6259. ตำนาน “วัดสองพี่น้อง” โบราณสถานสำคัญ ที่สันนิษฐานว่าสร้างก่อนกรุงศรีอยุธยา ๖๐๐ ปี

หลายวัดมีตำนานถึงการสร้างวัดมากมาย เรื่องเล่าในอดีตยังมีอนุสรณ์สถานมาถึงปัจจุบัน อย่างเช่น ตำนานยักษ์วัดแจ้งกับยักษ์วัดโพธิ์ ก็มีเรื่องเล่าตำนานต่างๆที่น่าสนใจ เหมือนเป็นกุศโลบายให้ผู้คนเข้ามาสักการะ มาทำบุญเพิ่มขึ้น จะกล่าวถึงวัด วัดหนึ่งที่มีตำนานที่น่าสนใจเช่นกัน นั่นก็คือวัดสองพี่น้อง จ.ชัยนาท หนึ่งในโบราณสถานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนโดยกรมศิลปากรเมื่อวันที่ ๘ มีนาคม ๒๔๗๘ และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีประวัติน่าสนใจ

กล่าวกันว่าเจ้าอ้าย เจ้ายี่และเจ้าสามเป็นพี่น้องกัน เจ้าสามยุยงให้เจ้าอ้ายและเจ้ายี่รบกันเองเพื่อแย่งราชสมบัติ เมื่อเจ้าอ้ายและเจ้ายี่เสียชีวิต เจ้าสามจึงได้ครองเมืองและได้สร้างปรางค์แด่เจ้าอ้ายและสร้างเจดีย์แด่เจ้ายี่ โดยสันนิษฐานว่าสร้างก่อนกรุงศรีอยุธยา ๖๐๐ ปี

แต่อีกตำนานเล่าว่า ชายคนหนึ่งยกที่นาให้เป็นมรดกแก่ลูกชาย ๒ คน ทำนาร่วมกัน เมื่อได้ข้าวเท่าไรก็เอามาแบ่งกัน ลูกชายทั้ง ๒ คน ต่างก็เป็นคนดี ลูกชายคนโตคิดว่า การแบ่งข้าวกันคนละครึ่งดูจะไม่ยุติธรรมสำหรับน้อง เพราะน้องอยู่ตัวคนเดียว เจ็บไข้ได้ป่วยต้องลำบาก ไม่มีใครดูแลควรได้ส่วนแบ่งมากกว่าตน ครั้นแบ่งให้น้องมากกว่าตน น้องต้องไม่ยอมรับแน่ ๆ จึงเอาข้าวในยุ้งของตนแอบไปใส่ในยุ้งข้าวของน้องชายในตอนดึก

ฝ่ายน้องชายก็คิดว่า เขาตัวคนเดียว ไม่จำเป็นต้องกินต้องใช้อะไรมาก พี่ชายมีทั้งลูกทั้งเมียต้องกิน ต้องใช้ ต้องรับผิดชอบ เราไม่ควรรับส่วนแบ่งมาครึ่งหนึ่ง พี่ชายควรจะได้มากกว่า หากเราเอาข้าวไปให้พี่ชาย พี่ชายต้องไม่ยอมรับไว้แน่ ๆ จึงเอาข้าวในยุ้งของตนใส่เกวียนแอบเอาไปใส่ในยุ้งของพี่ชายตอนดึก ทั้งพี่ทั้งน้องแอบขนข้าวให้แก่กันหลายครั้ง กระทั่งคืนหนึ่งต่างคนต่างขนข้าวมาพบกันระหว่างทาง จึงได้ทราบเรื่องว่า ต่างคนต่างก็แอบขนข้าวให้กัน หลายครั้งแล้ว

ชาวบ้านมาพบเห็นจุดที่พี่น้อง ๒ คนนี้ขนข้าวมาพบกัน จึงนำไปพูดร่ำลือยกย่องกันไปทั่วทั้งตำบลและชาวบ้านได้เลือกเอาจุดที่ 2 พี่น้องขนข้าวมาพบกันเป็นที่มงคล สร้างวัดเป็นอนุสรณ์แห่งความดีและความรักของสองพี่น้อง ชื่อวัด “สองพี่น้อง”

ต่อมาภายหลัง ในปัจจุบัน ชาวบ้านร่วมแรงร่วมใจบูรณปฏิสังขรณ์ จนกลายเป็นวัดที่มีพระสงฆ์พำนักตั้งแต่วันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๒๘ ภายในวัดยังคงมีปรางค์หลังเก่าซึ่งเชื่อว่าเป็นอนุสรณ์ให้ระลึกถึงเจ้าอ้ายซึ่งเป็นปรางค์สมัยลพบุรีองค์ใหญ่ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกประดับลายปูนปั้นอันวิจิตรงดงาม ส่วนเจดีย์องค์เล็กตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ถูกบูรณะซ่อมแซมเมื่อปีพ.ศ. ๒๕๕๔ โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดชัยนาทร่วมกับจังหวัดชัยนาทจึงมีสภาพใหม่เอี่ยมน่าเยี่ยมชมเป็นยิ่งนัก

ขอบคุณข้อมูลและภาพถ่ายโดย เพจ ประวัติศาสตร์สยาม

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: