1580.ย้อนรอยพระเถราจารย์ทรงฤทธิ์ หลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว

หลวงปู่เฒ่ายิ้ม จนฺทโชติ วัดหนองบัว (วัดอุปลาราม) ต.หนองบัว อ.เมือง จ.กาญจนบุรี

จากการบันทึกของพระโสภณสมาจารย์ (เหรียญ สุวรรณโชติ) ซึ่งเป็นศิษย์ก้นกุฏิ และเป็นสมภารรูปต่อจากหลวงปู่ยิ้ม ได้ความว่า
หลวงปู่ยิ้ม ท่านเป็นชาววังด้ง จ.กาญจนบุรี เกิดปีมะโรง เดือนห้า วันอังคาร พ.ศ. 2387 เป็นบุตร นายยิ่ง นางเปี่ยม บิดามารดาประกอบอาชีพค้าไม้ไผ่ล่องไปขายที่ปากอ่าวแม่กลอง จนเป็นที่รู้จักของชาวแม่กลองเป็นอย่างดี

ครั้นได้อายุครบบวช ได้อุปสมบทที่วัดทุ่งสมอ อ.พนมทวน พระอาจารย์กลีบ วัดหนองบัว เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์แดง วัดเหนือ และพระอาจารย์อินทร์ วัดทุ่งสมอ เป็นพระคู่สวด ได้รับฉายาว่า “จนฺทโชติ”

เมื่อบวชแล้วท่านได้เรียนหนังสือขอม บาลี มงคลทีปนี มูลกัจจายน์ พระเจ้า 10 ชาติ สูตรสนธิ จนชำนาญ อีกทั้งยังสามารถท่องปาฏิโมกข์ได้ตั้งแต่พรรษาที่ 2 ด้วยตัวท่านชอบเกี่ยวกับวิชาความรู้และวิทยาคมจึงได้รับคำแนะนำจากอาจารย์แดงพระคู่สวดว่า ที่จังหวัดสมุทรสงคราม มีพระเกจิอาจารย์เก่งๆ อยู่หลายรูป ท่านได้เดินทางไปหาอาจารย์รูปแรกคือ หลวงพ่อพระปลัดทิม วัดบางลี่น้อย อ.อัมพวา ท่านเป็นอุปัชฌาย์เก่าแก่ของวัดบางช้าง เรียนทางทำน้ำมนต์โภคทรัพย์ อยู่ปากอ่าวแม่กลองได้เรียนวิชาทำธงกันอสุนีบาต (สายฟ้า) และพายุคลื่นลม วิชาหลายลงอักขระทำรูปวงกลม เวลาไปทะเลแล้วขาดน้ำจืดให้เอาหวายโยนลงไปในทะเลแล้วตักน้ำในวงหวายน้ำจะจืดทันที ลูกอมหมากทุยก็เป็นที่เลื่องลือ เพราะท่านได้สำเร็จจินดามนต์ เรียกปลาเรียกเนื้อได้

อีกรูปคือ หลวงพ่อกลัด วัดบางพรม เรียนทางมหาอุตม์ ผ้าเช็ดหน้าทางมหานิยม เชือกคาดเอว เครื่องรางรูปกระดูกงูกันเขี้ยวงา ทางคงกระพันชาตรี หลวงพ่อกลัดรูปนี้สามารถย่นระยะทางได้ และรูปสุดท้ายคือ หลวงพ่อแจ้งวัดประดู่อัมพวา ได้เรียนทางแพทย์แผนโบราณ มีดหมอ ทางมหาประสานเชือกคาดชื่อตะขาบไฟ หรือ ไส้หนุมาน

“หลวงปู่ยิ้ม” เป็นพระที่ชอบทางรุกขมูลธุดงควัตรออกพรรษา แล้วท่านมักจะเข้าป่าลึกเพื่อหาที่สงบทำสมาธิท่านรู้ภาษาสัตว์ทุกชนิด ชื่อเสียงกิตติศัพท์ของท่านโด่งดังไปทั่วเจ้านายและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกรุงเทพฯ อาทิ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ซึ่งโปรดทางวิชาไสยศาสตร์ ได้ไปหาท่านถึง 2 ครั้ง เลื่อมใสและนับถือท่านเป็นอาจารย์ ขอเรียนวิชาจากท่านได้มีดหมอจากท่าน 1 เล่ม ไว้ประจำพระองค์ มีดหมอมีสรรพคุณปราบภูตผีปีศาจ และปราบคนที่อยู่ยงคงกระพัน ถ้าได้ถูกคมมีดของท่านแล้วต้องเป็นอันได้เลือด ไม่ว่าคนนั้นจะเก่งเพียงไร ก็ไม่สามารถคุ้มครองได้

เสด็จในกรมฯ ทรงโปรดเป็นอันมาก ทั้งๆ ที่ว่าท่านเป็นศิษย์หลวงปู่ศุข วัดมะขามเฒ่า จ.ชัยนาท มาแล้ว ก็ยังเกรงวิชาของหลวงปู่ยิ้ม หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ท่านเคยธุดงค์มาจำวัดกับหลวงปู่ยิ้ม ที่วัดหนองบัว และได้แลกเปลี่ยนวิชากัน
หลวงปู่ยิ้มท่านเป็นพระสมถะไม่หลงวิชาอาคม จำนวนศิษย์ของท่านเท่าที่ปรากฏ คือ
1. พระโสภณสมจารย์ (เหรียญ) วัดอุปลาราม (วัดหนองบัว)
2. พระเทพมงคลรังษี (ดี) วัดเทวสังฆาราม (วัดเหนือ)
3. พรกาญจนวัตรวิบูลย์ (ล่อน) วัดลาดหญ้า
4. พระโสภณสมณกิจ (หัง) วัดเหนือ
5. พระครูวัตตสารโสภณ (ดอกไม้) วัดดอนเจดีย์
6. พระราชมงคลวุฒาจารย์ (ใจ) วัดเสด็จ
7. พระอธิการ (แช่ม) วัดจุฬามณีอัมพวา)
8. พระครูสกลวิสุทธิ (เหมือน รัตนสุวรรณ)

วัตถุมงคลของท่านตลอดจนเครื่องรางของขลังต่างเป็นที่ต้องการของบรรดาลูกศิษย์ อาทิ พระปิดตา พิมพ์ใหญ่ (อ่าวจุฬา) พิมพ์สังกัจจายน์ใหญ่ พิมพ์สังกัจจายน์เล็ก, พิมพ์แข้งซ้อนใหญ่, พิมพ์แข้งซ้อน, พิมพ์เข่าบ่วง เป็นต้น

ท่านได้สร้างวัตถุมงคล ทั้งพระเครื่องและเครื่องราง ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับความนิยมจากผู้ที่เลื่อมใส วัตถุมงคลเหล่านี้ได้กระจัดกระจายอยู่กับบุคคลต่างๆ ทั้งในท้องที่และต่างถิ่น จนอาจเป็นการยากที่จะรวบรวมได้ทั้งหมด พูดถึงพระเครื่องของหลวงปู่ยิ้มที่โด่งดังมากๆเห็นจะได้แก่พระปิดตาเนื้อผงที่ทุกคนคงรู้จักกันดี และยังมีพระปิดตาที่ทำด้วยเนื้อตะกั่วอีก ส่วนเครื่องรางก็มี เสือแกะจากไม้รัก ลูกอม ตะกรุด ผ้ายันต์ และแหวนพิรอด หลวงปู่ยิ้มมรณภาพ เมื่ออายุ 66 ปี เมื่อ พ.ศ.2453

วัตถุมงคลของท่านทุกประเภทได้รับความนิยมทั้งหมด แต่ถ้าเป็นวัตถุมงคลประเภท พระปิดตา ซึ่งพระปิดตาของหลวงปู่ท่าน ได้รับความนิยมที่สุด นอกจากนี้แล้วยังได้รับการยอมรับ และยกย่องให้อยู่ในชุดเบญจภาคี ๑ ใน ๕ ประเภทพระปิดตาเนื้อผง ซึ่งในครั้งนี้จักกล่าวถึงเรื่องวิธีการสร้างและพิมพ์ต่างๆให้ท่านทั้งหลายได้รับรู้ ณ โอกาสนี้

การสร้างพระปิดตา
เนื่องจากหลวงปู่เฒ่ายิ้มท่านมีวิชาอาคมมาก เพราะศึกษามาหลายสำนัก ท่านจึงสร้างผงวิเศษไว้มากพอสมควร ครั้นได้ฤกษ์งามยามดีท่านก็แกะพิมพ์ด้วยหินมีดโดน เป็นแบบปิดตามหาลาภแล้วสร้างเป็นพระปิดตาเนื้อผง เป็นที่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน และเล่นหาสะสมเป็นสากลนิยม

พระผงตามที่หลวงปู่เหรียญ บันทึกรายละเอียดเอาไว้ว่ามีส่วนผสมอันประกอบไปด้วย ผงอิทธิเจ ผงปถมัง ผงพุทธคุณ ผงมหาราช ผงตรีนิสิงเห ผสมด้วย ว่าน 108 เกษรดอกไม้บูชาพระ 108 ไคลโบสถ์ ไคลเจดีย์ ไคลเสมา ใบโพธิ์ ข้าวสุกบาตรพระพุทธ ขี้เหล็กจาร หนังสือใหญ่ นำมาบทให้ละเอียดเป็นผง และที่สำคัญขาดเสียมิได้คือ ?รักหมาร่าาที่ขึ้นในตาพระพุทธ ? (ซึ่งรังหมาร่านี้เองที่ทำให้หลวงปู่ต้องรอนานถึง 7 ปี กว่าจะได้สร้างพระหลังจากมวลสารอื่นมีพร้อมแล้ว) ผสมรวมกันแล้วนำไปกดพิมพ์พระ ในแม่พิมพ์ที่ได้แกะเตรียมเอาไว้แล้ว
พระเนื้อผงของท่านมีทั้งประเภทเนื้อผงล้วน และเนื้อผงคลุกรัก แม่พิมพ์แกะจากหินมีโกน มีด้วยกันหลายพิมพ์ แต่ที่โด่งดังนิยมกันมากคือ พิมพ์พระภควัมบดี หรือ พระปิดตา นั่นเอง
การสร้างพระปิดตานั้นน่าจะสร้างหลายครั้ง ในลักษณะสร้างไปแจกไป พอหมดก็สร้างขึ้นมาใหม่ ด้วยวรรณะของเนื้อปรากฏความแตกต่างให้พอสังเกตได้ แม้มวลสารหลักต่างๆเหมือนกัน แต่อัตราส่วนในการผสมจะต่างกันไปในแต่ละครั้ง ด้วยไม่มีสูตรผสมตายตัวนั่นเอง
พระเนื้อผงหลวงปู่ยิ้มสามารถแยกออกได้เป็น 4 พิมพ์หลักๆคือ

1.พระปิดตาพิมพ์ใหญ่ หรือ พิมพ์ชะลูด รูปพรรณสัณฐานโดยรวมพระพิมพ์นี้จะมีลักษณะสันฐานสูงชะลูด ชาวบ้านจะเรียกกันติดปากว่า ? พิมพ์ยืด ? พระพิมพ์นี้มีส่วนสูงประมาณ 2.5 ซ.ม. ลักษณะขององค์พระเ ป็นรูปลอยองค์ พระหัตถ์สองข้างปิดพระเนตรกลมกลืน ประทับนั่งขัดสมาธิราบ พระเพลา (ส่วนขา) เหยียดตรงติดกันจนมีลักษณะคล้ายฐานเขียง ไม่ปรากฏซ้อนพระชงฆ์ (แข้ง) แต่อย่างใด จึงมีลักษณะโดยรวมคล้ายฐานเขียง รายละเอียดอื่นๆไม่ปรากฏชัดเจน

สิ่งที่ควรสังเกตในพระพิมพ์นี้ คือ พระเพลาด้านขาวขององค์พระ ยกสูงกว่าด้านซ้ายอย่างเห็นได้ชัด อีกประการหนึ่ง คือ การกดพิมพ์นี้ ส่วนของปีจะปรากฏเนื้อเกินฉนั้นพระทุกองค์ จะปรากฏร่องรอยของการตัดขอบ ซึ่งการตัดของของพระแต่ละองค์จะไม่เหมือนกัน
ด้านหลังของพระพิมพ์ใหญ่นิยม หรือ พิมพ์ชะลูด ด้วยเหตุที่พระพิมพ์นี้แกะจากหินมีดโกน วิธีการกดพิมพ์พระจึงต้องใส่เนื้อพระให้เต็มพิมพ์ก่อน จากนั้นจึงทำการปาดเนื้อพระที่เกินออก มักปรากฏรอยปาดเพื่อให้หลังเรียบ

ด้านหลังจึงมีลักษณะรอยคลื่นของการปาดหรือปาดเรียบ ให้องค์พระที่สมบูรณ์จะเห็นรายปาดชัดเจน เว้นแต่พระที่แกะมาจากขันน้ำมนต์และแกะจากเสาโบสครั้งบูรณะครั้งใหญ่ซึ่งจะเป็นแบบหลังเรียบ และเมื่อแกะองค์พระออกจากแม่พิมพ์จึงได้มีการปาดเนื้อพระด้านข้างออก จึงทำให้สันฐานขององค์พระมีขนาดแตกต่างกันขึ้นอยู่กับการปาดชิดหรือห่างจากองค์พระ จัดเป็นลักษณะที่ควรสังเกตในพระพิมพ์นี้อีกประการหนึ่ง

พระพิมพ์นี้มักจะนิยมเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ? พิมพ์ชลูด ? ซึ่งไม่ว่าจะเรียกชื่อใด ต่างหมายถึงพระพิมพ์เดียวกัน เป็นพระมาตาฐานและได้รับความนิยมสูงสุด เนื้อนิยมคือ ? เนื้อเหลือง ? รองลงมาด้วย ? เนื้อผงคลุกรัก (เนื้อขี้เป็ด) ? เนื้อพระเมื่อผ่านการใช้วรรณะจะคล้ำขึ้น ล้างไม่ออก

2. พิมพ์พระสังกัจจายน์ ซึ่งพระพิมพ์นี้ ปัจจุบันวงการมักนิยมเรียกชื่อพิมพ์กันหลายอย่าง เช่น พิมพ์พระสังกัจจายน์ , พิมพ์พุงป่อง , พิมพ์อุ้มท้อง เป็นต้น
ลักษณะของเนื้อหามวลสารในพิมพ์นี้จะแบ่งเป็น 2 ลักษณะ
1. เนื้อเหลือง จัดเป็นเนื้อนิยม วรรณะของเนื้อออกเหลืองอมคล้ำ
2. เนื้อคลุกรัก หรือ เนื้อขี้เป็ด เนื้อประเภทนี้มีให้พบเห็นน้อยมาก
ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นพระเนื้อผสมที่มีวรรณะค่อนข้างจะออกเหลืองคล้ำ
พระพิมพ์นี้จะมีลักษณะสันฐานต้อ ชาวบ้านจะเรียกกันติดปากว่า ? พิมพ์อุ้มท้อง หรือ พิมพ์พุงป่อง ? พระพิมพ์นี้มีส่วนสูงประมาณ 1.2 ซ.ม. ลักษณของพิมพ์ดูแตกต่างจากพิมพ์ยืดโดยชัดเจน องค์พระเป็นรูปลอยองค์ พระหัตถ์สองข้างประสารกันเหนือตัก ลักษณะนั่งสมาธิ รับกับช่วงพระอุทร (ท้อง) ยื่นล้ำอวบอ้วนแบบพระสังกัจจายน์ ไม่ปรากฏฐานเขียงหรืออาสนะรองรับแต่อย่างใด

ด้านหลังของพระพิมพ์พระสังกัจจายน์ จะเป็นแบบ หลังปาดเรียบ ทั้งนี้เพราะแม่พิมพ์แกะจากหินมีดโกนเช่นเดียวกับพิมพ์ยืด เป็นพิมพ์ที่ได้รับความนิยมรองลงมาจากพิมพ์ใหญ่ หรือ พิมพ์ชลูด

พระพิมพ์สังกัจจายน์หลวงปู่ยิ้ม จะมีสันฐานที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับการปาดพิมพ์ด้านข้างและการแต่งพิมพ์บริเวณส่วนพระอุทร (ท้อง) จึงทำให้แลดูแปลกตาไป ฉะนั้นการพิจารณาจึงต้องดูจากพิมพ์ที่ไม่ได้แต่งเป็นหลัก เนื้อผงพทธคุณวรรณะเหลืองของพระพิมพ์หลวงปู่ยิ้มทุกพิมพ์ เนื้อพระจะมีส่วนผสมของ  รังหมาล่าที่ขึ้นในตาพระพุทธ

ในเนื้อจะมีปรากฏเกล็ดของเปลือกหอย ลักษณะเป็นเกล็ดเล็กๆสีขาวด้วย ข้อนี้เป็นจุดพิจารณาที่สำคัญ ในเนื้อพระของหลวงปู่ยิ้ม เมื่อผ่านการใช้สัมผัสถูกเหงื่อ สีของพระจะเปลี่ยนเป็นสีคล้ำขึ้นจนเกือบจะดำ แต่จะไม่เป็นสีเดียวกันตลอดทั้งองค์ จึงมักเรียกว่า ? มีผิวลายตุ๊กแก ? ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์อีกประการหนึ่งของพระเครื่องของท่าน เนื้อหามวลสาร มีทั้งเนื้อเหลืออันเป็นเนื้อนิยม และเนื้อผงคลุกรัก (เนื้อขี้เป็ด) มีให้พบเห็นน้อยในเนื้อพระเภทหลัง

ในพระพระพิมพ์ใหญ่ หรือ พิมพ์สังกัจจายน์ นั้นพระบางองค์ตามพื้นผิวของพระหากปรากฏมีคราบสีน้ำตาลเกาะเป็นคราบปกคลุมอยู่บางๆ แสดงว่าเป็นพระที่ได้จาก โถ หรือ บาตร ในพระอุโบสถหลังเก่า คราวบูรณะครั้งใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 2497 พร้อมๆกับพระท่ากระดานจำนวนหนึ่ง ในสมัยหลวงปู่เหรียญเป็นเจ้าอาวาส

3. พระปิดตาพิมพ์แข้งซ้อน หรือที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า ? พิมพ์ต้อ ? พระพิมพ์นี้จัดเป็นพระพิมพ์มาตรฐานอีกพิมพ์หนึ่ง แต่ลักษณะเนื้อหามวลสาร จะแลดูแตกต่างไปจากพิมพ์ใหญ่นิยม และพิมพ์พระสังกัจจายน์ อยู่พอประมาณส่วนใหญ่พระพิมพ์นี้ที่พบ จะมีการลงรักมาแต่เดิม แต่หลายท่านอาจจะไม่ค่อยคุ้นเคย พาลอาจตีเป็นของพระคณาจารย์องค์อื่นไปเสีย

ลักษณะของพระเป็นรูปลอยองค์ครึ่งซีก พระหัตถ์ทั้งสองข้างยกปิดพระเนตรอย่างกลมกลึง ไม่ปรากฏรายละเอียดของนิ้วมือ ประทับนั่งแบบสมาธิราบ แต่ส่วนปลายพระเพลาข้างขวากลับชี้ขึ้น จนมีลักษณะเหมือนกับยกแข้ง จึงมองดูคล้าย ? แข้งซ้อน ? ขนาดองค์พระมีส่วนสูงประมาณ 2 ซ.ม. ฐานกว้างประมาณ 2.5 ซ.ม.

ด้านหลังพระปิดตาพิมพ์แข้งซ้อน เป็นแบบ ? หลังเบี้ย ? คืออูมนูนเล็กน้อย และเท่าที่พบเห็นพระส่วนมากจะปีกเกิน ด้านหลังอูมคล้ายกับหลังเบี้ย มวลสารวรรณะจะมีสีเหลืองอมน้ำตาล และสีเขียวอมเทา ลักษณะโดยรวมของพระปิดตาพิมพ์แข้งซ้อนนั้น มีความคล้ายกับพระปิดตาของหลวงปู่ไข่ วัดเชิงเลน กทม. เฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการวงพระกร (แขน) ที่เป็นลักษณะแขนชิดเช่นเดียวกัน
พระพิมพ์นี้ส่วนใหญ่จะมีการลงรักมาแต่เดิม ในปี พ.ศ.2497 มีการค้นพบพระพิมพ์นี้ถูกบรรจุภายใน โถ หรือ บาตร เช่นเดียวกับพิมพ์ใหญ่ พิมพ์พระสังกัจจายน์ และพระท่ากระดานด้วย
4. พิมพ์โบราณ พระพิมพ์นี้จัดเป็นพระพิมพ์ที่สร้างยุคแรกของท่าน ลักษณะพิมพ์ทรงของพระพิมพ์โบราณนั้น มีความคล้ายกับ พิมพ์ใหญ่ และ พิมพ์พระสังกัจจายน์

แต่แม่พิมพ์ที่นำมากดพิมพ์นั้น เป็นแม่พิมพ์คนละตัวกัน ทำให้มีความแตกต่างทางพิมพ์ทรงอยู่พอประมาณ พระพิมพ์นี้ส่วนมากจะเป็นพระคลุกรัก (ขี้เป็ด) แต่ก็มีพบเนื้อเหลือง บ้างแต่น้อย และด้วยเหตุที่เป็นเนื้อผงคลุกรักซึ่งยากแก่การกดพิมพ์ จึงทำให้พระมีลักษณะบิดเบี้ยวผิดรูปไปบ้าง ทั้งนี้เพราะการหดตัวของมวลสารที่ไม่เท่ากัน

ด้านหลังพระปิดตาพิมพ์โบราณ จะเป็นหลังปาดแต่การปาดจะมีลักษณะราบเรียบไม่ปรากฏรอยคลื่นเหมือนพิมพ์ใหญ่และพิมพ์พระสังกัจจายน์

เนื่องด้วยเป็นพระเนื้อผงคลุกรัก จึงทำให้เห็นความต่างกันของการจัดตัวของเนื้อพระขึ้นอยู่กับว่าตอนผสมมวลสารคลุกรักว่าใส่น้ำรักมากน้อยเพียงใด หากผสมน้ำรักน้อยเนื้อพระก็จะละเอียดร่วนซุย แต่หากผสมน้ำรักมากมวลสารก็จะจับตัวเป็นก้อนหยาบ จึงทำให้พระเนื้อผงคลุกรักมีทั้งพระโซนที่เป็นเนื้อหยาบและเนื้อละเอียดจึงไม่มีข้อยุติเด็ดขาดในการดูการจับตัวของเนื้อพระ เพียงแต่ให้ดูมวลสารของเนื้อพระเป็นหลักในการพิจารณา การเช่าบูชานั้น จำเป็นต้องใช้ความระมัดระวังและความชำนาญส่วนตัวเป็นอย่างมาก

การลงรัก
การลงรักเคลือบตามพื้นผิวขององค์พระนั้นวัตถุประสงค์หลักก็เพื่อนเป็นการรักษาสภาพขององค์พระ ให้คงทนยากแก่การชำรุดผุกร่อนสื่อต่อไปในอนาคต ซึ่งการลงรักในพระเนื้อผงของหลวงปู่ยิ้มนั้น มีอยู่ 2 ลักษณะด้วยกันคือ

1. การลงรักเดิม การลงรักเดิมหรือลงรักเก่านี้ เป็นการลงรักมาแต่เบื้องต้น ภายกลังการสร้างเสร็จใหม่ๆ สมัยหลวงปู่ยิ้ม โดยท่านเป็นคนลงรักเอง หรือ ลูกศิษย์ที่ได้รับแจกแล้วนำไปลงรักเอง ก็เป็นไปได้ทั้งสองกรณี

2. การลงรักใหม่ ภายหลังหลวงปู่ยิ้มมรณะภาพ ยังคงปรากฏมีพระเนื้อผงหลงเหลืออยู่จำนวนหนึ่งซึ่งเก็บรักษาเอาไว้ ต่อมาหลวงปู่เหรียญได้นำมาลงรักเพื่อนเป็นการรักษาสภาพ และแจกจ่ายแก่บรรดาลูกศิษย์ไนวาระและโอกาศต่างๆ จึงเรียกว่าการลงรัใหม่ รวมไปถึงการลงรักในยุคต่อๆมา ของบรรดาผู้เป็นเจ้าของพระ

ซึ่งพระที่นำมาลงรักทั้งเก่าและใหม่ดังกล่าวนี้ มีทั้งพิมพ์ใหญ่นิยม พิมพ์พระสังกัจจายน์ ส่วนพิมพ์แข้งซ้อนนั้น ปกติจะเป็นพระที่มีการลงรักมาแต่เดิมอยู่แล้ว

พระเนื้อชินตะกั่วผสมดีบุก
อนึ่งนอกจากพระเนื้อผงดังกล่าวมาแล้ว ในพระหลวงปู่ยิ้ม ยังปรากฏพระพิมพ์ ซึ่งสร้างจากเนื้อชินตะกั่วผสมดีบุกรวมอยู่ด้วย แต่มีจำนวนไม่มากนัก ได้รับการยอมรับและเล่นหาเป็นมาตรฐานเช่นเดียวกับเนื้อผง พระบางองค์ยังปรากฏรอยจารอักขระ มีคราบไขขาวขึ้นประปราย จึงเป็นที่น่าเชื่อถือได้ว่าพระเครื่องหลวงปู่ยิ้ม มีเนื้อตะกั่วผสมดีบุกด้วย
พระเนื้อชินตะกั่วผสมดีบุกนี้ พบได้ทั้งในพิมพ์ใหญ่นิยม พิมพ์พระสังกัจจายน์ พิมพ์แข้งซ้อน การเล่นหาสะสมพระเนื้อนี้ นอกจากลักษณะพิมพ์ทรงแล้ว ยังจำเป็นต้องพิจารณาถึงความเก่าของเนื้อพระด้วย ว่ามีอายุความเก่าถึงยุคหรือไม่

การสร้างพระเครื่องของหลวงปู่เหรียญทั้งหมด ท่านไม่เคยสร้างพระพิมพ์ที่มีลักษณะเหมือนกันกับพระเครื่องของหลวงปู่ยิ้มเลยแม้แต่องค์เดียว ซึ่งเรื่องนี้ชาวเมืองกาญจน์ทราบกันดี จะมีก็เพียงนำพระเครื่องของหลวงปู่ยิ้มท่าน นำมาลงรักใหม่ในสมัยของท่านเท่านั้น และที่พบเห็นได้ชัดเจนคือ การสร้างขั้นน้ำมนต์ล้างหน้าด้วยไม้สมป่อย นำมากลึงแล้วลงรักภายในขันบรรจุพระพิมพ์ วางเรียงกันเป็นวงกลม โดยมีพระพิมพ์องค์ที่วางอยู่ตรงกลาง จะเป็นพระของหลววปู่ยิ้ม จะเป็นเช่นนี้ทั้งหมด

พ่อเฒ่ายิ้ม วัดหนองบัว หรือ หลวงปู่ยิ้ม จันทโชติ ท่านเป็นอริยสงฆ์ องค์หนึ่ง ที่มีความรู้ความสามารถมาก เพราะเป็นผู้มั่นเรียนรู้ มั่นศึกษา จนจบวิชาอาคมหลายศาสตร์ หลายแขนง จากสำนักดังๆ หลายแห่ง จนมีความปราดเปรื่อง ด้านวิชาอาคมสูงยิ่ง ท่านได้คิดค้น วิชา คาถาอาคมขึ้นไว้หลายแขนงวิชาด้วยกัน ด้าน ไสยศาสตร์และวิชาแพทย์แผนโบราณ เป็น อมตะเถราจารย์ผู้ทรางคุณวิเศษ ทั้งด้าน ปริยัติ-ปฏิบัติ เรืองด้วยเวทย์วิทยาคม พุทธาคมเข้มขลัง เกียติคุณเกริกก้องปฐพี มาตราบทุกวันนี้

ที่มา ตำนานเล่าขานพระผู้ทรงฌานอภิญญา ครูบาอาจารย์ผู้เรืองวิชาอาคม

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: