6232.”พระนางอัมพปาลี” ผู้รับกรรมหนักจากการ “ปรามาสพระอรหันต์”

อัมพปาลี นามนี้ชาวพุทธส่วนมากรู้จักดี เพราะเป็นนางคณิกาหรือโสเภณีที่สวยงามในเมืองไพศาลี แคว้นวัชชี และที่สำคัญคือนางได้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง ได้ถวายสวนมะม่วงอันเป็นสมบัติของนางให้เป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์ในปลายพุทธกาล แต่ถึงอย่างนั้นนางก็ได้ตกนรกเหตุเพราะนางได้รับกรรมจกกการปรามาสภิกษุณีอรหันต์ จึงต้องไปรับกรรมหมกไหม้อยู่ในนรกนานแสนนาน เมื่อพ้นกรรมหนักจากนรกกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีกครั้ง เศษของกรรมที่เหลือต้องเกิดเป็นหญิงแพศยามานับหมื่นๆชาติ

ครั้งนั้นเป็นพุทธกาลของพระพุทธเจ้าพระนามว่า “พระสิขีทศพล” นางอัมพปาลีเกิดเป็นธิดาตระกูลพราหมณ์ในนคร “อมรปุระ” ครั้งหนึ่งนางได้ไปนมัสการพระเจดีย์ โดยได้ทำประทักษิณ เวียนขวารอบเจดีย์ ขณะกำลังเดินประทักษิณอยู่ นางได้เห็นภิกษุณีรูปหนึ่งได้เดินทำประทักษิณอยู่ตรงหน้าเธอ ภิกษุณีรูปนั้นได้บ้วนน้ำลายลงพื้น เมื่อนางอัมพปาลีเห็น จึงเกิดความไม่พอใจที่เห็นกิริยาดังนั้น จึงได้ “สบถคำด่า” ภิกษุณีรูปนั้นว่า

“อีหญิงแพศยา”

ด้วยเหตุที่ภิกษุณีรูปนั้นเป็นพระอรหันต์ กรรมนี้จึงเป็นกรรมหนักมาก เมื่อทำกาละแล้วนางอัมพปาลีจึงต้องไปรับกรรมหมกไหม้อยู่ในนรกนานแสนนาน เมื่อพ้นกรรมหนักจากนรกกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีกครั้ง เศษของกรรมได้ส่งผลให้นางอัมพปาลีต้องเกิดเป็นหญิงแพศยามานับหมื่นๆ ชาติ จนถึงพุทธกาลปัจจุบันนางเกิดขึ้นโดยการอุบัติ (โอปปาติกกำเนิด) เป็นสาวสวยที่โคนต้นมะม่วงในพระราชอุทยานกรุงเวสาลี จึงได้ชื่อว่า “อัมพปาลี”

แต่ด้วยเศษของอกุศลกรรมที่เคยด่าพระเถรีในครั้งนั้นยังคงหลงเหลืออยู่ ความงามของนางจึงเป็นโทษ เพราะทำให้บรรดาเจ้าชายลิจฉวีทะเลาะแย่งชิงกันเพื่อจะได้นางไปเป็นสนม คณะผู้พิพากษาแห่งวัชชีต้องยุติข้อขัดแย้งโดยตัดสินให้อัมพปาลีเป็นหญิง แพศยา เป็นนางคณิกานคร เป็นสมบัติของทุกคน การแย่งชิงนางจึงสงบลงได้ นางอัมพปาลีเคยมีความสัมพันธ์ในทางลับๆ กับพระเจ้าพิมพิสารแห่งแคว้นมคธจนเกิดบุตร ๑ คน นามว่า “วิมลโกณฑัญญะ” ซึ่งในกาลต่อมาบุตรของนางผู้นี้ได้บรรพชาอุปสมบทเป็นภิกษุและได้สำเร็จเป็น “พระอรหันต์”

หลังจากถวายสวนมะม่วงให้เป็นวัดในพระพุทธศาสนา นางได้ฟังธรรมจากพระวิมลเถระ (บุตรชายของนาง) รู้สึกซาบซึ้งในรสพระธรรม จึงออกบวชในสำนักของนางภิกษุณี พิจารณาเห็นความเป็นอนิจจังแห่งสรีรร่างกายของตน ยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนาในไม่ช้าไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัตผล ต่อมาภายหลังนางได้บวชเป็นภิกษุณีและสำเร็จเป็นพระอรหันต์ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖

หลังจากบรรลุธรรม พระอัมพปาลีเถรีได้กล่าวคาถาแสดงถึงสัจจะชีวิตของนางน่าจะเป็นเครื่องเตือนสติแก่สตรีทั้งหลายได้เป็นอย่างดี ดังนี้

เมื่อก่อนผมของเรามีสีดำ คล้ายปีกแมลงภู่ มีปลายงอน เดี๋ยวนี้กลายเป็นเช่นปอเพราะชรา
เมื่อก่อนมวยผมของเรามีกลิ่นหอมดุจอบด้วยดอกมะลิ เป็นต้น เดี๋ยวนี้กลิ่นเหมือนขนกระต่าย เพราะชรา
เมื่อก่อนคิ้วของเรางดงามคล้ายรอยเขียนอันนายช่างเขียนดีแล้ว เดี๋ยวนี้เหมือนเถาวัลย์ เพราะชรา
เมื่อก่อนนัยน์ตาของเราดำขลับเหมือนนิลมณี รุ่งเรืองงาม เดี๋ยวนี้ถูกชราขจัดแล้วไม่งามเลย เวลารุ่นสาวจมูกของเรางดงามเหมือนเกลียวหรดาล เดี๋ยวนี้กลับห่อเหี่ยวเหมือนจมหายเข้าไปในศีรษะ เพราะชรา
เมื่อก่อนฟันของเราขาวงามเหมือนดอกมะลิตูม เดี๋ยวนี้กลายเป็นฟันหัก มีสีเหลืองปนแดง เพราะชรา
เมื่อก่อนเสียงของเราไพเราะเหมือนเสียงนกร้องอยู่ในไพรสณฑ์ เดี๋ยวนี้เราพูดอะไรก็ไม่ชัด เพราะชรา

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า สรรพสิ่งเป็นอนิจจังเป็นจริงทุกประการ นางได้พรรณนาความงามของสรรพางค์กาย ตั้งแต่ศีรษะจดปลายเท้าว่าล้วนแต่งดงามเป็นที่ปรารถนาชื่นชมของชายทั่วไป แต่ถึงตอนนี้ (เมื่อนางมาบวช) อวัยวะที่งดงามเหล่านั้นทรุดโทรม เพราะชรา ไม่น่าดู ไม่น่าชมเลย เป็นเครื่องแสดงถึงความเป็นอนิจจัง ยืนยันพระราชดำรัสของสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ตรัสสอนถึงความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ของสรรพสิ่ง

ขอบคุณข้อมูลจาก : http://palungjit.org

error: ถ้าจะก๊อปกรุณาให้เครดิตท่านเจ้าของบทความ
%d bloggers like this: