6276. ประวัติความเป็นมาของมวยไท ตอน3 (จบ)

ประวัติความเป็นมาของมวยไท ตอน3 (จบ)

มวยไทในสมัยกรุงธนบุรี
(พ.ศ. 2310 – พ.ศ. 2324)

สมัยกรุงธนบุรีรวมระยะเวลาเป็นราชธานีอยู่ 14 ปี บ้านเมืองอยู่ระหว่างฟื้นฟูประเทศ หลังจากกอบกู้อิสรภาพคืนกลับมาได้ การฝึกมวยไทในยุคนี้เป็นไปเพื่อการสงครามอย่างแท้จริง ในยุคนี้มีนักมวยดีมีชื่อมากมาย เช่น นายเมฆ บ้านท่าเสา, นายเที่ยง บ้านแกร่ง, นายแห้ว แขวงเมืองตาก, นายนิล ทุ่งยั้ง, นายถึก ศิษย์ครูนิล ส่วนนักมวยที่เป็นนายทหารเลือกของพระเจ้าตากสิน ได้แก่ หลวงพรหมเสนา, หลวงราชเสานา, ขุนอภัยภัคดี, นายหมึก, นายทองดี ฟันขาว การจัดชกมวยในสมัยกรุงธนบุรี นิยมจัดนักมวยต่างถิ่น หรือ ลูกศิษย์ต่างครูมาชกกัน กติกาการแข่งขันไปปรากฏชัดเจน เป็นการชกแบบคาดเชือก ส่วนสังเวียนก็ยังเป็นลานดิน โดยมากจัดให้ชกกันในบริเวณวัด

มวยไทในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
(พ.ศ. 2325- พ.ศ. 2475)

ในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นมีเหตุการณ์น่าสนใจที่ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์โกษาธิบดี (ขำ บุนนาค)
ได้บันทึกเหตุการณ์ในสมัยรัชกาลที่ 1 ว่าในปี พ.ศ. 2331 ได้มีเรือกำปั่นสัญชาติฝรั่งเศสลำหนึ่ง นายกำปั่น 2 พี่น้องแจ้งกับพระยาพระคลังว่า ผู้น้องนั้นเป็นนักมวยฝีมือดี ตระเวนชกมวยพนันมาหลายเมืองแล้ว ที่มาบางกอกนี้ก็เพื่อมาขอชกพนันกับนักมวยชาวสยาม
พระยาพระคลังกราบทูลเรื่องดังกล่าวให้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงทราบแล้ว พระองค์ท่านทรงปรึกษากับ สมเด็จพระอนุชา คือ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในการนี้ กรมพระราชวังบวรฯ ได้กราบทูลว่า

“ครั้นจะไม่แต่งคนมวยออกต่อสู้ด้วยฝรั่ง ฝรั่งเป็นคนต่างประเทศก็จะดูหมิ่นว่า พระนครนี้หาคนมวยดีต่อสู้มิได้ ก็จะเสื่อมเสียพระเกียรติยศปรากฏไปในนานาประเทศ ข้าพระพุทธเจ้าจะขอรับแต่งคนมวยที่มีฝีมือออกต่อสู้กับฝรั่ง เอาชนะให้จงได้”

พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงเห็นชอบด้วย จึงดำรัสให้พระยาพระคลังบอกกับฝรั่งสองพี่น้องว่า ขอรับท้าพนันชกมวย วางเดิมพันเป็นเงิน 50 ชั่ง จากนั้นก็คัดเลือกได้นักมวย ชื่อ หมื่นผลาญ รูปร่างกำยำ ฝีมือมวยดีกว่าพวกมวยทั้งสิ้น จากวังหน้านั่นเอง ดำรัสให้เอาเชือกมาขึงเป็นสนามมวยชั่วคราวขึ้นใกล้ ๆ โรงละครด้านตะวันตกของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พร้อมปลูกพลับพลาที่ประทับ เมื่อถึงวันกำหนดก็ดำรัสให้เอาน้ำมันว่านอันอยู่ยงคงกระพัน ชโลมทั่วทั้งตัวหมื่นผลาญ ขึ้นคอคนแห่มาสู่เวที ส่วนนักมวยฝรั่งก็ยกกันมาทั้งลำกำปั่น แห่มาเป็นขบวนใหญ่เช่นกัน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับ กรมพระราชวังบวรฯ ประทับทอดพระเนตรอยู่ในพลับพลา พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์และบรรดาข้าราชบริพาร รายการนี้นับว่าเป็นมวยคู่สำคัญที่สุดนับ ตั้งแต่สร้างกรุงรัตนโกสินทร์มาได้ 6 ปี หลังจากนักมวยทั้งคู่กราบถวายบังคมกลางเวทีแล้ว ก็เข้าโรมรันกันทันที แต่นักมวยฝรั่งที่ว่าฝีมือดีกลับไม่ได้โชว์ชั้นเชิงมวยแต่อย่างใด ตั้งหน้าตั้งตาจะล้วงจับกระดูกไหปลาร้านักมวยไทยหักลูกเดียว แต่เจอเอาน้ำมันว่านชโลมไว้ก็จับไม่ติด โดนนักมวยไทยใช้ยุทธวิธีป้องปัดและชกสกัดขณะถอยฉาก ฝ่ายนายกำปั่นผู้พี่เห็นน้องชายจับนักมวยไทยไม่ได้ ซ้ำยังถูกชกเอาอยู่ข้างเดียวจนบอบช้ำ จึงโดดเข้าไปในเวทีแล้วเอามือผลักหลังนักมวยไทยไว้ไม่ให้ถอยหนี

เมื่อเห็นดังนี้ กรมพระราชวังบวรฯ ก็ดำรัสว่า…ชกพนันกันตัวต่อตัว ไฉนจึงช่วยกันเป็นสองคนเล่ว่าแล้วก็ทรงเผ่นจากพลับพลาตรงไปยังเวที ยกพระบาทถีบนายกำปั่นผู้พี่ที่เล่นไม่ซื่อล้มลง จากนั้นบรรดาผู้ชมมวยที่เห็นฝรั่งเล่นนอกกติกาก่อน และเจ้านายลงพระบาทไปแล้ว ก็เลยกรูกันเข้ารุมชกต่อยฝรั่งสองพี่น้องจนหมอบคาเวทีทั้งคู่ ต้องหามกลับกำปั่น พระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานหมอนวดหมอยาไปรักษาฝรั่ง 2 พี่น้องถึงกำปั่น จนทุเลาแล้วฝรั่งก็บอกล่ามให้กราบเรียนพระยาพระคลังช่วยกราบทูลถวายบังคมลาด้วย

มวยไทยุครัตนโกสินทร์ช่วงกลาง – ปัจจุบัน
ในสมัยรัชกาลที่ 6 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน กีฬามวยไทย ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ซึ่งพอจะแยกออกเป็นสมัย 5 สมัยด้วยกัน คือ

1. #สมัยสวนกุหลาบ ในสมัยนี้ประชาชนนิยมการชกมวย และชมการแข่งขันชกมวยกันเป็นจำนวนมาก การชกมวยกันในสมัยนี้ยังนิยมการคาดเชือกอยู่ การชกได้กำหนดจำนวนยกไว้แน่นอนแล้ว และมีกรรมการผู้ชี้ขาด ผู้ตัดสินส่วนมากนั่งอยู่ข้างเวที และให้อาณัติสัญญาณให้นักมวยหยุดชกด้วยเสียงหรือนกหวีด

2. #สมัยท่าช้าง ในสมัยนี้เป็นสมัยหัวเลี้ยวหัวต่อ จากคาดเชือกมาเป็นสวมนวม (พ.ศ. 2462) ได้จัดการแข่งขันขึ้นเป็นระยะเวลาพอสมควร สนามก็เลิกไป กรรมการผู้ชี้ขาดในสมัยนี้นับว่ามีชื่อเสียงก็คือนายทิม อติเหรมานนท์ และนายนิยม ทองชิตร์

3. #สมัยสวนสนุก การจัดการแข่งขันในสมัยนี้ รู้สึกว่าเจ้าของสนามได้จัดการแข่งขัน และได้จัดการแข่งขันอยู่เป็นเวลาหลายปีทำให้นักมวยไทย มีชื่อเสียงขึ้นหลายคนเช่น นายสมาน ดิลกวิลาส นายสมพงษ์ เวชสิทธิ์ เป็นต้น กรรมการที่ชี้ขาดการตัดสินในขณะนั้นและนับว่ามีชื่อเสียงควรกล่าวคือ หลวงพิพัฒน์ กลกาย นายสุนทร ทวีสิทธิ์ (ครูกิมเส็ง) และนายนิยม ทองชิตร์

4. #สมัยหลักเมืองและสวนเจ้าเชษฐ์ การแข่งขันชกมวยในสมัยนี้นับว่าเข้มแข็งดีมาก เพราะทางราชการทหารได้เข้าจัดการเพื่อเก็บเงินบำรุงราชการทหาร คณะกรรมการและนักมวยได้ร่วมมือกันเป็นอย่างดี จนเก็บเงินส่งบำรุงราชการทหารได้เป็นจำนวนมากสมความประสงค์ของราชการทหาร ตลอดจนทำให้นักมวยที่มีชื่อเสียงเกิดขึ้นอีกหลายคน เช่น ผล พระประแดง เพิก สิงห์พัลลภ ถวัลย์ วงศ์เทเวศน์ ประเสริฐ ส.ส. และ ทองใบ ยนตรกิจ ได้จักการแข่งขันอยู่เป็นเวลาหลายปี จึงได้เลิกการแข่งขันเมื่อใกล้ ๆ สงครามโลกครั้งที่ 2 กรรมการผู้ชี้ขาดได้ทำการตัดสินอยู่เป็นประจำตลอดนั้น มีอยู่ 3 คนด้วยกัน คือ นายสังเวียน หิรัญยเลขา, นายเจือ จักษุรักษ์, นายวงศ์ หิรัญยเลขา

5. #สมัยปัจจุบัน ได้ทำการแข่งขัน ณ เวทีราชดำเนินและเวทีลุมพินีเป็นประจำทุกวันสลับกันไป ยังมีเวทีชั่วคราว เช่น เวที เวทีกองทัพเรือ และตามต่างจังหวัดทุกจังหวัด การแข่งขันมีทั้งมวยไทย และมวยสากล ตลอดจนได้จัดส่งให้นักมวยต่างประเทศเข้ามาแข่งขัน และจัดส่งนักมวยไทยไปแข่งขัน ณ ต่างประเทศในปัจจุบัน

เขียน / เรียบเรียง โดย : ฅนขลัง คลังวิชา
ขอขอบคุณรูปภาพสวยๆจาก : Fight Vision
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก : ฅนขลัง คลังวิชา

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: