6239.”พระยาอุปกิตศิลปสาร” ผู้อุทิศร่างกายเป็น “อาจารย์ใหญ่” คนแรกของสยาม

อำมาตย์เอก พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ) เป็นนักเขียน ผู้เชี่ยวชาญทางภาษาไทย ท่านใช้นามปากกาหลายนาม ที่รู้จักกันแพร่หลาย คือ “อ.น.ก.”, “อุนิกา”, “อนึก คำชูชีพ” และเป็นผู้ริเริ่มคำทักทายคำว่า “สวัสดี” และยังเป็นผู้อุทิศร่างกายเพื่อการศึกษาทางการแพทย์หรือที่เรียกว่าอาจารย์ใหญ่เป็นท่านแรกของประเทศไทย โดยกล่าวว่า “ฉันเป็นครู ตายแล้วขอเป็นครูต่อไป”

พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ) เกิดวันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๒๒ เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญด้านภาษาไทย โดยท่านได้รับความรู้เบื้องต้นมาจากการเรียนที่วัดบางประทุนนอก เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร และที่วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร และต่อมาได้บวชเรียนที่วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร จนสอบได้เปรียญธรรม ๖ ประโยค ต่อมา นายนิ่มได้เริ่มเข้ารับราชการเป็นครูฝึกสอน ที่โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์สายสวลี

ต่อมาได้ย้ายไปสอนที่โรงเรียนสวนกุหลาบ วัดมหาธาตุ และ โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์บ้านสมเด็จเจ้าพระยา นอกจากเป็นครูแล้ว พระยาอุปกิตศิลปสารยังเคยดำรงตำแหน่งข้าหลวงตรวจการพนักงานกรมราชบัณฑิต หัวหน้าการพิมพ์แบบเรียน หัวหน้าแผนกอภิธานสยาม ปลัดกรมตำราและอาจารย์ประจำกรมศึกษาธิการ โดยได้แต่งตำราเรียนภาษาไทย4เล่ม ร้อยเรียงกันได้แก่ อักขรวิธี วจีวิภาค วากยสัมพันธ์ และ ฉันทลักษณ์ นอกจากนี้ยังเป็นผู้ริเริ่มการใช้คำว่า “สวัสดี” สำหรับทักทาย โดยได้ปรับเสียงของคำว่า สวสฺติ จากคำสระเสียงสั้น (รัสสระ) ซึ่งเป็นคำตาย มาเป็นคำสระเสียงยาว (ทีฆสระ) ซึ่งเป็นคำเป็น ทำให้ฟังไพเราะรื่นหูกว่า จึงเป็น สวัสดี จนจอมพล ป.พิบูลสงคราม ประกาศเป็นคำทักทายประจำชาติไทย

จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต วันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ พระยาอุปกิตศิลปสาร ถึงแก่อนิจกรรมและได้บริจาคร่างกายเพื่อเป็นอาจารย์ใหญ่ โดยอมตะวาทะของท่านที่ว่า “ฉันเป็นครู ตายแล้วขอเป็นครูต่อไป” กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่สร้างคุณประโยชน์ให้กับวงการแพทย์ไทยอย่างมหาศาล

“กูมานึกได้ว่าอยากจะสร้างบารมี เรื่องบริจาคศพ ดีกว่าเอาไปเผาทิ้ง ให้เขาเอาไปเป็นทาน ได้เป็นครูเขา …พวกลูกหลาน เมื่อถึงเวลาที่กูหมด ลมหายใจแล้ว พวกมึงก็อย่าได้หน่วงเหนี่ยวเลย ให้เขาไปเถอะ เพราะมันจะเสียเจตนาของกู ขอให้อนุโมทนากับกู”

คำกล่าวข้างต้น เป็นข้อความสั่งเสียสุดท้ายของพระเทพวิทยาคม หรือ หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ เกจิอาจารย์ชื่อดัง เจ้าอาวาสวัดบ้านไร่ ที่ได้กล่าว ไว้เมื่อครั้นยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งหลังจากหลวงพ่อคูณได้ละสังขารมรณภาพ การบริจาคร่างกาย ได้ยินแรกๆ คงสะดุ้ง เพราะจิตสำนึก ยังระลึกพึงมโนให้รู้ถึงความเจ็บอยู่ หากแต่เปรียบผลลัพธ์ที่ตอบกลับมา มันคุ้มค่ายิ่งการสละร่างเสียอีก

อานิสงส์บริจาคร่างกายเป็นอาจารย์ใหญ่

อานิสงส์จะทำให้เราเกิดมามีสุขภาพแข็งแรงและก็มีอายุยืนยาว เพราะเราบริจาคร่างกายให้เขาศึกษา หมอศึกษาแล้วมีความรู้ก็ไปรักษาคนเจ็บ คนป่วย คนไข้ ให้หายจากอาการเจ็บป่วยไข้ เราเองก็จะได้รับอานิสงส์ สุขภาพจะดี โรคร้ายที่เคยมีก็จะหายไป วิบากกรรมเรื่องการเบียดเบียนสัตว์ที่ทำให้เป็นโรคหากมีอยู่ก็จะคลายตัวลง หนักก็จะเป็นเบา เบาก็จะเป็นหายกลายเป็นไม่มีไปเลย แล้วก็เป็นคนมีอายุยืนยาว

บางคนไม่กล้าบริจาค เพราะเห็นเขาบอกว่าบริจาคไปแล้ว อีกหน่อยเกิดมาจะเป็นคนแขนขาด ขาขาด บริจาคดวงตาจะทำให้เป็นคนตาบอด อันนี้ไม่ถูกต้อง
เพราะว่าร่างกายของเราเอาไว้ใช้ชาตินี้เท่านั้น ตายแล้วก็ไปเผา ถ้าใครบริจาคดวงตา ชาติหน้าดวงตาจะใสดวงตาจะสวยกว่าชาตินี้ บริจาคร่างกาย ชาติหน้าร่างกายเราก็แข็งแรง งดงาม บุคลิก ลักษณะทุกอย่างดี อายุยืนยาว เพราะฉะนั้นอย่าไปเข้าใจผิด ไปกลัวในสิ่งที่ไม่ควรกลัว ถ้าเราพร้อมก็บริจาค หมอจะได้มีร่างกายอาจารย์ใหญ่ไว้ศึกษาเพียงพอ มีความรู้ทางการแพทย์ที่แตกฉานมารักษาคนไข้ได้เชี่ยวชาญยิ่งขึ้นไปอีก

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://th.wikipedia.org/wiki/พระยาอุปกิตศิลปสาร_(นิ่ม_กาญจนาชีวะ)

http://thanavuddho.org

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: