6335.เมื่อญี่ปุ่นขึ้นเมืองประจวบ ไม่ใช่ทหารก็ต้องสู้

เมื่อญี่ปุ่นขึ้นเมืองประจวบ ไม่ใช่ทหารก็ต้องสู้

ประจวบคีรีขันธ์ หรือเมืองเกาะหลัก เมื่อปี ๒๔๘๔ (1941) คือเมืองเล็ก สงบเงียบอยู่ริมชายทะเล ภูมิประเทศโดยทั่วไปของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นพื้นที่ราบแคบ ๆ ตามแนวฝั่งทะเลด้านตะวันออก มีความลาดเอียงจากทิศตะวันตก ตามแนวเทือกเขาตะนาวศรี ลงสู่ทิศตะวันออก ด้านอ่าวไทย เฉพาะตัวเมืองมีอ่าวย่อยที่สำคัญคืออ่าวประจวบ เป็นแนวที่ตั้งตัวเมือง มีบ้านเรือนร้านค้า และสถานที่สำคัญ เช่นศาลากลางจังหวัด สถานีรถไฟ สถานีตำรวจ ศาล เป็นต้น แม้เมื่อเข้าเดือนธันวาคม จังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศกำลังตื่นตัวฉลองรัฐธรรมนูญ แต่ในเมืองประจวบคีรีขันธ์กำลังจะมีเพียงการเลี้ยงโต๊ะในหมู่ข้าราชการ ผู้แทนราษฎร และปู้ใหญ่ของจังหวัด

ความสงบเงียบนี้ช่างขัดแย้งกับศึกสงครามที่กำลังจะระเบิดขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ไม่มีพลเรือนผู้ใดในจังหวัดได้รับรู้

๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ (1941) เวลาประมาณ ๐๔.๐๐ น.

ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองประจวบคีรีขันธ์ พลตำรวจยืนยาม ๑ นาย สังเกตเห็นมีเงาดำของมนุษย์ร่างป้อมเตี้ย เดินตะคุ่มจากแนวชายหาดมาที่บันไดโรงพัก พลตำรวจนายนี้ได้พยายามถามทักหลายครั้งว่าบุคคลนี้คือผู้ใด จนในที่สุดเมื่อมนุษย์ปริศนาผู้นั้นเดินขึ้นบันไดโรงพัก ตำรวจยามผู้นั้นจึงตัดสินใจแทงบุคคลแปลกหน้าด้วยดาบปลายปืน ฐานบุกรุกสถานที่ราชการในยามวิกาล บุคคลลึกลับผู้นั้นล้มกลิ้งลงตามบันไดไม้ ขาดใจตายทันที

ทันทีนั้นได้มีเสียงปืนจากด้านล่างของสถานีตำรวจดังสวนขึ้นมาทันที คนต่างชาติต่างภาษานับร้อยเหล่านี้ ได้ระดมยิงปืนเล็กปืนกลมาที่สถานีตำรวจ ฝ่ายตำรวจไทยประมาณ ๓๐ ได้ยิงโต้ตอบ ปรากฏว่ากลุ่มคนต่างชาติติดอาวุธเหล่านี้คือทหารราบญี่ปุ่นราว ๑ กองพัน (๕๐๐ – ๙๐๐ นาย) บุคคลึกลับที่ถูกพลตำรวจแทงตายหน้าโรงพักปรากฏว่าเป็นผู้บังคับกองพัน ผู้พิชิตในเมืองจีน เจ้านายของกองทหารที่ยิงสวนข้างล่าง กำลังจะสมทบด้วยทหารกองพันอื่น ๆ ตามหาดสำคัญของอ่าวประจวบและอ่าวมะนาว

แต่เพียงชั่วเวลาไม่เกิน ๑ ชั่วโมง สถานีตำรวจได้ถูกผู้รุกรานถล่มด้วยอาวุธหนักจนราบคาบ กำลังตำรวจจึงถอยไปต้านทานในตัวเมืองต่อไป

ตามแผนการรบ กรมทหารราบที่ ๑๔๓ ของญี่ปุ่น สมทบด้วยทหารช่าง ๑ กองพันจะยกพลขึ้นบกที่อ่าวประจวบหรืออ่าวเกาะหลักนับตั้งแต่เขาช่องกระจกไปจนถึงเขาล้อมหมวก อันเป็นตำบลที่ตั้งสถานที่ราชการพลเรือน ตำรวจ และสถานีรถไฟ และบริเวณอ่าวมะนาว อันเป็นที่ตั้งกองบินน้อยที่ ๕ กองทัพอากาศไทย ก่อนจะเคลื่อนจ่อที่คลองวาฬ วกเข้าล้อมเมืองประจวบอีกด้านหนึ่ง ดังได้เกิดศึกกองบินน้อยที่ ๕ ซึ่งทางเพจเราได้เคยนำเสนอไว้แล้ว

กลางทะเลหน้าอ่าวประจวบและอ่าวมะนาว หน่วยเรือรบจักรวรรดินาวีญี่ปุ่นมีทั้งเรือลาดตระเวนและเรือพิฆาต ได้ทอดสมอตามแนวเขาตาม่องล่าย เการ่ม เกาะหลัก ไปจนถึงเขาล้อมหมวก พร้อมใช้ปืนใหญ่เรือทุกขนาดยิงสนับสนุนการยกพลขึ้นบก หากเกิดการต้านทานจากตัวเมืองและกองบิน

เสียงปืนจากสถานีตำรวจได้ปลุกประชาชนและข้าราชการพลเรือนในเมืองประจวบ พวกเขาตกใจกับเสียงปืน เสียงระเบิด และห่ากระสุนไม่นานนัก พลเรือนเมืองประจวบทั้งตำรวจ ข้าราชการ ครู ประชาชน ยุวชนทหาร ลูกเสือ ไม่เกิน ๑๐๐ นายเศษ พร้อมติดอาวุธตามมีตามเกิด สร้างแนวต่อสู้กองทหารญี่ปุ่นนับพัน ที่ประกอบด้วยอาวุธสงครามเต็มอัตราศึก เคลื่อนกำลังหนุนเนื่องมาอย่างไม่ขาดสาย ทุกแนวรบในเวิ้งอ่าวประจวบ กองทหารราบญี่ปุ่นได้ยกพลตลอดแนวเขาช่องกระจกจนถึงเขาล้อมหมวก ฝ่ายทหารอากาศไทยกองบินน้อยที่ ๕ ก็ไม่อาจข้ามจากอ่าวมะนาวมาช่วยพลเรือนได้ เพราะต้องรับศึกอ่าวมะนาวอย่างเต็มที่

กระนั้นลำพังกำลังพลเรือนก็ได้ต่อสู้ผู้รุกรานอย่างเข้มข้น ได้ใช้แนวถนนที่เชื่อมตัวเมืองกับกองบินเป็นแนวรบหลัก เนื่องถึงกับทหารญี่ปุ่นต่ฝ้องชะงักการรุกเป็นระยะ สลับกับการยิงจากผฝปืนใหญ่เรือเข้ามาสนับสนุนถล่มตัวเมือง แต่แม้พลเรือนที่มีปืนยาว ปืนพก ปืนกล ปืนลูกซอง ปืนแก๊บ ดาบ พลอง จะต้องเผชิญกับปืนเล็ก ปืนกล ลูกระเบิด ปืนใหญ่ของศัตรูเพียงใด พวกเขายังคงกัดฟันสู้ตามแนวถนนอย่างยอมถวายชีวิต พวกเขาอาศัยความชำนาญภูมิประเทศในการต้านทานดักสังหารข้าศึก สถานที่ใดที่ถูกถล่มด้วยอาวุธหนักและปืนใหญ่ กลับกลายเป็นที่ซุ่มยิงทหารบกญี่ปุ่นเป็นอย่างดี

แม้ผู้ที่ไม่มีอาวุธติดตัวแทบทุกเพศและวัย ต่างก็ได้ช่วยสู้ศึกอย่างแข็งขัน หลายคนช่วยลำเลียงเสบียงอาหาร ลำเลียงผู้บาดเจ็บ และอพยพเด็กคนชราให้พ้นจากรัศมีอันตรายของแนวรบ ท่ามกลางห่ากระสุนควันตลบ แม้สุภาพสตรีระดับนางงามจังหวัด คือนางสาวพิจิตร จันทร์ตรง ก็ได้คลุกฝุ่นคลุกเหงื่ออย่างกล้าหาญ คหบดีเช่นขุนประจวบสมบูรณ์ และคุณนายล้วน ประจวบเหมาะ ได้สละทรัพย์สมบัติไม่น้อยช่วยเหลือในการสู้ศึก ข้าราชการที่ไม่ได้สู้รบก็ต้องช่วยกันบรรทุกทรัพย์สินและเอกสารราชการให้พ้นการทำลายจากข้าศึก หากย้ายไม่ได้ต้องเผาทิ้งเสีย

มีชาวบ้านอีกกลุ่มหนึ่งนำโดยนายพลอย และนายหรีด สายน้ำเขียว พาสมัครพรรคพวกชาวสามร้อยยอดร่วมต่อสู้กับทหารญี่ปุ่นที่กำลังยกพลขึ้นบกอย่างต่อเนื่อง ทั้งสองคนนี้ต่อไปจะได้เป็นผู้นำ “ไทยถีบ” งัดแงะรถไฟทหารญี่ปุ่นที่สัญจรแถบหัวหิน ปราณบุรี ประจวบ ในช่วงระหว่างสงคราม

ที่ควรยกย่องอีกท่านหนึ่งคือลูกเสือ ศิริเสถียร ลูกเสือสมุทรเสนา กองลูกเสือโรงเรียนประจวบวิทยาลัย

ขณะที่การรบในเมืองประจวบคีรีขันธ์ไปเป็นอย่างดุเดือด บรรดาดเด็กชายที่โต ๆ หน่อย ต่างก็ได้ช่วยเหลือทหารโดยการนำเสบียงอาหารและกระสุนลำเลียงส่งไปตามจุดการสู้รบต่าง ๆ ที่ทหารไทยยิงต่อสู้ข้าศึกตามแนวชายฝั่งทั้ง 2 ด้าน ซึ่งลูกเสือเอกบุญยิ่ง ศิริเสถียรได้เป็นผู้ช่วยเหลือทหารในการลำเลียงกระสุนด้วยคนหนึ่ง

แต่เป็นคราวเคราะห์ของลูกเสือเอกบุญยิ่ง ในขณะที่กำลังนำกระสุนปืนไปส่งยังจุดที่ตั้งปืนแห่งหนึ่งของแนวรบด้านอ่าวมะนาว ข้าศึกได้ระดมยิงเข้ามาอย่างหนาแน่น กระสุนข้าศึกพุ่งเข้าเจาะทะลุลำคอของเขา เป็นผลให้ล้มลงกับพื้นทันที เมื่อตั้งสติได้ลูกเสือเอกบุญยิ่ง ศิริเสถียร รีบกระเสือกกระสุนกลับไปยังหลังแนวยิงด้านเชิงเขาล้อมหมวก หน่วยพยาบาลพยายามให้การช่วยเหลือชีวิตให้การรักษาอย่างเต็มที่ แต่บาดแผลที่ถูกยิงฉกรรจ์มากสุดที่จะแก้ไขได้ ในที่สุดเขาก็สิ้นใจในบ่ายวันรุ่งขึ้น คือวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๔๘๔ (1941)

ทางราชการได้พิจารณาถึงคุณงามความดีและการเสียสละอันยิ่งใหญ่ของลูกเสือเอกบุญยิ่ง จึงได้ขอประทานยศให้เป็น พันจ่าอากาศเอกบุญยิ่ง ศิริเสถียร และจารึกชื่อไว้ ณ อนุสาวรีย์วีรชน ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔


อนุสาวรีย์วีรชน ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔

สถานการณ์พลเรือนเมืองประจวบคีรีขันธ์อยู่ในฐานเสียเปรียบ สถานีรถไฟและสถานีตำรวจถูกยึดได้สำเร็จ แลกกับชีวิตทหารญี่ปุ่นนับหลักร้อย อาวุธกระสุนที่ด้อยกว่าข้าศึกได้ร่อยหรอลง บ้านเรือนและสถานที่ราชการหากไม่พังทลายด้วยกระสุนปืนใหญ่ ก็จะถูกกระสุนปืนเล็กปืนกลจนทะลุปรุโปร่ง แนวรบความลึกไม่เกิน ๕๐๐ เมตรมีทหารญี่ปุ่นขวักไขว่ไปทั่ว ปะปนกับนักรบจำเป็นของไทยที่ถูกบีบแนวร่นถอยเรื่อยมา

อนุสาวรีย์ยุวชนทหาร

แต่แล้วยังไม่ถึงคราวที่ชาวประจวบจะต้องตายยกเมือง เวลา ๑๐.๔๐ น. ข้าหลวงประจวบคีรีขันธ์ได้รับคำสั่งจากรัฐบาลให้ยุติการสู้รบ ให้กองทหารญี่ปุ่นเดินทัพผ่านเมืองประจวบคีรีขันธ์เพื่อรุกดินแดนพม่าของอังกฤษต่อไป


ถนนสู้ศึกเชื่อมต่อกองบินน้อยที่ 5​ ที่พลเรือนและตำรวจร่วมสู้ทหารญี่ปุ่น​ เมื่อสิ้นสุดการรบจึงชื่อว่า​ ถนนสู้ศึก

ข้อมูลจาก
สงครามมืด วันญี่ปุ่นบุกไทย โดย สรศัลย์ แพ่งสภา จัดพิมพ์ครั้งที่ ๒ สำนักพิมพ์สารคดี ๒๕๕๘

http://lrls.nfe.go.th/LRLS/frontend/theme/view_page.php…
error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: