988. ประวัติ หลวงพ่อผิว สีลวิสุทโธ วัดสง่างาม

ในบรรดาพระสงฆ์เมืองปราจีนบุรีที่เป็นศิษย์สืบทอดพุทธาคมของท่านพระครูปราจีนมุนี หรือหลวงพ่อทอง วัดหลวงปรีชากุล เกจิคณาจารย์เรืองวิทยาคุณในยุคก่อนปีพ.ศ.2460 ซึ่งมีชื่อเสียงและตำแหน่งทางการปกรองคณะสงฆ์มีอยู่ด้วยกัน 3 รูป คือ

พระครูสิทธิสารคุณ (หลวงพ่อจาด) วัดบางกระเบา เจ้าคณะอำเภอบ้านสร้าง เกจิดังยุคสงครามอินโดจีน, พระวิสุทธิธรรมาจารย์ (หลวงพ่อทรัพย์) วัดใหม่กรงทอง เจ้าคณะจังหวัดปราจีนบุรี ผู้ให้กำเนิดสำนักเรียนบาลีแห่งแรกของ จ.ปราจีนบุรี และสุดท้ายคือ พระครูสีลวิสุทธาจารย์ (หลวงพ่อผิว สีลวิสุทโธ) วัดสง่างาม เจ้าคณะตำบลบางบริบูรณ์

ทั้ง 3 ท่านนี้เป็นสุดยอดเกจิดัง-ขลัง-ดี ที่มีวิชาอาคมเป็นเลิศ และเป็นผู้สร้างพระเครื่องที่มากด้วยพุทธคุณไม่แพ้กัน

หลวงพ่อผิว วัดสง่างาม นับเป็นพระเถระที่สูงด้วยอายุและพรรษากาลถึง 93 ปี 72 พรรษา และเป็นเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังองค์หนึ่งทางภาคตะวันออก มีผู้เคารพนับถือทุกระดับชั้น ทั้งข้าราชการ พ่อค้า ประชาชนในจังหวัด และในถิ่นที่ห่างไกลออกไป

ภาพลักษณ์ของท่านคือพระนักพัฒนา ที่เก่งทั้งพัฒนาวัตถุนำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่อาราม และเก่งในการพัฒนาบุคคลจนได้ดีมีชื่อเสียงจำนวนมาก

ยิ่งในเรื่อง วัตถุมงคลล้วนเป็นที่สนใจของบรรดานักสะสม เพราะท่านสร้างได้ขลังจริง มีประสบการณ์ดีทุกด้าน ทั้งเมตตามหานิยม แคล้วคลาด มหาอุด คงกระพันชาตรี ส่วนใหญ่จะเป็นเหรียญซึ่งมีอยู่หลายรุ่นด้วยกัน อาทิ เหรียญรูปไข่รุ่นแรกปี 2502, รุ่น 2 ปี 2512, รุ่น 3 ปี 2515 ที่ระลึกครบ 80 ปี, รุ่น 4 ปี 2517 รูปอาร์ม, รุ่น 5 ปี 2519 รูปหยดน้ำ เป็นต้น นอกนั้นก็มีพระสมเด็จเนื้อว่านรุ่นแรก ปี 2502 หลังปั๊มรูปเหรียญรุ่นแรก, พระสมเด็จ 9 ชั้น, รูปหล่อปั๊มรุ่นแรก ปี 2515, แหนบลงยา, ล็อกเกตภาพสี ฯลฯ

“วัดสง่างาม” เป็นวัดเก่าแก่อายุกว่า 100 ปี ก่อตั้งขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2456 ตั้งอยู่เลขที่ 1 บ้าน บางบริบูรณ์ หมู่ 2 ต.บางบริบูรณ์ อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดิน ที่ตั้งวัดมีเนื้อที่ 36 ไร่ 3 งาน 78 ตารางวา มีเจ้าอาวาสเท่าที่ทราบนามคือ หลวงพ่อฮวบ, หลวงพ่อกลีบ, หลวงพ่อเพิ่ม, หลวงพ่อลิ, หลวงพ่อไผ่, หลวงพ่อพู่, หลวงพ่อผิว และพระครูสิริพัฒนโสภณ รูปปัจจุบัน

“หลวงพ่อผิว” เป็นสมภารรูปที่ 7 ปกครองวัดอยู่ในช่วงปีพ.ศ.2466-2528 ชาติภูมิเป็นชาวบ้านท่างาม อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี เกิดเมื่อปีมะโรง ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 19 พ.ค.2435 เยาว์วัยช่วยพ่อแม่ทำนา อาศัยศึกษาเรียนรู้อยู่กับพระที่วัดเลียบ ซึ่งอยู่ใกล้บ้าน จนอ่านออกเขียนได้ทั้งหนังสือไทยและขอม พออายุ 21 ปีก็เข้าอุปสมบทที่วัดเลียบ เมื่อเดือนมิ.ย.2456 มีพระครูปราจีนมุนี (หลวงพ่อทอง) เจ้าคณะจังหวัดปราจีนบุรี วัดหลวงปรีชากุล เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อหร่ำ วัดเลียบ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายา “สีลวิสุทโธ”

อยู่จำพรรษาและเล่าเรียนพระธรรมวินัยเป็นเวลา 10 พรรษาจึงย้ายมาอยู่วัดสง่างาม ซึ่งอยู่ห่างออกมาทางทิศตะวันออกของวัดเลียบคนละฝั่งแม่น้ำประมาณ 3 กิโลเมตร โดยได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสตั้งแต่ปีพ.ศ.2466 จนกระทั่งมรณภาพในปีพ.ศ. 2528 รวมระยะเวลา 62 ปี

หลวงพ่อผิว วัดสง่างาม จ.ปราจีนบุรี ท่านมีตำ แหน่ง-หน้าที่ และสมณศักดิ์ เริ่มจากปี พ.ศ.2466 เป็นพระ กรรมวาจาจารย์ ปีพ.ศ.2475 เป็นเจ้าคณะหมวด (เจ้าคณะตำบล) บางบริบูรณ์ อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี ปีพ.ศ.2482 เป็น พระอุปัชฌาย์ ปีพ.ศ.2493 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระครูสัญญาบัตรชั้นตรี มีราชทินนามว่า “พระครูสีลวิสุทธา จารย์” ปีพ.ศ.2506 เลื่อนเป็น เจ้าคณะตำบลชั้นโท ในนามเดิม ปีพ.ศ.2513 เลื่อนเป็นเทียบผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นเอก

หลวงพ่อผิว เป็นพระที่ไม่ชอบอยู่นิ่ง ตั้งแต่เริ่มปกครองวัดก็ได้บูรณปฏิสังขรณ์ และพัฒนาสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อพระศาสนาและพุทธศาสนิกชนอย่างไม่หยุดยั้ง โดยเฉพาะด้านการศึกษาท่านได้ก่อตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรมขึ้นเป็นครั้งแรก ของวัด และปรากฏว่าในสมัยนั้นมีพระหลายรูปที่สอบได้นักธรรมตรี โท และเอก ซึ่งลูกศิษย์ของท่านที่เข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ ได้เป็นเปรียญหลายรูป

สำหรับ ผลงานที่โดดเด่นที่สุดก็คือ โบสถ์หลังปัจจุบันของวัดสง่างาม ซึ่งท่านได้ใช้ความสามารถก่อสร้างเสร็จในระยะเวลา 5 ปี สิ้นงบประมาณไปเกือบ 2,000,000 บาท

คุณวิเศษอย่างหนึ่งของหลวงพ่อผิว ที่เล่าขานกันนั่นก็คือ ความเป็นพระผู้มีเมตตาธรรมสูง โดยได้ใช้วิชาความรู้ด้านการแพทย์โบราณช่วยเหลือสงเคราะห์ อนุเคราะห์แก่ผู้เจ็บป่วย เช่น แขนหัก ขาหัก กระดูกหัก จนหายได้อย่างน่าอัศจรรย์ แม้แต่นายแพทย์สมัยใหม่ยังต้องมาให้ท่านช่วยต่อกระดูกก็มี รวมไปถึงสัตว์ต่างๆ อาทิ ช้าง ม้า วัว ควาย ที่ขาหักท่านก็ช่วยรักษามา นับไม่ถ้วน

นอกจากนี้ ท่านยังเป็นหนึ่งในบรรดาพระเกจิอาจารย์ดังที่มักได้รับอาราธนาไปในพิธีพุทธาภิเษกพระเครื่องหลายต่อหลายรุ่น ซึ่ง ครั้งที่เป็นเกียรติประวัติก็คือ ได้รับฎีกาเข้าไปร่วมพิธีพุทธาภิเษกเหรียญพระแก้วมรกต ภปร.ในพระบรมมหาราชวัง ในงานฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อปีพ.ศ.2525

พระเครื่องและวัตถุมงคลที่ท่านสร้างปรากฏความขลังในด้าน พุทธคุณ มีประสบการณ์ดีทั้งด้านเมตตามหานิยม อยู่ยงคงกระพัน แคล้วคลาดปลอดภัย เหรียญบางรุ่นยังพอเช่าหาได้ในราคาไม่แพง แต่ถ้าเป็นเหรียญรุ่นแรก ปีพ.ศ. 2502 เนื้อทองแดง กะไหล่ทอง คงต้องว่ากันที่ “หลักหมื่น”

บั้นปลาย ชีวิตท่านเริ่มป่วยด้วยโรคเบาหวาน และโรคแทรกอีกหลายโรค โดยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเปาโล กรุงเทพฯ และโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เป็นครั้งคราว จนกระทั่งวาระสุดท้ายท่านได้กลับมามรณภาพ ที่วัดสง่างาม เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2528 เวลา 08.45 น. สิริอายุ 93 พรรษา 72 และได้รับพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2529 มีพระปราจีนมุนี เจ้าคณะจังหวัดปราจีนบุรี เป็นประธาน นับว่าเป็นงานที่ยิ่งใหญ่มาก เพราะมีศิษยานุศิษย์และผู้เคารพศรัทธามากัน อย่างมืดฟ้ามัวดิน

ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก : itti-patihan.com
นำเสนอโดย : แอพเกจิ – AppGeji

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: