6062. แผนลับ ฆ่าฮิตเลอร์ 20 กรกฎาคม 1944

แผนลับ 20 กรกฎาคม เป็นความพยายามลอบสังหารอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ฟือเรอร์แห่งไรช์ที่สาม ภายในกองบัญชาการสนาม “รังหมาป่า” ใกล้เมืองรัสเทนบูร์ก แคว้นปรัสเซียตะวันออก

เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ. 1944 วัตถุประสงค์ประจักษ์ของความพยายามลอบสังหารดังกล่าว คือ เพื่อยึดการควบคุมประเทศเยอรมนีและกองทัพเยอรมันทางการเมืองจากพรรคนาซี (รวมถึงเอสเอส) เพื่อให้ได้มาซึ่งสันติภาพกับฝ่ายสัมพันธมิตรให้เร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ความปรารถนาเบื้องหลังของนายทหารระดับสูงของเวร์มัคท์หลายนาย คือ เพื่อแสดงให้โลกเห็นว่าชาวเยอรมันทุกคนไม่ได้เป็นอย่างฮิตเลอร์และพรรคนาซี แม้จะยังไม่ทราบรายละเอียดการริเริ่มสันติภาพของผู้ก่อการแต่พวกเขาน่าจะรวมข้อเรียกร้องให้ยอมรับการผนวกดินแดนโดยเยอรมนีในทวีปยุโรป

แผนลับดังกล่าวเป็นความพยายามสูงสุดของขบวนการกู้ชาติเยอรมันหลายกลุ่มในการโค่นรัฐบาลเยอรมันอันมีพรรคนาซีเป็นผู้นำ ความล้มเหลวทั้งในการลอบสังหารฮิตเลอร์และรัฐประหารซึ่งวางแผนให้เกิดขึ้นหลังการลอบสังหารนั้นนำไปสู่การจับกุมประชาชนอย่างน้อย 7,000 คนโดยเกสตาโป ตามรายงานการประชุมกิจการนาวีของฟือเรอร์ มีผู้ถูกประหารชีวิต 4,980 คน

20 กรกฎาคม 1944 อาจเป็นวันธรรมดาวันหนึ่งหากว่ามันไม่ได้อยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองกำลังตึงเครียดถึงขีดสุด จนทำให้วันนี้กลายเป็นหน้าหนึ่งที่ประวัติศาสตร์จะต้องจารึกไว้ แม้ว่าปฏิบัติการในครั้งนั้นจะไม่เสร็จสมบูรณ์ตามที่หวังก็ตาม

เช้าตรู่วันนั้นพันเอกสเตาเฟนแบร์ก และนายทหารคนสนิท แวร์เนอร์ เฮฟเทน เดินทางออกจากสนามบินทหารแห่งหนึ่งนอกกรุงเบอร์ลิน พร้อมกับระเบิดหนัก 4 ปอนด์ อาวุธที่จะใช้ในการสังหารฮิตเลอร์ผู้ซึ่งยังไม่ตื่นจากการหลับไหล

ขณะที่แฟรงคลิน ดี.รูสเวลท์ ประธานา ธิบดีแห่งสหรัฐ ซึ่งโดยสารอยู่บนรถไฟเฟอร์ดินานด์ แมกเจลแลน เพิ่งจะตื่นนอน ส่วนเซอร์วินสตัน เชอร์ชิลล์ นายกรัฐมนตรีของอังกฤษ กำลังรับประทานอาหารเช้าอยู่บนเตียง ในห้องของอาคารแอนเน็กซ์ที่อยู่เหนือห้อง War Room ของคณะรัฐมนตรีบนถนนดาวนิ่ง และจอมพลโจเซฟ สตาลิน กำลังพักผ่อนอยู่ที่บ้านพักในเมืองคุนท์เซโว่ นอกกรุงมอสโก
ระหว่างที่แผนการลอบสังหารฮิตเลอร์ค่อย ๆ ดำเนินไปตามที่วางไว้ ในช่วงสายฮิตเลอร์ก็ตื่นขึ้นเพื่อมารับฟังรายงานการทิ้งระเบิดในช่วงคืนที่ผ่านมา ก่อนที่ ดร.ธีโอดอร์ มอเรลล์ แพทย์ประจำตัวจะฉีดยากระตุ้นประจำวันให้

หลังจากนั้นไม่นานพันเอกสเตาเฟนแบร์กก็เดินทางมาถึงสนามบินทหารใกล้กับกองบัญชาการรบฝั่งตะวันออก ที่เรียกว่า โวล์ฟส์ ไลร์
ช่วงเวลาเดียวกันนั้นทั้งจอมพลสตาลิน นายกรัฐมนตรีเชอร์ชิลล์ และประธานา ธิบดีรูสเวลท์ ต่างก็กำลังเตรียมวางแผนเพื่อจัดการกับเผด็จการอย่างฮิตเลอร์อยู่ โดยไม่รู้เลยว่านายทหารคนสนิทของฮิตเลอร์เองกำลังปฏิบัติการเพื่อพลิกสถานการณ์อันเลวร้ายอยู่ในอีกไม่กี่นาทีข้างหน้า

พันเอกสเตาเฟนแบร์กขอตัวที่จะไม่เข้าร่วมประชุมกับผู้บัญชาการสนามรบวิลเฮล์ม ไคเทล หลังจากเขามาแจ้งเรื่องการประชุมที่ถูกร่นให้เร็วขึ้นครึ่งชั่วโมงให้ทราบ ก่อนจะขอให้ห้องพักผ่อนเพื่อร่วมกับแวร์เนอร์ ฟอน เฮฟ เทน นายทหารคนสนิทประกอบลูกระเบิดที่ลักลอบนำ เข้ามา

แต่ขณะที่ระเบิดลูกที่สองกำลังได้รับการประกอบขึ้นนั้น ทหารรับใช้ได้เข้ามาขัดจังหวะจนทำให้ทั้งคู่ประกอบระเบิดเสร็จสมบูรณ์เพียงลูกเดียว และนั่นคือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ปฏิบัติการครั้งนี้ไม่สำเร็จตามเป้าหมายที่วางเอาไว้

ฟอน เฮฟเทน เอาระเบิดลูกที่สองใส่ไว้ในกระเป๋าของเขาแทนที่จะใส่มันไว้ในกระเป๋ากับระเบิดลูกแรก ซึ่งจะถูกนำไปไว้ในที่ประชุมของฮิตเลอร์

แม้ว่าจะไปเข้าร่วมประชุมกับฮิตเลอร์ตามปกติ แต่พันเอกสเตาเฟนแบร์กก็ฉลาดพอที่จะไม่เป็นผู้วางระเบิดนั้นด้วยตัวเอง เพราะเขามีนายทหารคนสนิทอีกคนที่จะทำหน้าที่ในการนำมันไปวางไว้ใกล้ ๆ กับฮิตเลอร์ แผนการครั้งนี้คงจะสมบูรณ์หากว่าพันเอกไฮนซ์ บรันท์ไม่นำกระเป๋าปริศนาใบที่ว่าเคลื่อนย้ายไปจากที่ทางที่มันควรจะอยู่

ไม่กี่อึดใจหลังจากพันเอกสเตาเฟนแบร์กถูกฟอน เฮฟเทน เรียกออกมาจากกระท่อมประชุมสถานการณ์ ก็มีเสียงระเบิดดังขึ้นสัญญาณเตือนภัยถูกเปิดเพื่อแจ้งการก่อการประทุษร้ายในค่าย พันเอกสเตาเฟนแบร์กพร้อมฟอน เฮฟเทน รีบรุดกลับไปยังสนามบินทหารและขึ้นเครื่องกลับทันที โดยไม่อยู่รอดูผลงานของตัวเองก่อน

การรอดตายอย่างปาฏิหาริย์ในครั้งนี้ทำให้ผู้นำฟาสซิสต์อย่าง เบนิโต้ มุสโสลินี เชื่อว่านั่นคือสัญญาณ ที่บ่งบอกว่าชะตาได้ลิขิตให้ฮิตเลอร์นำนาซีเยอรมันไปสู่ชัยชนะ

ความเชื่อมั่นของพันเอกสเตาเฟนแบร์กที่ว่า ฮิตเลอร์ตายแล้ว กับข้อความที่ถูกแจ้งมาว่า “มีเรื่องร้ายแรงเกิดขึ้น ฟูห์เรอร์ยังมีชีวิตอยู่” โดยไม่มีอะไรยืนยัน ทำให้พันเอกสเตาเฟนแบร์กตัดสินใจออกคำสั่งไปยังผู้บัญชาการกองทัพระดับภูมิภาคทุกนายว่า “ฮิตเลอร์ตายแล้วและกองทัพบกกำลังเข้ายึดอำนาจควบคุมรัฐ เจ้าหน้าที่พรรคนาซีและผู้บัญชาการหน่วยเอสเอสทุกคนต้องถูกจับกุม”

นั่นเท่ากับเป็นการแสดงตัวว่าเขาคือผู้วางระเบิดลูกนั้น ขณะที่ฮิตเลอร์โทรฯ ไปหาโยเซฟ เกิบเบลส์ รัฐมนตรีกระทรวงโฆษณาการพร้อมกับบอกว่าเขายังมีชีวิตอยู่ เมื่อพันเอกสเตาเฟนแบร์กส่งนายพลแอร์นสท์ เรเมอร์มาจับกุม เกิบเบลส์จึงแจ้งคำสั่งของฮิตเลอร์ที่ให้เรเมอร์ควบคุมกรุงเบอร์ลินและนำความสงบเรียบร้อยกลับคืนมา โดยตั้งไฮน์ริค ฮิมเลอร์ ผู้บัญชาการหน่วยเอสเอสเป็นผู้บัญชาการกองทัพชั่วคราว

หลังจากนั้นมีการประกาศทางวิทยุเยอรมันเกี่ยวกับความพยายามในการลอบสังหารที่ล้มเหลว และฮิตเลอร์ยังมีชีวิตอยู่ เพียงเท่านั้นกบฏในเบอร์ลินก็วงแตก ผู้ร่วมสมคบคิดบางรายแปรพักตร์ ขณะที่ส่วนที่เหลือถูกจับกุมและตัดสินประหารชีวิตทันที

ขอบคุณท่านเจ้าของเรื่อง

แอพเกจิ – AppGeji

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: