998. หลวงพ่อปั้น วัดพิกุล (โสคัณธ์) ตอน คนเราไม่ได้มีชีวิตอยู่ด้วยลาภยศสรรเสริญ

วัดพิกุล (โสคัณธ์)

หลวงพ่อปั้น..

สองชื่อนี้ผมเคยได้ยินมานานแล้วครับ ดูเหมือนว่าตอนที่อ่านหนังสือเจอครั้งแรก วัดพิกุล (โสคัณธ์) ค่อนข้างจะเป็นเป้าหมายต้นๆ ที่อยากมาเยือน เพียงแต่ว่าช่วงนั้นกลุ่มเพื่อนๆ ใช้เวลาที่วัดพระขาวมากไปหน่อย ทำให้พวกเราไปไม่ถึงวัดพิกุล (โสคัณธ์) สักที ทั้งๆ ที่ระยะห่างระหว่างวัดพระขาวกับวัดพิกุล (โสคัณธ์) แค่หายใจเข้าออกสองทีก็ถึงแล้ว

จนกระทั่งวันหนึ่งเพื่อนรุ่นพี่เอาราชรถมาเกยหน้าประตูบ้านอีกครั้ง ผมถึงรู้ว่าบนโลกใบนี้การรอคอยมีอยู่จริง

ถ้าจะพูดถึง”หลวงพ่อปั้น อดีตเจ้าอาวาสวัดพิกุล” (โสคัณธ์) อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เหตุการณ์ต่อไปนี้ถือเป็นเกล็ดประวัติเล็กๆ น้อยๆ ของท่านที่ถูกเล่าขานถึงกันบ่อยมากที่สุด เรื่องมีอยู่ว่า

ครั้งหนึ่งวัดพิกุล(โสคัณธ์) ได้จัดให้มีงานประจำปี ภายหลังจากงานเลิก ภาระหน้าที่ในการเก็บล้างถ้วยชามก็ตกมาเป็นหน้าที่ของญาติโยมที่มาช่วยงาน เมื่อหลวงพ่อปั้นท่านเห็นว่าถ้วยชามกองโตที่รอการเก็บล้างนั้นมีจำนวนมากขนาด

นัยว่าเพื่อเป็นการประหยัดเวลาของญาติโยม ท่านจึงให้นำถ้วยชามทั้งหมดนั้นใส่ลงในตะกร้าแล้วนำไปเขย่าล้างในแม่น้ำ โดยท่านรับประกันว่าถ้วยชามทั้งหมดนี้จะไม่มีการชำรุดหรือแตกเสียหายเลยหากว่าญาติโยมปฏิบัติตาม

เหตุการณ์ต่อเนื่องก็เป็นไปตามที่ท่านรับรองคือไม่มีการชำรุดหรือเสียหายเลยแม้แต่ใบเดียวและไม่มีญาติโยมคนใดฟันธงได้ว่าสาเหตุที่ถ้วยชามไม่แตกเกิดจากอะไรกันแน่

เกิดจากคาถาอาคมหรือเกิดจากวาจาที่ศักดิ์สิทธิ์ของท่าน เพราะเหตุผลทั้งสองประการนี้ล้วนแล้วแต่เป็นบารมีที่มีอยู่คู่กับหลวงพ่อปั้นมาตลอด

วัดพิกุล (โสคัณธ์) เป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาและเท่าที่ทราบวัดพิกุล (โสคัณธ์) ไม่ปรากฏว่าเคยตกอยู่ในสภาพของการเป็นวัดร้างมาก่อนเลย คำว่า “พิกุล” สันนิษฐานว่าที่วัดแห่งนี้มีต้นพิกุลมากนั่นเอง

แต่เดิมวัดพิกุล (โสคัณธ์)แบ่งการปกครองออกเป็น ๓ คณะคือ คณะเหนือ คณะกลางและคณะใต้ แต่ละคณะล้วนมีความโดดเด่นกันไปตามความชำนาญ เช่น คาถาอาคม พระวินัย การปกครอง ฯลฯ ทุกวันนี้สภาพของกลุ่มกุฏิสงฆ์(ที่แยกคณะ)ในอดีตยังมีปรากฏอยู่ หากแต่ได้ยุบจาก ๓ คณะลงเหลือเพียง ๒ คณะ คือคณะเหนือและคณะใต้เท่านั้น

จะว่าไปแล้วปัจจุบันนี้วัดพิกุล (โสคัณธ์) ถือว่าเป็นหนึ่งในบรรดาวัดเก่าแก่ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่ยังคงอบอวลไปด้วยสภาพและบรรยากาศของการดำเนินชีวิตและดำเนินธรรมตามแนวทางที่หลวงปู่ปั้นได้วางไว้

มีเงื่อนไขบางอย่างครับที่แม้แต่กาลเวลาก็ไม่สามารถกลืนกินและไม่สามารถที่จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงแก่ที่นี่ อาจกล่าวได้ว่าแทบจะทุกพื้นที่ในอาณาเขตของวัดยังคงเจือไปด้วยเรื่องราวในอดีตที่ยังคงมีลมหายใจอยู่ครับอย่างเช่น

พระพุทธรูปสำคัญประจำวัดนามว่า “หลวงพ่อโสคัณธ์” หรือที่ชาวบ้านเรียกกันสั้นๆ ว่า “หลวงพ่อโส” ที่เปี่ยมไปด้วยความศักดิ์สิทธิ์ยังคงเป็นที่พึ่งพิงและยึดเหนี่ยวของบรรดาผู้คนที่เข้ามากราบไหว้ขอพรเสมอๆ เช่นใครไม่มีลูกเมื่อมาบนบานก็มักจะสัมฤทธิ์ผล หรือบางคนที่มีอาการปวดข้อ ปวดหลัง ขอเพียงมาบอกเล่าให้หลวงพ่อทราบ แล้วกลับไปปิดทองตามจุดที่ปวด ก็จะหายจากโรคนั้น ซึ่งกว่าหลวงพ่อปั้นท่านจะสร้างหลวงพ่อโสเสร็จเรียบร้อยก็ต้องกินเวลาถึง ๓ ปีครับ (๒๔๕๓-๒๔๕๖)

ถัดไปทางด้านหลังวิหารหลวงพ่อโสคัณธ์ เป็นมณฑปที่ประดิษฐานรูปหล่อของ “หลวงพ่อปั้น” อดีตเจ้าอาวาสที่ชาวบ้านละแวกวัดหรือคนต่างถิ่นให้ความเชื่อมั่นว่าบารมีและความศักดิ์สิทธิ์ของท่านยังคงสถิตย์อยู่และไม่มีวันห่างหายไปจากใจของพวกเขา

หลวงพี่ใจดีที่เปิดมณฑปให้พวกเราเข้าไปปิดทองไหว้พระเล่าให้พวกเราฟังว่า รูปหล่อของหลวงพ่อปั้นขนาดเท่าองค์จริงจะมีอยู่ทั้งหมด ๓ องค์ คือที่วัดสี่ร้อย จังหวัดอ่างทอง วัดเนินกุ่ม จังหวัดพิษณุโลกและองค์ที่ ๓ ก็คือองค์ที่พวกเรากำลังปิดทองในตอนนี้

ความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อปั้นได้ปรากฏให้เห็นเป็นประจักษ์ทั้งในสมัยที่ท่านยังดำรงขันธ์และดับขันธ์ ซึ่งตอนที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ก็ยังถือว่าเป็นเรื่องแปลกที่ยังปกติ แต่หลังจากที่ท่านมรณะภาพไปแล้วสิครับได้ฟังแล้วรู้สึกว่าโลกนี้ยังมีเรื่องที่ลี้ลับเสียจนไม่อยากจะเชื่อ

หลวงพี่ใจดีเล่าว่าตอนที่วัดพิกุลได้สร้างรูปหล่อหลวงพ่อปั้นขนาด ๕ นิ้วขึ้นเป็นครั้งแรก ได้มีชาวบ้านเข้ามาขอบูชาพระ พระบวชใหม่ได้นำรูปหล่อขึ้นมาให้เลือก ซึ่งพี่แกคงจะเห็นว่าไม่สวยเลยขอเลือกองค์ใหม่ ยังพูดไม่ขาดคำ รูปหล่อองค์ที่วางอยู่ตรงหน้าได้ลอยขึ้นมาเองโดยอัตโนมัติ ประมาณว่าพวกเอ็งไม่ต้องเรื่องมาก รูปหล่อของข้าศักดิ์สิทธิ์ทุกองค์

เพื่อนรุ่นพี่ของผมรีบเอามือที่เปื้อนทองปิดพระลูบขึ้นบนศรีษะ ซึ่งผมเดาว่าอาการอย่างนี้นอกจากแกอยากจะได้รูปหล่อชุดนี้แล้ว พี่แกคงกำลังอินจัดกับเรื่องลี้ลับพิศวงที่หลวงพี่ใจดีเล่าให้ฟัง

หลวงพ่อปั้นท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ร่วมยุคสมัยเดียวกับพระเกจิอาจารย์แนวหน้าของเมืองไทยหลายองค์ครับ เช่นหลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติการาม หลวงพ่อรอด วัดสามไถ หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ฯลฯ

ถึงแม้ชื่อเสียงของหลวงพ่อปั้นจะไม่ค่อยเป็นที่รู้จักเท่าใดนักในวงกว้างหรือเหรียญรูปเหมือนของท่านจะมีค่าความนิยมไม่เท่าเหรียญของหลวงพ่อทั้งสามองค์ข้างต้น ถึงกระนั้นเราก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ปฏิปทาหรือคาถาอาคมของท่านก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าพระเกจิอาจารย์ในยุคเดียวกันเลย

โดยเฉพาะในแง่มุมของการเป็นพระที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัยและความมีวิสัยทัศน์กว้างไกล..

ผลงานอันโดดเด่นของหลวงพ่อปั้นที่ยังคงปรากฏเป็นหลักฐานให้สาธุชนคนทั่วไปได้กราบไหว้เพื่อความสงบของจิตใจก็คือการสร้าง “หลวงพ่อโสคัณธ์” พระพุทธรูปปางไสยยาสน์ ที่มีขนาดความยาว ๒๑ วาเศษ ณ วัดพิกุล (โสคัณธ์)

การร่วมกับหลวงปู่บุญ เจ้าอาวาสวัดสี่ร้อย จังหวัดอ่างทอง สร้างพระสร้างพระพุทธรูปปางป่าเลไลย์ขนาดใหญ่สูงขนาด 21 เมตร หน้าตักกว้าง 6 เมตรเศษ ซึ่งเป็นการจำลองมาจากวัดป่าเลไลย์ที่จังหวัดสุพรรณบุรี โดยทำการก่อสร้างอยู่ราว ๑๖ ปี จึงแล้วเสร็จ ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า “หลวงพ่อโตวัดสี่ร้อย” หรือเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า “หลวงพ่อร้องไห้”

และการร่วมกับชาวบ้านในชุมชนบ้านเนินกุ่ม จังหวัดพิษณุโลก สร้างวัดประจำหมู่บ้านชื่อว่า “วัดอุปัชฌาย์ปั้น” หรือ “วัดเนินกุ่ม” ในทุกวันนี้

จริงอยู่ถึงแม้ผลงานของท่านอาจจะไม่ใช่หลักชัยในพระพุทธศาสนา หากแต่เมื่อเรามองพระพุทธศาสนาในแบบองค์รวม ตามนัยที่ทุกสรรพสิ่งล้วนสัมพันธ์และเกี่ยวร้อยซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะในเรื่องของการสร้างบุญสร้างกุศล

อย่าว่าแต่สร้างพระหรือสร้างวัดแล้วจะเกิดเป็นบุญเป็นกุศลแก่ผู้สร้างเลยครับ ขอเพียงแค่ผู้สร้างมีเจตนาว่าจะสร้างเท่านั้นท่านว่าก็เกิดเป็นบุญกุศลแก่ตนเองแล้ว เพราะโดยหลักแล้วคำว่าผลที่ดีย่อมเกิดจากเหตุที่ดียังคงเป็นสัจธรรมที่แท้จริงเสมอครับ

ในส่วนประวัติของหลวงพ่อปั้นค่อนข้างหาสืบค้นยากครับ จะหันไปถามใครก็เกิดไม่ทันสักคน เอาเป็นว่าเพราะสมัยก่อนไม่ค่อยมีการจดบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรเท่าใดนัก เรื่องราวทั้งหมดที่พอทราบในวันนี้เกิดจากการบอกเล่าของชาวบ้านที่ได้เล่าสืบต่อเนื่องกันมา

หรือบางส่วนก็เป็นการอ้างอิงมาจากประวัติของพระเกจิอาจารย์ในยุคเดียวกัน เช่นหลวงพ่อสุ่น วัดบางปลาหมอ และพระเกจิอาจารย์ในชั้นลูกศิษย์ เช่นหลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก หลวงพ่อสังข์ วัดน้ำเต้า หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค ฯลฯ

ซึ่งส่วนมากแล้วน้ำหนักของการจดจำจะเอนเอียงไปทางด้านปาฏิหาริย์และวาจาที่ศักดิ์สิทธิ์ เพราะในเรื่องของความเก่งกาจเชิงอาคมและความเชี่ยวชาญในด้านกรรมฐานของหลวงพ่อปั้นต้องถือเป็นที่สุดครับ

พระครูโอภาสธรรมวัฒน์ (หลวงพ่อล้วน โอฑาตวณฺโณ) เจ้าอาวาสวัดพิกุล (โสคัณธ์) องค์ปัจจุบันได้เมตตาเล่าประวัติบางส่วนของหลวงพ่อปั้นเท่าที่ท่านพอทราบให้พวกเราฟังว่า..

หลวงพ่อปั้น หรือ พระครูสังคกิต เกิดในหมู่บ้านเลขที่ ๑ ตำบลพระขาว เมื่อปีมะเมีย พ.ศ.๒๓๗๖ มีพี่น้อง ๓ คน ในสมัยที่หลวงพ่อปั้นยังเป็นเด็ก ท่านได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่มีจิตใจเมตตากรุณาต่อมนุษย์และสัตว์ทั่วไป เช่นครั้งหนึ่งท่านเคยแอบไปปล่อยปลาที่ชาวบ้านวางเบ็ดไว้ ทำให้ท่านต้องถูกไล่ตีจากชาวบ้านผู้นั้น

ชะรอยท่านจะเห็นว่าความมีเมตตาของท่านจะส่งผลให้การดำเนินชีวิตในเพศฆราวาสของท่านลำบาก ท่านจึงตัดสินใจหนีไปบรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายได้ ๑๕ ปี (พ.ศ.๒๓๙๑) จนเมื่อมีอายุครบ ๒๐ ปี ท่านจึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดพิกุล ซึ่งขณะนั้นมีเจ้าอาวาสชื่อหลวงพ่อด้วง

ภายหลังจากที่หลวงพ่อปั้นจำพรรษาในวัดพิกุลได้ระยะหนึ่ง ท่านได้เดินทางไปศึกษากรรมฐานที่วัดมหาธาตุ กรุงเทพฯ แต่ว่าท่านจะเรียนอยู่กี่ปีก็ไม่ทราบได้ คงทราบเพียงแต่ว่าด้วยความเชี่ยวชาญในพระกรรมฐานนี่เองทำให้เมื่อหลวงพ่อด้วงมรณะภาพลงญาติโยมจึงพร้อมใจกันนิมนต์ท่านขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัดพิกุลต่อจากหลวงพ่อด้วง ซึ่งด้วยคุณงามความดีของท่านที่เพียรปฏิบัติอย่างต่อเนื่องทำให้ต่อมาท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์และเป็นเจ้าคณะอำเภอบางบาลในกาลต่อมา

ผมเคยอ่านหนังสือเกี่ยวกับศาสนาเล่มหนึ่ง..

เนื้อหาในหนังสือเล่มนั้นมีเหตุการณ์ในเวลาที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กำลังจะเสด็จเข้าสู่ปรินิพพาน แต่พระมหากัสสปซึ่งเป็นพระสาวกองค์สำคัญได้เข้าไปทูลลาสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อออกเดินธุดงค์ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้ทรงตรัสขึ้นว่า

“กัสสปะ ดูก่อน กัสสป เวลานี้ตถาคตก็แก่แล้ว เธอก็แก่แล้ว จงละจากการอยู่ป่าเสียเถิด จงอยู่ในสถานบ้านเมือง จงรับสักการะที่บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายมีความเลื่อมใสเธอ และชีวิตของเธอกับชีวิตของตถาคตก็ใกล้อวสานแล้ว”

พระมหากัสสปก็ได้กราบทูลสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า

“ภันเต ภควา ข้าแต่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เจริญพระพุทธเจ้าข้า การที่ข้าพระพุทธเจ้าปฏิบัติธุดงควัตรอย่างนี้ ก็มิได้หมายคามว่า จะปฏิบัติเพื่อความดีของตน

ที่ข้าพระพุทธเจ้าทำอย่างนี้ ก็เพื่อว่าจะให้เป็นแบบฉบับของบรรดาภิกษุทั้งหลายภายหลัง ที่เกิดมาไม่ทันองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะได้ทราบว่า

ในสมัยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ยังมีพระคณะหนึ่งนิยม “ธุดงควัตร” เป็นสำคัญ เพื่อเป็นการส่งเสริมบรรดาภิกษุสงฆ์ทั้งหลายเหล่านั้นประพฤติปฏิบัติตาม”

ตามหลักของศาสนาพุทธแล้ว พระภิกษุสงฆ์กับการออกเดินธุดงค์ถือเป็นสิ่งสำคัญครับ เพราะการออกเดินธุดงค์ย่อมหมายถึงการก้าวย่างอย่างไม่หวั่นไหว ซึ่งนอกจากจะเป็นฝึกให้พระทุกองค์รู้ถึงคุณค่าของการปฏิบัติแล้ว โดยอ้อมยังสื่อถึงเรื่องการปลูกฝังความเคารพในพระพุทธศาสนาให้ฝังแน่นอยู่ในจิตใจของญาติโยมด้วยครับ

หลวงพ่อปั้นท่านเป็นพระที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัยและชอบที่จะออกธุดงค์วัตรครับ ซึ่งการออกเดินธุดงค์ของท่านมีทั้งแบบบินเดี่ยวและเป็นหมู่คณะ โดยจุดหมายปลายทางก็สุดแท้แต่ที่ท่านต้องการจะไป

เล่ากันว่าเมื่อครั้งที่ท่านเป็นผู้นำหมู่คณะในการเดินธุดงค์ที่ต้องผ่านป่าใหญ่มักมีเรื่องแปลกประหลาดเกิดขึ้นเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการผจญกับสิ่งเร้นลับอาถรรพ์ของป่า หรือจะผจญกับสัตว์ร้ายต่างๆ อย่างเช่นกรณีของเสือร้ายเจ้าป่า ซึ่งท่านก็สามารถนำพาหมู่คณะรอดมาได้ด้วยการภาวนาและแผ่เมตตาครับ

โดยเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อครั้งที่ท่านได้ออกเดินธุดงค์ไปทางภาคเหนือพร้อมหมู่คณะ หลังจากที่ได้ปักกลดกลางป่าก่อนค่ำ ได้มีชาวบ้านเข้ามากราบนมัสการและนิมนต์หลวงพ่อพร้อมหมู่คณะให้ย้ายไปปักกลดใกล้หมู่บ้าน เนื่องจากในละแวกนั้นจะเป็นที่ชุมนุมของเสือเวลาจะออกหาอาหาร ซึ่งที่ผ่านมาได้เคยมีพระธุดงค์มาปักกลดและเสียชีวิตไปหลายองค์แล้ว หลวงพ่อปั้นท่านได้ตอบชาวบ้านถึงกฏเหล็กของการออกเดินธุดงค์ไปว่า

“พระธุดงค์เมื่อปักกลดแล้วจะถอนกลดไม่ได้”

และเมื่อชาวบ้านพากันกลับไปหมดแล้ว ท่านจึงได้เรียกประชุมพระธุดงค์ทุกองค์และกำชับให้ทราบว่าไม่ต้องกลัวภัยดังกล่าว ขอเพียงแต่ให้พระธุดงค์ทุกองค์มีสมาธิจิตที่ดีและหมั่นภาวนาระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ก็จะปลอดภัย

ครั้งพอถึงเวลาดึกก็เป็นไปตามคาดคือเสือร้ายตัวดังกล่าวได้ออกมาหากินและเดินป้วนเปี่ยนใกล้ๆ กับกลดของพระธุดงค์ แต่พอมันเดินมาถึงกลดของหลวงพ่อปั้น เจ้าเสือร้ายตัวนั้นได้หยุดคำรามและหมอบนอนนิ่งอยู่กับที่ตลอดทั้งคืนและเดินจากไปในช่วงเช้า

พวกเราขอให้หลวงพ่อล้วนเมตตาเล่าถึงเกจิอาจารย์ในละแวกวัดพิกุล (โสคัณธ์) บ้าง เนื่องจากตามสองฝังของแม่น้ำน้อยที่ไหลผ่านหน้าวัดพิกุล (โสคัณธ์) ล้วนอุดมไปด้วยครูบาอาจารย์หลายท่าน

หลวงพ่อค่อยๆ เล่าถึงเรื่องราวต่างๆ ทั้งในส่วนที่เป็นคำบอกเล่าและเป็นเรื่องที่ถูกบันทึกไว้ให้พวกเราฟัง เพื่อให้พวกเราได้รับรู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นที่นี่ เช่นการลองวิชาระหว่างหลวงพ่อปั้นกับหลวงพ่อสุ่น วัดบางปลาหมอ ที่ปะทะกันด้วยอำนาจจิตและคาถาอาคม และเรื่องที่หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค มาต้องมนต์สกดของหลวงพ่อปั้น

ถึงแม้เรื่องเหล่านี้หลวงพ่อล้วนท่านจะเคยได้ฟังเมื่อสมัยตอนที่ท่านยังเป็นเด็ก แต่ระยะเวลาที่ผ่านมาเกินกว่า ๘๐ ปีมันก็ไม่ได้ลบเลือนความทรงจำอันแจ่มใสของท่านไปได้เลย

ท่านเล่าว่า…

ปัจจุบันการเดินทางมายังวัดพิกุล (โสคัณธ์) สามารถใช้รถยนต์ขับเข้ามาถึงวัด หรือถ้าไม่มีรถก็ใช้บริการรถโดยสารประจำทางได้ เรียกว่าการคมนาคมสะดวกสบายครับ ออกจากวัดจะไปต่อที่อื่นเช่นผักไห่ เสนา ก็มีถนนหนทางที่เชื่อมต่อกันไปจนถึงที่ โดยที่เราไม่ต้องย้อนกลับไปกลับมา

ในอดีตวัดพิกุล (โสคัณธ์) ถือว่าเป็นวัดที่ค่อนข้างลึก ด้านหน้าของวัดติดกับคลองบางบาล (แม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่า) ที่เป็นดั่งเส้นเลือดของชาวบางบาลในการติดต่อกับชุมชนบ้านอื่น เช่น เสนา บางนมโค บางไทร ผักไห่ ฯลฯ ซึ่งสองฝังของคลองบางบาลล้วนอุดมไปด้วยเกจิอาจารย์อาคมขลังหลายท่าน เรียกว่าสายน้ำผ่านหน้าวัดไหนก็ถือเป็นเขตอิทธิพลของหลวงพ่อองค์นั้นครับ

เรื่องนี้เกิดขึ้นในขณะที่หลวงพ่อปั้นกลับจากการไปเทศน์ที่อำเภอผักไห่ ช่วงที่เรือแจวของท่านกำลังพายผ่านวัดบางปลาหมอ ทันใดนั้นเรือแจวของหลวงพ่อปั้นได้หยุดลงกระทันหัน จะออกแรงพายสักเท่าไรเรือก็ไม่สามารถขยับเคลื่อนไหวได้

ลูกศิษย์ของหลวงพ่อปั้นเห็นว่าน่าจะมีอะไรที่ผิดปกติ เพราะที่วัดบางปลาหมอแห่งนี้เป็นวัดของพระเกจิอาจารย์ท่านหนึ่งคือหลวงพ่อสุ่น ผู้ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นพระวิปัสสนากรรมฐานผู้ทรงอภิญญาและมีวิชาอาคมไสยเวทย์เปี่ยมล้น

ลูกศิษย์ของท่านจึงได้ตัดสินใจเข้าไปปลุกหลวงพ่อปั้นจากการจำวัด ครั้นพอหลวงพ่อปั้นท่านออกมาดูเหตุการณ์และมองไปบนฝั่งก็พบว่าหลวงพ่อสุ่นท่านกำลังนั่งตำหมากอยู่ ซึ่งตอนนั้นหลวงพ่อปั้นท่านจะใช้วิชาอะไรก็ไม่อาจทราบได้

แต่ที่เห็นว่าหลวงพ่อปั้นท่านทำได้จริงคือเมื่อท่านกำหนดจิตไปที่หลวงพ่อสุ่น ก็ทำให้หลวงพ่อสุ่นไม่สามารถตำหมากได้เช่นกัน และเมื่อหลวงพ่อสุ่นตำหมากไม่ได้ เรือของหลวงพ่อปั้นจึงค่อยๆ วิ่งต่อไปได้จนถึงวัด

เพื่อนรุ่นพี่ของผมขยับมือลูบศรีษะอีกครั้ง ส่วนผมกำลังสองจิตสองใจว่าจะถามอะไรเพิ่มเติม แต่หลวงพ่อล้วนท่านก็ไม่ปล่อยให้อาการเหล่านั้นได้แสดงอานุภาพ ก็ในเมื่อพวกเราอยากรู้เรื่องแบบนี้และหลวงพ่อท่านก็ยังมีภาระกิจอีกมากจะยืดเยื้อให้เสียเวลาไปทำไม…

ท่านเล่าว่าหลวงพ่อปั้นได้ไปขอยืมท่อนซุงมาจากหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค พอครบกำหนดหลวงพ่อปานท่านได้เดินทางมาโดยเรือเพื่อที่จะมาทวงท่อนซุงและจะได้ขนท่อนซุงเหล่านั้นกลับไปในคราวเดียวกัน และเมื่อหลวงพ่อปานมาถึงวัดพิกุล (โสคัณธ์) ท่านก็ได้ขึ้นไปนั่งสนทนากับหลวงพ่อปั้นเป็นเวลาพักใหญ่จึงได้กราบลาหลวงพ่อปั้นกลับวัดบางนมโค หลวงพ่อปั้นท่านจึงถามขึ้นว่า

“ท่านปานไม่เอาแล้วใช่ไหม ซุงที่จะมาเอาน่ะ”

หลวงพ่อปานได้ตอบว่า

“ครับ หลวงพ่อ ผมถวายเลยครับ”

และเมื่อหลวงพ่อปานได้กลับมาถึงเรือ ลูกศิษย์ที่มากับท่านไม่เห็นหลวงพ่อบอกอะไรนอกจากให้กลับวัดจึงได้ถามขึ้นว่า

“ได้ไหมครับซุง”

พอหลวงพ่อปานท่านได้ยินจึงตอบไปว่า

“ไม่รู้บอกถวายหลวงพ่อปั้นไปได้อย่างไร”

จะว่าไปแล้วในเรื่องมหัศจรรย์ทำนองนี้ หากใครที่ไม่ชอบหรือไม่ได้ศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง คงจะคิดว่ามันเหลือเชื่อเกินไป อะไรจะขนาดนั้น ผมเองก็ไม่ต่างไปจากคนอื่นหรอกครับ เพราะตอนที่ผมเริ่มสนใจในเรื่องของศาสนาที่เน้นความชอบในส่วนที่ลี้ลับแบบนี้เป็นครั้งแรก โดยส่วนตัวแล้วผมก็มีความคิดแบบนั้นเหมือนกัน

จนกระทั่งหูตาพอเริ่มสว่างบ้างเพราะได้เปิดใจและศึกษาเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้อย่างตั้งใจ ผมจึงทราบว่าในโลกของไสยศาสตร์แล้ว ความเป็นไปได้ในเรื่องที่ไม่น่าจะเป็นไปได้มันมีอยู่จริง เพียงขอให้เรายอมรับถึงความแปลกในทางที่มันควรจะเป็น ซึ่งมันอาจจะไม่ใช่แนวทางในแบบที่เราอยากให้เป็น

ย้อนกลับไปในตอนที่เข้ามาวัดพิกุล (โสคัณธ์) ครับ

จำได้ว่าความประทับใจครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อทราบว่ารูปหล่อของหลวงพ่อปั้นมีการสร้างและประดิษฐานให้ผู้คนได้กราบไหว้ถึงสามวัดสามจังหวัด

แน่นอนครับ..การที่พระสงฆ์องค์หนึ่งจะมีชาวบ้านศรัทธาจนถึงขนาดสร้างรูปหล่อของท่านไว้สำหรับกราบไหว้ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่การที่ผู้คนหมู่มากจากสามพื้นที่ต่างฝ่ายต่างสร้างรูปหล่อของหลวงพ่อที่พวกเขานับถือขึ้นมาพร้อมกันย่อมไม่ธรรมดาแน่ เพราะโดยความจริงแล้ว ในช่วงเวลานั้นหลวงพ่อปั้นท่านก็ไม่ได้รับการยกย่องถึงขนาดเทียบอมตะเถระองค์อื่น

หลังจากที่ผมได้ศึกษาเรื่องของท่านผ่านทางบันทึกของวัดและคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ที่พูดถึงท่านด้วยความเคารพแล้ว ผมจึงได้เข้าใจถึงความศรัทธาของผู้คนในพื้นที่ที่ท่านได้เข้าช่วยสร้างความมั่นคงให้จิตใจ

จริงอยู่ถึงแม้ “อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์” ของหลวงพ่อปั้นจะเป็นเรื่องจริงแต่ก็ไม่ได้นำมาซึ่งความเลื่อมใสเสียทั้งหมด “จิตสาธารณะและคุณงามความดี” ของท่านที่ทำอย่างเสมอต้นเสมอปลายต่างหากที่ทำให้เรื่องราวของท่านเป็นที่น่าสนใจและน่าเลื่อมใสอย่างแท้จริง

ในหนังสือประวัติหลวงพ่อปั้น ของวัดพิกุล (โสคัณธ์) หน้าที่ ๕ ถึงจะไม่ใช่หน้าสุดท้ายแต่ก็ได้บันทึกถึงบั้นปลายชีวิตของท่านไว้ว่า

“หลวงพ่อปั้นมรณภาพ ขณะนั้นหลวงพ่อปั้นอายุได้ ๘๐ ปี ซึ่งตรงกับ พ.ศ. ๒๔๕๖ ปีฉลู ก่อนที่หลวงพ่อจะมรณภาพนั้น หลวงพ่อได้สร้างศาลาการเปรียญเกือบจะแล้วเสร็จ เหลือเพียงพื้นศาลาเท่านั้น ประชาชนได้ร่วมใจกันเก็บศพหลวงพ่อไว้เป็นเวลา ๑ ปี ใช้ศาลาที่สร้างเป็นที่เก็บศพ ตรงกับ พ.ศ.๒๔๕๗ จึงได้ทำการฌาปนกิจศพ”

ครับ.เรื่องราวของหลวงพ่อองค์หนึ่งที่มีวัตรปฏิบัติเรียบง่าย สมถะและชอบที่จะพาตัวเองออกห่างความวุ่นวายทางโลก ด้วยการถอดวางสมณศักดิ์ไว้ที่วัดและทำการผนึกตัวตนเข้ากับธรรมชาติ ตามแนวทางของพระพุทธศาสนาคือการธุดงค์วัตร ซึ่งทั้งหมดนี้คือปรัชญาของการดำเนินชีวิตที่หลวงพ่อปั้นได้สอนไว้เสมอว่า

“คนเราไม่ได้มีชีวิตอยู่ด้วยลาภยศสรรเสริญ”

ดังนั้นการที่พวกเราได้เดินทางมาถึงพื้นที่สีเหลืองที่ท่านเคยปฏิบัติธรรม จึงนับเป็นเรื่องที่น่ายินดี ถึงแม้ว่าระยะห่างระหว่างท่านกับพวกเราจะต่างกันมากกว่าร้อยปี

แต่อย่างน้อยการที่ได้เข้ามากราบนมัสการรูปหล่อของท่านในวัดพิกุล (โสคัณธ์) แห่งนี้ มันก็ทำให้ผมมีความหวังว่า สักวันหนึ่งจะได้ไปกราบรูปหล่อของท่านที่ยังมีอีกสองวัดให้ครบ เพราะผมเชื่อแล้วว่าโลกนี้การรอคอยมีอยู่จริง….สวัสดีครับ

กราบขอบพระคุณ พระครูโอภาสธรรมวัฒน์ (หลวงพ่อล้วน โอฑาตวณฺโณ) เจ้าอาวาสวัดพิกุล (โสคัณธ์) ที่เมตตาด้านข้อมูล
ขอขอบคุณเอกสารอ้างอิง หนังสือประวัติหลวงพ่อปั้น รูปภาพบางรูปจากเวปไซด์ คุณพรชนก สุขพงษ์ไทยกับภาพถ่าย เพื่อนต่อกับคำแนะนำ และกำลังใจที่มีให้เสมอจากคุณสมบูรณ์ ร้านนายฮ้อ สระบุรีครับ

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก : oknation Blog โพสโดยคุณ ศิษย์กวง
นำเสนอโดย : แอพเกจิ – AppGeji

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: