่จะขึ้นกรรมฐาน ต้องมาขึ้นกับ หลวงพ่อพุ่ม จันทโชติ ที่วัด ซึ่งหลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี, หลวงพ่อวงศ์ วัดปริวาส มาถวายตัวขึ้นกรรมฐานกับหลวงพ่อ หลวงพ่อพุ่ม มีชื่อเสียงมากทางวิปัสสนากรรมฐาน และการรักษาโรค และคุณไสย ซึ่งรักษาโดยใช้ “ไม้คฑา” เพียงอันเดียว ท่านมีลักษณะนิสัยพูดน้อย ทางคณะสงฆ์มองเห็นวัตรปฏิบัติของท่านน่าเลื่อมใสศรัทธามาก

จึงได้แต่งตั้งให้ท่านดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดบางโคล่นอก เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๑ ด้วยผลงานอันดีเด่น ท่านได้รับสมณศักดิ์เป็นพระปลัดพุ่ม และเลื่อนสมณศักดิ์เป็น “พระครูรัตนรังษี” และเป็นพระอุปฌาย์

หลวงพ่อพุ่ม วัดบางโคล่นอก ท่านเป็นพระเถระโบราณผู้มีวิทยาคมสูง สมเด็จพระสังฆราชแพ วัดสุทัศน์ ให้ความเคารพหลวงพ่อพุ่ม มาก กรมหลวงชุมพร ก็เป็นศิษย์คนหนึ่งของหลวงพ่อพุ่ม ก่อนที่หลวงพ่อจะแนะนำให้ไปหาหลวงพ่อพริ้ง วัดบางประกอก ศิษย์อีกองค์ที่เป็นที่รู้จักดีคือ หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี ซึ่งหลวงพ่อพุ่มก็ได้แนะนำหลวงปู่โต๊ะ ไปฝากตัวเป็นศิษย์กับหลวงพ่อเนียม วัดน้อย ต่อไป
คนเฒ่าคนแก่หลายท่านได้กล่าวยืนยันว่า หลวงปู่พุ่ม เป็นอาจารย์รุ่นเดียวกับ หลวงพ่อพริ้ง วัดบางปะกอก ซึ่งมีชื่อเสียงควบคู่กันมาคนละฝั่งคลอง โดยเป็นพระอาจารย์ที่เชี่ยวชาญในไสยศาสตร์มากรูปหนึ่ง ยามว่างท่านจะนั่งวิปัสสนาในที่มืด ๆ เพื่อทำจิตให้สงบ อุปนิสัยของท่านเป็นพระเคร่งขรึม ใครถามคำ ก็จะพูดคำ แต่มีเมตตาสูงต่อบุคคลทั่วไป เมื่อใครประสบความทุกข์เดือดร้อน ก็จะช่วยปัดเป่าให้หาย จึงมีประชาชนทั้งใกล้และไกลไปขอความช่วยเหลือมิได้ขาด วัดบางโคล่นอกในสมัยที่ท่านมีชีวิตอยู่ นับว่าเป็นวัดที่เจริญมาก จะเห็นได้ในการสร้างอุโบสถที่ใหญ่ที่สุดในแทบนั้น

แม้แต่ผู้ที่อยู่ในเขตอ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ยังมาร่วมงานที่วัดเป็นประจำ จนกลายเป็นวัดที่มีความคึกคักและเนืองแน่นไปด้วยสาธุชนผู้มีศรัทธาทั้งหลาย

หลวงปู่พุ่มเคยใช้ช่วยเหลือคนเมื่อคราวที่มีผู้โดนงูพิษกัด และมีคนหามร่างที่หมดลมหายใจแล้วมาหาหลวงปู่พุ่มที่วัด หลวงปู่วางคฑาไปที่ตัวของคนที่ถูกงูพิษกัดและบริกรรมคาถา ก็เกิดสิ่งมหัศจรรย์แก่สายตาของคนที่มามุงดูกันมากมาย ณ ขณะนั้น ชายผู้นี้ค่อยๆ ลุกขึ้น และกราบหลวงปู่พุ่ม ด้วยความสำนึกที่ได้ช่วยชีวิตเอาไว้

หลวงปู่ท่านพูดเพียงสั้นๆ ว่า “ดีนะที่ยังไม่ถึงที่”

และอีกหลายๆ คราวที่หลวงปู่ใช้คฑาในการไล่ผี หรือสิ่งชั่วร้ายกับผู้คนที่มาขอความช่วยเหลือจนเป็นที่เลื่องลือ จึงเป็นเรื่องเล่ากันมาช้านานว่าเป็นคฑาอันศักดิ์สิทธิ์

เรื่องราวเกี่ยวกับอภินิหารอันน่าอัศจรรย์ของท่านนั้นมีอยู่มากมายหลายเรื่อง

ท่านได้ปลูกต้นมะม่วงไว้ต้นหนึ่งที่ใกล้อุโบสถ์ ยามว่างก็ไปนั่งวิปัสสนากรรมฐานใกล้ต้นมะม่วงนั้น โดยนั่งหลับตา ภาวนาอยู่เป็นประจำ วันหนึ่งมีพวกรถรางหลายคนไปที่วัด เห็นท่านกำลังภาวนาอยู่ก็อยากจะกินมะม่วง จึงคิดจะเก็บ ทันใดนั้นท่านก็กล่าวขึ้นว่า “ของเขามีเจ้าของ เมื่อจะกินก็ต้องบอกเสียก่อน” ทุกคนที่ไปนั้นต่างตกตะลึง ไม่คิดว่าท่านจะทราบ เพราะเห็นนั่งหลับตาอยู่ แล้วรู้ได้อย่างไร และยังไม่ได้เก็บด้วยซ้ำไป กลายเป็นว่าได้สร้างศรัทธามากขึ้น

พระภิกษุสามเณรที่บวชกับท่าน หรือขอลาสิกขากับท่านเพื่อไปเป็นฆราวาส ท่านจะจัดการให้ทุกคน แต่ท่านจะขอเพียงอย่างเดียวว่า ห้ามดื่มสุราเป็นอันขาด บางคนไม่เชื่อฟังตามที่ท่านขอไว้ ไปดื่มสุราเข้า ไม่ช้าก็ถูกยิงตาย ซึ่งเป็นที่เล่าลือในความศักดิ์สิทธิ์ของท่านมาจนกระทั่งทุกวันนี้

หลวงพ่อพุ่ม มรณภาพเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๙ รวมสิริอายุได้ ๙๐ ปี ๗๐ พรรษา ในคราวงานศพหลวงพ่อสมัยนั้น “เสือไท” ซึ่งเคารพนับถือหลวงพ่อพุ่ม เป็นอย่างมาก ได้มาร่วมงานศพที่วัด (บางท่านว่าจัดที่วัดบางโคล่นอก บางท่านว่าจัดที่วัดบางโคล่ใน ยังไม่เป็นที่ยุติ) ทางตำรวจทราบดีว่าเสือไทย นับถือหลวงพ่อพุ่มมากขนาดไหน และรู้ว่าต้องมาร่วมงานศพแน่

จึงเตรียมแผนล้อมจับนับร้อยนาย เป็นข่าวไปทั่ว ชาวบ้านสมัยนั้นต่างโจทย์ว่าเสือไทไม่กล้ามาหรอก เพราะมาก็โดนจับแน่ แต่เสือไทก็มาปรากฏตัวในงาน โดยมีทั้งพระ และชาวบ้านหลายคนที่จำได้ เห็นตอนที่มาวางดอกไม้จันทน์บนเมรุ รอดพ้นสายตาตำรวจนับร้อยที่เตรียมการล้อมจับได้

โดยเมื่อได้วางดอกไม้จันทน์แล้ว ก็หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย ชาวบ้านจึงลือกันว่าเสือไทหายตัวได้ ซึ่งเสือไทนั้น เป็นผู้ที่มีอาคม ร่ำเรียนวิชากับหลวงพ่อพุ่ม ตอนหลังกลับตัวกลับใจไม่ทำชั่ว เพราะหลวงพ่อพุ่มท่านขอให้เลิก เสือไทก็ยอมเลิกปฏิบัติตนเป็นโจรตั้งแต่นั้นมา แต่เมื่อคราวหลวงพ่อมรณภาพ เสือไท เป็นผู้ที่เคารพหลวงพ่อมาก จึงไม่ยอมที่จะไม่มาร่วม แต่ด้วยคดีอุกฉกรรย์ที่เคยก่อไว้เก่าๆ ตำรวจยังตามตัวอยู่ หลังจากเสร็จงานศพหลวงพ่อพุ่มแล้ว ก็ไม่มีใครเห็นเสือไทอีกเลย…..

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก : เรื่องเล่าชาวสยาม
ขอขอบคุณรูปภาพสวยๆจาก : นิตยาสารลานโพธิ์ ฉบับที่ 1190
นำเสนอโดย : แอพเกจิ – AppGeji

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: