535. เปิดตำนานเสือฝ้ายแห่งเมืองสุพรรณ

“ฝ้าย” ชื่อเดิมของหนุ่มวัยฉกรรจ์ เขาถูกเล่นงานชนิดเจ็บแสบจากทางตำรวจ โดยมีญาติรายหนึ่งหนุนเนื่องมากับผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ไส่ไคล้ฝ้ายให้ถึง กับจนมุม ครั้งนั้นฝ้ายถูกพิพากษาให้เป็นบุคคลอันตรายต่อชุมชนและรัฐ ฐานกระทำความผิดร้ายแรงในข้อหาพาผู้ร้ายหลบหนี ฝ้ายซึ่งไม่รู้อิโหน่อิเหน่ จำต้องเดินเข้าซังเตอย่างไม่สามารถปริปากอุทธรณ์ความบริสุทธิ์ของตน แปดปีกว่ากับการใช้ชีวิตในสถานกักขัง สูญสิ้นอิสรภาพทางกายภาพ เหลือเพียงกำแพงกับซี่กรงเขรอะสนิมเป็นเพื่อนในทุกโมงยาม ครั้นฝ้ายได้ลดอาญาจนหวนคืนปิตุภูมิ จากจุดนี้…ฝ้ายลิขิตชีวิตตนเองใหม่ลงบนหน้ากระดาษ “เมื่อรัฐเล่นตลกกับข้า ข้าก็จะสร้างเสียงหัวเราะให้พวกมัน!

นับแต่นั้น “เสือฝ้าย” ก็กลายเป็นชื่อที่หลายคนต่างพากันขยาด แม้กระทั่งทางการยังกริ่งเกรง และไม่สู้จะหาทางลบชื่อนี้ลงได้ง่ายๆ นาม “เสือฝ้าย” ตราอยู่บนหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์หลายฉบับ ไพล่ถึงขนาดเป็นหัวข้ออภิปรายในสภาอยู่บ่อยครั้ง

คดีเสือฝ้ายควรจะจบลงแบบโป้งเดียวจอด ทว่า…การกำจัดผู้ร้ายรายนี้กลับยากจนทางการต้องปวดเศียรเวียนเกล้าบ่อย ครั้ง อุปสรรคสำคัญมิได้จำกัดอยู่เพียงอาวุธหรือสรรพกำลังของซุ้มโจร กำแพงกีดขวางกลับเป็นชาวบ้านตาดำๆ ทุกคนคอยปกป้องเสือฝ้าย เสมือนฝ้ายคือญาติในครอบครัวก็มิปาน
-ปล้นคนรวย แจกคนจน-

การตั้งตัวเป็นโจร ส้องสุมกำลังด้วยอาวุธ เท่ากับการประกาศตนเป็นศัตรูกับรัฐอย่างเปิดเผย มิเพียงเท่านี้ เสือฝ้ายดูจะเข้าใจความรู้สึกนึกคิดขั้นพื้นฐานของชาวบ้านมากกว่ารัฐอยากให้เป็น สิ่งนี้คือไม้เด็ดที่เสือฝ้ายมีอยู่เหนือกว่าหลายขุม

เงื่อนไขที่ทางการออกเป็นกฎหมายก็ดี ข้อกำหนดหรือระเบียบปฏิบัติก็ดี ล้วนมีจุดมุ่งหมายต่อการควบคุมคนในสังคมให้ดำเนินไปโดยปกติสุข กระนั้นหลายอย่างไม่เป็นดั่งทางการคาดหวัง ยุคสมัยของเสือฝ้าย คำพูดหนึ่งอันสะท้อนความข้างต้นได้ดีนั่นคือ “ชนชั้นใดร่างกฎหมาย แน่แท้ไซร้ก็เพื่อชนชั้นนั้น” และเสือฝ้ายได้แสดงผลของคำพูดนี้ให้ประจักษ์แก่สายตาชาวบ้าน ซ้ำยังได้มาด้วยวิธีใช้ความรุนแรง ตาต่อตา ฟันต่อฟัน

เมื่อฝ้ายโดนกฎหมายต่างชนชั้นกลุ้มรุม ฝ้ายจึงงัดข้อกับกฎหมาย เขาเป็นโจร พร้อมทั้งหยิบอาวุธประจันหน้ากับทางการ โดยเหน็บความพิเศษในฐานะชนชั้นของตนดึงประชาชนในละแวกเข้าเป็นพวก กล่าวอย่างถึงที่สุด จะเรียกขานความพิเศษนี้ว่า “ระบบอุปถัมภ์” คงไม่กระดากนัก ขณะตำรวจสอบเค้นชาวบ้านหมายทลายรังโจรกระเดื่องชื่อผู้นี้ ตำรวจเองกลับตอบไม่ได้ว่า ผลประโยชน์จากการพูดความจริงคืออะไร จับต้องและน่าเชื่อถือได้แค่ไหน มีอะไรเป็นหลักประกันสวัสดิภาพ หรือรอดพ้นสายตาของโจรกลุ่มนี้ ตรงกันข้าม,วิธีของเสือฝ้าย คราใดต้องระเห็จหลีกหนีหลังการเพลี่ยงพล้ำในการเผชิญหน้ากับตำรวจ ฝ้ายจะอาศัยชายคาของชาวบ้านเพื่อกำบังกาย จากนั้นไม่นาน เจ้าของบ้านจะตื่นขึ้นด้วยอารามตกใจ เมื่อเงินก้อนหนึ่งวางไว้บนหน้าประตูบ้าน แทบไม่ต้องเดา… เงินก้อนนี้ใครคือคนบันดาล

ปฏิสัมพันธ์ตรงนี้สร้างผลลัพธ์ทันตาเห็น เมื่อชาวบ้านยื่นมือช่วยเหลือเสือฝ้าย ฝ้ายจึงตอบแทนชาวบ้านด้วยแบบฉบับ “บุญคุณต้องทดแทน แค้นต้องชำระ” ตามบันทึกยังบอกอีกว่า เสือฝ้ายจะไม่ลงมือปล้นคนในท้องถิ่น แถมยังออกปากแก่ชาวบ้านในลักษณะให้ความคุ้มครองไปในตัว ทั้งนี้เจตนาของเขาต้องการสื่อถึงอิทธิพลอันมีผลทำให้…..

หนึ่ง สยบยอมต่ออิทธิพลของเสือฝ้าย อันมีลักษณะกึ่งบังคับไปในตัว ต้องเข้าใจว่าจะตำรวจหรือโจร ใครก็แล้วแต่ หากมีปืนอยู่ในมือ บุคคลนั้นย่อมยืนเหนือกว่าในภาวะการณ์นั้น

สอง บุคคลใดให้ความร่วมมือแก่เสือฝ้ายกับพรรคพวก บุคคลนั้นย่อมได้รับผลตอบแทนอันพึงใจไปในตัว คล้ายกับกฎที่ตั้งซ้อนอยู่ในตัวกฎหมายที่รัฐกำหนดไว้

สองข้อนี้ยังผลให้ชาวบ้านทั้ง กลัว และ เกรง คู่ไปกับ การมีทั้ง อิทธิพล และ บารมี จะอย่างไหน เสือฝ้ายได้อยู่เหนือคนธรรมดาสามัญไปเรียบร้อย ด้านชาวบ้านเองยังเห็นจุดประสงค์ของจอมโจรแดนสุพรรณอย่างกระจ่าง เพราะฝ้ายไม่ปล้นคนจนแต่ปล้นผู้มั่งคั่ง ตามด้วยทุกครั้งฝ้ายจะไม่ลงมือปลิดชีวิตเจ้าของทรัพย์ ของมีค่าที่กรรโชกมาได้จะเวียนถึงชาวบ้านในรูปแบบต่างๆ เช่น การกู้ยืม การให้เปล่า การบริจาคค้ำจุนศาสนา รวมถึงการให้ในโอกาสและวาระต่างๆอันจะทำให้ชาวบ้านลืมตาอ้าปากได้บ้าง

นอกเหนือการปล้น อดีตผู้ใหญ่บ้านชื่อฝ้ายคนนี้ยังคอยบรรสานประโยชน์ของคนในหมู่บ้าน ข้อพิพาทหรือปัญหาต่างๆ บ้านของเสือนามอุโฆษผู้นี้มักเป็นสถานตัดสินปัญหาให้ชาวบ้านอยู่เสมอ ยิ่งไปกว่านั้น บ่อยครั้งตำรวจในท้องที่ต้องมาขอพึ่งพิงชื่อของเขา เพื่อให้งานราบรื่นสะดวกโยธิน เวลาไม่นาน เครือข่ายแผ่เสือฝ้ายถักทอขึ้นเป็นรูปร่าง ก่อนแผ่ขยายออกไปอย่างกว้างขวาง ทั่วปริมณฑล โดยโยงใยถึงกันและกันในรูป “น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า”

พุทธศักราช 2489 เสือฝ้ายสิ้นท่าคาบ่อน้ำ ตามรูปคดีควรจะมีการนำศพไปทำพิธี หรือไม่ก็ชันสูตรประกอบแผน ทว่าทางตำรวจจงใจทิ้งศพของเสือฝ้ายให้ลอยขึ้นอืดสามวันสามคืน เพื่อให้ชาวบ้านได้มาเห็นตำตาต่อความพ่ายแพ้ที่โจรมีต่อตำรวจ การย้ำชัยชนะในลักษณะนี้ เป็นการสร้างกระแสให้เกิดขึ้นในสังคม “ดูไว้เป็นเยี่ยง แต่อย่าเอาเป็นอย่าง” คงไม่มีคำพูดใดเหมาะสมไปกว่าคำนี้อีกแล้ว สำหรับการยืนยันถึงคนที่คิดอยู่เหนือกฎหมาย

ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก : ศิษย์มีครู
ขอขอบคุณรูปภาพสวยๆจาก : MThai
นำเสนอโดย : แอพเกจิ – AppGeji

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: