6060. ตำนานแหกคุก “อัลคาทราซ”

เกาะอัลคาทราซ (บางครั้งเรียกว่า อัลคาทราซ หรือ เดอะร็อค) เป็นเกาะเล็กๆ ที่ตั้งอยู่กลางอ่าวซานฟรานซิสโก ในแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เกาะนี้เคยเป็นสถานที่ตั้งประภาคาร ป้อมปราการของกองทัพ และยังเป็นคุกทหารจนถึงปี 1963 หลังจากนั้น เกาะอัลคาทราซก็กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว

ปัจจุบันนี้ เกาะอัลคาทราซเป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์จากการอนุมัติโดยหน่วยงานอุทยาน แห่งชาติ ที่เป็นส่วนหนึ่งของ “Golden Gate National Recreation Area” และเปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวสามารถไปเยี่ยมชมโดยเรือเฟอร์รี่จากท่าเรือ 33 ใกล้กับ ฟิชเชอร์แมนวาร์ฟ (Fisherman’s Wharf) ในซานฟรานซิสโก นอกจากนี้เกาะแห่งนี้ยังได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติในปี 1986

ชื่อของเกาะได้รับการตั้งขึ้นเมื่อปี 1775 เมื่อนักสำรวจชาวสเปน ฮวน มานูเอล เดอ อยาลา ทำการสำรวจอ่าวซานฟานซิสโก และตั้งชื่อตามขนาดของเกาะว่า ลา อิสลา เดอ ลอส อัลคาทราซ ซึ่งแปลว่า “เกาะแห่งนกกระทุง” เกาะแห่งนี้ไม่เหมาะที่จะอยู่อาศัย เนื่องจากกระแสน้ำทะเล พืชผักที่มีปริมาณน้อยมาก และพื้นดินที่แห้งแล้ง

เนื่องจากเกาะแห่งนี้ตั้งอยู่โดดเดี่ยวกลางอ่าวตามธรรมชาติ ล้อมรอบด้วยน้ำที่มีอุณหภูมิเยือกแข็งและคลื่นลมแรง เกาะอัลคาทราซ จึงได้รับการพิจารณาให้ใช้เป็นที่คุมขังนักโทษ ในปี 1861 เกาะนี้ได้เป็นที่รองรับนักโทษจากสงครามกลางเมืองจากรัฐต่างๆ และผลพวงจากสงครามสเปน-อเมริกัน ในปี 1898 ทำให้จำนวนนักโทษเพิ่มขึ้นจาก 26 คน เป็น 450 คน จากนั้นในปี 1906 ได้เกิดแผ่นดินไหวในซานฟานซิสโก (ที่ทำลายเมืองนี้อย่างรุนแรง) บรรดานักโทษจึงถูกย้ายไปบนเกาะเพื่อความปลอดภัย ในปี 1912 มีการก่อสร้างคุกขนาดใหญ่ที่ใจกลางเกาะ และในปลายทศวรรษ 1920 อาคารสามชั้นนี้ก็เสร็จสมบูรณ์

กองทัพสหรัฐใช้เกาะอัลคาทราซมามากว่า 80 ปี คือจากปี 1850 จนถึงปี 1933 จากนั้นเกาะนี้ได้ย้ายไปอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงยุติธรรมเพื่อใช้เป็น ที่คุมขังนักโทษ รัฐบาลได้ใช้เป็นสถานที่ดัดสันดานที่มีระบบรักษาความปลอดภัยสูงสุด ปราศจากสิทธิพิเศษใดๆ เพื่อจัดการกับบรรดานักโทษ และแสดงถึงประสิทธิภาพทางกฎหมายที่รัฐบาลต้องการลดคดีอาชญากรรมที่มีมากมาย ในช่วงปี 1920 และปี 1930

อัลคาทราซห่างจากเมืองซานฟรานซิสโกออกไปในทะเลบริเวณที่เป็นอ่าวชื่อเดียวกับตัวเมือง 2.4 กม. มีเกาะ ชื่อว่า อัลคาทราซ หรืออีกชื่อหนึ่งก็คือ The Rock เนื่องจากมันเป็นเกาะที่มีแต่หินเป็นส่วนใหญ่นั่นเอง เดิมทีเดียวเกาะนี้ใช้เป็นที่ตั้งประภาคารสำหรับเรือที่แล่นผ่านเข้าออกในอ่าวซานฟรานซิสโก แต่ในราวกลางศตวรรษที่ 19 ในช่วงที่เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นที่สหรัฐอเมริกา ทางกองทัพใช้เกาะนี้เป็นที่คุมขังนักโทษการเมือง จนกระทั่งปี พ.ศ.2476 กองทัพจึงเลิกใช้ที่นั่นเป็นที่คุมขังนักโทษของกองทัพทั้งหมด แต่เนื่องจากอาคารเรือนจำต่างๆ ที่ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ดีทุกอย่าง ในปีต่อมาทางการจึงใช้มันเป็นเรือนจำสำหรับนักโทษทั่วไป

อัลคาทราซเป็นที่คุมขังนักโทษซึ่งก่อคดีอุกฉกรรจ์เป็นจำนวนมาก รวมทั้งมาเฟียชื่อดังก้องโลกอย่างอัล คาโปน ด้วย อัลคาทราซได้ชื่อว่าเป็นคุกที่ไม่มีใครจะหลบหนีออกไปได้ ตลอดเวลาใช้งานเป็นเวลา 29 ปี ตั้งแต่ ปี พ.ศ.2477 มีความพยายามถึง 14 ครั้ง จากนักโทษ จำนวน 36 คน ที่พยายามหลบหนี มี 2 คนที่พยายาม ถึง 2 ครั้ง แต่ก็ไม่สำเร็จ 23 คนถูกจับได้ 6 คนถูกยิงตายระหว่างการหลบหนี อีก 3 คนทางการรายงานว่าเสียชีวิตในทะเล แต่ก็ไม่เคยมี ใครพบศพของพวกเขาแม้แต่คนเดียว

เคยมีผู้กล่าวกันว่า ผู้ที่หาญกล้าหลบหนีออกจาก”คุกอัลคาทราซ”มักไม่มีชีวิตรอดกลับไป

แฟรงค์ มอร์รีส นักโทษหมายเลข 1441 ผู้มีประวัติในการถูกจับมาตั้งแต่วัยเด็กและขึ้น ชื่อในเรื่องของความฉลาด จอห์น แองกลิน และ แคลเรนซ์ แองกลิน 2 พี่น้องผู้ถูกจับในข้อหาปล้นธนาคาร คือนักโทษ 3 คน ที่แหกคุกอัลคาทราซแล้วหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย แผนการหลบหนีของทั้ง 3 ทำไว้อย่างแยบยล กับอุปกรณ์ที่ดัดแปลงขึ้นมาอย่างไม่น่าเชื่อ คือพวกเขาพบว่าผนังคอนกรีตที่อยู่ขอบๆช่องลม ขนาด 6×9 นิ้ว ใต้อ่างล้างหน้าในห้องขังนั้นจะเปื่อยยุ่ยกว่าผนังส่วนอื่น พวกเขาจึงหาอุปกรณ์เท่าที่จะหาได้ในนั้น เช่น ช้อนโลหะ เหรียญ สว่านไฟฟ้าที่ทำจากมอเตอร์เครื่องดูดฝุ่น เป็นเครื่องมือในการ เจาะผนังปูน พวกเขาทำฉากที่ลงสีให้คล้ายกับผนังจริงปิดบังไว้ เพื่อไม่ให้ผู้คุมเห็นร่องรอยของการเจาะ และแสงทึมๆในห้องยังช่วยอำพรางไว้อีกชั้นหนึ่ง

การหลบหนีในครั้งนั้น ซึ่งถูกมองว่าเป็นการกระทำที่ท้าทายต่อมาตรการรักษาความมั่นคงของรัฐอย่างยิ่ง มีเพียงอุปกรณ์ช่วยเพียงไม่กี่ชิ้น ซึ่งรวมถึง ช้อน กระดาษเปเปอร์มาเชที่ปั้นเป็นรูปศีรษะ และชุดกันฝนที่ทำจากยาง

ภารกิจการหลบหนีครั้งประวัติศาสตร์เริ่มขึ้นจากการค่อยๆใช้ช้อนเจาะผนังคอนกรีตรอบๆท่อระบายอากาศในคุกที่พวกเขาถูกจองจำ และอุปกรณ์ทำมือที่ทำจากเครื่องดูดฝุ่น

เสียงการเจาะผนังถูกกลบด้วยเสียงการซ้อมแอคคอร์เดียน และกระดาษแข็งที่ค่อยๆถูกนำมาแปะข้างฝาอย่างแนบเนียน เมื่อช่องที่ผนังมีขนาดใหญ่ขึ้น และสบู่ที่ถูกนำมาเป็นอุปกรณ์เสริมสำหรับการถอนหมุด
เมื่อจังหวะเหมาะมาถึง พวกเขาค่อยๆบีบตัวแทรกผ่านช่องที่เจาะไว้ และปีนขึ้นไปยังช่องลมบนเพดาน

ขณะที่ผู้คุม ที่มักจะตรวจเช็คนักโทษเป็นระยะๆ เข้าใจว่าทั้งสามนอนหลับตามปกติ เนื่องจากทั้งสามได้ใช้หน้ากากเปเปอร์มาเช วางไว้บนหมอน โดยได้นำเศษผมที่รวบรวมได้จากร้านตัดผมมาติดไว้ เพื่อตบตาว่าตนเองกำลังนอนหลับตามปกติ

กระทั่งทั้งสามปีนขึ้นไปอยู่บนหลังคา โดยไม่สนใจถึงไฟสป็อตไลท์ที่สอดส่องตลอดทั้งคืน ก่อนที่จะมุ่งหน้าไปยังบริเวณรั้วไฟแรงสูง ในจุดที่เป็นจุดบอดที่แสงไฟส่องไปไม่ถึง ก่อนที่จะใช้เครื่องสูบลมที่ทำขึ้นเอง สูบลมเข้าไปในอุปกรณ์ที่คล้ายแพ ที่ทำจากชุดกันฝนยาง

ผู้หลบหนีคนที่สี่ไม่สามารถออกจากช่องลมได้ทัน เมื่อออกมาได้แล้วก็พบว่า 3 คนก่อนหน้านี้ ได้หลุดรอดออกไปยังอ่าวซานฟรานซิสโกแล้ว แต่พวกเขาจะได้เจอกับความตายหรืออิสรภาพ ก็ขึ้นอยู่กับความเชื่อของแต่ละคน เศษซากแพยางถูกพบบนเกาะที่อยู่ใกล้เคียงกัน แต่ชะตากรรมของทั้งสามคนไม่ปรากฏนับตั้งแต่นั้น

พล.อ.ไมเคิล ไดค์ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ ซึ่งยังคงคิดตามคดีดังกล่าวมานานกว่า 10 ปี แสดงความเห็นว่า มีความเป็นไปได้สูงที่ทั้งหมดจะมีชีวิตรอด แต่ก็เป็นเรื่องที่พูดยาก ทางการจำเป็นต้องเปิดคดีนี้ไว้นับตั้งแต่เกิดเหตุ และเนื่องจากหมายจับยังคงมีผลบังคับใช้ ทางการจึงจำเป็นต้องสืบสวนคดีนี้ต่อไปเรื่อยๆ เนื่องจากไม่มีการพบร่างของทั้งสาม และหลักฐานที่ได้รับส่วนใหญ่ก็ขาดน้ำหนักและความน่าเชื่อถือที่มากพอ โดยกว่า 99% เป็นข้อมูลที่เป็นเท็จ

แต่หนึ่งเดือนหลังจากกรกฎาคม 1962 เจ้าหน้าที่เรือขนส่งสินค้าจากนอร์เวย์ พบเห็นศพหนึ่งลอยอยู่ในทะเล ห่างจากสะพานโกลเด้นเกตไปราว 15 ไมล์ โดยยังคงสวมเสื้อสีกากี และกางเกงทรงหลวม เช่นเดียวกับนักโทษ และไม่มีรายงานผู้สาบสูญระหว่างช่วงเวลานั้น เขาเชื่อว่านั่นอาจเป็นศพของแฟรงค์ มอร์ริส โดยเชื่อว่าสองพี่น้องแองกลินอาจจำเป็นต้องช่วยเหลือกันและกัน

ความลางเลือนของประวัติศาสตร์ในช่วงนั้น ได้ก่อให้เกิดเรื่องราวและตำนาน รวมถึงหนังสือและสารคดี ที่ยังคงตั้งคำถามต่อการหายสาบสูญของพวกเขา ว่าจมน้ำเสียชีวิตหรือรอดชีวิต ในปี 1979 ได้มีการสร้างภาพยนตร์เรื่อง Escape from Alcatraz โดยมีคลินต์ อีสต์วู้ด รับบทเป็นแฟรงค์ มอร์ริส ขณะที่รายการโทรทัศน์รายการหนึ่ง ได้จำลองสถานการณ์การหลบหนี และสรุปได้ว่าทั้งหมดอาจมีชีวิตรอด

พล.อ.ไดค์ ยังคงต้องเดินทางไปเกาะอัลคาทราซเป็นระยะๆ เช่นเดียวกับญาติของทั้งสามที่เหลืออยู่ไม่มากนัก เพื่อเตรียมพร้อมจับกุมได้ตลอดเวลา หากพวกเขาปรากฏตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งวาระครบรอบ 50 ปี การหลบหนีของพวกเขา

ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก : ตำนาน คดีดัง
แอพเกจิ – AppGeji

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: