1722.เหรียญพระเจ้าอู่ทอง วัดเขาพระศรีสรรเพชญาราม ปี 2513 ของดีที่ถูกลืม…

เหรียญพระเจ้าอู่ทอง วัดเขาพระฯ และวัตถุมงคลชุดปี 2513 วัตถุมงคลยอดประสบการณ์ ของดีที่กำลังจะถูกลืม
ประวัติการสร้าง และพิธีพุทธาภิเสกวัตถุมงคลชุดนี้ น่าสนใจมาก แต่สมัยนั้นไม่ได้มีการจดบันทึกไว้อย่างละเอียด และขาดการเผยแผ่ทำให้คนรู้จักน้อย ทำให้คนมองข้ามวัตถุมงคลชุดนี้ไปอย่างน่าเสียดาย
วัดเขาพระศรีสรรเพชญาราม ตั้งอยู่ที่ หมู่ 5 ต.อู่ทอง อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี เดิมชื่อว่า “วัดเขาพระ” เพราะมีพระพุทธไสยาสน์ ประดิษฐานอยู่ในถ้ำเชิงไหล่เขา ชาวบ้านจึงพากันเรียกจนติดปากว่า วัดเขาพระ จนในปี 2509 เจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราช “ปุ่น ปุณณสิริ” องค์ที่ 17 วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม สมัยเป็นสมเด็จพระวันรัต ได้เสด็จมาวางศิลาฤกษ์ศาลาการเปรียญ ทรงดิริว่าชื่อวัดเขาพระนี้ ซ้ำกับวัดเขาพระที่อำเภอเดิมบางนางบวช ทรงปรึกษากับ นาวาอากาศเอกแย้ม ประภัสทอง จึงตกลงให้ต่อเติมชื่อเดิมออกไปว่า “วัดเขาพระศรีสรรเพชญาราม” มาจนถึงทุกวันนี้ หลักฐานเดิม วัดเขาพระศรีสรรเพชญารามนี้ เป็นวัดเก่าแก่ สัณนิษฐานว่ามีมาแต่สมัยทวารวดี ก่อนที่เมืองอู่ทอง เพราะมีวัตถุโบราณสถานอยู่หลายอย่าง อาทิเช่น พระพุทธรูปปางต่างๆ มีเทวรูปจักรนารายณ์เนื้อหิน เจดีย์หมายเลข 9 สมัยทวารวดี เจดีย์สมัยอู่ทองบนยอดเขา มีพระสังกัจจายนะ แกะสลักด้วยศิลา (ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติอู่ทอง) นอกจากนี้ยังมีพระเครื่อง พระถ้ำเสือ พระพุทธรูป รูปฤาษี เป็นแบบพิมพ์สมัยทวารวดี ส่วนมากจะชำรุด เหลือแต่เศียรบ้าง เหลือแต่องค์พระบ้าง ปะปนอยู่กับเศษอิฐเศษดิน

เดิมทีวัดเขาพระสมัยก่อน เป็นวัดร้างไม่มีพระสงฆ์อยู่จำพรรษา บริเวณรอบๆก็มีสภาพเป็นป่ารกชัฏ จนกระทั่งในปี 2464 พระครูสัทธานุสารี (เปี้ยน) วัดโพธาราม เจ้าคณะอำเภออู่ทององค์แรก ได้นำพระสงฆ์มาจำพรรษา และซ่อมแซมพระพุทธไสยาสน์ จนปี 2465 จึงสำเร็จ และได้ชักชวนชาวบ้านมาร่วมบำเพ็ญกุศล สรงน้ำและปิดทองพระพุทธไสยาสน์ในวันเทศกาลสงกรานต์เป็นประจำทุกปี ก่อนถึงวันมีงานเทศกาลสรงน้ำและปิดทองพระพุทธไสยาสน์ เจ้าคณะอำเภอจะจุดพลุก่อนวันไหว้ 3 นัด ชาวบ้านได้ยินเสียงก็จะรู้ทันทีว่าถึงวันไหว้พระอีกแล้ว ชาวบ้านและพระสงฆ์ที่อยู่วัดใกล้เคียง จึงมาพร้อมกัน มีการถวายภัตตาหารเพล สรงน้ำปิดทองพระพุทธไสยาสน์ ขอพรกันพอสมควร เสร็จแล้วก็มีการฟ้อนรำทำเพลงเล่นลูกช่วงพวงมาลัย รำแคน ตามประเพณีโบราณพอสมควร ก็พากันแยกย้ายกลับบ้าน

หลังจากพระครูสัทธานุสารี (เปี้ยน) วัดโพธาราม มรณะภาพลงเจ้าคณะอำเภออู่ทองท่านต่อมาคือ พระครูวินยานุโยค (สมบุญ) วัดยางยี่แสก็ได้มาช่วยพัฒนาอีกต่อมาเรื่อยๆ ในปี 2481ขุนสุพรรณธานี นายอำเภอจระเข้สามพัน ได้เข้ามาอุปถัมภ์วัดนี้ จากนั้นทางการ ก็ได้ย้ายที่ทำการอำเภอมาอยู่ที่อำเภออู่ทอง ท่านได้มาตรวจสอบบริเวณวัด พบว่ามีวัตถุโบราณอยู่หลายอย่าง นอกจากนี้ยังมีประเพณีสรงน้ำและปิดทองพระพุทธไสยาสน์เป็นประจำ จึงส่งเสริมให้มีการจัดงานประจำปีเป็นปีละ 2 ครั้งคือกลางเดือน 5 ครั้งหนึ่ง (ช่วงสงกรานต์) และกลางเดือน 12 (งานลอยกระทง) ในปี 2486 ได้ขอแรงกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และชาวบ้านในตำบลอู่ทอง ช่วยกันถางป่า ตัดทางแยกจากทางหลวงแผ่นดินตั้งแต่ตลาดอู่ทองมายังวัดเขาพระ ส่วนเขตบริเวณวัด ปี 2493 ได้มีการเปิดสอนพระปริยัติธรรมขึ้นเป็นครั้งแรก มีพระสอบนักธรรมโทได้ 1 รูป ชื่อพระสุดใจ และมีสามเณรสอบนักธรรมตรีได้ 1 รูป คือสามเณรสะอิ้ง (ปัจจุบันคือ พระเทพสุวรรณโมลี เจ้าอาวาสวัดป่าเลไลย์ เจ้าคณะจังหวัดสุพรรณบุรี) ปี 2495 มีพระมหาสำรวย จากวัดสังโฆ มาจำพรรษา อยู่ด้วยพรรษานึง ได้เปิดสอนกัมมัฏฐานอยู่ระยะหนึ่ง และหลวงพ่อครื้น วัดสังโฆสิตาราม ได้เคยเอาโขนมาแสดงในงานประจำปี 3-4 ปี ปี 2499 ท่านเจ้าคุณพระวิกรมมุนี เจ้าคณะจังหวัดสุพรรณบุรี ในสมัยนั้น ได้มาจัดสร้างสำนักวิปัสสนา เป็นสาขาของวัดปราสาททอง มีพระภิกษุสามเณร และประชาชน มาเรียนวิปัสสนากันเป็นจะนวนมาก ปี 2500 พระภิกษุไพรัตน์ เขมจาโร (พระครูวรบรรพตพิทักษ์ เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน) ขณะนั้นจำพรรษาอยู่ที่วัดปทุมสราวาส ได้รับอาราธนา จากพระครูพินิตสุวรรณภูมิ วัดโบสถ์วิทยาคาร ให้มาสวดปาฏิโมกข์ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่พระที่เข้าวิปัสสนากรรมมัฏฐาน และในพรรษานี้ ทางคณะสงฆ์ ได้แต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดนี้ จนถึงปัจจุบัน

เมื่อปี พ.ศ. 2513 ทางวัดได้มีการสร้างวัตถุมงคล เพื่อจำหน่าย จ่ายแจกให้ประชาชน เพื่อนำเงินสมทบทุน เททองหล่อรูปเหมือนอดีตเจ้าคณะอำเภออู่ทอง 2 องค์ คือ พระครูสัทธานุสารี (เปี้ยน) วัดโพธาราม และ พระครูวินยานุโยค (สมบุญ) วัดยางยี่แส ที่ประดิษฐานที่หน้าทางขึ้นเขา พิธีครั้งนั้นถือว่าเป็นพิธีที่ยิ่งใหญ่มากๆ มีเจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี) วัดมกุฎกษัตริยาราม ทรงเป็นประธานในพิธีจุดเทียนไชย พุทธาภิเสกวัตถุมงคล และเกจิคณาจารย์จังหวัดสุพรรณบุรีร่วมพุทธาภิเสกมากมาย แต่น่าเสียดายทางวัดไม่ได้มีการจดบันทึกไว้ แต่เคยมีผู้สอบถามพระครูวรบรรพตพิทักษ์ เจ้าอาวาส ท่านกล่าวไว้ว่ามีเกจิสายสุพรรณบุรีมาร่วมมากมาย อาทิหลวงพ่อสงัด วัดดอนหอคอย หลวงพ่อเพียว วัดบ้านขาม หลวงพ่อถิร วัดป่าเลไลย์ หลวงพ่อมุ่ย วัดดอนไร่ และอีกเกจิอีกหลายๆท่าน ซึ่งวัตถุมงคลที่ทางวัดสร้างนั้นก็มี เหรียญพระเจ้าอู่ทอง เหรียญหลวงพ่อสังฆ์ รูปไข่ รูปหล่อพระกริ่งอู่ทอง รูปถ่ายพระนอนหลังตระกรุดสามกษัตริย์ แหวน และผ้ายันต์

ประสบการณ์ของวัตถุมงคลชุดนี้มีผู้พบเห็นและพบเจอกันอย่างมาก ทั้งคนในพื้นที่และคนที่อยู่ที่อื่นก็เคยประสบพบเจอ ต่างเป็นที่กล่าวขานกันว่ามีประสบการณ์ในเรื่องแคล้วคลาดปลอดภัยเป็นอย่างมาก แต่จะขอเล่าไว้ให้ฟังพอสังเขปนิดหน่อยครับ
มีวัยรุ่นที่บริเวณหน้าวัดเขาพระฯ ได้มีเรื่องชกต่อยกัน แล้วบาดเจ็บเกิดอาการฟกช้ำมาก จึงไปหาหมอที่โรงพญาบาลปิยะราษฏ์ หมอก็ทำการรักษาให้โดยการฉีดยา แต่ปรากฏว่าไม่สามารถแทงเข็มเข้าเนื้อได้ เป็นอยู่ 2-3 ครั้งหมอก็เลยถามว่าได้ใส่พระหรือเปล่า ให้ถอดออก พอถอดออกหมอก็สามารถแทงเข็มฉีดยาได้อย่างปกติ ในคอวัยรุ่นคนนั้นมีเพียงเหรียญพระเจ้าอู่ทองปี 2513 เพียงเหรียญเดียวเท่านั้น
มีอีกคราวนึงมีคนจังหวัดกาญจนบุรีมาที่แถวละแวกวัดเขาพระฯ เพื่อมาติดต่อหาเช่าเหรียญพระเจ้าอู่ทองของทางวัดเขาพระฯ จากชาวบ้าน เมื่อสอบถามสาเหตุ เขาก็เล่าให้ฟังว่ามีเพื่อนเขาห้อยเหรียญพระเจ้าอู่ทองปี 2513 แล้วเกิดอุบัติเหตุรถคว่ำแต่ไม่ได้รับบาดเจ็บเลย แม้แต่น้อย จึงทำให้พากันมาหาเช่ากันบ้าง

แอพเกจิ แอพรวมเรื่องราวประสบการณ์จริง เกี่ยวกับ พุทธคุณ ไสยศาสตร์ วิชาอาคม

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: