6104. คชกุศ ตะขอช้าง หนึ่งใน อัฎฐพิธมงคล อาวุธของพระพิฆเณศวร เจ้า

สิ่งของที่ใช้เป็นสัญลักษณ์ของมงคล ๘ ประการ ซึ่ง มีประวัติผูกพันกับคติประเพณีของพราหมณ์รามวงศ์นำมาเผยแพร่ ได้แก่

๑. กรอบหน้า
๒. ตะบอง (คทา )
๓. สังข์
๔. จักร
๕. ธงชัย (ธงชาย)
๖. ขอช้าง
๗. โคอุสภะ
๘. หม้อน้ำ

สิ่งของที่ใช้เป็นสัญลักษณ์ของมงคล ๘ อย่างนี้ กล่าวกันว่ามีประวัติผูกพันกับคติประเพณีของพราหมณ์รามวงศ์นำมาเผยแพร่ ซึ่งมีชี่อเป็นภาษาบาลีว่า อัฎฐพิธมงคล ซึ่งแปลว่ามงคล ๘ ประการนั่นเอง
เหตุที่จะอ้างว่าสิ่งของทั้ง ๘ ถือเป็นสัญลักษณ์ของมงคลในศาสนาพราหมณ์ มีดังนี้

กรอบหน้า พจนานุกรมฉบับราชบัณทิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ อธิบายว่า “น. เครื่องประดับหน้าผากเป็นรูปกระจัง” ​

(กรอบหน้า หรือ กระบังหน้า เครื่องประดับศีรษะเทวรูป พบที่ปราสาทบ้านถนนหัก จ. นครราชสีมา)​
เหตุที่ กรอบหน้าเป็นสัญลักษณ์ของมงคล หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงอธิบายว่า ” เครื่องประดับหัวอันเป็นหลักของกาย” ส่วนคำโบราณของเก่าอธิบายพอเก็บความได้ว่า “กรอบหน้ามีความสัมพันธ์กับ หญ้าแพรก และ สายสิญจน์ กล่าวคือ หญ้าแพรกที่ถือว่าเป็นใบไม้มงคลอย่างหนึ่งนั้นมีกำเนิดมาจากบัลลังก์อาสน์ ของ พระนารายณ์ ซึ่งบรรทมหลับอยู่เหนือ หลังพญานาคที่ขดตัวเป็นวงเป็นแท่นบัลลังก์ เมื่อพระนารายณ์เสด็จลงมาช่วยมนุษย์แล้วก็จะเสด็จกลับไปบรรทม ณ แท่นบัลลังก์ พญานาค เป็นเวลานานมากๆ นานมากจนกระทั่งปรากฏว่า หนวดของ พญานาค ได้เจริญงอกงามและยาวขึ้นเรื่อยๆ เมื่อยาวมากก็หลุดลอยไปตามกระแสน้ำ บ้างก็มาติดอยู่ตามชายฝั่งทะเล แล้วกลายเป็น หญ้าแพรก

*ภายหลังมนุษย์รวมเหตุที่มาของ หญ้าแพรก เกิดความศรัทธาว่าเป็นมงคล จึงเอามาทำเป็นมงคลบ้าง สายสิญจน์ บ้าง ถักทำเป็นครอบหน้าสวมศีรษะบ้าง ซึ่งในเวลาต่อมามงคลและสายสิญจน์ได้ถูกเปลี่ยนจากหญ้าแพรกเป็นด้ายดิบใน ปัจจุบัน รวมทั้งกรอบหน้าก็ได้เปลี่ยนจากหญ้าแพรกมาเป็นสิ่งอื่นจนถึงเป็นโลหะเช่นใน ปัจจุบัน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของมงคลสิ่งหนึ่ง

ตะบอง หรือ คทา
หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงอธิบายว่า” เป็นศาตราวุธอย่างหนึ่งของ พระนารายณ์ เป็นเจ้า “ตำรา โบราณอธิบายเก็บความได้ว่า “ตะบองเดิมเป็น เทพวราวุธของพระพรหม ทำจากเถาวัลย์บนยอดเขาพระสุเมรุ พระนารายณ์ได้เสด็จไปพบเข้า จึงถอนเอามาด้วยพละกำลังอันแรงกล้า แล้วบิดให้เถาวัลย์นั้นเข้ารวมกันจนเป็นเกลียว แล้วถวาย พระพรหม เพื่อทรงใช้เป็นเทพวราวุธคู่พระหัตถ์ ต่อมา พระพรหม ถวายแด่ พระอิศวร ตะบองนี้มีอานุภาพมากเป็นที่หวั่นเกรงของหมู่ยักษ์และภูติผีปิศาจ เรื่องตะบองศักดิ์สิทธิ์นี้ได้ถูกจำลองมาทำด้วยใบลานหรือใบตาลเป็นรูปแบนๆ เรียกว่า “ตะบองเพชร” ตรงปลายทำเป็นหงอน ซึ่งความจริงเป็นรูปพรหมสี่หน้า แต่ทำพอเป็นเลาๆ จึงไม่เห็นชัด ในเวลาโกนจุกเด็กๆ พราหมณ์จะให้เด็กถือตะบองดังกล่าวนี้ไว้เพื่อป้องกันสรรพภัยพิบัติ และช่วยให้เกิดสิริมงคล และในพระราชพิธีตรุษสมัยก่อน ผู้ฟังสวดภาณยักษ์ จะได้รับแจก ตะบองเพชร (ใบลาน) ให้ถือกันด้วย

สังข์ ในคำโคลงเป็น ศรีสังข์ หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงอธิบายว่า เป็น ศาตราวุธ ของ พระนารายณ์ เช่นเดียว กับ ตะบอง ในตำราของเก่าเล่าว่า
“ใน ปฐมกัลป์ โลกของเรายังว่างเปล่าอยู่ พระอิศวร ได้ทรงสร้างสรรพสิ่งต่างๆ ขึ้นมาอีกจนครบถ้วน แล้วก็ทรงพระราชดำริจะสร้างคัมภีร์พระเวทขึ้นไว้คู่กับโลก จึงทรงมีเทวบัญชาให้ พระพรหม สร้างขึ้น เมื่อ พระพรหม สร้างเสร็จแล้วก็นำไปถวาย พระอิศวร แต่ขณะเสด็จมาเกิดความร้อนพระ วรกายและบังเอิญผ่านมหาสมุทร พระพรหม จึงหยุดสรงน้ำ โดยวางพระคัมภีร์ไว้ ณ ริมฝั่งมหาสมุทร ขณะเดียวกัน มีพรหมอีกคู่หนึ่งเป็นคู่อาฆาตกันได้จุติจากพรหมโลกลงมาเกิดเป็นยักษ์หอย สังข์มีชื่อว่า “สังขอสูร” สิงสถิตอยู่ในแถบมหาสมุทรแห่งนั้น เห็นคัมภีร์พระเวท จึงแอบขโมยเอามากลืนเข้าไปไว้ในท้องแล้วลงไปนอนกบดานนิ่งอยู่ใต้ ท้องมหาสมุทร พระพรหม เสด็จขึ้นจากน้ำไม่เห็นคัมภีร์พระเวท ตกพระทัยรีบเสด็จไปเฝ้า พระอิศวร กราบทูลให้ทรงทราบ พระอิศวร ทรงทราบด้วยพระญาณจึงมีเทวบัญชาให้ พระนารายณ์ ลงไปปราบและนำคัมภีร์ พระเวทคืนมา พระนารายณ์ รับโองการแล้ว เสด็จลงไปปราบสังขอสูรโดยอวตารหรือแปลงองค์เป็นปลากรายทอง(มัสยาวตารทรงปราบ สังขอสูรได้แล้วแหกอกล้วงเอาพระเวทกลับคืนไปถวายพระอิศวร พระอิศวรจึงสาปว่า ถ้าผู้ใดจะทำการมงคลให้ใช้สังข์เป็นเครื่องหลั่งน้ำมนต์เป้นการประสาทพรจะทำให้เกิดสวัสดิมงคล พวกเป่าสังข์ให้เกิดเสียงดังก็จะเกิดสวัสดิมงคลจนกระทั่งสิ้นเสียงสังข์”

สังข์ หรือ หอยสังข์จึงถือกันว่าเป็นสัญลักษณ์ของมงคล เพราะจุติมาจาก พรหมโลก เคยเป็นที่เก็บพระเวท และ ต้องพระหัตถ์พระนารายณ์มาแล้ว

จักรเป็น เทพวราวุธของ พระอิศวร มีรูปเป็นวงกลม อย่างวงล้อและมีแฉกโดยรอบ ๙ แฉก เวียนไปทางขวาเป็น ทักษิณาวัตร ซึ่งหม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงอธิบายว่า เป็นศาตราวุธของพระนารายณ์ ตำราเก่าเล่าความเป็นมาและความศักดิ์สิทธิ์ของ “จักร” ไว้เป็นใจความว่า
” พระอิศวรทรงสร้างเทวดานพเคราะห์ขึ้น ๙ องค์ คือ พระอาทิตย์ พระจันทร์ พระอังคาร พระพุธ พระเสาร์ พระพฤหัสบดี พระราหู พระศุกร์ และพระเกตุ ให้อยู่ในวิมาน ๙ วิมาน มีหน้าที่ตระเวนรอบจักรราศรี ซึ่งแบ่งออกเป็น ๑๒ ราศี โดยเทวดานพเคราะห์ทั้ง ๙ องค์ หมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันไปตามลำดับนับตั้งแต่พระอาทิตย์ไปจนพระเกตุ และเทวดานพเคราะห์นั้นอาจบันดาลให้มนุษย์ประสบผลดีผลชั่วได้ ดังนั้นจึงถือว่าเป็น จักราวุธ ของ พระอิศวร และถูกจำลองมาเป็นจักรมี ๙ แฉก แยกตามลำดับดาวนพเคราะห์ เช่น แฉกที่ ๑ พระอาทิตย์ แฉกที่ ๒ พระจันทร์ เรียงลำดับไป ดังนั้นผู้ที่ต้องการบำบัดทุกข์ภัยที่เกิดขึ้น จึงประกอบพิธีกรรมบวงสรวงเทวดา และนำจักร ๙ แฉกซึ่งถือว่าเป็นเทพวราวุธของ พระอิศวร จัดเป็นสิ่งมงคล แทนเทวดาทั้ง ๙ เข้าร่วมในพิธีกรรม ”

ธงชัย หรือ ธงชาย เหตุที่เรียกว่า ธงชัย หมายถึง ธงอันจะนำมาซึ่งชัยชนะ เป็นธงที่นำกองทัพ ส่วนที่เรียกว่า ธงชาย นั้นเพราะรูปลักษณะเป็น ธงสามเหลี่ยม มีชายห้อยลงมาเป็น ๓ ชาย ชายหนึ่งหมายถึง พระอิศวร ชายหนึ่งหมายถึง พระนารายณ์ และอีกชายหนึ่งหมายถึง พระพรหม ธงดังกล่าวนี้เป็นธงนำกองทัพเทวดา ยกออกไปรบยักษ์ และได้ชัยชนะเป็นประจำ ธงชายจึงมาเป็นธงชัย ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปทรงของธงชัยไปบ้าง ดังธงชัยประจำกองทัพ กองพัน ธงประจำองค์พระมหากษัตริย์ในการเสด็จพระราชดำเนินขบวนพยุหยาตรา ธงชัย หรือ ธงชาย จึงเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งอันเป็นมงคลประการหนึ่ง

โคอุสภะ บางแห่งเรียกว่า โคอุสภราช เป็นบัลลังก์ของพระอิศวร ดังนั้นเมื่อจะทำการมงคลใดๆ จึงนิยมเอามูลโคมาเจิมที่หน้าผากเพื่อให้เกิดสิริมงคล แต่เมื่อประเพณีดังกล่าวแพร่มาถึงเมืองไทยได้เปลี่ยนแปลงมูลโคเป็นแป้ง กระแจะละลายในน้ำหอมแทน เหตุที่เจิมตรงหน้าผาก ก็เพราะเชื่อว่าที่หน้าผากนั้นเป็นที่อยู่ของสิริประจำตัวมนุษย์ทุกคน หรือบางท่านกล่าวว่าตรงหน้าผากเป็นที่สถิตของดวงตาที่ ๓ ของพระอิศวร จึงเจิมตรงนั้นให้เป็นสิริมงคลหรือเป็นสัญลักษณ์ของมงคลอย่างหนึ่ง

หม้อน้ำถือ กันว่า พระอุมาซึ่งเป็นมเหสีพระอิศวร ทรงเลี้ยงโลกมาด้วยน้ำนมจากพระถันยุคล จึงจำลองมาเป็นหม้อน้ำมนต์ หรือครอบน้ำมนต์ มีน้ำเต็ม บางแห่งเรียกว่าเต้าน้ำมนต์ และใน หม้อน้ำมนต์ หรือครอบน้ำมนต์ แม้บาตรน้ำมนต์ก็มักจะใส่สิ่งอันเป็นมงคล คือ ใบทอง ใบเงิน ใบนาค ใบพรหมจรรย์ ฝักส้มป่อย หญ้าแพรก ผิวมะกรูด และใบมะตูม หรือจะใช้ดอกบัว ลอยแทนก็ได้ จะลอย ๕ ดอก ๓ ดอก หรือดอกเดียวก็ได้ตามขนาดของที่บรรจุน้ำมนต์ การใช้ดอกบัวลอยเป็นอีกคติหนึ่ง คือ สมมุติว่าน้ำนั้นได้มาจากสระโบกขรณี หม้อน้ำมนต์ถือว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งสิ่งอันเป็นสิริมงคลอย่างยิ่งอย่างหนึ่ง ดังจะเห็นได้ว่าการทำบุญส่วนใหญ่มักจะมีหม้อน้ำมนต์ หรือครอบน้ำมนต์ตั้งอยู่ด้วยเสมอ ไทยเราสมัยโบราณ มักจะมีหม้อใส่น้ำเต็มตั้งไว้หน้าพระในห้องพระเสมอ และนำน้ำนั้นมาล้างหน้า โดยถือว่าเป็นน้ำมนต์เพราะก่อนนอนคนไทยมักจะสวดมนต์ไหว้พระเสมอ

ขอช้าง เป็น เทพวราวุธของ พระพิฆเณศวร ซึ่งเป็นโอรสของพระอิศวร ขอช้างได้รับความนับถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งมงคลนั้น ตำราเล่าว่า ” ในป่าหิมพานต์ ครั้งหนึ่งเกิดมีช้างพลายเชือกหนึ่งชื่อ เอกทันต์ เป็นช้างที่ดุร้ายมีฤทธิ์มากเที่ยวสร้างความเดือดร้อนให้เทวดาและมนุษย์จน อยู่ไม่เป็นสุข ไม่มีใครปราบได้ พระอิศวร จึงทรงมีบัญชาให้พระนารายณ์ลงมาปราบ ช้าง เอกทันต์ พยายามหลบหนีเพราะรู้ตัวดีว่าสู้ไม่ได้ พระนารายณ์ตามไปจนพบ และทรงใช้บ่วงบาศคล้องเอาช้าง เอกทันต์ ไว้ได้ แต่เกิดปัญหาว่าบริเวณที่จับช้างได้นั้น เป็นทุ่งกว้างโล่ง ไม่มีต้นไม้หาที่ผูกช้างไม่ได้ ในที่สุดจึงทรงปักตรีศูลอันเป็นเทพศาตราวุธลงไปในดิน แล้วตรัสสั่งให้เทพศาตราวุธนั้นเป็นต้นไม้ใหญ่ ทันใดนั้นเทพศาตราวุธก็กลายเป็นต้นมะตูมใหญ่ จึงทรงผูกช้างไว้กับต้นมะตูมทรมานจนช้างคลายพยศ แล้วเสด็จขึ้นทรงพร้อมกับหักกิ่งมะตูมอันเป็นหนามมาทำเป็นขอช้าง บังคับนำช้างไปเฝ้าพระอิศวร และต่อมา พระนารายณ์ก็ทรงมอบขอช้างนั้นแก่ พระพิฆเณศวร เป็นเทพอาวุธประจำพระองค์ดังกล่าวแล้ว ดังนั้นไม้มะตูมจึงถือว่าเป็นมงคล มักจะนำใบมะตูมใส่ลงไปในน้ำมนต์หรือรดน้ำมนต์แล้วก็เอาใบมะตูมทัดหู ด้วยถือว่าเป็นสิริมงคลเหมือนกับขอช้าง

เรื่อง มงคล ๘ ประการ เป็นคติความเชื่ออันเกิดจากศาสนาพราหมณ์ แต่ยังเป็นความเชื่อที่พุทธศาสนิกชนนิยมนับถืออยู่ และถือว่าจะบันดาลให้ตนมีความสุข

ข้อมูลจาก : เวปไซต์กระทรวงวัฒนธรรม
นำเสนอโดย : แอพเกจิ – AppGeji

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: