987. เรื่องเล่าขานชวนขำของหลวงปู่พระครูโวทานธรรมาจารย์ วัดดาวดึงษาราม ตอน “ขอยอมแพ้” (น่าอ่าน)

“ความชั่วไม่มี ความดีไม่หมด
ความชั่วมี ความดีหมด”
คติพจน์ของท่านพระครูโวทานธรรมาจารย์ วัดดาวดึงษาราม

เรื่องเล่าขานชวนขำของหลวงปู่พระครูโวฯ ได้ผ่านมาแล้ว ๒
เอ็นทรี่ เรื่องแรก “วันทาเสียเถิดหลวงพ่อ” และเรื่องที่ ๒ “พระครูโว ใน
ทัศนะของข้าพเจ้า” หากท่านยังไม่ได้อ่าน ถ้ามีเวลาภายหลัง ขอเชิญท่าน
ย้อนกลับไปอ่านด้วยครับ

เอ็นทรี่นี้ เป็นเรื่อง “ขอยอมแพ้” โดย พระธรรมทานาจารย์
วัดชัยพฤกษ์มาลา นนทบุรี ซึ่งท่านเป็นคู่เทศน์กับพระครูโวทานธรรมาจารย์
มาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน ตั้งแต่หลวงปู่พระครูโวฯ ยังเป็นพระครูใบฎีกา
อยู่วัดมหาธาตุ

ท่านอ่านเอ็นทรี่นี้แล้ว ท่านจะทราบเรื่องราวหลายอย่าง เป็นต้นว่า
การเทศน์ในสมัยก่อนเป็นอย่างไร, เหตุใดท่านจึงชื่อ “โว”, เทศน์ปุจฉาวิสัชนา,
ไปเทศน์แล้วขากลับเจอผู้ร้าย, การเทศน์ครั้งสุดท้ายของท่าน และเมื่อ
มรณภาพท่านไม่มีสมบัติอะไรหลงเหลือติดตัวเลย

ขอเชิญท่านติดตามได้แล้วครับ

“ขอยอมแพ้” … โดย พระธรรมทานาจารย์ วัดชัยพฤกษ์มาลา นนทบุรี

ข้าพเจ้า พระธรรมทานาจารย์ ได้คุ้นเคยกับพระครูโวทาน
ธรรมาจารย์เป็นอย่างดี หลายสิบปีมาแล้ว เป็นที่นับถือเคารพในกันและกันถึง
วันมรณภาพ ข้าพเจ้าขอแสดงไว้อาลัยเป็นอย่างยิ่ง ข้าพเจ้าได้คิดอยู่ว่า
จะหาโอกาสทางใดทางหนึ่งพูดกับท่าน แม้แต่จะพูดอยู่ฝ่ายเดียว ซึ่งเป็น
ความรำพันรำพึงถึง ก็ได้ชื่อว่า ผ่อนความวิปโยคลงได้บ้าง

พอดีกันกับพระครูปลัดบุศย์ ได้มาขอร้องให้เขียนถ้อยคำของ
ท่านพระครูโวทานธรรมาจารย์ที่ได้เคยเทศน์กันมานาน รู้จักโวหารปฏิภาณ
ในการเทศนากันเป็นอย่างมาก นอกจากเทศน์และพูด ท่านมิได้เขียนอะไร
ไว้เลย ข้าพเจ้าจึงรับเขียนตามที่จะจำได้ และมีเรื่องประกอบคำพูด เลี้ยง
เรื่องนั้นให้เป็นหลักแนวทาง แต่จะพูดโดยย่อพอสมควร

คู่เทศน์กับพระครูโวทานธรรมาจารย์มาหลายสิบปี

ข้าพเจ้าได้คู่เทศน์กับพระครูโวทานธรรมาจารย์มาหลายสิบปี ตั้งแต่
ท่านเป็นพระครูใบฎีกาอยู่วัดมหาธาตุ ได้เทศน์คู่กันตลอดมา รู้ปฏิภาณโวหาร
ได้อย่างดี เขานิมนต์ไปเทศน์ด้วยกันหลายจังหวัด ได้บุกป่าฝ่ารกยากเย็น
กรำแดดกรำฝน ทนร้อนทนหนาว นอนกับดินทนริ้นทนยุงก็มี ถึงกระนั้นก็ไม่
ย่อท้อพรั่นพรึง ไม่เข็ดขามตามศรัทธาของท่านเจ้าภาพ

ไม่ใช่จะร่ำรวยทางนี้ บางคราวยังเคยขาดทุนก็มี การที่เทศน์คู่กับ
ท่านพระครูโวทานฯ เป็นการสนุกเพลิดเพลินอยู่ในตัว เหมือนนักท่องเที่ยว
ไม่กลัวเสียประโยชน์ ไม่กลัวความลำบาก ยังมีประโยชน์ได้รู้ได้เห็นสิ่งแปลก ๆ
ทั้งได้ให้โอวาทตักเตือนสั่งสอนตามธรรมตามวินัย ได้ปรารภกันกับท่าน
พระครูโวทานฯ อยู่เสมอ

มาในตอนหลัง ๆ นี้ เมื่อได้พบกันแล้ว ท่านก็กล่าวทักทายอยู่ว่า
เออ เราเหลืออยู่ด้วยกัน ๒ คน เท่านั้นหนา (หมายความว่า นักเทศน์รุ่น
เก่า ๆ หายไปหมดแล้ว) เมื่อท่านกล่าวอย่างนี้ แล้วท่านก็สิ้นไปเสียอีก ๑ คน
ตกลงข้าพเจ้าก็คงเหลืออยู่แต่คนเดียว ในไม่ช้าก็จะต้องตามกันไป และ
การเทศน์คู่กับท่านใช้คำพูดไม่ใช้ทำนอง พูดง่าย ๆ ฟังเข้าใจ และพูดเป็น
ปัญหาฟังแล้วก็ขบขัน หรือฟังแล้วทำให้ร่าเริงบันเทิงใจ ทำให้ติดหูติดปาก
ไปได้นาน เด็กก็จำได้ ผู้ใหญ่ก็รู้ดี ญาติโยมที่ประชุมฟังอยู่นั้น ก็ได้ถูกถาม
ปรึกษาหารือทั่ว ๆ ไป

คนขัดคอพระ จะบาปไหม

คราวหนึ่งท่านถามข้าพเจ้าว่า คนขัดคอพระจะบาปไหม ข้าพเจ้า
ถามว่า ขัดคออย่างไร ท่านก็เล่าให้ฟังว่า พระกำลังฉันข้าว มีแกงปลา
กำลังร้อนพอดี แต่น้ำมากไปหน่อย พระก็ปรารถนาจะฉันเนื้อบ้าง จะเทน้ำ
แกงก็เสียดาย จึงวิดน้ำแกงด้วยช้อน ซดเอา ๆ พอจะเห็นเนื้อปลารำไร ๆ
ทายกผู้ปฏิบัติเข้าใจว่า พระชอบน้ำแกง จึงเอาน้ำแกงเปล่าเทถวายลงไปใน
ถ้วยนั้นอีก ดังนี้จะได้ชื่อว่าขัดคอพระไหม และจะบาปไหม

ได้ซักไซ้ไล่เลียงกันอยู่เป็นนาน เป็นอันไม่ตกลงกัน การเทศน์คู่
กับพระครูโวทานฯ ข้าพเจ้าเป็นผู้ถามจึงจะสนุก เพราะไม่เคยโกรธ ไม่เคย
เกลียดกันและไม่เคยกลัวกัน (ข้าพเจ้าอ่อนกว่า ๘ ปี เมื่ออายุของท่าน
มรณภาพ ๘๔ ปี)

แต่ข้าพเจ้าได้เทศน์กันมานานหลายสิบปี ตั้งแต่เมื่อครั้งท่านเป็น
พระครูใบฎีกา ข้าพเจ้าเป็นสมุห์ จึงได้รู้จิตใจกันดี และจำถ้อยคำเรื่องราว
อะไร ๆ ของท่านไว้มาก จะเอามาเขียนในที่นี้ ก็จะมากเกินไป จึงคัดเอามา
เล่าสู่กันฟังพอสมควร

ครั้งหนึ่งไปเทศน์ที่ อ. อุทัย อยุธยา ขากลับเจอผู้ร้ายเข้ามาค้นของ

ครั้งหนึ่งไปเทศน์ที่อยุธยา อำเภออุทัย ไปถึงวัดเป็นเวลาบ่าย
ร้อนจัด พักที่หอสวดมนต์เป็นกุฎีเล็ก ๆ ท่านเปลื้องจีวรออกผึ่ง เวลานั้น
ไม่มีคนเลย ท่านพูดเสียงดังยิ่งกว่าปกติ เสียงปกติก็ดังอยู่แล้ว เวลานั้น
ร้อนด้วยเหนื่อยด้วย ก็ต้องพูดดัง เสียงจึงดังมาก เล่นเอาเด็กในวัดแตกตื่น
กันมาก ท่านก็พูดไม่หยุด เด็กเหล่านั้นนั่งฟังกันเป็นแถว เด็กเพลินอ้าปาก
ฟันแห้ง ท่านหันหน้ามาทางข้าพเจ้าแล้วพูดว่า เด็กเหล่านี้มันเป็นญาติของ
ผมทั้งนั้น เด็กนั้นมิได้พูดอะไรต่างคนต่างลุกไปกันหมด ต่อแต่นั้นผู้ใหญ่ก็
มารับรองปฏิบัติ

รุ่งขึ้นเทศน์แล้วกลับ ได้ข้าวสารคนละกระสอบ เขามาส่งที่สถานี
รถไฟ เผอิญไม่ทันรถไฟเที่ยวเย็น จำเป็นต้องนอนค้างอยู่ที่ชานชาลาสถานี
ตอนกลางคืนผู้ร้ายเข้ามาค้น แต่เราทั้งสองมีการระมัดระวังกันอยู่ ท่านพูด
ขึ้นว่า “ประเดี๋ยวเถอะมึง” เสียงดุ ๆ และดังมาก ผู้ร้ายวิ่งเปิดลิบ ข้าพเจ้า
ว่าเสียงดังนี้ดี พูดเอาผู้ร้ายตกใจวิ่งหนีไปเลย

เรื่อง หลวงตากวาดวัด ใต้ต้นมะขาม

อีกครั้งหนึ่ง ให้ผู้ฟังช่วยพิจารณา เรื่อง หลวงตากวาดวัดใต้
ต้นมะขามเสมอ ๆ กวาดรวมใบไม้ไว้เป็นกอง ๆ อยู่ใต้กิ่งมะขามที่ย้อยลงมา
ฝ่ายยายชีเห็นมีกองใบไม้แห้งอยู่ชายกิ่งมะขาม ยายชีจึงคิดว่าหลวงตาเห็นจะ
อยากฉันแกงใบมะขามอ่อน จะต้องแกงกับปลาสดจึงมีรสดี ยายชีจึงเอาไฟ
จุดใบมะขามแห้งที่หลวงตากวาดกองไว้นั้น เมื่อมะขามถูกไฟเข้าไม่ช้าใบก็
ร่วง แตกใบอ่อนใหม่

ยายชีเห็นว่าได้การแล้ว จึงไปหาซื้อปลาสด ไปหาในตลาดปลาสด
มีแต่ปลายังเป็นอยู่ทั้งนั้น เดินตลอดตลาดก็ไม่มีปลาตาย ยายชีจึงต้องหัน
กลับ เจ๊กรู้ว่ายายชีไม่ซื้อปลาเป็น เจ๊กจึงทุบหัวปลาให้ตาย จึงเรียกยายชีว่า
ยายปลาตายมีแล้ว ยายชีได้ซื้อปลานั้นมาแกงกับใบมะขามอ่อน ดังนี้ บาป
จะตกอยู่กับใคร

ข้าพเจ้าแก้ว่าบาปอยู่ที่คนทำ กรรมอยู่ที่คนกิน ท่านค้านว่า
หลวงตาก็ทำการกวาดวัด หลวงชีก็ทำการจุดใบไม้แห้ง ตลอดจนไปซื้อปลา
มาแกงถวายหลวงตา เจ๊กก็ทุบหัวปลา หลวงตาก็ฉันแกง ดังนั้นบาปจะตก
อยู่ที่ใคร ใครเป็นผู้รับบาป

ฉะนั้น เรื่องนี้ลองปราศรัยกันดูว่า บาปจะได้แก่ใคร จะได้แก่
หลวงตาหรือหลวงชี จะอย่างไรก็ดีผู้ขายปลาก็จะต้องฆ่าปลาอยู่วันยังค่ำ
เรื่องนี้ ถ้าเทศน์กันหลาย ๆ ธรรมาสน์ยิ่งสนุกมาก ถ้าหากขาดท่านพระครู
โวทานธรรมาจารย์ไปเสียองค์หนึ่งก็ไม่มีรส ออกจะชืด ๆ ไปเหมือนกัน จะหา
นักเทศน์อย่างท่านพระครูโวทานฯ อีกก็หายาก

บุตรอยากจะตอบแทนคุณบิดามารดา แต่ไม่รู้จักบิดามารดา
ควรจะทำอย่างไร

ข้าพเจ้าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง แต่จะทำอย่างไรได้ เป็นธรรมดา
ของสังขาร เกิดแล้วก็ต้องแก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งนั้น ต่างก็จะหาที่พึ่งเอา
ตัวรอดเป็นยอดดี

ครั้งหนึ่งเทศน์ในงานเผาศพ ท่านถามว่า บุตรจะทำความกตัญญู
กตเวทีแก่บิดา มารดา แต่ไม่รู้จักบิดามารดา พ่อแม่ตายแต่ยังเล็ก ยังไม่
เดียงสา ตกอยู่ในต่างถิ่น สืบไม่ออกว่าบิดามารดาชื่อเรียงเสียงใด รูปร่าง
ลักษณะอย่างไรก็ไม่รู้ จะทำการตอบแทนคุณบิดามารดากับเขาบ้าง จะหา
หลักอะไรก็ไม่ได้ ดังนี้จะหาทางอย่างไรที่จะทำบุญอุทิศไปให้บิดาที่ล่วงลับ
ไปแล้ว

ข้าพเจ้ายกหลักในอิมินาใหญ่ตรวจน้ำอุทิศให้แก่บิดามารดา เช่น
คำว่า มาตา ปิตา จ ญาตกา ซึ่งแปลว่า บิดามารดาและญาติ ท่านแย้ง
ว่า คนเรามีพ่อมีแม่มีญาติด้วยกันทั้งนั้น ข้าพเจ้าอ้างเป็นหลายอย่างหลาย
ประการ กว่าจะตกลงกันได้ก็กินเวลานาน ผู้ฟังจึงมีความเข้าใจดี ผู้ฟังเมื่อ
ได้ฟังดังนี้แล้ว ให้ลองนึกดูว่า ท่านพระครูโวทานฯ ท่านต้องการอย่างไร
ในปัญหาที่ท่านถามนั้น ถ้าผู้ฟังได้รับคำตอบแก้ของท่านมาแล้วเมื่อคราว
ท่านเทศน์ ก็จะตอบได้ทันที

อนึ่ง ท่านพระครูโวทานธรรมาจารย์ กับข้าพเจ้า ได้สมบุกสมบัน
กันมามากต่อมาก ได้บุกป่าฝ่าแขมดงดอน ค่ำมืดดึกดื่นก็ต้องไปให้ทันงาน
เพราะเทศน์กันสนุก ไม่ถือสาหาความในคำพูดของกันและกัน พูดว่าอะไร
ว่าได้ในคำเทศน์ และคำพูดของท่านน่าขบขัน ไม่หยาบคาย เมื่อผู้ฟังฟัง
แล้วต้องหัวเราะจนนั่งอยู่ไม่ได้ก็มี ต้องลุกไป โวหารที่ท่านแสดงนั้นเป็นแง่
เป็นสองนัย ข้าพเจ้าจะได้นำมากล่าวโดยย่อ ซึ่งเป็นโวหารของท่านโดยมาก
ไปต่างจังหวัดทั่ว ๆ ไป และใช่ว่าจะเทศน์คู่แต่ข้าพเจ้าคนเดียวก็หาไม่ นัก
เทศน์รุ่นเก่า ๆ และใหม่ ก็ได้เทศน์กับท่านมากต่อมากด้วยกัน

เหตุไร ท่านจึงชื่อ “โว”

ข้าพเจ้าจึงเขียนเรื่องนี้มาเสนอแก่ท่านผู้อ่านโดยย่อ การที่เทศน์
กับท่าน ข้าพเจ้าได้ป้อนคำ ฮา อยู่เรื่อย ๆ เช่น ข้าพเจ้าถามว่า เหตุไร
ท่านจึงชื่อ “โว” ท่านตอบว่า ผมโวมาแต่เล็ก ๆ เด็กมันตั้งฉายาให้ เพราะ
ผมเสียงดังมาแต่เด็ก เมื่อได้อะไรก็คุยเอ็ดตะโร เด็กทั้งหลายมันก็เรียก
อ้ายโว ครั้งได้รับสมณศักดิ์สัญญาบัตร ผมก็ได้นามว่า “โว” อยู่บน
ธรรมาสน์นี้ก็ยังโวอีก ข้าพเจ้าจึงว่า อย่าไปโวแก่ยมพบาลเข้าไม่ได้นา จะ
ถูกหอก คราวนี้ต้องพัก กว่าจะหมดเสียงแล้วว่าไปใหม่

และถ้อยคำของท่านพระครูโวทานธรรมาจารย์ ที่ประจำอยู่ทุก ๆ
คราวที่ท่านเทศน์ต้องว่ามีอยู่เสมอแทบทุกคราว ก็คือคำว่า (เป็นว่าหามิได้)
อย่างกะล่อยกะหลิบ

อนึ่ง ถ้าเราจะต้องการให้ท่านพระครูเปิดฮาในคำว่า ฮะฮ๊ะ ของ
ท่านที่เคยใช้เป็นคำพูดอยู่เสมอนั้น ต้องถามให้จนแต้มไม่ให้ไถลไปได้
ครั้งหนึ่ง ข้าพเจ้าถามในคัมภีร์ขันธวิภังค์ว่า อาการ ๓๒ แจกอาการที่มีใน
ร่างกาย ถามว่า ผมของคนเราที่เกิดอยู่บนศีรษะมีกี่เส้น ท่านก็ตอบตาม
หลักในคัมภีร์ขันธวิภังค์ว่ามีเท่านั้น แล้วเราก็ต้องย้อนถามว่า ของท่านพระครู
มิมีน้อยไปหรือ ท่านก็จะใช้เสียงดุดังว่า ฮะฮ๊ะ แล้วก็เอามือคลำศีรษะ
ทำหน้าเปรี้ยว ๆ เสียงคนฟังหัวเราะกันไม่รู้จักหยุด ต้องเทศน์ว่าอะไร ๆ
ไปเลย

การแสดงธรรมครั้งสุดท้าย ของท่านพระครูโวทานธรรมาจารย์
ที่วัดพิกุลทอง อ. บางกรวย นนทบุรี

ครั้งสุดท้าย การแสดงธรรมคู่กันมาตลอดอายุของท่าน เจริญมา
ได้ ๘๔ ปี มาแพ้เอาเมื่อกัณฑ์ที่สุด จึงต้องจากกันไป คราวเมื่อท่าน
พระครูปลัดบุศย์ วัดพิกุลทอง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี อยู่ในคลอง
บางกอกน้อย ท่านได้จัดให้มีงานในวัดเป็นงานใหญ่ สัปปุรุษมาฟังกันเต็มวัด
ท่านไปเข้าอุโบสถพบข้าพเจ้า ข้าพเจ้าถามท่านพระครูโวฯ สบายดีหรือ
ท่านบอกว่า สบายอะไร เมื่อกี้พังพาบลงกลางสนามแทบตาย ข้าพเจ้าถาม
ว่าเดี๋ยวนี้เป็นอย่างไรบ้าง ท่านว่าไม่เป็นไร พอได้เวลาทายกมานิมนต์ให้ไป
เทศน์ พอขึ้นเทศน์ว่ากันไปไม่เท่าไร ท่านก็ลงจากธรรมาสน์ ข้าพเจ้าก็ว่า
อ้าวแพ้ไปละหรือ ท่านนั่งที่อาสน์สงฆ์แล้วพยักหน้าให้ข้าพเจ้าเทศน์ไปคน
เดียว แล้วก็ว่าตามืดหูอื้อไปหมดแล้ว

ข้าพเจ้าก็เทศน์ไป และคิดว่าข้าพเจ้าก็ไม่แข็งแรงเท่าไร อ่อน
กว่าท่าน ๘ ปีเท่านั้น แต่งานของท่านพระครูปลัดบุศย์เป็นงานใหญ่ ในการ
เทศน์เสดาะเคราะห์ มีแต่งเป็นเทวดามาก เท่าอายุของบุคคลทุกคน เกิดใน
๗ วัน มีกำลังเทวดา ๑๐๘ องค์ เมื่อได้ฤกษ์มีพราหมณ์ มีพระสงฆ์สวดมนต์
ตามกำลังเทวดา พอได้เวลาเทพดาออกประพรมน้ำมนต์ให้ทั่วไป

พระครูโวทานฯ อาพาธหนัก ต้องเข้ารับการรักษาตัวที่
โรงพยาบาลสงฆ์

ตั้งแต่นั้นต่อมาไม่ช้า ท่านพระครูโวทานฯ ก็เกิดอาพาธหนัก ถึง
กับต้องไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลสงฆ์ ข้าพเจ้าได้ไปเยี่ยมดูอาการของท่าน
หนักมาก ลุกขึ้นไม่ไหว ข้าพเจ้าจึงเตือนว่า เราจะไปย่อท้อทำไม เราได้สอน
เขามามากต่อมาก และได้ไปแสดงให้เขาฟังทั่วทิศ เวลานั้นท่านก็ลุกขึ้นนั่งได้
ดูหน้าตาค่อยแจ่มใสขึ้น

เงินส่วนตัว และเงินของสงฆ์ ไม่มี

ข้าพเจ้าจึงถามถึงทรัพย์สมบัติได้มอบให้ใครหรือเปล่า ท่านบอกว่า
เปล่า ข้าพเจ้าจึงว่าเวลานี้ท่านพระครูปลัดบุศย์เป็นผู้ช่วย ผมจะไปสั่งให้จัด
ทรัพย์สมบัติของท่าน ให้ท่านเซ็นชื่อมอบไป และข้าพเจ้าถามว่า เงินส่วนตัว
มีเท่าไร ท่านบอกว่าไม่มี (และใครคนหนึ่งอยู่ที่นั้นพูดว่า แต่จะซื้อกินก็ไม่มี)
ข้าพเจ้าจึงถามท่านว่า เงินของสงฆ์มีไหม ท่านบอกว่าไม่มี

ข้าพเจ้าพูดมานานเห็นว่า จะเป็นการรบกวนมากไป และท่านพูดว่า
อยากกลับวัด ข้าพเจ้าจึงบอกว่า จะไปสั่งให้พระครูปลัดบุศย์มารับไป เมื่อ
ได้รับท่านไปวัดดาวดึงษ์ อยู่ได้ไม่กี่วัน ก็ถึงซึ่งมรณภาพฯลฯ

ขอชมปฏิภาณโวหารของท่านพระครูโวฯ

ข้าพเจ้าขอชมปฏิภาณโวหารของท่านพระครูโวทานธรรมาจารย์
ในขณะที่กำลังเทศน์กันอยู่บนธรรมาสน์ พอถามก็แก้ได้ทันท่วงที จะผิดถูก
ไม่เข้าใจแก้ไปก่อน เรียกว่า ไม่มีจนใคร แล้วบรรยายแก้เรื่องต่อภายหลัง
ใครจะเอาอย่างไม่ได้ เพราะปฏิภาณบอกกันไม่ได้ ไม่มีบทเรียน และใน
คำพูดของท่าน เป็นการขบขำอยู่ในตัว เช่น ๑ เสียงดังมาก ๒ รูปร่าง
ใหญ่โต ๓ หน้าผากกว้างใหญ่ ใจไม่น้อย แสดงว่าเป็นคนเจ้าปัญญาฯลฯ

การไปเทศน์ตามต่างจังหวัด ตามที่มีผู้นิมนต์ไปนั้น ได้บุกป่าฝ่ารก
ยากเย็นกรำแดดกรำฝน ทนร้อนทนหนาว นอนกับดินทนริ้นทนยุงก็มี แต่ก็
ไม่ได้ย่อท้อ เพราะการคมนาคมในสมัยก่อน ยังลำบากอยู่มาก บางครั้ง ก็พบ
กับโจรปล้นก็มี แต่ท่านก็ไม่ได้หวาดกลัว

สุดท้าย ท่านก็ต้องมาพ่ายแพ้แก่ความชราภาพ ไม่อาจจะฝืนต่อ
ไปได้

ท่านเป็นพระสุปฏิปันโน พระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ สมถะเรียบง่าย
ท่านไม่เหลืออะไรไว้เลย เงินส่วนตัว และเงินของสงฆ์ก็ไม่มีจริง ๆ

การจัดงานบำเพ็ญกุศล และงานพระราชทานเพลิงศพท่านพระครู
โวทานธรรมาจารย์ เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๐๓ นั้น ศิษยานุศิษย์ได้นำ
ทรัพย์สินหลายรายการ ที่ได้รับจากการถวายในการเดินทางไปเทศน์ทั้งใน
กรุงเทพฯ และจังหวัดต่าง ๆ มาใช้จ่ายในการจัดงานให้แก่ท่าน


พนี้เป็นภาพถ่ายครั้งสุดท้ายในชีวิตของท่าน
ซึ่งกำลังแสดงพระธรรมเทศนาที่ วัดพิกุลทอง
อำเภอบางกรวย จังหวัดนนบุรี เมื่อวันที่ ๑๗
กันยายน ๒๕๐๑

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก : คุณสุรศักดิ์ ชวยานันท์ (ฺBlog OK Nation)
นำเสนอโดย : แอพเกจิ – AppGeji

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: