2316.กรมหลวงชุมพรฯ ทรงเเวะชุมแสง พบผู้ทรงอภิญญา

กรมหลวงชุมพรฯ ทรงเเวะชุมแสง

กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์มักจะเสด็จไปยังวัดปากคลองมะขามเฒ่า เมืองชัยนาท อยู่เสมอๆ ด้วยความศรัทธามั่นต่อหลวงพ่อศุข เกจิอาจารย์ ผู้ปราดเปรื่องเรื่องเวทมนตร์คาถาอาคมนั้น พระองค์ได้พบกับความมหัศจรรย์ทางพุทธเวทย์เป็นที่ประจักษ์แก่สายตานับครั้งไม่ถ้วน

จึงยกให้หลวงพ่อศุข เป็นอาจารย์ของพระองค์ ได้รับการถ่ายทอดวิชานานัปการ อันประมาณมิได้จากหลวงพ่อเป็นถ้วนทั่ว ฝึกฝนจนเกิดความชำนาญ มีปรีชาสามารถ ปรากฏตามเรื่องราวของพระองค์กับหลวงพ่อศุข ดังที่ได้เคยมีผู้รจนาไว้จำนวนมาก เป็นที่ทราบความกันดีแล้วๆ นั้น จึงมิขอกล่าวถึงอีก แต่จะกล่าวถึงครั้งหนึ่งที่หลวงพ่อศุขได้ทูลเสด็จในกรมมีความว่า

“ถ้าจะดูของดีๆ แปลกๆ นอกเหนือจากของฉันแล้ว ก็เห็นจะมีเกลอกันกับฉันอีกองค์หนึ่ง เคยศึกษามาจากอาจารย์เดียวกัน คือท่านเงิน อยู่บางคลาน โพธิ์ทะเล เมืองพิจิตร หากจะไปหาก็จงบอกว่า ฉันแนะทางมาเถิด”

เมื่อเสด็จในกรมได้ทราบดังนั้นแล้ว จึงมีความปรารถนาอย่างยิ่งที่จะเดินทางไปยังเมืองพิจิตร เพราะพระองค์ชอบในการแสวงหาบรรดาเกจิอาจารย์ผู้ทรงวิทยาอาคมขลังอยู่เป็นทุนแล้ว และเมื่อสบโอกาสอันเหมาะควรแล้ว จึงได้ชวนกันกับนายหลิ่มคนสนิท เดินทางไปเมืองพิจิตรทันที เมืองพิจิตรในสมัยนั้นเส้นทางไม่สะดวกเหมือนสมัยนี้

พิจิตรเป็นเพียงเมืองเล็กๆ เมืองหนึ่ง ซึ่งรายรอบไปด้วยป่าทึบโดยทั่วไป ระยะทางจากเมือง ไปยังหมู่บ้านรอบๆ พิจิตร กางกั้นด้วยป่าทึบบ้างป่าโปร่งบ้าง ห้วยละหานลำธารคุ้งคดเลาะลัดอยู่ทั่วๆ ไป การเดินทางจึงลำบาก ส่วนใหญ่นิยมใช้ช้างเดินทางเป็นหลัก เพราะจะต้องอาศัยความแข็งแกร่งของช้างเท่านั้น ที่จะผ่านไพรแบบนั้นไปได้

โพธิ์ทะเล เป็นตำบลที่ห่างเมืองพิจิตรไปทางทิศใต้ใกล้เขต #ชุมแสง นครสวรรค์ จึงถูกปกคลุมไปด้วยป่าไม้เป็นส่วนใหญ่ สำหรับ “บางคลาน” อันเป็นที่ตั้งของวัดบางคลานก็เป็นเพียงหมู่บ้านเล็กๆ ริมแม่น้ำยม
#ชิดเขตชุมแสง ซึ่งเต็มไปด้วยป่าโปร่งพันธุ์ใหญ่ๆ เกือบทั้งสิ้น รายรอบไว้ทุกด้าน

เสด็จในกรม กับคนสนิทคือ นายหลิ่ม ใช้ช้างเป็นพาหนะเดินทางจากเมืองนครสวรรค์ ขึ้นไปในฤดูแล้งของปีหนึ่ง ผ่านออกไปทาง #ป่าทึบเมืองชุมแสง ลัดเลาะไป #ปากเกยชัยแหล่งชุกชุมด้วยจระเข้ ป่าเปลี่ยว เข้าเขตป่าลึกของชุมแสง

ขณะที่กำลังเดินทางอยู่ วันหนึ่งตอนพระอาทิตย์กำลังพลบค่ำ และถึงเวลาพักช้าง เสด็จในกรมและนายหลิ่มได้ทำเลค้างแรมได้แล้วจึงเตรียมจะจัดทำอาหารนั้นเอง ก็ปรากฏร่างชายแก่ในชุดห่มขาว แต่คล่ำไปด้วยความเก่าและขาดวิ่น หนวดเครายาวรุงรังนั่งสงบนิ่ง อยู่ในซุ้มไม้ใกล้กันนั้น ดวงตาหลับสนิท ริมฝีปากขมุบขมิบ บริกรรมพระเวทอยู่ตลอดเวลา

เสด็จในกรม จึงตรงเข้าไปหา พร้อมกับนายหลิ่มคนสนิท ทันทีที่เดินเข้าไปใกล้ซุ้มไม้ อันร่มครึ้มนั้นชายแก่ก็ลืมตาขึ้น เสด็จในกรมทราบได้ดีว่าเป็นผู้ทรงศีล จึงทำความเคารพและถามว่าเป็นใคร ก็ได้รับคำตอบว่าชื่อ เหมือน เที่ยวหาความสงบอยู่ตามป่าเขตนี้ เพื่อบำเพ็ญสมาธิ หลบหนีจากผู้คนหาความวิเวกอยู่ตามลำพัง

หลังจากสนทนากันจนเป็นที่พอใจแล้ว นายหลิ่ม จึงชวนเสด็จในกรมให้กลับไปจัดการเรื่องที่พักและอาหารเสียก่อน สักครู่ เสด็จในกรมได้หันไปมองทางชายแก่นั้น น่าประหลาดใจ ไม่พบชายแก่ชื่อเหมือนคนนั้นเสียแล้ว จึงให้นายหลิ่มเดินตามหาในละแวกนั้นก็ไม่พบ เป็นที่แปลกมากในเวลาเพียงไม่นานนักที่ชายแก่ขนาดนั้น จะหลบเร้นหายไปได้อย่างรวดเร็ว นับเป็นเรื่องปาฏิหาริย์โดยแท้

ลัดเลาะตามไพรทึบ จนถึงชายฝั่งแม่น้ำยม คนนำทางพาเลียบชายฝั่งแม่น้ำยมขึ้นไปทางเหนือ ฤดูแล้งน้ำในแม่น้ำยมขอดแห้ง สักครู่ก็พบวัดเก่าแก่อยู่ฝั่งตรงข้าม คนนำทางบอกว่า นั่นคือ วัดบางคลาน ที่ต้องการมาพบ หลวงพ่อเงิน
เสด็จในกรม ได้ข้ามแม่น้ำยม ซึ่งมีน้ำไม่มากนัก ช้างเดินข้ามสบาย สอบถามหา หลวงพ่อเงิน ได้ความว่า…

“ออกป่าไปได้สองวันแล้ว ไม่ทราบว่าจะกลับมาเมื่อใด บางทีก็เป็นเวลาหนึ่งเดือนเต็มๆ บางทีก็เจ็ดวัน”

พระในวัดรูปหนึ่งได้บอกกับเสด็จในกรมว่า ก่อนหน้าที่หลวงพ่อเงินจะออกไปป่าได้พูดเปรยขึ้นกับพระหลายรูปว่า

“อีกสองวันจะมีคนดี เขามาหาฉัน เห็นทีจะอยู่ไม่ได้แน่ ต้องออกป่าสักพัก”

แล้วท่านก็ออกป่าในเย็นวันนั้น เสด็จในกรมทรงแปลกพระทัยมาก ครั้นจะคอยอยู่ก็เกรงว่าจะไม่พบ และไม่ทราบว่านานเท่าใดหลวงพ่อจึงจะออกจากป่า จึงตัดสินพระทัยคอยอยู่สองคืน แล้วจึงกลับไปยังนครสวรรค์ ขณะเดินมาถึงกลางทาง ได้พบกับชายแก่ที่ชื่อเหมือนอีก เสด็จในกรมอยู่บนหลังช้างได้เห็น ชายแก่ผู้นั้นเดินอยู่กลางทุ่งหญ้าไกลๆ จำได้ถนัด เพราะหลังคุ้มและใส่ชุดขาวเก่าคร่ำคร่าขาดวิ่น จึงเร่งช้างให้เข้าไปใกล้โดยเร็ว

และทันใดนั้นเองชายแก่ก็ลับตา หายไปในทุ่งหญ้าอย่างรวดเร็ว ถึงแม้เสด็จในกรมจะนั่งช้าง เดินหาจนทั่วบริเวณก็หาพบไม่ เสด็จในกรมได้ตรัสกับนายหลิ่มว่า เป็นเรื่องแปลกเหลือเกิน มาพิจิตรคราวนี้ต้องการพบใครก็ไม่ได้พบ


เสด็จในกรมพักอยู่ที่นครสวรรค์ได้ ๑๐ วัน ตั้งใจจะกลับกรุงเทพฯ แต่ลังเลพระทัย จึงชวนนายหลิ่มว่า ลองขึ้นไปพิจิตรใหม่อีกครั้ง
ก่อนออกเดินทางเสด็จในกรมให้นายหลิ่มหาซื้อ เสื้อคอจีนหนึ่งตัว,ไม้คานหนึ่งอัน, กางเกงจีนหนึ่งตัว สาแหรกและเข่งสองชุด, หมวกกุ้ยเล้ยหนึ่งใบ

แล้วจึงออกเดินทางด้วยช้างกับคนนำทาง ตรงไป วัดบางคลาน อีกครั้งหนึ่ง ระหว่างทางได้ไปพบ จระเข้เผือกขนาดใหญ่ นอนขวางลำน้ำอยู่ที่ปากเกยชัย เสด็จในกรมให้นายหลิ่มเอาขันตักน้ำมาทำน้ำมนต์ แล้วทรงปลุกเสกร่ายพระเวทย์บริกรรมทำน้ำมนต์อยู่เป็นเวลานาน แล้วเทน้ำมนต์ลงไปในน้ำซึ่งจระเข้นอนขวางทางอยู่

ทันทีที่น้ำมนต์เทออกจากขัน กระทบผิวน้ำ จระเข้เผือก ที่นอนสงบนิ่งอยู่ ก็ฟาดหางไปมา แล้วดำน้ำหายไปทันที เหลือแต่พรายน้ำวนเป็นวงกลมอยู่เบื้องหน้าเสด็จในกรม จากนั้นเสด็จในกรม จึงได้เดินทางต่อไป จนลุถึงริมฝั่งแม่น้ำยม ขณะนั่งพักช้าง ปล่อยช้างกินหญ้ากินน้ำอยู่นั่นเอง ก็เหลือบไปที่โคนต้นไม้ใหญ่ ใกล้กันนั้นเห็นชายแก่ชื่อเหมือนที่พบกันครั้งก่อนนั่งหลับตาสงบนิ่งอยู่ เสด็จในกรมจึงรีบตรงเข้าไปแสดงความเคารพผู้เฒ่าเหมือนลืมตาขึ้น แล้วบอกว่า

“พรุ่งนี้เข้าไปหาท่านจึงจะพบ”

เสด็จในกรมนั่งฟังโดยไม่ได้กล่าวอะไร ผู้เฒ่าเหมือนก็เอ่ยขึ้นอีกว่า

“หลวงพ่อท่านไม่ชอบเจ้าชอบนาย”

เสด็จในกรมนั่งเงียบฟังเฉยอยู่ ผู้เฒ่าเหมือนได้ล้วงลงไปในย่าม แล้วหยิบแหวนทองเหลืองออกมาจากย่าม แล้วส่งให้เสด็จในกรมแล้วพูดว่า..

“เก็บไว้ให้จงดี ฉันทำเตรียมไว้แต่ครั้งก่อน แต่ยังเป็นยามไม่เหมาะ จึงให้ไม่ได้”

เสด็จในกรมรับแหวนจากมือผู้เฒ่า แล้วก้มลงพิจารณาแหวนนั้น เป็นแหวนทองเหลืองอมดำออกสีคล้ำๆ ตรงกลางแหวนมีเหล็กแร่สีดำ เป็นมันฝังอยู่เม็ดเล็กๆ หนึ่งเม็ด แล้วมีอักขระขอมลงด้วยเหล็กจารรอบๆ วง เสด็จในกรมตรัสว่า

” คงจะเป็น เหล็กไหล “

แล้วเงยหน้าขึ้นไปมองทางผู้เฒ่าเหมือน แต่ผู้เฒ่าเหมือนหายไปจากตรงนั้น รวดเร็วอย่างไม่คาดฝัน เสด็จในกรมถึงกับอุทานออกมา แล้วหันมามองทางนายหลิ่ม ซึ่งนั่งอ้าปากค้างอยู่

เมื่อถึงวัดบางคลาน ได้พบพระอยู่หน้าวัด เสด็จในกรมถามว่า หลวงพ่ออยู่หรือเปล่า ก็ได้รับคำตอบว่า อยู่ที่กุฏิพลางชี้มือไปที่กุฏิ เสด็จในกรมจึงมุ่งหน้าตรงไปที่กุฏิทันที แต่ก็พบกับความว่างเปล่า ไม่มีหลวงพ่อเงินบนกุฏิ ไม่มีหลวงพ่อเงินในบริเวณวัด พระเณรช่วยกันหาเป็นเวลานานก็ไม่พบหลวงพ่อ เสด็จในกรมนั่งคอยอยู่ที่กุฏิ จนเย็นเห็นว่าไม่พบแน่ จึงสั่งคนนำทางและนายหลิ่มให้เดินทางกลับในวันนั้น ข้ามแม่น้ำยมมายังฝั่งชุมแสง พักแรมอยู่ในละเมาะไม้ใกล้ชายฝั่ง แล้วตรัสกับนายหลิ่มว่า

“พรุ่งนี้เช้ากลับแน่ พักนครสวรรค์สักสองคืนแล้วเข้ากรุง”

เช้าวันรุ่งขึ้นในตอนสาย เสด็จในกรมถามหาสิ่งของที่ให้นายหลิ่มซื้อมาจากนครสวรรค์ เมื่อได้ของครบแล้ว บอกให้นายหลิ่มไปคอยที่ริมฝั่งแม่น้ำ แล้วเสด็จในกรมหายเข้าไปในป่าสักครู่ ก็ออกมาที่ริมฝั่งแม่น้ำยม ฝั่งตรงข้ามหน้าวัดในชุดชาวจีนหาบของสวมหมวกกุ้ยเล้ย บอกให้นายหลิ่มเดินตามหลังไปห่างๆ แล้วเสด็จข้ามแม่น้ำยม มุ่งไปยังวัดบางคลาน

ทันทีที่ถึงศาลาหน้าวัดเห็นพระแก่รูปร่างใหญ่โต ลักษณะท่าทางน่าจะเป็น “หลวงพ่อเงิน” นั่งหันหลังออกมาฝั่งที่ขึ้นไป ตัดสินพระทัยแน่นอนว่า ต้องเป็น หลวงพ่อเงิน แน่ จึงรีบวางหาบของแล้ววิ่งเข้าไปทางข้างหลัง เมื่อถึงจึงโอบมือรัดเอวเอาไว้แน่น พลางตรัสขึ้นด้วยเสียงอันดังว่า

“ได้หลวงพ่อแล้ว ได้หลวงพ่อแล้ว”

หลวงพ่อหันหน้ามามอง แล้วเอ่ยขึ้นด้วยเสียงอันดังเช่นกันว่า

“เสียท่าเขาแล้ว เสียท่าเขาเข้าแล้ว”

เสด็จในกรมก้มเข้ากราบหลวงพ่อเงิน พอเงยหน้าขึ้นมาหลวงพ่อเงินได้พูดว่า

“วันนี้เป็นยามดี ที่เราจะได้พบกับลูกศิษย์ท่านศุข นี่พยายามดีเหลือเกิน”

จากนั้นหลวงพ่อเงินได้เดินนำเสด็จในกรมขึ้นไปบนกุฏิ เมื่อถึงบนกุฏิได้นั่งสนทนาถามถึงทุกข์สุขของหลวงพ่อศุขว่าเป็นอย่างไรบ้าง อยู่พอสมควร หลวงพ่อเงินก็เอ่ยขึ้นกับเสด็จในกรมว่า

“คอยสักครู่เถอะ ฉันจะสรงน้ำก่อน”

หลวงพ่อเงินพูดแล้วลุกขึ้นจากที่นั่งเดินหายเข้าไปในกุฏิ เป็นเวลาไม่กี่อึดใจ ก็ปรากฏเสียงดัง “กริ๊ก กริ๊กๆๆ” ขึ้นที่กาน้ำซึ่งวางอยู่ข้างเสากลางกุฏิ ทั้งเสด็จในกรมและนายหลิ่มหันไปที่กาน้ำนั้นทันที เสียง “กริ๊ก กริ๊ก กริ๊ก” ยังดังอยู่ต่อไป ทำความแปลกใจให้เสด็จในกรมอย่างยิ่ง จึงอดทนต่อความสงสัยต่อไปไม่ได้ ตรงเข้าไปที่กาน้ำนั้นทันที พลางเปิดฝาออกดูว่ามีสิ่งใดอยู่ภายใน ทันทีที่เสด็จในกรมเปิดฝาออกก็ถึงกับพรึงเพริดพระทัยแทบไม่เชื่อสายตาตนเอง ร้องเรียกว่า

“ไอ้หลิ่มมาดูอะไรนี่ซิ”

นายหลิ่มรีบตรงเข้าไปก้มมองดูในกา ถึงกับอ้าปากค้างพูดอะไรไม่ถูก เพราะว่าภาพที่ปรากฏในกาน้ำใบนั้นคือร่างของหลวงพ่อเงินขนาดเล็กเท่าปลายนิ้วก้อย มือกำลังสรงน้ำถูเนื้อถูตัวอยู่อย่างขะมักเขม้น น้ำในกากระเพื่อมไปมา จนกระฉอกกระเด็นออกมานอกกาน้ำ

เสด็จในกรมค่อยๆ ปิดฝากาลงอย่างฉงนพระทัยเป็นอย่างยิ่ง พลางตรัสกับนายหลิ่มว่า

“ไม่เสียเที่ยวที่มาเมืองพิจิตร หลวงพ่อท่านพูดไว้ถูกทีเดียวว่า จะได้ดูของแปลกๆ นอกเหนือจากท่านก็ให้มาที่นี่”

จากเรื่องราวทั้งหมดแก่นแท้ในปาฎิหาริย์ต่างๆ คือความพยามของเสด็จในกรม ที่มีความมุ่งมั่นและไม่ยอมถอดใจง่ายๆกับอุปสรรคต่างๆ เรียกได้ว่า

” ความพยามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น “
Cr.บันทึกชุมแสง

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: