6309. ‘โขนไทย’ ที่คนไทยต้องรู้

“โขน” กลับมาเป็นข่าวอีกครั้ง เมื่อองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ประกาศรับรอง “โขนไทย” มรดกโลกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ และ “ละครโขน” (Lkhon Khol Wat Svay Andet) โขนรูปแบบหนึ่งจากประเทศกัมพูชา เป็นมรดกวัฒนธรรมอันจับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ที่ต้องได้รับการปกป้องอย่างเร่งด่วนด้วย เมื่อแยกกันชัดเจนเช่นนี้ ประเด็นโขนเป็นของประเทศไหนจึงไม่มีประโยชน์ที่จะมาถกเถียงให้ขัดแย้งกันอีกต่อไป จึงมีเพียงประเด็นคนไทยควรทำความรู้จักโขนไทยให้มากขึ้น

“มหรสพสมโภช” โดย “เสาวณิต วิงวอน” ตีพิมพ์ใน นิตยสารศิลปากร ปีที่ ๕๖ ฉบับที่ ๖ เล่าถึงประวัติศาสตร์โขนไทยเอาไว้อย่างรอบด้าน และครบถ้วน ดังนี้

โขนเป็นเสมือนเครื่องราชูปโภคอย่างหนึ่งของพระมหากษัตริย์ไทย ในอดีตพระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฝึกหัดบรรดามหาดเล็กหลวงไว้เพื่อแสดงโขนในงานพิธีหลวงต่างๆ ทั้งในและนอกพระราชวัง โขนจึงเป็นของต้องห้ามสำหรับผู้อื่นที่จะแสดง แต่ในชั้นหลังปรากฏความนิยมว่าการฝึกหัดโขนนั้นทำให้ชายหนุ่มที่ได้ฝึกหัดแคล่วคล่องว่องไวในกระบวนรบ จึงมีพระบรมราชานุญาตให้เจ้านาย ขุนนางผู้ใหญ่ และเจ้าเมืองมีโขนในครอบครองได้ เพราะเป็นประโยชน์ต่อราชการแผ่นดิน โอกาสที่แสดงโขนจึงกว้างขวางขึ้นกว่าเดิม ดังมีหลักฐานต่อไปนี้

๑.มหกรรมบูชา ได้แก่ การฉลองหรือสมโภชทางพระพุทธศาสนา เช่น ในสมัยอยุธยารัชกาลสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ มีโขนสมโภชพระบรมธาตุชัยนาท รัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ มีโขนสมโภชพระพุทธบาทสระบุรี ครั้งสมโภชพระแก้วมรกตในรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมีโขน ๗ โรง เป็นโขนโรงใหญ่ ๒ โรง และโขนช่องระทา ๕ โรง

ในสมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชครั้งฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีโขนชุดหนุมานลักท้าวมหาชมพู ครั้งฉลองวัดพระเชตุพนฯ มีโขนชุดพิธีอุโมงค์ และมีโขนบนรถล้อเลื่อนในงานผนวชสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีโขนสมโภชพระแก้วมรกต ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีโขนฉลองผ้าป่าคราวเสด็จบางปะอิน เป็นต้น

๒.เนื่องในพระราชพิธีในสมัยอยุธยารัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการพระราชพิธีออกสนามคือ คเชนทรัศวสนาน และมีมหรสพต่างๆ สมโภช และกล่าวถึงโขนเป็นการแสดงอย่างหนึ่งในนั้น โขนมีความเกี่ยวข้องกับพระราชพิธีดังที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ไว้ในตำนานละครอิเหนา ว่า

…การเล่นแสดงตำนานเป็นส่วนหนึ่งในการพิธี เกิดเพิ่มเติมขึ้นโดยลำดับมาจนการเล่นแสดงตำนานกลายเป็นการที่มีเนืองๆ จึงเป็นเหตุให้ฝึกหัดโขนหลวงขึ้นไว้สำหรับเล่นในการพระราชพิธี และเอามหาดเล็กหลวงมาหัดเป็นโขนตามแบบแผนซึ่งมีอยู่ในตำราพระราชพิธีอินทราภิเษก เพราะเป็นลูกผู้ดี ฉลาดเฉลียว ฝึกหัดเข้าใจง่าย ใครได้เลือกก็ยินดีเสมอได้รับความยกย่องอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นจึงได้เป็นประเพณีสืบมาจนชั้นกรุงรัตนโกสินทร์นี้

ในสมัยประชาธิปไตยยังคงมีการแสดงโขนในงานรัฐพิธีหลายครั้ง นายธนิต อยู่โพธิ์ กล่าวไว้ในหนังสือโขนว่า  “ดูประหนึ่งถือเป็นประเพณีที่ต้องจัดให้มีแสดงโขนเป็นประจำปี ณ ท้องสนามหลวงปีละ ๓ คราว คือ ในวันมีงานฉลองรัฐธรรมนูญ ในงานฉลองวันขึ้นปีใหม่ ในรัฐพิธีฉลองวันสงกรานต์” นอกจากนี้ยังมีการแสดงโขนรวมอยู่ในนาฏศิลป์ประเภทอื่นๆ ไปเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม ณ ต่างประเทศ เป็นเสมือนทูตสันถวไมตรีกับนานาประเทศจนกระทั่งทุกวันนี้

๓.งานศพ จดหมายเหตุลาลูแบร์กล่าวว่า “โขนและระบำนั้นมักหากันไปเล่น ณ งานปลงศพและบางทีก็หาไปเล่นในงานอื่นๆ บ้าง” แสดงว่ามีการแสดงโขนในงานศพมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ในสมัยธนบุรีมีโขนในงานพระศพกรมขุนอนิทรพิทักษ์เป็นโขนโรงใหญ่ ๒ โรง โขนช่องระทา ๗ โรง รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชคราวงานถวายพระเพลิงพระบรมอัฐิสมเด็จพระชนกาธิบดี พระราชพงศาวดารกล่าวว่า
เมื่อเชิญพระบรมอัฐิออกสู่พระเมรุแล้ว มีการมหรสพครบทุกสิ่ง

…โขนชักรอกโรงใหญ่ ทั้งโขนวังหลวงและวังหน้า แล้วประสมโรงเล่นกลางแปลง เล่นเมื่อศึกทศกัณฐ์ยกทัพกับ ๑๐ ขุน ๑๐ รถ โขนวังหลวงเป็นทัพพระราม ยกไปแต่ทางพระบรมมหาราชวังโขนวังหน้าเป็นทัพทศกัณฐ์ยกออกจากพระราชวังบวรฯ มาเล่นรบกัน ในท้องสนามหน้าพลับพลา ถึงมีปืนบาเหรี่ยมรางเกวียนลากออกมายิงกันดังสนั่นไป

โคลงของกรมหมื่นศรีสุเรนทร์บันทึกไว้ว่า มีโขนโรงประชันกัน โรงหนึ่งเล่นชุดถวายแหวนอกี โรงหนึ่งเล่นชุดศึกอนิทรชิตงานพระเมรุพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็มีโขนงานพระเมรุสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์ งานพระศพพระองค์เจ้าดวงจันทร์ พระองค์เจ้าสำอางในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวล้วนมีโขนด้วยกันทั้งสิ้น ความนิยมเรื่องการแสดงโขนในงานศพยังคงอยู่กระทั่งปัจจุบัน

๔.งานบรมราชาภิเษกและอภิเษกสมรสในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คราวงานบรมราชาภิเษกครั้งหลัง ปีระกา พุทธศักราช ๒๔๑๖  “ในวัน ๑๓ – ๑๔ – ๑๕ ค่ำมีโขน…”  และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๔๕๔ “เวลาค่ำวันนี้
มีมหรศพวิเศษโขนหลวงเฉพาะการบรมราชาภิเษกสมโภชเฉลิมพระเกียรติยศที่โรงโขนหลวง ณ สวนมิสกวัน” ส่วนงานอภิเษกสมรสปรากฏในบทละคร

เรื่องอิเหนา พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ตอนงานอภิเษกบุษบากับจรกา
กล่าวว่ามีการแสดงโขนในมหรสพสมโภช ดังนี้
พวกโขนเบิกโรงแล้วจับเรื่อง สื่อเมืององคตพดหาง
ตลกเล่นเจรจาเป็นท่าทาง ทั้งสองข้างอ้างอวดฤทธี

ในเรื่องพระอภัยมณี กล่าวถึงโขนเป็นหนึ่งในมหรสพสมโภชตอนพระอภัยมณีอภิเษกกับนางสุวรรณมาลี

๕.งานบันเทิงและบำรุงศิลปะการแสดงโขนมีจุดประสงค์อย่างหนึ่งคือเพื่อความบันเทิง ในขณะเดียวกันเป็นการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมไปด้วย เช่น โขนสมัครเล่นของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ แสดงในงานเปิดโรงเรียนนายร้อย (ทหารบก) ชั้นมัธยม พุทธศักราช ๒๔๕๒ ระบุจุดประสงค์ในการแสดงว่า

…จะให้ผู้ที่คุ้นเคยชอบพอกันและที่เป็นคนชั้นเดียวกันมีความรื่นเริง และเพื่อจะได้ไม่หลงลืมว่าศิลปวิทยาการเล่นเต้นรำไม่จำจะต้องเป็นของฝรั่งจึงจะดูได้ ของโบราณของไทยเรามีอยู่ไม่ควรจะให้เสื่อมสูญไปเสีย…ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงจัดแสดงโขนชุดนางลอย ณ สวนจิตรลดารโหฐาน พุทธศักราช ๒๔๖๔เพื่อเก็บเงินบำรุงเสือป่า

ในรัชกาลที่ ๙  สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชประสงค์ที่จะทรงอนุรักษ์การแสดงโขนให้คงอยู่เป็นสมบัติอันทรงคุณค่าทางวัฒนธรรมไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการแสดงโขนพระราชทานตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๕๐ เป็นต้นมา ดังนี้

พุทธศักราช ๒๕๕๐ และพุทธศักราช ๒๕๕๒ ชุดพรหมาศ พุทธศักราช ๒๕๕๓ ชุดนางลอย พุทธศักราช ๒๕๕๔ ชุดศึกมัยราพณ์ และพุทธศักราช ๒๕๕๕ ชุดจองถนน ทั้งนี้ มีพระราชเสาวนีย์ให้จัดสร้างเครื่องแต่งกายโขนขึ้นใหม่ ปรับปรุงวิธีการแต่งหน้าโขนให้เหมาะสมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ด้วยหน่วยงานของรัฐ

คือ กรมศิลปากรมีหน้าที่จัดการแสดงโขนให้ประชาชนชมเป็นประจำ นับแต่ตั้งโรงเรียนนาฏดุริยางคศาสตร์ ในพุทธศักราช ๒๔๗๗ และเปลี่ยนเป็นโรงเรียนนาฏศิลป ในพุทธศักราช ๒๔๘๘ นักเรียนได้มีส่วนร่วมแสดงโขนในงานสำคัญหลายครั้ง รายการที่กรมศิลปากรจัดแสดงให้ประชาชนชม เช่น ในพุทธศักราช ๒๔๙๐ แสดงชุดนางลอย ในพุทธศักราช ๒๔๙๕ แสดงชุดหนุมานอาสา เป็นต้น

การแสดงโขนสำหรับประชาชนยังมีต่อเนื่องมาถึง ปัจจุบัน เช่นในปฏิทินการแสดงประจำปี ๒๕๕๖ ของกรมศิลปากร โดยสำนักการสังคีต กำหนดแสดงโขนชุดหนุมานชาญสมรและชุดอินทรชิตฤทธี ที่โรงละครแห่งชาติ กรุงเทพฯ และมีการแสดงโขนชุดนางลอย-ยกรบ ที่โรงละครแห่งชาติภาคตะวันตก สุพรรณบุรี เป็นต้น ทั้งนี้เป็นการอนุรักษ์และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมของชาติโดยเฉพาะการแสดงโขนจะบรรจุอยู่ในรายการประจำปีตลอดมา

๖.งานรับรอง เมื่อมีอาคันตุกะจากต่างประเทศมาเยือนประเทศไทย โขนมักเป็นการแสดงที่ใช้ในการรับรองเสมอ เช่น พุทธศักราช ๒๕๐๕ แสดงโขนชุดหนุมานอาสา รับรอง ฯพณฯ พลเอกเนวิน ประธานสภาปฏิวัติแห่งสหภาพพม่า พุทธศักราช ๒๕๐๗ แสดงโขนชุดมัยราพณ์สะกดทัพถวายสมเด็จพระราชาธิบดีโบดวงและสมเด็จพระราชินีฟาบิโอลาแห่งเบลเยียมเมื่อพุทธศักราช ๒๕๑๐ แสดงโขนชุดศรเหราพตรับรอง ฯพณฯ ฟรานซ์ โยนาส ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐออสเตรีย เป็นต้น

นอกจากรับรองอาคันตุกะแล้ว โขนยังใช้แสดงรับบุคคลสำคัญของชาติด้วย เพราะถือเป็นเครื่องหมายแสดงความยินดี ดังในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พุทธศักราช ๒๔๔๐ เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับจากเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก พระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาท ซึ่งมีกรมหมื่นปราบปรปักษ์ (พระยศขณะนั้น) กับเจ้าพระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์เป็นแม่งานจัดโขนกลางแปลง

ที่ท้องสนามหลวงสมโภช และกราบบังคมทูลเชิญเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร โขนแสดงในวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ จับตอนเสร็จศึกลงกา พระรามคืนนครอยุธยา พระชนนีเสด็จออกไปรับพระรามเข้าเมืองแล้วให้มีงานสมโภช หนังสือพิมพ์สยามไมตรีฉบับวันอังคารที่ ๘ และวันอังคารที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ร.ศ.๑๑๖ รายงานว่างานโขนกลางแปลงนี้ใหญ่กว่างานอื่นๆ เท่าที่เคยมีมามีผู้แสดงถึง ๘๐๐ คนเศษ เครื่องแต่งตัวทำขึ้นใหม่ทั้งหมด การตกแต่งสถานที่ทำเหมือนจริงทุกอย่าง เช่น

ฝ่ายกรุงศรีอยุธยานั้น ทำเป็นปราสาทราชฐาน มีกำแพงเมือง มีประตู หอรบ ป้อม เสมาธง เหมือนเมืองจริงๆ ถึงเวลาใครมีบทปีนต้นไม้ก็ปีนต้นไม้ขึ้น ไปจริงๆ ถึงตอนที่พวกกะเหรี่ยงได้ยินเสียงเป่าเขาควาย ก็มีพวกกะเหรี่ยงออกมาจากช่องเขาตอนพระรามจะยกเข้าเมือง พวกชาวเมืองมีความยินดี จัดให้ยกเอาโต๊ะตั้งเครื่องบูชาออกมาตั้งจริงๆ และในเมืองนั้นก็ได้ทำการรับเสด็จผูกผ้าแดงมีธงทวิ

เช่นที่นิยมปฏิบัติในปัจจุบันอาจมีผู้เข้าใจว่าโขนแสดงแต่เฉพาะในงานศพ ที่จริงตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้วเห็นว่ามีการแสดงโขนในหลายโอกาสอย่างกว้างขวาง กล่าวได้ว่าทุกคราวที่มีงานใหญ่และสำคัญจะมีโขนอยู่ด้วยเสมอ ควรนับว่าเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดสวัสดิมงคล ประการหนึ่งเพราะจากต้นกำเนิดของโขนคือการชักนาคดึกดำบรรพ์

หรือการเล่นดึกดำบรรพ์นั้นเป็นสิ่งที่เป็นมงคลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพยังทรงกล่าวไว้ว่า การเล่นในพระราชพิธีอินทราภิเษกนี้ “ก็คือการเล่นแสดงตำนานในไสยศาสตร์เพื่อแสวงสวัสดิมงคล มาแต่มูลเหตุอันเดียวกันกับที่เล่นโขนเรื่องรามเกียรติ์…” ดังนั้นการแสดงโขนซึ่งเป็นตำนานของพระนารายณ์อวตารจึงไม่มีความอัปมงคลอันใด การแสดงโขนนั้นเกี่ยวกับการสมโภช แม้ในงานศพดังที่ปรากฏในงานพระเมรุตั้งแต่อดีตก็เรียกว่า “มหรสพสมโภช”

เช่น คราวงานถวายพระเพลิงพระบรมอัฐิสมเด็จพระชนกาธิบดี พระราชพงศาวดารกล่าวว่า “เครื่องมหรสพสมโภชเหมือนอย่างการพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดินครั้งกรุงเก่า” ในเรื่องอิเหนา ตอนงานพระเมรุหมันหยา มีกลอนตอนกล่าวถึงการมหรสพในงานว่า “สมโภชพระศพเสร็จเจ็ดทิวา” การจัดงานเป็นการบูชาผู้ที่เคารพนับถือและรักใคร่ของคน ผู้ที่มีชีวิตอยู่ย่อมกระทำสิ่งที่ดีไม่ใช่สิ่งอัปมงคลให้แก่ผู้ตาย อีกประการหนึ่งผู้ประดิษฐ์ศิลปะใดๆ คงไม่มีจุดมุ่งหมายให้ศิลปะของตนเป็นสิ่ง อัปมงคลอย่างแน่นอน ที่มีผู้รังเกียจว่าโขนแสดงในงานศพไม่บังควรนำมาแสดงในงานมงคลเป็นความคิดของคนชั้นหลังทั้งสิ้น.

อ้างอิง ..โขน : มหรสพสมโภช เสาวณิต วิงวอน, นิตยสารศิลปากร  ปีที่ ๕๖ ฉบับที่ ๖
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก นิตยสารศิลปากร ไทยโพส
แอพเกจิ แอพรวมเรื่องราวประสบการณ์จริง เกี่ยวกับ พุทธคุณ ไสยศาสตร์ วิชาอาคม

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: