6278. ที่สุดในตำนาน “หลวงพ่อปิยปกาศิต” !! พระพุทธรูปเพียงหนึ่งเดียว…ที่ได้รับการอันเชิญไปสมรภูมิรบ เคียงคู่บารมี “สมเด็จพระเจ้าตากสิน” !!

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระผู้เป็นมิ่งขวัญ กำลังใจของทหารหาญ ในการกอบชาติกู้เมือง กู้ชาติไทย ให้เป็นไท จากพวกพม่า ที่เข้ามายึดครองผืนแผ่นดินไทย เมื่อคราวปี พุทธศักราช ๒๓๑๐ และได้มีการเปิดเผยว่า มีพระพุทธรูปปางวิชัย หรือ ปางสะดุ้งมาร องค์หนึ่งได้รับการอัญเชิญนำไปในสมรภูมิสนามรบ อย่างเคียงบ่าเคียงไหล่ เคียงคู่บารมีของวีรกษัตริยาธิราชผู้กล้า นั่นคือ หลวงพ่อปิยปกาศิต สร้างขยายส่วนมาจากพระพุทธรูปองค์ต้นแบบองค์หนึ่ง ที่มีพระนามว่า พระพุทธะปกาศิต หรือ หลวงพ่อปกาศิต ได้ทราบมาว่า เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์อีกองค์หนึ่งที่ถูกลืมไปจากจิตใจของคนไทย เชื่อมีชาวพุทธอีกมากมาย ที่อาจจะไม่เคยได้ยินพระนามของพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์องค์นี้มาก่อน

พระพุทธภัทรประกาศิต มีพระนามเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า หลวงพ่อปิยปกาศิต เป็นพระประธานประดิษฐานอยู่ในโบสถของวัดกองดิน ในประวัติศาสตร์ของวัด มีบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับการสร้างพระพุทธรูปองค์นี้ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ไว้ว่า

“หลวงพ่อปิยปกาศิต เป็นพระพุทธรูปที่ขยายส่วนสร้างมาจากพระพุทธรูปบูชาปางมารวิชัยองค์หนึ่ง ซึ่งมีขนาดหน้าตัก ๑ ศอกเต็ม สำเร็จด้วยโลหะทองสัมฤทธิ์พระนามว่า พระพุทธปกาศิต มีความเชื่อสืบกันมาว่า พระเจ้าพรหมมหาราช แห่งอาณาจักรโยนกเชียงแสนได้สร้างพระพุทธรูปองค์นี้ขึ้น เมื่อปี ๑๖๘๒ คราวมีพระชนม์มายุครบ ๔ รอบ ที่เมืองไชยปราการราชธานี ประกอบพิธีเชิญญาณบารมีของเทพยาดาชั้นสูง ๙ พระองค์ เพื่อสถิตย์ปกป้องคุ้มครองรักษา”

ถือเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองที่ผ่านแผ่นดินมาหลายยุคหลายสมัยทั้งเชียงแสน ล้านนา สุโขทัย อยุธยา จนถึงรัตนโกสินทร์ปัจจุบัน สืบสานตำนานประวัติความเป็นมาของ พระพุทธปกาศิต อีกส่วนหนึ่งมีความเชื่อกันว่า

…พระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ อีกองค์หนึ่ง “ที่ถูกลืม” ไปจากความทรงจำของชนชาวไทยมาโดยตลอด และเชื่อว่า มีชาวพุทธอีกมาก ที่อาจจะไม่เคยได้ยินพระนามของพระพุทธรูปองค์นี้มาก่อน อีกทั้งอาจจะไม่เคยทราบว่า ครั้งหนึ่งในอดีต ย้อนไปราว ๒๐๐ กว่าปีมาแล้ว มีพระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์หนึ่งได้รับการอาราธนาอัญเชิญนำไปในสมรภูมิสนามรบเคียงคู่บารมีของวีรกษัตราธิราช ผู้ซึ่งมีน้ำพระทัยกล้าแกร่ง ไม่ย่อท้อในการทำสงครามนั่นก็คือ “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” พระผู้เป็นมิ่งขวัญกำลังใจของทหารหาญในการกอบชาติกู้เมืองกู้เอกราชชาติไทยให้เป็นไท คืนกลับมาจากพวกพม่าที่เข้ามายึดครองผืนแผ่นดินไทย

นอกจากนี้ เชื่อกันว่าพระพุทธรูปองค์นั้นก็คือ “พระพุทธปกาศิต” นี้นั่นเอง ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มาแต่สมัยที่ท่านยังทรงผนวชเป็นพระภิกษุ และได้พระพุทธรูป องค์นี้มาแต่หัวเมืองพิษณุโลก แถบเมืองกำแพงเพชร ภายหลังเข้ารับราชการ ไปรบทัพจับศึกที่ไหน ก็จะอาราธนาอัญเชิญนำไปด้วย เป็นพระพุทธรูปคู่บุญบารมีประจำพระองค์และมักได้ชัยชนะทุกครั้ง จึงมีพระนามอีกอย่างหนึ่งว่า “พระพุทธนำชัย”

ในจดหมายเหตุกรุงศรี ได้บันทึกไว้ว่า “ นับกาลเวลาจากสมัยกรุงธนบุรี ปี พ.ศ.๒๓๑๐ ผ่านมาถึงรัตนโกสินทร์ ปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ได้มีคณะบุคคลซึ่งเป็นชาวธนบุรี ๑๖ คน ผู้สืบสายวงศ์ตระกูลและมีความเคารพศรัทธาเทิดทูนในองค์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ทำการสืบค้นหาสถานที่แห่งหนึ่งในภาคตะวันออก อันเป็นชัยมงคลวิเศษมีต้นโพธิ์รุกขชาติปลูกเรียงกันปรากฎอยู่ ๓ ต้น เป็นไปตามคตินิมิตของเทพยดาที่อยู่เฝ้าปกปักรักษา พระปกาศิตพุทธนำชัย ณ สถานที่อันมีตำนานเรื่องราวการเดินทัพของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในเทพนิมิตนั้นได้ทำนายความเป็นโวหารอัศจรรย์ล้ำลึกไว้ว่า

“…ให้ประกอบพิธีจัดสร้างพระพุทธรูป พระชัยหลังช้างอันเป็นพระคู่บารมีของพระยาตากนี้ไว้ ณ สถานที่มีโพธิ์สามต้นปลูกไว้เป็นปฐมเหตุแห่งพระประธานประจำเบื้องบูรพาทิศสืบไปในกาลภายหน้า เทพยดาผู้มีหน้าที่ปกปักรักษาพระพุทธรูปอันสูงยิ่งด้วยกำลังเทพฤทธิ์และทรงความศักดิ์สิทธิ์ไว้พร้อมนี้แล้ว ก็จักดลบันดาลอาราธนาองค์พระชัยฯ ให้เคลื่อนคลามาประดิษฐานไว้อยู่ร่วมกัน ณ มณฑลภาคตะวันออกแห่งนี้ปรากฎนามสืบไปชั่วอายุไขยแห่งพระพุทธศาสนาจำเริญครบถ้วน ๕,๐๐๐ ปี เป็นกำลังพระบารมีปกป้องแผ่นดินเบื้องบูรพาทิศนื้สืบไปชั่วกาลนาน ”

และข้อความอีกตอนหนึ่งในจดหมายเหตุกรุงศรี ได้กล่าวไว้ดังนี้

” พระประธาน พระพุทธปกาศิต ณ วัดกองดิน มีประวัติบันทึกไว้ว่า ได้เริ่มสร้างในปี ๒๕๑๑ แต่มีเหตุอุปสรรคขัดขวางมาก พราหมณ์ผู้สัมผัสในพระบารมี จึงได้ประกอบพิธีสักการะพร้อมเครื่องบวงสรวงบายศรีทูลแจ้งฯ ผ่านองค์เทพยดาผู้ทรงกำลังฤทธิ์ ได้ปกาศิตบอกเคล็ดวิธีในการสร้างองค์พระฯ ให้สำเร็จว่า ต้องเสริมชัยมงคลแห่งพระนามอันเอกอุเลื่องลือนามในแผ่นดินสยามรัตนโกสินทร์ให้อัญเชิญเสริมพระนาม “ ปิย ” ขึ้นมา จึงจักประกอบพิธีฯสร้างพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ในพระนามรู้จักกันมาแต่กาลบัดนั้นว่า “ หลวงพ่อ ปิยปกาศิต ” สำเร็จในปี ๒๕๑๓ เป็นพระพุทธรูปพระประธานประจำอุโบสถสถานณ วัดกองดิน ประกอบพิธีสร้างแบบที่เรียกกันในสมัยนั้นว่า พิธีหล่อแบบโบราณนับเป็นองค์แรก”

และเป็นครั้งแรกของวัดวาอารามในสังฆมณฑลภาคตะวันออก และในปี ๒๕๔๖ ได้ประกอบพิธีบรรจุพระพุทธปกาศิต องค์ต้นแบบไว้ ณ ภายในองค์พระประธานหลวงพ่อปิยปกาศิต พร้อมทั้งได้บรรจุพระผงสมเด็จองค์ปฐม จำนวน ๘๔,๐๐๐ องค์ ตามนิมิตของพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ) ไว้ด้วยโดยพระผงฯ ทุกองค์ล้วนมีพระบรมสารีริกธาตุบรรจุไว้ ปัจจุบันพระธาตุในนามสมเด็จองค์ปฐมนี้มีเสด็จมาเพิ่มมากกว่า ๑ แสนองค์แล้ว

นอกจากนี้ยัง “ได้นิมิตเห็นพระเจ้าตาก(สิน) ยกพระพุทธรูปบูชาองค์หนึ่ง ปางมารวิชัย หน้าตักประมาณ ๑ ศอกเต็ม เข้าไปในวิหารของวัดคงคาจืด และให้ทหารหาญที่มาด้วยอธิฐานจิตขอพรเป็นมงคลชัย ให้มีชัยชนะในการทำศึกสงครามที่เมืองจันทบูรณ์”

หลวงพ่อปิยปกาศิต มีพระนามเต็มว่า “พระพุทธภัทรปิยปกาศิต” เพื่อน้อมรำลึกในทางพุทธานุสติ อันเป็นเหตุแห่งการบำเพ็ญบารมีขององค์สมเด็จพระสัมมา-
สัมพุทธเจ้าในภัทรกัปป์นี้ ทั้ง ๕ พระองค์ (นะโมพุทธายะ) และประกอบด้วยเหตุแห่งพุทธปาฏิหาริย์อันเป็นสิริมงคลยิ่ง จึงได้อัญเชิญพระนาม “ภัทร” นี้เข้ามาเสริมเป็นมงคลชัย อีกทั้งเนื่องด้วยการประกอบพิธีสร้างพระพุทธรูปองค์นี้อยู่ในช่วงรัชสมัยแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ องค์ปัจจุบัน

อันพระองค์ได้รับพระราชสมัญญานามอันยิ่งว่า “พระภัทรมหาราช” ถือเป็นเหตุอัศจรรย์ จึงได้อัญเชิญมาเพื่อน้อมความเป็นสิริมงคลโดยทุกประการเสมอเหมือนด้วยพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์องค์นี้ มีกำลังพระบารมีที่จักช่วยแผ่คุ้มครองป้องกันไปทั่วทุกแผ่นดิน นับแต่ปฐมเหตุแผ่นดินโยนก เชียงแสน สมัยพระเจ้าพรหมมหาราช ยุคกรุงธนบุรี ในพระบารมีสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชและรัตนโกสินทร์ในพระบารมีสมเด็จพระปิยมหาราชเจ้า และพระภัทรมหาราชเจ้า รัชกาลที่ ๙ องค์ปัจจุบัน

วัดกองดินเป็นวัดสุดท้ายของจังหวัดระยอง ตั้งอยู่ในตำแหน่งกึ่งกลางของภูมิภาค ๔ จังหวัด สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ ๔ ปราจีนบุรี ร่วมกับศูนย์วัฒนธรรมท้องถิ่น อำเภอแกลง และสำนักงานเทศบาลตำบลกองดิน (ใช้ตราสัญลักษณ์ เป็นพระรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงม้าและสั่งการให้ทหารตำดินปืน) ได้มาสำรวจเส้นทางรอยเกวียนโบราณและได้ให้วัดกองดินแห่งนี้เป็นลำดับที่ ๒๖ สุดท้ายของเส้นทางสายเอกราชการเดินทัพ(ในเขตจังหวัดระยอง) คราวยกทัพเพื่อไปตีเมืองจันทบูรณ์เมื่อปี ๒๓๑๐

เทศบาลตำบลกองดิน ได้บันทึกประวัติความเป็นมาของสถานที่แห่งนี้ไว้ว่า

“..เมื่อครั้งที่กรุงศรีอยุธยามีข้าศึกพม่า ยกทัพมาประชิดพระนคร บ้านเมืองเกิดความวุ่นวายระส่ำระสาย ไม่มีใครคิดที่จะต่อสู้กับข้าศึกพม่า ต่างพยายามที่จะหนีเอาตัวรอดกัน ครั้งนั้นพระยาวชิรปราการ เห็นว่า พม่ามีกำลังเสริมเพิ่มขึ้น และล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้ทุกด้าน เห็นทีจะเสียกรุงแก่พม่าเป็นแน่แท้ หากเราขืนชักช้าอยู่ช่วยรบทำการป้องกันพระนคร ก็อาจจะพ่ายแพ้แก่ข้าศึกศัตรูพวกพม่าได้ จนลุถึงวันเสาร์ เดือนยี่ ขึ้น ๔ ค่ำ พุทธศักราช ๒๓๐๙ ปีจอ อัฐศก

พระยาวชิรปราการ จึงได้ตัดสินใจรวบรวมไพร่พลราว ๕๐๐ คน ตีฝ่าวงล้อมพวกพม่าไปทางค่ายวัดพิชัย บ้านโพธิ์สังหาร แล้วมุ่งตรงไปยังหัวเมืองชายทะเลฝั่งตะวันออก เพื่อรวบรวมกำลังไพร่พล โดยมีจุดหมายปลายทางที่เมืองจันทบูรณ์ ในระหว่างการเดินทัพ ได้ผ่านเมืองระยองบ้านไร่ บ้านกร่ำ เมืองแกลง ประแส เพื่อมุ่งไปสู่จันทบูรณ์นั้น กองทัพของพระยาตากฯ ได้มาตั้งค่ายหยุดพักทัพม้าทัพช้างและไพร่พลอยู่ที่บริเวณวัดแห่งหนึ่ง และใช้สถานที่ดังกล่าวในการตำดินปืนเพื่อเตรียมไว้ใช้ในการออกศึกสงคราม…” ตำดินปืนในครั้งนั้นจึงถูกเรียกว่า “กองดินปืน” เป็นเหตุที่มาของชื่อหมู่บ้านหรือตำบลนานเข้าก็เรียกกันสั้นๆ ว่า “ตำบลกองดิน” สืบมาจนถึงปัจจุบัน

คาถาบูชา พระพุทธภัทรปิยปกาศิต

อิติ ปิยปกาศิต อิติ ปิยปกาศิต อิติ ปิยปกาศิต
พุทโธ คุณัง อะระหังพุทโธ นะโมพุทธายะ ยะธาพุทโมนะ

มีกำหนดงานบวงสรวงนมัสการหลวงพ่อปิยปกาศิต ตรงกับวันแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๓ ของทุกปี

ขอบคุณข้อมูลจาก : http://palungjit.org , http://www.praputthai.com

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: