6314.พระคลัง ในพระคลังมหาสมบัติ

พระคลัง ในพระคลังมหาสมบัติ
นับถือกันว่า “ พระคลัง” เปรียบดั่งเทพผู้พิทักษ์รักษาทรัพย์สินมีค่าในพระคลังมหาสมบัติ เชื่อถือกันมาช้านานว่าเป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การเคารพบูชาและเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของข้าทูลละอองธุลีพระบาท ที่รับราชการในพระคลังมหาสมบัตินับจากรุ่นสู่รุ่นสืบต่อกันมาจนถึงยุคปัจจุบัน

ดังจะเห็นได้จาก การที่ชาวกรมธนารักษ์ยังคงสืบทอดประเพณี “ ถวายเครื่องสังเวย” เทวรูปพระคลัง หรือ ที่ชาวกรมธนารักษ์เรียกกันว่า “ พิธีไหว้เจ้าพ่อคลัง ” ขึ้นทุกปีอย่างสม่ำเสมอมิได้ขาด เพื่อขอให้ความเป็นสิริมงคลเกิดขึ้นแก่ผู้สักการบูชา

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ์ ผู้ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติพระองค์แรก

ทรงกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตสร้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คุ้มครองปกปักรักษาพระราชทรัพย์ของแผ่นดินขึ้น เพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวแก่ข้าทูลละอองธุลีพระบาทที่รับราชการในพระคลังมหาสมบัติ ให้มีขวัญกำลังใจ ให้ยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริต

ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเทวรูปขึ้นประดิษฐานไว้ในอาคารที่ตั้งของพระคลังมหาสมบัติ

โดยมีเทวลักษณะ คือ เป็นประติมากรรมลอยองค์ หล่อด้วยสำริดปิดทอง ขนาดความสูงประมาณ ๑๒ นิ้ว หรือประมาณ ๓๒ เซนติเมตร ในลักษณะท่าประทับยืน ทรงเครื่องแบบจักรพรรดิราช พระเศียรทรงศิราภรณ์ลักษณะคล้ายพระมงกุฎ พระพักตร์กลมรี พระโอษฐ์อมยิ้ม แต่งพระองค์ด้วยเครื่องถนิมพิมพาภรณ์ประกอบด้วย กรองศอ สร้อยสังวาล ทับทรวง ต้นพาหาทั้งสองข้างประดับด้วยพาหุรัด พระหัตถ์ขวาถือพระแสงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายถือดอกบัวตูม สวมพาหุรัด คาดสายรัดพระองค์และปั้นเหน่ง ทรงผ้านุ่งยาวลายยกดอก ประดับด้วยชายไหวชายแครง ฉลองพระบาทเชิงงอน ประทับยืนบนแท่นฐานบัวลูกแก้ว รองรับด้วยพานรองทองเหลืองปากผายขอบกลีบบัว แล้วพระราชทานพระนามว่า “ พระคลัง ”

แล้วเชิญประดิษฐานอยู่ภายในซุ้มเรือนแก้วแบบเก๋งจีนทำด้วยไม้จันทน์ทาชาดสีแดง มีประตูเป็นบานเฟี้ยมถอดได้ แกะสลักลวดลายแบบจีน ลงรักปิดทอง

โดยสร้างให้มีลักษณะบางส่วนคล้าย ” พระสยามเทวาธิราช ” ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นดั่งเทพที่คอยอภิบาลปกป้องราชอาณาจักรสยาม

จากเทวลักษณะ ” พระคลัง ในพระคลังมหาสมบัติ ” ที่กล่าวมาข้างต้น แสดงให้เห็นว่าพระคลังถูกสร้างในความเชื่อของเทพผู้คุ้มครองรักษา เนื่องจากพระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ หมายถึงการพิทักษ์ปกป้องรักษา พระหัตถ์ซ้ายถือดอกบัว หมายถึงความอุดมสมบูรณ์หรือทรัพย์สมบัติ ซึ่งได้รับอิทธิพลทางศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู จากอินเดียมาตั้งแต่สมัยโบราณ รวมทั้งลักษณะยืนตรงยังสื่อความหมายถึงการรักษาด้วยความแข็งแรงมั่นคงอีกด้วย

ในปี พ.ศ. ๒๕๕๖ กรมธนารักษ์ได้จัดสร้างเทวรูปพระคลังจำลอง ประดิษฐานอยู่ภายในวิมานทรงแปดเหลี่ยม ให้ประชาชนผู้ที่เลื่อมใสศรัทธากราบไหว้บูชา ภายในบริเวณพิพิธภัณฑ์เหรียญ ตั้งอยู่บนถนนจักรพงษ์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร และ บริเวณกระทรวงการคลัง ถนนพระราม ๖ แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร
Cr.อภิมันยุ​ ศิริคณะ

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: