8114. ยาสามัญประจำใจ 9 ขนาน รักษาโรค “ทุกข์” ให้หายได้ผลชะงัด!

ยาขนานที่ 1 : ปล่อยวาง
เมื่อความไม่พอใจเกิด วิธีป้องกันไม่ให้โรคลุกลามจนกลายเป็นอารมณ์เรื้อรังที่เป็นพิษต่อชีวิตเรา คือการไม่เก็บเอามาคิดย้ำซ้ำทวนหรือหวนกลับไปนึกถึงบ่อยๆ จนถอนไม่ได้ เพราะยิ่งคิดยิ่งถลำลึกในอารมณ์ และทำให้อารมณ์มีพลังดึงดูดจนถอนออกมาได้ยากขึ้นเรื่อยๆ

ยาขนานที่ 2 : รู้ทันอารมณ์
ไม่ว่าอารมณ์จะหมักหมมเพียงใด ขอเพียงมีสติระลึกรู้ทันว่ากำลังหลงยึดอยู่ เพราะทันทีที่ใจปล่อยก็หลุด การฝึกสติเริ่มได้จากการเข้าคอร์สสมาธิภาวนาซึ่งมีอยู่มากมายในปัจจุบัน และต้องไม่ลืมที่จะบ่มเพาะสติในชีวิตประจำวันด้วยการหมั่นดูจิตมองตนอยู่เสมอ รวมทั้งใส่ใจกับทุกอย่างที่ทำ กายทำอะไร ใจก็รับรู้ในสิ่งที่ทำด้วย จนรู้ทันอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับใจ

ยาขนานที่ 3 : จดจ่อกับลมหายใจ
เป็นวิธีที่ช่วยให้ใจไม่ตกหลุมอารมณ์อกุศล เช่น เวลาโกรธใคร ให้ดึงจิตมาจดจ่อที่ลมหายใจ ขณะเดียวกันก็หายใจเข้าลึกๆหายใจออกยาวๆ และนับทุกครั้งที่หายใจออก เริ่มจาก 1 ไปจนถึง 10ถ้าลืมก็นับ 1 ใหม่ แม้ความโกรธไม่หายทันที แต่จะทุเลาหรือร้อนรุ่มน้อยลง

ยาขนานที่ 4 : มองแง่ดี
ความทุกข์ ถ้ามองเป็นจนเห็นประโยชน์หรือรู้จักมองในแง่ดีอย่างน้อยก็ทำให้ปล่อยวางได้มากขึ้น ผู้ป่วยหลายคนมักอุทานว่า“โชคดีที่เป็นมะเร็ง!” เพราะมะเร็งทำให้เขาได้พบหลายสิ่งหลายอย่างที่มีคุณค่าต่อชีวิต เช่น ได้รู้จักธรรมะ ได้อยู่ใกล้คนรัก ฯลฯ

ยาขนาดที่ 5 : ให้อภัย
หนึ่งในคนที่ควรได้รับการให้อภัยอย่างยิ่งคือตัวเราเอง แต่จะทำเช่นนั้นได้เราต้องกล้าขอโทษในสิ่งที่เราทำผิดพลาดไป บางทีผู้ที่เราทำให้เจ็บปวดนั้นอาจให้อภัยเราไปนานแล้วก็ได้ มีแต่เราต่างหากที่ยังโทษตัวเองอยู่

นอกจากให้อภัยตัวเองแล้ว วิธีที่จะปลดเปลื้องอารมณ์ความโกรธเกลียดไปจากใจได้ดีมากอีกวิธีหนึ่งคือ การให้อภัยคนอื่นหรือแผ่เมตตาให้คนที่เราไม่ชอบใจอย่างสม่ำเสมอ

ยาขนานที่ 6 : อยู่วิเวกเป็นครั้งคราว
การเสพข่าวสาร แสงสี พบปะผู้คนตลอดเวลา ทำให้เกิดอารมณ์ขึ้นลงไม่หยุดหย่อน อารมณ์เหล่านี้แม้จะดับในเวลาไม่นาน แต่มักทิ้งตะกอนอารมณ์ไว้ในใจเรา ซึ่งหากสะสมไว้มากก็จะทำให้เราเกิดอารมณ์เหล่านั้นได้ง่ายขึ้น จึงควรมีช่วงเวลาที่จะได้ปลีกตัวไปอยู่คนเดียวเงียบๆ เพื่อเจริญสติ บำเพ็ญสมาธิภาวนา อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

ยาขนานที่ 7 : เปิดปากเปิดใจ
บางครั้งเวลาได้ยินได้เห็นอะไรไม่ถูกใจ เรามักปล่อยวางไม่ทันจนเก็บเอามาทิ่มแทงตัวเอง ซ้ำยังอดคิดไปในทางร้ายไม่ได้ ซึ่งหลายครั้งมักสรุปไปตามความคิดชั่วแล่นโดยไม่สาวหาความจริงการเปิดปากซักถามเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยป้องกันไม่ให้เราด่วนสรุปอย่างผิดๆ…ความร้าวฉานมักเกิดจากความเข้าใจผิด และความเข้าใจผิดมีจุดเริ่มต้นจากการด่วนสรุป บางครั้งการปิดปากเงียบก็เป็นเหตุให้อารมณ์คุกรุ่นจนอาจระเบิดออกมา และก่อความเสียหายชนิดที่แม้แต่ตัวเราเองก็คาดไม่ถึง

ยาขนานที่ 8 : ยอมรับความจริง
การไม่ยอมรับความจริงแล้วเอาแต่บ่น ตีโพยตีพาย คิดวนเวียนว่า “ทำไมต้องเป็นฉันๆ” มีแต่จะเพิ่มความทุกข์ให้แก่ตนเอง ที่ถูกที่สุดคือแทนที่จะเสียเวลาไปกับการบ่น โวยวาย ควรเอาเวลาและพลังงานมาใช้ในการรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วจะดีกว่าเมื่อปัญหาได้รับการแก้ไข ความทุกข์กังวลก็จะลดน้อยลงไปเอง

ยาขนานที่ 9 : ทำปัจจุบันให้ดีที่สุด
เรามักทุกข์เพราะอาลัยในอดีตหรือกังวลกับสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นในอนาคต สุดท้ายเลยไม่เป็นอันทำอะไร สิ่งเดียวที่จะทำให้ทุกอย่างดีขึ้นได้คือ การทำปัจจุบันให้ดีที่สุด

ข้อมูลจาก : นิตยสารชีวจิต
รูปภาพสวยๆจาก : goodlife

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: