1768.” ลูกศิษย์ในสมเด็จโต “

” ลูกศิษย์ในสมเด็จโต ”
พระธรรมถาวร (ช่วง จันทโชติ) วัดระฆังโฆสิตาราม พระเถราจารย์ยุคเก่าผู้มีตบะบารมีแก่กล้า ท่านเป็นบุตร นายขำ นางจันทน์ สิงหเสนี เกิด ณ วันจันทร์ขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๔ ปีเถาะ ตรงกับวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๓๘๖ ที่ตำบลบางระบาด อำเภอตลิ่งชัน จังหวัดธนบุรี มีพี่น้องร่วมบิดามารดากันอีก ๓ คน คือ นางเปลี่ยน นายชิด และนายปลั่ง บิดามารดามีอาชีพทำสวน

เมื่อวัยเด็กท่านเป็นคนขยันขันแข็ง ร่างกายสมบูรณ์ ได้เป็นกำลังช่วยเหลือพ่อแม่ประกอบอาชีพ มีจิตใจไปในทางกุศล ไม่ชอบทำเวร ทำกรรม ว่านอนสอนง่าย พอมีอายุได้ ๓ ปี นำขำบิดา ซึ่งเป็นศิษย์ของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังษี) วัดระฆังฯ สมัยแต่ยังเป็นพระมหาโต ได้นำท่านมาฝากตัวเป็นศิษย์เพื่อศึกษาพระปริยธรรม แต่ครั้งสมเด็จโต ยังดำรงตำแหน่งเป็นพระธรรมกิติ ทั้งนี้ด้วยเห็นนิสัยบุตรคนนี้ว่า เป็นคนใจบุญ ใจกุศล

สมเด็จโต ดูลักษณะท่านแล้วทำนายว่า เด็กคนนี้มีวาสนาทางพระถึงขั้นพระราชาคณะ ฉันยินดีรับอุปถัมภ์ นายขำบิดาท่านได้ฟังคำทำนายก็รู้สึกตื้นตันใจในวาสนาของบุตร นับได้ว่า สมเด็จโตเป็นพระอาจารย์ของบิดาแล้วยังได้มาเป็นพระอาจารย์ของท่านอีกชั้นหนึ่ง เป็นกำลังใจให้ท่านเล่าเรียนด้วยความขยันหมั่นเพียรแลจิตมุ่งที่จะอุปสมบทการเล่าเรียนของท่าน สมเด็จโตออกปากว่า

 

“เจ้าช่วง เอ็งมีสติปัญญาสอนง่ายกว่าเจ้าขำพ่อของเอ็ง”

สมเด็จโตมีวิชาสิ่งใด ก็ถ่ายทอดให้ท่านด้วยความเอ็นดู ครั้นพอายุครบบวช สมเด็จโตเวลานั้นได้มับสมณศักดิ์เป็น สมเด็จพระพุฒาจารย์เอนกสถานปรีชา เป็นอธิบดีสงฆ์ วัดระฆังฯ แลเป็นเจ้าคณะใหญ่หอกลาง ได้เรียกนายขำบิดาท่านมาถามว่า

“ฉันจะบวชให้เจ้าช่วง เอ็งคิดจะให้บวชที่วัดระฆังนี่หรือจะเอาไปบวชที่วัดมณฑปในคลองบางระบาดบ้านเอ็ง สำหรับเจ้าช่วงคนนี้ มันจะไปบวชวัดไหน ฉันก็จะต้องไปนั่งเป็นพระอุปัชฌายะ”

นี่แสดงให้เห็นว่า ท่านได้รับใช้สมเด็จ จนสมเด็จเมตตาแก่ท่านเพียงไรในที่สุดนายขำบิดาท่านก็กราบเรียนว่า ขอให้บวชที่วัดมณฑปเพราะญาติโยมผู้เฒ่าผู้แก่อยู่ใกล้วัดนั้นมาก

สมเด็จโต ได้ฟังก็ตกลงด้วยความยินดี ด้วยท่านจะได้มีโอกาสพบกับชาวบางระบาด ตลิ่งชัน แลโดยเฉพาะท่านสมภารสอน วัดมณฑป ก็เป็นศิษย์ของท่าน เคยไปรุกขมูลธุดงค์กับสมเด็จโต ถึงนครวัด ประเทศเขมร ส่วนทางด้านพม่า ก็ไปถึงพระเจดีย์ชเวดากอง นครร่างกุ้ง จัดว่าเป็นศิษย์รุ่นเก่าที่ใกล้ชิดไว้วางใจ

ดังนั้นจึงกำหนดงานอุปสมบท ณ พัทธสีมา วัดมณฑป คลองบางระบาด ณ วันพุธ เดือน ๗ แรม ๑๐ ค่ำ ปีชวด ตรงกับวันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๐๗ โดยมีสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆังฯ เป็นพระอุปัชฌายะ พระครูปลัดสุวัฒน์สมณาจารย์ (มิศร์) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอธิการสอน วัดมณฑป เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้ฉายาว่า “จันทโชติ” แปลว่า ได้ครองผ้าเหลืองมีรัศมีผ่องใสดังแสงจันทร์ สมกับที่ท่านเกิดวันจันทร์ โฉมตรู แล้วมาบวชวันพุธ นงเยาว์ ตามพระบัญชาของสมเด็จโต พระอุปัชาฌายะ

ครั้นอุปสมบทแล้ว ได้ทำอาจาริยะวัตรที่วัดมณฑป ๗ วัน ก็กลับมาอยู่ที่วัดระฆังฯ เรียนปริยัติธรรมในสำนักสมเด็จโต พระอุปัชฌายะ จนมีความรู้แลปฏิบัติเคร่งครัดต่อธรรมวินัย แต่ไม่ได้เข้าแปลเป็นเปรียญ หรือท่านจะถือแบบสมเด็จโต กล่าวคือให้มาเทียบเปรียญให้เอง ก็ยังสืบไม่ได้ความ

คนรุ่นเก่าเคยเล่าว่า ท่านเก่งทางหนังสือ ทางเทศน์ สวดมนต์แม่นยำพระปาฏิโมกข์ มหาชาติชาดก เทศนากัณฑ์ ด้วยสุ้มเสียงไพเราะจับใจ มีคนนิยมมานิมนต์มิได้ขาด เรื่องทางเวทย์มนต์ไม่ต้องบอกก็ได้ว่าเก่งขนาดไหน ท่านถ่ายทอดไว้จากสมเด็จโต จนหมดสิ้นไส้พุงทีเดียว แต่ท่านไม่เคยคุยโอ้อวดแต่อย่างใด ความรู้ทางช่างก็ชัดเป็นช่างฝีมือ ทำงานละเอียด ประณีตบรรจง ทางแพทย์แผนโบราณก็เป็นที่พึ่งได้ทั้งชาววัดชาวบ้านเป็นอย่างดี

ครั้นปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๑๑ ได้รับสมณศักดิ์เป็น พระครูธรรมรักขิต (พระครูฐานานุกรมของสมเด็จโต)
ปีวอก พ.ศ. ๒๔๒๗ ได้รับสมณศักดิ์เป็น พระปลัด ของเจ้าคุณพระญาณวิริยะ (บุตร) ตอนนี้สมเด็จโตมรณภาพแล้ว
ปีขาล พ.ศ. ๒๔๓๓ ได้รับสมณศักดิ์เป็น พระครูปลัด ของหม่อมเจ้าพระพุทธปบาทปิลันท์ธรรมเจดีย์ (หม่อมเจ้า ทัด เสนีวงศ์)
ปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๓๕ ได้รับสมณศักดิ์เป็น พระครูปลัดสุวัฒน์ศีลคุณ ของหม่อมเจ้าพิมลธรรม (ทัด)
ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๓๗ ได้รับสมณศักดิ์เป็น พระครูปลัดสุวัฒน์สมณาจารย์ ของสมเด็จพุฒาจารย์ (หม่อมเจ้าทัดฯ)
ปีชวด พ.ศ. ๒๔๔๓ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็น พระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระธรรมถาวร แลได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌายะ มีคนมาให้ท่านบวชเป็นจำนวนมาก ด้วยท่านมีอัธยาศัยสุภาพอ่อนโยน มีความสำรวม ไม่สะสมทรัพย์สิน ไม่เห่อเหิม ลาภ ยศ ไม่ถือชั้นวรรณะ ช่วยสงเคราะห์แก่คนที่มาขอความช่วยเหลือด้วยความเมตตาจิต ตามกำลังความสามารถที่ช่วยได้ สมกับคำทำนายของสมเด็จโต ที่ว่าเด็กคนนี้จะได้เป็นถึง พระราชาคณะ

ในงานทำบุญอายุครบ ๘๐ ปีของท่าน เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๖ ท่านได้รวบรวมผง ๑๐๘ เกสรดอกไม้ เศษอาหารที่เหลือจากฉันเอามาสร้างพระผงตามตำราของสมเด็จโต พระอุปัชฌายะของท่าน ปลุกเสกด้วยตนเองถึง ๗ วัน ๗ คืน พระสมเด็จของท่านนั่งสมาธิ ๓ ชั้น หมายถึง ชั้นต่ำ ชั้นกลาง ชั้นสูง หรือจะเรียกพระรัตนตรัยก็ได้ มีประสพการณ์ทางเมตตามหานิยมและแคล้วคลาด

ผู้เขียนเคยได้เห็นจาก เจ้าคุณพระธรรมทานาจารย์ (แนบ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดระฆังเอามาให้ดู ด้วยเจ้าคุณธรรมถาวร (ช่วง) เป็นอาจารย์ของท่านมอบให้ไว้ บอกว่า ขณะที่ทำชิ้นนี้ ได้เอาผง ๑๐๘ ของสมเด็จโตอุปัชฌายะของท่านที่เก็บไว้ผสมด้วย ท่านมั่นใจได้ว่าดีจริง ๆ เวลานี้ใครเห็นก็ต้องว่าเป็นของสมเด็จโต สร้าง

ต่อมาในงานทำบุญอายุครบ ๗ รอบ ๘๔ ปี ท่านได้สร้างพระสมเด็จทำด้วยโลหะทองเหลือง โดยร่วมกับสมเด็จพระพุฒาจารย์ (ม.ร.ว. เจริญ อิศรางกูร) อดีตเจ้าอาวาสวัดระฆัง ปรากฎผลว่า ดีทางคงกระพันชาตรี ขนาดลงน้ำ ปลิงไม่เกาะ เป็นที่นิยมอยู่ในขณะนี้

พระสมเด็จวัดระฆัง รุ่นทองเหลืองนี้ ได้มีอาจารย์มาเข้าพิธีปลุกเสกเท่าที่จำได้มี เจ้าคุณสุนทาสมาจาร (พรหม) วัดกัลยาณมิตร, พระครูสวรรค์วิถี (แสง) วัดนครสวรรค์, พระครูภาวนาภิรมย์ (พลอย) วัดเงิน คลองบางพรหม ธนบุรี, เจ้าคุณทักษิณคณิศร (สาย) วัดอินทาราม พลาดพลู, หลวงพ่อไปล่ วัดกำแพง บางขุนเทียน, พระครูธรรมจริยาภรณ์ วัดคหบดี, พระครูพุทธวิถีนายก (บุญ) วัดกลางบางแก้ว นครไชยศรี, พระครูวิมลศีลาจาร (ช่วง) วัดปากน้ำ แควอ้อม อ. อัมพวา สมุทรสงคราม, พระครูถาวรสมณศักดิ์ (คง) วัดนางสาว อ. กระทุ่มแบน สมุทรสาคร,พระครูรัตนรังษี (พุ่ม) วัดบางโคล่นอก, พระมงคลทิพยมุนี วัดทองธรรมชาติ, พระครูถาวรสมณวงศ์ (อ๋อย) วัดไทรย์ บางขุนเทียน,พระครูประศาสน์สิขกิจ (พริ้ง) วัดบางประกอก ราษฎร์บูรณะ, พระครูธรรมสารรักษา (พริ้ง) วัดดอนบุบผา อ. ศรีประจันต์ สุพรรณบุรี, หลวงพ่อใหม่ วัดเขาทะโมน เพชรบุรี, พระวิสุทธิรังษี (ปลี่ยน) วัดใต้ กาญจนบุรี ฯลฯ

เจ้าคุณธรรมถาวร ได้อาพาธด้วยโรคชรา กระเสาะกระแสะเรื่อย ๆ มา ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๖ ครั้งถึงวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๗ อาการกำเริบถึงขีดสุด เหลือความสามารถที่แพทย์จะเยียวยาได้ ได้ถึงมรณภาพโดยอาการสงบเมื่อเวลา ๒๑ น. เศษ คำนวณอายุได้ ๙๒ โดยปี พรรษา ๗๐ พรรษา

ท่านได้เป็นพระราชาคณะที่พระธรรมถาวร แปลว่า มั่นคงอยู่ในธรรมะ เป็นตำแหน่งที่เหมาะสมกับท่านอย่างยิ่ง ด้วยท่านเป็นพระเถะรที่สมบูรณ์ด้วยเถรสมบัติ มั่นคงอยู่ในพรหมจรรย์ เนกขัมมปฏิบัติ จริยาวัตรน่าเลื่อมใส ตั้งอยู่ในสมณสังวร เจรจาไพเรา สุภาพ สงบเสงี่ยม เป็นกันเองแก่คนทั่วไป เคร่งครัดต่อระเบียบแบบแผน ธรรมวินัย อบรมสั่งสอนให้คนชั่วกลับตัวเป็นคนดีมีตัวอย่างเป็นอันมาก วันหนึ่ง ๆ ท่านจะต้องนั่งทางวิปัสสนาธุระไม่น้อยกว่า ๓ ชั่วโมง เป็นผู้ไม่ประมาท จึงทำให้มีอายุยืนยาวถึง ๙๒ ปี จัดว่าสมบูรณ์ด้วยคุณวุฒิ วัยวุฒิ ควรแกการยกย่อสรรเสริญ แม้จะมรณภาพไปนานแล้วก็ตามก็ยังเป็นที่กล่าวขวัญตลอดมาจนทุกวันนี้

ในรูปภาพเด็กชายถือพัดด้านซ้ายของสมเด็จโตตามรูปถ่ายนั้น มีคนบอกว่าเด็นชายคนนั้นแหละคือ เจ้าคุณธรรมถาวร (ช่วง) จะเท็จจริงประการใด ผู้เขียนไม่อาจยืนยันได้
อันคำว่ายืนยันนี้เป็นคำพูดที่เป็นปัญหาที่น่าคิดว่า ถ้ายันในที่แข็งก็ยันอยู่ ถ้ายันในที่เหลว เห็นจะยันไม่ไหวแน่ ที่เขียนมาเพื่อเป็นแนวทางว่าที่เขาบอกเราว่ายืนยัน หมายความว่ายันที่แข็งหรือเหลวกันแน่ ประเดี๋ยวจะไปพลาดท่าเขานะ

#คาถามหานิยมที่ท่านเจ้าคุณธรรมถาวร (ช่วง) ใช้เป็นประจำท่องว่า
นาสังสิโม สังสิโมนา
ถ้าเขาไม่มา เราต้องไปหาเขาเอง
คาถาบทนี้ไช้ได้ผลดีจริง ๆ จะมัวรออยู่ก็คงไม่ได้พบกัน

ขอบคุณที่มา: บทความเรื่อง พระธรรมถาวร (ช่วง จันทโชติ)
โดย: เภา ศกุนตะสุต
หนังสือพระเครื่องปริทัศน์
ฉบับที่ ๑๕ หน้า ๗-๑๐

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: