6242. ตำนานเล่าขานในพระนคร!! เปิดความศักดิ์สิทธิ์ “พระแสนแซว่” บอกหวย ก-ข แม่นมาก..

“พระแสนแซว่” พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ล้านนา ตามฐานข้อมูล อยู่ในพุทธศตวรรษที่ ๒๐ สำริด เศียรพระสูง ๑๘๒ ซม. เดิมประดิษฐานอยู่ที่วัดยางกวง อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ถูกอัญเชิญไปไว้ที่วัดเบญจมบพิตร กรุงเทพฯ จัดแสดงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ต่อมาปี ๒๕๑๖ อัญเชิญกลับมาจัดแสดงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่

พระแสนแซว่ หมายถึงพระพุทธรูปที่หล่อหลายชิ้น “แซว่” ในภาษาเหนือหมายถึง “บานพับหรือสลัก” พระ แสนแซว่ จึงหมายถึงพระที่ต้องใช้สลักเชื่อมต่อส่วนต่างๆ ขององค์พระจำนวนมากนับแสน ซึ่งพระแสนแซว่เหลือเฉพาะ หน้ากาก ซึ่งองค์จริงอาจเป็นปูนหรือสําริด เฉพาะพระพักตร์ สูง ๑๗๐ เซนติเมตร เทียบกับเศียรหลวงพ่อแก่ จากวัดธรรมิกราชที่สูง ๒๑๐ เซนติเมตรจะเล็กกว่า พระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่ หล่อจากสําริด และเหลือทั้งองค์ คือ พระศรีศากยมนีศิลปะ สุโขทัย

สำหรับพระแสนแซว่ สร้างในสมัยพระเจ้าติโลกราช มีตํานาน กล่าวว่า เดิมเศียรนี้กรมพระยาดํารงราชานุภาพอัญเชิญมาไว้ ตั้งใจจะประดิษฐานที่วัดเบญจมบพิตร แต่เข้าประตูไม่ได้ เนื่องจากเศียรใหญ่มากจึงตั้งไว้ใต้ต้นไม้ ด้านนอก ถึงในสมัย รัชกาลที่ ๖ มีหวย ก-ข มีชาวบ้านมาขอหวย ข่าวแพร่ออกไปว่ามีเศียรพระให้หวยแม่น เจ้ามือจึงเอาตะปู มาเย็บพระโอษฐ์ไม่ให้ใบ้หวย พระแสนแซ่ว จึงมีตะปูตึงอยู่ที่มุมพระโอษฐ์บนและล่าง ปัจจุบันตะปูนี้ก็ยังคงอยู่ และหลังจากนั้นเศียรพระแสนแซว่ก็ถูกอัญเชิญกลับไปยังเชียงใหม่ในเวลาต่อมา และคงอยู่เป็นมิ่งขวัญแก่เมืองเชียงใหม่จนบัดนี้

โดยลักษณะของพระพักตร์ที่ค่อนข้างกลม ขมวดพระเกศาขนาดใหญ่ พระขนงโก่งโค้ง พระเนตรเหลือบต่ำ พระโอษฐ์เล็กน้อย มุมพระโอษฐ์ตวัดชี้บน พระหนุเป็นปม โดยรวมแล้วจัดเป็นพระพุทธรูปศิลปะล้านนาแบบพระสิงห์รุ่นแรก ขนาดใหญ่โตของพระแสนแซ่วนี้ แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างความเจริญของบ้านเมือง และความเจริญของเทคโนโลยีการหล่อโลหะในสมัยนั้น ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะหล่อขึ้นในสมัยพระเจ้าติโลกราช

กรมศิลปากรได้ดำเนินการปรับปรุงนิทรรศการในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ ให้มีเนื้อหาทางวิชาการและเทคนิคการจัดแสดงที่ทันสมัยยิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการเผยแพร่ข้อมูลและหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี แก่ผู้สนใจศึกษาค้นคว้า และสงวนรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ

โดยดำเนินการแล้วเสร็จในพุทธศักราช ๒๕๖๐ ซึ่งเป็นวาระครบรอบ ๔๔ ปี ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ ทรงเปิดอาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ และทอดพระเนตรนิทรรศการถาวร เมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๖

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ ตั้งอยู่ที่ตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัด เชียงใหม่ จัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่รวบรวมได้จากทางภาคเหนือ โดยมีโบราณวัตถุชิ้นสำคัญ อาทิ เศียรพระแสนแซว่ สำริด ศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ ๑๙ – ๒๐ รอยพระพุทธบาท ไม้ประดับมุกและกระจก ศิลปะล้านนา ปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ – ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๑ เครื่องสักการะพระรัตนตรัย หีบพระธรรม เครื่องถ้วยจีน ผู้สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ได้ ทุกวันพุธ- วันอาทิตย์ (ปิดวันจันทร์ – อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์) ตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐ น. – ๑๖.๐๐ น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ โทร.๐ ๕๓๒๒ ๑๓๐๘, ๐ ๕๓๔๐ ๘๕๖๘

ขอบคุณข้อมูลจาก : เพจ กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร

Click to access e0b8a5e0b989e0b8b2e0b899e0b899e0b8b2.pdf

https://pantip.com/topic/31108513

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: