632. ตามรอยหลวงปู่เณร สหธรรมิกหลวงปู่เอี่ยม

ในสมัยหลวงปู่เอี่ยมยังมีชีวิตอยู่ ท่านจะสหธรรมิกองค์หนึ่ง มีความสนิทสนมกันมาก ตามความคิดของแอดมิน ท่านน่าจะเป็นศิษย์สำนักเดียวกัน ท่านผู้นี้คือ หลวงปูเณร เวลาหลวงปู่เอี่ยม มีงานอะไร หลวงปู่เณรนำของมาช่วย เช่นพวกข้าวสารอาหารแห้ง ส่วนตัวท่านจะขี่ม้ามา หลวงปู่เณร ท่านเคยนำตะกรุดมหารูดมาแจกที่วัดสะพานสูง

เคยทดลองให้ชาวบ้านดูตอนงานวัด ให้คนหนึ่งผูกตะกรุดท่านที่เอว แล้วเอาเชือกมัดมือไขว้หลัง และให้วิ่งแข่งกับคนอื่นอีกหลายคน พอเริ่มออกวิ่ง คนที่ผูกตะกรุดท่าน จะลูดตะกรุดไปด้านหลัง ปรากฏว่าคนที่มีตะกรุดท่าน และถูกมัดมือไขว้หลัง เข้าเส้นชัยเป็นอันดับหนึ่ง

ตะกรุดหลวงปู่เณรไม่มีข้อห้ามอะไร ใครไปใช้จี้ปล้น ก็ยังมีอานุภาพอยู่ ส่วนตะกรุดหลวงปู่เอี่ยม ใครนำไปใช้ทางจี้ปล้น สุดท้ายก็ไม่พ้นตายโหงทุกคน เช่นเสือเพี้ยนหรือเสือผาด

ข้อมูลจากคนรุ่นเก่า ที่เคยเล่าเล่าเรื่องหลวงปู่เณร เขาก็เพียงทราบว่าท่านชื่อจริงชื่ออะไรไม่รู้ แต่เรียกท่านว่าหลวงปู่เณร ตามคำเรียกหาหลวงปู่เอี่ยม ข้อมูลอีกสองอย่างที่คนรุ่นเก่ารู้คือ ท่านอยู่วัดประดู่ทรงธรรม อยุธยา ท่านจะขี่ม้าไปอุปสมบทให้กุลบุตร แสดงว่าท่านเป็นอุปัชฌาย์ด้วย และยังต้องเป็นเจ้าอาวาสด้วย

เพราะสมัยนั้นไม่ได้เป็นเจ้าอาวาส ไม่มีสิทธิ์เป็นอุปัชฌาย์แน่นอน เมื่อแอดมินไปดูประวัติ อดีตเจ้าอาวาสวัดประดู่ทรงธรรม ไม่มีเจ้าอาวาสองค์ใดชื่อว่าเณร ตามความคิดของแอดมิน หลวงปู่เอี่ยม คงรู้จักท่านสมัยท่านเป็นสามเณร จึงเรียกท่านว่าเณรจนติดปาก แอดมินจึงนำประวัติเจ้าอาวาสทั้งสี่องค์ มาลงไว้เพื่อพิเคราะห์ ว่าหลวงปู่เณรท่านเป็นองค์ใดกันแน่

เจ้าอาวาสองค์ที่ 1 หลวงพ่อรอดเสือ
หลวงพ่อรอดเสือที่เรียกกันทั่วไปว่าหลวงพ่อรอดเสือ นี้ ได้มีการสันนิษฐานว่าอาจจะไม่ใช่ชื่อจริงของท่าน แต่คงนำเหตุการณ์ที่ท่านรอดมาจากเสือกินมาตั้งเป็นชื่อของท่าน หลวงพ่อรอดเสือเป็นศิษย์เก่าของวัดประดู่ ท่านได้ไปศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมที่วัดบางหว้าใหญ่ (วัดระฆังโฆสิตาราม) กรุงเทพฯ

แต่เป็นด้วยเหตุใดไม่ปรากฎท่านได้อพยพลงเรือบรรทุกหนังสือมาด้วยเต็มลำ พายขึ้นไปจนถึงบ้านกะมัง จ. พิจิตร จนเพลาเย็นจวนค่ำท่านก็จอดเรือ เพื่อที่จะจำวัดตรงท่าที่เสือลงมากินน้ำ ชาวบ้านเห็นว่าจะไม่ปลอดภัย จึงได้อาราธนาให้ท่านมาจอดเสียที่ฝั่งบ้านคนอยู่ แต่ท่านไม่ยอมมาเพียงแต่บอกว่าเสือก็อยู่ตามเสือ คนก็อยู่ตามคน

พอรุ่งเช้าท่านไม่เป็นอันตรายใดๆ ชาวบ้านเห็นเป็นอัศจรรย์จึงได้เอากัปปิยะจังหันมาถวายเป็นจำนวนมาก จากนั้นท่านก็พายเรือล่องมาจอดที่วัดนางชีซึ่งเป็นวัดร้างอยู่ริมแม่น้ำป่าสักหน้าวัดประดู่ เพื่อจะดูสถานที่สร้างวัดเป็นที่อยู่อาศัยต่อไป

เมื่อท่านได้พบสถานที่ที่เหมาะสมแล้วก็ได้สร้างกุฎิเพื่อเป็นที่พำนัก ต่อมาได้สร้างเสนาสนะอื่นๆรวมทั้งพระอุโบสถ วัดประดู่จึงได้มีพระสงฆ์อยู่จำพรรษาสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน จึงนับว่าหลวงพ่อเป็นเจ้าอาวาสองค์แรก ของวัดประดู่ในสมัยรัตนโกสินทร์

ได้มีการบอกเล่ากันว่าชาวบ้านกะมัง จ. พิจิตร ได้ติดตามมาคอยปรนนิบัติท่านที่อยุธยา จึงได้มีชื่อของบ้านกะมังหรือตำบลกะมัง ใน จ. พระนครศรีอยุธยา ในปัจจุบันนี้ หลวงพ่อรอดเสือ ท่านเป็นพระเถระที่ยอดเยี่ยมในวิชาอาคมที่มีชื่อเสียงมาก และในปัจจุบันนี้ก็ยังมี ีพระเจดีย์บรรจุอัฐิของท่าน ให้ประชาชนที่เคารพนับ ถือมากราบไหว ้กันอยู่ไม่ขาด ท่านปกครองวัดอยู่นานเท่าใดและมรณภาพเมื่อใดไม่ปรากฎเป็นหลักฐาน

เจ้าอาวาสองค์ที่ 2 หลวงพ่อม่วง
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ท่านเจ้าอาวาสของวัดประดู่ที่ทรงคุณธรรมพิเศษ หลายองค์ และมีชื่อเสียงในการลงเครื่อง ยันต์ของขลัง ตามตำราพิชัยสงคราม หลวงพ่อม่วงก็เป็นองค์หนึ่งที่มีชื่อเสียงในการลงเครื่องยันต์ของขลังมาแต่สมัยรัชกาลที่ 2, 3 และ 4 กรมพระพิทักษ์ยาเธอ (พระโอรสในสมัยรัชกาลที่2 ต้นตระกูลกุญชร ณ อยุธยา) ได้เสด็จวัดนี้เป็นประจำ และได้ทรงปฎิสังขรณ์พระวิหารด้วย ปี พ.ศ. 2405

เจ้าอาวาสองค์นี้ได้ปฎิสังขรณ์วัดโดยสร้างโบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ หอพระ และกุฎิใหญ่ๆ ทั้งยังได้อบรม พระภิกษุบวชใหม่ในข้อปฎิบัติได้เรียบร้อย เมื่อท่านมรณภาพถึงกำหนดการปลงศพของท่านต้องตั้งเมรุกลางทุ่ง เพราะเป็นงานใหญ่ ท่านปกครองวัดอยู่นานเท่าใด มีอายุพรรษาเท่าใด และมรณภาพเมื่อไร นั้นไม่ปรากฎหลักฐาน

เจ้าอาวาสองค์ที่ 3 หลวงพ่อสี สุวณฺณโชติ
พระอุปัชฌาย์สี มีภูมิลำเนาอยู่บ้านคานหาม อ. อุทัย จ. พระนครศรีอยุธยา ท่านป็นผู้มีความรู้วิชาศิลปหลายประการ โดยเฉพาะฉันทศาสตร์ (ตำราคัมภีร์ผูกโคลงฉันท์ กาพย์ กลอน) จึงมีพระภิกษุบวชใหม่มาศึกษาเล่าเรียนจำนวนมาก ท่านได้เป็นผู้ปฎิสังขรณ์วัดเขาดิน ต. ธนู อ. อุทัย และวัดประสาท ต. หอรัตนไชย จ. พระนครศรีอยุธยา

เมื่อ ร.ศ.112 ไทยเกิดกรณีพิพาทกับฝรั่งเศสเรื่องดินแดนอินโดจีน กรมสังฆการีได้อาราธนาท่าน ไปแจกพระเครื่องให้แก่ทหารหาญในการรบครั้งนั้น เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ การอบรมสั่งสอนของท่าน จะเป็นบทเป็นกลอนทั้งสิ้น ดังเช่น บทเห่กล่อมเรื่องกาเหว่าเป็นต้น หลวงปู่สี มรณภาพเมื่อ พ.ศ. 2433 รวมอายุ 73 ปี พรรษาที่ 52

เจ้าอาวาสองค์ที่ 4 หลวงพ่อเลื่อง
ท่านถือกำเนิดเมื่อวันเสาร์ เดือน 8 ปีจอ พ.ศ. 2405 ณ บ้านคานหาม อ. อุทัย จ. พระนครศรีอยุธยา โยมบิดาชื่ออ่อน โยมมารดาชื่อสิน ท่านมาอยู่วัดประดู่เมื่ออายุ 10 ปี กับพระอุปัชฌาย์สี ซึ่งเป็นตาของท่าน ต่อมาได้บรรพชาเป็นสามเณรผละอุปสมบทเป็นพระภิกษุเมื่อ พ.ศ. 2425 มีฉายาว่า สีลวฑุฒโน โดยมีหลวงพ่อสีเป็นพระอุปัชฌาย์ พ.ศ. 2451 ท่านได้รับสมณศักดิ์เป็นพระครูสุทธิธรรมาจารย์ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอรอบกรุง ต่อมา พ.ศ. 2457 ได้เป็นพระวิสุทธาจารย์

ครั้งสุดท้ายได้รับสมณศักดิ์เป็นพระวิสุทธาจารย์เถระสังฆปาโมกข์ได้รับพระราชทานพัดรองตรารัตนาภรณ์ ชั้นที่ 4 กับได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และผู้ช่วยเจ้าคณะมณฑลอยุธยา ทั้งยังเป็นผู้กำกับการพระพุทธบาท จ. สระบุรี หลวงพ่อเลื่อง ได้ลงเครื่องทูลเกล้าฯ ถวายหลายคราวซึ่งปรากฎในหนังสือพระราชหัตเลขา

เรื่องเสด็จประพาสลำน้ำมะขามเฒ่า ตอนหนึ่งว่า 27 ตุลาคม 2451 วันนี้ได้นิมนต์พระเลื่องมาลงเครื่องตามแบบพระอาจารย์สี ลงพระแสงถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทำพิธีชุบที่วัดตูมในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อาราธนาท่านลงเลขยันต์และอักขระ ธงกระบี่รุช พระครุฑพ่าห์ ตามแบบของเดิมและให้ทำพิธีที่วัดตูมแล้วต่อเนื่องมาลงตะกรุดพิศมร ตะบองเพชร เป็นประจำทุกปี แต่ในการลงยันต์และอักขระนั้น ท่านได้เกิดอาพาธจะเป็นด้วยเหตุใดไม่ทราบได้

ท่านเป็นผู้สนับสนุนเรื่องการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง จะเห็นได้จากการที่ท่านจัดตั้งการเรียนการสอนขึ้นเอง โดยมีผู้สอนคือ พระเทียม บ้านอยู่ ต. หันตรา พระเฉียบ บ้านอยู่ ต. คานหาม พระพรหม กาญจนประภา บ้านอยู่ อ. ภาชี พระสุวรรณ มีผลกิจ บ้านอยู่คลองปากข้าวสาร ตั้งอยู่ได้ 3-4 ปี

เมื่อพระเหล่านั้นลาสิกขาบทก็ยุบเลิกไปต่อมาไม่ช้าไม่นานก็จัดขึ้นอีก โดยมีครูปลื้มเป็นผู้สอน แต่อยู่ได้เพียง 3-4 ปี ก็เลิกอีก ต่อมาได้ตั้งเป็นโรงเรียนสาขาประจำมณฑลอยุธยา มีครูไข่ ครูอิน สารีบุตร เป็นผู้สอนแล้วเลยตั้งเป็นโรงเรียนประถมหัตกรรม มีการสอนวิชาช่างไม้ ช่างกลึง โดยมีพระอาจารย์เหม็ง (ต่อมาเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 5 ) เป็นผู้สอนจนได้ประกาศนียบัตร แต่ก็ต้องยกเลิกไปเมื่อ พ.ศ. 2463

ในการก่อสร้างต่างๆ นั้น ท่านได้ซ่อมแซมศาลาการเปรียญซึ่งเป็นแบบโบราณและหมู่กุฎิสงฆ์ ท่านได้สร้างพระเจดีย์ใหญ่องค์หนึ่งสำหรับบรรจุอัฐิเจ้าอาวาส แต่ยังมิได้บรรจุแต่อย่างใด ต่อมาท่านได้สร้างสะพานไม้ (แทนของเดิม) ตั้งแต่วัดจนถึงท่าน้ำหน้าวัดยาวประมาณ 14 เส้น โดยใช้ไม้สัก ส่วนเสาทำด้วยไม้มะค่าแต้

และแล้วท่านก็ได้เดินสะพานนี้เพียงครั้งเดียว คือเมื่อไปปลงศพเจ้าคณะอำเภอบางปะอินแล้วเกิดอาพาธ กลับมาถึงก็มรณภาพ เมื่อวันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2464 อายุ 60 ปี พรรษาที่ 39 พระราชทานเพลิงศพ ณ วัดประดู่ทรงธรรม เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2465 ในการนี้ได้รับพระราชทานหีบเพลิงพร้อมด้วยเงิน 1,000 สตางค์ ผ้าขาว 2 พับ ผ้าไตร 1 ไตร

เมื่อดูข้อมูลทั้งหมดของเจ้าอาวาสทั้งสี่องค์ หลวงปู่รอด(เสือ)น่าจะปกครองวัดตั้งแต่งต้นกรุงรัตนโกสินทร์ องค์นี้น่าจะอาวุโสกว่าหลวงปู่เอี่ยมมาก พอมาดูเจ้าอาวาสองค์ที่สอง หลวงพ่อพ่อม่วง แม้ไม่มีประวัติว่าเกิดเมือไหร่ ปกครองวัดเมื่อไหร่ แต่ถ้าดูจากอายุจากเจ้าอาวาสองค์ที่สาม ท่านจะน่ามีอายุมากกว่าหลวงปู่เอี่ยม ส่วนเจ้าอาวาสองค์ที่สี่ หลวงพ่อเลื่อง ประวัติชัดเจนว่าเกิด พ.ศ.๒๔๐๕ นั้นอายุน้อยกว่าหลวงปู่เอี่ยมมาก

แอดมินจึงขอตั้งสันนิษฐานว่า หลวงปู่เณร ต้องเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่สามแน่ เพราะหลวงปู่สี ท่านเป็นพระอุปัชฌาย์ด้วย และปีที่ท่านมรณภาพ พ.ศ.๒๔๓๓ อายุได้๗๓ปี เมื่อมาเทียบอายุหลวงปู่เอี่ยม จะอ่อนกว่าหลวงปู่เอี่ยมเพียงแค่หนึ่งปี
ปล.ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนของท่านเจ้าของด้วย

ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก : ศิษย์สายวัดสะพานสูง
นำเสนอโดย : แอพเกจิ – AppGeji

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: