2600.นายทหารฝรั่งข้ามภพชาติมาเกิดในแผ่นดินไทย เพื่อปราถนาเป็นพระโสดาบัน

คนไทยเป็นบุคคลที่โชคดีที่สุดในโลก
“สู่วงศ์พระพุทธศาสนา”

หลังจากการทำสงครามยึดนครจำปาศักดิ์สิ้นสุดลง

มีนายทหารท่านหนึ่งมากราบท่านพระอาจารย์มั่น ด้วยความเลื่อมใส

มาถึงตอนเช้าก็ถวายทาน ปกติระเบียบของท่านพระอาจารย์มั่น ถ้าแขกมาอย่างนี้น่ะ ท่านจะให้มาเวลาเช้า เวลานี้ท่านจะต้องให้ต้อนรับ แต่ถ้าเลิกฉันบิณฑบาตแล้วหมดเวลา จนถึงบ่าย 3 โมง และจะต้องมีผู้นำมา ถ้าไม่มีผู้นำ ท่านไม่ให้เข้ามา

ทีนี้ท่านมาคนเดียว ขึ้นไปกราบนมัสการแล้ว ท่านก็รายงานตามแบบทหาร ชื่อนั้น ชื่อนี้ ยศท่าน เท่านี้ ท่านพระอาจารย์มั่นก็เทศนาเกี่ยวกับ ทาน ศีล เนกขัมมะ การออกจากกาม โทษของกาม หลังจากท่านเทศน์จบก็ลากลับ


หลวงปู่มั่น

พอตกค่ำ หลังจากอบรมพระเณรเสร็จแล้ว ผู้เล่าได้เข้าไปปฏิบัติท่าน ถวายการนวด ท่านก็ปรารภเปรยๆ ขึ้นว่า

“อันนี้ได้เหตุล่ะนะ” (อันนี้หมายถึงตัวท่าน) วันนั้นตอนเช้าใกล้จะสว่าง ท่านกำลังทำสมาธิอยู่ ก็มีนิมิตปรากฏว่า มีนายพันคนหนึ่ง มารายงานตัวว่า ผมมาจากวอชิงตัน ตอนนั้นก็ยังไม่ได้พิจารณาอะไรไรอีก บังเอิญมาพบนายพันทหารไทยคนนี้ ท่านก็จึงหวนพิจารณา

ได้ความว่า นายพันทหารไทยคนนี้น่ะ สมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 ไปรบอยู่ที่ประเทศเยอรมัน มียศเป็นนายพันทหารเหมือนกัน เป็นคนอเมริกัน และพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ได้ส่งทหารไทยไปรบอยู่ที่เยอรมันนั้นเอง อยู่ฝ่ายสัมพันธมิตร

สมัยนั้น เวลาพักรบน่ะ พักจริงๆ ขนาดทหารฝ่ายสัมพันธมิตรกับทหารเยอรมันจุดบุหรี่ด้วยกันได้ ไม่เหมือนทุกวันนี้ หลังจากพักรบแล้ว นายพันทหารไทยก็มานอนอ่านหนังสืออยู่ที่เปล นายพันทหารอเมริกันก็เข้ามาถาม

“อ่านหนังสืออะไร”

นายพันทหารไทย

“อ่านหนังสือเรื่อง เบญจศีล เบญจธรรม เขียนโดย สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส”

“ผมอยากรู้ อธิบายให้ผมฟังได้ไหม”

นายทหารไทยก็อธิบายให้ฟัง แกก็เลื่อมใส พูดว่า “ผมถือคริสต์ ผมจะปฏิบัติอย่างนี้ได้ไหม”

“ขึ้นชื่อว่าความดีนี้ ไม่เลือก จะนับถืออะไรก็ทำได้” ทหารไทยตอบ

แกก็เลยสมาทานศีล 5 กลับไปอเมริกา ไปสิ้นชีวิตลงที่นั่น

ด้วยอานิสงส์ของการรักษาศีล 5 นี้ ก็พลัดเข้ามาสู่วงศ์พระพุทธศาสนา พอพลัดเข้ามาแล้ว ก็ยังได้มาเป็นนายพันทหารอีกเหมือนกัน คือ ท่านพันเอก นิ่ม ชโยดม คนที่มาเมื่อเช้านั่นแหละ เธอต้องการอยากจะสำเร็จเป็นพระโสดาบัน

เธอพูดกับท่านพระอาจารย์ว่า “จะได้ปิดประตูอบายภูมิ จะเป็นไปได้ไหมท่านอาจารย์”

ท่านตอบว่า “สำหรับผู้ปฏิบัติ ก็คงจะได้กระมัง”


หลวงปู่มั่น

เธอก็ยังสงสัยลังเลอยู่ ยังไม่มั่นใจ พอกลับไปกราบท่านพระอาจารย์ ครั้งที่ 2 ก็ถามอีก ครั้งที่ 3 ก็ถามอีก ท่านพระอาจารย์มั่นก็พูดเหมือนเดิม

หลังจากนายพันเอกนิ่มกลับไปแล้ว ขณะผู้เล่าถวายการนวดอยู่ ท่านพูดว่า

“เป็นไปไม่ได้หรอก เพราะบารมียังอ่อน เขาเป็นพาหิราศาสนา ศาสนาภายนอก มาหลายภพหลายชาติ ด้วยอานิสงส์ที่รักษาศีล 5 ในพระพุทธศาสนา จึงพลัดเข้ามาสู่วงศ์พระพุทธศาสนา ต้องมาเกิดในประเทศไทยนี้ถึง 2 ชาติเสียก่อน จึงจะได้สำเร็จเป็นพระอริยบุคคลโสดาบัน เพราะบารมียังอ่อน”

[ พันเอกนิ่ม ชโยดม เกิดเมื่อ 28 มกราคม พ.ศ.2440 ที่จังหวัดพิษณุโลก ในปี พ.ศ.2460 สอบเข้าโรงเรียนนายร้อยทหารบก สำเร็จออกรับราชการ ในปี พ.ศ.2465 ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ เป็นขุนนิมมานกลยุทธ

ประมาณปีพ.ศ. 2490-2492 ย้ายไปรับราชการเป็นผู้บังคับการทหารบกอุบลราชธานี ในโอกาสออกตรวจเยี่ยมหน่วยทหาร ท่านได้ถือโอกาสเข้าไปกราบนมัสการท่านพระอาจารย์มั่น ณ วัดป่าบ้านหนองผือ

ครั้งหนึ่ง เมื่อไปถึงวัดป่าบ้านหนองผือเป็นเวลาพลบค่ำแล้ว มีคนมาต้อนรับและนำไปพักยังศาลาที่จัดเตรียมรอไว้ โดยมีที่นอนเตรียมไว้พอดีกับจำนวนคนที่ร่วมคณะทั้งหมด ซึ่งมี 8 คน พอสอบถามก็ทราบว่า ท่านพระอาจารย์มั่นสั่งเตรียมไว้ล่วงหน้า ตั้งแต่กลางวันแล้วว่า จะมีคณะมาพัก 8 คน เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ท่านพักเอกนิ่มอัศจรรย์ใจเป็นอย่างมาก


หลวงปู่แหวน

เมื่อเกษียณแล้ว ท่านมักไปถือศีลปฏิบัติธรรมกับครูบาอาจารย์ ซึ่งเป็นศิษย์ของท่านพระอาจารย์มั่น เช่น หลวงปู่แหวน สุจิณโณ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ฯ ลฯ เรื่อยมาจนชราภาพมากจึงหยุดไป และท่านได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2531

-เรียบเรียงโดยภิเนษกรมณ์ จากประวัติพันเอกนิ่ม ชโยดม และบทสัมภาษณ์คุณณรงค์ ชโยดม บุตรชายคนโตของ พันเอกนิ่ม ชโยดม ]​

หลวงปู่ฝั้น

คนไทย_เป็นบุคคลที่โชคดีที่สุดในโลก

คืนหนึ่ง หลังจากเทศน์อบรมพระเณรจบลง ท่านพระอาจารย์เข้าพักผ่อน ผู้เล่าถวายการนวด เรื่องพันเอกนิ่ม ชโยดม คล้ายกับค้างอยู่ยังไม่จบ ความเป็นคนไทย นับถือพระพุทธศาสนา เข้าสู่พุทธวงศ์ (หรือเข้าสู่วงจรชาวพุทธ) มิใช่เป็นของได้ง่ายๆ ท่านเลยยกพุทธภาษิตที่มาจากคัมภีร์พระธรรมบท ขุททกนิกายว่า

กิจฺโฉ มนุสฺส ปฏิลาโภ กิจฺฉํ มจฺจาน ชีวิตํ

ภาษิตที่ยกมานั้น ท่านเอามงคลสูตรมากล่าว ตั้งแต่อเสวนาเป็นต้นไป จนถึง ผุฎฐสฺส โลกธมฺเมหิ ฯ ลฯ เป็นอวสาน มงคลที่ท่านย้ำเป็นพิเศษ คือ บท 2 ปฏิรูปเทสวาโส ฯ ลฯ บท 3 และ 4 ทานญฺจ ฯ ลฯ อนวชฺชานิ กมฺมานิ เพราะ 4 บทนี้ เป็นพื้นฐานของมงคลทั้งหมด โดยเฉพาะเรื่องปฏิรูปเทสนี้ สำคัญมาก ท่านดูจะหมายเอาประเทศไทยโดยเฉพาะ

พอท่านอธิบายจบแต่ละมงคล ก็จะย้ำเป็นบาลีว่า เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ ถึง 3 ครั้ง และเป็นภาษาไทยว่า เป็นความเจริญอันอุดมเลิศ เป็นความเจริญอันอุดมเลิศ เป็นความเจริญอันอุดมเลิศ ถึง 3 ครั้ง

ครั้งสุดท้าย พอขึ้น ผุฏฺฐสฺ โลกธมฺเมหิ จิตฺตํ ยสฺส น กมฺปติ อโสกํ วิรชํ เขมํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ นั่นละ ถึงเป็นมงคลถึงที่สุด คือ พระนิพพานเลย

ท่านพูดต่อว่า “ความเป็นคนไทย…พร้อม”

พร้อมอย่างไร

ท่านจะอ้างอิงตั้งแต่ครั้งพุทธกาลจนถึงสมัยปัจจุบัน ทั้งภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ พระไตรปิฎกพร้อมมูล ประเทศไทยไม่เคยอดอยากหิวโหย ตั้งแต่ยุคสุโขทัยถึงปัจจุบัน ประเทศไทยไม่เคยว่างเว้นจากพุทธศาสนา พระมหากษัตริย์ทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก ทุกยุคทุกสมัย ชาวไทยศรัทธาต่อพระพุทธศาสนา ถวายจตุปัจจัยพระสงฆ์ทุกวัน นับมูลค่าไม่ได้

ทำไมคนไทยจึงมีกินมีใช้ มิใช่บุญหรือ บุญมีจริงไหม มีข้าวกล้าในนางาม ฝนตกถูกต้องตามฤดูกาล ในป่ามีไม้ มีปลาในน้ำ มีสัตว์บนบก มีนกในอากาศ มิใช่บุญเกิดจากการถวายทานพระสงฆ์ในแต่ละวันหรือ


หลวงปู่มั่น

ธรรมเทศนาของท่านพระอาจารย์มั่น มักจะยกการทำนามาเป็นเครื่องอุปมาอุปไมย เปรียบเทียบเกือบจะไม่ว่างเว้นเลย และอธิบายเรื่องการทำนาได้อย่างละเอียดถี่ถ้วนมาก คงจะได้พบในมุตโตทัย

ผู้เล่าจะนำมาเล่าเท่าที่จำได้ เช่น การปฏิบัติธรรมถูก ก็ถูกมาแต่ต้น ท่านหมายถึง ผู้ปฏิบัติ คือ ไม่ลืมคำสอนที่พระอุปัชฌาย์สอนไว้แต่วันบวช การทำนาก็เหมือนกัน

“ถูกมาตั้งแต่ต้น ฮวงเม่าจึงมี ผิดมาตั้งแต่ต้น ฮวงเม่าบ่มี”

“คำเหลืองสร้อยซิเป็นฮอยหิห่ำ ข้าวก่ำเป็นข้าวพั้ว งัวสิให้ต่อควาย”

คำนี้ท่านเปรียบผู้เรียนรู้มากแล้วลาสิกขาออกไป เปรียบด้วยข้าวในนาจวนจะสุกอยู่แล้ว เลยถูกหนอนคอรวงกัดกินเสียหายหมด เลยไม่ได้กินสูญเปล่า


โอวาทธรรม​ หลวงปู่มั่น​ ภูริทัตโต

ที่มาของบทความ: เกร็ดประวัติ และ ปกิณกธรรมของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต​ จากหนังสือ “รำลึกวันวาน” หลวงตาทองคำ จารุวัณโณ​ โพสท์ในลานธรรมเสวนา หมวดบันเทิงธรรม กระทู้ 19153 โดย: ภิเนษกรมณ์ 08 มี.ค. 49.


ทานานํ​ ยทิทํ ธมฺมทานํ​ เอตทคฺคํ
ธรรมทานเลิศกว่าทานทั้งหลาย
~Nirasho​ Bhikkhu~

แอพเกจิ

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: