6313. ตำนานเสาร้องไห้ นางตะเคียนร้องไห้

(เป็นความเชื่อส่วนบุคคล โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน)
ในแม่น้ำป่าสัก บริเวณ อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี มีตำนานอมตะที่อยู่คู่กับสายน้ำแห่งนี้มาอย่างยาวนานหลายสิบปี ชาวอำเภอเสาไห้ได้ให้ความเคารพศรัทธาถือเป็นสิ่งสำคัญประจำท้องถิ่นอำเภอและของจังหวัดสระบุรี สร้างความศรัทธาให้กับชาวบ้านเสาไห้ นั่นคือ…. เจ้าแม่ตะเคียนทอง หรือ ”เสาร้องไห้ “

ตำนานเสาร้องไห้ เริ่มเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๐๑ ในคืนแห่งความมืดวันหนึ่ง นางเฉลียว จันทร์ประสิทธิ์ ชาวบ้านผู้ใจบุญ ได้ฝันว่า มีหญิงสาวคนหนึ่ง รูปร่างเลือนรางบอกว่า เป็นนางไม้ประจำเสาที่จมน้ำอยู่ ให้บอกสามีเอาเสาขึ้นมาจากน้ำด้วย นายเผ่าผู้เป็นสามีก็ไม่เชื่อ มีคนเล่าต่อกันมาว่า นางไม้ของเสาต้นนี้ได้ไปเข้าทรงกับผู้อื่นอีกหลายครั้ง จนในที่สุดชาวบ้านหลายคนก็ได้ไปร้องขอให้นายเผ่าเอาเสาต้นนี้ขึ้นมาให้ได้ ตามคำล่ำลือ จนนำมาสู่การนำเอาเสาขึ้นมาจากน้ำ เมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๐๑ และในวันนี้เอง ได้รับคำบอกเล่าจากนายจำลอง ขาววรรณะ ว่า

ในวันที่ ๒๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๑ แดดร้อนจัดมากขณะที่กำลัง นำเสาขึ้นจากน้ำ ฉับพลันท้องฟ้าก็มืดครื้มไปหมดทันที มีเสียงฟ้าผ่าดังมากเป็นประกายสีเขียวไปทั่ว เสียงฟ้าร้องคำรามทำท่าคล้ายฝนจะตก ทำให้ผู้คนที่มาเข้าร่วมพิธีกันเป็นจำนวนมากต่างตื่นตาตื่นใจและดีใจกันทั่วหน้าที่สามารถนำเสาศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาจากน้ำได้ในที่สุด

คำบอกเล่าต่อกันมาว่าเสาตะเคียนต้นนี้ เป็นเสาที่จะนำไปเป็นเสาเอกในสมัยสร้างกรุงเทพเป็นราชธานี โดยถูกส่งลอยน้ำมาในแม่น้ำป่าสัก แต่การเดินทางช้าไป ทางกรุงเทพจึงได้เลือกเสาต้นอื่นเป็นเสาเอกแทน เสาต้นนี้จึงลอยทวนน้ำมาจมอยู่บริเวณคุ้งน้ำป่าสัก อ.เสาไห้ และในยามค่ำคืนมักมีชาวบ้านได้ยินเสียงร้องไห้ขึ้นมาจากท้องน้ำป่าสัก จึงกลายมาเป็นตำนานเสาร้องไห้ ซึ่งชาวบ้าน อ.เสาไห้เชื่อว่าเป็นเสียงร้องจากเจ้าแม่ตะเคียนทอง เป็นเรื่องเล่าและความเชื่อมาจนถึงทุกวันนี้

ในวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๐๑ เป็นวันที่เชิญเสาไปประดิษฐานที่วัดสูง เวลา ๙.๐๐ น. เริ่มพิธีเคลื่อนเสาไปสู่วัดสูง โดยตั้งศาลสูงเพียงตา มีหัวหมูซ้ายขวา บายศรี ๓ ชั้น ใช้ด้ายสายสิญจน์ผูกที่เสาแล้วใช้เชือกผูกแพที่รับเสา ให้ประชาชนดึง เมื่อได้ฤกษ์ พระสงฆ์ 9 รูปเจริญชัยมงคลคาถา ประชาชนที่อยู่บนฝั่งหน้าที่ว่าการอำเภอเสาไห้ก็ดึงเชือกแพลูกบวบให้เคลื่อนไปทางทิศตะวันออก มีเรือแตรวงนำขบวน มีเรือต่างๆร่วมขบวนอีกเป็นจำนวนมาก เมื่อได้เคลื่อนแพเสามาถึงท่าถนนข้างโรงสีเสาไห้แล้ว ก็ใช้เกวียน ๔ เล่ม ผูกเสาไว้ใต้เกวียน แล้วมัดยอดเสาให้พ้นดินเล็กน้อย ผูกด้วยเชือกโยงเรือขนาดใหญ่มัดจากเกวียนไปให้ถึงประชาชนเสาก็เคลื่อนไปข้างหน้าด้วยดี

เมื่อขบวนมาถึงใกล้ศาลเจ้าพ่อซึ่งอยู่ทางแยกเข้าวัดสูงนั้น แม้จะดึงฉุดอย่างไรเกวียนก็ไม่ยอมเคลื่อนที่ทั้งที่ถนนราบเรียบ จึงได้พยายามแก้ไขจนเสียเวลาไปถึง ๒ ชั่วโมง นายเผ่า จันทร์ประสิทธิ์ ก็ระลึกได้ว่า เมื่อนางไม้เริ่มเข้าทรงครั้งแรกนั้นได้บอกเพียงว่าใช้สายสิญจน์ให้ประชาชนดึงแทนเชือก จึงได้เปลี่ยนมาใช้ด้ายสายสิญจน์แทนเชือกใหญ่ ขบวนเกวียนก็สามารถเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างง่ายดายเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์ใจยิ่งนัก 10 นาทีก็ถึงวัดสูง เมื่อเวลา ๑๔.๓๐ น. บังเกิดความประหลาดใจโดยทั่วกัน จากนั้นก็นำเสาประดิษฐานไว้ที่ศาลชั่วคราว

ในวันนั้นที่นำเสาขึ้นจากน้ำมีประชาชนมาร่วมพิธีเป็นจำนวนมากประมาณสามหมื่นคน นับเป็นวันประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของชาวอำเภอเสาไห้ที่ต้องจารึกไว้ ต่อมาจึงได้สร้างศาลถาวรขึ้นที่หน้าพระอุโบสถในวัดสูง เป็นศาลกว้าง ๔ เมตร ยาว ๑๕ เมตร มีมุขออกด้านตะวันออก พื้นคอนกรีต มีฐานก่ออิฐสูงรองรับเสาตะเคียน ต่อมาเมื่อวัดสูงได้สร้างศาลาการเปรียญหลังใหม่ขึ้น จึงได้ดัดแปลงศาลาการเปรียญหลังเดิมเป็นอาคารทรงไทยสวยงาม และอัญเชิญเสาแม่นางตะเคียนมาประดิษฐานที่ศาลหลังใหม่ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๐ มาจนถึงทุกวันนี้

แม่นางตะเคียน วัดสูง อำเภอเสาไห้ ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชาวอำเภอเสาไห้ และยังคงได้รับการสักการะจากผู้คนที่เชื่อถือ ศรัทธามาโดยตลอด เทศบาลตำบลเสาไห้ได้จัดสรรงบประมาณเพื่อส่งเสริมงานประเพณีอาบน้ำแม่นางตะเคียน เนื่องในเทศกาลสงกรานต์ที่วัดสูงเป็นประจำทุกปี โดยงานจะจัด ขึ้นในวันที่ ๒๓ เมษายน มีสามวันสามคืน เพื่อสืบสานงานประเพณีท้องถิ่นให้คงอยู่คู่กับ อ.เสาไห้ จ.สระบุรีสืบไป.

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก ประวัติศาสตร์ชาติไทยก่อนและหลัง พ.ศ ๒๔๗๕
แอพเกจิ แอพรวมเรื่องราวประสบการณ์จริง เกี่ยวกับ พุทธคุณ ไสยศาสตร์ วิชาอาคม

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: