531. ตำนานเล่าขานสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) พระมหาเถราจารย์แห่งแผ่นดิน ผู้ทรงคุณวิเศษ

๐ ติดบ่วงแทนนก

นอกจากนี้ ท่านยังแผ่เมตตาให้สัตว์ทั้งหลายทั่วกัน ไม่จำกัดขอบเขตว่า จะเป็นสัตว์ชนิดใด เมื่อพบสัตว์ประสบทุกข์ต้องภัยพิบัติ ท่านก็ช่วยเหลือแก้ไขด้วยการุณยจิต มีเรื่องเล่าว่า ครั้งหนึ่งท่านเดินทางไปต่างจังหวัด ระหว่างทางได้มองเห็นนกตัวหนึ่งติดแร้วอยู่ กำลังดิ้นรนเพื่อจะเอาชีวิตให้รอดไป แต่ก็ไม่สามารถหลุดไปจากแร้วได้ ท่านจึงแก้บ่วงแร้วปล่อยนกนั้นไป แล้วท่านก็เอาเท้าของท่านสอดเข้าไปในบ่วงนั้น นั่งทำทีเป็นติดแร้วไปไม่ได้ เมื่อคนเดินผ่านมาพบ ก็เข้าไปจะช่วยแกะเชือกแก้บ่วงออก ท่านไม่ยอมให้แก้บอกให้ไปตามเจ้าของแร้วมาก่อน เมื่อเจ้าของแร้วมา ท่านก็บอกความจริงว่า นกติดแร้วแต่ท่านช่วยปล่อยนกนั้นไป จึงขอติดแร้วแทนนก

เจ้าของแร้วบอกท่านว่า ไม่เป็นไร อนุญาต ยินยอมให้ท่านปล่อยนกนั้นได้ โดยไม่ติดใจโกรธแต่อย่างใด ท่านจึงแก้บ่วงจากเท้า แล้วบอกให้เจ้าของแร้วกรวดน้ำ ท่านยถาสัพพี เสร็จแล้วท่านจึงออกเดินทางต่อไป
เรื่องการแก้บ่วงปล่อยนกไปนั้น ว่าตามทางพระวินัย ท่านมีความผิดเพราะนกนั้นเป็นทรัพย์มีเจ้าของแล้ว ปรับเป้นภัณฑไทย ดังนั้น ท่านจึงต้องคอยให้เจ้าของแร้วอนุญาตก่อนจึงพ้นผิดได้
อนึ่ง การปล่อยนกในฐานะเช่นนั้น นับเป็นทานอย่างหนึ่งเรียกว่า อภัยทาน การที่เจ้าของแร้วให้เจ้าประคุณสมเด็จฯ ปล่อยนกได้นั้น จึงจัดว่าได้บำเพ็ญกุศลที่เรียกว่า อภัยทานนั้นอีกทางหนึ่งด้วย ท่านจึงบอกให้เจ้าของแร้วกรวดน้ำ และท่านกล่าวคำอนุโมทนาดังกล่าว

๐ นักพยากรณ์

เจ้าประคุณสมเด็จฯ นอกจากมีความสามารถในด้านการเทศน์เป็นอย่างดีแล้วยังเป็นนักพยากรณ์ที่แม่นยำอีกด้วย เคยมีผู้มาขอให้ท่านพยากรณ์ ท่านไม่ใช้วิธีผูกดวงชาตาแบบหมอดูทั่วไป เพียงแต่ท่านนั่งนิ่งอยู่สักประเดี๋ยวท่านก็พยากรณ์ ท่านใช้วิธีการทางญาณศาสตร์ ที่เรียกว่า “ดูทางใน” นั่นเอง เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 จะเสด็จไปทอดพระเนตรสุริยุปราคาหมดดวง ที่ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์นั้น ได้ทรงคำนวณทราบว่า พระชาตาจะถึงฆาตในปีนั้นด้วย วันหนึ่ง จึงมีพระราชดำรัสถามเจ้าประคุณสมเด็จฯ ณ ที่รโหฐานว่า พระองค์จะเสด็จกลับมาสวรรคตที่กรุงเทพฯ ทันหรือไม่ เจ้าประคุณสมเด็จฯ ถวายพระพรว่า เสด็จกลับทัน จึงเสด็จออกจากกรุงเทพฯ ประทับแรมอยู่ที่หว้ากอ 9 วัน แล้วจึงเสด็จกลับกรุงเทพฯ และเริ่มมีพระอาการประชวรไข้จับอยู่ 37 วัน จึงสวรรคต

๐ บอกเหตุล่วงหน้า

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระองค์เสด็จไปพระราชทานพระกฐินที่วัดระฆัง เจ้าประคุณสมเด็จฯ ลงรับผ้าพระกฐินแต่แต่งตัวแปลกประหลาด กล่าวคือ ท่านห่มจีวรเหมือนปกติ แต่เอาผ้าพันเท้าทั้งสองข้างเหมือนอย่างสวมถุงเท้าอย่างนั้นแหละ มีพระราชดำรัสถามถึงเหตุที่ทำอย่างนั้น ท่านถวายพระพรพยากรณ์ว่า ปีหน้าก็ต้องเป็นอย่างนี้

พระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแย้มพระโอษฐ์ ไม่ตรัสว่ากระไร ในปีนั้นได้เสด็จไปประพาสเมืองสิงคโปร, เมืองบะตาเวีย และเมืองสมารัง รวม 37 วัน เมื่อเสด็จกลับมาแล้ว ก็เริ่มทรงจัดการแก้ไขเปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียมในราชสำนักหลายอย่าง เช่น โปรดฯ ให้ผู้ที่เข้าเฝ้าแต่งตัว สวมถุงเท้า รองเท้า ใส่เสื้อเปิดคอแบบฝรั่ง เวลาเสด็จเที่ยวประพาส ก็โปรดให้แต่งตัวใส่ถุงเท้า รองเท้า เสื้อเปิดคอ และยืนเฝ้าเหมือนกัน ที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ เอาผ้าพันเทิ้นั้น ก็เป็นนิมิตรหมายว่า ปีต่อมาข้าราชการจะต้องสวมถุงเท้าเข้าเฝ้า….ก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ

๐ ให้หวยแม่น

สมัยก่อนนี้ ก็มีการให้หวยเหมือนกัน โดยเฉพาะเจ้าประคุณสมเด็จฯ นั้นใบ้ให้แม่นมาก เพราะหวยมักออกตรงตามที่ท่านบอกเสมอ

นายจ่างกับนายแจ่ม 2 พี่น้อง ปกติจะผลัดกันเปล่ยนเวรกันนวดเจ้าประคุณสมเด็จฯ ในเวลาค่ำเสมอ ท่านมักพูดว่า พรุ่งนี้หวยจะออกตัวนั้นตัวนี้ วันรุ่งขึ้นหวยก็จะออกตามนั้นเสมอ จึงเล่าให้ญาติผู้ใหญ่ฟัง

วันหนึ่งญาติ 2 คน ได้บอกนายแจ่ม ซึ่งจะเข้านวดเย็นวันนั้น ว่าคืนนี้เจ้าประคุณสมเด็จฯ บอกว่าพรุ่งนี้หวยจะออกตัวใดให้จดใส่กระดาษแล้วทิ้งลอดร่องไป ตนจะคอยรับอยู่ที่ใต้ถุนกุฏิ แต่น่าประหลาดที่ในคืนนั้น ท่านนิ่งเฉยไม่พูดถึงเรื่องหวยเช่นเคย

นายแจ่มจึงกราบเรียนถามว่า “หลวงพ่อ พรุ่งนี้หวยจะออกตัวอะไร ครับ”

“วันนี้ ฉันบอกไม่ได้ เพราะฉันกลัวหวยของฉันจะลอดร่องจ้ะ”

ญาตินายแจ่ม 2 คน ที่ยืนคอยอยู่ใต้ถุนกุฏิได้ยินดังนั้น ต่างพากันหัวเราะดังคิกๆ เจ้าประคุณสมเด็จฯ จึงชี้มือไปที่ร่องพร้อมกับพูดว่า “นั่น ! อย่างไรละจ๊ะ”

๐ เบื่อการรับแขก

ในตอนแก่ชรา เจ้าประคุณสมเด็จฯ เห็นจะเบื่อหน่ายที่จะพยากรณ์ให้ใครๆ ท่านจึงมักเอาน้ำปัสสาวะ ราดรดตามพื้นกุฏิและประตูหน้าก็ปิดเสีย เปิดเฉพาะพอมีแสงสว่างสลัวๆ เท่านั้น ด้วยประสงค์จะให้ผู้ที่มาหาเมื่อเสร็จธุระแล้วจะได้รีบๆ กลับ แม้การทายท่านก็ทายแต่น้อย เช่นดูคนป่วย ถ้าท่านบอกว่า “ให้รีบกลับไป” แสดงว่า คนป่วยนั้นตายแน่ ถ้าท่านบอกว่า “ไม่เป็นไร” แสดงว่า คนป่วยไม่ตาย

๐ บิณฑบาตเรือล่ม

สมัยรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จฯพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้สร้างสระบัวขึ้นที่ตำบลปทุมวัน แล้วทรงให้สร้างวัดขึ้นวัดหนึ่งชื่อ วัดปทุมวนาราม ให้เป็นวัดของสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ครั้งหนึ่ง ทรงมีพระราชประสงค์จะทรงบาตร ในสระนั้น โปรดฯ ให้อาราธนาเจ้าประคุณสมเด็จฯ กับพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ผู้ใหญ่ผู้น้อยอีกหลายรูป ลงเรือสำปั้นเล็กที่เรียกว่า เรือบิณฑบาตพายไปรับบาตร เมื่อเจ้าประคุณสมเด็จฯ รับบาตรแล้วก็ไม่กลับ ยังพายวนเวียนอยู่หน้าพระที่นั่ง บางทีพายเขาไปใกล้เรือพระราชาคณะที่คอยรับบาตรอยู่นั้น แล้วยกพายขึ้นบังศรีษะพระราชาคณะรูปนั้น บอกว่า “ฉันช่วยบังแดดให้นะจ๊ะ”

พระบาทสมเด็จฯพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทอดพระเนตรเห็นมีพระราชดำรัสว่า “เขาให้แล้ว ยังไม่ไปอีก เที่ยวพายวนเวียนอยู่นี่เอง จะเอาอะไรอีกเล่า” เจ้าประคุณสมเด็จฯ ถวายพระพรว่า “เกรงพระราชาคณะที่แก่เฒ่าและไม่ชำนาญพายเรือ ถ้าเรือล่มลงจะได้ช่วยท่านทัน” แล้วก็พายเลยกลับไป ว่าตั้งแต่นั้นมาก็เลิก มิได้ทรงบาตรในสระนั้นอีก เรื่องที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านห่วงก็เกิดขึ้นจริงๆ จนได้ ในสมัยรัชกาลที่ 5 สระที่เสด็จขึ้นไปประทับที่พระราชวังบางปะอิน อยุธยานั้น โปรดฯ ให้นิมนต์พระสงฆ์วัดนิเวศน์ธรรมประวัติกับวัดชุมพลนิกายาราม เข้าไปรับบิณฑบาต ในพระราชวัง 2 ครั้ง

ครั้งแรก เป็นการบิณฑบาตทางบก ใช้บาตรสะพายคล้องไหล่ มีสายโยงตามอย่างโบราณ พระสงฆ์วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ เป็นฝ่ายธรรมยุติ ค่อนข้างลำบากในการใช้บาตรแบบมีสายสะพายเพราะเคยแต่อุ้มบาตร ต้องใช้เวลาฝึกหัดซ้อมรับบาตรแบบสายสะพายกันอยู่นาน ด้วยเกรงว่าฝาบาตรหรือตัวบาตรจะพลัดตกลงไป แต่พอถึงวันจริง ทุกอย่างก็เป็นไปเรียบร้อยด้วยดี

ครั้งหลัง โปรดฯ ให้เข้ารับบิณฑบาตทางเรือ พระสงฆ์ต่างลงเรือสำปั้นเล็ก ตั้งบาตรไว้ข้างหน้าพายไปเอง เหมือนทีพระไปเที่ยวรับบิณฑบาตทางเรือโดยปกติ วันนั้นพระสงฆ์ที่ไม่ชำนาญการพายเรือ เพราะไม่เคยมาก่อนได้รับความลำบากพอสมควรถึงขนาดเรือพระครูธรรมทิวากร (โห้) เจ้าอาวาสวัดชุมพลฯ เข้าไปล่มในพระราชวัง ต้องช่วยกันเอะอะไปหมด เป็นที่ทุลักทุเลยิ่งนัก

ขอบคุณที่มา…
ลีลาวาทะสมเด็จโตฯ
โดย ร้อยเอกประชุม สุขสำราญ

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก : ตำนานเล่าขานพระผู้ทรงฌานอภิญญา ครูบาอาจารย์ผู้เรืองวิชาอาคม
ขอขอบคุณรูปภาพสวยๆจาก : TNews
นำเสนอโดย : แอพเกจิ – AppGeji

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: