1669.ประวัติหลวงปู่ทองดำ ฐิตวณฺโณ วัดท่าทอง และรูปหล่อรุ่นแรก

ประวัติและกิตติคุณ (หลวงปู่ทองดำ ฐิตวณฺโณ)

ภูมิหลังชาติกำเนิด
เกิดเมื่อวันพุธ ขึ้น 4 ค่ำ เดือน 5 พุทธศักราช 2441 ณ.บ้านไซโรงโขน อ.ตะพานหิน จ.พิจิตร นายบุญนาค นางจ่าย เม่นพริ้ง ได้ให้กำเนิดบุตรคนที่ 4 เพศชาย(ในจำนวนพี่น้องชายหญิง 8 คน) บิดามารดาได้ตั้งชื่อ เด็กชายทองดำ เม่นพริ้ง

ขณะเด็กชายทองดำ อายุ 3 ขวบ บิดามารดาได้นำไปถวายเป็นบุตรบุญธรรมกับหลวงพ่อเงิน พุทธโชติ (วัดบางคลาน จ.พิจิตร) หลวงพ่อเงินเห็นครั้งแรกได้เอ่ยคำออกมา “ไอ้หนูเด็กน้อยคนนี้เป็นเทวดามาเกิดใครเลี้ยงก็ไม่ได้ มาเป็นลูกของเราเถิดนะ” หลวงพ่อเงินเอาผ้าผืนลงปูรองรับเด็กน้อยคนนี้ ทำพิธีรับลูก จากนั้นเด็กคนนี้ได้รับการเลี้ยงดูอุปถัมภ์ สั่งสอน อบรม วิชาความรู้ และสรรพวิชาต่าง ๆ โดยได้พักอาศัยกับหลวงพ่อ เมื่อหลวงพ่อเงินท่องบทสวดมนต์เด็กชายทองดำก็สามารถท่องได้จบเล่มในวันเดียว ชาวบ้านรู้ข่าวต่างแห่มาดูเป็นการใหญ่ว่าเด็กน้อยคนนี้มีหน้าตาอย่างไร

กระทั่งโตขึ้นบิดามารดามารับเด็กชายทองดำไปเล่าเรียนศึกษากับอาจารย์โต (เจ้าอาวาสวัดท่าทอง ต.วังกะพี้ จ.อุตรดิตถ์ในสมัยนั้น) วัยหนุ่มฉกรรจ์ นายทองดำได้ฝึกฝนและศึกษาศิลปะการต่อสู้แม่ไม้มวยไทยจนมีความชำนาญ จนได้เป็นนักมวยที่มีฝีมือดีคนหนึ่ง ซึ่งช่วงวัยหนุ่มนี้ทองดำได้เพื่อนคนหนึ่งชื่อ “เล็กย่งหลี”(ต้นตระกูลเล็กอุทัย)มีรูปร่างเล็กไปไหนมาไหนด้วยกันประจำ ได้ฝึกชกมวยด้วยกันมา หากออกชกมวยที่ไหนจะให้เล็กย่งหลีขึ้นไปเปรียบหาคู่ชก แต่ตอนเวลาชกนายทองดำจะเป็นผู้ชกแทน ก่อนชกนายทองดำจะบริกรรมคาถาที่ได้ร่ำเรียนมาโยมปู่จนรู้สึกตัวหนา(ของขึ้น)และนายทองดำก็สามารถชกมวยชนะแทบทุกครั้ง อายุครบเกณฑ์ทหาร ได้เข้ารับเป็นทหาร 2 ปี ปลดจากทหารประจำการแล้วจึงได้อุปสมบทสู่ร่มพระศาสนา

อุปสมบทเมื่ออายุ 22 ปี ณ. พระอุโบสถ วัดวังหมู ต.หาดกรวด อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ โดยมีพระครูวิเชียรปัญญามหามุนี (เรือง )เจ้าคณะจังหวัดอุตรดิตถ์เจ้าอาวาสวัดท่าถนน ต.ท่าอฐ อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ ในขณะนั้นเป็นองค์อุปัชฌาย์ เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2463
พระอาจารย์แส เจ้าอาวาสวัดวังหมู ต.หาดกรวด อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “ฐิตวัณโณ”

เมื่ออุปสมบทแล้ว ได้จำพรรษาอยู่ที่วัดท่าทอง 1 พรรษา ทางวัดท่าทอง ต.วังกะพี้ อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ ตำแหน่งเจ้าอาวาสว่างลง คณะศรัทธา วัดท่าทองได้ลงความเห็นพ้องกัน โดยได้ไปกราบนมัสการเจ้าคณะจังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อขออนุญาตจากเจ้าคณะจังหวัดอุตรดิตถ์ด้วยดี คณะศรัทธาให้”พระภิกษุทองดำ” เพื่อนิมนต์ให้ไปดำรงค์ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดท่าทอง

ซึ่งหลวงพ่อเองก็มีเจตนาอันบริสุทธิ์และจิตใจอันแน่วแน่ต่อพระพุทธศาสนาและเป็นโอกาสที่จะได้พัฒนาทำนุบำรุงเพื่อจรรโลงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นสมความตั้งใจ หลวงพ่อจึงรับกิจนิมนต์ครั้งนี้และย้ายมาดำรงค์ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดท่าทอง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2468เป็นต้นมา

การศึกษาพระปริยัติธรรม

การที่หลวงย้ายมาจากวัดท่าทองมาอยู่วัดท่าถนน ซึ่งเป็นวัดของพระอุปัชฌาย์ของท่านเป็นเจ้าอาวาสอยู่นั้น ด้วยความมุ่งมั่นที่จะศึกษาพระปริยัติธรรมอย่างจริงจัง เพื่อศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับพระธรรมวินัยให้ละเอียดและถ่องแท้ หลวงปู่ได้มีความขยันหมั่นเพียรตั้งใจศึกษาด้วยความวิริยะอุตสาหะภายในปีเดียวก็สอบได้นักธรรมตรี (พ.ศ.2466) ด้วยเหตุแห่งการศึกษาทางพระธรรมวินัยในสมัยนั้นยังไม่เจริญพอการศึกษามีเพียงชั้นนักธรรมตรีเท่านั้น ฉะนั้นการศึกษาของท่านต้องหยุดชะงักลง

ตำแหน่งการปกครองและสมณศักดิ์ที่ได้รับตั้งแต่ปี พ.ศ.2468

หลวงปู่มีตำแหน่งการปกครองคณะสงฆ์และสมณศักดิ์พัดยศดังนี้

– ปีพ.ศ.2468 อายุ 27 ปี พรรษา 5 ดำรงค์ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดท่าทอง
– ปี พ.ศ.2478 ได้รับสมณศักดิ์แต่งตั้งเป็นพระธรรมธรฐานานุกรมของพระครูวิเชียรปัญญา มหามุณีศรีอุตรดิตถ์ เจ้าคณะอุตรดิตถ์
– ปี พ.ศ.2482 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะเป็นเจ้าคณะตำบลหาดกรวด-วังกะพี้ อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์และในปีนั้นได้เลือนสมณศักดิ์แต่งตั้งเป็นพระปลัด
ฐานานุกรม ของพระครูธรรมสารโกวิทย์ (ยศ)เจ้าคณะแขวงเมืองอุตรดิตถ์
– ปี พ.ศ. ได้รับการแต่งตั้งเป็นสาธารณูปการ อ.เมืองอุตรดิตถ์
– ปี พ.ศ. 2487 ได้รับพระราชทานเป็นพระครูธรรมมาภรณ์ประสาท
– ปี พ.ศ.2497 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์
– ปี พ.ศ.2498 ได้รับการแต่งตั้งเป็นสาธารณูปการจังหวัดอุตรดิตถ์
– ปี พ.ศ.2504 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญนาม “พระนิมมานโกวิท”
– ปี พ.ศ.2510 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นคณะอำเภอเมืองอุตรดิตถ์
– ปี พ.ศ.2542 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงค์ ตำแหน่งที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จวบจนมรณภาพ

การศึกษาด้านเวทย์มนต์คาถาอาคม

ช่วงวัยเด็กหลวงปู่ได้ติดตามบิดาล่องเรือขายยาสูบระหว่างอุตรดิตถ์ จ.พิจิตร จ.นครสวรรค์ บิดามารดาได้ฝากเป็นเด็กวัด เรียนหนังสือกับหลวงพ่อเงิน พุทธโชติ วัดบางคลาน จ.พิจิตร คอยรับใช้ใกล้ชิด ท่านอนุญาติให้พักกุฎิเดียวกับท่าน หลวงพ่อเงินได้สอนสรรพวิชาอาคมไสยเวทย์ต่าง ๆ คาถาที่หลวงพ่อเงินสอนไว้นั้นที่สำคัญคือ “นะโมพุทธายะ” (พระเจ้าห้าพระองค์) ซึ่งต่อมาหลวงปู่ได้ใช้เป็นคาถาประจำตัวของท่านตลอดมา นอกจากนั้นหลวงปู่ยังได้ศึกษาวิชาอาคมกับโยมปู่ของท่าน ซึ่งเป็นวิชาอยู่ยงคงกระพัน เพื่อป้องกันตนเอง หลวงปู่ได้ใช้วิชานี้ปลุกเสกตัวเองก่อนจะขึ้นชกมวยทุกครั้ง โดยก่อนจะขึ้นชกมวยหลวงปู่จะบริกรรมคาถาจนรู้สึกว่าเนื้อเริ่มหนาขึ้น (ของขึ้น)จึงจะชกได้

เมื่อขณะหลวงปู่อุปสมบทแล้ว ได้ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดท่าถนน (วัดหลวงพ่อเพ็ชร)ซึ่งอยู่ในตัวเมืองอุตรดิตถ์ หลวงปู่ทราบว่าที่วัดกลางอยู่ห่างจากวัดท่าถนนทางทิศใต้ประมาณ 2 กโลเมตร มีพระภิกษุชราอยู่รูปหนึ่ง “หลวงพ่อทิม”ขาดการดูแลเอาใจใส่ หลวงปู่จึงได้ใช้เวลาว่างเดินทางจากวัดท่าถนนมาวัดกลางทุกวัน เพื่อปรนนิบัติรับใช้หลวงพ่อทิมด้วยจิตใจเมตตาและให้ความเคารพนับถือ โดยหลวงปู่ได้ปฎิบัติภารกิจเป็นประจำทุกวัน ได้แก่ ตักน้ำ ขึ้นมาจากท่าแม่น้ำน่าน นำมาใส่ตุ่มไว้ให้หลวงพ่อทิมได้สรง เก็บกวาดกุฎิ ชำระล้างภาชนะต่าง ๆ ประจำมิขาด โดยหลวงปู่มิได้หวังสิ่งค่าตอบแทนใดๆทั้งสิ้น แต่ทำไปเพราะจิตเมตตาแก่ภิกษุผู้สูงอายุโดยแท้ซึ่งจากการกระทำความดีของหลวงปู่ๆ ทำให้หลวงพ่อทิมซึ่งขณะนั้นไม่มีผู้ใดทราบความเป็นมาของท่าน หลวงพ่อทิม เป็นพระภิกษุเชี่ยวชาญมนต์คาถาทุกด้าน ซึ่งกิตติศัพท์ ชาวบ้านย่านเกาะบางโพและตำบลใกล้เคียงทราบคือ “ตะกรุดโทน”

ซึ่งหลวงพ่อปลุกเสกโดยดำลงน้ำจารอักขระบนแผ่นตะกรุดจนกว่าเสร็จ *น่าเสียดายวันหนึ่งมีมนุษย์ผู้เขลาด้อยปัญญา นำตะกรุดที่ท่านมอบไปผูกคอสุนัขและยิงสุนัข แต่ปาฎิหาริย์กระสุนด้านหมด

เมื่อหลวงพ่อทิมเห็นสุนัขวิ่งหลบใต้กุฎิจึงถอดออกจากคอสุนัข ท่านโกรธจึงประกาศงดให้เครื่องรางของขลังแก่ชาวบ้าน หลวงปู่เมื่อได้รับมอบวิชาและตำราจากหลวงพ่อทิมไปแล้ว ท่านหมั่นศึกษาภาวนาปฎิบัติ ทุกบท ทุกวรรคตอน จนสิ้นกระบวนความในตำรา จนชาวบ้านเกาะต่างกล่าวกันว่าหลวงพ่อทิมไปเกิดที่วัดท่าทอง

หลวงปู่ทองดำได้ใช้คาถาอาคมช่วยเหลือชาวบ้านตลอดมา ประพรมน้ำมนต์ให้แก่ชาวบ้านที่แวะเวียนมากราบนมัสการท่าน ซึ่งน้ำมนต์นี้หลวงปู่จะปลุกเสกทุกวัน ใส่โอ่งมังกรขนาดใหญ่ ภายในกุฎิของท่าน กิตติคุณความขลัง และศักดิสิทธิ์ของน้ำพุทธมนต์เป็นที่เล่าเล่าขานเมื่อครั้งยุทธภูมิเข้าค้อ

โดยมีผู้บังคับการจังหวัดทหารบกท่านหนึ่งซึ่งมีความเลื่อมใสเคารพ ศรัทธาในตัวท่านและมีความเชื่อถือในความเข้มขลังของน้ำพระพุทธมนต์ของท่านมาก ได้มาขอน้ำพระพุทธมนต์ ไปหนึ่งขวดแล้วนำไปใส่แทงค์น้ำดื่มสำหรับทหารที่ปฎิบัติการรบประจำการที่เขาค้อได้ดื่ม

ซึ่งท่านเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของน้ำพระพุทธมนต์ของหลวงปู่สามารถคุ้มครองป้องกันภัยให้แก่เหล่าทหารได้ และอีกสิ่งที่ชาวบ้านต้องมาคอยดูว่าท่านจะคายออกมาจากปากเมื่อไร สิ่งนั้นก็คือ “ชานหมาก”

เพราะเหตุว่าชานหมากของหลวงปู่ ชาวบ้านหลายคน ได้รับไปแล้วนำติดตัวไปด้วยเสมอ จะพบประสบการณ์ในด้านดี บางคนได้รับประสบการณ์ด้านอยู่ยงคงกระพัน บางคนแคล้วคลาด แต่ส่วนใหญ่ที่ได้รับประสบการณ์จากชานหมากของหลวงปู่ก็คือ เมตตามหานิยม และค้าขายดี

ซึ่งในขณะนั้นถึงแม้ว่าหลวงปู่จะเคี้ยวหมากทั้งวันแต่ไม่มีชานหมากติดกระติดโถนเลย และอีกสิ่งหนึ่งที่นิยมนำมาให้หลวงปู่ลงอักขระเลขยันต์และเป่าเสกก็คือ กล้วยสุก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นหญิงมีครรภ์ที่นำมาให้หลวงปู่ทำให้ แล้วนำไปรับประทานจะทำให้คลอดบุตรง่ายและเด็กเกิดมาจะแข็งแรงดีทุกคน

งานด้านพัฒนาและก่อสร้างศาสนสถาน

เมื่อมาดำรงค์ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดท่าทองท่านได้รีบดำเนินโครงการพัฒนาวัดท่าทองทันทีเพราะสภาพวัดท่าทองในขณะนั้นทรุดโทรมเต็มที่ ไม่มีเสนาสนะและถาวรวัตถุ คงเป็นวัดเล็กๆ เท่านั้น ตลอดเวลาที่หลวงปู่ได้มาดำรงค์ตำแหน่งเจ้าอาวาสปกครอง วัดท่าทองได้พัฒนาเจริญรุ่งเรืองผิดไปจากสภาพเดิมอย่างไม่อาจเปรียบเทียบได้

เริ่มต้นจากการขยายที่ดินของวัดซึ่งมีอยู่จำกัด งานก่อสร้างศาลาการเปรียญ โบสถ์ วิหาร กุฎิ โรงเรียนพระปริยัติธรรม ศาลาปฏิบัติธรรม กุฎิวิปัสสนากัมมัฎฐาน รั้วกำแพง เมรุเผาศพ และถาวรวัตถุอีกมากมายประกอบกับท่านเป็นผู้ที่มีความชำนาญในการออกแบบก่อสร้าง การอ่านแบบแปลน และดำเนินงานเอง จนเป็นที่ยอมรับในหมู่คณะสงฆ์ของจังหวัดอุตรดิตถ์

ฉะนั้นงานก่อสร้างที่เกี่ยวกับเสนาสนะของวัดในจังหวัดอุตรดิตถ์ อาทิเช่น การสร้างโบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ หลวงปู่จะต้องมีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการ และวางแปลนให้ด้วย มิใช่เฉพาะงานก่อสร้างเสนาสนะทางศาสนาเท่านั้น หลวงปู่ได้มองการณ์ไกลเห็นความสำคัญของการศึกษา

วัดใดที่ขออนุญาตในการสร้างวัด หลวงปู่มักจะให้ดำเนินการก่อสร้างโรงเรียนประชาบาลควบคู่ไปด้วย บางโรงเรียนท่านจะเป็นผู้ดำเนินการเอง ซึ่งในปัจจุบันนี้โรงเรียนประชาบาลในวัดบางแห่งยังปรากฏนามของท่านอยู่

จึงกล่าวได้ว่าสมณศักดิ์ที่หลวงปู่ได้รับพระราชทานนามว่า “พระนิมนานโกวิท” อันหมายถึง “ท่านผู้มีสติปัญญาเฉียบล้ำเลิศในงานการก่อสร้างดุจดั่งเนรมิต” นั้นจึงสมดังนามอย่างแท้จริง



รูปเหมือนปั๊มหลวงปู่ทองดำ วัดท่าทอง รุ่นแรก เนื้อทองคำ
งานก่อสร้างของหลวงปู่มีมากมายเหลือที่จะพรรณา และสิ่งสำคัญมากที่หลวงปู่ภูมิใจยิ่งได้แก่ ที่ดินอันป็นกรรมสิทธิ์ที่อยู่ในความครอบครองของวัดขณะนี้ ซึ่งเดิมขณะที่หลวงปู่มาดำรงค์ตำแหน่งเจ้าอาวาสที่ดินของวัดมีอยู่เพียง 3 ไร่เศษเท่านั้น ยากยิ่งต่อการพัฒนา หลวงปู่จึงได้ลงมือบุกเบิกที่ดินรอบบริเวณวัด

ซึ่งเป็นป่ารกเเละหนองน้ำ หลวงปู่ได้อดทนอุตสาหะไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย ประกอบกับได้กำลังศรัทธาของชาวบ้านบริจาคยกให้รวมทั้งสิ้นประมาร 90 ไร่เศษ การก่อสร้างศาสนสถานภายในบริเวณวัดท่าทองหลวงปู่เป็นผู้กำหนดแบบ ควบคุม และลงมือด้วยตนเอง โดยมีพระภิกษุ สามเณรและศรัทธาของประชาชน ให้ความร่วมมือด้วยดีเสมอมานับแต่หลวงปู่ได้มาดำรงค์ตำแหน่ง เป็นเจ้าอาวาสวัดท่าทอง จวบจนปัจจุบันหลวงปู่ได้ดำเนินการก่อสร้างเสนาสนะขึ้นในวัดท่าทองเป็นลำดับดั้งนี้

– ปี พ.ศ. 2469 สร้างศาลาการเปรียญวัดท่าทองขนาดกว้าง 9 วา ยาว 15 วา เป็นอาคารไม้ทรงปราสาทเสาคอนกรีต
– ปี พ.ศ. 2470 สร้างมณฑปสำหรับประดิษฐานพระพุทธรุป 1 หลัง กว้าง 2.1 วา ยาว 4.3 วา
– ปี พ.ศ. 2471 สร้างกุฏิ 1 หลัง ขนาดกว้าง 3 วา ยาว 4 วา
– ปี พ.ศ. 2475 – 2477 สร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรม 1 หลัง ขนาดกว้าง 4 วา ยาว 5 วาเศษ และได้เริ่มทำการเปิดการสอนตั้งแต่ ปี
พ.ศ.2477เป็นต้นมา
– ปี พ.ศ. 2480 -2485 วัดท่าทองได้รับวิสุงคามสีมา ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างอุโบสถ โดยใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี จึงแล้วเสร็จและใช้ประกอบสังฆกรรมได้
– ปี พ.ศ. 2504 สร้างศาลาการเปรียญขึ้น 1 หลัง กว้าง 24 เมตร ยาว 50 เมตร ลักษณะทรงไทยสองชั้น โครงสร้างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ฝาผนัง ชั้น
ล่างก่ออิบถือปูน พื้นชั้นบนไม้เนื้อแข็ง หลังคามุงกระเบื้องว่าว รวมค่าก่อสร้างทั้งสิ้น 170,000 บาท
– ปี 2510 สร้างร้าบาตรขึ้น 1 หลัง กว้าง 5 เมตร ยาว 14 เมตร เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ลักษณะทรงไทยมุงกระเบื้องลอนคู่สิ้นค่าก่อสร้าง 54,000 บาท
– ปี พ.ศ. 2511 สร้างโรงเรียนประชาบาลวัดท่าทองขึ้น 1 หลัง กว้าง 10 เมตร ยาว 40 เมตร ลักษณะอาคาร 2 ชั้นสิ้นค่าก่อสร้างเป็นเงิน 300,000
บาท
– ปี 2512 สร้างกุฏิขึ้น 1 หลัง 2 ชั้น กว้าง 4 เมตร ยาว 14 เมตร
– ปี 2513 สร้างกำแพงด้านทิศตะวันตกเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก สูง 1.5 เมตร ยาว 200 เมตร สิ้นค่าก่อสร้างเป็นเงิน 200,000 บาท
– ปี 2514 สร้างกุฏิวัดขึ้น 1 หลัง กว้าง 12 เมตร ยาว 24 เมตร ครึ่งตึก ครึ่งไม้ โครงสร้างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กชั้นล่าง ก่ออิฐถือปูน พื้นชั้นบนเป็นไม้
เนื้อแข็ง มุงกระเบื้องลอนคู่ สิ้นค่าก่อสร้าง 250,000 บาท
– ปี พ.ศ. 2515 สร้างกุฏขึ้น 1 หลัง กว้าง 8 เมตร ยาว 12 เมตร ชั้นเดียวโครงสร้างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กก่ออิฐถือปูน หลังคามุงสังกะสี
สิ้นค่าก่อสร้างเป็นเงิน 150,000 บาท
– ปี พ.ศ. 2517 สร้างหอระฆัง เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก 3 ชั้น กว้าง 3 เมตร ยาว 3 เมตร ลักษณะทรงไทย โครงสร้างเป็นเสาคอนกรีตพื้นปูน หลังคา
เป็นจตุรมุขมุงกระเบื้องลอนคู่ สิ้นค่าก่อสร้าง 100,000 บาท
– ปี พ.ศ. 2520 สร้างเมรุ กว้าง 6 เมตร ยาว 12 เมตร ลักษณะโครงสร้างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก เทพื้นปูน ฝาผนังก่ออิฐถือปูนมุงด้วยกระเบื้องลอนคู่สิ้น
ค่าก่อสร้างเป็นเงิน 700,000 บาท
– ปี พ.ศ. 2524 สร้างศาลาบำเพ็ญกุศล (ศาลาธรรมสังเวช) ขึ้น 1 หลัง กว้าง 16 เมตร ยาว 30 เมตร ลักษณะทรงไทย คอนกรีตเสริมเหล็กชั้นเดียว
ฝาผนังก่ออิฐถือปูน มุงด้วยกระเบื้องลอนคู่ สิ้นค่าก่อสร้างเป็นเงิน 700,000 บาท
– ปี 2525 สร้างกุฏิปฐมพยาบาล 1 หลัง กว้าง 10 เมตร ยาว 18 เมตร ลักษณะตึก 2 ชั้น โครงสร้างเป็นคอนกรีตเสริมเสริมเหล็ก สิ้นค่าก่อสร้างเป็นเงิน
200,000 บาท
– ปี 2528 สร้างกำแพงวัดด้านทิศเหนือ
– ปี 2532 สร้างโรงเรียนปริยัติธรรม วัดท่าทองลํกษณะ 2 ชั้น โครงสร้างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก มุงด้วยกระเบื้องลอนคู่ สิ้นค่าก่อสร้างเป็นเงิน4,000,000
บาท
– ปี 2534 สร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กภายในวัด
– ปี 2536 สร้างเสาไฟฟ้าภายในวัดท่าทอง จำนวน 30 ต้น สิ้นค่าก่อสร้างเป็นเงิน 300,000 บาท
– ปี 2536 – 2538 สร้างวิหารจตุรมุข สิ้นค่าก่อสร้างเป็นเงิน 4,000,000 บาท
– ปี 2537 – 2538 สร้างกุฎิวิปัสสนากัมมัฏฐาน จำนวน 30 หลัง สิ้นค่าก่อสร้างเป็นเงิน 3,000,000 บาท
– ปี 2537 – 2539 สร้างศาลาปฏิบัติธรรมจำนวน 1 หลัง สิ้นค่าก่อสร้างเป็นเงิน 4,000,000 บาท
– ปี 2538 สร้างกำแพงวัดทางด้านทิศใต้ สิ้นค่าก่อสร้างเป็นเงิน 200,000 บาท


กิตติศัพท์ความเลื่องลือในปฏิปทาอันแรงกล้าและจริยวัตรอันงดงามของหลวงปู่ ทองดำขจรขจายไปไกลทั่วทุกสารทิศ เกจิรุ่นหลังหลายรูป ได้ให้ความเคารพนับถือในตัวหลวงปู่ เดินทางมากราบไหว้และสนทนาธรรมอยู่เนือง ๆ รวมทั้ง พระเทพวิทยาคมเถร (หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ) อริยสงฆ์แห่งแดนที่ราบสูงที่ปัจจุบันจำพรรษาที่วัดหนองบัวรอง จ.นครราชสีมา ก็เคยมากราบไหว้สนทนาธรรมกับหลวงปู่ทองดำถึงวัดท่าทอง สร้างความฮือฮาให้กับพุทธศาสนิกชนที่ทราบข่าวเป็นยิ่งนัก

พระนิมมานโกวิท หรือหลวงปู่ทองดำ เจ้าอาวาสวัดท่าทอง หมู่ 2 ต.วังกะพี้ อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ พ.ศ.2542 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงค์ ตำแหน่งที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จวบจนมรณภาพ

หลังจากปี พ.ศ. 2533 ชื่อเสียงของหลวงปู่เริ่มเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในระดับประเทศ วัตถุมงคลรุ่นหลังๆ ซึ่งบรรดาศิษย์ได้มีโอกาสสร้างถวายหาปัจจัยเริ่มมีมากขึ้น ท่านเองก็อนุญาตให้ทำได้เรียกได้ว่าไม่ปิดกั้นตนเองเหมือนสมัยก่อน ผมเชื่อว่าส่วนหนึ่งท่านคงต้องการปัจจัยมาบำรุงวัดและสร้างศาสนสถาน ทุกครั้งที่มีโอกาสไปเยี่ยมท่านๆ มักจะกล่าวเป็นเชิงกังวลในเรื่องของอาคารที่ยังสร้างไม่แล้วเสร็จ ทำให้ผมพลอยกังวลไปกับท่านด้วย เรียกได้ว่าทุกครั้งที่มีโอกาสไปกราบท่านต้องหาปัจจัยส่วนตัวไปถวายท่านอยู่เสมอ ผมเองยอมรับว่าชื่อเสียงของท่านมีเพิ่มมากขึ้น เพราะวัตถุมงคลของท่านได้แพร่หลายออกไป

แต่สิ่งหลักที่เป็นฐานเกื้อหนุนท่านอย่างแท้จริงก็เพราะ ท่านเป็นพระสุปฏิปันโนที่กราบไหว้ได้อย่างสนิทใจ ท่านผ่านการสะสมบุญบารมีและวิปัสสนาสมาธิมานานหลายทศวรรษ แม้แต่หลวงพ่อเกษม เขมโก นักบุญแห่งลานนายังเคยกล่าวถึงหลวงปู่ทองดำกับญาติโยมจากอุตรดิตถ์ที่เข้าเยี่ยมท่านที่สุสานไตรลักษณ์ จ.ลำปางเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2535 ว่า “พวกเธอมาจากอุตรดิตถ์รึไม่ต้องมาหาอาตมาให้เสียเวลาหรอก ไปหาพระกินหมากนั่นแหละเก่งกว่าฉันอีก” หรือแม้แต่ หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ วัดบ้านไร่ ยังเคยเอ่ยกับคณะกรรมการสร้างพระเมื่อครั้งมานั่งปรกพระกริ่งรุ่น 2 พระกริ่ง ทอง-คูณ เมื่อปี พ.ศ. 2537 ว่า “กูนั่งอธิษฐานจิตปลุกเสกร่วมกับหลวงปู่ทองดำแค่ 5 นาที พลังจิตของท่านไปไกลถึงไหนแล้วก็ไม่รู้ กูตามไม่ทันดอก” ครับ แสดงว่าท่านไม่ธรรมดาจริงๆ

เกี่ยวกับอายุของหลวงปู่ ถ้าผู้ที่สะสมวัตถุมงคลของหลวงปู่มาตั้งแต่ต้น อาจสงสัยเล็กน้อยว่าท่านอายุเท่าไหร่กันแน่ เพราะในเหรียญรุ่นแรกเขียนว่า อายุ 85 ปี พ.ศ. 2529 นั่นหมายความว่าท่านเกิด พ.ศ. 2444 แต่ในวัตถุมงคลกริ่งรุ่นสาม “ทองดำ 99” สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2538 เพื่อฉลองวันเกิดท่านในปี พ.ศ. 2539 กล่าวว่าอายุของท่านคือ 99 ปี นั่นหมายความว่าท่านเกิด พ.ศ. 2440 ผมเองก็สงสัยเหมือนกัน แต่ที่บันทึกไว้ในหนังสือเขียนตรงกันทุกฝ่ายคือ ท่านเกิดวันพุธ ขึ้น 4 ค่ำ เดือน 5 แต่ พ.ศ.ไม่ตรงกัน ผมได้ตรวจสอบจากปฏิทินโหราศาสตร์ของผมแล้วปรากฏว่า ท่านเกิดวันพุธที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2441 ตรงกับวันขึ้น 4 ค่ำ เดือน 5 ปีจอ ครับ



หลังจากปี พ.ศ. 2535 หลวงปู่ท่านเริ่มมีสุขภาพไม่แข็งแรงตามสภาพของสังขารที่อายุตั้ง 94 ปีแล้ว ท่านต้องเข้าๆ ออกๆ โรงพยาบาลอุตรดิตถ์อยู่บ่อยๆ โดยที่ท่านก็ไม่ได้เต็มใจไป แต่ท่านไม่อยากขัดใจลูกศิษย์ บรรดาลูกศิษย์ก็หวังดี จัดหาเตียงพยาบาล ทีมหมอเตรียมห้องนอนให้ท่านใหม่ที่ศาลาเจริญธรรมเพื่อให้ท่านสบายขึ้น ไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาลบ่อยๆ ระยะหลังผมเองมีโอกาสไปกราบท่านไม่บ่อยนัก แต่เท่าที่สังเกตดูถึงสังขารท่านจะเสื่อม แต่จิตใจที่แท้จริงของท่านยังคงดีอยู่เหมือนกับท่านสามารถแยกร่างกายกับจิตใจออกจากกันได้

เมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ.2548 หลวงปู่ต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลอุตรดิตถ์ด้วยโรคชรา และเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.2548 เวลา 16.00 น.ท่านหยุดหายใจไปกว่า 2 ชั่วโมง คณะแพทย์ได้พยายามอย่างสุดความสามารถ ลูกศิษย์ทั้งหลายต่างหมดหวังคิดว่าท่านคงจะมรณภาพแล้ว แต่เหมือนมีปาฏิหาริย์ ท่านฟื้นขึ้นมาได้ครับ ยังความดีใจอย่างที่สุดของบรรดาลูกศิษย์ คณะแพทย์มีความเห็นให้ส่งตัวหลวงปู่ไปรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2548 โดยมีพระปลัดทองแดง ตปสีโล ติดตามไปดูแลอย่างใกล้ชิดจนในที่สุดสังขารย่อมเป็นไปตามกรรม หลวงปู่ที่ผมเคารพรักสุดชีวิต ท่านได้มรณภาพอย่างสงบที่โรงพยาบาลเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ.2548 เวลา 21.19 น.ด้วยภาวะโรคไตเสื่อมและติดเชื้อทางเดินหายใจ สิริรวมอายุได้ 107 ปี 5 เดือน 20 วัน พรรษาที่ 86 เหลือไว้แต่ความดี และวัตถุมงคลให้ชนรุ่นหลังได้กราบไหว้และระลึกถึงครับ

เกี่ยวกับปาฏิหาริย์หลังจากท่านมรณภาพ พระปลัดทองแดงได้เล่าว่า ขณะที่พยาบาลกำลังตกแต่งศพท่าน ซึ่งก็มีลูกศิษย์กว่า 10 คนร่วมอยู่ในห้องด้วย ได้มีลำแสงสีขาวสว่างพุ่งเข้ามายังเตียงที่วางร่างท่าน หลายคนพยายามที่จะถ่ายภาพและวีดิโอ แต่ไม่ติดครับ ทุกคนลงความเห็นว่าคงเป็นบุญญาธิการของท่านจึงมีเทวดามารับดวงวิญญาณของท่านไปสู่สวรรค์นภาลัย

ถ้าหากท่านมีโอกาสขึ้นไปทางเหนือและพอมีเวลา อยากที่จะให้ท่านหาโอกาสแวะเข้าไปที่วัดท่าทอง ไปกราบศพท่านในโลงแก้วประดับมุกสักครั้งก็จะถือว่าเป็นมงคลของชีวิตครับ



รูปเหมือนหลวงพ่อทองดำ วัดท่าทอง รุ่นแรก เนื้อนวโลหะ ปี 2529 จ.อุตรดิตถ์
– จัดสร้าง 4 เนื้อ คือ
1.เนื้อทองคำ จำนวน 23 องค์
2.เนื้อเงิน จำนวน 2,000 องค์
3.เนื้อนวโลหะ จำนวน 4,000 องค์
5.เนื้อทองแดง จำนวน 4,000 องค์

– ในการพิจารณาพระรุ่นนี้ เนื่องจากเป็นพระหล่อ เบื้องต้นให้พิจารณาพิมพ์รวมให้ถูกต้องก่อน ขนาดพระจะมีขนาดเท่าๆกัน รายละเอียดจะมีความคมชัดเจนทุกองค์เนื่องจากเป็นพระหล่อฉีด ต่อมาจึงพิจารณาแผ่นปิดฐานพระที่จะมีความคมชัดและรอยเส้นแตกของแผ่นปิดที่มีความแตกต่างกันในแต่ละเนื้อด้วย และรอยแต่งตะไบที่ใต้ฐานที่มีความเรียบร้อยเป็นระเบียบด้วยเป็นสำคัญในการพิจารณาความแท้ของพระรุ่นนี้

-นอกจากการดูจุดตำหนิธรรมชาติต่างๆเป็นเบื้องต้นแล้ว จะต้องพิจารณาองค์ประกอบอื่นๆ ตามหลักในการพิจารณาพระหล่อแบบฉีดเหวี่ยงประกอบด้วย

รูปเหมือนปั๊มรุ่นเจ้าสัว พระนิมมานโกวิท (หลวงปู่ทองดำ ฐิตวัณโณ) วัดท่าทอง จ. อุตรดิตถ์ สร้างปี ๒๕๓๖

หลวงปู่ทองดำเมตตาอธิษฐานจิตปลุกเสกเดี่ยวในกุฏิของท่านให้หนึ่งพรรษา และพิธีสุดท้ายปลุกเสกในโบสถ์วัดท่าทอง (เป็นพิธีใหญ่) หลวงปู่ทองดำเป็นประธานนั่งปรกอธิษฐานจิต คุณสุนันท์ สีหลักษณ์ (เสี่ยยู้) เป็นประธานจัดสร้าง คุณอำนาจ ลิขสิทธิ์อนันต์ (เฮียค้วง) เป็นประธานดำเนินงาน
มีจำนวนการจัดสร้างดังต่อไปนี้
๑. เนื้อทองคำ สร้างจำนวน ๑๕ องค์ (กรรมการตอก ๔ โค๊ต)
๒. เนื้อทองคำ สร้างจำนวน ๒๙๕ องค์ (ตอกโค๊ต และ ตอกหมายเลขกำกับ)
๓. เนื้อเงิน สร้างจำนวน ๑๕๑ องค์ (กรรมการตอก ๒ โค๊ต)
๔. เนื้อเงิน สร้างจำนวน ๑,๒๐๐ องค์ (ตอกโค๊ต และ ตอกหมายเลขกำกับ)
๕. เนื้อทองเหลือง สร้างจำนวน ๑,๐๐๐ องค์ (แจกกรรมการ ตอก ๒ โค๊ต)
๖. เนื้อทองแดงรมดำ สร้างจำนวน ๑๐,๐๐๐ องค์ (ตอกโค๊ตกำกับ)
๗. เนื้อตะกั่ว(ลองพิมพ์) สร้างจำนวน ๙ องค์

พระรุ่นนี้เป็นการสร้างแบบพระปั๊ม จึงมีความคมชัดและมีตำหนิและเส้นสายรายละเอียดคล้ายพระเหรียญ และมีการตัดข้างด้วยตัวตัด จึงมีรอยตัดแบบเหรียญทำให้พิจารณาได้ง่ายในเนื้อทองคำจะไม่มีการเจียรแต่งตะไบที่ฐาน แต่ในเนื้ออื่นมีการเจียรแต่งตะไบใต้ฐานทุกองค์ เสร็จแล้วจึงนำมาตอกโค๊ตและตัวเลข อาจมีการตอกโค๊ตต่างกันในบางเนื้อ และมีโค๊ตที่เป็นชุดกรรมการไม่มีตอกเลขด้วย ขอให้ท่านจดจำตำหนิความคมชัดทั้งของพระและโค๊ตให้แม่นยำครับ

รูปหล่อลอยองค์ รุ่นเหล็กน้ำพี้ พระนิมมานโกวิท(หลวงปู่ทองดำ ฐิตวัณโณ) วัดท่าทอง จ.อุตรดิตถ์ สร้างปี๒๕๓๗ มีจำนวนการจัดสร้างดังต่อไปนี้

๑. เนื้อทองคำ สร้างจำนวน ๙๖ องค์
๒. เนื้อสตางค์ทอง สร้างจำนวน ๕๐๐ องค์
๓. เนื้อเหล็กน้ำพี้ สร้างจำนวน ๙,๖๙๖ องค์
๔. เนื้อทองแดง สร้างจำนวน ๑๒,๘๙๖ องค์

พระเนื้อนี้สร้างยากมากเนื่องจากเหล็กน้ำพี้มีจุดหลอมละลายที่สูงมาก มากกว่าเหล็กทั่วไป จึงทำเลียนแบบได้ค่อนข้างยาก และมีเนื้อที่แข็งมาก จึงตอกโค๊ตที่องค์พระไม่ได้ โค๊ตที่ทำการทดลองตอกได้เสียหายหมด จึงได้ทำการตอกโค๊ตลงบนแผ่นเงินแล้วจึงนำมาติดที่ด้านข้างองค์พระด้วยกาว epoxy ในเนื้อเหล็กน้ำพี้และสตางค์ทองเพราะเนื้อสตางค์ทองมีส่วนผสมของเหล็กน้ำพี้ด้วยจึงมีความแข็งเช่นเดียวกัน ส่วนเนื้ออื่นเช่น ทองคำและทองแดงได้มีการตอกโค๊ตตามปกติ

รูปหล่อ รุ่นมงคล๙๐ พระนิมมานโกวิท(หลวงปู่ทองดำ ฐิตวัณโณ) วัดท่าทอง จ.อุตรดิตถ์ ปี๒๕๓๔

มีจำนวนการจัดสร้างดังต่อไปนี้

๑. เนื้อทองคำ สร้างจำนวน ๓๖๖ องค์
๒. เนื้อเงิน สร้างจำนวน ๑,๐๐๐ องค์
๓. เนื้อนวโลหะ สร้างจำนวน ๓๑ องค์

เป็นพระขนาดค่อนข้างเล็กแต่กลับหล่อได้สวยงาม ขนาดกำลังพอดีเหมาะแก่การขึ้นคอบูชา และมีจำนวนการสร้างน้อย เป็นรุ่นที่มีประสบการณ์และน่าบูชามากๆอีกรุ่นหนึ่ง

รูปเหมือนงาแกะ รุ่นแรก (ศิษย์ ค.ร.ฟ. สร้างถวาย)

เริ่มดำเนินการแกะตั้งแต่ วันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๓๒ แล้วเสร็จใน วันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๓๓ และได้นำเข้าร่วมพิธีปลุกเสกที่วัดหมอนไม้ โดยมีหลวงปู่ทองดำ เป็นประธานในพิธี และใน วันที่ ๑๒-๑๕ เมษายน ๒๕๓๓ หลวงปู่ทองดำได้เมตตาปลุกเสกเดี่ยวให้อีก ณ วัดท่าทอง ซึ่งในวันนั้นวัดท่าทองกำลังจัดงานสงกรานต์รดน้ำดำหัว ศิษย์ผู้จัดสร้าง(คุณอรุณ บุญล้อม) ได้ถามหลวงพ่อทองดำว่า “ที่วัดมีงานเสียงดังมาก หลวงพ่อปลุกเสกได้หรือ” หลวงพ่อบอกว่า “ไม่เป็นไร ฉันไม่ได้ยิน”

Cr.ข้อมูลจาก เว็บไซต์วัดท่าทอง

Cr.รูปสวยๆจาก คุณมด ท่าเหนือ,คุณโจ้ พระราม4

แอพเกจิ

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: