968. เปิดประวัติ “เบี้ยแก้” สุดยอดของขลังศักดิ์สิทธิ์ จาก “หลวงปู่รอด วัดนายโรง” พุทธคุณเปลี่ยนร้ายกลายเป็นดี

การสืบสานเบี้ยแก้หลวงปู่รอดวัดนายโรง
เบี้ยแก้หลวงปู่รอดวัดนายโรงในวันที่…’ตำนานการสืบสานสร้างไม่สิ้นสูญ’ : เรื่องและภาพ โดยไตรเทพ ไกรงู
“เบี้ยแก้” เป็นเครื่องรางของขลังที่นับเป็นภูมิปัญญาของพระเกจิอาจารย์ไทยโดยเฉพาะ สร้างจาก หอยเบี้ยจั่น ที่มีฟันครบ ๓๒ ซึ่งพระเกจิอาจารย์ผู้มีวิชาคาถาอาคมขลัง จะสามารถเสก ปรอท ขณะกรอกลงปากเบี้ยได้ตามที่ต้องการ จากนั้นจะปิดปากหอยด้วย ชันโรง ที่ได้จากใต้ดินในที่โล่งแจ้งเท่านั้น แล้วห่อด้วย แผ่นตะกั่ว ที่ลงอักขระเลขยันต์ตามตำรา เสร็จแล้วจึงถักด้วยด้าย แล้วลงรัก ซึ่งแต่ละขั้นตอนต้องบริกรรมคาถาตลอดเวลา ถึงจะมีความเข้มขลังศักดิ์สิทธิ์พุทธคุณเบี้ยแก้ ป้องกันคุณไสย แก้เสนียดจัญไร รวมทั้งมีเมตตามหานิยมอีกด้วย
ด้วยพุทธคุณอันลือลั่น คนโบราณกาลที่เคยกล่าวไว้เป็นคำกลอนว่า “หมากดีที่วัดหนัง ถ้าเบี้ยขลังวัดนายโรง ไม้ครูคู่วัดอินทร์ ส่วนมีดบินวัดหนองโพธิ์ พิสมรวัดพวงมาลัย ครั่งเหลือร้ายวัดโตนดหลวง ราหูคู่วัดศรีษะทอง เเหวนอักขระต้องวัดหนองบัว ลูกเเร่ที่วัดบางไผ่ ฤทธิ์เหลือร้ายหาใดปาน ทุกสิ่งล้วนเป็นมงคล ทั่วทุกคนควรค้นหา ติดกายยามยาตรา ภัยมิกล้ามาเเผ้วพาน”

พระครูปลัดสุรัฐ สิริปุญโญ (น.ธ.เอก., พธ.บ., M.A., Ph.D.) เจ้าอาวาสวัดนายโรง ถ.บรมราชชนนี ซ. ๑๕ (หลังเซ็นทรัล ปิ่นเกล้า) เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ บอกว่า เครื่องรางของขลังที่เป็นประเภทเบี้ยแก้นี้ เบี้ยแก้ของหลวงปู่รอด วัดนายโรง ถือว่าเป็นเบี้ยแก้ที่หายากและก็เก่าแก่มากอันหนึ่งและเป็นหนึ่งในเบญจภาคีเครื่องรางสุดยอดเครื่องรางมหานิยม กันเสนียดจัญไร ดับอาถรรพณ์คุณไสย อีกชิ้นหนึ่ง ที่ผู้คนใฝ่หา

จากการสืบค้นตามประวัติที่พอสืบหาได้ว่า หลวงปู่รอดท่านได้ศึกษาเล่าเรียนเรื่องเบี้ยแก้มาจากหลวงปู่แขก วัดบางบำหรุ หลวงปู่แขกท่านนี้เป็นพระอาจารย์รุ่นเก่ามีอายุใกล้เคียงกับหลวงปู่ทอง วัดกลางบางแก้ว ตามประวัติว่า หลวงปู่แขกท่านเป็นพระธุดงค์มาจากลุ่มแม่น้ำนครชัยศรี แล้วจึงมาจำพรรษาอยู่ที่วัดบางบำหรุ หลวงปู่แขกท่านมีความรู้ความชำนาญด้านวิทยาคมหลายๆ ด้าน และได้สร้างเบี้ยแก้ไว้เหมือนกัน ต่อมาได้ถ่ายทอดความรู้เรื่องเบี้ยแก้ให้แก่ หลวงปู่รอด วัดนายโรง

ทั้งนี้ พระครูปลัดสุรัฐ ได้อธิบายให้ฟังว่า หากเปรียบเทียบเบี้ยแก้ของวัดนายโรงกับเบี้ยแก้ของวัดกลางบางแก้ว จะเห็นได้ว่ามีลักษณะหลายๆ อย่างคล้ายกัน เพราะมีวิชาเบี้ยแก้มาจากทางลุ่มแม่น้ำนครชัยศรีเหมือนกัน เมื่อเทียบเคียงอายุของหลวงปู่แขกและหลวงปู่ทองแล้ว อายุดูรุ่นราวคราวเดียวกัน จึงเป็นไปได้ว่าอาจจะได้รับการถ่ายทอดมาจากสำนักเดียวกัน แล้วต่อมาหลวงปู่แขกที่ธุดงค์มาจำพรรษาอยู่ที่วัดบางบำหรุ

ตามประวัติหลวงปู่รอดท่านเป็นชาวบ้านบางพรหม อำเภอตลิ่งชัน อุปสมบทที่วัดเงิน (วัดรัชฎาธิษฐาน) ในคลองบางพรหม ซึ่งเป็นสำนักวิปัสสนาที่มีชื่อลือเลื่องมากในสมัยนั้น ต่อมาย้ายมาจำพรรษาที่วัดนายโรงจนได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสรูปที่สองของวัดนายโรง ด้วยความที่ท่านเชี่ยวชาญด้านวิปัสสนาธุระชั้นสูง อีกทั้งด้านพุทธาคมและเวทวิทยาคม ท่านจึงเป็นเถราจารย์ที่มีความสำคัญรูปหนึ่งในย่านคลองบางกอกน้อย และท่านก็ยังเป็นพระคณาจารย์ร่วมสมัยกับท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) และหลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง หลวงปู่รอดท่านเป็นผู้สร้างและให้กำเนิดตำนานเบี้ยแก้ที่มีชื่อเสียงโด่งดังและนับว่าเป็นเลิศตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน หลวงปู่รอด ท่านมรณภาพเมื่อปี ๒๔๗๒ อายุประมาณ ๘๐ ปี

กรรมวิธีสร้างเบี้ยแก้ของหลวงปู่รอด จากการบันทึกคำบอกเล่าของคุณยายชิต แย้มเมฆ ผู้เป็นหลานของหลวงแก้วอายัด อดีตคหบดีย่านบางบำหรุ มีบ้านเรือนอยู่ตรงข้ามวัดนายโรง มารดาของท่านก็คือ คุณยายเชื้อ แย้มเมฆ ผู้เป็นอุปัฏฐายิกาของหลวงปู่รอด และวัดนายโรง และตอนทำพิธีตัดจุกของท่านเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๑ มารดาของท่านก็ได้นิมนต์หลวงปู่รอดมาเป็นประธานในพิธี ต่อมาคุณยายชิตสนใจในเบี้ยแก้ของหลวงปู่รอดมากจึงรบเร้าให้มารดาพาไปขอเบี้ยแก้จากหลวงปู่ จนมารดาของท่านต้องพาไป ในวันต่อมาได้พาไปหาซื้อวัสดุต่างๆ เพื่อไปถวายหลวงปู่เพื่อทำเบี้ยแก้ให้

ตัวเบี้ยก็ไปซื้อจากร้านเครื่องบวชนาคแถวสะพานหัน และปรอทซื้อจากร้านเครื่องยา สำหรับบรรจุในท้องเบี้ยตัวละหนักหนึ่งบาท และแผ่นตะกั่ว ส่วนชันโรงใต้ดินนั้น ได้ไปขอมาจากนายหมัด ชาวไทยมุสลิมผู้เป็นหลาน พระยากัลยาสูตร (กูบ) เดิมทีเดียวนายหมัดผู้นี้ไม่เคยสนใจอิทธิวัตถุใดๆ แต่คราวหนึ่งเกิดประสบคุณวิเศษของเบี้ยแก้วัดนายโรงด้วยตัวเอง มีความประทับใจและศรัทธาอย่างสูง และใช้ติดตัวตลอด อีกทั้งเป็นผู้ไปพบชันโรงใต้ดินรังใหญ่จึงสะสมไว้

เมื่อได้สิ่งของครบแล้วมารดาจึงพาลูกๆ ไปด้วยกัน ๕ คน ไปกราบนมัสการหลวงปู่รอดพร้อมด้วยเครื่องสักการะคือพานดอกไม้ธูปเทียน และหมากพลู รวมทั้งเบี้ยพู ๕ ตัว และอุปกรณ์ครบถ้วน มารดานำคลานไปกราบหลวงปู่ และขอให้หลวงปู่สร้างเบี้ยแก้ให้คนละตัว ท่านก็ได้พิจารณาตัวเบี้ยโดยละเอียดทีละตัว แล้วก็ตรวจดูสิ่งของว่าครบถ้วนหรือไม่

จากนั้นเมื่อเห็นว่าถูกต้องดีแล้วท่านก็นำพานไปตั้งบูชาไว้ที่หน้าพระพุทธรูป สวดมนต์บูชาคุณพระศรีรัตนตรัย แล้วทำสมาธิสงบนิ่งอยู่ครู่หนึ่ง แล้วจึงหยิบเบี้ยมาหงายท้องแล้วเทปรอท กรอกลงในตัวเบี้ยโดยไม่หกเลยแม้แต่น้อย แล้วจึงเอาชันโรงปิดใต้ท้องเบี้ย โดยใช้หัวแม่มือไล้จนทั่วท้องเบี้ย จากนั้นท่านก็เอาแผ่นตะกั่วมาหุ้มตัวเบี้ย หลวงปู่จะใช้ด้ามเหล็กจารคลึงรีดแผ่นตะกั่วจนเนียนเรียบร้อย แล้วท่านจึงลงเหล็กจารตัวอักขระบนแผ่นตะกั่วอีกทีหนึ่ง หลังจากนั้นท่านก็ได้ปลุกเสกตัวเบี้ยอีกครั้งหนึ่ง หลวงปู่ทำเช่นนี้จนครบห้าตัว และตลอดเวลาที่หลวงปู่ประกอบพิธี สังเกตได้ว่าหลวงปู่ท่านจะบริกรรมพระคาถาไปด้วยทุกขณะ

เสร็จกรรมวิธีแล้วหลวงปู่จึงมอบเบี้ยให้ หลังจากนั้นมารดาของท่านก็ได้นำเบี้ยไปให้ลุงชมถักด้ายหุ้มเบี้ยให้ เพื่อนำไปลงรักปิดทองหรือลงยางมะพลับ ลุงชมผู้นี้เป็นหลานของพระอาจารย์หมาด ซึ่งเคยเป็นตัวละครของนายโรงกลับ ในสมัยนั้นใครได้เบี้ยจากหลวงปู่มาก็มักจะนำมาให้ลุงชมถักให้แทบทั้งนั้น เพราะฝีมือการถักของลุงชมประณีตงดงาม

พระเกจิผู้สืบสายเบี้ยแก้
“พระครูสุวรรณโชติวุฒิ (หลวงพ่อตี๋) วัดหูช้าง จ.นนทบุรี พระครูปลัดสมศักดิ์ มงฺคโล เจ้าอาวาสวัดบางสิงห์ จ.ปทุมธานี และพระอาจารย์วิรัช ฐานวโร วัดหนองฝ้าย จ.กาญจนบุรี พระครูปลัดมานิตย์ สุทธิญาโณ วัดรัชฎาธิษฐาน กทม.”

พระทั้ง ๔ รูปนี้เป็นพระเกจิอาจารย์สร้างเบี้ยแก้สายหลวงปู่รอด ที่วัดนายโรงนิมนต์มาร่วมพิธีพุทธาภิเษกเบี้ยแก้ และวัตถุมงคล วาระที่ ๓ รุ่นบูรณะอุโบสถและวิหารวัดนายโรงในวันพฤหัสบดีที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ ณ อุโบสถวัดนายโรง เวลา ๑๓.๐๙ น. ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ ๑๕๐ กว่าปีของการสร้างเบี้ยแก้ตำรับหลวงปู่รอดวัดนายโรง โดยทางวัดยังคงยึดรูปแบบการสร้างแบบหลวงปู่รอดไว้อย่างครบครัน

เจ้าอาวาสวัดนายโรง บอกว่า เท่าที่มีการสืบค้นพบว่า การสร้างเบี้ยแก้สายวัดกลางบางแก้วมีหลวงปู่ทอง พระอาจารย์หลวงปู่บุญเป็นผู้สร้างเบี้ยแก้แล้วสืบต่อมายังหลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว ผู้เป็นศิษย์แล้วตกทอดมายังหลวงปู่เพิ่ม พระอาจารย์ใบ คุณวีโร พระอาจารย์เซ็ง และหลวงปู่เจือ ปัจจุบันสายวัดกลางบางแก้วกลายเป็นตำนานเมื่อหลวงปู่เจือมรณภาพ

สายวัดโบสถ์ นั้นพระอาจารย์ใหญ่สายนี้น่าจะเป็นหลวงพ่อพักตร์ วัดโบสถ์ และสืบต่อมายังหลวงพ่อนุ่ม วัดนางใน จังหวัดอ่างทอง และหลวงพ่อคำ วัดโพธิ์ปล้ำ ก็ยังคงการทำเบี้ยแก้อยู่เช่นเดียวกัน

ส่วนสายวัดนายโรง เท่าที่สืบค้นพบว่ามีหลวงปู่แขก วัดบางบำหรุ ย่านบางกอกน้อย เป็นผู้สร้างเบี้ยแก้แล้วสืบต่อมายังหลวงปู่รอด วัดนายโรง และหลวงปู่รอดได้ถ่ายทอดวิชาทำเบี้ยให้แก่หลวงพ่อม่วง และหลวงพ่อทัต วัดคฤหบดี นอกจากนี้ หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี ท่านก็รับถ่ายทอดได้วิชาทำเบี้ยแก้สายหลวงปู่รอดเช่นกันแต่ท่านมิได้ทำแพร่หลาย

ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก : คมชัดลึก
ขอบคุณรูปภาพสวยๆจาก : TNews
นำเสนอโดย : แอพเกจิ – AppGeji

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: