899. เรื่องเล่าถึง เซียนสู พรหมเชยธีระ ผู้เสมือนเป็นบิดาของ “ทมยันตี”

เรื่องเล่านี้เอามาจากหนังสือของคุณทองทิว สุวรรณทัต เขียนถึงเซียนสู พรหมเชยธีระ ผู้เสมือนเป็นบิดาของ “ทมยันตี”

เมื่อประมาณเกือบยี่สิบปีมาแล้ว ผู้เขียนได้อ่านพบประวัติชีวิตของ ท่านอาจารย์สู ในนิตยสาร “แสงเทียน” ของสภายุวพุทธิกสมาคมแห่งชาติ และต่อมาได้พบชีวประวัติของท่านอีกครั้งหนึ่งในหนังสือ “ปูชนียบุคคล” ซึ่งเขียนโดย คุณสมพร เทพสิทธา จึงมีความในใจในตัวท่านอาจารย์สูเป็นอย่างยิ่ง ใคร่จะได้กราบไหว้ท่านที่จังหวัดชลบุรี แต่ก็หาโอกาสไม่ได้สักครั้ง

จนกระทั่งปี 2510 ลูกชะนีที่ภรรยาของผู้เขียนนำมาเลี้ยงดูตั้งแต่ขนยังเปียก เติบโตพอจะรู้ภาษาหลายอย่าง เกิดป่วยกะทันหัน ไม่ยอมกินอาหาร เวลานอนก็สะดุ้งผวา น่าเวทนาแท้ๆ อันเป็นเหตุให้กลัดกลุ้ม จำเป็นต้องหาทางช่วยเหลือป่วยไข้ให้จงได้

เมื่อคิดได้ดังนั้นผู้เขียนก็มุ่งเดินทางไปยังจังหวัดชลบุรี ทันทีเพื่อจะไปขอความกรุณาจากท่านอาจารย์สู ให้ท่านรักษาลูกชะนีของเรา โดยที่ผู้เขียนเองยังไม่เคยรู้จักกับท่านมาก่อน และไม่ทราบว่าบ้านของท่านอยู่ที่ไหน แต่ขณะที่นั่งรถ บขส.ไปนั้นได้ตั้งจิตภาวนาว่าขอให้ได้พบท่านอาจารย์สูสมความปรารถนาเถิดอย่าได้เสียเที่ยวเลย นึกไปเช่นนี้ ภาวนาไปเช่นนี้ตลอดทาง

พอรถถึงชลบุรี ผู้เขียนก็เที่ยวสอบถามสามล้อที่มาคอยรับผู้โดยสารอยู่ 3-4 ราย ถึงบ้านของท่านอาจารย์สู ไปได้ความเอาคนสุดท้ายที่เป็นชายวัยกลางคน ก็ดีใจเป็นที่สุด จึงว่าจ้างไปส่งที่บ้านท่าน
บ้านของท่านอาจารย์เป็นตึก 2 ชั้น ตั้งอยู่ในอาณาบริเวณที่ร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ บรรยากาศภายในบ้านมีแต่ความสงัด ไม่มีเสียงผู้คนเอะอะแม้แต่น้อย ผู้เขียนกดกริ่งที่หน้าประตู ชั่วครู่เดียวก็มีผู้หญิงวัย 40 เศษ ออกมาถามความประสงค์ของผู้เขียน ผู้หญิงคนนั้นก็เปิดประตูเชิญให้เข้าไปข้างในแล้วบอกให้ขึ้นไปขั้นบนของตึก

ชั่วครู่เดียวเท่านั้น ชายจีนวัยหกสิบ รูปร่างสูงใหญ่ ใบหน้ากลม ศีรษะโล้นเกรียน ผิวขาวสะอาด ในชุดเสื้อขาว กางเกงขาว แววตาเต็มไปด้วยความเมตตา ก็เปิดประตุเดินออกมาหาผู้เขียน พลางถามเป็นภาษาไทยที่ไม่สู้ชัดเจนนักว่า “คุณมีอะไร”

ผู้เขียนรีบทำความเคารพ เพราะแน่ใจว่าท่านผู้นี้คือท่านอาจารย์สูที่ตนปรารถนาจะมาพึ่งท่าน แล้วเล่าความทุกข์ของผู้เขียนกับภรรยาที่เกิดจากการเจ็บป่วยของลูกชะนีให้ท่านฟัง ท่านอาจารย์สูฟังจบท่านก็ยิ้มบอกว่า

“รักสัตว์ทั้งผัวทั้งเมีย”

ผู้เขียนรับคำแล้วนิ่งอยู่ จากนั้นท่านอาจารย์ก็สั่งผู้เขียนว่า

“ชูนิ้วของคุณมาซิ นิ้วไหนก็ได้ เอานิ้วเดียว”
ผู้เขียนงง เพราะยังไม่ทราบว่าอะไรเป็นอะไร แข็งใจถามไปว่า
“มือไหนครับ”
“มือขวา”

ผู้เขียนกลั้นใจยกนิ้วชี้ ท่านอาจารย์สูเห็นแล้วหัวเราะบอกว่า

“ไม่มีอะไร ลูกชะนีของคุณไม่ได้เจ็บป่วยเป็นอะไร เขาอยากเที่ยว กลับไปนี้ คุณพาเขาออกเที่ยวตามสวนที่มีต้นไม้มากๆ เดี๋ยวก็หาย”
ผู้เขียนกลับมากรุงเทพฯ ในบ่ายวันนั้น รุ่งเช้าก็พาภรรยากับลูกชะนีขึ้นรถขับไปเที่ยวบ้านคนรู้จัก ที่ในสวนบางขุนนนท์

พอลูกชะนีเห็นต้นไม้ที่มีอยู่ดาษดื่นก็ร้องกรี๊ดกร๊าด ลงจากสะเอวแม่ได้ก็ปราดเข้าไปปีนป่ายด้วยความสนุกสนานสำราญใจจนเย็นค่ำจึงกลับบ้าน นับแต่นั้นมาลูกนีของเราก็หายป่วยเป็นปลิดทิ้ง กินได้นอนหลับเป็นอันดี เมื่อผู้เขียนไปสำรวจป่าเขาเขียว ชลบุรี เพื่อหาเนื้อที่สำหรับก่อตั้งสวนสัตว์เปิดขององค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ก็ได้แวะไปกราบท่านอาจารย์อีกหลายครั้ง และทุกครั้งท่านได้ให้ความเมตตาต้อนรับ สนทนาปราศรัยเป็นอย่างดี ถึงขนาดเคยชักชวนให้ผู้เขียนพาผู้ใต้บังคับบัญชาไปขุดสมบัติบนเขาเขียวกับท่าน แต่วาสนาของผู้เขียนมีน้อย จึงไม่สามารถพาใครไปร่วมกับท่านได้ ก็เป็นอันล้มเลิกไป

บัดนี้ท่านอาจารย์สูสิ้นแล้ว ถึงกระนั้นผู้เขียนยังอดคิดไม่ได้ว่า จะหาฆราวาสปฏิบัติธรรมและได้ผลระดับท่านนั้นคงจะยากยิ่งนัก อีกประการหนึ่ง คุณวิมล ศิริไพบูลย์ เจ้าของนามปากกา “ทมยันตี” อดีตวุฒิสมาชิกหญิง ซึ่งรักนับถือกับผู้เขียน ได้เล่าให้ผู้เขียนฟังถึงความสัมพันธ์ระหว่างท่านอาจารย์สูกับเธอ ทีมีความเคารพเสมือนพ่อกับลูกเกี่ยวกับประสบการณ์แปลกๆที่เธอได้พบมาด้วนตัวเองอีกด้วย จึงขอถือโอกาสนำชีวประวัติของท่านอาจารย์มาเผยแพร่เพื่อเป็นกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติทั่วไป และเพื่อเป็นการบูชาพระคุณที่ท่านได้เมตตากรุณาต่อผู้เขียนดังต่อไปนี้

ท่านอาจารย์สู พรหมเชยธีระ เป็นคนจีนโดยแท้ ท่านเกิดที่มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2450 ท่านได้ออกจากบ้านเพื่อแสวงหาความรู้ทางธรรมและแพทย์แผนโบราณตามสำนักเต๋าขงจื้อและศาสนาพุทธ โดยมอบสมบัติให้น้องชายดูแล แล้วออกจากประเทศจีนท่องเที่ยวหาความรู้ต่างๆ ในอินโดจีน จนในที่สุดได้เข้ามาตั้งรกรากที่จังหวัดชลบุรี ด้วยการประกอบอาชีพทอดปาท่องโก๋และขายขนมปังเป็นหลัก เมื่ออายุ 34 ปี ได้แต่งงานกับ คุณสุนันท์ บุญประเวศ จึงได้ภรรยามาแบ่งเบาภาระ ทำให้ท่านมีเวลาฝึกกรรมฐาน และช่วยเหลือผู้อื่นได้เต็มที่

ครั้นท่านมีอายุ 41 ปีก็ได้พบพระรูปหนึ่งอยู่วัดราษฏร์บำรุง ชื่ออาจารย์เชย ซึ่งมากำกับท่านขณะนั่งกรรมฐานในนิมิตอยู่เสมอมิเคยขาด เมื่ออาจารย์สูได้พบกับท่านอาจารย์เชยที่ตรงกับที่ท่านฝันเห็นในนิมิต จึงเกิดความเลื่อมใสได้เข้ามอบตัวเป็นศิษย์แต่นั้นมา

พระอาจารย์เชยมีวัตรปฏิบัติแปลกกว่าภิกษุอื่นๆ ปกติ ท่านไม่ค่อยพูด ในบางครั้งขุดดินอยู่ใต้พื้นดินขังตัวเอง ทำแต่ปล่องอากาศสำหรับหายใจเหมือนเรือดำน้ำ ท่านจะครองแต่จีวรเก่าๆ จำวัดอยู่ในโกดังเก็บศพและชอบนอนในโลงศพเป็นนิจศีล บางทีก็ออกไปนั่งอยู่กลางทุ่งนา ฝนจะตก แดดจะออกขนาดไหน ท่านก็นั่งเฉยอยู่อย่างนั้น วันหนึ่งเด็กเลี้ยงควายไปเห็นพื้นที่ที่อาจารย์นั่งอยู่ท่ามกลางแสงแดดกลับร่มเป็นวงกลมคล้ายมีกลดมาบัง ครั้นถึงคราวฝนตกเด็กก็ไปเห็นฝนไม่ตกเฉพาะพื้นที่ที่พระอาจารย์เชยนั่ง เด็กๆจึงโวยวายเอาไปเล่าให้ผู้ใหญ่ฟัง เลยมีผู้คนแห่ไปขอหวยเป็นการใหญ่ จนโดนท่านด่าเปิงไปตามๆกัน

เมื่อท่านอาจารย์สูไปขอมอบตัวเป็นศิษย์นั้น พระอาจารย์เชยสั่งให้นำดอกไม้ 5 ชนิดไปถวาย แล้วท่านได้สอนวิชากำหนดลมหายใจเข้าออก หรืออานาปานสติ แล้วไล่ให้อาจารย์สูไปปฏิบัติเอง
ท่านอาจารย์สูเคยเล่าว่า พระอาจารย์เชยชอบทำอะไรแผลงๆ เช่น คราวหนึ่งท่านปืนขึ้นไปบนยอดตาลแล้วเอาใบตาลเสียบแขน 2 ข้างเป็นปีกกระพือขึ้นลง พลางตะโกนว่า “กูจะเหาะแล้วโว้ย ! กูจะเหาะแล้วโว้ย!”

ทันใดนั้นก็กระโดลงมาจากยอดตาลถึงพื้นดินเดินขึ้นกุฏิหน้าตาเฉย ถ้าเป็นคนธรรมดาขาคงหักป่นปี้กองอยู่ตรงนั้น

มีอยู่อีกคราวหนึ่งอาจารย์สูไปเห็นพระอาจารย์เชยนั่งตกปลาอยู่ พอได้ปลาก็เอาขึ้นมาทุบหัว เลือดสาดกระจาย แล้วขอดเกล็ดหั่นลงหม้อทั้งๆ ที่ปลายังดิ้นกระแด่วๆอยู่ พอแกงสุกก็ตักฉัน ปากก็บอกว่า “อร่อยๆ” แล้วเรียกอาจารย์สูให้ไปกิน อาจารย์สูชิมดูรู้สึกมีรสฝาด พอพระอาจารย์เชยไปแล้วจึงเข้าไปเปิดฝาหม้อดู เห็นมีแต่ใบไม้ลอยเต็มไปหมด!

วันหนึ่งอาจารย์สูเที่ยวตามหาอาจารย์เชยทั่ววัดก็ไม่พบ ไปเจอท่านกำลังยืนพิงเจดีย์ หัวเราะอยู่คนเดียว อาจารย์สูเข้าไปถามว่ามาทำอะไรอยู่ที่นี่ พระอาจารย์ตอบว่ากำลังดูละครสนุก สนุก อาจารย์สูสงสัยถามว่าละครที่ไหน ท่านบอกว่าละครที่กรุงเทพฯ อยากดูไหม

ว่าแล้วพระอาจารย์ก็ชี้ให้อาจารย์สูดูที่กำแพง ปรากฏว่าท่านยกละครมาทั้งโรงมาแสดงให้ดูจริงๆ เป็นภาพปรากฏออกมาเหมือนเขาถ่าย ทีวีกระนั้น

ครั้งท่านอาจารย์สูไปค้างกับพระอาจารย์เชยบนเขาปากแรดนั้น ท่านเล่าว่าเมื่อพระอาจารย์เชยฉันข้าวเสร็จ ท่านจะเอาข้าวสุกกองไว้กลางแจ้งปากก็เรียก “หนูจ๋า มากินข้าว” สักครู่เห็นหนูนับร้อยๆตัวออกมาแย่งกินข้าวกันให้เจี๊ยวจ๊าวไปหมด พระอาจารย์เชยเห็นดังนั้นก็สั่ง “เข้าแถวเรียงหนึ่งกินทีละตัว” พวกหนูก็จะเข้าแถวกินทีละตัวจนอิ่มฯลฯ

เมื่ออาจารย์สูปฏิบัติอานาปานสติสำเร็จแล้ว เช้าวันหนึ่งพระอาจารย์เชยก็เรียกเข้าไปหาแล้วบอกว่า “ภารกิจของอาตมาเสร็จสิ้นแล้ว” พลางชูนิ้ว 3 นิ้วให้ดู
ท่านอาจารย์สูได้ฟังดังนั้นก็ก้มลงกราบ แล้วรีบลงจากภูเขาเป็นการด่วน เที่ยวไปซื้อจีวรครองทั้งชุดมาเปลี่ยนให้พระอาจารย์ของตน

พอครบ 3 วันตามที่ท่านบอก พระอาจารย์เชยก็ถึงแก่มรณภาพในท่านั่งสมาธิ ป่าทั้งป่าที่เคยมีสัตว์ร้องวุ่นวายไปทั้งดงก็เงียบกริบ เหมือนไม่มีสิ่งที่มีชีวิตอาศัยอยู่ แม้แต่ใบไม้ก็ไม่ไหวติง หลังจากเผาศพท่านแล้ว อัฐิของท่านกลายเป็นพระธาตุหมด มีอยู่ชิ้นหนึ่งเป็นสามกษัตริย์ คือ เงิน นาค ทองทั้งแท่ง

เมื่ออาจารย์สูฝากตัวเป็นศิษย์กับพระอาจารย์เชยแล้ว ท่านก็หมั่นกระทำความเพียรโดยมานะ ครั้นมีอายุ 44 ปี ก็เริ่มปฏิบัติอย่างจริงจัง ด้วยการแยกที่นอนกับภรรยาอย่างเด็ดขาด เพื่อประพฤติพรหมจรรย์แต่นั้นมา

ต่อมาท่านอายุได้ประมาณ 50 ปีเศษ หลังจากระอาจารย์เชยมรณภาพไม่นานนัก อาจารย์สูได้พาครอบครัวย้ายมาอยู่บ้านที่สร้างขึ้นใหม่ในที่ดินที่เช่าจากวัดกำแพง ทั้งเลิกประกอบอาชีพทำขนมปัง และเริ่มให้การรักษาโรคแก่คนทั่วไปตามตำรายาจีน ซึ่งถ่ายทอดมาจากตระกูล ประกอบกับการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมด้วยตนเอง นอกจากนั้นยังได้สอนธรรมะและวิธีปฏิบัติกรรมฐานแก่ผู้ที่สนใจ ทั้งยังแนะนำช่วยเหลือผู้อื่นที่แบกทุกข์มาหาท่าน นับเป็นที่พึ่งแก่คนทั้งปวงแต่บัดนั้น

ซึ่งเรื่องนี้ คุณวิมล ศิริไพบูลย์ เจ้าของนามปากกา “ทมยันตี” ได้เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า

“อาเตีย” เป็นอาจารย์คนแรกที่สอนอี๊ดให้ปฏิบัติในทางที่ถูกต้อง เพราะเดิมอี๊ดชอบเล่นกสิณ แต่อาเตียสอนให้อี๊ดจับลมหายใจเข้าออก อันเป็นแบบอานาปานสติกำหนดจิตดูลมหายใจของตนเอง”
คำว่า “อาเตีย” นี้เป็นสรรพนามที่คุณวิมลเรียกท่านอาจารย์สูด้วยความเคารพรักอย่างลึกซึ้ง ทั้งนี้เพราะในบั้นปลายชีวิตของท่านอาจารย์สูได้ใช้เวลาอบรมสั่งสอนลูกหลาน และบรรดาศิษย์เป็นส่วนใหญ่ และในบรรดาศิษย์ทั้งหมดนั้น คุณวิมลเป็นศิษย์ที่ท่านยอมรับเป็นลูกสาวของท่านเพียงคนเดียวเท่านั้น

คุณวิมลได้เล่าให้ฟังว่า ท่านอาจารย์สูได้สงเคราะห์ความช่วยเหลือแก่ผู้อื่นด้วยดีเสมอมา โดยไม่ต้องการชื่อเสียงเกียรติยศหรืออามิสใดๆ ท่านปฏิบัติเช่นนี้จนกระทั่งท่านจากไป “ทมยันตี”ได้เล่าถึงเรื่องของเธอที่อาจารย์สูเคยช่วยเหลือว่า วันหนึ่ง ติ๊ก ลูกสาวคนเล็กของท่าน นั่งสมาธิตรวจอาการปวดศีรษะของเธอซึ่งเป็นมานาน แล้วก็หันไปพูดกับท่านด้วยภาษาจีนอยู่นาน พอจับใจความได้ว่าเธอกำลังเป็นเนื้องอกในสมอง

ครั้นท่านอาจารย์สูทราบจากลูกสาวแล้วก็เรียก “ทมยันตี” ให้ออกไปกลางแจ้งกับท่านเพียง 2 คน สั่งให้เธอนั่งคุกเข่า ตัวท่านอาจารย์เองยืนเพ่งดวงอาทิตย์จนนัยน์ตาแดงดังนกกรดแล้วก้มลงใช้สายตาของท่านเพ่งที่หน้าผากของเธอครู่ใหญ่ เสร็จแล้วบอกว่าท่านช่วยได้แต่เพียงแค่นี้ คือหมายถึงเนื้องงอกที่กำลังจะเป็นในสมองไม่มีโอกาสจะงอกอีก หากทว่าโรคปวดศีรษะยังคงมีต่อไป แต่ไม่มากเหมือนก่อน

“ทุกวันนี้อี๊ดปวดหัวเกือบทุกวัน แต่ไม่ค่อยรุนแรงพอทนได้” เธอบอก

ท่านอาจารย์สูได้ให้ความรักและความเมตตาแก่ “ทมยันตี” เหมือนลูกในไส้ ขนาดถ่ายทอดวิชาให้แก่เธอ แต่มีข้อแม้ว่า ถึงจะมีใครมาปลุกในเวลาตี 1 ตี 2 เพื่อขอความช่วยเหลือก็จะต้องตื่นไปช่วยเหลือเขา

“อี๊ดตื่นไม่ไหวจ๊ะ เลยไม่ขอรับวิชานั้น แต่ท่านก็ให้วิชาแก่อื๊ดมาพอสมควร”

ด้วยความเคารพรักอย่างสุดใจที่”ทมยันตี”มีต่อ “อาเตีย” ของเธอนั้น ทำให้เธอทนดูสภาวการณ์บางอย่างไม่ไหว เพราะผู้ที่ไปพึ่งท่านอาจารย์สูนั้น ไม่เคยคิดเลยว่าท่านต้องการจะพักผ่อนบ้าง โดยเฉพาะต้องรับประทานอาหารเช่นเดียวกับมนุษย์ทั้งหลาย ฉะนั้น ท่านอาจารย์จึงต้องรับแขกตั้งเช้าจนถึงบ่าย โดยไม่มีข้าวตกถึงท้องสักเม็ด ในขณะที่แขกหมุนเวียนเปลี่ยนกับไปออกหาอาหารรับประทานกันได้ตลอดเวลา

เมื่อ “ทมยันตี” เห็นเหตุการณ์เกิดขึ้นเช่นนี้อยู่เนื่องๆ วันหนึ่งเธอหมดความอดทน จึงเดินขึ้นบันไดปังๆไปหา “อาเตีย” ของเธอ แล้วบอกด้วยสำเนียงที่เฉียบขาดว่า

“อาเตีย ไปทานข้าว! ตั้งแต่เข้าจนถึงบ่าย อาเตียไม่ได้หยุดเลย แต่พวกคุณๆ ผลัดกันลงไปทานกันทุกคน ฉะนั้นขอหยุดให้อาเตียได้พักผ่อนบ้าง”

แขกทุกคนที่นั่งอยู่ถึงแก่ตะลึง ส่วน “อาเตีย” ก็ยอมลุกเดินตาม “ทมยันตี” ไปรับประทานข้าวแต่โดยดีและแล้ววันหนึ่งหัวใจของ “ทมยันตี” นักเขียนสตรีนามอุโฆษก็แทบจะแตกสลาย เมื่อทราบว่า “อาเตีย” ที่เคารพรักประดุจบิดาบังเกิดเกล้าของเธอ ถึงแก่กรรมด้วยการนั่งสมาธิแล้วถอดจิตออกจากสังขาร เช่นเดียวกับท่ามรณภาพของพระอาจารย์ท่าน ในคืนวันที่ 17 เมษายน 2522 เวลาประมาณ 20.45 น. โดยมีคำกลอนที่เขียนบนกระดาษชิ้นน้อยติดไว้ใต้เสื่อที่ท่านนั่งเพียง 4 ประโยคว่า

ละครปิดฉาก
ลงเรือข้ามฟาก
ที่นี่เรียบเรียบ
ฝากให้รู้ข่าว

คัดลอกจากมาจากหนังสือของคุณทองทิว สุวรรณทัต
ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก : dharma-gateway.com
ขอบคุณรูปภาพสวยๆโดน : Oknation
แอพเกจิ – AppGeji

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: