6269. ตำนาน “หอกลองพระนคร” สัญญาณเตือนเหตุการณ์ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

ในสมัยโบราณมีการใช้ประโยชน์จากกลองเป็นอย่างมาก ตั้งแต่ระดับกลุ่มชน ในฐานะเครื่องดนตรี กองทัพในฐานะกลองศึก และบ้านเมืองในฐานะที่ใช้ตีบอกสัญญาณต่าง ๆ ในความเป็นอยู่ประจำวัน แมัแต่วัดในพระพุทธศาสนา ก็ใช้ประโยชน์จากสัญญาณการตีกลอง ในการปฏิบัติสมณกิจประจำวัน ในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีการสร้างหอกลองประจำเมือง โดยให้อยู่ในความควบคุมดูแลของกรมพระนครบาล ลักษณะของหอกลองเป็นหอสูงสามชั้น สร้างด้วยไม้ สูง ๑ เส้น ๑๐ วา หลังคาเป็นทรงยอดสูง

การสร้างหอกลองในพระนครมีหลักฐานปรากฏตั้งแต่สมัยอยุธยา สำหรับหอกลองของกรุงรัตนโกสินทร์สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้สร้างหอกลองขึ้นที่บริเวณป่าช้า หน้าวัดโพธาราม (ต่อมาคือ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม) ที่ดินบริเวณที่สร้างหอกลองเรียกว่าสวนเจ้าเชต (ปัจจุบันคือบริเวณที่ตั้งกรมการรักษาดินแดน) หอกลองนี้มีลักษณะเป็นอาคารทำด้วยไม้สูง ๓ ชั้น ไม่มีฝากั้น รูปทรงสูงชะลูดขึ้นไป หลังคาทำเป็นรูปมณฑป

ในอาคารตั้งกลองสำคัญ ๓ ใบ คือ กลองย่ำพระสุริย์ศรี เป็นกลองขนาดใหญ่ มีเส้นผ่านศูนย์กลาง ๘๒ เซนติเมตร ตั้งอยู่ชั้นล่าง ใช้ตีบอกโมงยามเพื่อให้ราษฎรที่อาศัยอยู่ภายในกำแพงพระนครทราบเวลา กลองอัคคีพินาศ เป็นกลองขนาดกลาง มีเส้นผ่านศูนย์กลาง ๖๐ เซนติเมตร ตั้งอยู่ชั้นที่ ๒ ใช้ตีเป็นสัญญาณให้ราษฎรทราบว่าเกิดไฟไหม้ขึ้น กลองพิฆาตไพรี เป็นกลองขนาดเล็ก มีเส้นผ่านศูนย์กลาง ๔๔ เซนติเมตร ตั้งอยู่ชั้นที่ ๓ ใช้ตีเป็นสัญญาณว่าข้าศึกยกทัพมาประชิดพระนคร ปรากฏว่ากลองใบที่ ๓ นี้ไม่เคยใช้ตีเลยเพราะไม่เคยมีข้าศึกยกทัพมาประชิดชานพระนคร

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมแซมและปรับปรุงอาคารหอกลองนี้ ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้รื้อหอกลองและย้ายกลองทั้ง ๓ ใบไปไว้ที่หอริมประตูเทวาพิทักษ์ในพระบรมมหาราชวัง และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้นำกลองทั้ง ๓ ใบมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร (ปัจจุบันคือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร)

ต่อมา เมื่อมีการจัดงานเฉลิมฉลองสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ ๒๐๐ ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ คณะรัฐมนตรีมีมติให้รื้อฟื้นหอกลองประจำเมืองขึ้น จึงมีการก่อสร้างหอกลองใหม่ในที่เดิม และได้รับบริจาคกลองโบราณจากวัดประชาสัทธาราม จังหวัดสุรินทร์ จำนวน ๓ ใบซึ่งใหญ่กว่าของเดิม มีพิธียกกลองขึ้นหอกลองในวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๐ ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถค้นคว้ารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากสารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย เล่ม ๑ อักษร ก ฉบับราชบัณฑิตยสถาน

ที่มาจาก : สำนักงานราชบัณฑิตยสภา

เพจ History of Siam – ประวัติศาสตร์แห่งสยาม

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: