6331.พระมหาพิชัยมงกุฎ

พระมหาพิชัยมงกุฎ เป็น ๑ ใน ๕ ของเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์อันประกอบไปด้วย

พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร ๑
พระมหาพิชัยมงกุฎ ๑
พระแสงขรรค์ชัยศรี ๑
ธารพระกรชัยพฤกษ์ ๑ และ
วาลวิชนี ในข้อนี้รวมฉลองพระบาทเชิงงอนด้วย ๑


พระมหาพิชัยมงกุฎ สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระปรโมรุราชามหาจักรีบรมนารถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ สูง ๕๑ เซนติเมตร รวมพระจอนสูง ๖๖ เซนติเมตร น้ำหนัก ๗.๓ กิโลกรัม ในครั้งนั้นยอดพระมหาพิชัยมงกุฎยังเป็นพุ่มข้าวบิณฑ์ประดับเพชรเม็ดเล็กๆ


ปัจจุบันพระมหาพิชัยมงกุฎ มีลักษณะเป็นมงกุฎทรงกระโจมปลายเรียวแหลม ทำด้วยทองคำจำหลักลวดลายลงยาราชาวดี ประดับด้วยเพชรและอัญมณีต่างสี ประกอบด้วย เกี้ยวรักร้อยสามชั้น มีดอกประจำยามอยู่ทั้ง ๔ ด้านทุกชั้น หลังมาลัยรักร้อยแต่ละชั้นทำเป็นจอมประดับด้วยกระจังรายและดอกไม้ไหววงรอบ เหนือมาลัยรักร้อยชั้นสามทำเป็นยอดทรงน้ำเต้าเรียว ปลายส่วนนี้ทำมาลัยดอกมะเขือรัดรอบสำหรับรับบัวกลุ่ม และส่วนปลายสุดของมงกุฎประดับด้วยเพชรลูกขนาดใหญ่ลูกหนึ่งชื่อ ” พระมหาวิเชียรมณี ”

นอกจากนี้ ยังมีพระกรรเจียกสำหรับทรงประดับด้านหลังพระกรรณทั้ง ๒ ข้าง
ในอดีตพระมหาพิชัยมงกุฎ มีความสําคัญเท่าเทียมกับเครื่องราชกกุธภัณฑ์อื่นๆ เมื่อเจ้าพนักงานทูลเกล้าฯ ถวายพระมหาพิชัยมงกุฎในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ก็จะทรงรับไว้แล้วทอดวางข้างพระองค์โดยมิได้ทรงสวม

กระทั่งในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแห่งพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช รัชกาลที่ ๔ เมื่อทรงได้รับพระมหาพิชัยมงกุฎแล้ว ก็ทรงสวมพระเศียรอันเป็นประเพณีที่ได้รับอิทธิพลจากราชสํานักยุโรป ซึ่งถือคติว่าพระมหากษัตริย์จะทรงดํารงสภาวะอันสมบูรณ์สูงสุดก็ต่อเมื่อได้ทรงสวมพระมงกุฎแล้ว


ถ้าเทียบลำดับการให้ความสำคัญของมงกุฎในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของราชสำนักไทยอดีตกับราชสำนักทางฝั่งยุโรปนั้นคงมีความแตกต่างกัน เนื่องด้วยในอดีตพระมหาพิชัยมงกุฎมีความสำคัญเทียบเท่ากับเครื่องราชกกุธภัณฑ์อื่น แต่ต่อมาสยามในมีการติดต่อกับต่างประเทศมากขึ้นและยังปรากฎการล่าอาณานิคมจากชาติตะวันตกใกล้เข้ามา ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๔ ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะให้ไทยมีความทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ หนึ่งในพระราชกุศโลบายอันแยบยลของพระองค์คือการสร้างพระบารมีในฐานะพระมหากษัตริย์ผ่านทางพระมหาพิชัยมงกุฎ

ในขณะนั้น ได้มีข่าวว่าราชวงศ์อังกฤษได้เพชรขนาดใหญ่กว่า ๑๘๖.๖ กะรัต นามว่า โคอินัวร์ ( Koh I Noor ) มาประดับพระมหามงกุฎของกษัตริย์ ต่อมาสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียมีพระราชเสาวนีย์ให้เจียระไนเพื่อให้มีเหลี่ยมมุมที่สวยงาม จนเหลือเพียง ๑๐๕.๖ กะรัต ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๔ จึงมีพระบรมราชโองการให้ค้นหาเพชรที่มีความสวยงามและขนาดใกล้เคียงกันมาประดับพระมหาพิชัยมงกุฎ


จนท่านเจ้าคุณพระราชสมบัติ ผู้ที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยได้เดินทางไปหาเพชรน้ำงามที่ประเทศอินเดีย ค้นพบเพชรเม็ดที่ดีที่สุดในขณะนั้นที่เมืองกัลกัตตา ซึ่งมีขนาด ๔๐ กะรัต นำมาประดับยอดพระมงกุฎแทนพุ่มข้าวบิณฑ์ แล้วพระราชทานนามเพชรเม็ดนี้ว่า “ พระมหาวิเชียรมณี ” เพชรเม็ดนี้มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑.๖ เซนติเมตร สูงประมาณ ๑.๔ เซนติเมตร

ต่อมาล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๔ มีพระราชประสงค์ที่จะแผ่ขยายพระบารมีออกไปจึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เซอร์จอห์น เบาว์ริ่ง เจ้าเมืองฮ่องกงที่อยู่ในอาณัติของอาณานิคมอังกฤษ เข้าเฝ้าเพื่อชมพระมหาวิเชียรมณีบนยอดพระมหาพิชัยมงกุฎนี้ ว่าสยามก็มีเพชรที่น้ำงานไม่แพ้เพชรโคอินัวร์ของราชวงศ์อังกฤษ

Cr.อภิมันยุ​ ศิริคณะ

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: