6266. นมโค ๕ ยี่ห้อ จากโครงการพระราชดำริของ “ในหลวง ร.๙” ที่พระราชทานให้แก่ลูกหลานชาวไทย

เนื่องในวันที่ ๑๗ มกราคม เป็นวันโคนมแห่งชาติ หากพูดถึงนมโคเราอาจจะคิดถึงโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในส่วนของการโคนมไทย และผลิตภัณฑ์นมวัวแท้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ไม่ได้มีเพียงนมอัดเม็ดจิตรลดา หรือนมยู.เอช.ที.จิตรลดาเท่านั้น

หากจะย้อนไปเมื่อ ๕๐ กว่าปีก่อน ประเทศไทยยังเป็นประเทศที่ไม่มีนมวัวให้ดื่มอย่างแพร่หลายเช่นในปัจจุบัน ชาวบ้านในหลายพื้นที่ยังเลี้ยงลูกด้วยนมข้นหวานบ้าง น้ำข้าวผสมน้ำตาลบ้างตามมีตามเกิด ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ทรงตระหนักว่า “นม” มีคุณค่าทางอาหารสูงและเป็นประโยชน์ต่อร่างกายมนุษย์

ดังนั้นเมื่อเสด็จฯ ประพาสประเทศเดนมาร์ก ใน พ.ศ. ๒๕๐๓ จึงเสด็จฯ ทอดพระเนตรกิจการฟาร์มโคนมและการแปรรูปผลิตภัณฑ์นมหลายแห่ง เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินกิจการโคนมและแปรรูปนมในประเทศไทย ซึ่งในครั้งนั้นสมเด็จพระเจ้าเฟรเดอริกที่ ๙ แห่งเดนมาร์ก พร้อมด้วยรัฐบาลเดนมาร์ก และองค์การเกษตรกรรมของประเทศเดนมาร์ก ได้น้อมเกล้าฯ ถวายโครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคนมในประเทศไทย โดยจัดตั้งเป็น “ฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ก” ขึ้นที่อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี นับจากนั้นประเทศไทยก็มีกิจการฟาร์มโคนมแห่งแรก จวบจนพัฒนาต่อยอดกันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน และนี่ก็เป็นที่มาของพระราชสมัญญา “พระบิดาแห่งการโคนมไทย” ที่พสกนิกรพร้อมใจกันน้อมถวายแด่พระบาทสมเด็จประปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และถ้าหากจะพูดถึงนมวัวในประเทศไทยที่เป็นนมโคแท้ ๆ ๑๐๐ % หลายคนคงคิดว่ามีวางจำหน่าย อยู่ไม่กี่ยี่ห้อ ทั้งที่จริง ๆ แล้วนมโคแท้จากโครงการพระราชดำริมีให้เราได้เลือกดื่มเพื่อสุขภาพอยู่หลากหลาย ดังนั้นวันนี้เราจะพาทุกคนมารู้จักนมวัวแท้ ๆ อันเนื่องมาจากโครงการพระราชดำริทั้ง ๕ ยี่ห้อ ซึ่งมีดังต่อไปนี้

๑. นมโค ไทย-เดนมาร์ค

นมโคแท้ ๆ ๑๐๐ % ที่นับได้ว่าเป็นนมกล่องยี่ห้อแรกของประเทศไทย ซึ่งถือกำเนิดจากความร่วมมือกันของประเทศเดนมาร์กและประเทศไทย เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จฯ ประพาสประเทศเดนมาร์กเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๓ ต่อมาจึงจัดตั้ง “ฟาร์มโคนม” และ “ศูนย์ฝึกอบรมการเลี้ยงโคนมไทย – เดนมาร์ค” ที่อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๐๕ ในปี พ.ศ. ๒๕๑๔ รัฐบาลได้รับโอนกิจการฟาร์มโคนมและศูนย์ฝึกอบรมการเลี้ยงโคนมไทย – เดนมาร์ค จากรัฐบาลเดนมาร์ค และได้ตราพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้ชื่อว่า “องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย” (อ.ส.ค.) ซึ่งนับจากวันนั้น นมไทย-เดนมาร์ค ก็ผลิตนมสดยู.เอช.ที.ออกมาเรื่อย ๆ และพัฒนารสชาติมาจนปัจจุบันนี้มีทั้งนมยู.เอช.ที. รสจืด นมยู.เอช.ที. ชนิดพร่องมันเนย นมยู.เอช.ที. รสหวาน นมยู.เอช.ที. รสช็อกโกแลต นมพาสเจอร์ไรส์ โยเกิร์ต และไอศกรีม

2.นมยู.เอช.ที สวนจิตรลดา

นมยู.เอช.ที สวนจิตรลดา ผลิตจากน้ำนมโคแท้ ๑๐๐ % ไม่มีส่วนผสมของน้ำตาล โดยผลิตออกมาในรูปนมรสจืดจิตรลดาชนิดบรรจุกล่องและชนิดบรรจุถุง นมโรงเรียน และนมยู.เอช.ที. ผสมฟลูออไรด์ชนิดบรรจุกล่อง (สำหรับนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการนมฟลูออไรด์ป้องกันฟันผุในประเทศไทย)

โดยนมสวนจิตรลดาถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งบริษัท เอส.อาร์. จำกัด ได้น้อมเกล้าฯ ถวายลูกโคพันธุ์เรดเดน จำนวน ๔ ตัวเป็นเพศผู้ ๑ ตัว เพศเมีย ๑ ตัว และโคสาวตั้งท้องอีก ๒ ตัว ต่อมากรมปศุสัตว์ได้น้อมเกล้าฯ ถวายโคสาวตั้งท้องอีก ๒ ตัว พันธ์บราวน์สวิส และลูกผสมเรดชินดิ ดังนั้นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน ๓๒,๘๘๖.๗๓ บาท เพื่อใช้ในการดำเนินการจัดสร้างโรงโคนม ในบริเวณพระตำหนักสวนจิตรลดารโหฐาน และเสด็จฯ เปิดโรงโคนมสวนจิตรลดา เมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๕ ทั้งนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ได้พระราชทานพระราโชบายสำหรับโรงโคนมสวนจิตรลดาไว้ ๔ ประการ คือ

๑. ส่งเสริมและเผยแพร่การเลี้ยงโคนมโดยสาธิตการดำเนินงานให้เป็นตัวอย่างแก่เกษตรกรเพื่อสามารถที่จะนำเอาวิธีการดังกล่าวไปดำเนินการเองได้ภายในครอบครัว
๒. เพื่อค้นคว้า ทดลองหาวิชาการแผนใหม่เกี่ยวกับโคนม และทำการเผยแพร่ความรู้ไปยังเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม เพื่อปรับปรุงวิธีการให้ถูกต้องและเหมาะสม
๓. เพื่อทำการคัดเลือกและปรับปรุงพันธ์โคนมที่เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศ และภูมิประเทศของประเทศไทย
๔. เพื่อส่งเสริมให้มีการบริโภคนมสดให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม โรงนมยู.เอช.ที สวนจิตรลดาก่อตั้งขึ้นอย่างจริงจังเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๖ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม เนื่องจากปัญหาน้ำนมโคล้นตลาด และเป็นการสาธิตการผลิตนมยู.เอช.ที. จากนมโคสดแท้แทนการใช้นมผงมาละลายน้ำ ซึ่งปัจจุบันนี้โรงนมยู.เอช.ที. สวนจิตรลดามีกำลังการผลิตนมอยู่ที่ ๒๔ ตันต่อวัน

๓ .นมหนองโพ

นมหนองโพ นมโคแท้ ๆ ๑๐๐ % สโลแกนก็บอกอยู่โต้ง ๆ แล้วว่าผลิตจากน้ำนมโคแท้ โดยมีอยู่ด้วยกัน ๔ รสชาติ ได้แก่ รสจืด รสหวาน รสกาแฟ และรสช็อกโกแลต (ขนาดบรรจุ ๒๒๕ มิลลิลิตร) แต่ที่ลึกไปกว่านั้นคือนมหนองโพก็เป็นหนึ่งในโครงการพระราชดำริด้วยเช่นกัน โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้งโรงงานผลิตนมผงขึ้นที่ตำบลหนองโพ จังหวัดราชบุรี เพื่อแก้ปัญหาน้ำนมวัวล้นตลาดของชาวบ้านในแถบจังหวัดราชบุรีและจังหวัดนครปฐม อีกทั้งพระองค์ยังได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อการก่อสร้างโรงงานนมผงหนองโพจนแล้วเสร็จ

ครั้นเมื่อโรงงานผลิตนมผงสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดเมื่อวันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๑๕ โดยได้รับพระราชทานชื่อ “โรงนมผงหนองโพ” โดยให้บริหารงานในรูปบริษัทจำกัดที่ใช้ชื่อว่า “บริษัทผลิตภัณฑ์นมหนองโพจำกัด”

ทั้งนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงถือหุ้นใหญ่ของบริษัท และได้พระราชทานเงื่อนไขว่า บรรดาเงินกำไรสุทธิที่คณะกรรมการบริษัทหาได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์นั้น ไม่มีการแบ่งกำไรให้แก่ผู้ถือหุ้น แต่ให้บริษัทนำกำไรสุทธิส่วนหนึ่งเข้ากองทุนสะสมเพื่อประโยชน์แก่การศึกษาของบุตร-ธิดาสมาชิกของกลุ่มผู้เลี้ยงโคนม และสมาชิกสหกรณ์ซึ่งเป็นผู้ส่งน้ำนมดิบให้แก่โรงงานเป็นประจำ

๔. นมสดชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ

น้ำนมโคเต็มมันเนยสเตอริไลส์ บรรจุในขวดทรงเก๋ไก๋พร้อมสีสันสดใสในขนาดบรรจุ ๔๕๐ มิลลิลิตร ราคาจำหน่าย ๓๕ บาทต่อขวด เป็นน้ำนมโคแท้ ๑๐๐ % จากฟาร์มโคนมในโครงการชั่งหัวมัน จังหวัดเพชรบุรี หนึ่งในโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

๕.นมอัดเม็ดสวนจิตรลดา

นมอัดเม็ดสวนจิตรลดา จริง ๆ แล้วผลิตจากโรงนมสวนดุสิต โดยมีวัตถุประสงค์ในการผลิตนมอัดเม็ดอยู่ด้วยกัน ๓ ข้อ ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ดังนี้

๑. เพื่อเป็นโรงงานตัวอย่างให้ผู้ที่สนใจได้มาศึกษาวิธีการผลิตนมเม็ด โดยมีค่าใช้จ่ายในการผลิตไม่สูงจนเกินไป สามารถที่จะนำไปใช้เป็นแบบอย่างในกิจการที่สามารถดำเนินเองได้
๒. เพื่อสนับสนุนการผลิตนมผงภายในประเทศ โดยการนำนมผงมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์นมอัดเม็ด
๓. เพื่อส่งเสริมด้านโภชนาการให้ประชาชนบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพดีและราคาไม่แพง

โดยในปัจจุบันผลิตภัณฑ์นมอัดเม็ดมีอยู่ด้วยกัน ๒ รสคือ นมอัดเม็ดรสหวานและนมอัดเม็ดรสช็อกโกแลต และกำลังผลิตของโรงนมอัดเม็ดจะอยู่ที่ ๕๐,๐๐๐-๕๗,๐๐๐ ซองต่อวัน (ขนาดน้ำหนักสุทธิ ๒๕ กรัมต่อซอง)

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: