1699.พ่อท่านสว่าง สุนธโร วัดศรีสุคนธาวาส จ.พัทลุง ศิษย์อาจารย์ปาล วัดเขาอ้อ

ตอน รู้อะไรไม่สู้รู้ตัวเอง
พ่อท่านสอนว่าคนเราจะเป็นที่รักของคนทั่วไปนั้น จะต้องรู้จักการอ้อนน้อมถ่อมตน ท่านว่า
”อภิวาทนสีลีสฺส นิจฺจํ วุฑฺฒาปจายิโน จตฺตาโร ธมฺมาวฑฺฒนฺติ อายุ วณฺโณ สุขํ พลํ”
ผู้กราบไหว้อ้อนน้อมต่อผู้ใหญ่ ต่อผู้ที่เจริญ จะเจริญด้วยคุณธรรม ๔ ประการ คือ อายุ ชื่อเสียง ความสุขและกำลัง…
“ตั้งแต่จำความได้ เราก็รู้สึกชอบคาถาอาคมแล้ว จากการได้ฟัง ได้เห็นสิ่งที่ตาหลวงหรือพี่หลวงทำให้ดู ไม่ว่าจะเป็นการเสกของ กันของ และออกช่วยเหลือคน ทำให้เราคิดว่าถ้าเรามีโอกาสเราก็จะไม่พลาดและขอเรียนวิชาอาคม”

“ไม่ได้คาดหวังว่าจะต้องเรียนกับอาจารย์ที่ไหน เอาแค่พ่อกับพี่ก็มีให้เราเรียนไม่รู้จะหมดสิ้นเมื่อไร ซึ่งก่อนเรียนทุกครั้งตาหลวงจะสอนให้กราบไว้ตำรับตำรา ครูบาอาจารย์ก่อน ท่านบอกว่ายิ่งไหว้ ยิ่งเคารพ ยิ่งได้ดี มีแต่ความเจริญ”

ดังนั้นเส้นทางความฝันที่ได้มาในทางนี้ของท่าน จึงไม่ได้มาด้วยความสงสารหรือความเห็นใจ เพราะท่านว่าความเห็นใจ ความสงสาร โดยที่ไม่ลงทุนหรือออกแรงกระทำ ไม่มีผลต่อศาสตร์ลึกลับแบบนี้ หากแต่การปฏิบัติและฝึกฝนต่างหากที่จะเป็นการสร้างโอกาสสานฝันให้กับตนเอง
“พอเรารู้ว่าจะได้เรียน รู้สึกดีใจมากเพราะต่อไปนี้มีอาวุธติดตัวแล้ว ไม่ต้องกลัวอันตรายอะไร ทำให้มีความคิดว่าหากเรียนถึงขั้นใช้งานได้จริง เราอยากจะถ่ายทอดวิชาความรู้ อยากจะเอามาใช้ช่วยเหลือคน”

ครับ….ห่างจากถนนหลวงบริเวณสามแยกบ้านหัสคุณไม่ไกลนัก

ปากทางเข้าวัดกว้างประมาณ ๕ เมตร มีป้ายขนาดไม่ใหญ่มากบอกชื่อ “วัดศรีสุคนธาวาส (หัสคุณ)” ประมาณ ๑๐๐ เมตรจากป้ายชื่อวัด จะเข้าสู่เขตของวัด

เล่ากันว่าวัดแห่งนี้ในอดีตได้มีพระเกจิอาจารย์องค์สำคัญของจังหวัดตรัง คือ “พ่อท่านหมุน วัดควนขัน” ได้เข้ามาจำพรรษาในบั้นปลายของชีวิตท่าน

ชาวบ้านแถววัดบอกกับพวกเราว่าหลังจากสิ้นพ่อท่านหมุน วัดศรีสุคนธาวาสตกอยู่ในสภาพซบเซา ก่อนจะกลับมามีสีสันและมีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้ง จากฝีมือของพ่อท่าน เขาว่าพ่อท่านเป็นพระที่เงียบๆ และค่อนข้างเก็บตัว แต่ทั้งธรรมะและอาคม ว่ากันว่าคมกริบราวมีดโกน

บริเวณด้านหน้ากุฏิหลังแรกของวัด พวกเราเห็นพระภิกษุสูงวัย รูปร่างสูง ผิวคล้ำ กำลังเดินออกจากกุฏิ สายฝนปรอยยามเช้าตรู่สร้างลวดลายเป็นจุดๆ บนจีวรผืนเก่าที่ท่านใช้ห่ม ตามธรรมดาแล้วถ้าเป็นเราๆ ท่านๆ คงจะต้องหลบเข้าใต้ชายคา แต่พระภิกษุองค์นี้กลับไม่สนใจ พวกเราเห็นท่านทอดสายตามองออกไปข้างหน้า ก่อนที่จะคว้าไม้กวาดก้มหน้าก้มตากวาดลานวัด เหมือนเช่นที่เคยปฏิบัติอยู่ทุกวัน

พี่อ้วน (คุณมนูญ เตโช) เพื่อนรุ่นพี่บอกพวกเราว่า นั่นแหละ “พ่อท่านสว่าง สุนธโร” เจ้าอาวาสวัดศรีสุคนธาวาส (หัสคุณ) ตำบลตะแพน อำเภอศรีบรรพต จังหวัดพัทลุง น้องชายแท้ๆ ของ “พระครูสุเวชโกศล” (พ่อท่านแปลก ปุสฺสเทโว) อดีตพระเกจิอาจารย์เรืองอาคม แห่งวัดปากปรน จังหวัดตรัง

พี่อ้วนบอกว่า นอกจากพ่อท่านสว่างจะมีหน้าตาที่ละม้ายคล้ายคลึงกับพ่อท่านแปลกแล้ว สิ่งที่เหมือนอย่างชัดเจนคือพ่อท่านสว่าง เป็นพระที่มีวิชาอาคมขลัง ถือสันโดษและมีพลังจิตที่กล้าแข็ง แกเล่าว่าเคยมีทหารช่างในเขต ๓ จังหวัดชายแดนมาขอตะกรุดจากพ่อท่านสว่างและไปมีประสบการณ์โดนยิงแต่ไม่เข้า

เรื่องนี้เป็นที่ฮือฮาในหมู่ทหารช่าง ทำให้ในปีนั้น (๒๕๕๖) พ่อท่านสว่างต้องนั่งเขียนตะกรุดดอกเล็กๆ รวมแล้วได้ประมาณ ๓๐,๐๐๐ ดอก เพื่อเจริญศรัทธาแก่บรรดาทหารช่างที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้

โดยส่วนตัวแล้วผมไม่เคยเจอพ่อท่านสว่างมาก่อนแล้ว แต่จำได้ว่าเมื่อครั้งไปกราบนมัสการพ่อท่านแปลก ที่วัดปากปรน ได้ทราบว่าพ่อท่านแปลกยังมีน้องชายอีก ๒ คน ที่มีความสามารถทางเวทย์มนต์คาถา เพราะทุกคนต่างมีพื้นฐานได้รับการถ่ายทอดวิชาอาคมมาจากบิดาพ่อของท่านคือ “ตาหลวงปาน” ซึ่งในตอนนั้นพวกเราก็ไม่ได้คิดอะไรครับ จ้องแต่จะให้ท่านเสกพระ บ้างก็จะให้ท่านเขียนตะกรุด เรื่องราวในครั้งนั้นจบลงแบบไม่ต้องคิดอะไรกันมาก จนเมื่อพ่อท่านแปลก มรณภาพนั่นแหละครับ ความทรงจำของพวกเราจึงได้ถวิลหาทายาทตามที่ได้เคยรับฟัง

“พระครูสุเวชโกศล” (พ่อท่านแปลก ปุสฺสเทโว)

จะว่าไปแล้ววิชาที่พ่อท่านแปลกสำเร็จและทำได้ชัดเจนจะมีหลายด้านครับ ไม่ว่าจะเป็นคงกระพัน หนังเหนียว ไล่ไปจนถึงลงไปสรงน้ำในกา เรียกได้ว่าเป็นพระเกจิอาจารย์ที่ค่อนข้างครบเครื่องเรื่องความขลัง แต่ที่โดดเด่นแบบฉีกแนวออกมาจากพระเกจิอาจารย์ร่วมสมัยสายเขาอ้อในยุคนั้นเลย คงเรื่องของการขับไล่คุณไสย ไล่ของ ไล่ผี ปราบผี เชิญวิญญาณ ฯลฯ ซึ่งในส่วนนี้เบื้องต้นเลยคงต้องยกประโยชน์ให้กับ “ตาหลวงปาน” พ่อของท่านที่เป็นปฐมผู้ถ่ายทอดวิชาและประสบการณ์จริงให้กับท่าน
ตาหลวงปาน แห่งวัดขันประชาสรรค์ ท่านเป็นลูกศิษย์ของ “พระครูสังฆวิจารณ์ฉัททันต์บรรพต” หรือที่เรารู้จักกันในนาม “พระอาจารย์ทองเฒ่า” อดีตเจ้าอาวาสวัดเขาอ้อ เดิมทีก่อนจะบวชท่านเคยเป็นหมอพื้นบ้านมาก่อน เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าลมเพลมพัด แข้งขากระดูกหัก เมื่อตกมาถึงมือหมอปานเป็นหายขาดทุกราย แต่คงเป็นด้วยบริบทของพื้นที่ซึ่งมีทั้งพระและฆราวาสที่เก่งและมีชื่อเสียงมากหน้าหลายตา ทำให้กิติคุณของท่านไม่ได้กระจายขนาดเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางสักเท่าใดนัก

เพียงแต่ ณ วันนี้ เราปฏิเสธไม่ได้ครับว่า ด้วยพื้นฐานความเข้มแข็งในวิชาอาคมและการถ่ายทอดบางวิชาที่จำเพราะเจาะจงให้กับบรรดาลูกหลานเท่านั้น ได้ก่อให้เกิดพระเกจิอาจารย์ที่มีฝีมือขึ้นมาเป็นสงเคราะห์โลกหลายองค์ อาทิเช่น “พระครูสุเวชโกศล” (พ่อท่านแปลก ปุสฺสเทโว) วัดปากปรน จังหวัดตรัง,”พระครูอาคมสิทธิเวช” (พ่อท่านเอียด ฐานคฺโค) วัดขันประชาสรรค์ จังหวัดพัทลุง,”พ่อท่านสว่าง สุนทโร” วัดศรีสุคนธาวาส (หัสคุณ) จังหวัดพัทลุง เป็นต้นครับ
พ่อท่านสว่าง เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๔๘๐ ณ บ้านร่มเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง บิดา-มารดาของท่านชื่อ “นายปาน-นางคุ้ม ชูเท้า” (นายปาน ชูเท้า ต่อมาได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุและมรณภาพ ณ วัดขันประชาสรรค์) ครอบครัวของท่านประกอบอาชีพเกษตรกรรมและรับจ้างทั่วไป

ท่านเล่าว่าด้วยความที่บิดาของท่านเป็นหมอพื้นบ้านที่มีความเชี่ยวชาญในไสยศาสตร์ ทำให้ตัวท่าน,พี่ชาย (พ่อท่านแปลก)และน้องชาย (นายสวัสดิ์ ชูเท้า) เกิดการซึมซับและได้เรียนรู้วิชาอาคมมาจากบิดาตั้งแต่เยาว์วัยครับ อาจกล่าวได้ว่าบุตรชายทั้งสามคนของนายปาน-นางคุ้ม ล้วนแล้วแต่มีความสามารถพื้นฐานในวิชาอาคมกันทุกคนครับ ว่ากันว่าการขับไล่ภูตผีปีศาจ คุณไสย แก้ไขดวงชะตา ฯลฯ จอมขมังเวทย์รุ่นจิ๋วทั้ง ๓ ท่านนี้ล้วนมีความชำนาญราวกับลมหายใจเข้าออก

ท่านเล่าว่าในสมัยนั้นนอกจากการเรียนรู้และฝึกปฏิบัติจนเกิดเป็นความชำนาญแล้ว การเพาะบ่มจิตสำนึกที่ดีจากผู้เป็นบิดาก็มีส่วนสำคัญไม่น้อยเลยในความเป็นท่านในทุกวันนี้ครับ

“ครอบครัวของเราไม่ได้ร่ำรวยอะไร ตอนเด็กๆ ค่อนข้างลำบาก แต่ตาหลวงสอนให้ลูกๆ อดทน แกว่าลำบากก็ต้องอดทน สอนไม่ให้โลภ ไม่ให้หลง”

ภายใต้ใบหน้าที่เปื้อนรอยยิ้ม พ่อท่านสว่างค่อยๆ ฟื้นความหลังให้พวกเราฟังว่า ชีวิตในวัยเด็กของท่านไม่ค่อยจะสบายนัก ทั้งนี้ส่วนหนึ่งท่านมองว่าคงมาจากสภาพของสังคมที่ต้องปากกัดตีนถีบ

ท่านว่าในเวลานั้นศัตรูตัวสำคัญของครอบครัวคือความยากจน ดังนั้นในแต่ละวันหลังจากเลิกเรียนหนังสือท่านจึงได้ออกช่วยมารดาเก็บผักมาทำอาหารและช่วยบิดาจัดทำเครื่องยา เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ไปตามประสา

ท่านว่าสิ่งต่างๆ ที่ผ่านมานี่แหละ ที่ช่วยเพาะบ่มให้ท่านมีความแข็งแกร่งทั้งกายและใจในทุกวันนี้
“ตาหลวงย้ำเสมอว่าให้พวกเรายอมรับในสิ่งเป็นอยู่โดยปราศจากทิฎฐิมานะ เพราะสิ่งนี้จะทำให้เรามีความพอใจและสามารถเข้าใจตัวเองมากขึ้น”

ท่านเล่าว่าชีวิตในวัยหนุ่มของท่านก็ไม่ได้แตกต่างไปจากชีวิตของคนธรรมดาทั่วไปคือทำงานและครองเรือน เพียงแต่ขึ้นชื่อว่าหนังชีวิตแล้วมักจะไม่ได้โรยด้วยดอกไม้เหมือนในนิยาย

ซึ่งท่านเองก็ยอมรับว่าจากสภาพของสังคมและแรงบีบคั้นในพื้นที่สีแดง ทำให้ท่านถูกกลืนกลายไปในแนวความคิดเอียงซ้ายแบบสุดโต่งจนถูกคาดโทษจากทางการ แต่ด้วยความที่ตัวท่านเป็นคนจริงที่ไม่ยอมแพ้ ประมาณว่าถูกก็คือถูก ผิดคือผิด ท่านจึงได้ตัดสินใจเดินหน้าพาพรรคพวกร่วมอุดมคติเข้าสารภาพถึงความเข้าใจผิดในแนวความคิดจนทางการยอมรับ
“มันเป็นเรื่องของความดื้อความซนตามประสาวัยรุ่น เป็นเรื่องของความหลงตามธรรมชาติของคนห้าว เพียงแต่เราเป็นคนที่ดื้อที่หลงอย่างมีกฎเกณฑ์ มีหลักในการหลงผิด คือจะดื้อจะหลงอย่างไรก็แล้วแต่ จะต้องไม่ทำให้พ่อแม่และครอบครัวต้องเดือดร้อน”

ท่านหัวเราะก่อนเล่าถึงวีรกรรมในช่วงนั้นว่า

“เราไม่เคยใช้อำนาจหรืออาวุธที่มีอยู่ในขณะนั้นทำร้ายใคร ไม่เคยไปหาเรื่อง ไม่เคยไปทำให้ใครต้องลำบาก ที่มีก็แค่ไว้ถือไว้หนุนหัวเวลานอน ตอนแรกๆ ที่สนุกกับประสบการณ์ใหม่ๆ สนุกกับหมู่คณะใหม่ แต่พออยู่ไปนานเข้าๆ ก็มีความรู้สึกว่า ที่ตัวเองกระทำอยู่นี้เป็นการทำเพื่ออะไร”
ท่านเล่าว่าตอนกลับมาอยู่พร้อมหน้ากับครอบครัวอีกครั้ง มีอยู่วันหนึ่งท่านได้ออกไปทำงานตามปกติ ท่านได้เห็นต้นไม้ที่เคยอาศัยร่มเงา เห็นหนองน้ำที่เคยเหวี่ยงแหหาปลา เห็นภูเขาที่ตัวเองเคยเดินข้ามไปข้ามมา ภาพเก่าๆ ในอดีตที่เข้ามาสัมผัสหัวใจของท่านในตอนนั้น ทำให้ท่านตั้งคำถามในใจกับตัวเองว่า ตอนที่ท่านอยู่ป่าและลงมาพื้นที่ท่านก็เห็นสิ่งที่ได้เห็นในวันนี้ตลอด แต่เพราะเหตุใดจึงไม่มีความสดชื่นเท่ากับการได้มองเห็นในครั้งนี้

ท่านเล่าว่าจากความรู้สึกดังกล่าวทำให้ท่านหมดความคิดว่าอยากจะเป็นอยากจะมีไปเพื่ออะไร ท่านจึงได้ตัดสินใจออกเดินเท้าไปหาพ่อท่านแปลก ซึ่งในทันทีที่ไปถึงท่านก็พบว่าพ่อท่านแปลกได้นั่งรอท่านอยู่ภายในโบสถ์ พร้อมกับพูดคุยและซักถามถึงความในใจและความต้องการของท่านได้อย่างหมดเปลือก
“พี่หลวงแกแน่มาตั้งแต่เด็กๆ ถ้าแกจะเอาจริง ไม่มีใครหนีแกพ้น จะหลบจะหลีกแกจับได้หมด ตอนอยู่ด้วยกันไม่เห็นเก่งขนาดนี้ ได้ถามแกว่าทำไมถึงรู้ แกว่านี่คือไสยศาสตร์ มีคนมาหาต้องรู้แล้วว่าจะมาทำอะไร เพราะถ้าไม่รู้ก่อนเดี๋ยวจะพลาดและไปไม่ถูก”

จากความมหัศจรรย์ทางจิตของพ่อท่านแปลก ทำให้นายสว่างในขณะนั้นมีแรงบันดาลใจหันกลับมาทุ่มเทให้กับการเล่าเรียนวิชาอาคมอย่างหนักอีกครั้ง ท่านเล่าว่าทุกครั้งในยามว่างท่านก็จะตามไปคอยอุปฐากและเป็นลูกมือให้กับพ่อท่านแปลกในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ

ผลพลอยได้ที่เกิดขึ้นจากการติดตามพ่อท่านแปลกไปในเกือบจะทุกที่นี่เอง ทำให้ท่านได้มีโอกาสพบกับ “พระอาจารย์ปาล ปาลธัมโม” ยอดพระเกจิอาจารย์แห่งวัดเขาอ้อ ท่านจึงได้ถือเป็นโอกาสฝากตัวเป็นศิษย์ภายใต้การรับรองของพ่อท่านแปลก

“อาจารย์ปาล ท่านก็มีอะไรแปลกๆ เหมือนพี่หลวงนั่นแหละ”

ท่านหัวเราะเมื่อเห็นพวกเราหูผึ่ง ก่อนบอกว่าเรียนไม่นานหรอกแค่ข้ามคืน

“แค่ข้ามคืน”

พวกเราทวนคำ
“ใช่ เราเอาความรู้ เอาวิชาที่เรียนไปขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากท่าน อาจารย์ปาลท่านกระจ่างในเรื่องพวกนี้ เรียกว่ามีวิชาความรู้อยู่ในพุงมากมาย สุดท้ายท่านก็บอกว่าให้ไปศึกษาเอาจากพี่หลวงนั่นแหละ เพราะพอเอาเข้าจริงๆ แล้ว ได้ใช้กันแค่ไม่กี่วิชา”

“อย่างที่พี่หลวงแกเคยบอกว่าแกรู้ แกเห็นเพราะไสยศาสตร์ มันก็เป็นวิชาจริงๆ มีอยู่ในตำราเรียกว่าไฟสัญตา ที่แกได้มาจากในถ้ำ แต่เมื่อเราได้มาศึกษากับแกลึกลงไปอีก เราค่อนข้างมั่นใจว่า พี่หลวงไม่ได้รู้ด้วยตำรา แกรู้ด้วยฌาญสมาบัติ รู้ด้วยบารมีของแกเอง”

แล้วตอนนี้พ่อท่านรู้เห็นอะไรล่วงหน้าอย่างพ่อท่านแปลกหรือยังครับ?
“จะไปรู้อะไรของใคร ตัวเราเองให้รู้ตัวเองก่อนเถอะ รู้จักดีชั่ว รู้ว่าอะไรควรทำไม่ควรทำ เพราะการรู้จักตัวเองคือการยอมรับเพื่อเตรียมพร้อมจะพบกับความเปลี่ยนแปลง เห็นหลายคนแล้วท่องบ่นตำราจนแตกฉาน รู้ว่าอยู่บทไหน หน้าไหน แต่เอาเข้าจริงๆ แล้วกลับทำไม่ได้ เพราะอะไร? เพราะเขาไม่ได้เรียนรู้มันด้วยศรัทธา ศรัทธาไม่มีการบำเพ็ญเพียรย่อมไม่เกิด”

ศรัทธาไม่มีการบำเพ็ญเพียรย่อมไม่เกิด..

ฟังแล้วต้องฉุกคิดครับ เรื่องนี้ถือเป็นสิ่งสำคัญของการเรียนรู้จริงๆ อย่างที่มีครูบาอาจารย์ไสยศาสตร์หลายท่านเคยกล่าวไม่มีศรัทธาก็อย่าได้ปรารถนาที่จะเข้าถึง เพราะศรัทธาเป็นคำที่ยิ่งใหญ่ เป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้ผู้ที่สนใจศึกษาวิชาอาคมหลุดพ้นจากกรงขังของมิจฉาทิฎฐิและข้อสงสัยต่างๆ

ก็อย่างที่พ่อท่านสว่างกล่าวในเชิงหยอกล้อว่า วิชาไสยศาสตร์ไม่ใช่วิชาค้าขายจะได้มีการเจรจาต่อรองกลับไปกลับมา หากผู้ทำยังเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่งแล้วจะให้ผู้แขวนมาเชื่อมั่นเต็มร้อยได้อย่างไร

ท่านเล่าว่าไสยศาสตร์เป็นเรื่องที่แปลก ลองว่าทำได้ทำขึ้นเป็นต้องหลงเสน่ห์ติดกับดักกันทุกราย
“คือพอทำเป็นก็ไม่อยากเลิก เข้าข้างตัวเองว่าเห็นใจพวกที่เล่นหากันอยู่ ไม่ง่ายนะที่ใครจะทำของได้ขลังจริง แต่พี่หลวงแกก็ให้ข้อคิดว่าจะเรียนรู้แค่วิชาอย่างเดียวไม่ได้ ต้องทำความเข้าใจกับจุดดีจุดเสียของแต่ละวิชาด้วย”

“ซึ่งการทำความเข้าใจนี่แหละเป็นที่มาของการนำวิชาออกมาใช้ได้ยากขึ้น ยกตัวอย่างถ้าเรารู้ว่ามันไม่ดี ถึงเราทำได้ เราจะทำไหม เราทำแล้วคนอื่นจะเดือดร้อนไหม มันเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมากหากใช้ปัญญาพิจารณากันให้ถ่องแท้”

นอกจากการเข้าใจในกระบวนการความคิดแล้ว พ่อท่านสว่างยังตกผลึกกับเรื่องราวของชีวิตด้วยว่า การที่ท่านเคยมีอดีตที่โชกโชน ทำให้ท่านทะลุกำแพงแห่งความเห็นแก่ตัว ท่านว่าการใช้ชีวิตที่โชกโชนและการช่วยเหลือผู้ทุกข์ยากในลักษณะต่างๆ ทำให้ท่านมองเห็นสัจธรรมของชีวิตที่สุดท้ายแล้วก็หนีไม่พ้นการเวียนว่ายตายเกิด

จนเมื่อความพร้อมมาถึงคือครอบครัวของท่านก็พอมีความมั่นคงและไม่เดือดร้อน ท่านจึงได้ตัดสินใจหันหลังให้กับทางโลกและเข้าอุปสมบท ณ วัดถ้ำ ตำบลเขาปู่ อำเภอศรีบรรพต จังหวัดพัทลุง โดยมีพระครูประโชติวินัยคุณ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูพ่วง สุธมฺโม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ หลังอุปสมบทท่านได้จำพรรษา ณ วัดถ้ำ และเดินทางไปศึกษาวิชาเพิ่มเติมจากพ่อท่านแปลก จวบจนพ่อท่านแปลก มรณภาพลงเมื่อ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๕

ด้วยคุณธรรมและคุณงามความดีที่เพียรปฏิบัติ ทำให้ท่านได้รับแต่งตั้งให้มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดศรีสุคนธาวาส (หัสคุณ) อำเภอศรีบรรพต จังหวัดพัทลุง เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๖
“เหมือนมานั่งนับหนึ่งใหม่ เพราะวัดศรีสุคนธาวาสอยู่ในสภาพทรุดโทรม ต้องบูรณปฏิสังขรณ์กันอีกเยอะ แค่มองรอบๆ ก็รู้สึกเหนื่อยแล้ว ที่ว่าเหนื่อยก็เพราะเราจะต้องขยันและทำให้มากกว่าพระลูกวัดหลายเท่ามาก เคยท้อแต่ไม่เคยถอย คิดเสร็จก็มานั่งสวดมนต์ไหว้พระ พอจิตสงบก็มีพลังขึ้นมาใหม่”

ปัจจุบันในวัย ๘๐ ปี พ่อท่านสว่าง สุนทโร ยังมีสุขภาพที่แข็งแรงและความจำแจ่มใส ในทางธรรมท่านได้ปฏิบัติกิจของสงฆ์อย่างเคร่งครัดไม่ยอมขาด เช่น การสวดมนต์ไหว้พระ การพิจารณาปัจจเวกขณะทั้ง ๔ ฯลฯ ส่วนในทางโลกท่านได้ใช้วิชาความรู้ที่มีอยู่สงเคราะห์คนตามความสามารถ เช่นการรักษาโรคด้วยสมุนไพร การต่อกระดูก การขับไล่ภูตผีปีศาจและคุณไสยต่างๆ ฯลฯ
“คาถาอาคมเป็นสิ่งที่เรารัก เราชอบสนุกกับความละเอียดอ่อนของมัน ตอนเด็กๆ เคยฝันว่าจะเรียนมันให้หมดทั้งตำรา ตั้งใจไว้ว่าเมื่อเรียนจบแล้ว จะเอาไว้ช่วยเหลือคน ความสุขที่เกิดจากความใฝ่ฝันที่ทำได้นี่แหละ ทำให้เรามีพลัง มีแรงช่วยเหลือคน ชาวบ้านละแวกนี้ยังยากจนและลำบากนะ เจ็บไข้ได้ป่วยก็ได้วัดนี่แหละเป็นที่พึ่งพา เขามาหาเราแสดงว่าเขาต้องมั่นใจแล้วว่าเราจะต้องช่วยเขาได้”

พระอาทิตย์ใกล้ลับขอบฟ้าบ้านหัสคุณแล้ว แสดงว่าได้เวลาที่พระทุกองค์ในวัดจะต้องเตรียมตัวสวดมนต์ทำวัตรเย็น

พวกเรากราบลาท่านและเดินออกมาจากกุฏิ

พ่อท่านสว่างเดินออกมาส่ง

แม้จะเป็นเวลาใกล้ค่ำคืน แต่บรรยากาศโดยรอบยังชุ่มชื่นไปด้วยละอองฝน

ก่อนขึ้นรถท่านหยิบร่มที่ถือมาส่งให้ผมไว้สำหรับกางกันฝน ผมก้มลงกราบท่านอีกครั้งขอให้ท่านรักษาสุขภาพ

ท่านยิ้มก่อนกล่าวว่าสุดท้ายบั้นปลายของชีวิตท่านได้ฝากฝังและอุทิศไว้ในพระพุทธศาสนาแล้ว ดังนั้นการกระทำทุกสิ่งทุกอย่างของท่าน จึงเป็นเรื่องของการเสียสละ ถึงแม้บางเรื่องอาจจะนำความเดือนร้อน ความหม่นหมองมาใส่ตัว แต่ท่านว่าเพื่อให้วัดศรีสุคนธาวาส (หัสคุณ) แห่งนี้ได้มีความเจริญก้าวหน้าและชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ในกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาแล้ว ท่านยินดี….

เสียงหัวเราะและรอยยิ้มอย่างอารมณ์ดีของพ่อท่านสว่าง คงเป็นสิ่งยืนยันได้ว่า “ความหม่นหมอง” มิอาจเกาะกินเข้าไปในหัวใจที่ไม่ยอมแพ้และยินดีของท่านได้…สวัสดีครับ

ขอบคุณที่มาดีๆจาก oknation

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: