9012.เขาอ้อ ตักศิลาทางไสยเวทย์ของภาคใต้ ตอนที่ 2 : พราหมณ์สยายปีก

ตอนที่ 2 : พราหมณ์สยายปีก

ส่วนใหญ่ของชาวฮินดูในประเทศอินเดียแม้ในขณะนี้นับถือศาสนาพราหมณ์ ซึ่งตามลัทธิพราหมณ์ผู้นับถือไม่จำเป็นต้องเป็น “นักบวช” คืออาจครองชีพแบบฆราวาส หมายถึงมีภรรยาและลูกก็ได้ พักอาศัยอยู่ตามนิวาสถานบ้านช่องก็ได้ คล้ายคลึงกับพระสงฆ์ของชาวทิเบต แต่ทุกคนนับถือว่าตนเป็นนักบวชอยู่ด้วยตลอดเวลา ปฏิบัติศาสนกิจได้อย่างนักบวชทั้งหลายก็ได้ เพราะฉนั้นเมื่อพราหมณ์จาริกหรือทำนองอพยพไปที่ไหน ก็สามารถนำครอบครัวของตนไปด้วยก็ได้ และสามารถทำมาหากินไปตามวิถีทางของตนได้แต่ห้ามขาดเรื่องการแต่งงานกับคนนอก คือคนที่ไม่ใช่พราหมณ์ เพราะพราหมณ์ถือว่ามีวรรณะรองจากพงศ์พันธุ์กันไม่ได้ ความคิดนี้ก็ยังมีอยู่มากในประเทศอินเดียเดี๋ยวนี้ ลัทธิห้ามสมพงศ์ต่างวรรณะกับคนภายนอกนี้เท่ากับเป็นการกั้นวงล้อมของพวกพราหมณ์เอง

คณะของพราหมณ์ที่มุ่งหน้ามาตะวันออก ส่วนใหญ่เป็นดราวิเดียน ซึ่งอยู่ทางปลายแหลมคอมมอรินทางฝั่งตะวันออก ได้ค่อย ๆ ทยอยกันออกมา โดยแบ่งเป็น ๒ สาย

สายที่ ๑ เริ่มต้นจากเมืองมัทราสและใด้ลงมาตามริมฝั่งทะเลมาลาบาร์ ขบวนเรืออย่างน้อยก็ประมาณ ๑๐ ลำ บ่ายโฉมหน้าพุ่งตรงไปทางทิศตะวันออก เข้าสู่ทะเลอันดามันแต่เนื่องจากกลัวพวกชีเปลือยที่หมู่เกาะอันดามัน ซึ่งเป็นลัทธิหนึ่ง และเป็นเกาะที่เป็นดินแดนหรือขึ้นกับอินเดียจนกระทั่งบัดนี้ จึงบ่ายโฉมหน้าขบวนเรือไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้เพื่อแวะที่หมู่เกาะนิโคบาร์อันเป็นดินแดนของอินเดียเหมือนกันแต่ก็หนีพวกชีเปลือยไม่พ้น เมื่อทนพักอยู่ระยะเวลาหนึ่งก็ออกเดินทางบ่ายโฉมหน้าสู่ช่องแคบมะละกา ระหว่างแหลมมลายูกับเกาะสุมาตรา เห็นภูมิประเทศตอนหนึ่งทางซ้ายมืออันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศมาเลเซียในปัจจุบันน่าตั้งรกรากหลักฐานที่นั่น จึงเลี้ยวเข้าสู่แม่น้ำสายหนึ่ง ไม่ใหญ่แต่ลึกมาก ซึ่งมีชื่อต่อมาเรียกแม่น้ำนั้นว่า “แม่น้ำสุไหงบาตู – ปาฮัต” อยู่ในรัฐเคดาห์ พวกพราหมณ์พวกแรกนี้จึงได้ตั้งแหล่งชุมนุมของของตนขึ้น ซึ่งสิ่งสำคัญที่จะต้องมีก็คือ “โบสถ์พราหมณ์”

โบสถพราหมณ์แห่งนี้ บัดนี้กลายเป็นโบราณสถานอันประเทศมาเลเซียถือว่ามีคุณค่าทางประวัติศาสตร์มากที่สุดเพราะเป็นเครื่องแสดงว่าดินแดนมาเลเซียเป็นดินแดนที่มนุษย์ที่เจริญแล้วเคยมาตั้งรำรากหลักฐานอยู่ก่อน ไม่ใช่มีแต่พวกคนป่า ตัวดำ ผมหยิก (หมายถึงเนกรีตอส ซึ่งในเมืองนครศรีธรรมราฃก็เคยมีพวกนี้มาตั้งแหล่งอาศัยอยู่ คือที่บ้านป่าโลงใกล้วัดใหญ่ ตลาดท่าวัง แต่ความเจริญเป็นเผ่าเนกรีตอสที่มีสาขาออกมา เรียกว่า “ปะหล่อง” ต่อมาเรียกเพี้ยนเป็นชุมโลงไป) โบสถ์พราหมณ์ดังกล่าวนี้เป็นแหล่งทัศศึกษาของประชาชนทั่วโลก พราหมณ์รุ่นแรกที่เข้ามาตั้งชุมนุมชนขึ้นนี้เนื่องจากหาคนสืบชาติพันธุ์วรรณะพราหมณ์ไม่ค่อยได้ ที่มีก็ค่อย ๆ ล้มตายไปจนหมด และมีพราหมณ์คณะใหญ่ทยอยตามมา ก็มาขึ้นเรือที่ท่าปะเหลียนในจังหวัดตรัง แล้วอพยพต่อมา จนเข้าเขตพัทลุง และทางตอนใต้ของเมืองนครศรีธรรมราชปัจจุบันก็มีด้วย ร้องรอยหลักฐานก็ยังมีให้เห็นอยู่จนบัดนี้…

สายที่ ๒ การจาริกของคณะพราหมณ์สายนี้มีบทบาทต่อประวัติศาสตร์ไทยมาก เพราะนักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ไม่ว่าไทยเทศ มักจะนึกออกถึงคำ ๆ หนึ่งและชอบกันนักคือคำว่า “ตะโกลา”

โดยมีความเป็นมาดังนี้ หลังจากพวกพราหมณ์สายที่ ๑ ตั้งหลักขึ้นครั้งแรกที่ริมแม่น้ำบาตูปาฮัตในรัฐเคดาห์ (ในมาเลเซียปัจจุบัน) ได้แล้ว ข่าวก็แพร่กระจายไปว่า ในดินแดนที่ไปพบนั้นช่างอุดมสมบูรณ์เหลือเกิน จะใช้เป็นสถานที่สำคัญในการเผยแพร่ศาสนาพราหมณ์ให้กว้างขวางออกไปำด้ง่าย เป็นดินแดนใหม่ที่ไม่มีผู้คนอแอัดยัดเยียดอย่างในชมพูทวีป

ข่าวนี้ทำให้มีพวกพราหมณ์สายที่ ๒ มีความกระตือรือร้น และพราหมณ์สายนี้มีความทะเยอทะยานอย่างแรงกล้าที่จะขยายศาสนาเข้าไปราชอาณาจักรกัมโพช ซึ่งตั้งอยู่บริเวณภาคกลางของประเทศไทยปัจจุบัน และไปทางตะวันออกจนจรดประเทศเขมรและญวนเดี๋ยวนี้ เป็นความมุ่งหมายอันใหญ่หลวงและแก่กล้ากว่าพราหมณ์พวกแรกมกา

เพราะฉะนั้นจึงได้จัดขบวนใหญ่หลายสิบลำมุ่งไปทางทิศตะวันออกโดยตามแผนที่ของปโตเลมี พราหมณ์พวกนี้ไม่กลัวพวกชีเปลือยที่หมู่เกาะอันดามัน ได้หยุดพักขบวนเรือที่นั่นตามสมควรแล้ว ก็บ่ายโฉทหน้าฝ่าคลื่นใหญ่ของทะเลอันดามันมุ่งไปทางทิศตะวันออกต่อไป จนในที่สุดก็มองเห็นแผ่นดินใหญ่ตั้งตระหง่านอยู่ตรงหน้า เห็นริมฝั่งทะเลเหว่ง ๆ มีเกาะแก่งสลับซับซ้อน เป็นธรรมชาติที่สวยงามมาก จึงได้เคลื่อนขบวนเรือเข้าไป เห็นเป็นทำเลที่เหมาะมาก จึงขึ้นเรือที่เกาะเล็กเกาะหนึ่ง (ความจริงก็ไม่เล็กนัก) เดี๋ยวนี้ก็คือเกาะพระทอง อยู่ริมฝั่งทะเลของอำเภอ คุระบุรี จังหวัดพังงาแล้วได้ตั้งโบสถ์หรือปูชนียสถานขึ้นตามลัทธิประเพณีพราหมณ์ตั้งเป็นชุมนุนชนใหม่ขึ้น ในหมู่บ้านที่เรียกว่า “ทุ่งตึก” ซึ่งต่อมาก็ได้รู้ว่าอยู่ในเขตปกครองของเมืองตะโกลา ความจริงพราหมณ์ทั้ง ๒ สายนี้ เดิมก็มีพันธุ์และวรรณะมาจากชมพูทวีป.

ขอขอบคุณ สำนักตักศิลาไสยเทวะ
ที่มา : เวทย์ วรวิทย์หนังสือ : เขาอ้อ ตักศิลาทางไสยเวทย์

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: