6247. “สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร” ผู้ไม่พิสมัยในราชบัลลังก์!!

สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๓๒ แห่งอาณาจักรอยุธยา เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ และมีพระสมัญญานามว่า ขุนหลวงหาวัด สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร มีพระนามเดิมว่าเจ้าฟ้าอุทุมพร ราษฎรเรียกว่าเจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ เป็นพระราชโอรสพระองค์เล็กในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ อันประสูติแต่กรมหลวงพิพิธมนตรี (พระพันวัสสาน้อย) ในคำให้การชาวกรุงเก่า ระบุว่าพระองค์มีพระเชษฐาและพระเชษฐภคินีร่วมพระมารดา ๗ พระองค์ ได้แก่ เจ้าฟ้าประชาวดี เจ้าฟ้าประภาวดี เจ้าฟ้าพินทวดี เจ้าฟ้ากษัตรีย์ สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ (กรมขุนอนุรักษ์มนตรี) เจ้าฟ้าจันทรวดี และเจ้าฟ้านุ่ม

(กรมหลวงพิพิธมนตรี (พระพันวัสสาน้อย))

สำหรับพระนามที่ราษฎรนิยมเรียกพระองค์ว่า “เจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ” นั้น คําว่า “มะเดื่อ” (ต้นไม้) ตรงกับศัพท์ภาษาบาลีว่า “อุทุมพร” มีเรื่องเล่าว่า เมื่อครั้งกรมหลวงพิพิธมนตรี (พระพันวัสสาน้อย) ผู้เป็นพระราชมารดา ขณะทรงพระครรภ์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (พระราชบิดา) ทรงพระสุบิน (ฝัน) ว่า ได้มีเทวดานําดอกมะเดื่อมาถวาย จึงได้พระราชทานพระนามให้แก่พระเจ้าลูกเธอว่า “อุทุมพร” ที่แปลว่า “มะเดื่อ”

เจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ ทรงมีพระอัชฌาสัยไปในทางธรรมตั้งแต่ยังพระเยาว์ ทรงให้ความสําคัญกับการเพิ่มพูนพระบารมีในทางเนกขัม (สละออกจากกาม) มากกว่าที่จะครอบครองพระราชอํานาจ ตัวอย่างเช่นเมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ได้ทรงปรารถนาจะสถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) หรือพระมหาอุปราชเพื่อสืบพระราชสมบัติ แต่ได้ทรงทูลคัดค้าน ทว่าไม่เป็นผล

ในอดีตคนไทยถือว่าดอกมะเดื่อ เป็นสิ่งที่เห็นได้ยาก ประโยชน์ที่สำคัญของมะเดื่ออุทุมพร อีกด้านหนึ่งคือในเรื่องที่เกี่ยวกับความเชื่อและพิธีกรรมต่างๆ ในสังคมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม้มะเดื่อถือว่าเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยามาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ โดยใช้ทำพระที่นั่งในพระราชพิธีราชาภิเษก นอกจากนั้น ยังใช้ทำหม้อน้ำและกระบวยตักน้ำมัน สำหรับกษัตริย์ทรงใช้ในพระราชพิธี

ชื่อมะเดื่ออุทุมพรเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ไทยในช่วงกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย คือ พระเจ้าเสือนั้นเดิมทรงพระนามว่า เดื่อ เพราะเมื่อเกิดได้นำรกไปฝังไว้ใกล้ต้นมะเดื่อ สำหรับพระเจ้าอุทุมพร (ขุนหลวงหาวัด) ทรงมีพระนามเดิม ว่า เจ้าฟ้าดอกเดื่อ เพราะพระราชมารดาทรงพระสุบิน (ฝัน) ว่าพระองค์ ได้ดอกมะเดื่อนั่นเอง ในอดีตคนไทยถือว่าดอกมะเดื่อ เป็นสิ่งที่เห็นได้ยาก นับเป็นบุญวาสนาจริงๆจึงจะได้เห็นหรือเป็นเจ้าของดอกมะเดื่อ การที่พระราชมารดาของพระเจ้าอุทุมพรทรงสุบินว่าได้ดอกมะเดื่อจึงนับเป็นมงคลยิ่ง จึงทรงตั้งชื่อโอรสว่า เจ้าฟ้าดอกเดื่อ และกลายเป็นพระเจ้าอุทุมพรในภายหลัง

มีเกร็ดเล่าว่า ชาวโยเดียและชาวพม่าส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะพระเจ้าปดุง (กษัตริย์พม่าใน ศึก ๙ ทัพ) นั้น ทรงมีพราะราชศรัทธาในภิกษุสมเด็จเจ้าฟ้าอุทุมพรเป็นอย่างสูง ถึงกับเสด็จมาประกอบพระราชพิธีพระบรมศพด้วยพระองค์เอง โดยโปรดให้จัดพระราชพิธีเสมอด้วยงานพระบรมศพของกษัตริย์พม่า ด้วยทรงเชื่อว่าภิกษุสมเด็จเจ้าฟ้าอุทุมพร คือ “พระอรหันต์”

กาลต่อมาเมื่อชาวโยเดียและหมู่บ้านโดยรอบจะประกอบพิธีจัดสร้างศาสนสถาน หรือถาวรวัตถุไว้ในพระพุทธศาสนา จะนิยมปลูกต้นไม้ชนิดหนึ่ง ชื่อว่า “อุทุมพระโพธิพฤกษ์” อันเป็นสัญลักษณ์ของการตรัสรู้ในสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโกนาคมน ไว้แทนต้น “อัสสัตถโพธิพฤกษ์” และบางแห่งก็เชื่อว่าพระองค์ มีความเกี่ยวเนื่องกับองค์พระโกนาคมน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ที่ ๒ ของภัทรกัปป์นี้

ขอบคุณข้อมูลจาก : Nandaabha Rose la Roi

Panisa Meesang

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: